November 27, 2024

บริการ Data center ไทยเติบโตอย่างรวดเร็วในทิศทางเดียวกับเทรนด์โลก ทั้งจากการให้บริการ Public cloud และบริการ Colocation  

ความต้องการบริการ Data center เติบโตตามปริมาณการใช้งานข้อมูลที่เติบโตด้วยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในยุคดิจิทัล  โดยมูลค่าตลาดให้บริการ Data center ของโลกมีแนวโน้มขยายตัวราว 22%YOY ซึ่งเป็นการขยายตัวของบริการ Public cloud เป็นหลัก เช่นเดียวกับตลาด Data center ของไทย โดย SCB EIC คาดว่า มูลค่าตลาด Data center ของไทยมีแนวโน้มเติบโตราว 24%YOY ในปี 2024 โดยบริการ Public cloud ขยายตัวที่ราว 29%YOY จากปริมาณการใช้งานข้อมูลของผู้บริโภคที่ยังสูงขึ้นและการใช้เทคโนโลยีที่มากขึ้นขององค์กรขนาดใหญ่ SMEs และ Startups ขณะที่การให้บริการ Colocation ซึ่งเป็นบริการรับฝาก Server ที่ผู้ให้บริการจะจัดเตรียมพื้นที่สำหรับจัดวางอุปกรณ์พร้อมโครงข่ายการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต โดยผู้เช่าจะจัดหาอุปกรณ์ต่าง ๆ เองนั้น คาดว่าจะเติบโตราว 14%YOY จากการปรับแผนการจัดเก็บข้อมูลขององค์กรหลายแห่งที่หันมาใช้ระบบ Private cloud มากขึ้น และการขยาย Cloud region ของผู้ให้บริการต่างประเทศในไทย แม้ปัจจุบันการลงทุน Data center ในไทยจะเพิ่มขึ้นมาก แต่การพิจารณานโยบายสนับสนุนเพิ่มเติมจากภาครัฐ จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ไทยก้าวสู่การเป็นหนึ่งในผู้นำของอาเซียน 

ปัจจุบันสิงคโปร์ถือเป็นศูนย์กลาง Data center ของอาเซียน แต่ด้วยนโยบายจำกัดการก่อสร้างศูนย์ Data center แห่งใหม่ของภาครัฐทำให้การขยายพื้นที่จัดเก็บข้อมูลไม่ทันต่อความต้องการใช้งาน ผู้ให้บริการ Data center ในสิงคโปร์จึงเริ่มมองหาประเทศใกล้เคียง ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย เพื่อลงทุน Data center แห่งใหม่ ทั้งนี้แม้ไทยเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่น่าสนใจในการลงทุน ทำให้มีการลงทุน Data center ของผู้ให้บริการต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่การพิจารณาสิทธิประโยชน์และนโยบายเพิ่มเติมของภาครัฐ อาทิ การขยายระยะเวลาการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี และการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับ Data center ที่ตั้งในเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงการสร้างระบบนิเวศที่สอดคล้องตามมาตรฐานสากล และการพัฒนาทักษะบุคลากร จะช่วยเพิ่มโอกาสดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ไทยก้าวสู่การเป็นหนึ่งในผู้นำของอาเซียนได้ 

 Build-to-Suit data center เป็นอีกเทรนด์ของบริการ Colocation ที่ได้รับความสนใจจากองค์กรขนาดใหญ่ที่มีปริมาณข้อมูลเติบโตอย่างรวดเร็ว และผู้ให้บริการ Cloud service ที่ต้องการตั้ง Cloud region  

Build-to-Suit data center เป็นอีกหนึ่งรูปแบบบริการ Colocation ที่ผู้เช่าสามารถกำหนดและออกแบบพื้นที่ให้ตรงกับความต้องการเฉพาะได้ แต่ใช้เม็ดเงินลงทุนที่น้อยกว่าและยังสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายภายใต้สัญญาเช่า บริการรูปแบบนี้มีแนวโน้มได้รับความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องการ Data center ที่ได้มาตรฐานเทียบเท่ากับการตั้ง Data center ภายในองค์กร รวมถึงผู้ให้บริการ Cloud service ที่ต้องการขยาย Cloud region ในหลายประเทศ เพื่อให้ทันต่อการรองรับความต้องการใช้งาน Cloud และให้การขยายตลาดทำได้รวดเร็ว อีกทั้ง บริการรูปแบบ Buit-to-Suit data center จะสร้างโอกาสในการได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่มั่นคงให้แก่ผู้ให้บริการ Data center จากการทำสัญญาเช่าระยะยาวราว 5-10 ปี ซึ่ง ผู้ให้บริการต้องมีความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะทักษะและความเชี่ยวชาญของบุคลากรที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ที่จะเข้ามาใช้บริการ  

