

กรุงเทพฯ 20 กุมภาพันธ์ 2568 – ทรู ดีแทค เตรียมวางจำหน่าย iPhone 16e รุ่นใหม่ที่มาพร้อมกับแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้นานอย่างน่าทึ่ง ทรงพลังด้วยประสิทธิภาพที่รวดเร็วจากชิป A18, Apple Intelligence¹ และระบบกล้องแบบทูอินวันความละเอียด 48MP ทั้งหมดนี้ในราคาที่คุ้มค่าเหลือเชื่อ ลูกค้าสามารถสั่งซื้อ iPhone 16e ล่วงหน้าได้ในวันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ และจะเริ่มวางจำหน่ายตั้งแต่วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ สามารถดูรายละเอียดราคาและการวางจำหน่ายได้ที่ https://true.th/devices/promotion/iphone-16e
1 Apple Intelligence พร้อมให้ใช้งานในภาษาอังกฤษสำหรับออสเตรเลีย แคนาดา ไอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ แอฟริกาใต้ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ส่วนภาษาอื่นๆ รวมถึงภาษาฝรั่งเศส, เยอรมัน, อิตาลี, โปรตุเกส (บราซิล), สเปน, ญี่ปุ่น, เกาหลี, จีน (ตัวย่อ), อังกฤษ (สิงคโปร์) และอังกฤษ (อินเดีย) จะพร้อมให้ใช้งานในเดือนเมษายน คุณสมบัติ แอปพลิเคชัน และบริการบางประเภทอาจใช้ไม่ได้ในบางภูมิภาคหรือบางภาษา
จากกรณีที่มีรายงานข่าวเกี่ยวกับการพบซิมเมียนมา ทรู และ ดีแทค ถูกทิ้งเป็นจำนวนมากในพื้นที่ตลาดอินโดจีน มุกดาหาร จนเกิดข้อสงสัยถึงสาเหตุของเรื่องดังกล่าวนั้น ทรู ขอชี้แจงว่า
-ทรูและดีแทคมีมาตรการควบคุมการลงทะเบียนซิมอย่างเข้มงวด โดยผู้ใช้ต้องผ่านการยืนยันตัวตนอย่างถูกต้อง หากพบว่ามีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามระเบียบ บริษัทจะทำการระงับการใช้งานของซิมทั้งหมดทันที ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดการทิ้งซิมในปริมาณมาก
-ทรูได้ดำเนินมาตรการ ปิดกั้นสัญญาณการใช้งานซิมทั้งหมดในพื้นที่ชายแดน ตามแนวทางของ สำนักงาน กสทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) เพื่อป้องกันการใช้งานที่ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดความไม่พอใจและมีการทิ้งซิมในปริมาณมาก
การที่ซิมของทรูและดีแทคมีภาษาเมียนมาบนแพ็กเกจและสื่อโฆษณา เป็นแนวทางทางการตลาดที่ทุกค่ายมือถือใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มลูกค้าหลากหลายเชื้อชาติที่อาศัยและทำงานในประเทศไทย โดยเฉพาะ ชาวเมียนมา ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ใช้งานหลักของตลาดแรงงานในประเทศ
ยืนยันว่า ทรูไม่มีนโยบายผลิตซิมเพื่อจำหน่ายในประเทศเมียนมา ตามที่มีการตั้งข้อสังเกต
ทรูขอยืนยันว่าบริษัทดำเนินธุรกิจตามกฎหมายและกฎระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด พร้อมให้ความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสังคม
ทรู คอร์ปอเรชั่น ร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล 850 MHz 1500 MHz 1800 MHz 2100 MHz 2300 MHz และ 26 GHz โดยสนับสนุนให้ กสทช. นำคลื่นความถี่มาจัดสรร เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการใช้งานคลื่นความถี่อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมทั้งเพื่อเสริมการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ ในบริบทของการเสริมสร้างโครงสร้างโทรคมนาคมที่แข็งแกร่ง ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สำคัญ ที่จะผลักดันให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในยุค 5G ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) กับนานาประเทศได้อย่างยั่งยืน
นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ปัจจุบันประเทศไทยถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นอันดับต้น ๆ ของเอเชียแปซิฟิค การประมูลที่กำลังจะจัดขึ้น จึงมีความสำคัญในการส่งเสริมความต่อเนื่องในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศ อย่างไรก็ตาม ร่างประกาศหลักเกณฑ์การประมูล ที่ กสทช. นำมารับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ บริษัทฯ เห็นว่ามีประเด็นที่ควรปรับปรุงเพื่อมุ่งส่งเสริมให้กระบวนการจัดสรรคลื่นความถี่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การจัดให้มีประมูลคลื่นความถี่ทุกย่านพร้อมกัน เพื่อส่งเสริมการแข่งขันและสร้างความโปร่งใสจากการประมูล โดยเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประมูลสามารถประมูลคลื่นความถี่ได้ทุกย่านพร้อมกันและลดข้อจำกัดจากความไม่แน่นอนในขั้นตอนการประมูล นอกจากนี้ บริษัทฯ เห็นว่าราคาขั้นต่ำ หรือ Reserve Price ที่ระบุในร่างประกาศฯ แม้ว่าจะเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาขั้นต่ำในอดีตแต่ยังสูงกว่าราคาเฉลี่ยของคลื่นความถี่ในย่านเดียวกันในต่างประเทศมาก ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงให้ กสทช. ไม่สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ได้มากเท่าที่ควร และทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรโทรคมนาคมของชาติ ประกอบกับเงื่อนไขการชำระเงินที่ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ และปั่นทอนความสามารถในการลงทุนพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคม โดยกำหนดให้ต้องชำระค่าคลื่นความถี่ 50% ตั้งแต่งวดแรก (ก่อนรับใบอนุญาต) จึงเสนอให้แบ่งชำระค่าคลื่นความถี่เป็น 10 งวดเหมือนการประมูลครั้งที่ผ่านมา”
ทรู คอร์ปอเรชั่น ตระหนักว่าคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสำคัญและเป็นรากฐานในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ซึ่งจะเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันในระดับสากลให้กับประเทศ พร้อมกันนี้ยังได้นำเสนอข้อคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดหลักเกณฑ์การประมูล เพื่อให้การจัดสรรคลื่นความถี่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน