November 08, 2024

● ผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิก 49% ในขณะนี้เชื่อว่าประเทศของตนกำลังประสบปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยชาติที่วิตกมากที่สุดคืออินโดนีเซียที่ 60%

● กิจกรรมเชิงอนุรักษ์สร้างแรงกระเพื่อมในหมู่ผู้บริโภคของภูมิภาคนี้อย่างมาก กว่า 58% กล่าวว่ากิจกรรมเชิงอนุรักษ์กระตุ้นให้พวกเขาตระหนักรู้ถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 46%

● มลภาวะพลาสติกหลุดจาก 3 อันดับแรก ของรายการปัญหาที่น่าวิตกเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในหมู่ผู้บริโภคทั่วโลก

ข้อมูลงานวิจัยใหม่จาก Mintel’s annual Global Outlook on Sustainability* ชี้วิกฤติการณ์ขาดแคลนน้ำเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ผู้บริโภครู้สึกวิตกเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

จำนวนผู้บริโภคทั่วโลกที่จัดอันดับให้วิกฤติการณ์ขาดแคลนน้ำติด 3 อันดับแรกของปัญหาสิ่งแวดล้อม เพิ่มขึ้นจาก 31% ในปี 2022 เป็น 35% ในปี 2023 ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ผู้คนหันมาวิตกเพิ่มขึ้นถึง 13% และนับเป็นความกังวลที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ในปีที่ผ่านมา โดยในปี 2021 มีผู้บริโภคทั่วโลกไม่ถึง 3 ใน 10 (หรือ 27%) ที่วิตกเรื่องการขาดแคลนน้ำ

ความกลัวต่อการขาดแคลนน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มลภาวะพลาสติกหลุดจากความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม 3 อันดับแรก โดยความกังวลต่อปัญหามลภาวะพลาสติก (เช่น ขยะพลาสติกในมหาสมุทร) ลดลงจาก 36% ในปี 2021 มาเป็น 32% ในปี 2023

สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จีน (37%), เกาหลีใต้ (34%), และอินโดนีเซีย (32%) เป็นประเทศที่แสดงความวิตกสูงสุดในเรื่องการขาดแคลนน้ำ ในขณะเดียวกัน ความวิตกเรื่องการขาดแคลนอาหารจากภัยแล้งหรือผลผลิตตกต่ำยังมีอัตราสูงอย่างมีนัยสำคัญทั้งในญี่ปุ่นและออสเตรเลีย (28%) สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 25%

แม้ความวิตกต่อการขาดแคลนน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงเป็นปัญหาที่ผู้คนทั่วโลกกังวลมากที่สุด โดยไทยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับทั่วโลกอยู่ที่ 47% ในปี 2023 ส่วนอินเดียมีความวิตกในอัตราที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในภูมิภาคจาก 31% ในปี 2021 เป็น 44% ในปี 2023

ผู้บริโภคทั่วโลกมากกว่าครึ่ง (51%) เชื่อว่าประเทศของตนกำลังเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยเพิ่มขึ้นจาก 44% ในปี 2021 โดยชาวอินโดนีเซียคิดว่าประเทศของตนกำลังประสบปัญหามากที่สุด (60%) ในขณะที่คนญี่ปุ่นมีความวิตกลดลงจาก 44% ในปี 2022 มาเป็น 40% ในปี 2023

 

ริชาร์ด โคป ที่ปรึกษาอาวุโสด้านเทรนด์โลก แห่ง Mintel Consulting กล่าวว่า “การให้ความสำคัญกับการขาดแคลนน้ำเป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อม 3 อันดับแรกสำหรับผู้บริโภค สะท้อนให้เห็นว่าความตึงเครียดเรื่องน้ำกำลังเกิดขึ้นจริงทั่วโลก การที่ปัญหาการขาดแคลนน้ำไต่จากอันดับ 5 ขึ้นมาที่ 3 ในรายการปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นตัวบ่งชี้ว่าผลกระทบนั้นเกิดขึ้นโดยตรงกับผู้คนจริง ๆ

ซึ่งตรงกันข้ามกับปัญหาอื่น ๆ ที่เราได้รับฟังข่าวสารเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก สิ่งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ที่ความวิตกด้านสิ่งแวดล้อมได้กลายเป็นประเด็นเร่งด่วนเพื่อการเอาชีวิตรอดของมนุษย์ อย่างการขาดแคลนน้ำและอาหาร และเกิดเป็นแรงปรารถนาที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรเพื่อการฟื้นฟูโลกในอนาคต ในขณะที่มลภาวะพลาสติกยังคงเป็นข้อกังวลหลัก แต่ผู้บริโภคก็เริ่มกังวลเรื่องนี้น้อยลง เนื่องจากพวกเขาให้ความสำคัญกับการขาดแคลนทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับตนเองมากกว่า ทั้งยังได้รับทราบว่ายังมีปัญหาอื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิดการปล่อยมลพิษมากกว่าอีกด้วย”