 การเติบโตของ Data center ยังส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น จึงทำให้ Sustainability เป็นประเด็นที่ผู้ให้บริการต้องให้ความสำคัญ 

Data center เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ทำให้การบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าพร้อมกับการรักษาเสถียรภาพไฟฟ้าเพื่อรองรับช่วงเวลาที่มีการใช้งานสูงสุด (Peak traffic) เป็นความท้าทายสำคัญของผู้ให้บริการ Data center ควบคู่กับการมุ่งสู่ความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า การลดการใช้พลังงานในระบบปรับอากาศ และการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด อย่างไรก็ดี การผลักดันผู้ให้บริการ Data center ใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้น จำเป็นต้องอาศัยการกำหนดนโยบายรัฐควบคู่ด้วย อาทิ การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี การสร้างความร่วมมือจากผู้ให้บริการ Data center และการกำหนดมาตรฐานการใช้พลังงาน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ Data center ของไทยเข้าใกล้ความยั่งยืนได้มากขึ้น

ทิศทางการเติบโตของ Data center จากเทรนด์โลกสู่ไทย 

ในช่วงที่ผ่านมา มูลค่าตลาดให้บริการ Data center ของโลกเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มขยายตัวราว 22%YOY ในปี 2024 ทั้งจากการให้บริการ Public cloud และบริการ Colocation ตามปริมาณการใช้งานข้อมูลที่เติบโตทั้งจากผู้บริโภค องค์กรต่าง ๆ และภาคธุรกิจ ด้วยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในยุคดิจิทัล จึงทำให้เกิดข้อมูลจำนวนมหาศาลและส่วนใหญ่ล้วนถูกจัดเก็บและประมวลผลบน Data center ที่มีพื้นที่จัดเก็บขนาดใหญ่พร้อมทั้งมีระบบการเชื่อมต่อที่สามารถดึงข้อมูลออกมาใช้งานได้ตลอดเวลา โดย International Data Corporation (IDC) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาและวิจัยข้อมูลการตลาดด้านโทรคมนาคมชั้นนำระดับโลกได้คาดการณ์ปริมาณพื้นที่จัดเก็บข้อมูลทั่วโลกทั้งภายในอุปกรณ์รับ-ส่งข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายอย่างโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และภายในศูนย์ Data center จะเพิ่มขึ้นจาก 10.1 เซตตะไบต์ (ZB) ในปี 2023 เป็น 21.0 ZB ในปี 2027 หรือราว 18.5% CAGR อีกทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในระยะข้างหน้า 

มูลค่าตลาดการให้บริการ Public cloud ของโลกคาดว่าจะเติบโตที่ราว 23%YOY จากการใช้งานข้อมูลที่เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกระแสการใช้งานด้าน AI ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานข้อมูลของผู้บริโภค ทั้งการเก็บข้อมูลส่วนตัวอย่างรูปภาพและเอกสารต่าง ๆ และการใช้งาน Social Media, Video/Music Streaming และแอปพลิเคชัน ซึ่งคาดว่าจะเติบโตราว 21%CAGR ในช่วงปี 2024-2029 ตามรายงานปริมาณการใช้งานข้อมูลผ่านโทรศัพท์มือถือของผู้บริโภคทั่วโลกของ Ericsson รวมถึงการใช้งานในภาคธุรกิจและองค์กรที่ปรับใช้เทคโนโลยีมากขึ้น อย่างเช่น Internet of Things (IoT), Robotic, Smart devices และการเข้ามาของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) โดยเฉพาะ Generative AI ซึ่งเป็นกระแสที่พูดถึงอย่างมากในปี 2023 และมีแนวโน้มใช้งานเพิ่มขึ้นอีกในระยะข้างหน้าสะท้อนจากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารบริษัทชั้นนำทั่วโลกกว่า 1,360 รายในช่วง 22 กุมภาพันธ์ – 5 มีนาคม 2024 เกี่ยวกับการใช้งาน AI ในองค์กรของ McKinsey พบว่า บริษัทที่มีการใช้งาน AI มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 72% จากการสำรวจในปีก่อนที่ 55% โดยการใช้งาน Generative AI เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจาก 33% เป็น 65% อีกทั้ง นักพัฒนาซอฟต์แวร์ยังหันมาพัฒนาแอปพลิเคชันบน Cloud platform มากขึ้น เนื่องจากผู้ให้บริการ Cloud ได้พัฒนาเครื่องมือใหม่ ๆ ที่ช่วยในการตรวจเช็กโค้ดและทดสอบการใช้งานบน Platform ออกมาอย่างสม่ำเสมอ 

