November 24, 2024

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดตัว DAPBot (แดปบอท) แพลตฟอร์มสนับสนุนการจำแนกศัตรูพืชและการเข้าถึงชีวภัณฑ์เกษตร ในรูปแบบ Line Official เพื่อให้เข้าถึงการใช้งานโดยง่ายของเกษตรกร

เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อระหว่าง 3 หัวใจหลัก (เกษตรกร นักวิชาการ และผู้ผลิตชีวภัณฑ์) เป็นผู้ช่วยส่วนตัวเกษตรกรในไลน์ เพียงแค่กดเพิ่มเพื่อน โดย DAPBot จะให้บริการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของพืช ทั้งปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชต่าง ๆ พร้อมรวบรวมกลุ่มผู้ผลิตชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานจากทั่วประเทศ รวมถึงยังให้บริการตรวจวัดสภาพอากาศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานชีวภัณฑ์ นอกจากนี้ยังเป็นระบบที่เผยแพร่ความรู้และแจ้งเตือนการระบาดของศัตรูพืช ช่วยให้เกษตรกรสามารถวินิจฉัยปัญหาในแปลงเกษตรได้อย่างตรงจุด เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดใช้สารเคมี เสริมสร้างความเข้มแข็งการใช้ชีวภัณฑ์ในประเทศอย่างยั่งยืน ยกระดับภาคเกษตรไทยเป็นเกษตรปลอดภัยตามนโยบาย BCG

 

ดร.อลงกรณ์ อำนวยกาญจนสิน หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ไบโอเทค สวทช. ผู้พัฒนาระบบ DAPBot กล่าวว่า จากการถอดบทเรียนการทำงานของทางห้องปฏิบัติการและออกเผยแพร่ในแปลงทดสอบร่วมกับเกษตรกรในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย ทำให้ทีมวิจัยเราพบว่า ปัญหาหลักหนึ่งคือ เกษตรกรเข้าถึงเชื้อชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพได้จำกัดมาก ไม่ว่าจะเป็นแหล่งที่ซื้อ ซื้อที่ไหน ซื้อออนไลน์ได้ไหม หรือพอซื้อแล้วกลับได้ชีวภัณฑ์ปลอมเป็นน้ำผสมสี นำไปใช้แล้วไม่ได้ผล ทำให้มุมมองต่อการใช้ชีวภัณฑ์ติดลบ ไม่ใช้แล้ว กลับไปใช้สารเคมีดังเดิมดีกว่า และอีกหนึ่งปัญหาหลักคือ เกษตรกรมักมีความเข้าใจผิดค่อนข้างมากว่า สิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นเกิดจากแมลง แท้จริงแล้วเกิดจากเชื้อรา จึงใช้ยาไม่ถูกโรคเสียที เพิ่มการใช้สารเคมีมากขึ้นหรือใช้ชีวภัณฑ์ไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการ เหตุผลเหล่านี้คือที่มาหลักในการพัฒนา DAPBot ขึ้นมา

DAPBot เป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมชีวภัณฑ์ในประเทศไทยไว้ โดยเฉพาะชีวพันธุ์ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานจากผู้ประกอบการไทย คือได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก สวทช. และได้รับการขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร โดย DAPBot จะเป็นตัวช่วยส่วนตัวของเกษตรกรในการตอบคำถามความผิดปกติของพืช ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคพืชแมลง เรื่องปุ๋ย เรื่องสภาพอากาศ เรื่องน้ำ แล้วยังมีการรวบรวมแอปพลิเคชัน ที่ช่วยตอบคำถามเรื่องสภาพอากาศ เพราะการจะใช้ชีวภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด หนึ่งจะต้องมีคุณภาพ สองใช้ให้ถูกโรคถูกแมลง และสามต้องตรวจสอบสภาพอากาศก่อนใช้งาน เช่น ถ้าใช้ก่อนฝนตกหนัก ชีวภัณฑ์จะหายไปหมดไม่ได้คุณภาพ หรือถ้าจะใช้วันนี้อากาศร้อนมากแต่พรุ่งนี้ฝนตก ให้รอใช้พรุ่งนี้ดีกว่า เป็นต้น

