November 23, 2024

SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นในปี 2567 ตามการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งจะสนับสนุนให้อุปสงค์ในประเทศปรับดีขึ้นผ่านการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน ในระยะปานกลางเศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มได้อานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตของธุรกิจข้ามชาติออกไปลงทุนในประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ “China +1” เพื่อลดความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในระยะต่อไป ในปีนี้ SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัวต่อเนื่อง 6.0% (จาก 5.6% ในปี 2566) สปป.ลาว 4.7% (จาก 4.5%) เมียนมา 3.0% (จาก 2.5%) และเวียดนาม 6.3% (จาก 5.1%)

 

อัตราการขยายตัวของแต่ละประเทศใน CLMV ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยช่วงก่อน COVID-19 จากปัจจัยกดดันต่าง ๆ อาทิ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเศรษฐกิจภูมิภาค CLMV มีความสัมพันธ์สูงทั้งด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงการท่องเที่ยวและภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะเดียวกัน บางประเทศ เช่น กัมพูชาและเวียดนามมีอัตราส่วนหนี้เสีย (Non-performing loans ratio) สูงขึ้นหลังมาตรการช่วยเหลือในช่วง COVID-19 สิ้นสุดลง ประกอบกับภาวะการเงินในประเทศที่ตึงตัวขึ้น อาจกระทบการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินและการเข้าถึงสภาพคล่องของธุรกิจได้ นอกจากนี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นปัจจัยที่ต้องจับตาต่อเนื่อง ในระยะสั้นการค้าโลกอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาการขนส่งบริเวณทะเลแดงและคลองปานามาที่แห้งแล้งและอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งสินค้าส่งออกของภูมิภาค CLMV ได้ ในระยะยาวเศรษฐกิจ CLMV จะต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับโลกที่มีแนวโน้มจะกีดกันการค้าและตั้งกำแพงภาษีมากขึ้น

ความเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV แตกต่างกัน ขึ้นกับปัจจัยเฉพาะประเทศ โดยเฉพาะในสปป.ลาวที่เผชิญความเสี่ยงจากระดับหนี้สาธารณะซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปสกุลเงินต่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงเทียบกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ ท่ามกลางภาวะการเงินโลกตึงตัว ทำให้เงินกีบอ่อนค่ารวดเร็ว ซ้ำเติมภาระการชำระหนี้ต่างประเทศ และทำให้เงินเฟ้อในประเทศพุ่งสูงขึ้นมากและปรับตัวลดลงได้ช้าในปีนี้ ปัจจัยเหล่านี้กดดันศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะปานกลาง โดยสปป.ลาวกำลังดำเนินการรัดเข็มขัดทางการคลัง ควบคู่กับการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้และการหาแหล่งระดมทุนใหม่เพื่อรักษาเสถียรภาพการคลังไว้ ขณะที่เมียนมาเป็นอีกประเทศที่กำลังเผชิญปัจจัยกดดันเชิงโครงสร้าง ซึ่งได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมืองตั้งแต่ปี 2564 และทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงปลายปี 2566 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศซบเซา ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกมีส่วนทำให้อุปสงค์ต่างประเทศอ่อนแอลงมาก ประกอบกับปัญหาอื่น ๆ เช่น การขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เงินจัตอ่อนค่าและเงินเฟ้อเร่งตัว ตลอดจนปัญหาระบบขนส่งและโครงข่ายไฟฟ้าหยุดชะงัก การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ยังดูเป็นไปได้ยากในระยะสั้น เนื่องจากจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยทางการเมืองที่มีเสถียรภาพ

 

ค่าเงินของกลุ่มประเทศ CLMV จะเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าลดลง ตามธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลักที่มีแนวโน้มเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่กลางปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลกลับเข้าประเทศกำลังพัฒนา รวมถึง CLMV มากขึ้น และจะกระตุ้นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศตามต้นทุนการระดมทุนที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเฉพาะประเทศยังคงเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อแนวโน้มค่าเงิน ส่งผลให้ค่าเงินบางประเทศอาจยังอ่อนค่าต่อ

การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับ CLMV มีแนวโน้มดีขึ้นในปีนี้ หลังจากค่อนข้างซบเซาในปี 2566 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการค้าโลกที่ปรับดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคการผลิต และเศรษฐกิจประเทศในภูมิภาคที่ฟื้นตัว นอกจากนี้ ภาวะการเงินโลกและไทยที่คาดว่าจะผ่อนคลายลงบ้างในปีนี้จะเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนให้บริษัทไทยลงทุนใน CLMV ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามเสถียรภาพเศรษฐกิจของ CLMV บางประเทศที่ยังไม่เอื้อต่อการลงทุนมากนัก ทั้งนี้ในระยะยาว SCB EIC ยังมีมุมมองบวกต่อเศรษฐกิจ CLMV และคาดว่าจะเป็นหนึ่งในภูมิภาคของโลกที่เติบโตสูง และยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนไทยและต่างชาติ จากปัจจัยประชากรที่มีอายุเฉลี่ยน้อย การมีข้อตกลงสนธิสัญญาการค้าเสรีต่าง ๆ และแหล่งที่ตั้งที่มีความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ ติดตลาดใหญ่ เช่น จีนและอินเดีย

เคทีซีแจ้งงบการเงินรวมของบริษัทฯ และบริษัทย่อยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา กำไรสุทธิ 5,534 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% โดยกำไรสุทธิไตรมาส 3/2566 เท่ากับ 1,857 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.7% พอร์ตสินเชื่อรวมขยายตัว 10% อยู่ที่ 106,701 ล้านบาท จากปัจจัยสนับสนุนของการบริโภคภาคเอกชน เดินหน้าผลักดันทุกพอร์ตผลิตภัณฑ์เติบโตควบคู่การคัดกรองคุณภาพในระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมและยอมรับได้ คาดทำกำไรทั้งปีได้ตามเป้าหมาย

นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่า “ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ความต้องการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ดีต่อเนื่อง ได้ส่งผลให้อุตสาหกรรมสินเชื่อผู้บริโภคขยายตัวมากขึ้น รวมถึงเป็นปัจจัยบวกให้ผลการดำเนินงานของเคทีซีเติบโตต่อเนื่อง โดยมีสัดส่วนของลูกหนี้บัตรเครดิตเทียบกับอุตสาหกรรมอยู่ที่ 14.9% และมีส่วนแบ่งตลาดของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเท่ากับ 12.1% ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2565 ในขณะที่สัดส่วนของลูกหนี้สินเชื่อบุคคล (ไม่รวมสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน) อยู่ที่ 6.2% เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรม”

ในส่วนของธุรกิจเคทีซีตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา พอร์ตบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลขยายตัวตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยมีมูลค่าพอร์ตรวมเท่ากับ 106,701 ล้านบาท เติบโต 10% อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มบริษัท (NPL) รวมเท่ากับ 2.3% ซึ่งอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ โดยพอร์ตบัตรเครดิตยังขยายตัวได้ดีตามปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรที่เพิ่มขึ้นจากอุปสงค์การใช้จ่ายเพื่อการบริโภค รวมทั้งพอร์ตสินเชื่อบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” ที่เติบโตสูงขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน โดยเน้นให้พอร์ตเติบโตคู่ไปกับการคัดกรองคุณภาพลูกหนี้ในระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม ด้านสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” มียอดสินเชื่อใหม่มูลค่า 1,929 ล้านบาท”

ผลการดำเนินงานของเคทีซี ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 งบการเงินรวมมีกำไรสุทธิในช่วง 9 เดือน และไตรมาส 3/2566 เท่ากับ 5,534 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 2.2%) และ 1,857 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 4.7%) ตามลำดับ ฐานสมาชิกรวม 3,331,065 บัญชี แบ่งเป็นพอร์ตสมาชิกบัตรเครดิต 2,616,269 บัตร เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้บัตรเครดิตและดอกเบี้ยค้างรับรวม 69,225 ล้านบาท ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรรวม 9 เดือนเท่ากับ 192,270 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.7% NPL บัตรเครดิตอยู่ที่ 1.3% พอร์ตสมาชิกสินเชื่อบุคคลเคทีซี 714,796 บัญชี เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้บัตร กดเงินสด “เคทีซี พราว” และดอกเบี้ยค้างรับ 30,246 ล้านบาท เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เท่ากับ 2,058 ล้านบาท NPL สินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 3.1% ยอดสินเชื่อลูกหนี้ใหม่ (New Booking) ของ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” ในไตรมาส 3/2566 เท่ากับ 794 ล้านบาท และรอบเก้าเดือนของปี 2566 มีมูลค่า 1,929 ล้านบาท สำหรับสินเชื่อลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อมีมูลค่า 3,369 ล้านบาท โดยมียอดปล่อยสินเชื่อใหม่ของรถขนาดใหญ่ที่ใช้ในอุตสาหกรรม (Commercial Loan) ในรอบ 9 เดือนของปี 2566 ที่ 1,446 ล้านบาท ทั้งนี้ เคทีซียังคงชะลอการปล่อยสินเชื่อประเภทนี้ หลังจากที่เห็นสัญญาณของหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น

“สำหรับไตรมาส 3/2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 รายได้รวมเพิ่มขึ้น 9.8% เท่ากับ 6,461 ล้านบาท จากรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียม ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 13.4% เท่ากับ 4,170 ล้านบาท จากการที่พอร์ตสินเชื่อขยายตัว ทำให้มีการตั้งสำรองมากขึ้น เป็นผลให้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Losses - ECL)

จำนวน 1,477 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.7% ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงขึ้น ขณะที่ต้นทุนทางการเงินปรับขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงิน”

ทั้งนี้ ข้อมูลวันที่ 30 กันยายน 2566 เคทีซีมีเงินกู้ยืมทั้งสิ้นเท่ากับ 62,730 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.8% โดยมีสัดส่วนโครงสร้างแหล่งเงินทุนเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น (รวมส่วนของเงินกู้ยืมและหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระภายในหนึ่งปี) 23% และเงินกู้ยืมระยะยาว 77% มีวงเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงินรวม (Total Short -Term Credit Line) 29,371 ล้านบาท (รวมวงเงินจากธนาคารกรุงไทย 19,061 ล้านบาท) ใช้วงเงินระยะสั้นไป 5,221 ล้านบาท และมีวงเงินคงเหลือ (Available Credit Line) จำนวน 24,150 ล้านบาท ต้นทุนการเงิน 2.7% และอัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 2.07 เท่า ลดลงจากงวดเดียวกันของปี 2565 ที่ 2.14 เท่า และต่ำกว่าภาระผูกพันที่ 10 เท่า

“เคทีซียังดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ตามแนวทางการบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรมของธนาคารแห่งประเทศไทย โดย ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 บริษัทฯ ได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในทุกสถานะจำนวน 1,802 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.8% ของพอร์ตลูกหนี้รวม”

“สำหรับความคืบหน้าด้านมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น (Consultation Paper) เกี่ยวกับร่าง “หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม” (Responsible Lending: RL) และร่าง “กลไกการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงสำหรับสินเชื่อรายย่อย” (Risk-Based Pricing :RBP) ไปเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อเป็นแนวทางในการปรับพฤติกรรมเจ้าหนี้และลูกหนี้ ผ่านการยกระดับมาตรฐานกระบวนการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบตลอดวงจรหนี้นั้น แนวทางการปฏิบัติของเคทีซีเองมีความชัดเจน โดยให้บริการสินเชื่อด้วยความรับผิดชอบเสมอมา และมีหลักเกณฑ์การโฆษณาและเสนอขายที่เป็นแนวทางเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ จึงมั่นใจว่าหลักเกณฑ์ที่จะออกมาบังคับใช้ จะไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญใดๆ ต่อการดำเนินงานของเคทีซี”

“ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt: PD) ที่จะบังคับใช้เดือนเมษายน 2567 เป็นต้นไป เคทีซีจะให้ทางเลือกแก่ลูกหนี้ที่สนใจ โดยสำหรับลูกหนี้ที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรัง (Severe Persistent Debt) สามารถเปลี่ยนสินเชื่อหมุนเวียนเป็นแบบมีระยะเวลา (Term Loan) และคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี โดยกำหนดให้การผ่อนชำระสามารถปิดจบใน 5 ปี ซึ่งแนวทางนี้ลูกหนี้ต้องสมัครใจเข้าร่วมโครงการด้วยตนเองและปิดวงเงินเดิมที่มี โดยหากลูกหนี้เคทีซีที่เข้าเกณฑ์ทุกรายเข้าร่วมโครงการฯ จะมีผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยลดลงประมาณ 18 ล้านบาทต่อเดือน”

ในปี 2567 เคทีซีวางเป้าเติบโตใน 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” และสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” ด้วยเชื่อว่าสินเชื่อแต่ละประเภทยังเป็นที่ต้องการในตลาด อีกทั้งจะส่งเสริมธุรกิจ MAAI by KTC (มายบายเคทีซี) ธุรกิจบริการระบบบริหารจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้าให้เติบโตมากขึ้น รวมทั้งหลอมรวม 3 องค์ประกอบหลักคือ คน-กระบวนการ-เทคโนโลยี เข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อขับเคลื่อนเคทีซีให้เติบโตมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายการทำธุรกิจปี 2567 ให้มีกำไรสูงขึ้นกว่าปี 2566 พอร์ตสินเชื่อรวมขยายตัว 10% ภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่ยอมรับได้อย่างเหมาะสม NPL รวมอยู่ในระดับเดียวกับปี 2566 ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเคทีซีเติบโต 15% จากปี 2566 สินเชื่อบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” ตั้งเป้าเติบโต 5% และสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” ตั้งเป้ายอดอนุมัติสินเชื่อใหม่ปี 2567 ที่ 6,000 ล้านบาท

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สานต่อบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ส่งต่อคุณค่าขยะอินทรีย์อบแห้งกว่า 10,000 กิโลกรัม สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

การส่งมอบขยะอินทรีย์อบแห้งในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ทางศูนย์ฯ สิริกิติ์ ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ สส. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการขยะ ตั้งแต่ต้นทางด้วยการนำขยะอินทรีย์อบแห้งภายในพื้นที่ของศูนย์ฯ สิริกิติ์ ผ่านกระบวนการแปรรูปแล้วนำไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิจัย และส่งเสริมการเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับวิสาหกิจชุมชน เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนในระยะยาวต่อไป

 

ม.ร.ว.สวัสดิวุฒิ สวัสดิวัตน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จํากัด ผู้บริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กล่าวว่า “ศูนย์ฯ สิริกิติ์ มีความยินดีที่ได้สานต่อข้อตกลงร่วมกับ สส. ในการส่งเสริม และสนับสนุนการจัดการขยะอาหารจากการจัดอิเวนต์ โดยการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้สร้างคุณค่าให้กับเศษอาหาร โดยนำกลับมาหมุนเวียน ทำเป็นขยะอินทรีย์อบแห้ง ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งต่อสู่ชุมชนในการนำไปเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย เพื่อกำจัดขยะอินทรีย์ ทำเป็นปุ๋ยสำหรับปลูกต้นไม้ และพืชผัก และยังสร้างรายได้ให้กับชุมชนควบคู่ไปกับการช่วยลดก๊าซเรือนกระจก อันเนื่องมาจากขยะ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคมต่อไป

“ระยะ 1 ปีที่ผ่านมา ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ได้นำขยะอาหารมาแปรรูปด้วยการอบแห้ง เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับวิสาหกิจชุมชน ซึ่งศูนย์ฯ สิริกิติ์สามารถส่งต่อขยะอบแห้งให้กับสส. และวิสาหกิจชุมชนกว่า 10,000 กิโลกรัม ทำให้เกิดการหมุนเวียน และลดของเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จนนำไปสู่การไม่มีของเสีย เป็นการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายให้กับวิสาหกิจชุมชน รวมถึงยังช่วยลดขยะอาหารของศูนย์ฯ สิริกิติ์ได้ถึง 55,797 กิโลกรัม เทียบเท่าการปลูกต้นไม้มากกว่า 15,686 ต้นต่อปี และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 141,174 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี (kgCO2e/yr)”

ปัญญา วรเพชรายุทธ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “ทางกรมฯ ได้ดำเนินการตามนโยบายขององค์กรสหประชาชาติที่กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ว่าด้วยเรื่องของขยะอาหารที่ขอให้แต่ละประเทศร่วมกันลดปริมาณขยะอาหารลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีที่กรมฯ และศูนย์ฯ สิริกิติ์ได้ดำเนินความร่วมมือสอดรับกับนโยบายของ UN ในการลดขยะอาหารเพื่อลดภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นหนึ่งในการดำเนินงานที่นำไปสู่ความสำเร็จในเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

ศูนย์ฯ สิริกิติ์ในฐานะผู้นำอิเวนต์ด้านความยั่งยืน ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าสู่การเป็นสถานที่จัดงานที่คำนึงถึงชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม และพร้อมผลักดันธุรกิจอิเวนต์ของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ม.ร.ว. สวัสดิวุฒิ สวัสดิวัตน์ (ซ้าย) รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ ผู้บริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และนายปัญญา วรเพชรายุทธ (ขวา) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม สานต่อบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน ลงพื้นที่ส่งต่อคุณค่าขยะอินทรีย์อบแห้งกว่า 10,000 กิโลกรัม สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจอิเวนต์ไทยให้เติบโต อย่างยั่งยืน ณ ออแกนิสต้า ฟาร์ม จ.ปทุมธานี

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics มองว่า ผลจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์ในรอบหลายปี ทำให้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางที่มีอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมายังคงต่ำกว่าตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) อยู่ในระดับต่ำจนอาจติดลบได้ในหลายประเทศ รวมถึงไทยด้วย อย่างไรก็ดี การเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้เพียงพอที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงกลับมาเป็นบวกได้นั้น อาจจำเป็นต้องพิจารณาตัวแปรหรือองค์ประกอบด้านเศรษฐกิจและสังคมอื่นร่วมด้วย เพื่อรักษาสมดุลระหว่างระดับราคา เสถียรภาพทางการเงิน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว

ทั่วโลกขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่ทันเงินเฟ้อ ฉุดดอกเบี้ยที่แท้จริงต่ำถึงติดลบ

หลังจากเศรษฐกิจทั่วโลกส่งสัญญาณฟื้นตัวอีกครั้งจากภาวะอุปทานชะงักงัน (Supply Constraint) ของห่วงโซ่ผลิตหลักเริ่มคลี่คลาย ตลาดแรงงานฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังทรงตัวสูงต่อไปจากผลพวงความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เหล่านี้มีส่วนสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อสูงกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารกลางทั่วโลก ส่งผลให้การดำเนินนโยบายจำเป็นต้องกลับทิศอย่างรวดเร็วหลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปได้ไม่นาน

