September 11, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 6847

ประเทศไทยไม่สามารถปฏิเสธและหลีกพ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมที่รวดเร็วได้ เนื่องจากประเทศไทยจะต้องก้าวไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ในยุคดิจิทัลพร้อมกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งนี้เพราะทุกประเทศทั่วโลกได้เชื่อมโยงกันด้วยระบบอินเทอร์เน็ต และการค้าระหว่างประเทศได้ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวินาที แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยกำลังประสบกับอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยี 5G ได้เหมือนกับที่เคยทำสำเร็จในยุค 4G มาแล้ว

ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ความเข้าใจผิดในสังคมที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดคือ การประมูลคลื่นความถี่ที่มีราคาสูงมากจะเกิดประโยชน์กับประเทศโดยรวม เพราะสามารถนำเงินเข้ากระทรวงการคลังและสามารถนำมาใช้พัฒนาประเทศได้นั้น กำลังเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้เพราะหากราคาการประมูลสูงมากผิดปกติดังที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งประเทศไทยมีมูลค่าการประมูลคลื่นความถี่ 4G ที่แพงที่สุดติดอันดับหนึ่งในสามของโลก จึงจะเป็นสาเหตุให้ต้นทุนการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานในกิจการโทรคมนาคมสูงมากจนไม่สามารถที่จะ มีผู้ประกอบการรายใดสามารถเข้ามาประมูลได้ในอนาคตต่อไป

การแก้ไขกฎหมายและกฎการประมูลคลื่นความถี่ 5G กำลังจะเกิดขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งมีปัญหาเดียวกันคือมูลค่าคลื่นความถี่สูงเกินไป อีกทั้งเทคโนโลยีได้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จนทำให้ความล่าช้าในการขยายโครงข่าย 5G อาจจะมีผลกระทบต่อพัฒนาประเทศในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล จนเป็นสาเหตุให้ขีดความสามารถของประเทศก้าวไม่ทันประเทศอื่นๆ

ผู้นำรัฐบาลในหลายประเทศได้หันมาสนใจประเด็นการประมูลคลื่นความถี่ 5G โดยมีแนวคิดที่จะใช้หลักการในการบริหารคลื่นความถี่ด้วยการใช้เทคนิคใหม่เข้ามาแก้ปัญหาที่เกิดจากการประมูลคลื่นความถี่แบบเดิมที่มีราคาที่สูงมาก ซึ่งอาจจะใช้ไม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพในยุค 5G อีกต่อไป เนื่องจากคลื่นความถี่ที่ใช้กับระบบ 5G นั้นมีความต้องการอย่างต่ำถึง 100 เมกะเฮิรตซ์ต่อหนึ่งโอเปอเรเตอร์ ซึ่งถ้าหากใช้วิธีการประมูลคลื่นความถี่แบบเดิมที่เคยใช้มาเป็นเวลานาน นับ 10 ปี ก็อาจจะทำให้ราคาคลื่นความถี่สูงเกินไปจนไม่สามารถที่จะทำให้เกิดระบบ 5G ได้เลย ซึ่งในขณะนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายประเทศได้ตระหนักแล้วว่า อุปสรรคที่จะทำให้ไม่สามารถขยายโครงข่าย 5G ได้นั้น จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้ประเทศไม่สามารถมีขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจชั้นนำของโลกได้อีกต่อไป

ประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไขกฎหมายการจัดสรรคลื่นความถี่ 5G อย่างเร่งด่วนให้สำเร็จก่อนปี พ.ศ. 2562 ซึ่งประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้มีการเริ่มขยายโครงข่ายระบบ 5G แล้ว ซึ่งอาจจะทำให้ประเทศไทยตกขบวนและไม่สามารถนำพาประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้ตามที่ตั้งเป้าไว้


บทความโดย | พันเอก ดร.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ 

www.เศรษฐพงศ์.com

ในเดือนมีนาคม 2018 ที่ผ่านมา เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ได้เริ่มต้นทดสอบการให้บริการรถไฟใต้ดิน โดยผู้โดยสารจะต้องเดินไปที่ชานชาลาและใช้ใบหน้าหรือเสียงเพื่อที่จะทำการจ่ายค่าบริการ เมื่อระบบพิสูจน์ตัวบุคคลได้แล้วจึงทำการตัดเงินจากบัญชี Alipay โดยบริษัท Alibaba นั่นหมายความว่าถ้าหากระบบดังกล่าวประสบความสำเร็จและถูกใช้อย่างแพร่หลายเป็นการทั่วไป ผู้คนทั้งหลายก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีเงินสด พกกระเป๋าสตางค์หรือแม้แต่โทรศัพท์มือถือเพื่อการจ่ายเงินในระบบขนส่งของจีนอีกต่อไป

บริษัท Alibaba Group Holding Ltd. ได้ลงทุนในโครงการวิจัยและพัฒนาด้าน AI รวมทั้งการออกแบบไมโครชิพ AI ด้วยเงินลงทุนถึง 15 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จก็จะทำให้ประเทศจีนกลายเป็นประเทศชั้นนำในการเป็นผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ด้าน AI และการคำนวณชั้นสูงอีกก้าวหนึ่ง

สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัท Microsoft และ Google ได้จัดตั้งทีมวิจัยและพัฒนาไมโครชิพเพื่อบริหารจัดการระบบเซิร์ฟเวอร์และคลาวด์ (cloud) ซึ่งมีขีดความสามารถทางด้าน AI เป็นหลัก

ในขณะนี้มีสัญญาณบ่งบอกที่ชัดเจนแล้วว่าประเทศจีนกำลังจะกระโดดเข้ามาแข่งขันในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เพื่อออกแบบและผลิตไมโครชิพ AI ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการตรวจสอบเสียงของมนุษย์เพื่อบ่งบอกตัวบุคคล (voice recognition) และเพื่อตรวจจับและระบุวัตถุว่าวัตถุนั้นคืออะไร (object detection) ทั้งๆ ที่ในอดีตที่ผ่านมา ประเทศจีนไม่เคยประกาศที่จะให้ประเทศสหรัฐอเมริกา ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ได้เห็นความชัดเจนในการพัฒนาไมโครชิพในลักษณะนี้มาก่อน

"Made in China 2025" ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศจีนบนเป้าหมายเพื่อการยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศจีนให้เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกได้รับแรงบันดาลใจจากประเทศเยอรมัน โดยถือว่าเยอรมันเป็นประเทศแรกที่ได้มีการใช้คำว่า อุตสาหกรรม 4.0” ในปี 2011 เป็นครั้งแรกของโลก และหลังจากนั้นหลายประเทศก็ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดดังกล่าว ซึ่งแก่นแท้ของแนวคิดอุตสาหกรรม 4.0 ก็คือการผลิตที่มีความชาญฉลาดโดยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยการใช้ระบบเซนเซอร์ที่เรียกว่า “Internet of Things” หรือ IoT ทำการเชื่อมโยงระบบการทำงานขององค์กรจนไปถึงระบบการผลิตในโรงงาน ตั้งแต่การผลิตขนาดเล็กจนไปถึงการผลิตระดับกลางและใหญ่ จนนำไปสู่การผลิตแบบอัตโนมัติด้วยหุ่นยนต์นั่นเอง

การจะเป็นผู้นำด้านการผลิตหุ่นยนต์ชั้นนำของโลกนั้น ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการพัฒนาและวิจัยทางด้าน AI ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตไมโครชิพ AI ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของการทำให้หุ่นยนต์มีประสิทธิภาพในการทำงาน จึงทำให้ประเทศจีน ได้มีความชัดเจนว่า AI เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ จึงทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในยุโรปต่างหวาดระแวงที่ประเทศจีนจะครอบครองตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โทรคมนาคมและสามารถที่จะควบคุมอุตสาหกรรมกรรมใหม่ของโลกจนประเทศจีนจะกลายเป็นมหาอำนาจของโลกในศตวรรษที่ 21 นั่นเอง

สงครามกีดกันทางการค้า (trade war) เริ่มปรากฏชัด โดยประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทำการกดดันประเทศจีนในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ เช่น เทคโนโลยีไมโครชิพ AI ซึ่งประเทศจีนมีนโยบายให้การสนับสนุนส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านไมโครชิพ AI มากกว่าปกติตั้งแต่ปี 2017 และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นทุกปี โดยประเทศจีนได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเป็นผู้นำด้าน AI อันดับหนึ่งของโลกภายในปี 2030 โดยบริษัท Huawei พยายามทุ่มเทการวิจัยและพัฒนาไมโครชิพ AI เพื่อเอาชนะบริษัท Intel และ Qualcomm เพื่อเป็นอันดับหนึ่งของโลกให้ได้

เทคโนโลยีเซมิคอนดัคเตอร์ที่ใช้ผลิตไมโครชิพกำลังจะกลายเป็นตัวชี้ชะตาศูนย์อำนาจของโลก โดยในขณะนี้ประเทศจีนจะต้องนำเข้าไมโครชิพด้วยการจ่ายเงินออกนอกประเทศถึงสามเท่าของเงินที่ใช้ในการลงทุนผลิตไมโครชิพเองในประเทศ ทั้งนี้เพราะประเทศจีนยังไม่มีขีดความสามารถเพียงพอที่จะผลิตไมโครชิพใช้เองภายในประเทศ โดยจากผลการวิจัยของบริษัทวิจัย Gavekal Dragonomics พบว่าเงินที่ประเทศจีนต้องจ่ายไปเพื่อซื้อไมโครชิพนั้น จะมีมูลค่ามากถึง 60 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงปี 2017 ถึง 2020 และจากการกีดกันทางการค้าจากประเทศตะวันตกและประเทศสหรัฐอเมริกา จึงยิ่งจะทำให้ประเทศจีนไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงการพัฒนาไมโครชิพให้เป็นเทคโนโลยีของตัวเองได้เลย

ดังนั้นไม่น่าแปลกใจเลยว่าประเทศที่จะเป็นมหาอำนาจในทศวรรษต่อจากนี้ไป คือประเทศที่เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์และไมโครชิพ AI เท่านั้น

 

Reference

https://www.bloomberg.com/news/articles/2018-10-25/the-u-s-china-trade-war-means-alibaba-is-producing-its-own-chips