ด้าน น.ส.เชษฐ์ธิดา ศรีสุขสาม ผู้ช่วยวิจัยทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ไบโอเทค สวทช. กล่าวเสริมว่า ทีมวิจัยมุ่งมั่นให้ DAPBot เป็นระบบที่ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน เกิดการอัพสกิลด้วยตัวเอง เช่น เมื่อเจออาการแบบนี้ส่งมาถามในแชทได้ความรู้ที่ถูกต้อง เกษตรกรจะเริ่มจำได้ในคราวต่อไป และทางทีมมีแผนจะรวบรวมภาพที่เกษตรกรส่งมานำไปทำ AI Training เพื่อที่ว่าต่อไปเมื่อเกษตรกรสอบถามมาจะได้คำตอบเร็วขึ้น ไม่ต้องรอผู้เชี่ยวชาญตอบ และจากที่ต้องรอสองชั่วโมงจะเหลือแค่หนึ่งวินาที เป็นต้น นอกจากนี้ DAPBot ยังนับเป็นช่องทางให้ผู้ผลิตชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพของประเทศไทยได้มาเจอกันกับลูกค้าที่เป็นกลุ่มผู้ใช้งานโดยตรงคือเกษตรกร ซึ่งผู้ใช้งาน DAPBot จะไม่ได้จำกัดเพียงแค่เกษตรกรในกลุ่มเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัยเท่านั้น แต่เกษตรทั่วไปที่อยากหันมาใช้ชีวภัณฑ์ในช่วงที่แมลงไม่ได้ระบาดมาก สามารถใช้ได้ หรือเกษตรกรตามบ้านที่ปลูกผักปลูกกุหลาบ ไม่อยากซื้อยามาฉีด อยากใช้ชีวภัณฑ์ก็ได้เช่นกัน โดย DAPBot นับเป็นตัวเชื่อมให้กลุ่มผู้ใช้งานและกลุ่มผู้ใหบริการชีวภัณฑ์ได้มาเจอกันนั่นเอง

ทั้งนี้ DAPBot จะมีแอดมินที่เป็นทีมวิจัยซึ่งมีความรู้เรื่องโรคและแมลงคอยดูแลตอบคำถามอยู่ และพร้อมส่งต่อคำถามให้ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัยหรือนักวิชาการเกษตร โดย DAPBot ตั้งใจทำถึง ทำมาก ด้วยความพยายามตอบทุก ๆ คำถามไม่เกิน 24 ชั่วโมง ผู้สนใจใช้งาน เพียงแค่แอดไลน์ @dapbot สามารถเริ่มใช้งานได้ทันที โดยทีมวิจัยคาดหวังว่าระบบนี้จะสามารถเป็นผู้ช่วยของเกษตรกรและเป็นประโยชน์สนับสนุนให้เกิดการใช้ชีวภัณฑ์เป็นวงกว้างและยั่งยืนต่อไป

สำหรับเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องที่สนใจ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทาง กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ ไบโอเทค สวทช. โทร. 02-5646700 ต่อ 3378, 3364 อีเมล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. และช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ Facebook Page: ชีวภัณฑ์ไบโอเทค เพื่อผักผลไม้ปลอดภัย Blockdit: ชีวภัณฑ์ไบโอเทค เพื่อผักผลไม้ปลอดภัย X (Twitter): Green Crop Defender @GCD_Squad และ TikTok: ชีวภัณฑ์ไบโอเทค

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics มองภาคเกษตรไทยติดหล่มการพัฒนาจากข้อจำกัดในการสร้างมูลค่าเพิ่มทำให้มีรายได้และกำไรไม่เพียงพอในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยภาคเกษตรต่ำกว่านอกภาคการเกษตรอย่างมีนัยสำคัญ มีสิ่งชักจูงให้คนรุ่นใหม่ละทิ้งภาคเกษตรในขณะที่แรงงานเกษตรในปัจจุบันมีอายุเฉลี่ยสูงที่ใกล้ออกจากตลาดแรงงานเพิ่มมากขึ้น แนะรัฐและเอกชนร่วมมือยกระดับเศรษฐกิจเกษตรไทยให้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้ยังมีความต้องการในการทำงานในภาคเกษตรก่อนจะสายเกินไป