ในส่วนของการให้บริการ Colocation จะเติบโตราว 14%YOY จากการปรับกลยุทธ์ขององค์กรขนาดใหญ่หลายแห่งที่หันมาเช่าพื้นที่ฝาก Server ใน Data center ผ่านระบบ Private cloud แทนการเก็บข้อมูลในระบบ Server ภายในองค์กร (On-premise) เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงานทั้งค่าไฟฟ้า ค่าอินเทอร์เน็ต และลดค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้ชำนาญการคอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงลดความเสี่ยงจากระบบเชื่อมต่อที่ไม่เสถียรและอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้ง ยังสามารถปรับขนาดพื้นที่จัดเก็บข้อมูลตามการใช้งานได้ง่าย 

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันบริษัททั่วโลกนิยมจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบ Hybrid cloud ที่แบ่งการเก็บข้อมูลทั้งในระบบ Public cloud และ Private cloud ในรูปแบบ Colocation และ On-premise มากขึ้นสะท้อนจากรายงาน The Flexera 2024 State of the Cloud ของบริษัทซอฟต์แวร์ Flexera ในสหรัฐอเมริกาที่ได้สำรวจความคิดเห็นผู้บริหารบริษัทชั้นนำทั่วโลกกว่า 750 ราย ในช่วงปลายปี 2023 พบว่า 65% ของบริษัทที่ตอบแบบสำรวจจัดเก็บข้อมูลขององค์กรในรูปแบบ Hybrid cloud โดยใช้ Private cloud สำหรับจัดเก็บข้อมูลที่มีความอ่อนไหว ต้องการความปลอดภัยสูง และมีการใช้งานในความหน่วงที่ต่ำ เช่น ธุรกรรมทางการเงิน ข้อมูลการติดต่อและใช้บริการของลูกค้า และจะเลือกใช้ Public cloud สำหรับจัดเก็บข้อมูลทั่วไป 

 Data center ไทยกับการก้าวสู่การเป็นผู้นำในอาเซียน 

ปัจจุบันสิงคโปร์ถือเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลของอาเซียน ซึ่งรวมถึงการเป็นศูนย์กลางด้าน Data center ด้วย แต่การเติบโตมีข้อจำกัดจากนโยบายภาครัฐ โดยในช่วงปี 2016-2019 มูลค่าตลาด Data center ของสิงคโปร์เติบโตสูงต่อเนื่องราว 29%CAGR จากการขยายพื้นที่ของผู้ให้บริการในสิงคโปร์และการเข้ามา 
ของผู้ให้บริการระดับโลกอย่าง Microsoft, AWS และ Apple อย่างไรก็ดี ด้วยพื้นที่ของสิงคโปร์ที่มีจำกัดยากต่อการตั้ง Data center ขนาดใหญ่, ปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าใน Data center ที่สูง ซึ่งมีโอกาสกระทบต่อเสถียรภาพด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศในอนาคต และอัตราการปล่อย CO2 ต่อตารางเมตรของประเทศที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศใช้นโยบายจำกัดการก่อสร้างศูนย์ Data center แห่งใหม่บนเกาะสิงคโปร์ตั้งแต่ปี 2019 และผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวในช่วงปลายปี 2022 โดยอนุญาตให้ก่อสร้างเฉพาะ Data center ที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและได้รับการรับรองด้านการประหยัดพลังงานจากหน่วยงานภาครัฐ ทำให้การขยายพื้นที่จัดเก็บข้อมูลไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งานที่ยังเติบโตต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราพื้นที่ว่างของ Data center ในสิงคโปร์ลดลงอย่างรวดเร็วเหลือต่ำกว่า 1% ในปี 2024 ตามรายงานของ Cushman & Wakefield ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ที่มีสาขามากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก  

