December 24, 2024

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานงาน MEA มอบของขวัญปีใหม่ ถนนสวยไร้เสาสายจรัญสนิทวงศ์” พร้อมด้วย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายขจร ศรีชวโนทัย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานกรรมการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง นายเชษฐา โมสิกรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการส่วนสิทธิแห่งทาง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ร่วมด้วยผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และคณะกรรมการ MEA โดยมี นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA กล่าวรายงานผลความสำเร็จในโอกาสมอบของขวัญปีใหม่ 2568 ด้วยโครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินให้กับประชาชน ณ ลานแขกแพ Meeting Mall บางอ้อ สเตชัน ถนนจรัญสนิทวงศ์

 

รองนายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล เปิดเผยว่า โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญ 10 ด้านของกระทรวงมหาดไทย โดยมุ่งเน้นการอำนวยความสะดวก และดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน ซึ่งโครงการนี้ไม่เพียงช่วยเพิ่มความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเท่านั้น แต่ยังช่วยปรับปรุงทัศนียภาพของเมืองให้สวยงามและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย สำหรับโครงการที่ดำเนินการในครั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บนถนนจรัญสนิทวงศ์ รวมระยะทางทั้งสิ้น 11.4 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในมิถุนายน 2568 นี้ โดยพื้นที่ที่ดำเนินการเสร็จล้วนเป็นพื้นที่สำคัญของเมือง ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความสวยงามของภูมิทัศน์เมืองให้ดียิ่งขึ้น

 

สำหรับพื้นที่ถนนจรัญสนิทวงศ์ MEA ได้ดำเนินการรื้อถอนเสาไฟฟ้า พร้อมจัดระเบียบสายสื่อสารเพิ่มเติม ตั้งแต่ซอยจรัญสนิทวงศ์ 94/1 ถึงซอยจรัญสนิทวงศ์ 44 และช่วงแยกท่าพระถึงแยกไฟฉาย เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และเสริมสร้างภูมิทัศน์ให้สวยงามยิ่งขึ้น โดยพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ ความสำเร็จของโครงการนี้จะสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศโดยรวม ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และสามารถต่อยอดสู่การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคอื่น ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในอนาคต

 

ผู้ว่าการ MEA กล่าวเสริมถึงแผนงานภาพรวมโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินว่า ปัจจุบันมีแผนดำเนินการรวมทั้งสิ้น 313.5 กิโลเมตร โดยมีเป้าหมายแล้วเสร็จภายในปี 2572 ซึ่งในขณะนี้ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว 73.4 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่สำคัญหลายแห่ง ขณะที่อีก 240.1 กิโลเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น โครงการพระราม 3 โครงการรัชดาภิเษก และโครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ โดยคาดว่าภายในสิ้นปี 2567 จะมีระยะทางที่ก่อสร้างแล้วเสร็จเพิ่มขึ้นอีก 16.6 กิโลเมตร ทำให้ระยะทางรวมของสายไฟฟ้าใต้ดินสะสมเป็น 90 กิโลเมตร

ในส่วนของแผนการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน MEA และหน่วยงานภาคี ได้ดำเนินการไปแล้วรวม 32 เส้นทาง ระยะทางกว่า 68 กิโลเมตร ครอบคลุมถนนสายสำคัญ เช่น ถนนสุทธิสารวินิจฉัย ถนนอโศกมนตรี ถนนศรีอยุธยา ถนนพระราม 4 ถนนบรรทัดทอง และถนนจรัญสนิทวงศ์ นอกจากนี้ ยังมีการบูรณาการกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า จำนวน 183 เส้นทาง รวมระยะทางกว่า 570 กิโลเมตร เฉลี่ยดำเนินงานเดือนละ 45 กิโลเมตร และในปี 2568 ยังมีเป้าหมายจัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้ารวมระยะทาง 800 กิโลเมตร ซึ่งในส่วนนี้ MEA ได้สนับสนุนการติดตั้งคอนสายสื่อสาร เพื่อใช้สำหรับการยึดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย

 

สำหรับพื้นที่ที่ยังไม่มีการดำเนินโครงการสายไฟฟ้า และสายสื่อสารใต้ดิน จะมีการจัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า โดย MEA ช่วยสนับสนุนการติดตั้งอุปกรณ์คอนสายสื่อสารในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ตามแผนการจัดระเบียบ สายสื่อสารปี 2566 – 2567 ของ MEA และสำนักงาน กสทช. ที่มีระยะทางรวม 1,360 กิโลเมตร โดยความสำเร็จเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือของทุกหน่วยงาน