บทความโดย | พันเอก ดร.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ 

www.เศรษฐพงศ์.com

MBA Special Blockchain

December 17, 2018

หลายปีมานี้ ผมเชื่อว่าเราคงได้ยินคำว่า “Disrupt” กันอยู่เรื่อยๆ เพราะมีเคสของธุรกิจใหญ่น้อยทั่วโลกที่ถูกเจ้าคำว่า “Disrupt” นี่เล่นงานจนแทบจะล้มหายตายจาก แต่ในขณะเดียวกันนั้น เจ้า “Disrupt” นี่เองก็ช่วยให้เกิดธุรกิจใหม่ที่มีรูปแบบและโมเดลในการทำธุรกิจที่สร้างสรรค์แหวกแนวขึ้นจนธุรกิจมีมูลค่าได้มหาศาล โดยสาเหตุของการตายจากหรือเติบโตเหล่านี้สามารถได้ง่ายๆ ว่าเป็นเพราะเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภคนั้นเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จนส่งกระทบกับธุรกิจในรูปของโอกาสและภัยคุกคามแล้วแต่ว่าตัวธุรกิจนั้นปรับตัวเองได้ดีแค่ไหน  

เราจะเห็นได้ว่าในช่วงสองทศวรรษมานี้ เทคโนโลยีด้านดิจิทัลนั้นพัฒนาอย่างก้าวกระโดด อินเทอร์เน็ตกลายเป็นสิ่งที่เราใช้งานตลอดเวลาเหมือนอากาศที่หายใจ  มีซีพียูคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงเกิดขึ้นใหม่ทุกวัน หน่วยเก็บข้อมูลก็มีราคาถูกลงเรื่อยๆ จนพลังทางดิจิทัลเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและสังคมของพวกเราทุกวัน  และเชื่อว่าปีสองปีมานี้เราคงได้ยินชื่อเทคโนโลยีนึงที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกอีกครั้ง นั่นก็คือ Blockchain

กำเนิดและจุดเด่นของ Blockchain

Blockchain นั้นเป็นแนวคิดใหม่ในการเก็บข้อมูล มันเกิดจากแนวคิดของกลุ่มนักเทคโนโลยีหัวปฏิรูปที่ประสงค์จะสร้างระบบทางการเงินแบบใหม่ที่ไม่ต้องการข้องเกี่ยวกับรัฐบาล ตัวกลาง หรือธนาคารใดๆ เพื่อให้พวกเขาสามารถมีอิสรภาพในการโอนย้าย “เงิน” ของพวกเขาโดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตน หรือตกอยู่ภายใต้ระเบียบข้อจำกัดใดๆ  และนั่นทำให้ต้องมีวิธีการเก็บข้อมูลแบบใหม่ ที่ข้อมูลไม่ได้รวมกันอยู่ในศูนย์กลาง สามารถเข้าถึงจากไหนก็ได้ และที่สำคัญที่สุดคือจะต้องสามารถยืนยันความถูกต้องของข้อมูลได้ แนวคิดการบันทึกข้อมูลแบบใหม่จึงถูกประดิษฐ์ขึ้นภายใต้ชื่อว่า Blockchain และเนื่องจากแนวคิด Blockchain นี้สามารถขจัดปัญหาของการเก็บข้อมูลในรูปแบบเดิมที่รู้จักกันได้หลายเรื่อง จึงทำให้มันถูกนำมาประยุกต์ใช้ในหลากหลายธุรกิจ และเชื่อกันว่ามันจะเป็นตัวผลักดันให้เกิด  Disruption กับธุรกิจต่างๆ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะธุรกิจที่ทำหน้าที่คอยเป็นตัวกลางในเรื่องต่างๆ เช่น ธนาคาร ทะเบียนประวัติ กรรมสิทธิ์โฉนดที่ดิน เป็นต้น  โดยคุณสมบัติเด่นๆ ของ Blockchain ก็คือ

  • ข้อมูลแบบกระจายศูนย์ - Blockchain ใช้แนวคิดของการบันทึกข้อมูลแบบกระจายศูนย์ ทำให้ฐานข้อมูลทั้งหมดถูกเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ในระบบทุกๆ เครื่อง
  • โปร่งใสและเชื่อมั่นได้ – การทำธุรกรรมต่างๆ ใน Blockchain จะเป็นที่รับรู้ในเครือข่ายทั้งหมด และมีกระบวนการในสอบทานและยืนยันความถูกต้องอย่างรัดกุม
  • เปลี่ยนแปลงไม่ได้ – Blockchain ใช้เทคนิคทางคณิตศาสตร์เพื่อยืนยันข้อมูล ดังนั้นเมื่อข้อมูลถูกเขียนลงไปใน Blockchain โดยทฤษฎีแล้ว มันจะไม่สามารถถูกแก้ไขได้ หากมีเครื่องไหนที่ข้อมูลไม่ตรงกับคนอื่น ข้อมูลในเครื่องนั้นจะไม่เป็นที่ยอมรับและถูกตัดออกจากระบบ ทำให้ข้อมูลใน Blockchain แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงแก้ในภายหลัง
  • ใช้งานได้ตลอดเวลา เนื่องจากแนวคิดการกระจายศูนย์ของ Blockchain ส่งผลให้เครือข่าย Blockchain สามารถทำงานได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์ไหนชำรุด หรือระบบเครือข่ายมีการขัดข้อง

เทคนิคของ Blockchain

Distributed Database

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าแนวคิดหลักของ Blockchain คือการไม่มีศูนย์กลางข้อมูล แต่ให้ข้อมูลทั้งหมดอยู่กับทุกคนและทุกคนสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ทั้งหมด โดยใช้หลักฐานข้อมูลแบบกระจาย จะเห็นว่าด้วยการเชื่อมต่อแบบนี้ จะลดปัญหาการที่ระบบทั้งหมดจะต้องไปพึ่งพิงฐานข้อมูลเพียงชุดเดียวในส่วนกลาง ลองนึกภาพว่าถ้าคุณไปที่สถานีรถไฟฟ้าเกิดเหตุระบบสื่อสารขัดข้อง ทำให้เครื่องอ่านบัตรไม่สามารถตรวจสอบวงเงินในบัตรของคุณจากฐานข้อมูลกลางได้ ก็เท่ากับว่าคุณไม่สามารถใช้บัตรได้ ยังไม่นับว่าถ้ามี hacker ไหนเจาะเข้าไปในฐานข้อมูลซึ่งมีอยู่ที่เดียว และลบข้อมูลยอดเงินของทุกคนออกเพียงเท่านี้ก็จบแล้ว แม้จะมีทางแก้ไขด้วยการสำรองข้อมูล แต่ก็ต้องใช้เวลากว่าจะดึงข้อมูลสำรองออกมาใช้ได้  แต่อย่างไรก็ดีมันมีคำถามว่า ในสภาพที่มีฐานข้อมูลในระบบจำนวนมาก หากข้อมูลแต่ละคนเกิดไม่ตรงกันขึ้นมา จะมีใครฟันธงได้ว่าข้อมูลที่ถูกต้องคืออะไร คำตอบของเรื่องนี้ตรงไปตรงมามาก นั่นก็คือประชามติ

Consensus

ธุรกรรมต่างๆ ใน Blockchain จะต้องมีการตรวจสอบยืนยันในเครือข่าย Blockchain ก่อนเสมอ และมีโอกาสที่ข้อมูลในเครื่องเราหรือบางเครื่องในเครือข่ายจะไม่ตรงกัน ซึ่งในกรณีนั้น เครือข่าย Blockchain จะถือว่าค่าที่ถูกต้องคือค่าที่ถูกบันทึกไว้ในเครื่องส่วนใหญ่ของเครือข่าย และเลือกที่จะไม่ยอมรับข้อมูลในเครื่องที่ต่างออกไปเหล่านั้น และหลังจากนั้นขึ้นอยู่กับ blockchain แต่ละระบบว่าจะทำอย่างไรกับพวกชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ บางระบบก็เลือกที่จะตัดเครื่องเหล่านั้นออกไปเลย แต่บางระบบก็ออกแบบให้พวกที่ข้อมูลไม่เหมือนจะต้องทำการ Sync ฐานข้อมูลใหม่ ให้ตรงกับคนอื่น การเลือกที่จะไม่ยอมรับข้อมูลของเครื่องบางเครื่องที่ต่างออกไป ทำให้ Blockchain มีคุณสมบัติด้านความเชื่อถือได้ของข้อมูล เนื่องจากข้อมูลที่ชำรุดหรือถูกแก้ไขโดยมิชอบ จะเกิดขึ้นได้แค่กับบางเครื่อง ซึ่งจะไม่เป็นที่ยอมรับในเครือข่าย แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ถ้าต้องมีการตรวจสอบข้อมูลกับเครื่องอื่นๆ อยู่ตลอดเวลา แบบนี้มันไม่ทำให้ทุกอย่างเชื่องช้าไปหมดเหรอ คำตอบเรื่องนี้อยู่ในชื่อของมันเอง “Block” & “Chain”

Block and Chain

ชื่อของ Blockchain นั้นมีที่มาจากสองคำ คือคำว่า Block และ Chain  เพราะการบันทึกข้อมูลของ Blockchain จะเป็นการบันทึกข้อมูลลงใน “Block” เป็นอันๆ คล้ายๆ กับที่เรามีสมุดบัญชีเป็นเล่มๆ และที่สำคัญคือ การบันทึกข้อมูลจะไม่ใช้วิธีการเขียนทับเช่น เดิม A= 5 แก้เป็น A= 17  แต่เป็นการจดต่อไปเรื่อยๆ (Append Only) เหมือนเราเขียนธุรกรรมในสมุดบัญชีเลย (จากกรณีเก่า ก็จะเป็น A = 5, แล้วก็ A + 12)  จนกระทั่งเป็นไปตามเงื่อนไข เช่น Block เต็ม หรือครบกำหนดเวลา เราก็จะเลิกบันทึกข้อมูลใน Block นี้และไปขึ้น Block ใหม่ แต่สิ่งสำคัญที่ต่างออกไปคือ ตอนปิด Block  เราจะทำสิ่งที่เรียกว่า hash ซึ่งอธิบายสั้นๆ คือการนำข้อมูลทั้งหมดใน Blockไปเข้ากระบวนการทางคณิตศาสตร์อันนึง ผลลัพธ์ของมันจะเป็นชุดอักขระชุดหนึ่งที่ยากยิ่งจะจดทำ เช่น 00000000000008a3a41b85b8b29ad444def299fee21793cd8b9e567eab02cd81 และด้วยเหตุที่อักขระชุดนี้เกิดขึ้นจากข้อมูลทั้งหมดใน block ดังนั้นถ้าหากข้อมูลใน block นี้เกิดเปลี่ยนแปลงไปแม้แต่เพียงน้อยนิด แล้วเอามาทำ hash ใหม่ hash อันที่สองจะไม่เหมือน hash อันแรก ดังนั้นการตรวจสอบ Block จึงไม่จำเป็นต้องดูข้อมูลทั้งหมดของ block แต่เพียงแค่เอาค่า hash มาเทียบกันก็รู้แล้วว่าเนื้อใน block ตรงกันหรือไม่ นี่คือคำว่า Block ทีนี้ แล้วอะไรคือ Chain  

