January 09, 2025

ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย จับมือ บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (CSCECTH) สนับสนุนการค้ำประกันสีเขียว (Green Guarantee) มูลค่า 2,000 ล้านบาท ร่วมผลักดันการก่อสร้างงานโยธาในช่วงหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ – หนองคาย ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชิงกลยุทธ์ในการเชื่อมโยงภูมิภาค  ส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจและเศรษฐกิจในประเทศไทย นอกจากนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงยังเป็นการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่การคมนาคมด้วยระบบรางที่ใช้พลังงานไฟฟ้าที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจากยานพาหนะและรถไฟ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อีกทั้งยังสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและเศรษฐกิจของชุมชนไทยตลอดเส้นทางอีกด้วย 

ภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย ยังสนับสนุนสินเชื่อการค้าระหว่างประเทศ และสินเชื่อเพื่อห่วงโซ่อุปทาน มูลค่า 840 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเชิงการค้า พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารสภาพคล่องทางการเงินเพื่อบรรลุเป้าหมายเชิงธุรกิจที่ตั้งเป้าไว้ 

นายจอร์โจ กัมบา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า “การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า โครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในช่วงครึ่งปีแรกของ 2567 มีมูลค่ารวม 325,736 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยแบ่งเป็นยอดขอรับการส่งเสริมจากผู้ประกอบการจากจีน 72,873 ล้านบาท หรือคิดเป็น 22 % ของมูลค่าขอรับการส่งเสริมทั้งหมด1 สำหรับเอชเอสบีซี มูลค่าการดำเนินธุรกิจระหว่างธนาคารฯ และลูกค้าองค์กรที่เข้ามาขยายธุรกิจในอาเซียนเติบโตขึ้นประมาณ 60% ในปี 2566 โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตนี้ ด้วยบทบาทของธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการในประเทศไทยมาอย่างยาวนานถึง 136 ปี ธนาคารเอชเอสบีซีมุ่งมั่นที่จะผลักดันการลงทุนจากต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการนำเสนอนวัตกรรมโซลูชันด้านการเงินที่ครบวงจรแก่ทั้งลูกค้าธุรกิจจากจีนและทั่วโลก” 

 การค้ำประกันสีเขียว (Green Guarantee) สินเชื่อการค้าระหว่างประเทศ และสินเชื่อเพื่อห่วงโซ่อุปทาน ภายใต้ความร่วมมือนี้ จะช่วยสนับสนุนการก่อสร้างงานโยธาของโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นเส้นทางที่สำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทยและจีน โดยการค้ำประกันสีเขียว (Green Guarantee) วงเงิน 2,000 ล้านบาทนี้ครอบคลุมการชำระเงินล่วงหน้าและการค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาแก่การรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ - หนองคาย (สัญญาที่ 4 – 3 ระยะทางจากนวนคร - บ้านโพ) นอกจากนี้ สินเชื่อการค้าระหว่างประเทศ และสินเชื่อเพื่อห่วงโซ่อุปทาน วงเงิน 840 ล้านบาท จะเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการเงินทุนหมุนเวียน การบริหารจัดการสภาพคล่อง และการขยายเวลาการชำระเงิน เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคู่ค้าผ่านความน่าเชื่อถือและความมั่นคงทางการเงินที่ดียิ่งขึ้น 

“บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง (CSCEC) และบริษัทในเครือ มีความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับธนาคารเอช-เอสบีซีมาอย่างยาวนานกว่า 40 ปีใน 20 ประเทศจากหลายภูมิภาคทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นตะวันออกกลาง สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร และอาเซียน โดยธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับบริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญซึ่งจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเชื่อมโยงอาเซียนกับจีน ทั้งนี้ ความร่วมมือในครั้งนี้ยังเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของธนาคารฯ ในการขยายโอกาสการลงทุนจากต่างประเทศ และสะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่องค์กรธุรกิจระดับโลกมีต่อเอชเอสบีซี ในฐานะธนาคารระหว่างประเทศยอดเยี่ยมของไทย ซึ่งได้รับการยอมรับจากยูโรมันนี่ (Euromoney) และไฟแนนซ์เอเชีย (FinanceAsia) เป็นเวลา 4 ปีติดต่อกัน” นายกัมบา กล่าวเสริม 

นายเปง ลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เราได้ทำงานกับธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย มาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การดำเนินธุรกิจในประเทศไทยของเราประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง รวมถึงโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 โดยธนาคารเอชเอสบีซีได้สนับสนุนเราตลอดการดำเนินงาน ด้วยความเข้าใจเชิงลึกของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในประเทศไทย เครือข่ายธุรกิจใน 60 ประเทศ รวมทั้งความเชี่ยวชาญด้านการเงิน ความร่วมมือครั้งนี้จึงถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย  และแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นร่วมกันในการเชื่อมต่อระดับภูมิภาคและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” 

“โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ – หนองคายจะเป็นอีกพลังขับเคลื่อนสำคัญที่จะกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ และเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับจีนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โครงการนี้จะเชื่อมต่อเส้นทางจากกรุงเทพฯ สู่รถไฟเส้นทางลาว – จีน ซึ่งจะทำให้การคมนาคมเชื่อมโยงกันได้อย่างไร้รอยต่อ อีกทั้งยังส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศอีกด้วย” นายลี่ กล่าวทิ้งท้าย 

