December 03, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 6847

อนันดา เออร์เบินเทค (Ananda UrbanTech) เป็นวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นของบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ที่จะพัฒนารูปแบบการใช้ชีวิตของคนเมืองผ่านการปรับใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี  และ Seedstars องค์กรระดับโลกที่มุ่งมั่นสร้างการเปลี่ยนแปลงและพัฒนารูปแบบการใช้ชีวิตของคนเมืองผ่านเทคโนโลยีและการคิดค้นของผู้ประกอบการธุรกิจหน้าใหม่ ร่วมมือกันเป็นปีที่สองในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน Ananda x Seedstars Urban Living 2018 โดยนำวิทยากรชั้นนำมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมล่าสุดเพื่อยกระดับการใช้ชีวิตของคนกรุงเทพฯรวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียงอื่นๆ

วิทยากรที่มาร่วมให้ความคิดเห็นประกอบด้วย คริสเตียน โคลเกิ้ล (Kristian Kloeckl) นักออกแบบและรองศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทอร์น สาขาศิลปะและสถาปัตยกรรมศาสตร์ คริสเตียน ให้ความสำคัญในการตรวจสอบการออกแบบปฏิสัมพันธ์ (Interaction Design) เพื่อการนำไปสู่ไฮบริดซิตี้  และการศึกษาบทบาทของแนวคิดไร้แบบแผนสำหรับการออกแบบ ซึ่งผลงานของเขาเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวได้รับการเปิดเผยอย่างแพร่หลายจากงานจัดแสดงในสถานที่ต่างๆ อาทิ เวนิส เบียนนาเล่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ในนิวยอร์ก และพิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์  

มานูเอล เดอร์ ฮาโกเพน (Manuel Der Hagopian) ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท G8A Architecture  ในเมืองเจนีวา  ปัจจุบันเขาให้ความสนใจเกี่ยวกับผลกระทบของการเติบโตอย่างรวดเร็วของประชากรที่อยู่อาศัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ปี ค.ศ 2015 มานูเอลดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีและการออกแบบมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์  

และสุดีป ไมธี (Sudeept Maiti) ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายซิตี้โปรแกรม บริษัท WRI India สุดีป เป็นผู้ดูแลฝ่ายการควบคุมบริหารจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่ต่างๆของบริษัท WRI India เพื่อการพัฒนาระบบการขนส่งในเมือง เขามีประสบการณ์การทำงานด้านการควบคุมบริหารอุปกรณ์ (Mobility Solutions) มามากกว่า 200 ระบบ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านการขนส่งที่ยั่งยืน การวางผังเมือง และการออกแบบชุมชนเมือง นอกจากนี้เขายังมีส่วมร่วมในการจัดตั้งกลุ่ม Multi-City และ Multi-Stakeholder เพื่อช่วยเปิดโอกาสสำหรับการเข้าร่วมพัฒนาของภาคเอกชน รวมทั้งการวางแผนกลยุทธ์, การดำเนินการภาคพื้นดินสำหรับระบบความปลอดภัย, การออกแบบพื้นที่สาธารณะ และแนวคิดการพัฒนามุ่งเน้นการขนส่ง (TOD) สำหรับเมืองต่างๆ

ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเมืองเหล่านี้มารวมตัวกันเพื่อแบ่งปันแนวคิดในการพัฒนาเมืองสมัยใหม่ เพราะ การพัฒนาชุมชนเมืองคือประเด็นสำคัญ ในยุคการย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่ (Urbanization) ประชากรโลกกว่าครึ่งอาศัยอยู่ในเมือง โดยองค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ประชากรที่จะเข้ามาอาศัยในเมืองจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี ค.ศ. 2050 ความท้าทายที่นักวางแผนเมืองต้องเผชิญคือการพิจารณาภูมิทัศน์เมืองตลอดจนสุขภาพ การเคลื่อนย้าย การศึกษาของผู้อยู่อาศัย มลพิษ ความปลอดภัย และโครงสร้างพื้นฐาน ตามรายงานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals Report)  

 งานในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อให้นักวางผังเมือง นักลงทุน ผู้ประกอบการ รวมถึงกลุ่มวิทยากรชั้นนำที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในเมืองมาปรึกษาหารือโดยใช้ข้อมูลเมืองและนวัตกรรมเทคโนโลยีล่าสุดเพื่อยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจและสังคมรวมทั้งการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนเมือง

โดยสามประเด็นหลักในการพูดคุยประกอบด้วย:

การออกแบบซิตี้ไฮบริด: Inter/face, Inter/act, Improv/act” โดย คริสเตียน โคลเกิ้ล เขาบอกว่าไฮบริดซิตี้ถือเป็นสภาพแวดล้อมเหนือกว่าความเป็นสมาร์ทซิตี้ที่สามารถวัดการตอบสนองแบบเรียลไทม์ต่อสถานการณ์หรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด ซึ่งแนวคิดไร้แบบแผนช่วยให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงต่างๆได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อเราเรียนรู้กับการสร้างสรรค์อย่างไร้แบบแผน เราจะพร้อมรับมือกับทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 การออกแบบเมืองสมัยใหม่ทำได้โดยการออกแบบให้เข้ากับรูปแบบการใช้ชีวิตจริงของคนในสังคม โดยการคิดแบบองค์รวมผ่านผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ โดยความท้าทายที่อาจจะเกิดขึ้นได้คือ เรื่องนี้เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่ต้องมาทดลองคิดและวางแผนร่วมกัน โดยเขาให้คำแนะนำว่า ควรจะคิดนอกกรอบ และให้คนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม

และคำแนะนำในการเลือกเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ว่า สามารถมองได้หลายมุมมอง แต่สิ่งสำคัญคือต้องทำให้คนในสังคมทุกคนอยากเลือกใช้ เหมาะกับชีวิตของคนในเมืองนั้นจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการดูแลสุขภาพ การขนส่ง การศึกษา และอื่นๆ ซึ่งการจะเปลี่ยนแปลงนั้นต้องการความยืดหยุ่นเพื่อให้สามารถปรับตัวได้ในอนาคต เขาให้ข้อสังเกตว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เข้ามาอาจเป็นส่วนๆ ก็ได้เช่นการใช้พื้นที่แบบ Co-Working Space ที่เกิดขึ้นก็เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ทั่วโลกในปัจจุบัน

 การออกแบบตามธรรมชาติสำหรับสภาพแวดล้อมที่มีความหนาแน่นสูง" โดย มานูเอล เดอร์ ฮาโกเพน ที่เขาบอกโดยสรุปว่า ทุกเมืองมีความแตกต่างอย่างมากโดยเฉพาะด้านวัฒนธรรม สภาพภูมิอากาศ การเมืองการปกครอง ซึ่งในบางครั้งการสร้างอาคารอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นเสมอไป แต่กว่าจะรู้นั้นก็ต่อเมื่อเราจำเป็นต้องหยุดสร้างไปเสียแล้ว  เราสร้างอาคารสูงเนื่องจากพื้นที่มีจำกัดซึ่งลักษณะการสร้างอาคารดังกล่าวอาจปิดโอกาสการติดต่อสื่อสารของคนในสังคมมากกว่าการขยายโครงสร้างอาคารทางแนวนอนหรือให้กว้างยิ่งขึ้น

เขาเสริมว่าการออกแบบต้องตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานของการใช้พื้นที่ที่มีความหนาแน่นสูง โดยออกแบบสถาปัตยกรรมให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้มและการใช้ชีวิตที่อยากให้เป็น สามารถตอบสนองสิ่งที่คนในชุมชนจะใช้ชีวิตได้ตามความเป็นจริง

 "นวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลง" โดย สุดีป ไมธี ที่บอกว่า ทางเดียวที่จะแก้ไขปัญหาการจราจรแออัดคือให้ประชากรหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะ ซึ่งบริการเหล่านี้ต้องอำนวยความสะดวกสบายควบคู่กับการบริการด้านต่างๆเพื่อให้วิธีการแก้ไขนั้นมีประสิทธิภาพสูงสุด