เมื่อปิด Block และได้ค่า hash ก็จะเริ่มมีการบันทึกรายการต่างๆ เข้าสู่ block ถัดไปโดยจะได้มีการนำค่า hash ของ Block ก่อนหน้ามาใส่ไว้เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลใน Block ปัจจุบันนี้ด้วย  ดังนั้นหากเราปิด Block นี้และได้ค่า hash ล่าสุดออกมา ก็เท่ากับว่าเราได้ฝังค่า Block ที่แล้วไม่ให้เปลี่ยนแปลงได้อีก เพราะถ้าเปลี่ยน เราจะรู้ทันทีเนื่องจากมันไม่ตรงกับ hash ใน block นี้ เจ้าตัว hash ที่ฝังต่อๆ กันไปตาม block ต่างๆ ที่จะต้องตรงกันเป็นคู่ๆ เสมือนเป็นโซ่ที่ล่าม block เหล่านี้เข้าไว้ด้วยกัน และจากแนวคิดที่ทุกบิทของข้อมูลมีผลต่อค่า hash  + เรื่องที่ว่าค่า hash ส่งผลต่อค่า hash กันไปเป็นทอดๆ + ฐานข้อมูลที่ไม่เหมือนกับคนอื่นจะถูกตัดทิ้ง  ทำให้ Blockchain กลายเป็นวิธีการบันทึกข้อมูล ที่เมื่อบันทึกลงไปแล้ว จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้อีก เชื่อถือได้โดยไม่ต้องมีตัวกลาง และสามารถใช้งานข้อมูลได้ตลอดเวลา

Blockchain กับธุรกิจ

ในแง่ประโยชน์

หากธุรกิจของคุณต้องเกี่ยวพันกับคนทั้งในและนอกองค์กร ซึ่งปกติทั้งสองฝ่ายต้องมีคนคอยตรวจสอบยืนยันความถูกต้องในกระบวนการเช็คกันไปกันมา การใช้ Blockchain จะสร้างความมั่นใจกับทุกฝ่าย ลดขั้นตอนในการดำเนินงาน และปลอดภัยต่อการถูกแก้ไขหรือแอบนำข้อมูลไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้งเครือข่ายจะมีเสถียรภาพสูง ขัดข้องได้ยาก นอกเหนือจากนี้การใช้ Blockchain  ยังเป็นโอกาสให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ในแง่ของผู้สร้างระบบนิเวศน์ให้ภาคส่วนต่างๆ มาสร้างมูลค่าร่วมกันได้ อาทิ  Platform ในการสร้างสินค้า Digital เช่น เพลง การ์ตูน หรือนิยาย  แล้วบันทึกลงไปใน Blockchain ทำให้มันกลายเป็น Digital Asset ที่สามารถซื้อขาย หรือเช่าใช้ สิทธิ์ในตัว Asset นี้

ในแง่ภัยคุกคาม

หากธุรกิจของคุณเป็นตัวกลาง อาทิ ธนาคาร ศูนย์แลกเปลี่ยนเงินตรา ซื้อมาขายไป เว็บขาย contents อย่าง iTune  ฯลฯ Blockchain จะเป็นภัยคุกคามต่อธุรกิจของคุณเต็มๆ เพราะตัวมันเองเกิดขึ้นมาเพื่อขจัดตัวกลาง และมุ่งให้แต่ละภาคส่วนเชื่อมโยงกันเองโดยตรง ตัวอย่างเช่น เราคงรู้จักบริการแบบ Netflix ซึ่งซื้อ contents จากผู้ผลิตมาจำนวนนึง แล้วให้ผู้บริโภครับชมโดยจ่ายค่าธรรมเนียมรายเดือน แต่ด้วย Blockchain  ผู้สร้างเนื้อหา ผู้ลงโฆษณา และผู้ชม สามารถเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน Blockchain จะช่วยให้เจ้าของ contents มั่นใจได้ว่าจำวนการรับชมที่เกิดขึ้นตรงต่อความเป็นจริง ผู้ลงโฆษณามั่นใจได้ว่าโฆษณาของตนปรากฏขึ้นตามเงื่อนไข ตรงกลุ่มเป้าหมาย ในขณะที่ผู้รับชมก็สามารถจ่ายค่าใช้จ่ายได้ตามที่ต้องการ

ในตอนท้ายนี้ เชื่อว่าทุกท่านคงพอจะเข้าใจว่า Blockchain นั้นคืออะไร และทำไมมันถึงถูกกล่าวขวัญถึงในช่วงนี้ สิ่งที่จะต้องทำต่อไปคือ ต้องลองคิดดูว่าเราจะใช้ประโยชน์มันได้อย่างไร หรือจะ Transform ธุรกิจของเราอย่างไร จากเทคโนโลยีนี้


บทความ โดย : คณิต  ศาตะมาน   Co-Founder Siam ICO Co, Ltd.


สามารถรับชมคลิปวิดีโอ หัวข้อ Blockchain Application, The new Management Instrument and Transformation
โดย คณิต ศาตะมาน Co-Founder Siam ICO Co, Ltd. จากงาน Blockchain Talk ได้ที่นี่

ตอนนี้ คงไม่มีใครจำคดีของจอห์นและอลิซ มาร์ติน ได้แล้ว ทั้งๆ ที่กรณีของสามีภรรยาคู่นี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของปูมประวัติศาสตร์การพัฒนาของเทคโนโลยีไร้สาย หรือ Mobile Technology ของโลก

เมื่อกว่า 2 ทศวรรษก่อน นายมาร์ติน นักการภารโรงของโรงเรียนแห่งหนึ่งในเมืองฟอร์ตไวท์ รัฐฟลอริดา และนางมาร์ติน ผู้ช่วยครูต่างก็มีส่วนร่วมในกิจกรรมของพรรคเดโมแครตในท้องถิ่นของตนอย่างแข็งขัน ทั้งสองมีงานอดิเรกที่ไม่ธรรมดา ครอบครัวมาร์ตินเผยว่าพวกเขาชอบดักฟังการสนทนาทางโทรศัพท์มือถือ โดยใช้เครื่องสแกนของตำรวจที่ซื้อจากร้าน Radio Shack

พวกเราในเมืองไทยหลายคนสมัยนั้น ก็มีงานอดิเรกแบบนี้เช่นเดียวกัน หลายคนมีความสุขกับการได้แอบฟังผู้คนจู๋จี๋ดู๋ดี๋กันทางอากาศ

ทว่า สมัยนั้น เรายังไม่ให้ค่ากับคำว่า “Privacy” หรือ “ความเป็นส่วนตัว” และ พรบ.คอมพิวเตอร์ ก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัวมากนัก

วันหนึ่งในเดือนธันวาคม ปี 1997 หลังวิกฤติต้มยำกุ้งไม่นานนัก ครอบครัวมาร์ตินอ้างว่าสามารถดักจับบทสนทนาทางโทรศัพท์ “โดยไม่ได้ตั้งใจ” และบังเอิญว่ามีเครื่องบันทึกเสียงแบบพกพา จึงสามารถบันทึกการสนทนาระหว่าง นิวต์ กิงกริช ประธานสภาผู้แทนราษฎร และจอห์น โบห์เนอร์ ส.ส. ของรัฐโอไฮโอ (ซึ่งอยู่ที่ฟลอริดากับภรรยาของเขา) และเพื่อนสมาชิกพรรครีพับลิกันคนอื่น ๆ

การสนทนาทางโทรศัพท์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมสำหรับการไต่สวนสาธารณะ (Hearings) ในประเด็นด้านจริยธรรมเรื่องหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับกิงกริชซึ่งกำลังจะมาถึง เป็นการไต่สวนอย่างที่เราเห็นทางช่องเคเบิล C-SPAN เป็นประจำนั่นแหละ

สิ่งที่ครอบครัวมาร์ตินทำนั้นผิดกฎหมายของสหรัฐฯ ในขณะนั้น และห้วงเวลาที่เกิดเรื่องก็ไม่ใช่ความบังเอิญแต่อย่างใด

วันที่ 8 มกราคม ปี 1998 ครอบครัวมาร์ตินได้ส่งมอบซองเอกสารซึ่งประกอบด้วยบันทึกการสนทนาทางโทรศัพท์นั้นให้แก่ ส.ส. จิม แมคเดอร์มอตต์ แห่งรัฐวอชิงตัน ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคเดโมเดรตตำแหน่งสูงสุดที่อยู่ในคณะกรรมการด้านจริยธรรมของรัฐสภา (House Ethics Committee) ด้วยตัวเอง สองวันต่อมา รายละเอียดการสนทนาทางโทรศัพท์ดังกล่าว ก็ไปปรากฏหราอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ New York Times

เรื่องนี้ส่งผลให้แมคเดอร์มอตต์มีส่วนพัวพันกับการเผยแพร่ข้อความการสนทนาทางโทรศัพท์มือถืออย่างผิดกฎหมาย และสิ่งที่ทำให้สถานการณ์น่าตื่นเต้นยิ่งขึ้นก็คือ เรื่องราวดังกล่าวถูกเปิดเผยวันเดียวกันกับที่คณะกรรมด้านจริยธรรมเริ่มแพร่ภาพการไต่สวนสาธารณะทางโทรทัศน์

สิ่งที่น่าขันก็คือ ครอบครัวมาร์ตินสาบานว่าตนไม่ทราบเลยว่ากำลังก่ออาชญากรรม ทว่าในจดหมายปะหน้าถึงแมคเดอร์มอตต์ ทั้งสองร้องขอการคุ้มกันไม่ให้ถูกฟ้องร้อง แต่ที่เด็ดกว่านั้นคือ
ทั้งสองถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญาภายใต้กฎหมายความเป็นส่วนตัวของการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic 
Communications Privacy Act)

