ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คาดมูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงของไทยในปี 2567 จะมีมูลค่าราว 7.5 หมื่นล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 12.4% จากปี 2566 ด้วยแรงหนุนของการต่อยอดรูปแบบการเลี้ยงดูในมิติของ Pet Humanization เข้าสู่ Petriarchy และ Pet Celebrity ที่หนุนบทบาทให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

จากเทรนด์การดูแลสัตว์เลี้ยงของคนในยุคปัจจุบันมีรูปแบบการดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว (Pet Humanization) เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มผู้ดูแลเดิมที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดูแลสัตว์เลี้ยงของตนเอง และ กลุ่มเจ้าของสัตว์เลี้ยงมือใหม่ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์เลี้ยงต่อตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งทาง ttb analytics ได้ประเมินค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว โดยเจ้าของจะมีภาระค่าใช้จ่ายเฉลี่ยราว 41,100 บาทต่อตัวต่อปี ซึ่งสูงกว่าการเลี้ยงดูแบบปล่อยอิสระที่จะมีค่าใช้จ่ายเพียงราว 7,745 บาทต่อตัวต่อปี โดยมีค่าใช้จ่ายจากอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง ค่าดูแล รวมถึงอาหารที่น้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี เทรนด์การดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว (Pet Humanization) ในบางกลุ่มเจ้าของอาจมีวิวัฒนาการสู่การเลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัวแบบตามใจ หรืออาจเรียกว่า “ทาสหมา-ทาสแมว” (Petriarchy) ซึ่งบนบริบทการเลี้ยงดูที่ตามใจ โดยสัตว์เลี้ยงเป็นผู้รับที่ไม่สามารถปฏิเสธของที่เจ้าของเลือกซื้อให้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเจ้าของเลือกที่จะซื้อของให้สัตว์เลี้ยงเพื่อตอบสนองความพอใจส่วนตน ย่อมส่งผลให้การจับจ่ายในส่วนของอุปกรณ์ และค่าดูแล มีทิศทางเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง

อย่างไรก็ตาม นอกจากกระแสของ Pet Humanization และ Petriarchy แล้วในสังคมยุคปัจจุบัน สัตว์เลี้ยงบางตัวอาจพัฒนาบทบาทจากลักษณะนิสัยส่วนตัวที่สามารถยกระดับจาก “สมาชิกในครอบครัวปกติ” เป็น “สมาชิกในครอบครัวที่สามารถสร้างรายได้” ผ่านรูปแบบลักษณะเฉพาะของสัตว์เลี้ยงที่สามารถดึงดูดความสนใจจากคนในสังคมวงกว้าง หรือ Pet Celebrity และถูกพัฒนาเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีผู้ติดตามผ่านโซเชียลมีเดีย (Petfluencer) เมื่อมีการนำเสนอนิสัยหรือลักษณะเฉพาะของสัตว์เลี้ยงนั้นผ่านการเล่าเรื่องหรือการสร้าง Content โดยเจ้าของผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งการที่กลุ่มสัตว์เลี้ยงที่ถูกยกระดับเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีผู้ติดตามผ่านโซเชียลมีเดีย (Petfluencer) ที่สามารถสร้างรายได้ผ่าน Content ต่าง ๆ ที่เจ้าของได้สรรสร้างเพื่อนำเสนอให้กลุ่มผู้ติดตาม ทำให้นอกจากรายจ่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์และค่าดูแลสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งแล้ว ยังมีความถี่ในการจับจ่ายที่สูงขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับกลุ่มที่เลี้ยงในลักษณะเสมือนสมาชิกในครอบครัว (Pet Humanization) แบบทั่ว ๆ ไป ซึ่งจากบริบทการเลี้ยงสัตว์ที่มีแนวโน้มเข้าสู่ “การเลี้ยงแบบครอบครัว-ที่ตามใจ-และสร้างรายได้” ส่งผลให้มูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงในประเทศไทยขยายตัวต่อเนื่อง โดยทาง ttb analytics ประเมินมูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงในไทยปี 2567 คาดมีมูลค่าแตะ 7.5 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 12.4 % เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า บนค่าเฉลี่ยการเติบโตของมูลค่าตลาดย้อนหลัง 5 ปี (CAGR) ที่ 17.5% โดยรูปแบบการเติบโตของตลาดสัตว์เลี้ยงในไทยแบ่งออกเป็นดังนี้

