November 24, 2024

SCB CIO วิเคราะห์หากทรัมป์ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐในเดือน พ.ย.นี้ คาดจะมีนโยบายที่สนับสนุนต่อเศรษฐกิจสหรัฐมากกว่าไบเดน จากการบริโภคที่ได้รับแรงหนุนนโยบายต่ออายุการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และคงอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ส่งผลดีต่อบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ส่วนจีนจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าหนักขึ้น ด้านค่าเงินในภูมิภาคเอเชีย ที่พึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่า เช่น วอนเกาหลีใต้ ดอลลาร์ไต้หวันและเงินบาท อาจส่งผลให้เงินทุนไหลออกได้ พร้อมแนะนำลงทุนตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นจีน A-Share บนพอร์ตลงทุนระยะยาว 1 ปีขึ้นไป แต่ต้องจับตาความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้ง พร้อมลงทุนตลาดหุ้นจีน H-Share บนพอร์ตระยะสั้นรับแรงหนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางการจีน

น.ส.เกษรี อายุตตะกะ CFP® ผู้อำนวยการกลยุทธ์การลงทุน SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า จากการติดตามผลสำรวจคะแนนความนิยมของนายโจ ไบเดน และนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ท้าชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการเลือกตั้งเดือน พ.ย. 2567 นี้ ผ่านเว็บไซต์ผลสำรวจ realclearpolitics พบว่า ล่าสุด คะแนนความนิยมของทรัมป์ อยู่ที่ 47.5 นำเล็กน้อยเมื่อเทียบกับคะแนนนิยมของไบเดน ซึ่งอยู่ที่ 46.4 และในสภาคองเกรส ผลสำรวจระบุว่า พรรค Republican มีคะแนนนำเล็กน้อยในสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาล่าง ส่วนวุฒิสภา หรือสภาบน คะแนนทั้งสองพรรคใกล้เคียงกันมาก

ทั้งนี้ SCB CIO วิเคราะห์ผลกระทบเปรียบเทียบระหว่างทรัมป์หรือไบเดน เป็นประธานาธิบดีสมัยหน้า โดยมองว่า หากทรัมป์เป็นประธานาธิบดีจะมีนโยบายที่สนับสนุนต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากกว่าไบเดน เนื่องจากการบริโภคจะได้รับแรงหนุน จากนโยบายต่ออายุการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่จะหมดอายุลงในปี 2568 ขณะที่ไบเดนมีแผนเก็บภาษีรายได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ที่มีความมั่งคั่งสูง แต่การบริโภคสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ อาจได้รับผลกระทบบ้างจากนโยบายของทรัมป์ ที่จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทั้งหมดจากจีนมากกว่า 60% และสินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้าอื่น 10% ส่วนการส่งออกสุทธิ อาจได้รับผลกระทบจากต้นทุนนำเข้าสินค้าทุนที่แพงขึ้น และจากการตอบโต้กลับของประเทศอื่น ทำให้สหรัฐฯ สูญเสียความได้เปรียบทางการแข่งขัน ต่างจากไบเดนที่เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นโดยพุ่งเป้าเฉพาะสินค้ายุทธศาสตร์ของจีนเป็นหลักทำให้ไม่ส่งผลกระทบมากนัก

ด้านการลงทุน จะคงอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ที่ 21% หรืออาจปรับลดเพิ่มเติม รวมทั้งมีนโยบาย American First เพิ่มการผลิตในประเทศ ทดแทนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ส่วนการคลังจะขาดดุลการคลังมากขึ้น ทำให้ต้องออกพันธบัตรรัฐบาล (Bond) เพิ่มขึ้น และอาจเผชิญข้อจำกัด เนื่องจากยอดหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ช่วงโควิด ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานงบประมาณรัฐสภา (CBO) ในปี 2567 คาดว่า หนี้สาธารณะต่อ GDP จะอยู่ที่ 99% ต่างจากเมื่อปี 2559 ที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี ซึ่งอยู่ที่ 77% และสหรัฐฯ จะมีปัญหาชนเพดานหนี้อีกครั้ง จากที่ได้ขยายเวลาเพดานหนี้ไปถึงช่วงต้นปี 2568

สำหรับอัตราเงินเฟ้อ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากทรัมป์เป็นประธานาธิบดี เพราะการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนและประเทศคู่ค้าอื่น จะทำให้ต้นทุนการนำเข้าของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น และอาจเกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก (Supply Chain Disruption) นอกจากนี้ ยังเผชิญแรงกดดันจากการเพิ่มการขาดดุลการคลัง รวมทั้งการจำกัดการอพยพย้ายถิ่นฐานที่จะไปกดดันอุปทานแรงงาน ต่างจากไบเดนที่อัตราเงินเฟ้ออาจเพิ่มขึ้นน้อยกว่า เนื่องจากมีการกระตุ้นทางการคลัง และการปรับขึ้นภาษีนำเข้าน้อยกว่า