นอกจากนี้ ศาลยังพบว่าแมคเดอร์มอตต์มีความผิดจากการละเมิดสิทธิของจอห์น โบห์เนอร์ ตามบทบัญญัติเพิ่มเติมของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ของสหรัฐอเมริกา (First Amendment) และสั่งให้แมคเดอร์มอตต์จ่ายเงินแก่โบห์เนอร์เป็นจำนวนกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ

แต่สิ่งที่น่าเศร้าก็คือ แม้จะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับการเมืองในวอชิงตัน แต่กรณีการดักฟังครั้งนั้น ก็เป็นการตีแผ่ให้สังคมวงกว้าง ได้ตระหนักถึงปัญหาเรื่องความปลอดภัยของการสื่อสารและสิทธิส่วนบุคคลของเราที่สังคมกำลังเผชิญอยู่

และกรณีนั้น ยังเป็นตัวเร่งให้มีการปรับปรุงเทคโนโลยีที่ใช้กับเครือข่ายไร้สายอย่างขนาดใหญ่

โทรศัพท์ที่ครอบครัวมาร์ตินดักฟังได้แบบง่ายดายนั้น ยังอยู่ในระบบเครือข่ายไร้สายรุ่นที่หนึ่ง (1G หรือ First Generation Mobile Technology) และก็อย่างที่เรื่องราวข้างบนเผยให้เห็น ตัวเทคโนโลยีเองก็มีข้อบกพร่องสำคัญบางประการ

มันเน้นให้เห็นถึงความจำเป็นที่ว่าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความเป็นส่วนตัว จะต้องสร้างนวัตกรรมเพื่อทำให้เครือข่ายไร้สาย นอกจากจะทำงานได้เร็วขึ้นแล้ว ยังจะต้องมีความปลอดภัยยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งนับแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ มันก็ได้นำมาสู่ความก้าวหน้าทางด้านการสื่อสารแบบไร้สายที่น่าประทับใจยิ่ง

ในรอบ 20 ปีมานี้ การเปลี่ยนแปลงในเชิงก้าวหน้าและประสิทธิภาพของเทคโนโลยีสื่อสารแบบไร้สายนั้น เป็นไปแบบก้าวกระโดด

ก้าวกระโดดซะจนทำให้ยักษ์ใหญ่ผู้ครองพื้นที่อยู่เดิมอย่างบรรดา เจ้าของเครือข่ายและให้บริการ “โทรศัพท์บ้าน” หรือ “Land Line” พากันเก็บกระเป๋า ม้วนเสื่อกลับบ้านกันหมด

ถ้าใครยังจำได้ ในระยะนั้น ประเทศไทยเอง ก็ได้มีอภิมหาเศรษฐีพ่อค้าไก่และอาหารสัตว์คนสำคัญ ที่คิดว่าตัวเองมีวิสัยทัศน์กว้างไกล จับธุรกิจอะไรก็สำเร็จ ขอให้มีแต่เส้นสายทางการเมืองและเงิน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของเทคโนโลยี เพราะคิดว่าหาซื้อได้ทั่วไปในโลก ได้กระโดดลงมาสู่ธุรกิจเทเลคอมฯ

น่าเสียดายที่เขาเลือกเทคโนโลยีผิด เพราะเขาทุ่มเทเงินและทรัพยากรจำนวนมหาศาลไปกับ Land Line ถึงขั้นทะเลาะเบาะแว้งกับนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นจนเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต คุกรุ่นกันทั้งประเทศ ที่นายกรัฐมนตรีคนนั้นตัดแบ่งสัมปทานบางส่วนของเขาไปให้กับคนอื่น

ทั้งๆ ที่นั่น (มารู้ทีหลังว่า) เป็นการช่วยทางอ้อม ไม่ให้เขาเจ๊งมากยิ่งขึ้น

เขาหารู้ไม่ว่า หลังจากนั้นอีกไม่ถึง 20 ปี จะไม่มีใครใช้บริการ “โทรศัพท์บ้าน” กันอีกต่อไปแล้ว เป็นเหตุให้กิจการของเขาไม่สามารถฟื้นตัวได้ แม้ว่าจะพยายามอย่างไรก็ตาม

นับเป็น บาดแผลทางใจของเขามาจนกระทั่งบัดนี้

เหตุที่เป็นดังนี้ เพราะดีกรีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของ Mobile Technology นั่นเอง

อันที่จริง การสตรีมมิ่งวิดีโอ (การเล่นไฟล์วิดีโอโดยไม่ต้องดาวน์โหลด) การดาวน์โหลดไฟล์แบบไร้สาย หรือแม้แต่การทำวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเห็นเป็นเรื่องปกติในปัจจุบันนั้น เกิดขึ้นได้ ก็เพราะความก้าวหน้าของการเชื่อมต่อแบบไร้สายนั่นเอง

ปัจจุบันโลกได้ประสบกับปัญหาที่เป็นความหายนะอีกครั้ง เหมือนตอนที่เรื่องราวการดักฟังโทรศัพท์ของครอบครัวมาร์ตินย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นของการอัปเกรดเทคโนโลยีไร้สายสมัยนั้น แต่ครั้งนี้ไม่ใช่การจารกรรมทางการเมือง ทว่าก็คงจะบีบบังคับอุตสาหกรรมให้ต้องอัปเกรดสาธารณูปโภคที่การสื่อสารสมัยใหม่ของเราต้องใช้กันอีกครั้ง

และมันจะต้องเป็นการสร้างสาธารณูปโภคครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ และเปิดโอกาสให้เราได้ร่วมลงทุนหรือเตรียมตัวสร้างสรรค์หรือสร้างบริการบนสาธารณูปโภคเครือข่ายใหม่นี้ได้แต่เนิ่นๆ

1 G

ก่อนที่จะเล่าให้ฟังเกี่ยวกับการก้าวกระโดดครั้งถัดไป เราควรทำความเข้าใจกันก่อนว่า กว่าจะมาถึงตอนนี้ เทคโนโลยีแบบไร้สายเคยอยู่ตรงจุดไหน และปัจจุบันอยู่ตรงไหนกันแล้ว

เทคโนโลยี 1G หรือ First Generation Mobile Technology ซึ่งใครก็ดักฟังโทรศัพท์ได้ และอภิมหาเศรษฐีผู้ค้าไก่และอาหารสัตว์มองข้ามในสมัยนั้น ได้รับการพัฒนาโดยบริษัท Bell Labs ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในชื่อ Advanced Mobile Phone System (AMPS) เป็นระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบแอนะล็อก (Analog) ซึ่งนำออกใช้งานครั้งแรกในเมืองชิคาโก เมื่อเดือนตุลาคม ปี 1983

พวกเราบางคนอาจยังพอจำโทรศัพท์เคลื่อนที่หน้าตาเหมือนก้อนอิฐอย่างที่เห็นในรูปประกอบนี้ได้ 

นั่นเป็นครั้งแรกที่สาธารณชนสามารถเข้าถึงบริการโทรศัพท์แบบไร้สายบนอุปกรณ์พกพา ซึ่งมีราคาแพงเช่นเดียวกับการบริการ และเป็นที่นิยมจากภาพยนตร์ต่างๆ เช่นเรื่อง Wall Street ที่มีดาราดังอย่าง ไมเคิล ดักลาส รับบทเป็นเจ้าพ่อการเงินมีฉากกำลังโทรศัพท์มือถือระหว่างเดินไปตามชายหาด

กรณีสามีภรรยามาร์ตินย้ำให้เห็นจุดอ่อนของเทคโนโลยีรุ่นที่หนึ่งนี้ มันง่ายต่อการสกัดและดักฟัง และถ้าเป็นผู้ที่มีความชำนาญหน่อย ก็สามารถใช้เครื่องมือพิเศษเพื่อโคลนนิ่งหมายเลขโทรศัพท์มือถือและใช้มันเพื่อ “ขโมย” แอร์ไทม์ (Airtime) ได้อย่างง่ายดาย

ช่วงนั้น AMPS มีความเร็วเพียง 10 กิโลบิตต่อวินาทีเท่านั้น ไม่น่าเชื่อว่ามันยังไม่ถึงหนึ่งในห้าของความเร็วของบริการอีเมลและบริการส่งข้อความของ America Online (AOL) สมัยก่อน ซึ่งสามารถ “แพร่กระจาย” ด้วยความเร็ว 56 กิโลบิตต่อวินาที

ขอยกตัวอย่างการเปรียบเทียบเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน บริการภาพยนตร์ทางออนไลน์ของ Netflix ปกติเมื่อสตรีมด้วยความเร็วต่ำสุด ก็ปาเข้าไปถึง 3,000 กิโลบิตต่อวินาทีแล้ว

ด้วยสปีดที่ค่อนข้างช้าของระบบ AMPS ทำให้การเชื่อมต่อไม่ดี เกิดปัญหาโทรศัพท์สายหลุด และปัญหาเครือข่ายคับคั่งบริเวณพื้นที่สาธารณะหนาแน่น เช่น สถานีรถไฟ สนามบิน หรือห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

แต่นั่นคือสิ่งที่มีให้ใช้ในสมัยนั้น เพราะความต้องการพื้นฐานสมัยนั้นคือ การให้บริการเพียงด้านเสียงหรือการพูดคุยสนทนา และให้ครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ เท่านั้นก็ถือว่าเป็นระบบเครือข่ายการสื่อสารขนาดใหญ่สุดเท่าที่โลกเคยเห็นมา และเวลานั้นสหรัฐอเมริกาคือผู้นำด้านการใช้เทคโนโลยีไร้สาย

แต่ก็อย่างที่พวกเราทราบกันดีอยู่แล้วว่า บัดนี้เราก้าวมาไกลจาก 1G มากแล้ว ไกลโขแล้ว

เครือข่ายไร้สายปัจจุบันคือรุ่นที่สี่ (4G หรือ Fourth Generation Mobile Technology) ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเปิดใช้งานวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แบบเห็นหน้าเห็นตากันได้ แม้แต่สิวและไฝมีกี่เม็ดก็อาจสังเกตเห็นได้ นอกจากนั้นยังสามารถดาวน์โหลดไฟล์ได้อย่างรวดเร็ว สตรีมมิ่งวิดีโอ และเล่นเกมแบบเรียลไทม์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ในปัจจุบันรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ย้อนไปเมื่อสมัยโน้น ต้องถือว่าเป็นอะไรที่ “อเมสซิ่ง” มากๆ