เศรษฐกิจภาคการเกษตรนับเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจภูมิภาคและเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับประชาชนที่มีถิ่นอาศัยในภูมิภาคโดยมีข้อจำกัดในตำแหน่งงานนอกภาคเกษตรที่มักกระจุกตัวในเขต กรุงเทพ-ปริมณฑล ภาคตะวันออก และในพื้นที่เขตเมืองของจังหวัดในแต่ละภูมิภาคเท่านั้น โดยตามข้อมูลของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชี้เศรษฐกิจภาคการเกษตรของไทยในปี 2565 มีมูลค่าราว 1.53 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 8.8% ของ GDP โดยในปี 2566 ttb analytics ประมาณการว่ามูลค่าเศรษฐกิจภาคการเกษตรคาดว่าจะลดลงเหลือเพียงสัดส่วน 8.6%

สัญญาณของสัดส่วนเศรษฐกิจภาคการเกษตรที่ปรับลดลงเล็กน้อยอาจดูไม่สะท้อนภาพ แต่ถ้ามองลึกลงไปพบว่า บทบาทเศรษฐกิจภาคการเกษตรมีทิศทางลดลงต่อเนื่อง หากเมื่อเทียบกับปี 2555 เศรษฐกิจภาคเกษตรไทยเคยมีสัดส่วน 11.5% ของ GDP ที่มูลค่า 1.42 ล้านล้านบาท โดยเมื่อพิจารณาเพียงผิวเผินอาจมองเป็นเรื่องปกติเนื่องจากสินค้าอุตสาหกรรมและภาคบริการจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าสินค้าเกษตร แต่หากเมื่อมองถึงอัตราการขยายตัวพบว่าภาคเศรษฐกิจการเกษตรไทยยังติดกับดักการสร้างมูลค่าเพิ่ม ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจภาคเกษตรไทยขยายตัวเพียง 7.7% ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ มีการขยายตัวในอัตราที่สูง เช่น ออสเตรเลีย อินเดีย และเวียดนาม ขยายตัวอยู่ที่ 51.5% 82.7% และ 53.2% ตามลำดับ และรวมถึงประเทศที่เน้นบทบาทของการผลิตภาคอุตสาหกรรม เช่น จีน และเยอรมัน ที่ขยายตัว 68.6% และ 51.0% ตามลำดับ

 

สัญญาณการเติบโตที่ต่ำในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาของภาคการเกษตรไทย แสดงถึงข้อจำกัดในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรที่สามารถเพิ่มรายได้สร้างกำไรที่สูงขึ้นย้อนกลับไปหาเกษตรกรเพื่อใช้ยังชีพและเลี้ยงดูครอบครัว รวมถึงกำไรยังถือเป็นส่วนสำคัญของเกษตรกรที่จะนำมาใช้เพื่อลงทุนพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการประกอบธุรกิจในมิติต่าง ๆ เช่น การซื้อที่ดินเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ซื้อเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลงทุนสร้างแหล่งกักเก็บน้ำในช่วงน้ำเยอะสำรองไว้ในช่วงน้ำน้อย หรือการลงทุนในเทคโนโลยีการเพาะปลูกทางการเกษตรที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการเพาะปลูกในระยะยาว ซึ่งตามข้อเท็จจริงสะท้อนให้เห็นว่าเกษตรกรไม่สามารถลงทุนต่อยอดพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตใด ๆ ได้เลยจากรายได้ที่ดูเหมือนจะไม่เติบโตในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทาง ttb analytics ได้สรุปสาเหตุที่ภาคการเกษตรของไทยไม่สามารถขยายตัวได้ ตามเหตุผลหลัก ๆ ต่อไปนี้

1) เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงยึดติดกับการขายสินค้าเกษตรโดยไม่ผ่านการแปรรูปที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ เนื่องจากสินค้าเกษตรเมื่อผ่านการแปรรูปย่อมมีมูลค่าเพิ่มจากกรรมวิธีการผลิตที่แปรรูปจากสินค้าเกษตรที่ไม่มีเอกลักษณ์ให้กลายเป็นสินค้าบริโภคที่มีความเฉพาะตัว รวมถึงสามารถเพิ่มมูลค่าผ่านรูปแบบสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่สามารถสร้างให้ตอบโจทย์กับผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มที่มีพฤติกรรมซื้อสินค้าต่างกันออกไป รวมถึงการแปรรูปยังสามารถช่วยลดการพึ่งพิงพ่อค้าคนกลางเพื่อให้ช่วยรับซื้อสินค้าจากข้อจำกัดเรื่องที่สินค้าเกษตรจัดอยู่ในกลุ่มที่เน่าเสียได้ง่าย