 

1. กลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง และ บริการรักษาสัตว์ เป็นกลุ่มที่ได้รับการเติบโตจากกระแสรูปแบบการดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว (Pet Humanization) ที่มากขึ้นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเจ้าของตระหนักถึงสัตว์เลี้ยงเป็นประหนึ่งเหมือนสมาชิกในครอบครัว ส่งผลให้รูปแบบการดูแลสัตว์เลี้ยงเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น กลุ่มอาหารที่เริ่มมีการใช้อาหารเฉพาะเพิ่มมากขึ้นจากคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสม รวมถึงการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาในอนาคตที่การให้อาหารที่ไม่เหมาะสมส่งผลต่อสุขภาพสัตว์เลี้ยงในระยะยาว รวมถึงอาหารสัตว์ในปัจจุบันก็มีหลายรูปแบบ ซึ่งส่วนมากกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ในรูปแบบนี้มักใช้อาหารเกรดพรีเมี่ยมที่มีราคาสูง เช่น อาหารเปียก รวมถึงในผู้เลี้ยงบางกลุ่มก็เลือกใช้อาหารดิบที่ไม่ผ่านความร้อน (BARF) ที่มีราคาสูง ส่งผลให้ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในปี 2567 ขยายตัวโดยมีมูลค่าแตะ 4.46 หมื่นล้านบาท บนค่าเฉลี่ยการเติบโตของมูลค่าตลาดย้อนหลัง 5 ปี (CAGR) ที่ 17.0% สอดคล้องกับบริการรักษาสัตว์ที่มูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นจากความตระหนักในการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยง และต้องรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วยของสัตว์เลี้ยงที่ประหนึ่งเป็นสมาชิกในครอบครัว ส่งผลให้มูลค่าบริการรักษาสัตว์เติบโตต่อเนื่องที่ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี (CAGR) ที่ 21.7% ด้วยมูลค่า 6.64 พันล้านบาท ในปี 2567

2. กลุ่มอุปกรณ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงและบริการดูแลสัตว์เลี้ยง เป็นกลุ่มที่นอกจากได้รับแรงหนุนของกระแสการดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัวแล้ว (Pet Humanization) มูลค่าของอุตสาหกรรมยังมีการเร่งตัวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจากกระแสการเลี้ยงเสมือนคนในครอบครัวแบบตามใจ (Petriarchy) และ สมาชิกในครอบครัวที่สามารถสร้างรายได้ (Petfluencer) ที่ส่งผลให้มีความถี่ในการเข้ารับบริการดูแลและความถี่ในการจัดหาอุปกรณ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงเพิ่มในอัตราเร่ง ส่งผลให้มูลค่าตลาดอุปกรณ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงและบริการดูแลสัตว์เลี้ยงมีค่าการเติบโตเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี (CAGR) ที่ 17.3% และ 16.7% โดยคาดว่ามีมูลค่า 2.29 หมื่นล้านบาท และ 0.66 พันล้านบาท ตามลำดับ บนแนวโน้มที่ยังรักษาการเติบโตในอัตราเร่งได้

กล่าวโดยสรุป กระแสการดูแลสัตว์เลี้ยงในปัจจุบันแบบการดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว (Pet Humanization) เป็นกระแสที่เพิ่มความนิยมส่งผลให้การดูแลสัตว์เลี้ยงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ส่งผลให้เจ้าของมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้นทั้งในมิติของอาหารที่ต้องเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสุขภาพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในส่วนของอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการบริการดูแลย่อมสูงขึ้นในอัตราเร่ง เมื่อเจ้าของมีการเลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัวแบบตามใจ หรืออาจเรียกว่า “ทาสหมา-ทาสแมว” (Petriarchy) หรือเมื่อสัตว์เลี้ยงมีนิสัยเฉพาะตัวที่ยกระดับเป็น Pet Celebrity และมากกว่าไปนั้น นอกจากมูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงในไทยที่ขยายตัวจากเทรนด์การเลี้ยงที่เปลี่ยนไปดังกล่าว รูปแบบการเลี้ยงนี้ยังส่งผลทางอ้อมไปยังธุรกิจและบริการที่สามารถรองรับมูลค่าที่ขยายตัวนี้ได้ เช่น กลุ่มโรงแรมที่เป็นมิตรกับสัตว์เลี้ยง ธุรกิจรับฝึกสัตว์เลี้ยงให้กลายเป็น Petfluencer รวมถึงธุรกิจเกี่ยวกับบริการรักษาสัตว์ที่อาจมีการขยายขอบเขตบริการ Veterinary Telemedicine หรือ Virtual Vet ที่อาจเข้ามาตอบโจทย์กรณีเจ็บป่วยเล็กน้อยที่เจ้าของอาจไม่สะดวกเดินทางพาสัตว์เลี้ยงเข้ารับการรักษา เป็นต้น