แต่มันก็ยังไม่หยุดอยู่ที่ตรงนี้ เพราะเรากำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลง จากที่ทำได้ในปัจจุบัน ก็กำลังจะก้าวกระโดดครั้งใหญ่ ไปอีกเป็นร้อยเท่า ซึ่งความน่าสนใจของมันอยู่ตรงนี้เอง

วิวัฒนาการสู่เทคโนโลยีไร้สายรุ่นที่ห้า

ปีนี้อุตสาหกรรมเริ่มสร้างสิ่งที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน นั่นคือ เครือข่ายไร้สายรุ่นที่ห้า (5G หรือ Fifth Generation Mobile Technology หรือ 5G Wireless Network) เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว มันน่าจะเป็นโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านการสื่อสารขนาดใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ เป็นเครือข่ายซึ่งจะมีต้นทุนการสร้างทั่วโลกกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 60 ล้านล้านบาท ใหญ่กว่า GDP ของประเทศไทยกว่า 4 เท่าตัว

ก่อนอื่น เราอยากอธิบายบริบทเพื่อให้เห็นภาพว่าเหตุใด 5G จึงกำลังจะเป็นระบบสาธารณูปโภคด้านการสื่อสารที่เหลือเชื่อที่สุดในช่วงชีวิตของเรา ไม่เพียงเพราะมันจะเปลี่ยนแปลงชีวิตและช่วยให้เราทำสิ่งซึ่งไม่เคยทำได้มาก่อนเท่านั้น แต่แนวโน้มดังกล่าวยังเป็นโอกาสของการลงทุนที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งที่เราจะได้เห็นในอีก 10 ปีข้างหน้า 

การเติบโตแบบทวีคูณของการจราจรของข้อมูลบนเครือข่ายไร้สาย

และนี้คือความสามารถของเทคโนโลยีแบบไร้สายแต่ละรุ่นนับแต่รุ่น 1G ในปี 1983 เป็นต้นมา

1G (ใช้ในทศวรรษ 80) เทคโนโลยีเซลลูลาร์แบบแอนะล็อก แบนด์วิดต์ต่ำ ออกแบบมาเพื่อการโทรศัพท์แบบเคลื่อนที่

2G (ใช้ในทศวรรษ 90) เทคโนโลยีเซลลูลาร์แบบดิจิทัล การโทรศัพท์เสียงดิจิทัล บริการ SMS (การส่งข้อความสั้นๆ ถือเป็นการให้บริการทั้งเสียงและข้อมูล)

3G (ใช้ในทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21) เทคโนโลยี CDMA (Code-Division Multiple Access) เริ่มแพร่หลาย คุณภาพเสียงในการโทรศัพท์สูงขึ้น ถือเป็นยุคแรกๆ ของการส่งวิดีโอคุณภาพต่ำบนอุปกรณ์พกพา และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต

4G (ใช้ในทศวรรษที่สองของศตวรรษที่ 21 จนถึงปัจจุบัน) แบนด์วิดต์เพิ่มขึ้นอย่างมาก สามารถค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตและการสตรีมมิ่งวิดีโอคุณภาพสูง เทคโนโลยี Voice Over IP (โดยทั่วไปเป็นการโทรศัพท์ฟรีจากทุกมุมโลก โดยใช้บริการผ่านแอปพลิเคชัน เช่น Skype หรือ Line หรือแอปพลิเคชันการส่งข้อความต่างๆ)

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นว่ามีการใช้เทคโนโลยีแบบไร้สายรุ่นใหม่ทุกๆ 10 ปี สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือ พอโลกมาถึงจุดที่สร้างระบบรองรับเทคโนโลยีรุ่นใดรุ่นหนึ่งเพิ่งจะเรียบร้อย ก็กลายเป็นว่ามันกำลังสร้างระบบเพื่อรองรับเทคโนโลยีรุ่นใหม่กว่า พร้อมๆ กันไปเลย

เหตุใดจึงมีความต้องการสร้างระบบสาธารณูปโภคเครือข่ายไร้สายอย่างต่อเนื่อง?

เพราะคำๆ เดียวคือ “ข้อมูล” (Data)

ทั้งผู้บริโภคและธุรกิจต่างมีความหิวกระหายต่อการบริโภคและส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายไร้สายมากขึ้นอยู่เสมอ ชาร์ตด้านบนแสดงจำนวนของข้อมูลและการจราจรของเสียงผ่านเครือข่ายไร้สายของโลกตั้งแต่ไตรมาสที่สามของปี 2012 เป็นต้นมา

สิ่งที่พึงสังเกตคือจำนวนของการจราจรทางเสียง (สีเทา) ค่อนข้างคงที่ตลอดช่วงห้าปีหลัง แต่ข้อมูล (สีแดง) เพิ่มขึ้นอย่างมาก เฉพาะในช่วงไตรมาสที่สามของปีที่แล้ว มีการส่งข้อมูลไปมาเกือบ 12 เอ็กซะไบต์ (Exabytes) ต่อเดือน

เอ็กซะไบต์คืออะไร? หนึ่งเอ็กซะไบต์คือจำนวนข้อมูลที่มีมากกว่า 100,000 เท่าของสิ่งพิมพ์ทั้งหมดที่อยู่ในห้องสมุดรัฐสภาของสหรัฐอเมริกา (Library of Congress) รวมเลยทีเดียว

เป็นเรื่องยากสำหรับคนธรรมดาที่ไม่ได้เป็นนักคณิตศาสตร์ ที่จะคำนวณว่ามันเป็นจำนวนข้อมูลที่มากเพียงใด

แต่สิ่งที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจยิ่งกว่านั้นก็คือ อัตราการเติบโตแบบเปรียบเทียบกับปีก่อน แสดงให้เห็นว่าตัวเลขไตรมาสที่สามมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 63 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าในเวลาไม่ถึง 18 เดือน จำนวนข้อมูลจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตัว อีกครั้งและยังหมายถึงความคับคั่งเพิ่มขึ้นของเครือข่ายไร้สายด้วย

คุณเคยประสบปัญหาโทรศัพท์สายหลุดในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาไหม? หรือเวลาที่เรียกหมายเลขและพอมีคนรับสายแล้ว กลับไม่ได้ยินเสียงอีกฝั่งหนึ่ง? ปัญหาอินเทอร์เน็ตล่าช้า กว่าจะดาวน์โหลดหน้าเพจได้บ้างไหม? เรียกแอปหรือหน้าเพจแล้ว “หมุนอยู่นั่นแหละ” บางครั้งแทบจะดาวน์โหลดหรือส่งอีเมลของคุณไม่ได้เลย ใช่หรือไม่?

สาเหตุเกือบทั้งหมดมาจากความคับคั่งของเครือข่าย เหมือนกับการจราจรบนทางหลวงคับคั่งรถไม่ขยับเขยื้อนอย่างไรอย่างนั้น เป็นเพราะมีข้อมูลบนเครือข่ายไร้สายมากเกินไป จึงทำให้ชุดของข่าวสารข้อมูลดิจิทัล ไม่สามารถไปยังจุดหมายได้ในเวลาที่ต้องการ

ความเร็วของการดาวน์โหลดข้อมูลผ่านเครือข่ายไร้สายระบบ 4G โดยเปรียบเทียบ

สหรัฐอเมริกาไม่ใช่ผู้นำอีกแล้ว

สหรัฐอเมริกา ซึ่งเดิมพันด้วยตำแหน่งผู้นำด้านเทคโนโลยีเครือข่าย 1G และ 2G ของตน ร่วงหล่นกลายเป็นผู้ตามในรุ่น 3G และ 4G ดูได้จากชาร์ตด้านบน

จากชาร์ตจะเห็นว่าประเทศที่อยู่ในตำแหน่งรั้งท้ายได้แก่ สหรัฐอเมริกา ในอันดับที่ 55 ตามมาด้วยรัสเซีย, บัลแกเรีย, เวเนซูเอลา (ประเทศซึ่งกำลังอยู่ในภาวะล่มสลายทางเศรษฐกิจ) และ เปรู

เมื่อพิจารณาจากจำนวนข้อมูลอาจดูแล้วเข้าใจยาก จึงขอสรุปภาพคร่าวๆ ของความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูลเป็นรายประเทศดังนี้

  • สิงคโปร์ 37 Mbps
  • โรมาเนีย 27 Mbps
  • ฟินแลนด์ 17 Mbps
  • กัวเตมาลา 13 Mbps
  • สหรัฐอเมริกา 10 Mbps

ใช่แล้ว ประเทศอย่างโรมาเนียและฟินแลนด์ยังแซงหน้าอเมริกา แม้แต่แดรกคูลาและกวางเรนเดียร์ (สัญลักษณ์ของทั้งสองประเทศ) ยังมีช่องทางโมบายอินเทอร์เน็ตที่เร็วกว่าสหรัฐฯ

แล้วมันสำคัญอย่างไร? เมื่อพิจารณาในระดับเศรษฐกิจ มันคือความได้เปรียบของการแข่งขันที่สำคัญ เพราะการทำงานและบริการในระบบดิจิทัล ส่วนใหญ่อยู่บนเครือมือถือหรือไร้สาย บริษัทหลายแห่งใช้กลยุทธ์ “Mobile First” (ปฏิบัติการในระบบมือถือหรือไร้สาย) ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญสูงสุดต่อการเข้าถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการผ่านอุปกรณ์พกพาเช่น สมาร์ตโฟน

ความลับที่น่ารังเกียจอย่างหนึ่งของซิลิคอนแวลลีย์คือ ความครอบคลุมของเครือข่ายไร้สายที่แย่ที่สุดในประเทศสหรัฐฯ กล่าวคือ มันมีจุดอับสัญญาณ (ครอบคลุมไม่ถึง) และจุดที่สัญญาณไม่ดีอยู่ทั่วไป เพราะ “คนพื้นที่” ซึ่งได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจจากการลงทุนในเทคโนโลยี จะสู้ไม่ถอยเพื่อหยุดยั้งการก่อสร้างหอหรือตั้งเสาสัญญาณเครือข่ายมือถือหรือไร้สาย เพราะไม่ต้องการเห็นหอสัญญาณไร้สายที่ “น่าเกลียด” ภายในและรอบๆ ย่านที่อยู่อาศัยของตน