2) เกษตรกรไทยเผชิญกับปัญหาการกระจายรายได้จากผลผลิตที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากไม่สามารถก้าวผ่านการเป็นผู้ผลิตเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการได้ จึงยังมีฐานะเป็นเพียงผู้ผลิตสินค้าขั้นกลางให้กับผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าขั้นสุดท้าย เช่น ในกรณีศึกษาข้าวขาวพบว่า ปี 2566 ข้าวขาวราคาเฉลี่ย 20.7 บาท/กิโลกรัม กำไรขั้นต้นของผู้ประกอบการก่อนหักต้นทุนการขายและการบริหารที่ราว 4.05 – 5.8 บาทต่อกิโลกรัม หรือคิดเป็นการกระจายรายได้จากผลผลิตขั้นสุดท้ายถึงมือผู้ประกอบการที่ 19.6% -24.5% ในขณะที่เกษตรกรไทยได้รับกำไรจากการเพาะปลูกข้าวเพียงราว 0.22 บาทต่อกิโลกรัม หรือคิดเป็นการกระจายรายได้ที่ย้อนกลับมาในมือของเกษตรกรคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.1% ของราคาข้าวขาวที่เป็นสินค้าบริโภคขั้นสุดท้าย

ดังนั้น บนสถานการณ์ที่ภาคการเกษตรไทยไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มที่จะทำให้รายได้ย้อนกลับสู่เกษตรกรได้เหมาะสม ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยของแรงงานภาคการเกษตรในปี 2565 อยู่ที่เพียง 128,000 บาทต่อคนต่อปี ในขณะที่กลุ่มแรงงานนอกภาคการเกษตรมีรายได้เฉลี่ยถึง 580,000 บาทต่อคนต่อปี ย่อมส่งผลต่อให้คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มละทิ้งภาคการเกษตรและหันเข้าทำงานในกลุ่มนอกภาคการเกษตรจากผลตอบแทนที่สูงกว่า สอดคล้องกับสถิติที่ชี้ชัดว่าในปี 2555 แรงงานในภาคการเกษตรมีจำนวนมากถึง 15.4 ล้านคน ในขณะที่ปี 2565 แรงงานภาคการเกษตรลดลงเหลือเพียง 11.9 ล้านคน และแรงงานนอกภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นจาก 23.6 ล้านคนเป็น 27.3 ล้านคนในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากในเชิงโครงสร้างยังพบว่าเกษตรกรไทยที่เป็นกลุ่มแรงงานในภาคการเกษตรมีอายุเฉลี่ยสูงถึง 62 ปี จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลต่อเนื่องว่าระยะถัดไปที่กลุ่มเกษตรกรเหล่านี้ออกจากตลาดแรงงานบนเงื่อนไขของแรงงานรุ่นใหม่เลือกไม่ทำงานในภาคการเกษตรจากผลตอบแทนที่ต่ำกว่า รวมถึงกลุ่มที่อยู่ในครอบครัวเกษตรและมีประสบการณ์ที่ครอบครัวทำการเกษตรมาตลอดชีวิตแต่ยังไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ก็คงไม่อยากจะเดินตามรอยครอบครัวที่ทำมาในอดีต ด้วยเหตุนี้ทาง ttb analytics จึงมองว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องช่วยกันยกระดับพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตรไทยเพื่อให้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเพียงพอเพื่อดึงดูดให้คนรุ่นใหม่มีความสนใจที่ยังทำงานในภาคการเกษตร ก่อนที่ต่อไปประเทศไทยจะไม่มีเกษตรกร คงเกิดคำถามว่าใครจะปลูกข้าวให้เรากิน