กิจกรรมเชิงอนุรักษ์สร้างแรงกระเพื่อมในหมู่ผู้บริโภคของภูมิภาค

อีกหนึ่งหัวข้อที่มีการโต้เถียงกันบ่อยครั้ง โดยงานวิจัยของมินเทลได้สำรวจถึงผลกระทบของกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ พบว่า 46% ของผู้บริโภคทั่วโลก** ยอมรับว่านักเคลื่อนไหวเชิงอนุรักษ์สามารถสร้างความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมของพวกเขาได้มากขึ้น กิจกรรมโลกร้อนเพื่อสร้างการตระหนักรู้ ส่งผลกระทบที่แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค โดยประเทศที่รายงานผลกระทบสูงสุดคืออินโดนีเซีย (80%) ไทย (74%) และอินเดีย (69%) และในขณะที่ผู้บริโภคจำนวนมากให้ความสำคัญแก่กลุ่มนักเคลื่อนไหว ชาวออสเตรเลียเกือบครึ่ง (48%) ระบุว่านักเคลื่อนไหวเชิงอนุรักษ์ที่สร้างความปั่นป่วน (เช่น ปิดกั้นการจราจร) ควรถูกลงโทษโดยหน่วยงานรัฐบาล

“แน่นอนว่านักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมสามารถสร้างผลกระทบได้จริง และได้รับการมองว่าเป็นนักประท้วงที่ถูกต้องตามกฎหมายในหลายประเทศ โดยการวิจัยของเราชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่านักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมได้รับการต้อนรับในหลายประเทศในฐานะผู้ให้การศึกษาแก่ผู้คน โดยเฉพาะประเทศในเอเชียแปซิฟิกและละตินอเมริกา นักเคลื่อนไหวยังกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการฟอกเขียวธุรกิจแบรนด์ต่าง ๆ ในขณะที่นักเคลื่อนไหวพยายามให้ความรู้ด้านพลังงาน การจัดหาทรัพยากร และสัดส่วนการปล่อยมลพิษ เหล่าผู้บริโภคก็เริ่มหันมาพิจารณากลั่นกรองข้อมูลของผลกระทบที่เคยได้รับมาอย่างรอบด้านมากขึ้นด้วย” ริชาร์ด โคป กล่าวเสริม

ผู้บริโภคไม่เชื่อว่าการชดเชยคาร์บอนเป็นการแก้ไขปัญหาที่แท้จริง

ในขณะเดียวกัน เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคและของบริษัทต่าง ๆ ก็เริ่มไม่สัมพันธ์กัน โดยผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกเกือบสองในสาม (65%) ต้องการให้บริษัทต่าง ๆ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของตนเอง

แทนที่จะพึ่งพาโปรแกรมชดเชยคาร์บอนที่อยู่นอกเหนือจากธุรกิจของตนเอง นอกจากนี้ ผู้บริโภคจำนวนมากในออสเตรเลียและเกาหลีใต้ (41% และ 37% ตามลำดับ) รู้สึกไม่เชื่อถือในความซื่อสัตย์ของบริษัทต่าง ๆ ในเรื่องข้อมูลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

เมื่อถามบรรดาผู้บริโภคถึงสิ่งที่จะกระตุ้นให้พวกเขาพิจารณาซื้อผลิตภัณฑ์ที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผู้บริโภคทั่วโลกราว 41% ระบุว่าพวกเขามองหาคะแนนที่บ่งชี้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพียงใด (เช่น รหัสสี หรือคะแนน 1-5) ซึ่งทำให้เห็นว่าระบบการติดฉลากรหัสสีแบบ Nutriscore

ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้บริโภคในเรื่องนี้

“การวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่า เมื่อพิจารณาในระดับโลก ผู้บริโภคไม่ต้องการให้แบรนด์ต่าง ๆ ใช้วิธีการชดเชยคาร์บอน แม้โครงการป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าจะถือเป็นเกณฑ์พื้นฐานของโครงการคาร์บอนเครดิตที่บริษัทส่วนใหญ่ใช้ในการยืนยันความเป็นกลางทางคาร์บอนของธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์ของตน แต่รายงานข่าวของสื่อมวลชนที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาในการตรวจสอบความถูกต้องของโครงการเหล่านี้ ทำให้สาธารณชนเรียกร้องให้บริษัทต่าง ๆ ลงมือทำและลงทุนเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนโดยตรงด้วยตนเอง

“สืบเนื่องจากความสำเร็จของระบบสีสัญญาณไฟจราจรเพื่อบ่งชี้ข้อมูลโภชนาการของอุตสาหกรรมอาหาร ทำให้ผู้บริโภคเรียกร้องให้แบรนด์ต่าง ๆ หันมาใช้ระบบที่คล้ายคลึงกัน เพื่อสร้างความเข้าใจถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาคิดจะซื้อได้อย่างง่ายดาย และช่วยให้พวกเขาสามารถตัดสินใจเลือกซื้อได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น” ริชาร์ด โคป กล่าว