 สององค์กรผู้ให้บริการด้านการเงินชั้นนำ ธนาคาร CIMB THAI ผู้นำหุ้นกู้ตลาดรอง เจ้าของรางวัล Best Bond Dealer และ บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด ผู้นำด้านการให้บริการทางการเงินแบบดิจิทัล ร่วมเปิดช่องทางลงทุนหุ้นกู้ตลาดรอง (Secondary Bond) ผ่านแอปทรูมันนี่ เพื่อมอบโอกาสให้คนไทยและผู้ใช้กว่า 34 ล้านคน เข้าถึงการลงทุนในหุ้นกู้คุณภาพดีเพื่อสร้างการเติบโตทางการเงินได้ง่ายกว่าที่เคย เพราะไม่ต้องรอ ไม่ต้องจองล่วงหน้าเหมือนหุ้นกู้ตลาดแรก และเป็นอีกทางเลือกของการออมเพื่อรับผลตอบแทนมากกว่าเงินฝากประจำ

พอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า “เราต้องการให้เกิด Digital Ecosystem ตามวิสัยทัศน์ของการเป็น ‘a Digital – led Bank with ASEAN Reach: ธนาคารอาเซียนขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล’ เพื่อส่งมอบบริการอันเป็นเลิศให้ลูกค้า พัฒนาธุรกิจ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน โดยนำเอาจุดแข็งด้านความเชี่ยวชาญธุรกิจ Wealth Management ของธนาคาร เดินหน้าผนึกกำลังกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่าง บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำด้านการให้บริการทางการเงินแบบดิจิทัล ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการใช้เทคโนโลยี เปิดช่องทางใหม่ให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงการลงทุนหุ้นกู้คุณภาพดีที่ CIMB THAI คัดสรรมาแล้ว ได้ 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน ผ่านแอปทรูมันนี่ จากทุกที่ ทุกเวลา ทั่วโลก”

 

นายธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด

ธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันทรูมันนี่ เปิดเผยว่า “แอสเซนด์ มันนี่ และ ทรูมันนี่ มีพันธกิจในการมอบการเข้าถึงบริการทางการเงินและยกระดับชีวิตให้กับผู้คนผ่านการสร้างนวัตกรรมทางการเงิน โดยการจับมือกับ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เพื่อเปิดให้ผู้ใช้สามารถซื้อ ‘หุ้นกู้ตลาดรอง’ (Secondary Bond) ผ่านแอปทรูมันนี่ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการมอบความสะดวกสบายและช่วยขจัดอุปสรรคในการเข้าถึงการลงทุน เนื่องจากปกติแล้ว ‘หุ้นกู้ตลาดแรก’ หรือที่เรียกว่า ‘หุ้นกู้มือหนึ่ง’ นั้นมีจำนวนไม่มากและมีขั้นตอนในการติดต่อขอจองซื้อที่ยุ่งยาก ทำให้ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเข้าถึงได้ ทาง ทรูมันนี่ จึงร่วมกับ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ทำให้การลงทุนในหุ้นกู้เป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้นผ่านแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีของเรา พร้อมส่งเสริมให้นักลงทุนรายย่อยที่อาจยังไม่คุ้นเคยกับการลงทุนในหุ้นกู้ตลาดรองได้เข้ามาศึกษาและเลือกลงทุน เพราะเป็นทางเลือกที่เหมาะกับผู้ที่ต้องการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากประจำ โดยหุ้นกู้ตลาดรองสามารถสร้างผลตอบแทนสูงถึง 5% ต่อปี และในครั้งนี้ ทรูมันนี่ จับมือกับธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องของหุ้นกู้ตลาดรอง มีหุ้นกู้ตลาดรองให้เลือกหลากหลาย อัปเดตใหม่ทุกสัปดาห์ และซื้อได้ทุกวันผ่านแอปทรูมันนี่ นอกจากนี้ ผู้ลงทุนยังมั่นใจอุ่นใจได้ในความปลอดภัยเพราะเป็นการร่วมมือกับสถาบันการเงินชั้นนำอย่าง ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย เพื่อคัดสรรหุ้นกู้ Investment Grade คุณภาพดี เหมาะสำหรับนักลงทุนมืออาชีพ และนักลงทุนหน้าใหม่ และธนาคารมีเกณฑ์ในพิจารณาเลือกซื้อหุ้นกู้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ต้องเป็นบริษัทที่มีพื้นฐานธุรกิจแข็งแกร่ง และแพลตฟอร์มทรูมันนี่ของเราที่มีระบบความปลอดภัยที่ใช้เอไอในการ ตรวจ จับ หยุด ทุกความเสี่ยงและปกป้องบัญชีลูกค้า”

 เพา จาตกานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจบริหารเงิน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า “การบริหารเงินเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้ลูกค้า คือเป้าหมายสำคัญของเรา เรามุ่งมั่นผลักดันให้ ‘ตราสารหนี้ตลาดรอง (Secondary Bond)’ เติบโตขึ้น สร้างสภาพคล่องให้สามารถซื้อ – ขายเปลี่ยนมือได้ตลอด เพื่อตอบโจทย์ของนักลงทุนทุกกลุ่ม ทั้งสถาบัน นิติบุคคล รวมถึงนักลงทุนรายย่อย

