November 08, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 6855

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกองทุนสิ่งแวดล้อม ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จัดงานสัมมนาวิชาการกองทุนสิ่งแวดล้อม ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๖: เปิดตัวกองทุน ThaiCI (Thai Climate Initiative Fund) ภายใต้กองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศใหม่ที่สนับสนุนการดำเนินการกิจกรรมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย

 นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานในพิธีเปิดตัว “กองทุน ThaiCI ภายใต้กองทุนสิ่งแวดล้อม” เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2566 โดยมีนายฮานส์ อูลริช ซูดเบค อุปทูต สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจําประเทศไทย กล่าวแสดงความยินดี และมีปาฐกถาพิเศษจากนายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และนายฟิลิปป์ เบห์เรนส์ หัวหน้าแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) กระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ (BMWK) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี พร้อมด้วยนายไรน์โฮลด์ เอลเกส ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย โดยมีส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา องค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม ภาคเอกชน และสื่อมวลชน ประมาณ 200 ท่าน ร่วมงาน ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ (รางน้ำ) กรุงเทพมหานคร

กองทุน ThaiCI (Thai Climate Initiative fund) เป็นกลไกการเงินที่สนับสนุนการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย ที่ดำเนินการภายใต้กองทุนสิ่งแวดล้อม โดยได้รับเงินสนับสนุนสูงสุดถึง 6.5 ล้านยูโร จากแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) โดยกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการ ด้านสภาพภูมิอากาศ (BMWK) ซึ่งประกอบด้วยการสนับสนุนด้านวิชาการ เพื่อการยกระดับขีดความสามารถด้านการดำเนินงานของกองทุนสิ่งแวดล้อม และการเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ดำเนินโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเงินทุน (Seed funding) เพื่อสนับสนุนโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย ทั้งโครงการด้านการลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัด ทส. กล่าวขอบคุณประเทศเยอรมนีสำหรับการเป็นพันธมิตรในการดำเนินงาน ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเน้นย้ำความมุ่งมั่นของไทยในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกลไกทางการเงิน (Finance Mechanism) ของรัฐและการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากต่างประเทศจะเป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยเหตุนี้ ความร่วมมือกับรัฐบาลเยอรมันในการจัดตั้งกองทุนภูมิอากาศของไทย หรือที่เรียกชื่อย่อว่า กองทุน ThaiCI (ไทย-กี้) ภายใต้กองทุนสิ่งแวดล้อม จึงถือเป็นหมุดหมายที่สำคัญอันจะนำไปสู่ผลสำเร็จในการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับสากล

นายฮานส์ อูลริช ซูดเบค อุปทูต สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจําประเทศไทย เน้นย้ำถึงการขยายความร่วมมือระหว่างไทยและเยอรมนีจากระดับการเมือง เศรษฐกิจ และประชาสังคม สู่การส่งเสริม

การพัฒนาที่ยั่งยืนพร้อมรับมือกับความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม “การเปิดตัว ThaiCI ซึ่งเป็นการริเริ่มการให้เงินทุนในการดำเนินโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขนาดเล็ก-กลางในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ThaiCI จะเป็นกลไกทางการเงินในการนำด้านนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เปลี่ยนผ่านไปสู่การดำเนินการที่สร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม

ในปาฐกถาหัวข้อกลไกทางการเงินในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปสู่ระดับพื้นที่ นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช กล่าวว่า กองทุน ThaiCI จะสนับสนุนเงินให้กับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา องค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม (NGOs) และภาคเอกชน ในรูปแบบการเปิดรับข้อเสนอ (Call for Proposals) สำหรับโครงการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยคาดว่าจะเปิดรับข้อเสนอโครงการ ภายในสิ้นปี พ.ศ. 2566 และกองทุน ThaiCI จะเปิดโอกาสให้ประเทศไทยสามารถเป็นพันธมิตรกับแหล่งเงินทุนอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศเพิ่มเติม