ผู้บริโภคเรียกร้องรัฐบาลสร้างแรงจูงใจในเรื่องนี้

ผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกราว 4 ใน 10 (44%) ยอมรับว่าประเทศที่พวกเขาอาศัยอยู่มีแรงจูงใจทางการเงินมากพอในการติดตั้งนวัตกรรมด้านพลังงานใหม่ ๆ ในบ้านของตน (เช่น เงินอุดหนุนเพื่อติดตั้งปั๊มความร้อน ฉนวน หรือแผงโซลาร์เซลล์) เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 34% โดยผู้บริโภคในภูมิภาคนี้ ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน (46%) ยังเชื่อว่าประเทศของตนเสนอสิ่งจูงใจทางการเงินมากพอในการเช่า/ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า (เช่น เงินอุดหนุนสำหรับการซื้อรถยนต์/วงเงินกู้ การติดตั้งเครื่องชาร์จที่บ้าน) โดยจีนและอินเดียถือเป็นผู้นำในเรื่องนี้ที่ 61% ซึ่งมีสัดส่วนสูงกว่าตลาดอื่น ๆ ทั้งหมดในงานวิจัยของมินเทล

“แม้ผู้บริโภคจำนวนมากยังสนับสนุนกฎระเบียบและข้อห้ามของรัฐบาล แต่ส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่ารัฐบาลไม่ได้ทุ่มเทในการจูงใจให้เกิดพฤติกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมมากพอ โดยเฉพาะในเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานสะอาดและการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น” ริชาร์ด โคป กล่าวสรุป

ข้อมูลสำหรับบรรณาธิการ

*ข้อมูลลำดับความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม พฤติกรรมการซื้อ การมีส่วนร่วม และระดับความเข้าใจในเรื่องความยั่งยืนของผู้บริโภคใน 16 ประเทศทั่วโลก โดยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไทย

**ไม่รวมประเทศจีน

การศึกษา Global Outlook on Sustainability: A Consumer Study ประจำปี 2023 ของมินเทล อธิบายถึงลำดับความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม พฤติกรรมการซื้อ การมีส่วนร่วม และระดับความเข้าใจในเรื่องความยั่งยืนของผู้บริโภคใน 16 ประเทศ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลการวิจัยและแนวทางที่มินเทลสามารถช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพที่นี่ สามารถขอเอกสารงานวิจัยและบทสัมภาษณ์เพิ่มเติมของริชาร์ด โคป ได้ที่ Mintel Press Office

(กรุงเทพฯ ประเทศไทย) กุมภาพันธ์ 2566 – งานวิจัยฉบับใหม่* จากมินเทล ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลตลาดระดับโลก ชี้ว่าการใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนทำให้คน Gen Z** ให้ความสำคัญกับอนาคต หาความรู้ทางการเงินมากขึ้น และตัดสินใจอย่างชาญฉลาดขึ้นในการจับจ่ายใช้สอย

หลังจากต้องประสบกับเหตุการระบาดใหญ่โควิด-19 ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เงินเฟ้อสูง สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไป ผู้บริโภคชาวไทยที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี มีความอยากใช้เงินลดลง โดยประมาณ 3 ใน 4 คน (75%) เลือกที่จะเก็บออมเพื่ออนาคตมากกว่าการใช้เงินไปกับการซื้อสิ่งของต่าง ๆ

ปัจจุบันคนรุ่นใหม่คิดก่อนจ่ายเสมอ โดยคนรุ่นใหม่ประมาณ 4 ใน 5 คน (86%) อ่านรีวิวสินค้าก่อนซื้อ พวกเขายังยินดีมากขึ้นที่จะจ่ายเงินไปกับผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ (53%) ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองที่น่าเชื่อถือ (39%) และผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (36%)

แม้ว่าคน Gen Z ประมาณ 2 ใน 3 คน (60%) มีความพึงพอใจกับชีวิตของพวกเขาในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา (จนถึงเดือนมิถุนายน 2565) งานวิจัยจากมินเทลชี้ว่า ผู้บริโภครุ่นใหม่รู้สึกเครียดและโดดเดี่ยว พวกเขาให้ความสำคัญกับสุขภาพองค์รวมและความเป็นอยู่ที่ดีในการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการ

คน Gen Z มองหาทางออกด้านสุขภาพที่มีคุณภาพและเข้าถึงได้ง่าย แต่มากกว่า 2 ใน 3 คน (38%) จะตัดสินใจซื้อสินค้านั้นๆ ก็ต่อเมื่อพวกเขาสามารถตรวจสอบได้ว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นเป็นของแท้และน่าเชื่อถือ โดยการกระทำนี้เห็นได้ชัดในการจับจ่ายไปกับผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งคน Gen Z ใช้เงินกับผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มากที่สุด (65%)

แม้ว่าคน Gen Z จะพบเจอความท้าทายมากมาย ความมุ่งมั่นของพวกเขาที่มีต่อความยั่งยืนและประโยชน์ต่อสังคมยังคงไม่เปลี่ยนแปลง และพวกเขายังคาดหวังที่จะเห็นคุณค่าของตนเองสะท้อนออกมาจากแบรนด์ที่พวกเขาเลือก คน Gen Z จำนวนมากกว่า 3 ใน 4 คน (76%) ในประเทศไทย กล่าวว่าพวกเขาใช้ความพยายามมากกว่าเดิมในชีวิตประจำวันเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และประมาณ 25% คิดว่าการจ่ายเงินเพิ่มขึ้นให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืนนั้นเป็นสิ่งที่คุ้มค่า