การร่วมมือครั้งนี้กับบริษัท ทรูมันนี่ จำกัด สอดรับกับกลยุทธ์ของเรา ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์ ‘ตราสารหนี้ตลาดรอง (Secondary Bond)’ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เราเป็นผู้นำตลาดในปัจจุบัน สะท้อนจากรางวัลใหญ่ ‘Best Bond Dealer: ธนาคารที่เป็นที่ยอมรับในความสามารถในการให้บริการกับคู่ค้าในตลาดรองที่ยอดเยี่ยม’ และรางวัล ‘Most Active Bank in Corporate Bond Secondary Market: ธนาคารที่มีมูลค่าซื้อ – ขายหุ้นกู้เอกชนตลาดรองสูงที่สุด’ จาก ThaiBMA ติดต่อกัน 5 ปีซ้อน (2019 – 2023) ซึ่งทั้ง 2 รางวัลเป็นเครื่องการันตีว่า เรามี “พันธบัตรและหุ้นกู้ตลาดรองคุณภาพดี” พร้อมรองรับความต้องการของนักลงทุนตลอดปี การทำงานร่วมกันกับพันธมิตรที่แข็งแกร่ง จะช่วยเสริมให้คนไทยและผู้ใช้งานทรูมันนี่ที่มีไลฟ์สไตล์ดิจิทัล 34 ล้านคน สามารถเข้าถึงโอกาสบริการทางการเงิน ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว สามารถจัดสรรเงินออม มาลงทุนพันธบัตรและหุ้นกู้คุณภาพดีได้ทุกวัน สร้างโอกาสให้กับนักลงทุนได้เติบโตอย่างมั่งคั่ง และมั่นคง”

 ภูดินันท์ เศรษฐนันท์ ผู้บริหารพัฒนาผลิตภัณฑ์การเงิน ธุรกิจผลิตภัณฑ์การเงินและที่ปรึกษา Equity Derivatives และผู้บริหารการขายลูกค้าบุคคลธนกิจ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เสริมว่า “ ตลาดตราสารหนี้ปัจจุบันมีมูลค่าการซื้อ – ขายอยู่ที่ 5,921,913 ล้านบาท (ข้อมูล: มูลค่าธุรกรรมซื้อขายตราสารหนี้ทุกประเภทที่มีอายุมากกว่า 1 ปี มกราคม – กันยายน 2567 จากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ) ซึ่งแม้ว่าจะมีลูกค้าบุคคลเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดรองเพิ่มขึ้น และมีมูลค่าซื้อขายมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนแตะระดับ 37,089 ล้านบาท ในปัจจุบัน แต่ก็คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% เมื่อเทียบกับมูลค่าการซื้อ – ขายทั้งตลาด ในขณะที่หันกลับมาที่ตลาดหุ้น กลับพบว่า ลูกค้าบุคคลมีสัดส่วนสูงถึง 30% นั่นหมายถึง ‘โอกาส’ และเราเองในฐานะผู้นำ รวมถึงเป็นผู้บุกเบิกตราสารหนี้ตลาดรองของลูกค้าบุคคล เรามุ่งมั่นผลักดันให้ลูกค้าบุคคลเข้าถึงโอกาสของการลงทุนในตราสารหนี้ตลาดรอง เพื่อเข้ามาเป็นผู้เล่นสำคัญที่ทำให้ตลาดตราสารหนี้นี้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด และมีสภาพคล่องทัดเทียมตลาดหุ้น เพื่อให้เป็นอีกแหล่งระดมทุนที่สำคัญของประเทศ

ซึ่งการร่วมมือกับบริษัท ทรูมันนี่ จำกัด ที่มีบริการหลากหลายครอบคลุมไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของลูกค้าในครั้งนี้ คือหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญ ที่ทำให้เราเข้าถึงลูกค้าได้ในวงกว้าง ในขณะเดียวกันก็สามารถพาลูกค้าผู้ใช้งานทรูมันนี่ เข้าถึงการลงทุนตราสารหนี้ โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้หลังเฟดลดดอกเบี้ย ซึ่งเปิดโอกาสให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดดอกเบี้ยลงเช่นกัน จึงเป็นจังหวะของการลงทุนพันธบัตรและหุ้นกู้คุณภาพดีเข้าพอร์ต เพื่อล็อคผลตอบแทน สร้าง passive income โดยนักออมเงินหรือนักลงทุนที่สนใจสามารถลงทุนหุ้นกู้ตลาดรองได้ทั้งแอปพลิเคชันทรูมันนี่และแอปพลิเคชั่น CIMB THAI

นอกจากนี้ CIMB THAI ยังเตรียมจัดกิจกรรมดี ๆ ร่วมกับพันธมิตร ที่จะให้ความรู้กับนักลงทุน พร้อมกับการสร้างความสุขและสนุกสนาน เพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่และส่งเสริมการสร้างความมั่งคั่งผ่านผลิตภัณฑ์หุ้นกู้คุณภาพดี”

มุ่งสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีไทย ในทุกอุตสาหกรรมเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียว

ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เปิดตัวโครงการ Sustainability Innovation หรือ SIP ประจำปี 2024 จัดโดย ยูโอบี ฟินแล็บ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ของไทยในทุกภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการนำความยั่งยืนมาสู่ธุรกิจ โดยใช้ประโยชน์จากเครือข่ายที่กว้างขวางของยูโอบี ฟินแล็บ (UOB FinLab) ซึ่งประกอบด้วยพันธมิตรจากภาครัฐ เอกชน ผู้ให้คำปรึกษา และ SMEs