เรื่องนี้สร้างความคับข้องใจแก่ชุมชนเทคโนโลยีซึ่งพยายามเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่พื้นที่ดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา

ซิลิคอนแวลลีย์เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่ง เพราะปัญหาเรื่องความคับคั่งของเครือข่ายได้แพร่ขยายไปทั่วประเทศ และในตลาดส่วนใหญ่ทั่วโลกแล้ว

ปัญหาเรื่องความเสียเปรียบในการแข่งขันยกระดับสู่แวดวงรัฐบาลระดับสูงสุดเลยทีเดียว

รัฐบาลทรัมป์และการเริ่มต้นของ 5G

เรื่องนี้มีความกระจ่างในเดือนมกราคม เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศว่า มันคือเรื่องของความมั่นคงและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระดับชาติ สหรัฐฯ น่าจะพิจารณาสร้างเครือข่าย 5G สาธารณะที่มีขนาดใหญ่หนึ่งเดียว แทนที่จะปล่อยให้อุตสาหกรรมทำให้มันล่าช้าด้วยการชะลอการเริ่มโครงการ (เนื่องจากค่าใช้จ่ายของการสร้างเครือข่ายดังกล่าวสูงมาก)

เช่นเคย สื่อมวลชนไม่ได้ให้ค่าต่อคำประกาศดังกล่าวมากนัก และวิพากษ์วิจารณ์การกำหนดทิศทางดังกล่าว โดยอ้างว่ามัน “ไม่ได้ผล” และไม่สอดคล้องกับทิศทางของ FCC (คณะกรรมาธิการการสื่อสารของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา)

อันที่จริงก็นับว่าเป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาด เพราะความตั้งใจนี้มีการไตร่ตรองไว้แล้ว ประธานาธิบดีและทีมของเขาต้องการกระตุ้นอุตสาหกรรม เพื่อเร่งรัดการลงทุนที่จำเป็น ที่ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการสร้างเครือข่าย 5G ดังกล่าวนั่นเอง

การลงทุนที่ต้องการนั้นมีขนาดใหญ่มาก และเนื้อหาที่รัฐบาลสื่อถึงบรรดาผู้เล่นในอุตสาหกรรมนั้น ไม่มีอะไรซับซ้อน คือ “เริ่มสร้างเครือข่าย 5G ตั้งแต่บัดนี้ ไม่งั้นเราจะจัดการเอง”

แล้วมันก็ได้ผล...

Verizon เริ่มต้นลงทุนสร้างเครือข่าย 5G ในเมืองต่าง ๆ ทั่วสหรัฐฯ รวม 5 แห่ง แห่งแรก คือเมืองซาคราเมนโต รัฐแคลิฟอร์เนีย เมืองดังกล่าวจะเริ่มให้บริการได้ภายใน “ครึ่งหลังของปี 2018” ในขณะที่ AT&T ประกาศว่าบริษัทจะเริ่มให้บริการ 5G แก่ลูกค้าในเมืองต่างๆ สิบกว่าแห่งภายในสิ้นปีนี้ เช่น เมืองแดลลัส แอตแลนต้า และวาโก้ ในรัฐเท็กซัส

ส่วน T-Mobile ก็พยายามที่จะแซงหน้าคู่แข่งทั้งสองรายด้วยแผนการให้บริการแก่เมืองต่างๆ ร่วม 30 แห่งก่อนสิ้นปีนี้ ซึ่งรวมถึงนิวยอร์กและลอสแองเจลิสด้วย

ประเด็นของบทความนี้ก็คือ มันเป็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องรอจนถึง ปี 2020 จึงจะได้เห็นกัน หากแต่เกิดขึ้นในตอนนี้แล้ว และดำเนินไปตามลำดับเวลาที่ถูกเร่งรัดให้เร็วขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีไร้สายรุ่นก่อนหน้า

กิจกรรมทั้งหมดนี้ยังกระตุ้นให้เกิดการควบรวมกิจการของ T-Mobile และ Sprint เข้าด้วยกัน ทั้งสองคือผู้ให้บริการระบบเครือข่ายไร้สายอันดับสามและสี่ของตลาดสหรัฐฯ ตามลำดับ

หลายเดือนก่อน T-Mobile ประกาศว่าบริษัทจะซื้อ Sprint เป็นมูลค่า 26,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ความจริงก็คือไม่มีฝ่ายใดมีเงินพอที่จะสร้างเครือข่ายเพื่อแข่งขันกับ Verizon และ AT&T ได้โดยลำพัง

คือเมื่อพิจารณากันในรายละเอียดแล้ว กิจการทั้งสองไม่มีสมาชิกผู้ใช้บริการหรือเงินสดมากพอ แต่ถ้าร่วมมือกันก็มีความเป็นไปได้ และจะทำให้ตลาดมีการแข่งขันกันมากขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ข้อตกลงนี้จะต้องสำเร็จลงได้ และได้รับการอนุมัติแน่นอน

และเมื่อเครือข่าย 5G กลายเป็นความจริงแล้ว จะส่งผลต่อชีวิตของเราอย่างใหญ่หลวง

ระบบสาธารณูปโภคด้านการสื่อสารขนาดใหญ่สุดในประวัติศาสตร์

ผลกระทบทางเศรษฐกิจของการใช้เครือข่าย 5G ก็จะมีมากเช่นกัน เฉพาะตลาดสหรัฐฯ แห่งเดียว คาดว่าผู้ให้บริการเครือข่ายไร้สายของสหรัฐฯ (AT&T, Verizon, และT-Mobile/Sprint) จะใช้จ่ายเงินถึง 275,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น หมายความว่ามันจะส่งผลให้มีการสร้างงานสามล้านตำแหน่ง และการเติบโตของ GDP ถึง 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐ... ใช่แล้ว เฉพาะในสหรัฐฯ แห่งเดียว

เมื่อพิจารณาในระดับโลก ยอดการลงทุนรวมน่าจะอยู่ที่ 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ยาวจนถึงปี 2025 พูดง่ายๆ ว่า มันคือระบบสาธารณูปโภคด้านการสื่อสารที่สำคัญที่สุด ใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา

ยอดการใช้จ่ายเพื่อการสร้างสาธารณูปโภคเครือข่ายไร้สาย 4G

และในทางปฏิบัติ มันจะมีความหมายต่อผู้บริโภคอย่างไร?

  • ความเร็วโดยทั่วไปของระบบ 5G จะสูงถึง 1 Gbps (กิกะบิตต่อวินาที) ซึ่งจะเร็วกว่าที่ผู้บริโภคสหรัฐฯ ใช้ระบบ 4G ในปัจจุบันถึง 100 เท่า ต่อให้มีความเร็วแค่ 100 Mbps (เมกะบิตต่อวินาที) ก็ยังถือว่าเร็วกว่าปัจจุบันถึง 10 เท่าอยู่ดี
  • รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเองจะถูกเชื่อมต่อแบบเรียลไทม์ผ่านเครือข่ายไร้สายได้อย่างสบายๆ
  • บริษัทต่าง ๆ จะเริ่มนำร่องการใช้รถบรรทุกขับเองเพื่อการโลจิสติกส์ในที่พื้นที่ห่างไกล เช่นเดียวกับที่โดรน (อากาศยานไร้คนขับ) สามารถบินได้ไกลถึงครึ่งโลกผ่านการควบคุมด้วยเครือข่ายดาวเทียม
  • อุปกรณ์ต่างๆ ที่ติดเซนเซอร์และส่งข้อมูลมาที่เราและระหว่างกันที่เราเรียกว่า IOT (Internet of Things) จะทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งทุกอย่างจะเป็นไปได้
  • เราสามารถท่องอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์ระหว่างที่นั่งรถไฟความเร็วสูงถึง 310 ไมล์ต่อชั่วโมง (500 กม./ชั่วโมง)
  • ผู้บริโภคจะสามารถ “เข้าร่วม” การประชุมด้วยการฉายภาพโฮโลแกรมของตัวเองแบบเรียลไทม์ (ไม่ต้องเข้าประชุมด้วยตัวเอง) โดยไม่มีความหน่วงของภาพและเสียงแต่อย่างใด
  • เครือข่าย 5G ไม่มีปัญหาเรื่อง Latency (ความหน่วงหรือความล่าช้า) คาดว่าปัญหาดังกล่าวจะลดลงถึง 99 เปอร์เซ็นต์จากเดิม 100 มิลลิวินาที เหลือเพียงไม่กี่มิลลิวินาที ปัญหาเรื่องความหน่วงนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถผ่าตัดคนไข้ในพื้นที่ห่างไกลโดยใช้หุ่นยนต์ทำหน้าที่แทนได้ ด้วยการควบคุมผ่านเครือข่ายไร้สาย

เทคโนโลยีเครือข่ายไร้สายแบบ 5G จึงไม่ใช่วิวัฒนาการ แต่เป็นการปฏิวัติเลยทีเดียว

แล้วเราอยู่ตรงจุดไหนของกระบวนการ และเมื่อเปรียบเทียบกับการเปิดตัวของเครือข่ายไร้สาย 4G แล้วเป็นอย่างไร?