ผู้ให้บริการ Data center ในสิงคโปร์เริ่มมองหาประเทศใกล้เคียง เพื่อขยายศูนย์ Data center รองรับความต้องการพื้นที่จัดเก็บข้อมูลที่ขยายตัวในสิงคโปร์ ซึ่งการเลือกพื้นที่ตั้งศูนย์ Data center นอกจาก 
จะพิจารณาด้านต้นทุนและโอกาสในการเติบโตของธุรกิจแล้ว ความสะดวกในการเดินทาง ความปลอดภัย ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน และนโยบายส่งเสริมจากภาครัฐก็ถือเป็นปัจจัยที่ผู้ให้บริการให้ความสำคัญ โดยพื้นที่ที่ผู้ให้บริการสนใจพิจารณา ได้แก่  

  1. 1. มาเลเซีย โดยเฉพาะกัวลาลัมเปอร์ และยะโฮร์บาฮ์รูที่อยู่ติดกับสิงคโปร์ จึงมีข้อได้เปรียบทางด้านการเดินทางขนส่งประกอบกับมาเลเซียมีความสะดวกค่อนข้างมากในการเข้าไปประกอบธุรกิจสะท้อนจากตัวชี้วัดหลายตัวที่อยู่ในระดับสูง เช่น อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ดัชนีการพัฒนาด้าน ICT และอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (The Ease of Doing Business ranking) อีกทั้ง ภาครัฐยังออกมาตรการสนับสนุนการลงทุน Data center ทั้งการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี การรับประกันระบบไฟฟ้า และนโยบายสนับสนุน Digital economy ที่ตั้งเป้าให้มาเลเซียเป็นศูนย์กลางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในระดับภูมิภาค
  2. 2. อินโดนีเซีย ทั้งในจาการ์ตา และเกาะบาตัมที่อยู่ห่างจากสิงคโปร์ราว 20 กิโลเมตรทางทะเล ด้วยข้อได้เปรียบหลายด้านทั้งอัตราค่าไฟฟ้าที่ต่ำราว 2.5-3 บาท/กิโลวัตต์ชั่วโมง และนโยบายการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการลงทุน Data center ขนาดใหญ่ ซึ่งแม้อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรอยู่ในระดับไม่สูงมากที่ 67% แต่ด้วยจำนวนประชากรของประเทศที่สูงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน จึงทำให้จำนวนประชาชนที่เข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตสูงถึงราว 180 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าจำนวนประชากรของหลายประเทศในอาเซียน สะท้อนถึงโอกาสการเติบโตของผู้ใช้บริการและปริมาณการใช้งานข้อมูลที่สามารถขยายตัวได้อีกมาก 
  3. 3. ไทย เป็นอีกหนึ่งประเทศที่จะได้รับประโยชน์จากนโยบายของสิงคโปร์ ด้วยจุดแข็งด้านความเร็วในการ Download ข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตประจำที่ (FBB) ที่สูงเป็นอันดับ 8 ของโลกและเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ ซื่งเป็นเครือข่ายหลักในการให้บริการ Data center อีกทั้ง ตัวชี้วัดด้านความสะดวกในการเข้าไปประกอบธุรกิจในไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี จึงทำให้ผู้ให้บริการสิงคโปร์สนใจเข้ามาลงทุน Data center ในไทยเพิ่มขึ้น เช่น Singtel ที่ได้ร่วมมือกับ Gulf-AIS และ Evolution Data Centers ที่เป็นพันธมิตรกับกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา

 

 

 

 

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics วิเคราะห์ 15 ธุรกิจแนวโน้มสดใสโตตาม 5 เทรนด์เศรษฐกิจปี 2561