ขณะที่ทิศทางนโยบายการเงิน เราคาดว่าทรัมป์จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และยังมีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ย โดยเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Yield Curve) มีแนวโน้มชันมากขึ้น จากเงินเฟ้อคาดการณ์ที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการออกบอนด์ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ Bond Yield ระยะยาวปรับเพิ่มขึ้น (Yield Curve ชันมากขึ้น) อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เผชิญข้อจำกัดในการใช้นโยบายการคลัง โดยเฉพาะกรณีไม่สามารถครองเสียงข้างมากทั้ง 2 สภา ทรัมป์อาจจะกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ Bond Yield ระยะสั้นปรับลดลง และทำให้ Yield Curve มีความชันเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ อาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงบนความต่อเนื่องของนโยบายการเงินได้ โดยมีแนวโน้มที่จะไม่ต่ออายุนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ที่จะครบวาระในวันที่ 15 พ.ค. 2569 และน่าจะแต่งตั้งประธานเฟดคนใหม่ ที่มีนโยบายปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งอาจทำให้มีการผ่อนคลายทางการเงินมากเกินไป ส่งผลให้การคาดการณ์เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น

สำหรับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินคู่ค้า จากความเสี่ยงการปรับขึ้นภาษีนำเข้า และสงครามการค้าโลกที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น รวมทั้งยังมีแรงหนุนจากการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การออกบอนด์เพิ่มขึ้น ที่จะทำให้ Bond Yield เพิ่มขึ้นด้วย ตรงกันข้ามกับไบเดน เป็นประธานาธิบดี ที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มทรงตัวถึงอ่อนค่า ตามทิศทางการลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด

ในส่วนของผลต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ นั้น จากสถิติในอดีต พบว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มักผันผวนเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้งสหรัฐฯ แต่เมื่อการเลือกตั้งผ่านพ้นไปแล้ว ความผันผวนจะปรับลดลง ทั้งนี้ หากทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี จะเป็นผลดีต่อบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ มากกว่าไบเดน จากการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่จะส่งผลให้ผู้บริโภคใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และทำให้ยอดขายสินค้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ขณะที่การปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล จะช่วยหนุนให้กิจการมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นภาษีนำเข้าอาจกระทบปัจจัยพื้นฐานของตลาดหุ้น โดยเฉพาะผู้ที่นำเข้าสินค้ามาเพื่อผลิตต่อ ขณะที่ผู้ส่งออก ยังมีแนวโน้มเผชิญการตอบโต้กลับด้านภาษีการค้าของประเทศอื่นๆ ส่วน Valuation มีแนวโน้มปรับลดลง จากการที่ Bond Yield ระยะยาว มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปัจจุบันที่ Valuation อยู่ในระดับที่ค่อนข้างแพงมากกว่าในอดีต นอกจากนี้ เรามองว่า การที่ ทรัมป์ได้รับชัยชนะจะทำให้ความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายต่างๆ ที่อาจจะเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการสื่อสารนโยบายผ่านช่องทางต่างๆ เข่น Twitter (X) และการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ลงทุนในตลาดหุ้นต้องการผลตอบแทนเพื่อชดเชยความเสี่ยง (Equity Risk Premium) สูงขึ้น กดดัน Valuation ของดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้

ส่วนกรณีที่ ไบเดน เป็นประธานาธิบดี จะเป็นผลดีต่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ น้อยกว่า โดยแนวโน้มกำไรต่อหุ้น (EPS) มีความเสี่ยงจะได้รับแรงกดดันจากการปรับขึ้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และการเก็บภาษีการซื้อหุ้นคืนด้วย ขณะที่ ราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นบ้างจากการที่ Bond Yield มีแนวโน้มเป็นขาลง และความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายต่างๆ ปรับลดลง

น.ส.เกษรี กล่าวว่า สำหรับผลที่มีต่อประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะจีน จากนโยบายของ ทรัมป์ และ ไบเดนนั้น ถือว่าเป็นลบกับจีนทั้งคู่ แต่นโยบายของทรัมป์ จะส่งผลกระทบต่อจีนมากกว่า เพราะนอกจากเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนทั้งหมดแล้ว ยังมีแนวโน้มลดระดับความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน ยกเลิกการนำเข้าสินค้าที่จำเป็นจากจีน ตั้งแต่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก ไปจนถึงยา ภายใน 4 ปี ทั้งยังขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์จีนที่ผลิตในเม็กซิโกในอัตรา 100% กำหนด

