เมืองอัจฉริยะ(Smart City) เป็นหนึ่งในหัวข้อที่สังคมยุคใหม่พูดถึงกันมาอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านสังคมสู่สังคมดิจิทัลที่กำลังเกิดขึ้นในแวดวงต่างๆ แต่เมืองอัจฉริยะที่เกิดขึ้นแล้วบนโลกและกำลังจะเกิดขึ้นแต่ละแห่งก็มีความแตกต่างกันไป
ในงานสัมมนา Delta Future Industry Summit ที่จัดโดยบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้เชิญวิทยากรที่น่าสนใจมาพูดเกี่ยวกับเรื่องเมืองอัจฉริยะของไทย
เริ่มจากฝั่งผู้กำหนดนโยบาย พันศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มาให้มุมมองเรื่องเมืองอัจฉริยะว่า เป็นการต่อยอดแนวคิดจากแผนงานดิจิทัลไทยแลนด์ ที่ต้องการให้ประเทศไทยเติบโตโดยใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด โดยรัฐบาลได้เตรียมพร้อมทางด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จะรองรับเช่น การวางสายเคเบิลใยแก้วให้ไปถึงทุกหมู่บ้านของประเทศภายในปีหน้า เพื่อให้คนทุกพื้นที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต สามารถใช้ประโยชน์สร้างรายได้จากอีคอมเมิร์ช เรียนรู้ความรู้จากโลกออนไลน์ รวมถึงสามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคมเมืองและชนบท
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลเริ่มสนับสนุนโครงการพัฒนาเมืองสู่เมืองอัจฉริยะไปแล้ว 7 จังหวัด ประกอบด้วย ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น กรุงเทพมหานคร และอีก 3 จังหวัดในอีอีซี คือชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทราเป็นการทดลองพัฒนาเมืองในด้านต่างตามที่ภาคประชาสังคมในพื้นที่มีความต้องการ โดยมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาช่วยส่งเสริมการขับเคลื่อนนำโดยรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง เป็นประธาน
ผู้ช่วยรัฐมนตรีดีอี บอกว่าปัจจุบันอัตราประชากรที่เข้ามาอยู่ในเมืองทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์และจะเพิ่มขึ้นเป็น 60-70 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2030 จึงเป็นเหตุให้การพัฒนาเมืองอัจฉริยะเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสนใจ เพื่อจะช่วยให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน สามารถจัดการมลภาวะต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้นิยามของเมืองอัจฉริยะในประเทศไทยโดยพันศักดิ์คือ เมืองที่น่าอยู่ มีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเป็นการเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ลดค่าใช้จ่าย
โดยปัจจัยสำคัญที่จะช่วยหนุนให้เกิดเมืองอัจฉริยะขึ้นมาได้อย่างแท้จริงนั้น ผู้ช่วยรัฐมนตรีดีอีบอกว่า คือการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนในพื้นที่ ที่จะมาช่วยกันระดมความคิดเห็นว่าจะเลือกทำเมืองอัจฉริยะในแง่มุมใดก่อนตามความต้องการของแต่ละพื้นที่ที่มีแตกต่างกัน
อีกปัจจัยหนึ่งคือการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ซึ่งสามารถใช้เทคโนโลยีผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ มาเป็นเครื่องมือเพื่อหากลไกเชื่อมโยง แบ่งปันข้อมูลต่างๆ เพื่อนำไปใช้งานได้จริงโดยจะต้องมีผู้ดูแลอาจจะเป็นรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคมเพื่อให้โครงการต่างๆ มีความยั่งยืน
โดยภาครัฐจะทำหน้าที่ส่งเสริมด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อช่วยให้การพัฒนาเมืองอัจฉริยะเป็นไปได้ โดยรัฐบาลอยากเห็นภาคเอกชนบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงสตาร์ทอัพเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกันเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะในประเทศไทย
อีกมุมมองจากฝั่งของนักวิชาการ ผศ.ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาให้ความเห็นเกี่ยวกับเมืองอัจฉริยะว่ามีองค์ประกอบสำคัญการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาครัฐและประชาชนผ่านฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ที่มาช่วยแก้ปัญหา
โดยปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดเมืองอัจฉริยะประกอบด้วยการที่ประชากรย้ายเข้าสู่เมืองเพิ่มขึ้น การมองหาความโปร่งใสในกิจกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้น การที่มีเทคโนโลยีที่สามารถเชื่อมโยงและจัดการข้อมูลจำนวนมาก ทิศทางของสังคมและปัญหาเรื่องสภาวะแวดล้อม
ทั้งนี้เมืองอัจฉริยะจะมาช่วยแก้ปัญหาต่างๆ เช่นลดการใช้พลังงาน ลดปัญหาการจราจร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาความปลอดภัยให้กับชุมชนในเมือง ผ่านกริดในด้านต่างๆ ที่เชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการควบคุมพลังงาน การจราจร การจัดการคุณภาพอากาศและน้ำ จัดการที่จอดรถ สถานีชาร์จรถไฟฟ้า ซึ่งเหล่านี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐจัดการเป็นส่วนใหญ่ โดยอาจจะมีภาคเอกชนเข้าไปร่วมด้วยในบางกิจกรรม
ผศ.ดร.นพพรมองว่า สิ่งสำคัญคือการเชื่อมโยงกันระหว่างของข้อมูลระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ กับประชาชน โดยการจะเปลี่ยนเมืองสู่เมืองอัจฉริยะในด้านใดขึ้นกับการจัดลำดับความสำคัญของแต่ละชุมชนที่จะเลือกประเด็นที่ต้องการพัฒนาเมืองในด้านต่างๆ จากนั้นจึงมองหาพาร์ตเนอร์ที่เข้ากับเป้าหมายที่วางเอาไว้ โดยต้องคำนึงถึง ความคุ้มค่าและยั่งยืนที่จะเกิดขึ้น ด้วยการบริหารจัดการข้อมูลที่เชื่อมโยงสังคม สภาพแวดล้อมและเศรษฐกิจที่ต้องคำนึงถึงในการกำหนดแผน
โดยสรุปแล้วไม่ว่าจะเลือกพัฒนาเมืองสู่เมืองอัจฉริยะในด้านใดทั้งผู้ช่วยรัฐมนตรีและนักวิชาการมองไปในทิศทางเดียวกันว่า หัวใจสำคัญของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะคือ การมีส่วนร่วมของทั้งภาครัฐและประชาชนซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยหนุนให้โครงการต่างๆ เดินหน้าไปได้อย่างยั่งยืน โดยอาศัยเทคโนโลยีต่างๆ เป็นตัวช่วย
บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จัดงานสัมมนา Delta Future Industry Summit ประจำปี 2561 ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยโดยเซีย เชน เยน ประธานบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) บอกว่าต้องการจะให้เป็นงานที่แลกเปลี่ยนความรู้แนวคิดใหม่ๆ ให้กับสังคมไทยโดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาร่วมพูดคุย และเป็นการสร้างเครือข่ายให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการต่างๆ โดยจะจัดกิจกรรมเช่นนี้ต่อเนื่องในทุกปี