“วินด์เซอร์” (WINDSOR) ผู้นำตลาดประตูหน้าต่างไวนิล ในกลุ่มธุรกิจเอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ เอสซีจีซี (SCGC) เปิดตัวนวัตกรรมสินค้ามุ้งไวนิล รุ่น “Pet Friendly” เอาใจคนรักสัตว์เลี้ยง ในงาน Pet Expo 2022 พร้อมชูคุณสมบัติเด่นที่ออกแบบมาเพื่อคนรักสัตว์โดยเฉพาะ ด้วยวัสดุผ้ามุ้งทำจากพอลิเอสเทอร์คุณภาพสูง เคลือบด้วยพีวีซี สามารถทนต่อแรงกดได้ดีกว่ามุ้งไฟเบอร์ทั่วไปถึง 4 เท่า จึงมีความแน่น เหนียว ทนทานต่อแรงขีดข่วนของสัตว์เลี้ยงได้เป็นอย่างดี ตัวกรอบบานผลิตจากไวนิลสูตรพิเศษเช่นเดียวกับประตูหน้าต่างไวนิลวินด์เซอร์ สามารถติดตั้งร่วมกับประตูหน้าต่างวินด์เซอร์เดิมได้โดยไม่ต้องเสริมรางเพิ่ม คงคุณสมบัติทำความสะอาดง่าย ระบายอากาศดี และป้องกันแมลงได้เช่นเดียวกับมุ้งทั่วไป

ผลิตภัณฑ์มุ้งลวดไวนิล รุ่น “Pet Friendly” จึงตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ เปลี่ยนการอยู่อาศัยร่วมกับเหล่าสัตว์เลี้ยงตัวโปรดให้เป็นเรื่องง่ายและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น หมดกังวลเรื่องมุ้งลวดชำรุดขาดง่าย แก้ปัญหาได้ตรงจุด งบไม่บานปลาย ให้บรรดาเหล่าน้องหมาแมวสัตว์เลี้ยงแสนรัก ยังคงวิ่งเล่น และสนุกได้เต็มที่อย่างปลอดภัยโดยมุ้งลวดไวนิลยังคงความสวยงามเช่นเดิม นอกจากนี้ มุ้งไวนิล รุ่น “Pet Friendly” ยังสามารถเปลี่ยนและใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์ประตูหน้าต่างไวนิลสำเร็จรูปวินด์เซอร์ ที่ผลิตจากไวนิลสูตรพิเศษ (WINDSOR Advance Vinyl) ได้ทุกรุ่น ตอบโจทย์ด้วยขนาดที่หลากหลาย ให้เลือกสรรเป็นบ้านสัตว์เลี้ยงได้หลายรูปแบบ อีกหนึ่งทางเลือกเพื่อการอยู่อาศัยของคนรักสัตว์ จากวินด์เซอร์

กลุ่มไบโอซายน์ (BIS) เปิดตัว eSaote อัลตราซาวน์ระดับโลก สำหรับสัตว์เลี้ยง

รองรับธุรกิจสัตว์เลี้ยงไทย ขยายตัวแรงสวนกระแสโควิด แตะ 35,000 ล้านบาท

 กลุ่มไบโอซายน์ ผู้นำด้านเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ รุกขยายธุรกิจสัตว์เลี้ยงเต็มตัว ล่าสุด เปิดตัวเครื่องอัลตราซาวน์ระดับโลกสำหรับสัตว์ “eSaote” (อีเซาเต้) จากประเทศอิตาลี รองรับตลาดสัตว์เลี้ยงไทยบูมไม่หยุด สวนทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากโควิด-19

 

นสพ.ธนวัฒน์ คงเจริญสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม บริษัท ไบโอซายน์ แอนิมัล เฮลธ์ จำกัด เปิดเผยว่า “ กลุ่มไบโอซายน์ เป็นผู้นำด้านการจัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ และ เวชภัณฑ์สำหรับปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยงแบบครบวงจร โดยมุ่งเน้นทั้งการจำหน่าย วัคซีน อาหารเสริมสำหรับสัตว์ ตลอดจนเครื่องมือแพทย์สำหรับสัตว์และสัตว์เลี้ยง ล่าสุด บริษัท เพ็ด เอ็กซ์ จำกัด ใน กลุ่มไบโอซายน์ (BIS) ได้สิทธิเป็นผู้ทำตลาด เครื่องอัลตราซาวน์ระดับโลกสำหรับสัตว์ “eSaote” (อีเซาเต้) จากประเทศอิตาลี แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย โดย eSaote เป็นแบรนด์อัลตราซาวน์ชั้นนำของโลกทั้งในคนและในสัตว์ โดยมียอดขายเป็นอันดับ 1 ในธุรกิจโรงพยาบาลสัตว์และคลินิคสัตวเลี้ยง (จากการสำรวจปี 2019) เนื่องจากเป็นอัลตราซาวน์ที่มีโปรแกรมสำหรับสัตว์โดยเฉพาะ ตอบโจทย์การวินิจฉัยโรคทางสัตวแพทย์ได้เป็นอย่างดี พร้อมกันนี้ยังได้สนับสนุนการเรียนรู้ทางการวิชาการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเร็วๆนี้บริษัทฯได้รับการตอบรับที่ดีจากงานสัมมนาวิชาการสัตว์แพทย์ระดับภูมิภาคครั้งที่ 13 (The 13th VPAT Regional Veterinary Congress 2021) เมื่อ 17-20 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งในงานมีวิทยากรระดับโลกมาร่วมเสวนาจำนวนมาก

 

“ ธุรกิจคลินิกสัตว์เลี้ยงและโรงพยาบาลสัตว์ ในไทยได้ขยายตัวอย่างสูงและต่อเนื่องติดต่อกันหลายปี แม้ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ธุรกิจสัตว์เลี้ยงยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากคนไทยให้ความสำคัญกับการดูแลสัตว์เลี้ยง โดยครอบครัวและกลุ่มคนรุ่นใหม่นิยมเลี้ยงสุนัขและแมวพันธุ์ต่างประเทศซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาค่อนข้างสูง ทำให้มีคลินิกรักษาสัตว์เกิดขึ้นทั่วประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะในกรุงเทพ ปริมณฑล และ เมืองใหญ่ต่างๆ อาทิ ชลบุรี ภูเก็ต เชียงใหม่ ระยอง นครราชสีมา เป็นต้น ปัจจุบันมีการประมาณมูลค่าธุรกิจสัตว์เลี้ยงสูงถึงประมาณ 35,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งกลุ่มไบโอซายน์ มีความพร้อม ที่ จะขยายธุรกิจด้านสัตว์เลี้ยงมากยิ่งขึ้น โดยใช้ความเชี่ยวชาญด้านเวชภัณฑ์สัตว์ และโภชนาการสัตว์ รวมถึง บริษัทฯ มีเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกจำนวนมาก มีความแข็งแกร่งด้านผลิตภัณฑ์ด้านเวชภัณฑ์ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างครอบคลุม และมีแผนที่จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องใน 3 ปีนี้”

 กลุ่มไบโอซายน์ (BIS) เป็น 1 ในผู้นำในธุรกิจเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ ทั้งปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยง ที่ครบวงจรที่สุดของไทยโดยมีผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภทจากผู้จัดจำหน่ายทั่วโลก โดย BIS เกิดจากการรวมตัวของ กลุ่มสัตว์แพทย์ที่มีทั้ง

 ความเชี่ยวชาญด้านการรักษาสัตว์ และ ที่สำคัญ มีความสามารถทางการบริหารธุรกิจ ให้เติบโตอย่างมั่นคง อีกทั้งยังปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วและดีเยี่ยม ด้วยคุณภาพการกระจายสินค้า การสนับสนุนด้านเทคนิค บริการหลังการขายและกลยุทธ์การตลาดที่เหมาะสม ทำให้เป็นที่ไว้วางใจของทั้งผู้ผลิตและลูกค้า ครอบคลุมตลาดสัตว์เลี้ยง ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้นำในการวิจัย พัฒนา และจัดหานวัตกรรมและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ควบคู่ไปกับการบริการ เทคโนโลยีขั้นสูงในภาคสุขภาพสัตว์ในประเทศ

 

 

X

Right Click

No right click