ช่องทางออนไลน์ยังคงเป็นช่องทางที่ผู้บริโภครุ่นใหม่ในประเทศไทยใช้งานบ่อยที่สุด โดยมากกว่า 3 ใน 5 คน (65%) ระบุว่าพวกเขาอยากซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์มากกว่าออฟไลน์ และจำนวนใกล้เคียงกัน (64%) ระบุว่าพวกเขาเลื่อนดูสิ่งต่าง ๆ บนโซเชียลมีเดียเพื่อการผ่อนคลาย

ดร. วิลาสิณี ศิริบูรณ์พิพัฒนา (ไข่มุก) นักวิเคราะห์ไลฟ์สไตล์อาวุโส มินเทล รีพอร์ทส์ ประเทศไทย กล่าวว่า “ผู้บริโภคอายุ 18-25 ปี มีจำนวนประมาณ 1 ใน 5 ของผู้บริโภคในประเทศไทยทั้งหมด พวกเขาเป็นตัวแทนของอนาคต แบรนด์จำเป็นต้องทำความเข้าใจถึงวิธีการที่จะเข้าหาผู้บริโภคกลุ่มนี้และสร้างความภักดีต่อแบรนด์ตั้งแต่เนิ่น

“แต่แบรนด์จะพบกับความท้าทายเช่นกัน แม้ผู้บริโภค Gen Z ส่วนใหญ่ต้องการใช้เงินมากกว่าการเก็บออม แต่หลายคนก็ยังต้องพึ่งพาผู้ปกครองในด้านการเงินอยู่ และพวกเขาอาจไม่มีอิสระในการเลือกจับจ่ายใช้สอย

“แบรนด์สามารถเชื่อมต่อกับคน Gen Z ได้อย่างสำเร็จและมีประสิทธิภาพโดยการใช้ช่องทางดิจิทัล โดยการเสนอข้อมูลอย่างแท้จริง โปร่งใส และสนับสนุนในสิ่งที่ผู้บริโภค Gen Z ให้ความสนใจมากที่สุด แบรนด์สามารถใช้โอกาสนี้เพื่อช่วยลดความกังวลในการใช้เงิน โดยเพิ่มคุณค่าให้กับการใช้จ่ายของผู้บริโภครุ่นใหม่ และช่วยให้พวกเขาสามารถเก็บออมได้ดีมากขึ้นสำหรับอนาคต”

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทรนด์การตลาดของผู้บริโภค Gen Z และบทสัมภาษณ์นักวิเคราะห์ สามารถส่งคำขอได้ที่ Mintel Press Office

มินเทล ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยความต้องการของผู้บริโภคและปัจจัยขับเคลื่อน ได้เผยแพร่รายงานภาพรวมตลาดความงามและการดูแลร่างกายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยครอบคลุมถึงแนวโน้มผู้บริโภคและการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมความงามในภูมิภาคในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา รวมถึงช่วงก่อนหน้านั้นอีกด้วย

ผู้บริโภคในปัจจุบันให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น และนี่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญให้ผู้บริโภคหันมาใช้แนวทางเชิงรุกในการดูแลความเป็นอยู่ที่ดีของตนเองในช่วงที่ผลกระทบของการระบาดใหญ่ยังคงอยู่ ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคได้ตระหนักว่าสุขภาพที่ดีจะเป็นไปไม่ได้เลยหากเราอยู่ในโลกที่ถูกทำร้าย

คุณ Chiara Zen ผู้อำนวยการข้อมูลเชิงลึก แผนกความงาม ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย และของใช้ในบ้านของมินเทลประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กล่าวถึงผลกระทบของการผสมผสานกันอย่างรวดเร็วของความงาม สุขภาพ และความยั่งยืน ที่แบรนด์ต่าง ๆ พบเจอ ผ่านการวิจัยและการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกโดยผู้เชี่ยวชาญของมินเทลในประเทศจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศไทยใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ไร้น้ำ

“ผู้คนกำลังเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น เนื่องจากพวกเขาตระหนักว่าสภาพแวดล้อมนั้นส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ รูปแบบผลิตภัณฑ์ไร้น้ำ (waterless format) มอบโอกาสให้แบรนด์นำเสนอตัวเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า แต่แบรนด์ยังจำเป็นต้องสร้างความสมดุลระหว่างคุณสมบัติการดูแลผิวกาย (เช่น ความเข้มข้นของส่วนผสมออกฤทธิ์ดูแลผิว) และความปลอดภัย (เช่น การไม่ใช้วัตถุกันเสีย) โดยพยายามมอบประสบการณ์อันน่าพึงพอใจให้ได้มากที่สุด"

ปรับปรุงระบบนิเวศผิวกายและการทำงานตามธรรมชาติ

ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าได้พยายามตอบโจทย์ความกังวลของผู้บริโภคต่อสิ่งกระตุ้นภายนอกเช่นมลพิษ และได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีสรรพคุณ ‘ช่วยต้าน’ มลพิษได้มาเป็นเวลาหลายปี และในช่วงที่ผ่านมา แบรนด์มีการนำเสนอคุณสมบัติอื่น ๆ ที่มุ่งสนับสนุนเกราะป้องกันของผิวมากขึ้น

