January 22, 2025

จีดีเอส (GDS) ผู้พัฒนาและดำเนินการศูนย์ข้อมูลสมรรถนะสูงระดับแถวหน้าของเอเชีย และมีฐานนักลงทุนหลากหลายทั่วโลก ร่วมกับสำนักงานการลงทุนแห่งอินโดนีเซีย (Indonesia Investment Authority) หรือไอเอ็นเอ (INA) ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งของอินโดนีเซีย ได้ประกาศผนึกกำลังเป็นพันธมิตร เพื่อพัฒนาและขยายภูมิทัศน์ศูนย์ข้อมูลในอินโดนีเซีย ทั้งสองฝ่ายต่างเล็งเห็นศักยภาพของอินโดนีเซียในฐานะตลาดศูนย์ข้อมูลที่กำลังมาแรง และมีวิสัยทัศน์เหมือนกันเกี่ยวกับบทบาทของศูนย์ข้อมูลในการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของอินโดนีเซีย

ทั้งสองฝ่ายมีแผนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนแบบร่วมหุ้น เพื่อเป็นช่องทางพัฒนาแพลตฟอร์มศูนย์ข้อมูลทั่วประเทศ โดยโครงการแรกที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จนั้นคือโครงการพัฒนาแคมปัสศูนย์ข้อมูลระดับไฮเปอร์สเกลที่นิคมดิจิทัลนองซา (Nongsa Digital Park หรือ NDP) ในเมืองบาตัม ซึ่งทางรัฐบาลอินโดนีเซียกำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) แคมปัสศูนย์ข้อมูลในเมืองบาตัมที่จะมีขึ้นนี้จะนำโซลูชันศูนย์ข้อมูลอัจฉริยะอันล้ำสมัยของจีดีเอสมาใช้ และเน้นใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ พร้อมเข้ามากำหนดมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมในภูมิภาคนี้

ความร่วมมือระหว่างจีดีเอสกับไอเอ็นเอมีขึ้นในช่วงเวลาสำคัญ เมื่ออุตสาหกรรมศูนย์ข้อมูลกำลังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วยไอโอที (IoT) ความนิยมในการเปลี่ยนไปประมวลผลบนคลาวด์ และความแพร่หลายของแอปพลิเคชันเอไอ (AI) ขณะที่ผลการศึกษาตลาดคาดการณ์เอาไว้ว่า ความจุในตลาดศูนย์ข้อมูลของอินโดนีเซียจะเพิ่มขึ้นจาก 514MW ในปี 2566 เป็น 1.41GW ภายในปี 2572 อินโดนีเซียกำลังเร่งใช้ประโยชน์จากความต้องการบริการศูนย์ข้อมูลที่เพิ่มขึ้นนี้ เพื่อดึงดูดการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมขับเคลื่อนอินโดนีเซียสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

วิลเลียม หวง (William Huang) ประธานและซีอีโอของจีดีเอส กล่าวว่า “อินโดนีเซียกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ในฐานะทำเลทองเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของลูกค้าผู้มองหาบริการศูนย์ข้อมูลระดับพรีเมียม เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นผู้พัฒนาและผู้ดำเนินการศูนย์ข้อมูลรายแรกที่ร่วมมือกับไอเอ็นเอ ซึ่งเรามองว่าเป็นการสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งที่ทางการอินโดนีเซียมีต่อเรา ทั้งในด้านวิสัยทัศน์ระดับนานาชาติ ความเชี่ยวชาญระดับแถวหน้าของตลาด และการเติบโตอย่างรวดเร็วในระดับภูมิภาค ที่จีดีเอส เรามุ่งมั่นที่จะสร้างระบบนิเวศที่มีมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในอินโดนีเซีย โดยเราบูรณาการโครงการแรกของเราที่เมืองบาตัมเข้ากับโครงการที่ทำงานร่วมกันในสิงคโปร์และยะโฮร์ เพื่อสร้างแพลตฟอร์มที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และออกแบบมาอย่างเหมาะสม เพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัลในอินโดนีเซียและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือกับไอเอ็นเอจะเปิดโอกาสให้แพลตฟอร์มนี้ครอบคลุมทั่วอินโดนีเซียได้มากขึ้น”