นักวิจัยด้านพืชสมุนไพร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำงานวิจัยการพัฒนาการผลิตพืชสมุนไพร 5 ชนิด (บัวบก ขมิ้นชัน กระชายดำ ฟ้าทะลายโจร และกะเพรา) เชื่อมโยงสู่ผู้ประกอบการสมุนไพรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรด้วยงานวิจัยด้านเกษตรสมัยใหม่ ภายใต้งานสัมมนา “การเชื่อมโยงและสร้างพันธมิตรในการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรด้วยงานวิจัยด้านเกษตรสมัยใหม่”

จัดโดยเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เมื่อเร็ว ๆ นี้ (19 ก.ค. 66) โดยมี ดร.วุฒิ ด่านกิตติกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. สายงาน EECi และ นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมเปิดงาน พร้อมด้วย ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สวทช. สายงานอุตสาหกรรมและชุมชน ดร.ประพัฒน์ พันปี ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายความร่วมมืออุตสาหกรรม EECi ตลอดจนผู้ประกอบการ นักวิจัยไบโอเทค และผู้แทนกลไกสนับสนุนภาคเอกชนของ สวทช. เข้าร่วมในงาน

 

ดร.วุฒิ ด่านกิตติกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. สายงาน EECi กล่าวว่า สวทช. โดย EECi ร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จัดงานสัมมนาการเชื่อมโยงและสร้างพันธมิตรในการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรด้วยงานวิจัยด้านเกษตร เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างนักวิจัยด้านพืชและผู้ประกอบการ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความร่วมมือที่ยั่งยืนและยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันให้แก่ตลาดสมุนไพรไทย พร้อมกันนี้ ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเสริมว่า ในการสร้างให้เกิดความยั่งยืนของผู้ประกอบการ สวทช. ได้มีกลไกสนับสนุนภาคเอกชนในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นบัญชีนวัตกรรมไทย / AGRITEC (สท.) หรือโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น EECi / อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย / ซอฟต์แวร์พาร์ค / Food Innopolis เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นบริการสนับสนุนผู้ประกอบการในการร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยด้วยงานวิจัยด้านเกษตรสมัยใหม่ผ่านเขตนวัตกรรม EECi ต่อไป

 

ด้าน ดร.ประพัฒน์ พันปี ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายความร่วมมืออุตสาหกรรม EECi สวทช. ระบุว่า ในการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรด้วยงานวิจัยด้านเกษตรสมัยใหม่ สวทช. โดยนักวิจัยไบโอเทคได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสมุนไพร 5 ชนิดพืช ได้แก่ บัวบก ขมิ้นชัน กระชายดำ ฟ้าทะลายโจร และกะเพรา ซึ่งล้วนเป็นพืชสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ให้มีเสถียรภาพทางการผลิต คุณภาพการผลิต นำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food security) รวมถึงส่งเสริมให้เกิดเกษตร

แม่นยำ (Precision Farming) ที่มีการนำเทคโนโลยีผสมผสานการเกษตรยุคดิจิทัล มาใช้กับการเพาะปลูกและเพิ่มผลผลิตได้เท่าทวีคูณ

 

โดยพืชชนิดแรกคือ บัวบก โดย ดร.กนกวรรณ รมยานนท์ นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร มีการศึกษาต้นแบบการผลิตบัวบกในระบบปลูกแนวตั้ง ที่เพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่สูงขึ้น บัวบกสายพันธุ์ดี ได้แก่ ไบโอบก-143 และ ไบโอบก-296 ทั้งสองสายพันธุ์ ที่คัดเลือกมาจากการรวบรวมสายพันธุ์บัวบกกว่า 200 สายพันธุ์ ซึ่งให้ผลผลิตและปริมาณสารสำคัญสูง พืชชนิดที่สอง ขมิ้นชัน โดย ดร.รุจิรา ทิศารัมย์ นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมด้านพันธุศาสตร์และสรีรวิทยาพืช มีการศึกษากระบวนการผลิตต้นพันธุ์ การคัดเลือกสายพันธุ์ และระบบการปลูกในโรงเรือนและแปลงปลูก พืชชนิดที่สาม กระชายดำ โดย ดร.ยี่โถ ทัพภะทัต นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร มีการศึกษาสายพันธุ์ที่มีสารออกฤทธิ์ทางยาสูง กรรมวิธีการผลิต และระบบการปลูกที่ลดการเกิดโรคในแปลงปลูก พืชชนิดที่สี่ ฟ้าทะลายโจร โดย ดร.ประเดิม วณิชชนานันท์ นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร มีการศึกษาสายพันธุ์ที่มีศักยภาพ ระบบการผลิตที่ให้สารสำคัญสูง และต้นแบบระบบการผลิตแบบปิด แบบเปิด และกึ่งปิด และพืชชนิดที่ห้า กะเพรา โดย ดร.พนิตา ชุติมานุกูล นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร มีการศึกษาข้อมูลสายพันธุ์ที่มีมากถึง 90 สายพันธุ์ และกระบวนการปลูกในโรงงานผลิตพืช (Plant Factory) ทั้งในด้านข้อมูลตอบสนองต่อปัจจัยสภาพแวดล้อมและต้นแบบการผลิตที่เหมาะสม ซึ่งงานสัมมนาครั้งนี้นอกจากสร้างการรับรู้ถึงความสำคัญของงานวิจัยพืชสมุนไพรแล้ว ยังได้ฉายภาพและนำเยี่ยมชมโครงสร้างพื้นฐานวิจัยขยายผล ณ โรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะ (Smart Greenhouse) และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ของเมืองนวัตกรรมชีวภาพ หรือ BIOPOLIS ที่ตั้งอยู่ใน EECi เพื่อรองรับอุตสาหกรรมชีวภาพไทยที่จะเติบโตต่อไปในอนาคตอันใกล้ด้วย