อย่างไรก็ตาม MEA ยังได้ใช้เสาไฟฟ้าที่รื้อถอนมาดำเนินโครงการ MEA’s Model ในการปรับปรุงและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลน และทำแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ณ ป้อมพระจุลจอมเกล้า ฐานทัพเรือกรุงเทพ จ.สมุทรปราการ และชายฝั่งทะเลกรุงเทพฯ เขตบางขุนเทียน ช่วยเพิ่มการสะสมของตะกอนหลังแนวป้องกัน ส่งผลให้ต้นไม้ป่าชายเลน เช่น โกงกาง และพรรณไม้น้ำต่าง ๆ เติบโตหนาแน่นขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มแหล่งที่อยู่อาศัยให้กับสัตว์น้ำ และนกหลากหลายชนิด

 

ทั้งนี้ การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โครงการสายไฟฟ้าใต้ดินประสบความสำเร็จ MEA ได้ร่วมวางแผนกับกรุงเทพมหานคร และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการก่อสร้างและจำกัดผลกระทบด้านการจราจร โดยมุ่งดำเนินงานในช่วงวันหยุด พร้อมคงมาตรการความปลอดภัยตามมาตรฐานที่ MEA กำหนด นอกจากนี้ยังได้ประสานความร่วมมือกับ NT และ สำนักงาน กสทช. ในการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน โดยร่วมกับผู้ประกอบการสายสื่อสารดำเนินภารกิจดังกล่าว เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าและระบบโทรคมนาคม ตลอดจนสร้างทัศนียภาพที่สวยงาม

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานประธานในพิธี และเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง การบูรณาการเพื่อการคุ้มครองผู้ใช้พลังงานที่เป็นผู้ป่วย ซึ่งมีความจําเป็นที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล เพื่อวางกรอบความร่วมมือในการบูรณาการทำงานคุ้มครองสิทธิผู้ใช้พลังงานเชิงรุก ให้ผู้ใช้พลังงานที่มีผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแลได้รับการยกเว้นการงดจ่ายไฟฟ้าในทุกกรณี โดยมี นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจความร่วมมือดังกล่าว ณ ห้องประชุม 9 ชั้น 15 กระทรวงพลังงาน อาคาร บี ศูนย์เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์

 

ผู้ว่าการ MEA กล่าวว่า MEA ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบด้านระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ พร้อมตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาล ในการยกเว้นการงดจ่ายไฟฟ้าได้ในกรณีที่ผู้ใช้ไฟฟ้า หรือผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีบุคคลอยู่ในความดูแล หรือมีผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า ในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล ซึ่งนโยบายดังกล่าว MEA ดำเนินการตามประกาศของ สำนักงาน กกพ. มาอย่างต่อเนื่อง โดยการลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ถือเป็นก้าวที่สำคัญในการดูแลผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าเพื่อเดินเครื่องมือทางการแพทย์ โดยเปลี่ยนเป็นการทำงานเชิงรุกผ่านการบูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ MEA สามารถเข้าถึง และดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนดูแลระบบจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อให้กลุ่มผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์ได้รับพลังงานไฟฟ้าอย่างเพียงพอ และต่อเนื่อง ไม่เป็นอันตรายต่อต่อสุขภาพผู้ป่วย

นอกจากนี้ การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานดังกล่าว ยังครอบคลุมถึงการร่วมกันพัฒนาฐานข้อมูล หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้ใช้พลังงานที่เป็นผู้ป่วย ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานในแต่ละหน่วยงานสามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยสะดวก เป็นปัจจุบัน และสามารถนำไปใช้ตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานได้ ตลอดจนสนับสนุน เผยแพร่ข้อมูล และเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนผู้ใช้พลังงานที่หน่วยงานภาครัฐได้ให้ความคุ้มครอง เกี่ยวกับการได้รับสิทธิการยกเว้นการงดจ่ายไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้า หรือผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีบุคคลอยู่ในความดูแล หรือ มีผู้ป่วยที่ต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล มิให้ได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการงดจ่ายไฟฟ้า

 

อย่างไรก็ตาม การร่วมมือครั้งนี้ยังแสดงถึงความมุ่งมั่นของ MEA และหน่วยงานพันธมิตรในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน โดยมุ่งหวังให้การคุ้มครองผู้ใช้พลังงานที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้ป่วยที่ต้องพึ่งพาเครื่องมือทางการแพทย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นในระบบบริการด้านพลังงานที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ MEA พร้อมเดินหน้าทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อให้การจัดการด้านพลังงานเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และสร้างความมั่นคงให้แก่ประชาชนในทุกมิติ อันสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนในอนาคต

MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง เปิดตัวสถานีอัดประจุไฟฟ้า MEA EV ณ พื้นที่อาคารจอดรถ 3 ชั้น สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล โดยมี นายนพดล ดำวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจบริการและคุณภาพไฟฟ้า เป็นผู้แทน MEA และนายยุทธศักดิ์ ชื่นใจ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ เป็นผู้แทนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ร่วมทดลองการใช้งาน ณ สถานีอัดประจุไฟฟ้าดังกล่าว ทั้งนี้สถานีชาร์จแห่งใหม่นี้ถูกพัฒนาเพื่อรองรับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่ต้องการพลังงานสะอาด สอดรับกับวิถีชีวิตที่ยั่งยืนของคนกรุงเทพฯ