ข้อมูลแนวโน้มด้านความอยู่ดีมีสุขของมินเทลพบว่าผู้บริโภคมองว่าร่างกายของตัวเองเป็นระบบนิเวศ และเสาะหาผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยปรับปรุงสุขภาพของพวกเขา

เราเห็นการเพิ่มขึ้นของนวัตกรรมที่มอบวิธีการในการช่วยให้ผิวทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด หรือเปลี่ยนจากการ ‘ช่วยต้าน’ เป็นการปรับปรุงเกราะป้องกันของผิว

ส่วนประกอบเช่นโปรไบโอติกหรือพรีไบโอติกกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น ข้อมูลจากฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ออกใหม่ของมินเทลพบว่าการนำเสนอการบำรุงไมโครไบโอมหรือระบบนิเวศของผิวนั้นยังคงเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม โดยมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าทั้งหมดที่เปิดตัวระหว่างเดือนมกราคม 2561 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2565 แต่สัดส่วนนี้ก็กำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โอกาสสำคัญในการเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับไมโครไบโอมจะอยู่ที่การบำรุงและปรับสมดุลเกราะป้องกันของผิวและช่วยแก้ปัญหาผิวทั่วไปเช่นสิวเสี้ยน ผสมฟังก์ชันในผลิตภัณฑ์ความงาม กลายเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้บริโภคเชื่อในคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ และเราสามารถใช้แนวคิดนี้ในการทำให้ผู้บริโภคคุ้นเคยกับแบคทีเรียดี แบคทีเรียเลว และความสำคัญของสมดุลไมโครไบโอมบนผิวซึ่งเป็นพื้นฐานของผิวไร้สิว

พัฒนาส่วนผสมเพื่อประสิทธิภาพและความยั่งยืน

เทรนด์ความงามและผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย “สรรค์สร้างธรรมชาติ” ของมินเทล ชี้ให้เห็นถึงแนวคิดเกี่ยวกับส่วนผสมความงามจากธรรมชาติที่ครอบคลุมถึงการพัฒนาเทคโนโลยี ในโลกอนาคตที่มีทรัพยากรธรรมชาติน้อยลง สภาพอากาศที่คาดเดาไม่ได้ มลพิษและยาฆ่าแมลงที่เพิ่มขึ้น วิศวกรรมห้องปฏิบัติการจะเป็นตัวเลือกสำคัญในการจัดหาส่วนประกอบที่ยั่งยืน ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ตัวอย่างที่จัดการกับปัญหาสำคัญในเอเชีย-แปซิฟิกนั้นมาจาก C16 Biosciences พวกเขาได้พัฒนาเทคโนโลยีการหมักชีวภาพเพื่อเสนอทางเลือกของน้ำมันปาล์มที่ผลิตขึ้นในห้องแล็บ ซึ่งเป็นตัวเลือกที่มีความยั่งยืน ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการผลิตน้ำมันปาล์ม และช่วยปกป้องผืนดินธรรมชาติ สัตว์ป่า และทรัพยากรอันล้ำค่าในเวลาเดียวกัน

มินเทลเผยรายงานภาพรวมตลาดอาหารและเครื่องดื่มในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

มินเทล ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยความต้องการของผู้บริโภคและปัจจัยขับเคลื่อน ได้เผยแพร่รายงานภาพรวมตลาดอาหารและเครื่องดื่มในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ให้ความสำคัญกับปัจจัย 3 ประการ ได้แก่ เงินเฟ้อและความคุ้มค่า สุขภาพกายและสุขภาพจิต และ ประสบการณ์รสสัมผัสยุคใหม่ ผ่านการสำรวจแนวโน้มผู้บริโภคและการเปลี่ยนแปลงของตลาดอาหารและเครื่องดื่มในภูมิภาคในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา

คุณ โจลีน อึ้ง นักวิเคราะห์อาวุโสด้านอาหารและเครื่องดื่มทั่วโลกของมินเทล กล่าวถึงกลยุทธ์ที่แบรนด์ควรใช้เพื่อช่วยผู้บริโภคในเอเชีย-แปซิฟิกจัดการกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ความคุ้มค่ากลายเป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินใจจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ข้อแนะนำต่าง ๆ ในรายงานนี้มาจากการวิจัยและการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกโดยผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารระดับภูมิภาคของมินเทล

 

เงินเฟ้อและความคุ้มค่า

“ผู้บริโภคที่คำนึงถึงงบประมาณการใช้จ่ายจะเลือกเข้าร้านที่ถูกกว่าและเลิกซื้อสินค้าจากแบรนด์ประจำเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่ม สถานการณ์นี้เป็นทั้งความเสี่ยงต่อร้านค้าปลีกเพราะผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปเข้าร้านคู่แข่งที่มีความคุ้มค่ามากกว่า และยังเป็นทั้งโอกาสให้ร้านค้าปลีกจัดโปรโมชันราคาประหยัดเพื่อดึงดูดลูกค้า การจัดโปรโมชันสำหรับสินค้าจำเป็นที่เน่าเสียยากจะดึงดูดผู้บริโภคได้ดีเพราะพวกเขากำลังให้ความสนใจกับสินค้าแช่แข็งและสินค้าที่เก็บได้นาน