โครงการ SIP ประกอบด้วย 3 โมดูลหลัก ซึ่งจัดทำขึ้นโดยความร่วมมือกับพันธมิตรในอุตสาหกรรม ได้แก่ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), PwC ประเทศไทย,องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ โครงการยั่งยืนนิยม ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 29 และ 30 พฤษภาคม 2567 ที่กรุงเทพฯ โดยประกอบด้วยเวิร์กชอปและมาสเตอร์คลาสที่ออกแบบมาสำหรับ SMEs ไทยที่ผ่านการคัดเลือกมากกว่า 200 ราย ซึ่ง SMEs ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับความรู้และข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับกฎระเบียบด้านความยั่งยืน เครื่องมือวัดผล ตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social and Governance - ESG) แนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม และขั้นตอนการดำเนินการ เพื่อเริ่มต้นการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียว

จากรายงาน UOB Business Outlook Study 20241 พบว่า การนำแนวทางปฏิบัติ ESG มาใช้ในประเทศไทยนับเป็น 1 ใน 5 ลำดับความสำคัญทางธุรกิจที่องค์กรให้ความสำคัญอย่างมากในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ธุรกิจประมาณ 3 ใน 10 ระบุว่า จำเป็นต้องมีการสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นในส่วนของการเชื่อมโยงกับองค์กรอื่นๆ ในภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงคำแนะนำสำหรับการปรับใช้มาตรฐาน ESG และแนวทางปฏิบัติในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

นายบัลลังก์ ว่องธวัชชัย Head of Digital Engagement and FinTech Innovation ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “ปัญหาโลกร้อนส่งผลให้องค์กรต่างๆ ทั่วโลกจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางธุรกิจและการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน จากผลสำรวจ UOB Business Outlook Study พบว่าโดยทั่วไปแล้วองค์กรธุรกิจในไทยมองว่าการปรับใช้แนวทางความยั่งยืนคือปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีกับองค์กร (ร้อยละ 56) ช่วยดึงดูดนักลงทุน (ร้อยละ 50) และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในการทำงานร่วมกับองค์กรขนาดใหญ่ (ร้อยละ 42)

“SMEs ตระหนักมากขึ้นถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว โครงการ SIP รวบรวมพันธมิตรจากภาครัฐและเอกชนที่สามารถช่วยเหลือ SMEs ไทยในทุกกลุ่มธุรกิจ เพื่อเริ่มต้นปรับใช้แนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยองค์ความรู้เฉพาะทาง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะสามารถประเมินความพร้อมของธุรกิจตน สำหรับการพัฒนาสู่ความยั่งยืน โดยใช้เครื่องมือด้านความยั่งยืนของทางธนาคารที่พัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะ โดยเครื่องมือนี้จะแนะนำแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มธุรกิจต่างๆ”

ทางด้านนายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO กล่าวว่า “ปัจจุบันความยั่งยืนกลายเป็นความจำเป็นของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ที่เป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศ หลังนโยบายทั้งไทยและต่างประเทศมุ่งเป้าจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พบว่ามีหลายๆ บริษัทได้ตั้งเป้าหมายสู่ Net Zero มากขึ้น แต่ไม่มีความรู้ที่แน่ชัดว่าจะเริ่มต้นจากจุดไหน ทาง TGO จะเข้ามาช่วย เสริมโครงการ SIP ในจุดนี้ได้ ด้วยการสนับสนุน SMEs ทั้งในเรื่องของแพลตฟอร์มการขอขึ้นทะเบียนกับ TGO ตลอดการให้คำปรึกษาและข้อแนะนำต่างๆ ที่จะช่วยสร้างโอกาสและเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจ SMEs สามารถรุกตลาดคาร์บอนเครดิตต้องทำยังไง ทั้งเป็นหน่วยงานกลางให้ความรู้และช่วยในการประเมินก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจ”

ส่วนทางด้านนายปิติพัฒน์ มงคลอริยนันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคเอ็มพี คอร์ปอเรชัน ที่ทำธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างแบบครบวงจรที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการภาครัฐและภาคเอกชนอย่างครบวงจร กล่าวว่า “หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการกับทาง UOB FinLab เราเห็นผลลัพธ์อย่างชัดเจน นอกจากยอดขายที่เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายลดลง ระบบปฏิบัติการหลังบ้านที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ยังได้นำแนวคิดเรื่องความยั่งยืนไปปรับใช้ในธุรกิจและคู่ค้าของธุรกิจของเราด้วย การขยาย

 

โครงการ SIP ในปีนี้ที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนอุตสาหกรรม นับว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการที่ต้องการปรับสู่ความยั่งยืน แต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นจากจุดไหน เพราะจะได้เรียนรู้ตั้งแต่ความจำเป็น กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง การประเมินการปล่อยคาร์บอนของธุรกิจ การทำโมเดลธุรกิจอย่างยั่งยืน รวมถึงโอกาสเข้าถึงเครือข่ายธุรกิจทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นต้น”

นอกจากโครงการ SIP แล้ว ยูโอบี ฟินแล็บ ยังจัดทำโครงการสำหรับสตาร์ทอัพและบริษัทผู้ให้บริการโซลูชันเพื่อสิ่งแวดล้อมหรือกรีนเทค ที่ชื่อว่า GreenTech Accelerator (GTA) 2024 ระยะเวลา 6 เดือนอีกด้วย โครงการ GTA จะช่วยให้ผู้ให้บริการโซลูชันกลุ่มกรีนเทคได้พัฒนาโซลูชันเพื่อสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงจาก SMEs ในอาเซียน และกรีนเทคผู้ชนะจะได้รับเงินทุนสนับสนุนเพื่อนำไปพัฒนาโครงการนำร่องในการแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเริ่มต้นเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ นอกจากนี้ เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นของยูโอบี ฟินแล็บ ในการขับเคลื่อนโซลูชันที่เป็นนวัตกรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน โครงการ GTA 2024 จะสนับสนุนเงินทุนสูงถึง 100,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับเทคโนโลยีสีเขียว หรือกรีนเทค (Greentech) เพื่อนำร่องนวัตกรรมโซลูชันที่เหมาะสมและสามารถนำไปใช้งานได้จริงสำหรับธุรกิจต่างๆ

โครงการ SIP เปิดรับผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs หรือผู้มีอำนาจตัดสินใจจากทุกภาคธุรกิจที่ต้องการปรับใช้แนวทางปฏิบัติด้านความยั่งยืน SMEs ที่สนใจ สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 25 พฤษภาคม 2567 ที่ www.facebook.com/uob.th หรือ https://thefinlab.com/th/thailand

ธุรกิจธนบดี ธนาคารทิสโก้ ตอกย้ำผู้นำด้านการวางแผนแบบองค์รวม (Holistic Advisory) กางแผนขับเคลื่อนธุรกิจปี 2567 เดินหน้ายกระดับให้ลูกค้ามีชีวิตที่ดีและมั่นคงทั้งด้านการเงิน สุขภาพ และที่อยู่อาศัย ชูโปรแกรม TISCO My Goal ตัวช่วยออกแบบแผนการเงินให้ถึงเป้าหมายของลูกค้าเฉพาะราย ลุยปรับโฉมสาขา TISCO Advisory Branch ให้คำแนะนำด้วยเจ้าหน้าที่มีคุณวุฒิที่ปรึกษาการเงิน (AFPT™) พร้อมเสริมแกร่งให้ครบเครื่องด้วย ‘Friends for Well-being' จับมือพันธมิตรหลากหลายธุรกิจ ทั้งกลุ่มการเงิน โรงพยาบาล และอสังหาริมทรัพย์ ตอบทุกความต้องการของลูกค้

 

นายพิชา รัตนธรรม ประธานเจ้าหน้าที่ธุรกิจธนบดี และบริการธนาคาร ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นวัตกรรมการแพทย์ก้าวหน้าทำให้อายุเฉลี่ยของคนทั่วโลกมีแนวโน้มยืนยาวขึ้น โดยจากการสำรวจและคาดการณ์ขององค์การสหประชาชาติ (United Nationals) และเวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรั่ม (World Economic Forum) คาดว่าในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) อายุเฉลี่ยคนทั่วโลกจะอยู่ที่ 77.3 ปี และที่น่าสนใจคือ คนไทยมีอายุเฉลี่ยเกินค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ 82.3 ปี ซึ่งปัจจุบันไทยติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศที่ผู้สูงวัยเติบโตเร็วที่สุดในโลก และก้าวสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ (aged society) ไปแล้ว

จากเทรนด์ดังกล่าว ธนาคารทิสโก้ ในฐานะผู้นำการวางแผนแบบองค์รวม หรือ Holistic Advisory ที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพของคำแนะนำ (Good Advice) คุณภาพของบทวิเคราะห์เชิงลึก (Good Research) และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ (Good Product) จึงต้องการเข้ามาช่วยคนไทยวางแผนให้ครอบคลุมในทุกมิติรับกับสังคมสูงวัย พลิกโฉมไปจากการวางแผนการเงินรูปแบบเดิม ได้แก่ 1. เพิ่มความพร้อมด้านการเงิน ผ่านการลงทุนในผลิตภัณฑ์การเงินที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่น และหลักประกันของชีวิตควรครอบคลุมทั้งประกันสุขภาพ โรคร้ายแรง และประกันบำนาญ 2. สนับสนุนเรื่องการดูแลสุขภาพ และ 3.เพิ่มความพร้อมด้านที่อยู่อาศัยวัยเกษียณ ผ่านบริการที่ผสมผสานระหว่างจุดแข็งของบุคลากรที่มีคุณภาพ ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยี พร้อมจับมือกับพันธมิตรทั้งด้านการเงิน (Financial) และพันธมิตรในธุรกิจอื่น (Non-financial) เพื่อให้ลูกค้าได้รับประโยชน์สูงสุด

ชู TISCO My Goal โปรแกรมออกแบบแผนการเงินให้ถึงเป้าหมาย

ธนาคารทิสโก้หวังให้คนไทยมีเงินใช้แบบสุขสบายในสังคมอายุยืน พัฒนา TISCO My Goal โปรแกรมวางแผนการเงินที่ครอบคลุมทั้งกองทุน ประกัน เงินฝาก รวมถึงวางแผนมรดกให้แก่ทายาท ซึ่งจะเป็นเครื่องมือช่วยให้เจ้าหน้าที่ธนกิจส่วนบุคคล (RM) นำไปใช้ออกแบบแผนการเงินเพื่อการเกษียณให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าแต่ละราย โดยจะใช้ข้อมูลจาก 3 ส่วนเข้ามาช่วยในการวางแผน ได้แก่ 1. เป้าหมายค่าใช้จ่ายทั่วไปหลังเกษียณของแต่ละคน 2. ค่าใช้จ่ายสำคัญหลังเกษียณ เช่น ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ กรณีเกิดโรคร้ายแรง โดยคำนวณค่าใช้จ่ายทั้งกรณีการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ให้ลูกค้าเลือกได้ว่าเมื่อเกษียณแล้วต้องการรักษาที่โรงพยาบาลประเภทใด 3. การส่งต่อทรัพย์สินให้ทายาท ให้คำแนะนำว่าจะวางแผนอย่างไรหากเกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้น พร้อมเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้การวางแผนการเงินประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย สำหรับลูกค้าที่ไม่สะดวกเดินทางไปสาขา หรือต้องการวางแผนการเงินเบื้องต้นสามารถใช้งานโปรแกรม TISCO My Goal ผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น แอปพลิเคชัน TISCO My Wealth เว็บไซต์ TISCO Wealth และ LINE OA: TISCO Advisory