 

MEA มุ่งมั่นสนับสนุนนโยบายการพัฒนาพลังงานสะอาดของประเทศ พร้อมยกระดับการบริการด้านพลังงานไฟฟ้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ สอดคล้องกับพันธกิจขององค์กรที่มุ่งสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งนี้ MEA ได้ขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้า MEA EV ให้ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ตอบสนองการเดินทางของผู้ใช้งานรถไฟฟ้า MRT และผู้ขับขี่ยานยนต์ไฟฟ้าบริเวณใกล้เคียง โดย MEA ได้ติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าบริการครอบคลุมพื้นที่สถานีจอดรถในหลายจุดของโครงการรถไฟฟ้า ได้แก่

ลานจอดรถ สถานีสามย่าน (โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล)

อาคารจอดรถ สถานีคลองบางไผ่ (โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม)

อาคารจอดรถ สถานีแยก คปอ. (โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต)

อาคารจอดรถ สถานีสามแยกบางใหญ่ (โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม)

อาคารจอดรถ สถานีลาดพร้าว (โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล)

อาคารจอดรถ สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล)

อาคารจอดรถ สถานีบางรักน้อยท่าอิฐ (โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม)

 

ทั้งนี้ สถานีอัดประจุไฟฟ้า MEA EV ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวก และเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ใช้งาน EV ในการเข้าถึงจุดชาร์จที่สะดวกสบาย ปลอดภัย และรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม MEA ยังคงมุ่งมั่นขยายสถานีชาร์จ EV ให้ครอบคลุมพื้นที่สำคัญ ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ลดมลพิษในเขตเมือง พร้อมขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน และสังคมในอนาคต

นายชูเกียรติ ยั่งยืนบางชัน ผู้ช่วยผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง เป็นประธานพิธีเปิดงานแข่งขันทักษะช่างสายอากาศ และช่างสายใต้ดิน ประจำปี 2567 จัดโดยฝ่ายความปลอดภัย พร้อมคณะผู้บริหาร และพนักงาน MEA เข้าร่วมงาน แบ่งประเภทการแข่งขันเป็น การแข่งขันงานฮอทไลน์ การแข่งขันดับ/จ่ายไฟ การแข่งขันตรวจสอบสายใต้ดิน และการแข่งขันติดตั้งเครื่องวัดแรงกลาง ณ ศูนย์ฝึกอบรมและทดสอบทักษะการไฟฟ้านครหลวง (บางพลี) จ.สมุทรปราการ

ผู้ช่วยผู้ว่าการ MEA กล่าวว่า การแข่งขันทักษะช่างสายอากาศ และช่างสายใต้ดิน ประจำปี 2567 จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาคน (Smart People) การพัฒนาระบบงาน (Smart System) และการพัฒนาความสามารถทางดิจิทัล (Smart Digital) เพื่อยกระดับคุณภาพงานบริการและความปลอดภัย สร้างความพึงพอใจให้แก่ประชาชน

นอกจากนี้ MEA ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยในการปฏิบัติงานตลอดมา จึงได้กำหนดนโยบายด้านความปลอดภัยเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติงาน และจัดฝึกอบรม ฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง มีการทบทวนขั้นตอนการปฏิบัติงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะประสบการณ์ของการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างความสามัคคี การทำงานร่วมกันเป็นทีม มีความพร้อมในการให้บริการ อีกทั้งเพื่อฝึกฝนพัฒนาให้พนักงานภาคสนามให้มีความรู้ความสามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง ร่วมเสวนาแนวทางการสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานในเมืองหลวงแห่งอนาคต ในหัวข้อเรื่อง “MEA's Sustainable Actions for a Smarter, Sustainable Future” โดยมี คุณวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นักกิจกรรมรณรงค์และสื่อสารเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ร่วมเสวนาฯ ในเวทีระดับนานาชาติ Sustainability Expo 2024 พร้อมร่วมจัดแสดงนิทรรศการของ MEA การดำเนินการเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของการไฟฟ้านครหลวง ณ เวที SX Talk Stage ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