เขาบอกว่า การบูรณาการการเดินทางทำให้ระบบสาธารณูปโภคดีขึ้นกว่าที่เป็นมาจะช่วยพัฒนาให้เกิดสมาร์ทซิตี้ได้ โดยการเลือกใช้เทคโนโลยีใดขึ้นกับความต้องการของแต่ละพื้นที่ ไม่มีคำตอบเดียวสำหรับทุกเรื่อง

 ดร.จอห์น มิลลาร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง การร่วมมือกับ Seedstars ถือเป็นบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนเมืองในประเทศไทยและในภูมิภาคผ่านกลยุทธ์การช่วยสนับสนุนและส่งเสริมบริษัทหน้าใหม่ที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาการใช้ชีวิตของคนเมืองที่ดียิ่งขึ้น ท่ามกลางการถกเถียงมากมายว่าสมาร์ทซิตี้จะไม่ยั่งยืนอย่างแท้จริง เว้นแต่ประชาชนจะมีส่วนร่วมขับเคลื่อนความเป็นสมาร์ทซิตี้ จากแนวคิดสำคัญของวิทยากรนำเสนอ 4 โซลูชั่นส์ที่น่าจะเป็นไปได้เพื่อช่วยพัฒนากรุงเทพฯให้กลายเป็นสมาร์ทซิตี้ ซึ่ง 4 โซลูชั่นส์ดังกล่าว
ประกอบด้วย:

  • สภาพแวดล้อมเสมือนจริง (Augmented Environments) ช่วยให้ผู้คนสามารถโต้ตอบกับสภาพแวดล้อมโดยรอบได้ในอย่างที่ไม่เคยมาก่อน
  • ผสมผสานพื้นที่สีเขียวเพื่อให้อาคารมีความยั่งยืนได้ด้วยตัวของมันเอง
  • การขนส่งแบบบูรณาการ (เชื่อต่อการขนส่งหลายชนิดเข้าด้วยกัน เพื่อการทำงานที่เป็นหนึ่ง)
  • การวางแผนที่ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพกับข้อมูล (Bangkok Interactions with Data)

เขาบอกว่า กรุงเทพฯเป็นเมืองแบบใด ความต้องการมีอย่างไรผู้ที่รู้ดีที่สุดคือคนที่ใช้ชีวิตในกรุงเทพ และตามแผนพัฒนาระบบขนส่งในกรุงเทพฯจะทำให้เมืองแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่น่าสนใจเมื่อเมืองเปลี่ยนรูปแบบไป กรุงเทพฯจะเป็นเวทีที่ทำให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสเทคโนโลยีที่หลากหลายมากกว่าอีกหลายเมืองบนโลกใบนี้

 คาตาริน่า ซูเลนไยโอวา (Katarina Szulenyiova) หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท Seedstars   บริษัทจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ที่มุ่งมั่นสร้างการเปลี่ยนแปลงและพัฒนารูปแบบการใช้ชีวิตของคนเมืองผ่านเทคโนโลยีและการคิดค้นของผู้ประกอบการธุรกิจหน้าใหม่  กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า จากวิสัยทัศน์ของSeedstarsคือมุ่งมั่นสร้างการเปลี่ยนแปลงและพัฒนารูปแบบการใช้ชีวิตของคนเมืองผ่านเทคโนโลยีและการเปิดโอกาสสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจหน้าใหม่ การใช้ชีวิตในเมืองและสมาร์ทซิตี้เป็นสองประเด็นสำคัญสำหรับองค์กรที่ต้องการสร้างความแตกต่าง  การนำผู้เชี่ยวชาญและผู้คิดค้นพัฒนามาปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวถือเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งเรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนเครื่องมือเพื่อให้การคิดค้นของพวกเขาบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

X

Right Click

No right click