 

หนึ่งในนักวิจัยพืช ‘กระชายดำ’ ดร.ยี่โถ ทัพภะทัต นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร ไบโอเทค เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันทีมวิจัยกำลังจะได้พันธุ์กระชายดำดีเด่นที่มีสารออกฤทธิ์สูง และสามารถนำไปปรับใช้เฉพาะทางได้ เช่น เครื่องสำอาง อาหารเสริม และยา นอกจากนี้ได้พัฒนาระบบการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การสร้างต้นพันธุ์ปลอดโรคที่จะนำไปให้เกษตรกร เพื่อลดต้นทุน แรงงาน และระยะเวลาการปลูก รวมถึงยังได้ความรู้ไปใช้กับการผลิตต้นพันธุ์ได้ทั้งปี ซึ่งแตกต่างจากเหง้าที่ผลิตไม่ได้ทั้งปี ซึ่งในการศึกษาที่ EECi จะมีห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อขนาดใหญ่ มีระบบ Bioreactor (เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในอาหารเหลว) ที่จะขยายต้นพันธุ์ในระดับเชิงพาณิชย์ และใช้กับพืชอื่น ๆ ได้ เช่น ไม้ดอกไม้ประดับ พืชหายากที่ต้องการอนุรักษ์ เป็นต้น ซึ่งทีมวิจัยพร้อมจะทำงานเชื่อมโยงร่วมกับผู้ประกอบการทั้งในส่วนกลางน้ำและปลายน้ำ

 

และอีกหนึ่งพืชสมุนไพรที่มีความท้าทายในการแก้ปัญหา Pain Point มาอย่างยาวนานคือ กะเพรา ดร.พนิตา ชุติมานุกูล นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร ไบโอเทค