“นอกจากนี้ หมวดหมู่อาหารเพื่อความสุขจะมีความต้องการสูง ในช่วงการระบาดใหญ่ ผู้บริโภคได้หาความสุขให้ตัวเองผ่านความสะดวกสบาย แต่ในปัจจุบัน งบที่น้อยลงทำให้ผู้บริโภคหันไปหาความสุขจากสินค้าที่มีราคาถูกกว่าเดิม แบรนด์ค้าปลีกสามารถใช้โอกาสนี้ในการเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภคที่เกิดจากการลดการจับจ่ายนอกบ้านด้วยการมอบอาหารและบริการเพื่อความสุขในราคาที่ถูกลง

“เงินเฟ้อยังมอบโอกาสให้แบรนด์ขนมขบเคี้ยวของร้านค้าปลีกพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ แบรนด์ขนมขบเคี้ยวสามารถนำเสนอคุณภาพของสินค้าและจัดวางตำแหน่งทางการตลาดในหมวดหมู่สินค้าราคาประหยัด การเพิ่มรสชาติใหม่ ๆ และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจะเป็นสิ่งสำคัญในการขยายฐานลูกค้า”

สุขภาพกายและสุขภาพจิต

“โควิด-19 ได้เปลี่ยนชีวิตประจำวันของคน เปลี่ยนการนอนหลับของผู้บริโภคในทุกช่วงอายุ งานวิจัยด้านความเป็นอยู่ที่ดีของผู้บริโภคอินเดียในด้านจิตใจและอารมณ์พบว่าร้อยละ 66 ของผู้ใหญ่ชาวอินเดียบอกว่าปัญหาด้านการนอนหลับ (เช่น การนอนไม่หลับและความเหนื่อยล้า) มีอาการเหมือนเดิมหรือแย่ลงในช่วงการระบาด แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคทุกกลุ่มต้องการอาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ช่วยแก้ปัญหาด้านการนอนหลับเพื่อการมีสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่แข็งแรง นอกเหนือจากการนอนหลับ แบรนด์สามารถช่วยผู้บริโภคจัดการกับความเครียดและความวิตกกังวลด้วยการมอบการสนับสนุนทางโภชนาการส่วนบุคคลเพื่อความสมดุลของฮอร์โมนและสุขภาพที่ดี

“เทรนด์ความงามที่กินได้ยังมอบโอกาสให้กับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ในประเทศจีน ผู้บริโภคหญิงชาวจีนเชื่อในแนวคิดความงามจากภายใน งานวิจัยของเราพบว่าร้อยละ 67 ของผู้บริโภคเชื่อว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อความงามมีส่วนช่วยในการบำรุงร่างกายโดยรวมได้เช่นกัน ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มสามารถใช้ประโยชน์จากแนวคิดของผู้บริโภคได้ด้วยการนำเสนอโซลูชันสุขภาพองค์รวม ตัวอย่างเช่น เครื่องดื่มหลังออกกำลังกายที่มีการเพิ่มคุณสมบัติด้านความงามอาจได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากขึ้น”

ประสบการณ์รสสัมผัสยุคใหม่

“ไลฟ์สไตล์การสร้างความสำราญภายในบ้านช่วยให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้นในการรับประทานเบเกอรีที่บ้าน ในประเทศญี่ปุ่น สินค้าพร้อมอบแช่แข็งได้รับความนิยมสูงเพราะทำง่ายและเก็บได้นาน โดยเฉพาะชนิดที่อบง่ายและละลายเร็ว

“การโฆษณาผลิตภัณฑ์เบเกอรีนั้นทำได้หลายวิธี แต่การนำเสนอด้วยรูปภาพที่น่าสนใจจะเป็นส่วนสำคัญในการดึงดูดลูกค้า งานวิจัยของเราพบว่าร้อยละ 38 ของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นคิดว่าการนำเสนอนั้นมีความสำคัญเทียบเท่ากับรสชาติของอาหาร

แบรนด์อาหารเพื่อความสุขควรพัฒนาการรับรองด้านสุขภาพและมอบตัวเลือกที่ดีกว่าสำหรับลูกค้า โดยเฉพาะในหมู่ผู้บริโภคที่คำนึงถึงสุขภาพ

“ในขณะเดียวกัน แบรนด์ในหมวดหมู่น้ำอัดลมควรหาวิธีในการใช้รสชาติเป็นตัวช่วยให้ผู้บริโภคแสดงออกถึงความสนใจและวัฒนธรรมของพวกเขา ดอกไม้และพืชต่าง ๆ เป็นรสชาติใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง และแบรนด์สามารถเชื่อมโยงรสชาติเหล่านั้นกับวัฒนธรรมท้องถิ่นได้ เช่นการใช้รสซากุระซึ่งเป็นดอกไม้ที่สื่อถึงประเทศญี่ปุ่น การเชื่อมโยงรสชาติเข้ากับวัฒนธรรมยังช่วยเพิ่มความหมายของรสชาตินั้น ๆ ได้อีกด้วย” คุณโจลีน อึ้ง กล่าวสรุป