นายฟิลิปป์ เบห์เรนส์ หัวหน้าแผนงาน IKI กระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ กล่าวถึงการฉลองครบรอบ 15 ปี ของแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) และเน้นย้ำว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งประเทศที่กองทุน IKI ให้ความสำคัญ ทั้งนี้ ThaiCI เป็นโครงการนำร่องใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนแบบทวิภาคี (IKI Country Call) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับประเทศไทย ซึ่ง ThaiCI มีความคล้ายคลึงกับ IKI Small Grants ที่สนับสนุนผู้ดำเนินการโครงการขนาดกลาง และขนาดเล็ก

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการอภิปรายในหัวข้อ "การต่อยอดขยายผลการจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปสู่การดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" ซึ่งมีผู้ดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมอภิปรายความสำคัญของการบูรณาการการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศเข้ากับ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับกองทุน ThaiCI กองทุนสิ่งแวดล้อม และการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของหน่วยงานภาคีเครือข่าย

นายไรน์โฮลด์ เอลเกส ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย แสดงความยินดีกับประเทศไทยในก้าวแรกของการมีเงินทุนเฉพาะด้านที่สนับสนุนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมั่นใจว่ากองทุน ThaiCI จะเป็นรากฐานที่เข้มแข็งสำหรับประเทศไทยในการขับเคลื่อนการปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกของทุกภาคส่วนในเศรษฐกิจและสังคม ในนามของรัฐบาลกลางเยอรมัน GIZ จะยังคงทำงานร่วมกับประเทศไทยอย่างต่อเนื่องเพื่อเปลี่ยนความมุ่งมั่นไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

ThaiCI เป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือ Thai-German Cooperation on Energy, Mobility and Climate Programme (TGC EMC) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 ของประเทศไทย โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจำนวน 26 ล้านยูโรจากกองทุน IKI ของ BMWK และดำเนินการผ่าน GIZ ในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570)

  • GE เผยแพร่รายงานเรื่องการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน ซึ่งมาจากปณิธานของ GE ที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ภายในปี 2573 พร้อมประกาศเจตนารมณ์ที่จะยุติการทำธุรกิจในตลาดพลังงานถ่านหิน
  • การใช้พลังงานหมุนเวียนควบคู่ไปกับพลังงานก๊าซ และการเปลี่ยนผ่านโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นโรงไฟฟ้าพลังก๊าซ คือวิธีที่ทรงประสิทธิภาพในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอนาคตอันใกล้นี้
  • หลากหลายวิธีการที่จะลดหรือปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ โดยผ่านกระบวนการโรงไฟฟ้าพลังก๊าซนั้น ยังรวมถึงการใช้พลังงานไฮโดรเจน และเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCUS)
  • มีการบรรลุข้อตกลงกับลูกค้าคือ Uniper และ Long Ridge Energy Center ซึ่งตอกย้ำบทบาทของพลังงานก๊าซในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 จากปณิธานที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหลือศูนย์ภายในปี 2030 และเจตนารมณ์ที่จะยุติการทำธุรกิจในตลาดพลังงานถ่านหิน ล่าสุด GE ได้แถลงย้ำจุดยืนขององค์กรว่า การเร่งใช้พลังงานหมุนเวียนและโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซให้เร็วขึ้นนั้น จะช่วยให้การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมีความคืบหน้าอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับโลกในอนาคตอีกด้วย

ในรายงานที่เผยแพร่ล่าสุดเรื่อง “Accelerated Growth of Renewables and Gas Power Can Rapidly Change the Trajectory on Climate Change” ที่เกี่ยวกับปณิธานการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งมีมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษนั้น GE ได้ระบุว่า ลำพังการใช้พลังงานอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นยังไม่เพียงพอ แต่จำเป็นต้องทำควบคู่กันไป เพื่อให้สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระยะและปริมาณที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนได้

 ในรายงานยังได้ระบุถึงวิธีการในเชิงเทคนิคต่างๆ ของโรงไฟฟ้าพลังก๊าซ ต่อการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยการจัดทำคาร์บอนฟุตปริ้นต์ผ่านการใช้พลังงานที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ ซึ่งวิธีดังกล่าวรวมถึงการใช้พลังงานไฮโดรเจน และเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCUS) อีกด้วย

Scott Strazik ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GE Gas Power กล่าวว่า “การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ คือความจำเป็นเร่งด่วนของโลก และเรื่องหนึ่งที่เราคิดว่าเราสามารถทำให้ดีขึ้นได้เพื่อเร่งความคืบหน้า ก็เป็นเรื่องที่ต้องเริ่มลงมือทำตั้งแต่ตอนนี้ ไม่ใช่อีกสิบปียี่สิบปีข้างหน้า หลังจากนี้ไป เราเชื่อว่าทั้งพลังงานหมุนเวียนและโรงไฟฟ้าพลังก๊าซต่างก็มีบทบาทและมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการแก้ปัญหานี้ ซึ่งการเปลี่ยนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นโรงไฟฟ้าพลังก๊าซจะช่วยให้โลกเห็นผลคืบหน้าเร็วขึ้น และยังคงสามารถพัฒนาวิธีการต่างๆ ไปสู่เทคโนโลยีการลดหรือปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ในอนาคตอีกด้วย”

เพื่อให้สามารถตอบรับเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ ไปพร้อมกับความต้องการพลังงานทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น รายงานดังกล่าวจึงได้ระบุถึงข้อดีของโรงไฟฟ้าพลังก๊าซในฐานะองค์ประกอบเพื่อสนับสนุนและเร่งการปรับใช้พลังงานหมุนเวียน ดังนี้

  • โรงไฟฟ้าพลังก๊าซเป็นแหล่งพลังงานที่เชื่อถือได้ ราคาไม่แพง และไม่ต้องใช้พื้นที่มาก ซึ่งนับเป็นองค์ประกอบในอุดมคติสำหรับพลังงานหมุนเวียน
  • แม้พลังงานหมุนเวียนจะมีหลากหลายรูปแบบ แต่โรงไฟฟ้าพลังก๊าซมีความสามารถในการสั่งจ่ายไฟได้ตามความต้องการของระบบ (Dispatchable) มีความน่าเชื่อถือ และมีความยืดหยุ่น โดยมีอัตราการใช้ประโยชน์สูงสุดถึง 90%
  • ผลลัพธ์ของการเปลี่ยนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินไปเป็นโรงไฟฟ้าพลังก๊าซในอนาคตอันใกล้ สะท้อนถึงชัยชนะที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในหลายภูมิภาคทั่วโลก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ นับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ของอุตสาหกรรมพลังงานในสหรัฐ ได้ลดลงเหลือเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ในขณะที่ปริมาณการผลิตไฟฟ้าโดยรวมยังมั่นคงเหมือนเดิม จึงนับได้ว่าการเปลี่ยนรูปแบบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นโรงไฟฟ้าพลังก๊าซ เป็นวิธีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีกว่าพลังงานรูปแบบอื่น ๆ

รายงานที่เผยแพร่ล่าสุดนี้ ได้ให้รายละเอียดของเทคโนโลยีและภาพรวมของตลาดสำหรับพลังงานรูปแบบต่างๆ เอาไว้ เช่น พลังงานหมุนเวียน พลังงานก๊าซ พลังงานถ่านหิน และพลังงานนิวเคลียร์ รวมไปถึงเทคโนโลยีใหม่ที่จำเป็นต่อการกักเก็บพลังงานแบตเตอร์รี่อย่างคุ้มค่า

“ด้วยประสบการณ์ในอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้ามานานกว่า 125 ปี GE จึงสามารถยืนหยัดเคียงข้างลูกค้าของเราเพื่อคงความเป็นผู้นำและขับเคลื่อนพลังงานแห่งอนาคตต่อไป เราให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถใช้พลังงานหมุนเวียนได้อย่างคุ้มค่า และมุ่งไปสู่การเป็นโรงไฟฟ้าพลังก๊าซที่ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยการใช้ไฮโดรเจนและเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอนอันล้ำสมัย การผสมผสานของพลังงานหมุนเวียนและพลังงานก๊าซจะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เร็วขึ้นเมื่อเทียบกับการใช้พลังงานหมุนเวียนเพียงอย่างเดียว” Vic Abate รองประธานอาวุโสและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของ GE ซึ่งเป็นอดีตซีอีโอของ GE Gas Power และ GE Renewable Energy กล่าว