MEA ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่จำหน่ายดูแลระบบไฟฟ้าสังกัดกระทรวงมหาดไทย ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ MEA ได้ดำเนินกิจการด้วยความตระหนักต่อประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมตามแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก คือ ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social, Governance: ESG) ผ่านการดำเนินโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการ MEA GO (Green Organization) สร้างความตระหนักให้แก่พนักงานในการใส่ใจด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR) ผ่านกิจกรรม Zero waste  การนำขยะที่สามารถนำไปแปลงเป็นพลังงาน (Waste to energy) การจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Procurement) การจัดประชุมที่มีการคำนึงถึงการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (Green Meeting) การเปลี่ยนอุปกรณ์ประหยัดพลังงานที่ใช้ในอาคารของ MEA เพื่อให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ในด้านระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าของ MEA ยังคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาด้านสิ่งแวดล้อม จากการรื้อถอนอุปกรณ์ที่เสื่อมสภาพจำนวนมาก โดย MEA ได้ริเริ่มกระบวนการ upcycle ลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า (Insulators) ที่หมดอายุการใช้งาน ให้นำไปใช้งานในหลายรูปแบบ อาทิ การนำไปบดหยาบเพื่อทำวัสดุกันลื่นบนถนน (Anti-skid road ceramic particles) สำหรับลูกถ้วยที่บดละเอียด สามารถนำไปผลิตเป็นแผ่นรองดูดซึมน้ำประสิทธิภาพสูง ซึ่งได้นำมาทดสอบนำร่องการใช้งานภายในองค์กร ก่อนขยายพื้นที่การใช้งานไปยังเครือข่ายพันธมิตรและชุมชนอื่น ๆ ส่วนเสาไฟฟ้าที่ถูกรื้อถอนจากโครงการสายไฟฟ้าใต้ดิน ได้มาปักเป็นแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า และชายฝั่งย่านบางขุนเทียน รวมระยะทางกว่า 2,500 เมตร พร้อมสนับสนุนการดำเนินการปลูกป่าชายเลนและดูแลบำรุงรักษามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ปี 2547 – ปัจจุบัน จนสัมฤทธิ์ผลเกิดเป็นพื้นที่ป่าชายเลนหลังแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งกว่า 380 ไร่

สำหรับด้านระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า MEA เป็นรัฐวิสาหกิจหน่วยงานแรกที่นำรถยนต์ไฟฟ้า (EV)  มาใช้ในกิจการ และได้นำเทคโนโลยีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ในองค์กรกว่า 10 ปี มีการต่อยอดสร้างนวัตกรรม PLUG ME EV ระบบอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าที่เหมาะกับพื้นที่อาคารสำนักงาน หรืออาคารชุดที่ต้องการรองรับผู้ใช้งานรถ EV จำนวนมาก ช่วยลดต้นทุนกว่าร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับเครื่องอัดประจุไฟฟ้า AC ทั่วไปในท้องตลาด รวมถึงการจัดทำตราสัญลักษณ์รับรองมาตรฐานเครื่องอัดประจุไฟฟ้าที่มีความปลอดภัย และเที่ยงตรง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค หรือ Charge Sure by MEA รวมถึงดำเนินโครงการที่สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่การใช้พลังงานจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบัน MEA รับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จำนวน 13,735 ราย คิดเป็นกำลังผลิตกว่า 238 เมกะวัตต์ และมีการติดตั้งระบบ Solar Cell ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ รวมเป็นจำนวนกว่า 84 เมกะวัตต์ ทั้งหมดนี้ ช่วยส่งผลลดคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 190,000 tonCo2/ปี เพื่อมุ่งสู่การใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าสูงสุด MEA ยังมีโครงการที่มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชน ภายใต้โครงการ MEA Energy Mind Award ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 เพื่อปลูกฝังให้นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะกลุ่มบุคลากร และเยาวชนในสถานศึกษาต่าง ๆ สร้างเยาวชนรุ่นใหม่หัวใจสีเขียว (Green Youth) ส่งมอบสู่สังคมไทย

ในส่วนของผู้ประกอบการ โครงการ MEA Energy Award เป็นโครงการที่มอบรางวัลให้กับอาคารในประเภทต่าง ๆ ภายใต้แนวคิด “ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และคุณภาพอากาศได้มาตรฐาน” ซึ่งได้ดำเนินโครงการปีที่ 7 มีอาคาร ผ่านเกณฑ์ประเมินมาตรฐานอาคารประหยัดพลังงานของ MEA ไปแล้วทั้งสิ้น 313 แห่ง ช่วยให้เกิดผลประหยัด 46.33 ล้านหน่วยต่อปี คิดเป็นมูลค่า 180.93 ล้านบาทต่อปี ลดคาร์บอนไดออกไซด์ 26,589 tonCo2 ต่อปี ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการที่ MEA กำหนดเป้าหมาย Carbon Neutrality ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี พ.ศ. 2593 และ กำหนดเป้าหมาย Net Zero Emission การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี พ.ศ. 2608 ดำเนินการขับเคลื่อนจากภายในองค์กรขยายไปสู่ภายนอก และเดินหน้าผลักดันให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ตามนโยบายของรัฐบาลในอนาคตต่อไป

Page 1 of 4
X

Right Click

No right click