มินเทล ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยความต้องการของผู้บริโภคและเหตุผลเบื้องหลัง ได้เผยแพร่แนวโน้ม 5 ประการที่มีผลกระทบต่อตลาดผู้บริโภคของโลกในปี 2566 และอีก 5 ปีนับจากนี้ โดยได้ให้ความสำคัญกับปัจจัย 7 ประการ อันได้แก่ ปัจจัยด้านอัตลักษณ์ สิทธิ สภาพแวดล้อม ประสบการณ์ เทคโนโลยี ความเป็นอยู่ที่ดี และคุณค่า ทั้งนี้แนวโน้มสำคัญนั้นประกอบไปด้วย

  • ใส่ใจตัวเองมากขึ้น: ผู้บริโภคจะกลับมาให้ความสนใจกับตนเองอีกครั้ง แบรนด์ควรช่วยสนับสนุนให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับตัวเอง
  • ส่งต่อพลังให้แก่ผู้คน: แบรนด์ควรให้ความสำคัญกับผู้บริโภค ในฐานะผู้ร่วมลงทุน ร่วมสร้างสรรค์ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกันกับแบรนด์
  • ความเหนื่อยล้าที่มากเกินไป: ผู้บริโภคเริ่มไม่สนใจเสียงรอบข้าง พวกเขาจะสนใจเพียงแต่สิ่งที่สำคัญต่อพวกเขาเท่านั้น
  • ให้ความสนใจกับสินค้าท้องถิ่น: การอุดหนุนผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเป็นวิธีที่ผู้บริโภคสามารถควบคุมการเงิน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อจิตใจ ในขณะที่พวกเขาได้ตอบแทนสังคมไปด้วย
  • การจับจ่ายอย่างรอบคอบ: ปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความยืดหยุ่น ความคงทน และความยั่งยืนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในสายตาของผู้บริโภคในการประเมินคุณค่ามากขึ้น

แมทธิว แครบบ์ (Matthew Crabbe) ผู้อำนวยการ Mintel Trends เอเชีย-แปซิฟิก กล่าวถึงผลกระทบของเทรนด์ต่อตลาด แบรนด์ และผู้บริโภคในปี 2566 และปีต่อ ๆ ไป ดังนี้:

ใส่ใจตัวเองมากขึ้น

“ในช่วงที่ผ่านมานี้ ผู้บริโภคมีแนวคิดเพื่อส่วนรวม โดยได้ลดความต้องการส่วนตัวลงและให้ความสำคัญกับด้านสาธารณสุขและความปลอดภัยของส่วนรวม เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดได้เริ่มคลี่คลายลง ผู้บริโภคจึงได้เริ่มกลับมาสนใจตัวเองอีกครั้ง

“เมื่อผู้บริโภคต้องการสร้างสิ่งใหม่ให้กับตัวตนของพวกเขา แบรนด์สามารถเติมเต็มความต้องการเหล่านั้นด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะและฝึกฝนความเชี่ยวชาญในด้านใหม่ ๆ สิ่งที่น่าสนใจคือ ความต้องการสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีจะเพิ่มมากขึ้น เพราะผู้บริโภคกำลังสำรวจและทำความเข้าใจกับสิ่งที่อาจจะถูกมองข้ามไป หากเรามองการณ์ไกลกว่านั้น ผู้บริโภคจะใช้เมตาเวิร์สในการสร้างตัวตนที่มีเอกลักษณ์และกลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อมดิจิทัลรอบ ๆ ตัว ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการกระจายของตัวตนในโลกออนไลน์ และจะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องในการคุ้มครองผู้บริโภคและข้อมูลส่วนตัว เนื่องจากข้อมูลการใช้งานดิจิทัลของผู้บริโภคมีความสำคัญและซับซ้อนมากกว่าเดิม”

ส่งต่อพลังให้แก่ผู้คน

“แบรนด์ควรให้ความสำคัญกับผู้บริโภคมากกว่าเดิม ผู้บริโภคในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลงแบรนด์ด้วยเงินและเสียงของพวกเขา ซึ่งจะไม่จบเพียงแค่คำว่า ‘ลูกค้าเป็นฝ่ายถูกเสมอ’ อีกต่อไป เพราะผู้บริโภคกำลังร่วมลงทุน ร่วมสร้างสรรค์ และร่วมลงความเห็นในการตัดสินใจเพื่อการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกันกับแบรนด์ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าวแบรนด์จึงต้องรับฟังและตอบสนอง ในขณะที่ยังคงให้ความสำคัญกับนวัตกรรมของตลาดในเวลาเดียวกัน

“ชุมชน NFT และ Web3 กำลังสร้างช่องทางใหม่ เพื่อรองรับการลงทุนจากผู้บริโภค เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ร่วมเป็นเจ้าของแบรนด์ และเชื่อมตัวเองเข้ากับความสำเร็จและการเติบโตของแบรนด์ ในอนาคต แบรนด์จะมุ่งดูแลตัวตนเฉพาะของผู้บริโภคที่จงรักภักดีต่อแบรนด์และตัดสินใจลงทุนในแบรนด์ ซึ่งจะทำให้เอกลักษณ์โดยรวมของแบรนด์เปลี่ยนไปเป็นหน่วยธุรกิจขนาดเล็กลงที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ตรงจุดมากขึ้น”