“ธนาคารทิสโก้พบว่าโปรแกรมวางแผนการเงินในปัจจุบัน เน้นแต่เรื่องการออมเงินและลงทุนอย่างไรให้มีเงินก้อนก่อนเกษียณที่เพียงพอ แต่ยังมีช่องว่างเรื่องการวางแผนด้านค่าใช้จ่ายสุขภาพ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายจำนวนมากที่มักจะเกิดขึ้นในชีวิตหลังเกษียณ รวมทั้งอาจจะลืมคำนึกถึงกระแสเงินสดหลังเกษียณที่สามารถสร้างได้ด้วยประกันบำนาญ นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้วางแผนเกษียณมักจะยอมลดคุณภาพชีวิตหลังเกษียณของตัวเองลงเพื่อลดจำนวนเงินที่ตัวเองต้องเก็บออมก่อนเกษียณ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วชีวิตหลังเกษียณเราอาจยังต้องการใช้ชีวิตที่เทียบเท่ากับช่วงชีวิตที่ทำงานมีรายได้อยู่ ดังนั้น โปรแกรมนี้จะเข้ามาช่วยออกแบบแผนการเงินให้เป็นไปตามความเป็นจริงและเป็นไปตามไลฟ์สไตล์ของลูกค้ามากที่สุด และสำหรับลูกค้าที่มีความมั่งคั่งสูงต้องการส่งต่อมรดกให้แก่ทายาท โปรแกรมนี้ก็จะช่วยแนะนำให้ท่านวางแผนส่งต่อมรดกแบบไร้รอยต่อและนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ช่วยบริหารจัดการภาษีมรดกอีกด้วย” นายพิชากล่าว

ยกระดับบริการ ลุยเปิด TISCO Advisory Branch

นายพิชากล่าวอีกว่า การให้บริการลูกค้าที่มีความมั่งคั่งสูง (Wealth) จำเป็นต้องให้บริการโดยเจ้าหน้าที่ธนกิจส่วนบุคคล (RM) ที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นมืออาชีพ ควบคู่ไปกับการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มความแม่นยำของคำแนะนำ ดังนั้น ธนาคารทิสโก้จึงเดินหน้าให้บริการลูกค้าแบบ “Hybrid Advisory” ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างการให้ “คำแนะนำที่ดี” ควบคู่กับการมี “ผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม” ให้แก่ลูกค้า รวมถึงการนำ “เทคโนโลยี” เข้ามาช่วยยกระดับบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเจ้าหน้าที่ RM ของธนาคารทิสโก้ทุกรายได้รับใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุน (IC License) และธนาคารทิสโก้ยังส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ RM ทุกสาขาได้รับคุณวุฒิที่ปรึกษาการเงิน (AFPT®) และนักวางแผนการเงิน (CFP®) อีกด้วย

เพื่อให้ลูกค้าได้รับการบริการที่มีคุณภาพ ธนาคารทิสโก้สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ RM ของเราได้รับคุณวุฒินักวางแผนการเงิน (CFP®) และที่ปรึกษาการเงิน (AFPT™) และมีเป้าหมายให้ทุกสาขามีเจ้าหน้าที่ที่ได้รับคุณวุฒิ AFPT™ ให้บริการวางแผนการเงิน เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าแผนการเงินที่ธนาคารทิสโก้ออกแบบให้นั้นดี ครบถ้วน ได้มาตรฐานระดับโลก” นายพิชากล่าว

นอกจากนี้ ยังยกระดับบริการด้วยสาขารูปแบบใหม่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ Advisory Branch โดดเด่นด้วยบริการปรึกษาแผนการเงินด้วยเจ้าหน้าที่ที่มีคุณวุฒิ AFPT™ ซึ่งเป็นสาขาที่จะช่วยลูกค้าออกแบบแผนการเงินเฉพาะบุคคล สำหรับบุคคลทั่วไปที่สนใจอยากต่อยอดเงินล้าน มีกิจกรรมให้ความรู้ด้านการเงิน รวมถึงกิจกรรมให้ความรู้ด้านสุขภาพ และกิจกรรมด้านไลฟ์สไตล์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อตอบโจทย์ความเป็น Holistic Advisory หรือแบบองค์รวม และยกระดับการบริการด้านการวางแผนเกษียณ โดยมีเป้าหมายให้บริการที่สาขาสำนักงานใหญ่เป็นสาขานำร่องซึ่งจะเปิดให้บริการในเดือนมีนาคม 2567 นี้ และหลังจากนี้จะขยาย Advisory Branch ไปยังสาขาต่างๆ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้ากลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง ซึ่งต้องการทางเลือกการออม การลงทุนที่มีความหลากหลาย รวมทั้งต้องการวางแผนชีวิตในด้านอื่นๆ มากขึ้น

จับมือพันธมิตรหลากหลายธุรกิจ ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์

