November 22, 2024

ในฐานะตัวแทนเจ้าภาพในประเทศไทย โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้รับเกียรติจากศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ร่วมเป็นผู้สนับสนุนหลักในการจัดงานประชุม ซึ่งเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างเครือข่ายของนักวิจัยและแพทย์จากทั่วโลกกว่า 600 คน โดยประเทศไทยมีส่วนสำคัญในการก่อตั้งสหพันธ์ และได้รับเลือกให้เป็นผู้จัดงานในครั้งนี้ ระหว่างวันที่ 5-8 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและการยอมรับด้านวิชาการ การวิจัย และบุคลากรทางการแพทย์ของไทย ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลักดันประเทศไทยสู่การเป็น Medical Hub พร้อมยกระดับระบบสาธารณสุขไทย ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ

อีกทั้ง ยังได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงาน “FNM 2024 Thai Touch Party by Bumrungrad” เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จของงานประชุมดังกล่าว ซึ่งบรรยากาศภายในงานเต็มไปด้วยความเพลิดเพลิน และมีเอกลักษณ์ของความเป็นไทยที่น่าประทับใจ โดยมีการแสดงเปิดจากหุ่นละครเล็กโจหลุยส์ รวมถึงการขับร้องและบรรเลงเพลงโดย คุณจิรพรรณ อังศวานนท์ และวงดนตรี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งและสมาชิกรุ่นแรกของวง บัตเตอร์ฟลาย วงดนตรีชั้นนำของเมืองไทย เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ โรงแรม Waldorf Astoria Bangkok

 

ดร. อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า นับเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้มีโอกาสต้อนรับผู้ทรงคุณวุฒิด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารกว่า 600 ท่านจากทั่วโลก ซึ่งเป็นเวทีสำคัญที่สนับสนุนให้บุคลากรทางการแพทย์ได้เรียนรู้และสร้างเครือข่ายกับนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญระดับโลก เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาองค์ความรู้ ตลอดจนนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ ๆ ด้วยความมุ่งหวังที่จะส่งมอบการบริบาลทางการแพทย์ที่ดีที่สุด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นให้กับผู้ป่วย

ศ.นพ. สุเทพ กลชาญวิทย์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ หัวหน้าศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ประธานจัดงานและเจ้าภาพงาน FNM 2024 กล่าวว่า การที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม FNM ในปีนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและการยอมรับด้านวิชาการ การวิจัย และบุคลากรทางการแพทย์ของไทย ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลักดันประเทศไทยสู่การเป็น Medical Hub พร้อมยกระดับระบบสาธารณสุขไทย จึงขอถือโอกาสนี้ ขอบคุณโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ที่ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี และขอบคุณในความร่วมมือจาก Professor Doctor Xiaohua Hou, PhD, President of Asian Neurogastroenterology and Motility Association เจ้าภาพร่วมงาน FNM 2024 และ Professor Doctor Max Schmulson, the Sociedad Latinoamericana de Neurogastroenterología (SLNG) เจ้าภาพงาน FNM ครั้งถัดไป ที่จะเกิดขึ้นในปี 2026

งานในครั้งนี้ นับเป็นความภาคภูมิใจของวงการแพทย์ไทย ที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศในฐานะเจ้าภาพจัดงานประชุม รวมถึงยังส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้รับรางวัล ผลการดำเนินงานโดดเด่น (Outstanding Company Performance Awards) ในกลุ่มรางวัลธุรกิจยอดเยี่ยม (Business Excellence) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงกว่า 100,000 ล้านบาท โดยโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้รับรางวัลนี้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ในงาน SET Awards 2024 ซึ่งจัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยร่วมกับวารสารการเงินธนาคาร และสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้รวบรวมข้อมูลและทำการประมวลผลการดำเนินงาน และมีคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิร่วมกันตัดสินรางวัล SET Awards ในครั้งนี้