ความเหนื่อยล้าที่มากเกินไป

“การใช้ชีวิตที่ผ่านวิกฤติหนึ่งเพื่อมาพบกับอีกหนึ่งวิกฤติส่งผลต่อความเหนื่อยล้าของผู้บริโภคในหลายมิติ ในขณะเดียวกันการรับฟังข่าวสารและเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านสื่อและคอนเทนต์ดิจิทัลที่มากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น วิกฤตพลังงาน ความไม่สงบทางการเมือง และวิกฤตสภาพภูมิอากาศต่างส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วงต่อผู้บริโภค”

คุณแมทธิว กล่าวต่อไปว่า “ผู้บริโภคจะพบกับความหมายและความสบายใจจากการเชื่อมต่อกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ เชื่อมต่อกับชุมชน และเชื่อมต่อกับตัวเองอีกครั้ง การริเริ่มโครงการเพื่อการกุศลและชุมชนโดยเกิดจากการทำงานร่วมกันกับแบรนด์ที่สร้างแรงบันดาลใจ จะมีบทบาทที่แท้จริงในการรับมือกับระดับความเหนื่อยล้าของผู้บริโภค โดยสนับสนุนให้พวกเขาสามารถควบคุมชีวิตของตัวเอง และสร้างมุมมองเชิงบวกท่ามกลางวิกฤตทางการเงินที่กำลังเผชิญอยู่ ทั้งนี้ในช่วงห้าปีข้างหน้า คาดการณ์ว่าแบรนด์ต่าง ๆ จะสร้างขอบเขตและระเบียบในการเผยแพร่ข้อมูล และสร้างโครงการใหม่ ๆ ที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับทรัพยากรในด้านต่าง ๆ ได้ อาทิ เทคโนโลยี สุขภาพ และพื้นที่ในการพักผ่อน”

ให้ความสนใจกับสินค้าท้องถิ่น

“ท่ามกลางความไม่แน่นอนจำนวนมากในทั่วทุกมุมโลก เราจะเห็นความพยายามในการปกป้องทรัพยากรและสนับสนุนธุรกิจในท้องถิ่น นี่เป็นผลกระทบที่หลงเหลืออยู่จากสถานการณ์การแพร่ระบาด และยังเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของผู้บริโภคเกี่ยวกับสิ่งที่สำคัญต่อพวกเขา การเชื่อมต่อกับท้องถิ่นยังช่วยให้ผู้บริโภคสามารถควบคุมการเงิน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อจิตใจ ในขณะที่พวกเขาได้ตอบแทนสังคมไปด้วย

“ผู้บริโภคมักจะสนับสนุนผู้ผลิตที่มีถิ่นกำเนิดจากท้องถิ่น รวมถึงแบรนด์ที่ประทับความเป็นของแท้ดั้งเดิมในสิ่งที่ตนผลิตและจำหน่าย แนวคิด ‘ท้องถิ่นนิยม’ จะหมายถึงการสนับสนุนชุมชนที่ผลิตสินค้านั้น ๆ มากกว่าที่ ๆ ผู้บริโภคอยู่ และในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ผู้บริโภคจะมีความต้องการในการตรวจสอบย้อนกลับไปถึงวัตถุดิบและความโปร่งใสของแบรนด์เกี่ยวกับวิธีที่แบรนด์อนุรักษ์ทรัพยากรในท้องถิ่นมากขึ้น”

การจับจ่ายอย่างรอบคอบ

“ผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจกับสิ่งที่มีความหมายต่อตนเองและจับจ่ายใช้สอยอย่างระมัดระวังมากขึ้น และในสภาพเศรษฐกิจที่ยากลำบาก ผู้บริโภคต้องการที่จะมีการตัดสินใจการใช้เงินอย่างชาญฉลาด โดยไม่ต้องแลกกับคุณภาพชีวิตของตนเอง

“ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับความคงทน ความยืดหยุ่น และการใช้งานได้ตราบนานเท่านาน เพราะพวกเขาพยายามลดการจับจ่ายใช้สอย และเลือกจับจองสินค้าที่อยู่ได้ยาวนานและตอบสนองวัตถุประสงค์หลากหลาย อย่างไรก็ตาม เมื่อตลาดมีการใช้คำกล่าวอ้างเกี่ยวกับคุณค่าเพิ่มเติมต่าง ๆ มากขึ้นจนถึงจุดอิ่มตัว ผู้บริโภคก็จะเกิดความสงสัยและมีความเฉลียวฉลาดเพิ่มขึ้น ในอีกห้าปี เราคาดว่าจะเห็นการเพิ่มจำนวนของแบรนด์ที่มุ่งเน้นเจตจำนงเพื่อสังคมและส่งมอบนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาระยะยาวที่อุตสาหกรรม ประเทศ และชุมชนที่แบรนด์นั้น ๆ เป็นส่วนหนึ่ง กำลังประสบอยู่” คุณแมทธิวกล่าวสรุป

Page 1 of 2
X

Right Click

No right click