GE Renewable Energy ยังคงลงทุนในนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ช่วยทำให้พลังงานหมุนเวียนมีราคาถูกลง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของอุตสาหกรรมพลังงานในการยังคงการเติบโตต่อไปตามที่ระบุในรายงาน และเมื่อเร็วๆ นี้ GE ได้ประกาศว่า กังหันลมนอกชายฝั่ง Haliade-X ซึ่งเป็นกังหันลมที่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุดในวันนี้ จะได้รับการเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 13 เมกะวัตต์ โดยเป็นการดำเนินการเฟสแรกจากทั้งหมดสองเฟสของฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่ง ดอดเจอร์ แบงก์ (Dodger Bank) ในสหราชอาณาจักร

ทั้งนี้ GE ดำเนินธุรกิจกังหันก๊าซจากการสั่งสมองค์ความรู้เทคโนโลยีด้านกังหันก๊าซมานานถึง 80 ปี ซึ่งยากที่จะหาใครเทียบได้ในอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า และกังหันก๊าซรุ่น HA ของ GE ซึ่งนับเป็นกังหันก๊าซที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดและมีการเติบโตเร็วที่สุดในโลก ก็ได้สร้างชื่อในหลายอุตสาหกรรมชั้นนำและเป็นเจ้าของสถิติระดับโลกถึง 2 ด้านด้วยกัน นอกจากนี้ ฝูงกังหันก๊าซที่ผ่านประสบการณ์อันโชกโชนของ GE ยังให้พลังงานในรูปแบบก๊าซไฮโดรเจนและก๊าซที่มีค่า BTU ต่ำ โดยมีการใช้งานกังหันก๊าซกว่า 75 ล้านเครื่อง มากกว่า 6 ล้านชั่วโมงทำงาน และ GE ยังคงมุ่งมั่นลงทุนในการวิจัยและพัฒนาด้านไฮโดรเจนและเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน โดยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ Global Research Center ของ GE เพื่อมุ่งพัฒนาคาร์บอนฟุตปริ้นต์ของโรงไฟฟ้าพลังก๊าซให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับต่ำหรือใกล้เป็นศูนย์

ในปี 2563 ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังก๊าซของ GE ยังได้เข้าร่วมการลงนามความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกับบรรดาลูกค้ารายใหญ่จำนวนมาก ซึ่งรวมถึงบริษัท Uniper และบริษัท Long Ridge Energy Center และในปี 2564 -2565 GE ก็กำลังดำเนินโครงการนำร่องร่วมกับลูกค้า เกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในหลากหลายช่องทาง ทั้งโครงการพลังงานไฮโดรเจนและเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน และท้ายที่สุดนี้ GE Gas Power ได้ประกาศเข้าร่วมเป็นพันธมิตร Carbon Capture Coalition ซึ่งเป็นความร่วมมือขององค์กรและธุรกิจมากกว่า 80 แห่ง เพื่อร่วมกันกำหนดนโยบายส่งเสริมการใช้กระบวนการดักจับ กักเก็บ ขนส่ง นำไปใช้ และกำจัดคาร์บอนในทุกภาคส่วน

ในประเทศไทย ไฟฟ้าที่ผลิตได้มากกว่า 30% มาจากฐานการผลิตและอุปกรณ์ของ GE ซึ่งเราทำงานกับลูกค้าอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและผลิตภาพ รวมทั้งลดต้นทุนและลดการปล่อยมลภาวะ

สำหรับแผนในอนาคตด้านพลังงานของไทยนั้น การใช้ก๊าซจะคิดเป็น 57% ของการผลิตพลังงานโดยประมาณ และเป็น 55% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง แม้ว่าประเทศจะนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลมากกว่าส่งออก มีการคาดการณ์ว่าแก๊สภายในประเทศที่สำรองไว้จะหมดภายในทศวรรษ และประเทศกำลังพึ่งพาการนำเข้า ท่อส่งแก๊สจากเมียนมาร์ และ LNG มากขึ้น ไทยเป็นประเทศที่มีกำลังการผลิตติดตั้งของพลังงานหมุนเวียนมากที่สุดในภูมิภาค (2.6 GW) โดยมาจากชีวมวล (1.6 GW) และพลังงานแสงอาทิตย์ (1.1 GW) เป็นหลัก

 บทความ :  GE ประเทศไทย

X

Right Click

No right click