นับแต่ต้นปี 2565 ธนาคารกลางหลายแห่งมีความพยายามใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อเนื่องเพื่อหยุดยั้งความร้อนแรงของเงินเฟ้อ แต่ผลจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์ในรอบทศวรรษ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (อัตราดอกเบี้ยหักลบอัตราเงินเฟ้อ) หรือ Real Interest Rate ยังอยู่ในระดับต่ำ เห็นได้จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันเทียบกับอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ทั้งปี 2566 พบว่า อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงในหลายประเทศต่ำจนติดลบ เช่น ญี่ปุ่น (-3.1%) เยอรมนี (-2.2%) อังกฤษ (-1.8%) และไทย (-0.5%) เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ซึ่งเป็นการขึ้นติดต่อกันเป็นครั้งที่ 6 สู่ระดับ 2.00% ในรอบการประชุมเดือนพฤษภาคม 2566 อีกทั้งยังส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 0.25% ในรอบการประชุมที่เหลืออีก 3 ครั้งในปีนี้ เพื่อให้เพียงพอที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงกลับมาเป็นศูนย์ (Neutral Rate) หรือเป็นบวก (Positive Rate) ได้อีกครั้ง

การเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้ Real Rate กลับมาเป็นบวก จะช่วยลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินจริงหรือ?

แท้ที่จริงแล้ว ไทยเคยประสบปัญหาอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5-6 ครั้งในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องหลังปี 2523 และเริ่มติดลบมาตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา สอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนที่แท้จริงของพันธบัตร

รัฐบาลระยะยาวสหรัฐฯ ที่เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 0% ขณะที่อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงของพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นกลับติดลบอย่างมาก ส่วนในเยอรมนีและอังกฤษ อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงของพันธบัตรรัฐบาลยังคงติดลบในทุกช่วงอายุที่ครบกำหนดไถ่ถอน (Maturity)

ทั้งนี้ โดยปกติแล้ว สินทรัพย์ที่มีคุณภาพหรือมีความเสี่ยงต่ำอย่างพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มักให้อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงเฉลี่ยติดลบอยู่แล้วราว 0.5-2.0% ส่วนอัตราผลตอบแทนที่แท้จริงของสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างกองทุนที่ลงทุนในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) จะอยู่ที่ราว 1.0 -2.0% จึงไม่แปลกที่นักลงทุนจะมีพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทน (Search for Yield) ในภาวะตลาดการเงินตึงตัว จนอาจนำไปสู่ความกังวลที่จะเกิด “ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงิน” หรือ Financial Stability Risk

อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับสูงก็อาจทำให้สินทรัพย์เสี่ยงน่าสนใจขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวสูงขึ้นมากจากสภาพคล่องล้นระบบ ก่อนจะผันผวนและปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว หลังแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นเพิ่มความน่าสนใจให้กับผลิตภัณฑ์ตราสารหนี้ แต่ในทางกลับกัน อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงก็อาจทำให้ราคาต่อกำไรที่แท้จริงของหุ้นมีแนวโน้มต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานที่ควรจะเป็น (Undervalued) อันเนื่องจากมูลค่าที่แท้จริงของรายได้บริษัทจดทะเบียนจะลดลงตามการนำอัตราดอกเบี้ยมาเป็นตัวคิดลด (Discount) เพื่อทอนการเติบโตของรายได้และกระแสเงินสดในอนาคต บวกกับราคาหุ้นที่ปรับฐานลงไปมาก โดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยีที่เจอแรงเทขายอย่างหนักก่อนหน้านี้ ยิ่งทำให้สินทรัพย์เสี่ยงน่าสนใจมากขึ้น

นอกจากนี้ ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้นก็กลายเป็นความเสี่ยงต่อตลาดเกิดใหม่จากการไหลออกของเงินทุนต่างชาติ (Outflow) โดยเงินทุนเคลื่อนย้ายมักแสวงหาผลตอบแทนที่ดีขึ้นจากการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ แต่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางข้อจำกัดทางเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่หรือประเทศกำลังพัฒนาที่อาจยังไม่พร้อมจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ทันตามกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยยังค่อนข้างกว้าง จึงอาจเห็นเงินทุนไหลออกทั้งจากตราสารหนี้และแรงเทขายหุ้น จากความเปราะบางทางการเงินที่ยังคงเพิ่มขึ้นในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดเกิดใหม่ที่มีปัจจัยพื้นฐานอ่อนแอ เช่น เศรษฐกิจฟื้นช้า หนี้ต่างประเทศสูง ดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบต่อเนื่อง หรือ ทุนสำรองระหว่างประเทศต่ำ เป็นต้น

ttb analytics ประเมินว่า เงินเฟ้อไทยได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา และเริ่มลดลงต่อเนื่องจนเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2566 นี้ ซึ่งล่าสุดในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานก็ปรับลดลงมาอยู่ที่ 0.23% และ 1.32% ตามลำดับ ทั้งนี้ คาดว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยในระยะต่อไปจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงมากในไตรมาสที่ 3 ตามผลของฐานสูงในปีก่อนหน้า (แม้มีแรงกดดันจากความเสี่ยง