ปี 2011 คือปีสำคัญปีแรกอย่างแท้จริง เมื่อมีการลงทุนกับระบบสาธารณูปโภคไร้สายแบบ 4G อย่างแพร่หลาย ครั้นถึงตอนสิ้นปี 2011 มีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 285 รายทั่วโลก ลงทุนกับเทคโนโลยีเครือข่าย 4G

จากตัวเลขในกราฟข้างบน ท่านผู้อ่านคงเห็นแล้วว่า ทั้งโลกมีการใช้จ่ายเพื่อสร้างสาธารณูปโภค 4G ประมาณ 160,000 ล้านเหรียญสหรัฐ์ในปี 2011 และเพิ่มเป็น 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ์ต่อปี ในปี 2014 และ 2015 ตอนนี้คือเดือนกรกฎาคม ปี 2018 ในส่วนของระบบ 5G น่าจะเทียบได้กับช่วงต้นปี 2011

และนี่คือเหตุผลว่าทำไมเราจึงจำเป็นต้องเริ่มลงมือวิเคราะห์เจาะลึกเรื่องนี้เสียแต่เนิ่นๆ ยิ่งถ้าคิดจะเอาประโยชน์จากเรื่อง 5G นี้ เรายิ่งต้องเริ่มเสียแต่ตอนนี้เลย ทั้งในแง่ของการออกแบบ Device ใหม่ๆ ที่จะมารองรับ หรือแอปพลิเคชันหรือบริการใหม่ๆ ที่จะ Utilize ฟังก์ชันของ Device รุ่นใหม่ได้อย่างเต็มศักยภาพ ฯลฯ หรือแม้แต่บรรดานักลงทุน ที่ต้องการจะสร้างพอร์ตการลงทุนกับกระแสใหม่ที่น่าตื่นเต้นนี้ เพราะถ้ารอไปอีกสองปีจนกระทั่งถึงวงรอบการลงทุนสูงสุดในปี 2020 และ ปี 2021 ก็จะช้าเกินไป สำหรับบริษัทเทคโนโลยีที่วางตำแหน่งตัวเองในพื้นที่นี้อย่างดีแล้ว คงจะได้เห็นมูลค่าหุ้นของตัวเองพุ่งสูงขึ้น สามารถทำเงินก้อนใหญ่กันไปบ้างแล้วในตอนนั้น

คาถาง่ายๆ ในการจับตาดูเฟสหรือระยะของโอกาสการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่เอี่ยมอย่าง 5G คือ “ขอ 3 คำ” ....Infrastructure, Devices, Services

ท่องไว้ให้ขึ้นใจ

กล่าวคือ เฟสที่ 1 ต้องเริ่มจากการก่อสร้างหรือวางระบบเครือข่ายทางกายภาพ (Physical Network Buildout) เป็นเฟสของการวางสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งหลาย เช่น เสาสัญญาณ หรือ เครือข่ายใยแก้วนำแสง และ อุปกรณ์ต่างๆ เช่น เสาอากาศ, สถานีฐาน, เราท์เทอร์ และสวิตช์ชิ่ง

โดยเฟสที่ 2 เมื่อเครือข่ายเริ่มลงหลักปักฐานแล้ว ก็จะถึงคิวของการออกแบบ ผลิต และจำหน่าย บรรดา Devices หรืออุปกรณ์ไร้สายทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ตโฟน หรือ แท็บเล็ต ฯลฯ สำหรับใช้งานบนเครือข่าย 5G และชิ้นส่วนที่ใช้ประกอบภายใน Devices ใหม่นี้ย่อมต้องยกระดับไปจากของที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

และเมื่อนั้น โลกก็จะย่างเข้าสู่เฟสที่ 3 คือเฟสของการเติบโตทางด้านบริการ คือกิจการที่ให้บริการซึ่งใช้คุณสมบัติของเครือข่าย 5G นั่นเอง

ท่านผู้อ่านที่นำหลักการนี้ไปใช้ในการวิเคราะห์ของตัวเอง ก็จะไม่งง หรือหลงทาง อีกต่อไปว่า “5G” มันจะเดินยังไง และจะเอาประโยชน์จากมันได้อย่างไร นับแต่นี้

 

เรื่อง :   เรียบเรียงจากข้อเขียนของ เจฟ  บราวน์

Goals and Means

August 13, 2018

                “ถังดับเพลิง เครื่องบินรบ รถไฟ เหมือนกันอย่างไร?

                ถังดับเพลิง เครื่องบินรบ รถไฟ 3 อย่างนี้มีลักษณะร่วมอย่างหนึ่งคือเราซื้อมาทั้งที่เราไม่ได้อยากใช้ ถังดับเพลิงถ้าใช้แปลว่าไฟไหม้ เราใช้เครื่องบินรบแสดงว่ามีสงคราม แล้วรถไฟละ เราเดินทางจากหมอชิตไปอนุสาวรีย์ชัย เราไม่ได้อยากเดินทาง ผมอยากจะเดินจากบ้านไปเรียนหนังสือ ไปทำงาน แต่รูปแบบผังเมืองทำให้ไม่มีแผนอะไร มหาวิทยาลัย ห้างอยู่ในเมือง คนซื้อบ้านในเมืองไม่ได้ ก็ต้องไปชานเมือง จริงๆ แล้วเราเดินทางไม่ใช่เพราะเราอยากเดินทาง เราอยากไปทำกิจกรรมบางอย่างที่ทำให้ชีวิตเราดีขึ้น ไปซื้อของไปเรียนหนังสือไปเจอเพื่อน แต่เงื่อนไขทำให้เราต้องเดินทาง”

                ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประมวล สุธีจารุวัฒน ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอ่ยขึ้นในช่วงหนึ่งของการสนทนา เป็นตัวอย่างที่สื่อความหมายของเป้าหมายและวิธีการที่จะบรรลุเป้าหมายตามหน้าที่ของคำแต่ละคำ

                ผศ.ดร.ประมวล นอกจากเป็นสอนหนังสือแล้วยังทำหน้าที่ช่วยกระตุกผู้บริหารประเทศและสังคมด้วยบทความและการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อต่างๆ เกี่ยวกับการกำหนดยุทธศาสตร์ การพัฒนาเทคโนโลยี และการใช้ประโยชน์จากการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่รัฐเป็นลูกค้าโดยตรงเช่นรถไฟ ยุทโธปกรณ์ รวมถึงการค้าที่เปลี่ยนรูปแบบไป

                MBA มีโอกาสพูดคุยเกี่ยวกับแนวคิดที่ผศ.ดร.ประมวลพยายามนำเสนอมานับสิบปี เพื่อช่วยกระจายแนวคิดการพัฒนาประเทศในอีกรูปแบบหนึ่งสู่สังคมไทย และช่วยสร้างโอกาสให้กับภาคอุตสาหกรรมภาคกาผศึกษาและสังคมโดยรวมของประเทศในอนาคต

                บทสนทนาเริ่มด้วยฐานความคิดของ ผศ.ดร.ประมวล ในการคิดวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆ

                 อันดับแรกคือคำว่า Goals เป้าหมาย และ Means วิธีการ ดูเหมือนยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนกันอยู่

              “ถ้าเรามองเป้าหมายของการพัฒนาประเทศไม่ใช่การพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง เป้าหมายของประเทศคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทุกคนที่อยู่ในประเทศ ถ้าเราเข้าใจว่าเป้าหมายคือพัฒนาคน ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพชีวิต การศึกษา และอื่นๆ ผมกำลังจะบอกว่า การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน ไม่ใช่เป้าหมาย คนที่ไม่เข้าใจก็จะใช้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเป้าหมาย และใช้การพัฒนาคนเป็นเครื่องมือ”  

                อันดับที่สอง คือกลไกใดจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้ ซึ่งคำตอบที่ชัดเจนคือการพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งอาจหมายรวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมด้วย “มีคนเคยพูดไว้ว่า ถ้าเราพัฒนาอุตสาหกรรมเปรียบเหมือนกับการปักบันไดเลื่อนลงไปในประเทศ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะเดินขึ้นบันไดเลื่อนเหล่านี้ได้ คนที่จะขึ้นก็ต้องมีการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปวช. ปวส. ปริญญาตรี ถึงจะสามารถก้าวเท้าเดินขึ้นบันไดเลื่อนได้ เมื่อเดินขึ้นแล้ว บันไดเลื่อนก็จะพาไหลไป ความหมายคือ อายุงานมากขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น  ภาพคือคนเหล่านี้โตไปเรื่อยๆ รายได้ก็สูงขึ้น คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้น ความน่าสนใจคือ ถ้าระบบนี้สมดุล แปลว่าพออายุ 60 คนที่ปลายบันไดเลื่อนก็เดินจากไปคนใหม่ก็เดินขึ้นมา ถ้าบันไดเลื่อนมีมากพอ และตัวบันไดเลื่อนยาวเพียงพอ คนเข้าคนออกสมดุลกันทุกอย่างก็สมดุล”

               แต่โจทย์ของประเทศไทยคือเมื่ออัตราการเกิดของคนในประเทศต่ำลง แรงงานที่จะเข้าสู่ระบบลดลง และอีกส่วนหนึ่งคือคนทำงานไม่อยากเข้าไปทำงานใช้แรง อยากทำงานที่มีคุณภาพสูงขึ้น ซึ่งคำถามคือสังคมไทยได้เตรียมอุตสาหกรรมรองรับคนเหล่านี้ไว้หรือไม่

               “ประเทศไทยมีปัญหานอกจากสังคมผู้สูงอายุ หรืออุตสาหกรรมเรายังมีปัญหาเรื่องระดับเทคโนโลยีในประเทศไม่สัมพันธ์กับการพัฒนาขีดความสามารถของคน การพัฒนาขีดความสามารถของคนไม่เท่าทันกับระดับขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีที่ประเทศต้องการ ทั้งหมดนำไปสู่ความไม่สมดุล ..ถ้าเรามองเห็นภาพว่าเป้าหมายการพัฒนาชาติคือการพัฒนาคนและใช้การพัฒนาเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ คนเก่งขึ้นก็จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เอาความรู้ไปพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ เทคโนโลยีใหม่ด้วย”

                อันดับที่สาม รูปแบบธุรกิจและอุตสาหกรรมกำลังเปลี่ยนแปลงไป จากการขายสินค้าและบริการ สู่การขายพ่อค้า และปัจจุบันเป็นการขายแพลตฟอร์ม

                “เดิมถ้ารูปแบบเอ็กซ์พอร์ตเตอร์จีน คนขายผักจีนส่งผักมาให้ไทย ก็เป็นรูปแบบเดิม คือเจ้าของผักขายผัก คนซื้อก็ซื้อผัก โมเดลปัจจุบัน พ่อค้าจีนจำนวนหนึ่งมาทำงานในประเทศไทย มาเป็นพ่อค้าในไทย ทำหน้าที่เป็นอิมพอร์ตเตอร์จีนในไทย เพื่อนำเข้าผักจากจีนมาไทย  โมเดลสิบปีที่ผ่านมา คือเขาส่งออกพ่อค้ามาทำงานที่ไทย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือเราเริ่มขายโรงแรมในไทยให้คนจีนมาใช้ ขายร้านอาหารให้คนจีนมาใช้ โมเดลขายสินค้าและบริการไม่ใช่แล้ว  เป็นลักษณะวิธีการทำธุรกิจที่กำลังเปลี่ยน แต่รูปแบบที่กำลังจะเกิดขึ้นและเป็นในอนาคต กำลังหมดยุคส่งออกพ่อค้า จะเข้าสู่ยุคส่งออกแพลตฟอร์ม คือ อาลีบาบา เถาเป่าที่เคยอยู่ในจีนตอนนี้ยกขบวนมาในไทยแล้ว มาตั้งในไทย แปลว่าเมื่อรูปแบบนี้มา พ่อค้าจีนไม่ต้องมาแล้ว แพลตฟอร์มมา ก็ปลั้กอินเข้าแพลตฟอร์มเลย แต่สังเกตคนได้กำไรเยอะสุดไม่ใช่คนที่เป็นเจ้าของสินค้าหรือบริการ คนที่เป็นเทรดเดอร์พ่อค้าได้กำไรสูงกว่า ต่อไปคนที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มได้กำไรสูงสุด เพราะว่าตัวเองเป็นคนควบคุมช่องทางการจัดจำหน่าย”