เล่าให้ฟังว่า รัฐบาลกำหนดให้ ‘กะเพรา’ เป็นพืชสมุนไพรชนิดใหม่ในวงการของสมุนไพร แต่จุดอ่อนทางธุรกิจคือ การส่งออก ที่ถูกห้ามส่งออกมาตั้งแต่ปี 2554 เพราะกะเพรามีการใช้ยาฆ่าแมลงเป็นจำนวนมากและยังพบแมลงติดมากับพืชที่ส่งออกสูง สร้างความสูญเสียมูลค่ามหาศาล ฉะนั้น เพื่อการแก้ไขจึงได้พัฒนาการปลูกให้เป็นเกรดพรีเมียม ทดลองปลูกและศึกษาใน Plant factory เพราะไม่มีการใช้ยาปราบศัตรูพืชใด ๆ โดยทีมวิจัยได้ศึกษาตั้งแต่การรวบรวมสายพันธุ์ซึ่งมีมากถึง 90 สายพันธุ์ และยังไม่มีการศึกษาถึงสรรพคุณในแต่ละสายพันธุ์มาก่อน เช่น สายพันธุ์ที่ต้านอักเสบ ต้านจุลชีพ ป้องกันการเกิดอัลไซเมอร์ หรือสรรพคุณในด้านกลิ่น ที่ช่วยขับลม ลดคอเลสเตอรอล เป็นต้น รวมถึงศึกษาสภาวะ (condition) การปลูกที่เหมาะสมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างสารสำคัญของกะเพราได้มากที่สุด ซึ่งในการเชื่อมโยงกับ EECi ทางทีมวิจัยมีแผนในอนาคตอันใกล้ว่า จะนำส่วนที่คัดสายพันธุ์ที่ดีและสำเร็จมาแล้วใน condition ต่าง ๆ ทั้งการปลูกใน Plant Factory ใน Greenhouse และแปลงทดลองของเกษตรกร เช่น พันธุ์ A ที่หอมมากและหอมทั้ง 3 ที่ที่ปลูกซึ่งให้ผลคงที่ ทีมจะนำพันธุ์เหล่านั้นมาปลูกทดสอบและขยายการผลิตในโรงเรือนที่ EECi เพื่อตอบโจทย์กับภาคเอกชนต่อไป ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสมุนไพรและที่เกี่ยวข้องที่สนใจการพัฒนาสมุนไพรด้วยงานวิจัยด้านเกษตรสมัยใหม่ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ โทร. 0 2564 6700 ต่อ 3305 (จิราวรรณ)

บริษัท เอเซียติค อุตสาหกรรมเกษตร จำกัด ผู้ผลิต แปรรูป และส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวรายใหญ่ เตรียมขนทัพขบวนสินค้า ทั้งไทยและต่างประเทศ อัมพวา (Ampawa) กะทิแท้ 100% โคโค่แม็ก (Cocomax) น้ำมะพร้าวแท้ 100% และ โคโค่มิกซ์ (Cocomix) ผลิตภัณฑ์ประกอบอาหาร ร่วมงาน THAIFEX - Anuga Asia 2023 บนพื้นที่ 126 ตร.ม. ภายใต้ธีม From Local to Global

ตอกย้ำวิสัยทัศน์ “Sharing Coconut Culture with The World” ถ่ายทอดและแบ่งปันวัฒนธรรมจากมะพร้าวไปสู่ทั่วโลก จากแบรนด์ไทยสู่โกลบอลกว่า 70 ประเทศทั่วโลก ครั้งแรก! ของกิจกรรมไฮไลท์ Chef Table โดย Iron Chef Thailand ระดับตำนานของประเทศไทย ที่จะมารังสรรค์เมนูสุด เอ็กซ์คลูซีฟจากผลิตภัณฑ์ของบริษัท เอเซียติค อุตสาหกรรมเกษตร จำกัด พร้อมโชว์นวัตกรรม ทั้งในด้านของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ จับเทรนด์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค ควบคู่ไปกับ Sustainability Visions หรือการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน พร้อมเปิดโอกาสทางธุรกิจ ระหว่างวันที่ 23-27 พฤษภาคม 2566 ณ บูธเอเซียติคฯ (No. 3-F01) อาคารชาเลนเจอร์ฮอลล์ 3 ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้า อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทอง ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.asiaticagro.com

นายอภินันท์ เผือกผ่อง ผู้ว่าราชการ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานในพิธีมอบ “โครงการฟาร์มสาธิตการเลี้ยงสุกรขุนและไก่ไข่ระบบปิดอัตโนมัติ (Green Farm)” ที่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ สนับสนุนแก่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อยกระดับภาคปศุสัตว์ไทยสู่ 4.0 หนุนศูนย์สมาร์ทฟาร์มของมหาวิทยาลัย และร่วมพัฒนาวิชาการเกษตรสมัยใหม่ ถ่ายทอดสู่นักศึกษา เกษตรกร และผู้สนใจ

 

นายสิริพงศ์ อรุณรัตนา ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการธุรกิจสัตว์บก ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และซีพีเอฟ ร่วมกันขับเคลื่อนและยกระดับภาคปศุสัตว์ของไทยด้วยนวัตกรรมสู่ยุค 4.0 ด้วยการดำเนินโครงการความร่วมมือทางวิชาการ “โครงการฟาร์มสาธิตการเลี้ยงสุกรขุนและไก่ไข่ระบบปิดอัตโนมัติ (Green Farm)” มาตั้งแต่ปี 2562 เพื่อให้เป็นฟาร์มเลี้ยงสัตว์มาตรฐานสากลภายใต้ระบบปิด (EVAP) เป็นฟาร์มรักษ์โลกที่เป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม ตามมาตรฐานฟาร์มสีเขียว หรือกรีนฟาร์ม สำหรับพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ฝึกทักษะภาคปศุสัตว์ที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย เป็นสถานที่ศึกษาทดลองและวิจัยด้านเทคโนโลยีการเกษตร ของนักศึกษาของสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร รวมถึงส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้แก่คณาจารย์ ตลอดจนการให้บริการทางวิชาการ พร้อมทั้งพัฒนาฟาร์มให้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาเรียนรู้ที่ทันสมัย ของนักศึกษาซึ่งถือเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่สามารถต่อยอดสู่การเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้แก่ผู้อื่นต่อไป

“โครงการฟาร์มสาธิตฯ ถือเป็นความร่วมมือทางวิชาการและกิจการเพื่อสังคมที่ซีพีเอฟตั้งใจส่งมอบให้กับมหาวิทยาลัย ช่วยผลักดันการพัฒนาทางวิชาการและองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัย สู่บุคลากรให้มีทักษะด้านการผลิตเกษตรอุตสาหกรรมแบบครบวงจร โดยบริษัทสนับสนุนงบประมาณ และผู้เชี่ยวชาญร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้กับบุคลากรและนักศึกษา กระทั่งสามารถนำเทคนิควิชาการไปขับเคลื่อนโครงการได้อย่างยั่งยืน" นายสิริพงศ์ กล่าว

 

นายสมพร เจิมพงศ์ ผู้อำนวยการใหญ่ ธุรกิจสุกร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ม.วลัยลักษณ์และซีพีเอฟ มีเป้าหมายเดียวกันในการมุ่งพัฒนากำลังคนด้านการเกษตรสมัยใหม่ และพัฒนาภาคเกษตรอุตสาหกรรมของไทย ตลอดระยะเวลาการผนึกกำลังในการดำเนินโครงการฯ มานานกว่า 3 ปี โรงเรือนสาธิตฯสุกรขุนและไก่ไข่ในระบบปิดอัตโนมัติ ภายใต้กระบวนการบริหารจัดการฟาร์มในรูปแบบกรีนฟาร์ม กลายเป็นศูนย์สาธิตและฝึกอบรมด้านปศุสัตว์ให้แก่นักศึกษาที่สามารถเรียนรู้และฝึกปฏิบัติงานในฟาร์ม เป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ที่พวกเขานำไปเป็นพื้นฐานการทำงาน หรือประกอบอาชีพได้ในอนาคต ขณะเดียวกันยังเป็นการสนับสนุนนักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรให้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีการเลี้ยงสัตว์ที่ได้รับ สู่ชุมชนและเกษตรกร ผ่านกลไกของศูนย์การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้การผลิตสัตว์มีคุณภาพ ปลอดภัยเพื่อผู้บริโภค

 

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า ม.วลัยลักษณ์ มุ่งมั่นผลักดัน “ศูนย์สมาร์ทฟาร์ม” เพื่อพัฒนาฟาร์มมหาวิทยาลัยเดิม ให้เป็นการบริหารฟาร์มโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งด้านพืชสวน พืชไร่ ปศุสัตว์ และประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคปศุสัตว์ ซึ่งมหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากซีพีเอฟ ที่มีความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยีและองค์ความรู้ระดับโลก เข้ามาส่งเสริมและพัฒนาระบบการเลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นแหล่งฝึกประสบการณ์แก่นักศึกษา เกษตรกร และผู้สนใจ ให้สามารถนำองค์ความรู้ไปพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพ สามารถลดต้นทุน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิต อันเป็นการส่งเสริมความมั่นคงทางอาชีพให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน พร้อมสนับสนุนสู่การเป็นแหล่งค้นคว้า วิจัยพัฒนาที่ยั่งยืนของเกษตรกรชาวนครศรีธรรมราช และภูมิภาคใกล้เคียง อันจะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกรอย่างแน่นอน./

Page 1 of 2
X

Right Click

No right click