ปรากฎการณ์เอลนีโญ) รวมไปถึงการผ่อนมาตรการดูแลค่าครองชีพของภาครัฐ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากทั้งปัจจัยภายในและนอกประเทศ ทำให้มีการส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 0.25% ในปีนี้ ซึ่งอาจดึงให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้าที่ 3.4%

มอง 3 ประเด็นความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางการส่งสัญญาณขึ้นของอัตราดอกเบี้ย

ประเด็นที่ 1 : เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า และยังไม่กลับมาเท่ากับระดับศักยภาพ (เดิม) โดยเศรษฐกิจไทยกลับมาอยู่ในช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 แล้วตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่กลับเข้าสู่ระดับศักยภาพเดิมในอดีตจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่เกิดจากผลกระทบของโรคระบาด โดยปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างช้า ๆ จากอานิสงส์ของภาคบริการที่ฟื้นตัวได้ตามการท่องเที่ยว ซึ่งส่วนหนึ่งถูกสนับสนุนด้วยปัจจัยด้านราคาจากการปรับขึ้นค่าพักแรมไปแล้วกว่า 10-30% จากปีก่อน ขณะที่ความหวังจากนักท่องเที่ยวจีนที่จะกลับมาฟื้นภาคท่องเที่ยวก็ต่ำกว่าเป้าค่อนข้างมาก ส่วนการบริโภคสินค้าคงทนที่ยังฟื้นตัวได้มาจากอุปสงค์คงค้าง (Pent-up Demand) แต่ก็เริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวลงบ้าง และอีกส่วนจากกระแสความนิยมรถไฟฟ้า (EV) ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดผลต่อเศรษฐกิจเพิ่มเติมเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากจีน นอกจากนี้ การส่งออกไทยยังชะลอตัวต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะโมเมนตัมจากอุปสงค์จีนที่ค่อนข้างแผ่ว ตลอดจนปัจจัยหนุนด้านราคาพลังงานที่น้อยลง ทำให้การส่งออกเผชิญแรงกดดันทั้งปัจจัยด้านปริมาณ (Quantity Effect) จากกำลังซื้อที่ชะลอตัวและด้านราคา (Price Effect) จากราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานปรับตัวลดลง

ประเด็นที่ 2 : หนี้เสียพุ่ง-หนี้ครัวเรือนสูงเรื้อรัง โดยล่าสุดหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 1 ปี 2566 แตะ 16 ล้านล้านบาท หรือ 90.6% ของจีดีพี ซึ่งแม้ว่าจะลดลงจากจุดสูงสุดในไตรมาส 1 ปี 2564 ที่ระดับ 95.5% ของจีดีพี แต่หนี้ที่อยู่ในระดับสูงเกิน 70% ต่อจีดีพีก็เป็นตัวบั่นทอนความสามารถในการจับจ่ายของครัวเรือนอยู่ไม่น้อย นอกจากนี้ คุณภาพหนี้ก็มีแนวโน้มแย่ลงและเป็นอุปสรรคต่อการก่อหนี้ใหม่ โดยสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ต่อสินเชื่อรวมของครัวเรือนในไตรมาส 1 ปี 2566 อยู่ที่ 2.68% เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 2.62% และสิ่งที่ต้องจับตาเพิ่มเติมคือ ยอดหนี้ที่ยังไม่ใช่หนี้เสีย แต่ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน (หนี้ที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ) ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มูลหนี้ครัวเรือนที่ขยายตัวปีละ 3-4% อาจต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปีในการปรับลดให้อยู่ในระดับเหมาะสม

ประเด็นที่ 3 : ต้นทุนการกู้ยืมที่ปรับสูงขึ้นเริ่มเป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนของภาคเอกชน จากข้อมูลไตรมาส 1 ปี 2566 พบว่า ภาพรวมสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ขยายตัวได้เพียง 0.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 2.1%YoY ด้านสินเชื่อภาคธุรกิจก็เติบโตชะลอลง ขณะที่สินเชื่อ SMEs หดตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 3 ไตรมาส อีกทั้งธนาคารพาณิชย์ยังมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อจากภาวะการเงินตึงตัวและความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ที่จะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตาม ยิ่งกว่านั้น สภาพคล่อง