                คำถามที่ตามหลังมาจากแนวคิดเบื้องต้นทั้ง 3 ข้อของ ผศ.ดร.ประมวลคือ “ใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบวางแผนพัฒนาศักยภาพของคนให้สอดรับกับขีดความสามารถของเทคโนโลยีที่ต้องการ ซึ่งต้องเป็นยุทธศาสตร์ชาติและวางอยู่บนความเข้าใจว่า ในอีก 5-10 ปีอะไรจะเกิดขึ้น และกำหนดเงื่อนไขในการพัฒนายุทธศาสตร์ การพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาการศึกษาให้สอดรับกับบริบทที่จะเกิดขึ้น”

ยกระดับไทยด้วยอุตสาหกรรม

ตัวอย่างจากรถไฟฟ้า

                 คำตอบของ ผศ.ดร.ประมวลคือ กลไกที่สามารทำให้เกิดการพัฒนาคนในประเทศผ่านเครื่องมือกลไกต่างๆ โดยเขายกตัวอย่างโครงการก่อสร้างระบบคมนาคมขนาดใหญ่ในประเทศที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ที่เราสามารถนำโครงการเหล่านี้มาช่วยผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรม สร้างงานที่มีคุณภาพให้กับแรงงาน รวมถึงลดปัญหาการพึ่งพาต่างชาติลง

                เพราะแค่ความต้องการตู้รถไฟที่จะมาวิ่งบนรางต่างๆ ที่มีอยู่แล้วและกำลังสร้างขึ้นมาอยู่ก็มีหลายร้อยขบวน แต่ปัญหาคือที่ระบบรถไฟฟ้าที่ผ่านมาของประเทศไทยแต่ละระบบไม่เคยใช้รูปแบบเดียวกัน  “โมเดลไม่เหมือนกัน อะไหล่ใช้ด้วยกันไม่ได้ สีม่วงซื้อจากญี่ปุ่นแน่นอนใช้ร่วมกันไม่ได้ เราใช้รถร่วมกันไม่ได้ รถไฟความเร็วสูงไทยจีน ไทยญี่ปุ่นก็ใช้ร่วมกันไม่ได้ ผมกำลังบอกว่า ประเทศไทยกำลังจะกลายเป็นประเทศที่มีโมเดลรถไฟฟ้าเต็มไปหมด และทั้งหมดต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แม้วอลุ่มขนาดใหญ่ แต่โมเดลในการผลักไปสู่ภาคการผลิตในไทย เราไม่ได้ทำ”

                “ถ้าเรามองภาพการพัฒนามนุษย์ เรามองว่าระบบขนส่งมวลชนเป็นสิ่งที่เราต้องการลงทุนเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตคนในเมืองและในประเทศดีขึ้น จะเจ๋งมากถ้าทำให้ความต้องการใช้ระบบขนส่งทั้งหมด ผูกไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ และใช้อุตสาหกรรมในประเทศผูกสู่การพัฒนาการทรัพยากรมนุษย์ ช่าง วิศวกร วิจัยพัฒนา เมื่อคนพวกนี้เก่งขึ้น อาจจะไม่ได้แค่ทำรถไฟก็ได้ อาจจะเอาความรู้ไปทำอย่างอื่น ถ้าเรามีกลไกส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยีแบบนี้ ใครจะไปรู้ต่อไปคนไทยอาจจะเป็นคนสร้างไฮเปอร์ลูปด้วยตัวเองก็ได้หรือทำสิ่งอื่นเช่น ทำวีลแชร์อัตโนมัติควบคุมด้วยสมอง แต่ถ้าเราไม่ทำอะไร อีก 20 ปีข้างหน้าวีลแชร์พวกนี้เราก็นำเข้าจากต่างประเทศ”

                ผศ.ดร.ประมวลบอกว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมเช่นนี้เปรียบเหมือนกับการสร้างมังกรให้เกิดขึ้นในประเทศ เพื่อให้คนเก่งของประเทศไทย มีโจทย์สำหรับพิชิต  ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาเทคโนโลยี และการพัฒนาด้านการศึกษาของประเทศ

                “ผมไม่ได้มองเห็นแค่รถไฟ ผมยังมองเห็นเรือดำน้ำ เครื่องบินรบ ที่รัฐบาลต้องจัดซื้อสามารถผันให้กลายเป็นเครื่องมือพัฒนานักปราบมังกรได้ และนักปราบมังกรที่พูดถึง ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อทำงานในปัจจุบัน ผมกำลังพูดถึงงานสำหรับอนาคต เป็นงาน Value Creation งานแบบนี้ต้องการโจทย์เพื่อเทรนคนปัจจุบันให้สามารถทำอะไรบางอย่างในอนาคตได้ ถ้าไม่ทำตอนนี้ แล้วใครจะทำ”

Lesson Learn

                ผศ.ดร.ประมวล ยกตัวอย่างกลไกที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศเกี่ยวกับการผูกพันโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐเข้ากับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในประเทศ เริ่มด้วยประเทศจีนที่กำลังมาทำรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทยในปัจจุบัน

                ปี 2003 หลังจากทดลองพัฒนาเทคโนโลยีทำรถไฟฟ้าความเร็วสูง ด้วยตัวเองก่อนหน้าแต่ไม่สำเร็จ จีนตัดสินใจซื้อจาก 4  บริษัท 4 ประเทศ บริษัทละ 60 ขบวน โดยในเงื่อนไขการสั่งซื้อทั้ง 4 บริษัทจะต้องร่วมกับจีนเพื่อพัฒนามาตรฐานรถไฟของจีน ต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งการพัฒนาชิ้นส่วน และการประกอบ และยินยอมให้จีนพัฒนาต่อเพื่อขายประเทศที่ 3 ได้ และสุดท้ายก็ได้รถไฟแบรนด์ CHR (China Rail Hexie) ออกมาเป็นแบรนด์ของจีนเอง (hexie มาจากภาษาจีนแปลว่า harmonyความกลมกลืน)

                ผศ.ดร.ประมวล อธิบายเพิ่มเติมว่า จีนมีรูปแบบการรับเทคโนโลยีที่หลากหลาย โดยมีการศึกษาว่าเทคโนโลยีใดคือเทคโนโลยีหลักที่จีนต้องการได้

                  ประเทศมาเลเซียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่พัฒนาอุตสาหกรรมรองรับเทคโนโลยี ในปี 1987 มาเลเซียตั้งโครงการ Malaysian Industry-Government Group for Hige Technology (MIGHT) ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของประเทศด้วยอุตสาหกรรมที่เลือกมา 5 อุตสาหกรรม คือ เรือ การบิน รถไฟ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และเครื่องยนต์เจ็ต ด้วยการใช้ความต้องการจัดซื้อนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม

                ในช่วงแรกโครงการนี้ยังไม่คืบหน้าเท่าใดจึงมีการจัดทำโมเดล Industrial Collaboration Program เป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อให้กระทรวงทบวงกรมที่ต้องการจะจัดซื้อสินค้าในอุตสาหกรรมเป้าหมาย(เดิมมี 5 อุตสาหกรรม ปัจจุบันมี 12 อุตสาหกรรม) ต้องทำตามเงื่อนไขที่กำหนด มิฉะนั้นทางกระทรวงการคลังจะไม่อนุมัติการจ่ายเงินงบประมาณให้

                ด้วยกลไกการจัดซื้อใหม่นี้ทำให้ปัจจุบันมาเลเซียสามารถผลิตรถไฟได้เอง และกำลังพัฒนาให้เป็นระบบไฟฟ้า จากยุทธศาสตร์ของชาติที่วางเอาไว้

                ผศ.ดร.ประมวล อธิบายกลไกนี้ว่า วิธีการเช่นนี้เป็นการสร้างระบบนิเวศโดยภาครัฐ ผ่านสินค้าที่ภาครัฐเป็นผู้ซื้อเพียงผู้เดียว หากรัฐจะช่วยสร้างระบบนิเวศในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้เกิดขึ้น จะเป็นประโยชน์มากกว่าการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศเพื่อมาใช้งานเพียงมิติเดียว เมื่อหมดอายุการใช้งานก็ไม่มีประโยชน์อย่างอื่น แต่หากสามารถมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้น เมื่อเวลาผ่านไปก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในหลายมิติ

                เพราะเมื่อมีกลไกการขับเคลื่อนจากภาครัฐ มีภาคเอกชนที่เกิดขึ้นมาทำอุตสาหกรรมนั้นๆ ภาคการศึกษาก็จะมีโจทย์ที่ชัดเจนในการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ให้สอดคล้องกับระบบนิเวศที่เกิดขึ้น เพิ่มเติมจากโจทย์วิจัยที่มีอยู่เดิม เป็นการพัฒนาในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

                โดยรัฐสามารถบริหารจัดการให้งานที่วิจัยที่จะเกิดขึ้นมีความเกี่ยวพันกับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสาขาวิชาและเทคโนโลยีที่แต่ละสถาบันมีความถนัดและสนใจได้

                การขับเคลื่อนกลไกที่สนับสนุนระบบนิเวศการพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ในรูปแบบที่ ผศ.ดร.ประมวล แสดงความคิดเห็นมา จำเป็นต้องใช้การระดมสมองจากผู้รู้ ผู้มีอำนาจในประเทศ เพื่อตอบเป้าหมายการพัฒนาประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาคนไทยให้เท่าทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป

                และจาก 2 ประเทศตัวอย่างข้างต้นก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นการพูดคุย แลกเปลี่ยนแนวคิด และหาเป้าหมายและวิธีการที่จะทำให้ไทยสามารถเชิดหน้าชูตาอยู่ในสังคมโลกได้อย่างไม่อายใคร

Page 4 of 6
X

Right Click

No right click