ริธา วีระกุสุมะห์ (Ridha Wirakusuma) ซีอีโอของไอเอ็นเอ กล่าวว่า “ความร่วมมือของเรากับจีดีเอสนั้นเป็นมากกว่าการปรับกลยุทธ์ให้สอดรับกัน โดยสะท้อนให้เห็นศักยภาพทางดิจิทัลที่มีชีวิตชีวาของอินโดนีเซีย เศรษฐกิจของเรากำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและมีความก้าวหน้าอย่างน่าทึ่งในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ประชากรวัยหนุ่มสาวของเราที่คุ้นเคยกับอินเทอร์เน็ตอยู่แล้วเป็นข้อพิสูจน์ถึงความพร้อมและศักยภาพด้านดิจิทัลของอินโดนีเซีย ซึ่งอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ ชี้ให้เห็นโอกาสมากมายเบื้องหน้า เราต่างตระหนักถึงความจำเป็นในการพัฒนาศูนย์ข้อมูลในท้องถิ่น ความร่วมมือของเรากับจีดีเอสจึงไม่เพียงแต่มุ่งเป้าไปที่การขยายโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของเราเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการนำข้อมูลมาไว้ในประเทศและเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมต่อข้อมูลด้วย”

การเดินทางสู่อนาคตดิจิทัลของอินโดนีเซียมีความต้องการทางดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นแตกต่างกัน โดยปริมาณการรับส่งข้อมูลมือถือของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 40-50% ต่อปี [1] ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานข้อมูลยังครอบคลุมไม่เพียงพอ ผู้ให้บริการศูนย์ข้อมูลรายใหญ่ ๆ เช่น จีดีเอส ตระหนักถึงศักยภาพของตลาดอินโดนีเซีย เพราะวงการศูนย์ข้อมูลในอินโดนีเซียมีแนวโน้มเติบโตสดใส ซึ่งได้รับแรงหนุนจากความต้องการกระแสข้อมูลที่ดีขึ้นและเร็วขึ้น ประกอบกับการที่องค์กรต่าง ๆ หันไปใช้บริการบุคคลที่สามมากขึ้น และมีความต้องการโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น

ไอเอ็นเอมองเห็นช่องว่างภายในภูมิทัศน์ดิจิทัล จึงตัดสินใจอำนวยความสะดวกในการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั่วทั้งอินโดนีเซียอย่างจริงจัง โดยพุ่งเป้าเสริมความได้เปรียบทางการแข่งขันของบาตัม พร้อมดึงดูดความต้องการที่ล้นหลามจากสิงคโปร์ กลยุทธ์สิงคโปร์-ยะโฮร์-บาตัมของจีดีเอส สอดคล้องกับแนวทางของไอเอ็นเออย่างลงตัว เนื่องจากจะช่วยให้เกิดการเชื่อมต่อที่มีเวลาแฝงต่ำทั่วทั้งศูนย์ข้อมูลที่เชื่อมต่อระหว่างกันของจีดีเอสในอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย ดังนั้นจึงสร้างโซลูชันบริการศูนย์ข้อมูลแบบองค์รวมที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายของจีดีเอสทั้งในประเทศและต่างประเทศ จีดีเอสพร้อมใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญทางเทคนิคที่ไม่มีใครเทียบได้ และประวัติการบริการที่เป็นที่ยอมรับ เพื่อเสริมความได้เปรียบทางการแข่งขันของบาตัมในฐานะศูนย์กลางศูนย์ข้อมูลภายในภูมิภาคนี้

ความพยายามนี้นับเป็นการทุ่มลงทุนครั้งที่สามของไอเอ็นเอในภาคดิจิทัล ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ภาคส่วนสำคัญ ไอเอ็นเอเป็นกองทุนแห่งชาติหนึ่งเดียวของอินโดนีเซีย เปิดตัวในปลายปี 2563 ด้วยเงิน 5 พันล้านดอลลาร์จากรัฐบาล ก่อนหน้านี้ ไอเอ็นเอเข้ามามีบทบาทในการเสนอขายหุ้น IPO ของมิตราเทล (Mitratel) และเป็นผู้ถือผลประโยชน์รายสำคัญของบริษัทเจ้าของเสาสัญญาณโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รายนี้ นอกจากนี้ ไอเอ็นเอยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรอย่างแบล็คร็อค (BlackRock) อลิอันซ์ โกลบอล อินเวสเตอร์ส (Allianz Global Investors) และโอไรออน แคปิตอล เอเชีย (Orion Capital Asia) ในการสนับสนุนแพลตฟอร์มการเดินทางชั้นนำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างทราเวลโลก้า (Traveloka) ความเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์ดังกล่าวตอกย้ำความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ของไอเอ็นเอ ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของอินโดนีเซีย

เมื่อรวมพลังกันแล้ว จีดีเอสและไอเอ็นเอพร้อมเข้ามาพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับศูนย์ข้อมูลที่ดีที่สุดทั่วประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการทางดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไป และยกระดับภูมิทัศน์โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในอินโดนีเซียและที่อื่น ๆ

X

Right Click

No right click