โดยมี คุณอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ คุณภาคนี วิริยะรังสฤษฎ์ บรรณาธิการอำนวยการ วารสารการเงินธนาคาร เป็นผู้มอบรางวัล ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร. อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ Chief Executive Officer โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, คุณอรภรรณ บัวม่วง Chief Financial Officer โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และ ผศ.นพ. พลกฤต ทีฆคีรีกุล Chief Executive Officer ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์และเอสเพอรานซ์ และ Chief Science Officer โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์และศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ เป็นตัวแทนรับมอบรางวัล ณ อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ดร. อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ Chief Executive Officer โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า รางวัลดังกล่าวเป็นเครื่องตอกย้ำความสำเร็จของการดำเนินงานที่เป็นเลิศในฐานะผู้นำด้านการบริบาลทางการแพทย์ในระดับประเทศ สะท้อนผ่านผลการดำเนินงานที่โดดเด่น โดยโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มุ่งมั่นพัฒนาการรักษาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้วิสัยทัศน์ในการเป็นจุดหมายแห่งการดูแลสุขภาพและสุขภาวะที่น่าเชื่อถือที่สุด ผ่านการส่งมอบประสบการณ์การรักษาพยาบาลชั้นเลิศให้กับผู้ป่วย ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงที่ทันสมัย เพื่อสร้างรากฐานอันแข็งแกร่งในการเติบโตอย่างยั่งยืน

มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในผู้ชายสูงวัยและมีแนวโน้มว่าจะพบมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีทางการแพทย์ในการวินิจฉัยและรักษาโรคเกี่ยวกับมะเร็งต่อมลูกหมากมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง นอกจากทำให้การวินิจฉัยมีความแม่นยำมากขึ้นแล้ว ยังทำให้การรักษามีความปลอดภัย ลดภาวะแทรกซ้อน และช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีหลังการรักษา

ปัจจุบัน มีทางเลือกการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากหลายหลายวิธี ซึ่งเหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยที่แตกต่างกันไป ได้แก่

  1. การเฝ้าระวังเชิงรุก (Active Surveillance) เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มะเร็งเติบโตช้าและยังไม่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น แต่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง
  2. การผ่าตัด (Radical Prostatectomy) มี 3 วิธี คือ การผ่าตัดแบบเปิด (Open Radical Prostatectomy), การผ่าตัดโดยใช้วิธีส่องกล้อง (Laparoscopic Radical Prostatectomy) และการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic-Assisted Da Vinci Surgery)
  3. การใช้รังสีรักษา (Radiation Therapy) มี 2 รูปแบบ คือ การฉายรังสีและการฝังแร่ มักใช้ในมะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่ยังไม่ลุกลามออกนอกต่อมลูกหมาก (Localized Prostate Cancer) ซึ่งในขณะฉายรังสีอาจทำให้แสงไปโดนอวัยวะที่อยู่รอบต่อมลูกหมาก เช่น ลำไส้ตรง (Rectum) ซึ่งกว่าร้อยละ 10 ของผู้ป่วยจะเกิดอาการแทรกซ้อนค่อนข้างมาก คือท้องเสียหรือปวดหน่วงทวารจนต้องใช้ยา และอาจพบลำไส้ทะลุหรือมีเลือดออก ทำให้ต้องผ่าตัดแก้ไขหรือให้เลือด

ไฮโดรเจล (Hydrogel) เป็นนวัตกรรมที่ผลิตจากสารโพลีเอธิลีน ไกลคอล (Polyethylene Glycol: PEG) ช่วยลดผลแทรกซ้อนจากการรักษาด้วยการฉายรังสีและการฝังแร่ ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้วว่ามีความปลอดภัย ร่างกายสามารถดูดซึมและย่อยสลายได้ โดยโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้นำนวัตกรรมไฮโดรเจลเข้ามาใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อเดือนมีนาคม 2566