นายพิชากล่าวอีกว่า ในด้านการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ดี (Good Product) ซึ่งเป็นหัวใจหลักสำคัญที่จะช่วยให้แผนการเงินของลูกค้าประสบความสำเร็จนั้น ธนาคารทิสโก้มีโมเดลธุรกิจ Open Architecture สามารถคัดเลือกและเสนอขายผลิตภัณฑ์การเงินจากหลากหลายบริษัท โดยปัจจุบันเสนอขายผลิตภัณฑ์กองทุนจาก 14 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และ 8 บริษัทประกันชั้นนำ ทำให้สามารถเลือกผลิตภัณฑ์การเงินที่เป็นจุดแข็งของแต่ละบริษัทมานำเสนอลูกค้าได้

การจะเป็น Advisory Bank ที่ดีให้กับลูกค้าได้นั้นต้องไม่จำกัดเรื่องการนำเสนอผลิตภัณฑ์จากบริษัทใดบริษัทหนึ่งเท่านั้น เพราะบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนแต่ละแห่ง และบริษัทประกันแต่ละรายล้วนแต่มีจุดแข็งที่แตกต่างกัน และไม่มีที่ไหนทำได้ดีที่สุดหรือเก่งที่สุดได้ตลอดเวลา ธนาคารทิสโก้มั่นใจว่าด้วยโมเดลธุรกิจ Open Architecture ที่สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินแบบไม่จำกัดค่าย ผสานกับบทวิเคราะห์ จากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU)และบทวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ประกัน ผลิตภัณฑ์กองทุนที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่นจากทีม Wealth Advisory รวมทั้งการให้คำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ RM ที่แนะนำโดยใช้ความต้องการของลููกค้า (Customer Focus) เป็นตัวตั้งจะทำให้แผนการเงินของลูกค้ามีประสิทธิภาพสูงสุด” นายพิชากล่าว

 

ทั้งนี้ สำหรับวิธีการคัดเลือกผลิตภัณฑ์กองทุนนั้น ธนาคารทิสโก้มีกระบวนการศึกษากลยุทธ์การลงทุนอย่างรอบด้าน ทั้งด้านผลตอบแทน ความเสี่ยง ขนาดของกองทุน สภาพคล่อง ฯลฯ และนำเสนอเข้าสู่คณะกรรมการการลงทุนที่มีผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนเพื่อคัดสรรกองทุนที่คิดว่าดีที่สุดก่อนจะนำเสนอให้กับลูกค้า สำหรับผลิตภัณฑ์ประกันนั้นพันธมิตรบริษัทประกันแต่ละแห่งก็มีความเชี่ยวชาญและมีผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นแตกต่างกัน ธนาคารทิสโก้จะคัดสรรประกันที่คุ้มค่ามาให้ลูกค้า รวมถึงเข้าไปหารือร่วมกับบริษัทประกันช่วยกันออกแบบความคุ้มครองเพื่อให้ลูกค้าของธนาคารทิสโก้ได้ประโยชน์สูงสุด

นายพิชากล่าวอีกว่า นอกจากการสร้างความมั่งคั่ง และการปกป้องความมั่งคั่งแล้ว ธนาคารทิสโก้มองว่าการที่ลูกค้าจะมี Well being เพื่อให้มีความสุขได้อย่างสมบูรณ์ ก็ควรจะต้องมีสุขภาพที่ดี และความเป็นอยู่ที่ดีร่วมด้วย จึงก้าวไปอีกขั้นด้วยการร่วมมือกับพันธมิตรด้าน Non - financial ซึ่งครอบคลุมในเรื่องสุขภาพ และไลฟ์สไตล์ โดยร่วมมือกับโรงพยาบาลรัฐฯ และเอกชน 7 แห่งในการให้ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพ อัปเดตนวัตกรรมการแพทย์ และให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่ลูกค้า และสร้างความพร้อมด้านที่อยู่อาศัยหลังเกษียณโดยร่วมมือกับบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในการจัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้ลูกค้าวางแผนการเกษียณที่ครบถ้วน

“ธนาคารทิสโก้และพันธมิตรทุกองค์กรจะเดินหน้าร่วมกันเป็น “Friends for Well-being" เพื่อให้ลูกค้าธนาคารทิสโก้ได้ทั้งคำแนะนำทางการเงินที่เสริมสร้างและปกป้องความมั่งคั่งให้กับลูกค้า และคำแนะนำสุขภาพ รวมถึงด้านที่อยู่อาศัย ที่ตอบโจทย์การให้คำแนะนำลูกค้าแบบองค์รวม หรือ Holistic Advisory ที่ครอบคลุมทั้ง Financial และ Non-Financial และเพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้าจะสามารถมีความสุขกับ Lifestyle ที่เลือกไปตลอดทุกช่วงชีวิตและเชื่อว่าจะทำให้ธุรกิจธนบดีของธนาคารทิสโก้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเป้าหมายการเป็น “Your Trusted Financial Advisor” ของกลุ่มทิสโก้ได้” นายพิชา กล่าว

กรุงเทพฯ ประเทศไทย วันที่ 27 มิถุนายน 2566 — การ์ทเนอร์ อิงค์ คาดการณ์มูลค่าการใช้จ่ายด้านไอทีของบริการธนาคารและการลงทุนทั่วโลกจะสูงถึง 652.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 8.1% จากปี 2565 โดยในหมวดซอฟต์แวร์จะมีอัตราการเติบโตมากที่สุด เพิ่มขึ้น 13.5% ในปีนี้