ข้อจำกัดการถือครอง (ownership) ของจีน ในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของสหรัฐฯ เช่น พลังงาน เทคโนโลยี การแพทย์ และการสื่อสาร และยังออกกฎใหม่เพื่อหยุดการลงทุนของบริษัทสหรัฐฯ ในจีนอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาจีนมีการเตรียมการรับมือเอาไว้แล้ว ด้วยการปรับห่วงโซ่อุปทานและปรับช่องทางการค้า โดยกระจายความเสี่ยงส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ มากขึ้น ซึ่งจะช่วยจำกัดผลลบต่อเศรษฐกิจจีนได้ ประกอบกับธนาคารกลางจีน (PBoC) อาจยอมปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลงเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ในระดับที่ไม่ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเงินทุนไหลออก ซึ่งก็จะช่วยบรรเทาผลลบจากกำแพงภาษีได้อีกทาง

ในส่วนของผลกระทบต่อประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียนั้น เรามองว่า การปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ รวมทั้งความไม่แน่นอนของตลาดที่มากขึ้น อาจส่งผลให้ค่าเงินในเอเชียผันผวนมากขึ้น โดยเฉพาะสกุลเงินที่พึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ สูง และเกินดุลการค้าสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก เช่น วอนเกาหลีใต้ ดอลลาร์ไต้หวัน และเงินบาท ซึ่งอาจทำให้เงินทุนไหลออกได้ ขณะที่ค่าเงินรูปีอินเดีย รูเปียห์อินโดนีเซีย และเปโซฟิลิปปินส์ อาจได้รับผลกระทบน้อยกว่า เพราะพึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ และจีนค่อนข้างต่ำ

สำหรับคำแนะนำการลงทุนของ SCB CIO ในปัจจุบัน เราแนะนำให้ลงทุนตลาดหุ้นสหรัฐฯ บน Core Portfolio ซึ่งเป็นพอร์ตลงทุนหลัก สำหรับการลงทุนระยะยาว 1 ปีขึ้นไป โดยเรามองว่า จะเริ่มเห็นการขยายตัวของกำไรบริษัทจดทะเบียนไปยังหุ้นอื่นๆ นอกเหนือจากกลุ่มหุ้นที่มีมูลค่าสูงที่สุดในตลาด 7 ตัว (Magnificent 7) มากขึ้น รวมทั้งเห็นการกระจายตัวของกำไรในอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ กลุ่มธุรกิจบริการสำหรับผู้บริโภค และกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งจะช่วยประคอง Valuation ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ให้อยู่ในระดับสูงได้

ส่วนตลาดหุ้นจีน A-Share เราแนะนำลงทุนบน Core Portfolio เช่นกัน เนื่องจากมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว ตามความคาดหวังของนักลงทุนบนการออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม ในการประชุม 3rd Plenum และการประชุม Politburo ช่วงเดือนก.ค. นี้ แม้เมื่อเข้าใกล้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดัชนีตลาดหุ้นจีน A-Share อาจมีแนวโน้มเผชิญความผันผวนเพิ่มมากขึ้น จากท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นของทางสหรัฐฯ ก็ตาม

ในส่วนของตลาดหุ้นจีน H-Share เราแนะนำให้ลงทุนบน Opportunistic Portfolio ซึ่งเป็นพอร์ตเสริมโอกาสระยะสั้น เฉพาะนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงสูง เนื่องจาก มีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก 1) การออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมของทางการจีน โดยเฉพาะบนมาตรการเยียวยาภาคอสังหาริมทรัพย์ 2) เงินลงทุนไหลเข้า (Inflows) ผ่านช่องทาง Southbound stock connect ที่มีแนวโน้มมากขึ้น ตามการผ่อนคลายที่สนับสนุนตลาดทุน 3) การซื้อหุ้นคืนเพิ่มขึ้น และการเพิ่มเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนจีนที่ไปจดทะเบียนในตลาดหุ้น H-Share (offshore) โดยเฉพาะกลุ่มอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ ซึ่งอาจช่วยหนุนอัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) และ valuation และ 4) การคาดการณ์กำไรต่อหุ้น (EPS) ของตลาด H-Share ที่มีแนวโน้มทรงตัวถึงถูกปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนกับคู่ค้าต่างๆ และประเด็นข้อพิพาทช่องแคบไต้หวัน โดยล่าสุด จีนซ้อมรบใหญ่รอบไต้หวัน อ้างว่าเป็นการลงโทษท่าทีแบ่งแยกดินแดนของประธานาธิบดีไต้หวันคนใหม่ อาจเพิ่มความผันผวนแก่ตลาดได้

X

Right Click

No right click