เทรนด์แรกที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง 2-3 ปีก่อน คือ เทรนด์การลงทุนภาครัฐ ที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินก่อสร้างกว่า 7.7 แสนล้านบาท จากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ส่วนใหญ่อยู่ในระยะก่อสร้าง โครงการลงทุนและจัดซื้อตามงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 โดยภาครัฐฯ ได้เร่งการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ ธุรกิจเด่นที่ได้รับอานิสงค์ คือ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจที่ปรึกษาการก่อสร้าง/สิ่งแวดล้อม ธุรกิจขาย/ให้เช่าเครื่องจักรกลก่อสร้าง นอกจากนี้ยังมีการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น เพราะนโยบายพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC) ทำให้มีการลงทุนก่อสร้างโรงงาน สำนักงาน ที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น เป็นแรงหนุนธุรกิจกิจกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่องในปีหน้า

เทรนด์ท่องเที่ยวไทย ปีจอยังคงกระแสดีอย่างต่อเนื่อง TMB Analytics คาดการณ์ไทยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 37.0 ล้านคนในปีหน้า หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7  สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี สุราษฎร์ธานี ฯลฯ  ธุรกิจดาวเด่นที่ได้รับประโยชน์จากเทรนด์นี้คือ ธุรกิจที่พัก ร้านอาหาร ธุรกิจขนส่ง อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่รออยู่คือ ทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวนั้นท่องเที่ยวในไทยนานขึ้นและกระจายนักท่องเที่ยวสู่จังหวัดอื่นๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการบ้านที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬายังต้องคิดต่อไป

เทรนด์สังคมสูงวัยและใส่ใจสุขภาพ มีอิทธิพลต่อธุรกิจและเศรษฐกิจไทยมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจากอัตราประชากรสูงอายุที่คาดว่าปีหน้า จะมีจำนวนกว่า 10.5 ล้านคน หรือร้อยละ 16.0 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 12.3 ล้านคน ในอีก 5 ปีข้างหน้า นอกจากเม็ดเงินใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาลและดูแลสุขภาพที่เพิ่มตามจำนวนผู้สูงอายุแล้ว กระแสการดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย เล่นกีฬา เช่น การวิ่งออกกำลังกาย ฟิตเนส โยคะ แบดมินตัน ยังคงทำให้การใช้จ่ายด้านกีฬาและสันทนาการเพิ่มขึ้น ธุรกิจดาวเด่นตามเทรนด์นี้ คือ  ธุรกิจดูแลผู้สูงวัย ร้านขายยาและอาหารเสริม ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ออกกำลังกาย

เทรนด์เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว เทรนด์ล่าสุด ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนจากการเติบโตของเศรษฐกิจยุโรป สหรัฐฯ และตลาดเกิดใหม่ในโซนเอเชีย ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้ยอดส่งออกของไทย 10 เดือนแรกขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 9.7 TMB Analytics คาดว่า ส่งออกไทยนี้ปี จะขยายตัวได้ร้อยละ 8 และคาดว่าจะเป็นแรงเหวี่ยงต่อเนื่องหนุนส่งออกไทยปีหน้าขยายตัวได้อีก ร้อยละ 4.8 ซึ่งธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลดีส่งออกได้มากขึ้น คือ ธุรกิจส่งออกอาหารแปรรูป ธุรกิจส่งออกผัก/ผลไม้ และ ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

เทรนด์เศรษฐกิจดิจิทัล สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อธุรกิจค้าส่ง/ค้าปลีกจากเดิมเข้าสู่การค้าผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น นอกจากพฤติกรรมการจับจ่ายของคนไทยจะเปลี่ยนมาซื้อสินค้าบริการผ่านอินเตอร์เน็ตแล้ว ระบบการชำระเงินผ่านบริการพร้อมเพย์(Prompt Pay) อินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง(internet banking) แอปพลิเคชันบนมือถือ(mobile application) ที่เชื่อถือได้ ใช้งานได้ง่าย และประหยัด ยังมีส่วนช่วยเร่งการจับจ่ายผ่านระบบออนไลน์อีกทาง TMB Analytics คาดการณ์ว่า ปี 2561 มีมูลค่ากว่า  9.2 แสนล้านบาทและขยายตัวเป็น 3.0 ล้านล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 33 ต่อปี ธุรกิจที่ได้รับอานิสงค์โดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คือ ธุรกิจขายของออนไลน์(สินค้าอุปโภคบริโภค) ธุรกิจขนส่งสินค้า ธุรกิจบริการด้านไอที

X

Right Click

No right click