เดบบี้ บัคแลนด์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ กล่าวว่า "ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันเปลี่ยนบริบทการลงทุนในเทคโนโลยีของภาคการธนาคารและการลงทุนในปีนี้ แทนที่จะปรับลดงบประมาณไอที องค์กรกำลังใช้จ่ายมากขึ้นกับประเภทเทคโนโลยีที่สร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างเช่น การใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์ที่กำลังเปลี่ยนจากการพัฒนาซอฟต์แวร์ใช้เองไปเป็นการซื้อโซลูชันที่สร้างมูลค่าจากการลงทุนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น”

การลงทุนในคลาวด์ยังคงสำคัญเหมือนเดิม จากการสำรวจ CIO and Technology Executive Survey ประจำปี 2566 ของการ์ทเนอร์ พบว่าในปี 2566 CIO ในกลุ่มบริการธนาคารและการลงทุนจะใช้เงินก้อนใหม่หรือเพิ่มการลงทุนจำนวนมากที่สุดไปกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ ข้อมูลและการวิเคราะห์ เทคโนโลยีที่ใช้ร่วมกัน และคลาวด์

ผู้บริหารไอทีมากกว่าครึ่งวางแผนเพิ่มการลงทุนในคลาวด์และลดการใช้จ่ายด้านไอทีในดาต้าเซ็นเตอร์ของตนเอง สะท้อนให้เห็นจากยอดการเติบโตที่ช้าลงของการใช้จ่ายด้านระบบดาต้าเซ็นเตอร์ลดลงจาก 13.2% ในปี 2565 เป็น 5.7% ในปี 2566 (ดูตารางที่ 1) โดยธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ กำลังยกเลิกการลงทุนไปกับสินทรัพย์มีตัวตน (Tangible Assets) และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรขององค์กร (CAPEX) เพื่อหันมาใช้บริการและลงทุนกับสินทรัพย์ในรูปแบบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ (OPEX) เพื่อตอบสนองความคาดหวังของลูกค้าและตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป

พีท เรดชอว์ รองประธานฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ ระบุว่า "เพื่อรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบัน CIO ขององค์กรที่ให้บริการธนาคารและการลงทุนกำลังจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายอย่างรอบคอบมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตที่ยืดหยุ่นและยั่งยืน เช่น การมอบประสบการณ์ลูกค้าที่ดีขึ้น (CX) และการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขอบเขตพื้นที่ใหม่ ๆ กลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ และสายงานธุรกิจใหม่ ๆ ที่ซึ่งเปลี่ยนไปจากเมื่อปีก่อนที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดและเคยเป็นเป้าหมายหลักของ CEO ของธุรกิจการเงินการธนาคาร”

บริการไอทียังเป็นกลุ่มที่มียอดการใช้จ่ายมากที่สุด

เนื่องจากการใช้บริการให้คำปรึกษาและการบริการ Infrastructure As A Service (IaaS) ที่เพิ่มขึ้น บริการไอทีจะเป็นกลุ่มที่มียอดการใช้จ่ายสูงที่สุด โดยคาดว่าจะสูงถึงเกือบ 270 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 9.3% จากปี 2565 สะท้อนถึงบทบาทที่สำคัญของผู้ให้บริการด้านไอทีที่มากขึ้นและมีส่วนช่วยเหลือองค์กรในกลุ่มบริการธนาคารและการลงทุนเพื่อรับมือกับโอกาสและความท้าทายใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น

“ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทำให้องค์กรต่าง ๆ ต้องแบ่งสัญญาระยะยาวออกเป็นโปรเจกต์สั้น ๆ หลาย ๆ โปรเจกต์” บัคแลนด์ กล่าวเพิ่ม “นอกจากนั้นยังลังเลที่จะเซ็นสัญญาใหม่ ยึดอยู่กับการริเริ่มระยะยาว หรือรับพันธมิตรด้านเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งเป็นการผลักดันให้มีการใช้บริการที่ปรึกษาด้านไอทีเพิ่มขึ้น”

ปัญหา Talent Shortage ก่อให้เกิดต้นทุนใช้จ่ายภายในองค์กร

การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะความสามารถทั่วโลกส่งผลกระทบต่อองค์กรในกลุ่มบริการธนาคารและการลงทุน โดยทำให้มูลค่าการใช้จ่ายบริการภายในเพิ่มขึ้น 4.2% ในปี 2566 เนื่องจากมีต้นทุนการจ้างงานและการรักษาทีมงานที่มีทักษะความสามารถเพิ่มขึ้น

"แม้เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการปลดพนักงานของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่หลายแห่งแต่บุคลากรที่มีทักษะความสามารถระดับสูงกลับไม่ได้มองว่าธนาคารเป็นจุดหมายปลายทางที่อยากมาทำงานด้วย หรือมอบรายได้ที่คุ้มค่า หรือน่าตื่นเต้นที่สุดที่ได้ทำงาน ดังนั้นองค์กรจำเป็นต้องมีโซลูชันที่เน้นนวัตกรรมเพื่อคัดสรรบุคลากรมากขึ้น อาทิ การลดข้อกำหนดของการศึกษาในมหาวิทยาลัย และเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นๆ มากขึ้น เช่น การฝึกอบรมเพื่อสร้างทักษะใหม่ ๆ ตลอดชีวิต การสร้างทีมไฮบริด การเพิ่มวิธีการที่เน้นความคล่องตัว และการร่วมมือด้านฟินเทค” เรดชอว์ กล่าวเพิ่ม

ติดตามข่าวสารและข้อมูลอัปเดตจาก Gartner for High Tech ได้ทาง Twitter และ LinkedIn หรือเยี่ยมชม IT Newsroom สำหรับข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติม

 

Page 1 of 7
X

Right Click

No right click