ธนาคารพาณิชย์ยังถูกดึงออกไปบางส่วนจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ปรับตัวสูงขึ้น เห็นได้จากปริมาณเงินฝากจากภาคธุรกิจและบุคคลธรรมดาในระบบธนาคารพาณิชย์ที่สูงถึง 14.2 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะยอดเงินฝากในบัญชีฝากประจำที่ขยายตัวถึง 13.0%YoY ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่ธุรกิจขนาดใหญ่ดึงสภาพคล่องส่วนเกินมาพักไว้กับธนาคารพาณิชย์ หลังเร่งระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้อย่างต่อเนื่อง (ทั้งออกหุ้นกู้ใหม่และต่ออายุหุ้นกู้เดิม) เพื่อล็อกต้นทุนทางการเงินในช่วงที่ดอกเบี้ยยังเป็นขาขึ้นเช่นนี้

ttb analytics มองว่า ปัจจุบันทั่วโลกกำลังเผชิญบริบทของเงินเฟ้อสูงเรื้อรัง แน่นอนว่า Policymaker จำเป็นต้องดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดขึ้นเพื่อสกัดการเร่งขึ้นของเงินเฟ้อ แต่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อตระหนักว่าอัตราเงินเฟ้อ "ชั่วคราว" มีแนวโน้มเรื้อรังกว่าที่คาดไว้มากนั้น จำเป็นต้องพิจารณาร่วมกับตัวแปรทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ (อาทิ ผลิตภาพทางเศรษฐกิจ โครงสร้างประชากร การลงทุน) ฉะนั้นแล้ว ท่ามกลางความหวังที่เศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวได้ในระดับศักยภาพต่อไป อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจึงเป็นเครื่องสะท้อนระหว่างสมดุลในการรักษาระดับราคา เสถียรภาพทางการเงิน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว

 

 รายงานฉบับใหม่จาก Stripe ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินสำหรับธุรกิจ พบว่าธุรกิจมีความมั่นใจในการเติบโตของตนเองมากกว่าภาวะเเศรษฐกิจในวงกว้าง ในรายงานยังแสดงข้อมูลเชิงลึกถึงแนวทางที่ทำให้ธุรกิจไทยสามารถขยายและได้ประโยชน์จากโอกาสการเติบโตในระดับโลกเพื่อที่จะรับมือกับความท้าทายในอนาคตระหว่างปี 2566 และปีต่อๆ ไป

รายงานนี้อ้างอิงจากการสำรวจผู้นำธุรกิจจำนวน 2,500 รายจาก 9 ประเทศ พบว่าธุรกิจจำนวน 65% มีความมั่นใจในธุรกิจตัวเองว่าสามารถเติบโตได้ในปี 2566 แม้ว่า 80% จะมีทัศนคติเชิงลบต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจต่าง ๆ จัดอันดับให้เงินเฟ้อเป็นความกังวลสูงสุด และ 72% ชี้ว่าต้นทุนการดำเนินงานสูงกว่าปีที่แล้ว จากเหตุการณ์นี้ รายงานพบว่าธุรกิจส่วนใหญ่เริ่มรุกด้วยการทดลองใช้โซลูชัน และแหล่งรายได้ใหม่ๆ หลายๆ ธุรกิจเริ่มหันมาใช้เครื่องมือการรับชำระเงินเพื่อช่วยทำให้รายได้เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันก็มองหาวิธีทำให้งานด้านการเงินให้เป็นอัตโนมัติมากขึ้นเพื่อที่จะควบคุมต้นทุน

คุณธีร์ ฉายากุล ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย บริษัท Stripe ประเทศไทย กล่าวว่า “คุณไม่สามารถพยายามตัดต้นทุนอย่างเดียวให้รอดพ้นจากวิกฤตได้ จากเหตุการณ์ชะลอตัวที่ผ่านมา ธุรกิจต่างๆที่ประสบความสำเร็จมีการเสี่ยงขยายธุรกิจ พร้อมไปกับการลดค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองที่ไม่จำเป็น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำในช่วงที่สภาพการเงินตึงตัว แต่โลกออนไลน์นั้นมีธุรกิจอีกมากมายที่สามารถใช้กลยุทธ์นี้ได้ในครั้งนี้"

ธุรกิจไทยสามารถทำการประเมินและนำประเด็นสำคัญที่พบเจอในรายงานไปใช้เพื่อเพิ่มรายรับทางออนไลน์ได้ ดังนี้

การรับชำระเงินออนไลน์ยังไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ในการขับเคลื่อนการเติบโตของรายได้

ธุรกิจเกือบสองในสามเห็นพ้องตรงกันว่าการรับชำระเงินออนไลน์ได้สร้างวิธีใหม่ๆ ในการหารายได้ และ 71% ยอมรับว่าความคาดหวังของลูกค้าที่มีต่อประสบการณ์การชำระเงินที่ราบรื่นนั้นเพิ่มสูงขึ้น ด้วยเหตุนี้ธุรกิจจำนวนมากจึงให้ความสำคัญกับเครื่องมือรับชำระเงินที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มยอดขาย

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอื่นๆ จำนวนมากกำลังเสียโอกาสโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเทคโนโลยีการรับชำระเงินอย่างเต็มที่ ผลการวิจัยของ Stripe ก่อนนี้ เปิดเผยว่าลูกค้า 3 ใน 4 มีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าเมื่อมีการให้บริการชำระเงินด้วยคลิกเดียว ขณะเดียวกันตามรายงานข้อมูลเชิงลึกปี 2566 พบว่า ครึ่งหนึ่งของธุรกิจทั้งหมดกล่าวว่าพวกเขายังไม่ได้ศึกษาการชำระเงินออนไลน์เพื่อเพิ่มยอดขายอย่างเต็มที่

ถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจไทยต้องหาวิธีขยายโอกาส

ธุรกิจกว่า 60% กำลังใช้ประโยชน์จากการชะลอตัวในปัจจุบันเพื่อทดลองวิธีใหม่ๆ ในการเพิ่มรายได้ทางออนไลน์ หลายคนกำลังใช้เครื่องมือที่เปิดแหล่งรายได้ใหม่โดยไม่ต้องลงทุนล่วงหน้าที่มีนัยสำคัญ รูปแบบกระแสรายได้ใหม่บางรูปแบบที่ธุรกิจต่างๆ ติดตาม ได้แก่ การเปิดใช้งานโปรแกรมสมาชิก (loyalty program)ประสบการณ์การขายที่เชื่อมโยงช่องทางการขายทั้งหมดไว้ที่เดียว (unified commerce experience) และระบบรับการจ่ายเงินแบบตามรอบ (subscription) เพื่อให้ธุรกิจได้รับรายได้ประจำ ตัวอย่างเช่นความร่วมมือล่าสุดระหว่างStripe และ ซาร่า (Zara) แบรนด์แฟชั่นชื่อดังที่เปิดให้บริการแพลตฟอร์ม Zara Pre-Owned สำหรับซื้อ-ขายเสื้อผ้ามือสองระหว่างลูกค้าด้วยกันโดยใช้ Stripe Connect ซึ่งเป็นโซลูชันการชำระเงินสำหรับแพลตฟอร์มและมาร์เก็ตเพลส แสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมในการเพิ่มรายได้ โดยให้ความสำคัญกับความยั่งยืน

หลายธุรกิจมุ่งที่จะลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน แต่ไม่ลดการลงทุนไปกับสินทรัพย์ถาวรของบริษัท นั่นเพราะต้องการที่จะรักษาแผนสำหรับการเติบโตเอาไว้

2 ใน 3 ของธุรกิจกล่าวว่า พวกเขามีวิธีรับมือกับภาวะเงินเฟ้อโดยการใช้วิธีการลดต้นทุนลง ในขณะที่ธุรกิจต่างๆ กำลังเลือกว่าจะตัดค่าใช้จ่ายส่วนไหน น้อยกว่า 20% ของผู้ตอบแบบสำรวจมีแผนจะลดการใช้จ่ายในส่วนของผลิตภัณฑ์หรือบริการหลัก และมีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่ให้ความสำคัญกับการลดอัตราการจ้างงาน ยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลยังแสดงให้เห็นว่าธุรกิจกำลังลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลง โดย 51% กำลังให้ความสำคัญกับการเจรจาต่อรองกับคู่ค้าเพื่อให้ได้ราคาที่ดีที่สุด และ 70% มีผู้ตอบแบบสอบถามกำลังวางแผนที่จะลดจำนวนบริษัทผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ที่พวกเขาใช้ลง

หลายคนมองว่าการตัดสินใจดังกล่าวเป็นการเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์ และเมื่อบริษัทเหล่านั้นถูกขอให้ระบุเหตุผลว่าอะไรคือปัจจัยหลักที่ทำพวกเขาให้ตัดสินใจรวมผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ลง พวกเขาอาจจะหยิบยกประเด็นเรื่องการเข้าถึงข้อมูลที่รวดเร็วขึ้นมาเป็นเหตุผลหลัก เช่นเดียวกันกับที่พวกเขาให้เหตุผลว่าต้องการลดต้นทุนของบริษัทลง

โจนาธาน กาน (Jonathan Gan) หัวหน้างานฝ่ายบัญชีรายรับของ Slack กล่าวว่า “ทีมของผมต้องทำธุรกรรมการเงินหลายล้านรายการซึ่งเกี่ยวโยงกับการชำระเงินด้วยบัตร การโอนเงินผ่านธนาคาร ใบแจ้งหนี้ และอื่นๆ" พร้อมทั้งเพิ่มเติมอีกว่า “แต่ด้วยเครื่องมือต่างๆ เช่น เครื่องมือของ Stripe เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก ทำให้เรา

ประหยัดเวลาในส่วนนี้ เพื่อมีเวลามากขึ้นในการวางกลยุทธ์ และมองภาพรวมของธุรกิจ เราจึงสามารถดำเนินงานแบบอัตโนมัติและเร่งทำรายงานทางการเงินที่ Slack ได้สะดวกรวดเร็วขึ้น” สามารถดูรายงานข้อมูลเชิงลึกของ Stripe ปี 2566 ทั้งหมดได้ที่ https://stripe.com/lp/stripe-insights-2023

Page 1 of 4
X

Right Click

No right click