ทั้งนี้ ไฮโดรเจลจะทำหน้าที่เหมือนเป็นหมอนคั่นระหว่างต่อมลูกหมากและลำไส้ตรง ด้วยการเพิ่มช่องว่างระหว่างอวัยวะทั้งสอง ซึ่งปกติอยู่ห่างกันประมาณ 2-3 มม. ให้มีระยะห่างเพิ่มขึ้นประมาณ 1 ซม. ทำให้ลำไส้ตรงไม่ได้รับรังสีหรือได้รับรังสีน้อยมาก

โดยก่อนการทำหัตถการ แพทย์จะฉีดยาชาหรือยานอนหลับให้กับผู้ป่วย แล้วจึงใช้น้ำเกลือฉีดเข้าไปในช่องว่างระหว่างต่อมลูกหมากกับลำไส้ตรงเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของตำแหน่ง จากนั้นแพทย์จะฉีดสารไฮโดรเจลซึ่งอยู่ในรูปแบบน้ำเข้าไปที่ช่องว่างนั้น เมื่อไฮโดรเจลเข้าสู่ร่างกาย จะเปลี่ยนสภาพเป็นเจลและช่วยขยายช่องว่างระหว่างต่อมลูกหมากกับลำไส้ตรงให้มีขนาดกว้างยิ่งขึ้น ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะใช้เวลาเพียง 10-20 นาที ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้หลังจากทำหัตถการ โดยร่างกายจะดูดซึมไฮโดรเจลไปตามธรรมชาติจนหมดภายในเวลา 6 เดือน

นพ. ธีระพล อมรเวชสุกิจ แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ศูนย์ทางเดินปัสสาวะ เป็นหนึ่งในศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ที่มีทีมแพทย์เฉพาะทางและทีมสหสาขาวิชาชีพที่มีประสบการณ์สูง ซึ่งปัจจุบัน ได้ให้การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบทางเดินปัสสาวะไปแล้วกว่า 1,500 รายต่อปี และประมาณ 300 รายในนั้น คือผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ที่รักษาด้วยการใช้รังสีรักษา เรามุ่งมั่นและไม่หยุดพัฒนาที่จะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในการดูแลรักษาโรคเฉพาะทางได้อย่างครอบคลุม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นให้กับผู้ป่วย

ในปัจจุบัน การแพทย์จีโนมิกส์ (Genomic Medicine) หรือ เวชศาสตร์จีโนม นับเป็นความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มาพลิกโฉมวงการแพทย์ทั่วโลก โดยใช้ข้อมูลทางพันธุกรรมมนุษย์มาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลทางคลินิกและข้อมูลแวดล้อมอื่น ๆ เพื่อการตรวจวินิจฉัยและการพยากรณ์โรคที่แม่นยำ การเลือกรูปแบบการรักษาและการใช้ยาแบบมุ่งเป้าเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ตรงจุด รวมไปถึงการทำนายความเสี่ยงในการเกิดโรค และการสร้างเสริมสุขภาพโดยใช้ข้อมูลในเชิงป้องกัน

ดร. อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า เรามุ่งมั่นพัฒนาการรักษาในระดับจตุตถภูมิ (Quaternary Care) และเป็นสถาบันด้านวิชาการทางการแพทย์ (Academic Hospital) มีฝ่ายวิจัยและศึกษา ที่มีบุคลากรระดับปริญญาเอก เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง ทั้งการสร้างองค์ความรู้ใหม่ รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยและปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการดำเนินความร่วมมือกับสถาบันทางวิชาการและมหาวิทยาลัยในระดับประเทศ รวมถึงบริษัทเอกชนต่างประเทศ เพื่อส่งมอบการดูแลรักษาตามมาตรฐานสากลและความปลอดภัยสูงสุด โดยมุ่งหวังให้ผู้ป่วยและผู้ที่มารับบริการของเราทุกคนมีสุขภาพแข็งแรงและมีอายุที่ยืนยาวอย่างมีคุณภาพ

ผศ.นพ. พลกฤต ทีฆคีรีกุล Chief Scientific Officer โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้ยกระดับจาก คลินิกพันธุศาสตร์เชิงป้องกัน (Preventive Genomic Clinic) เป็น “ศูนย์เวชศาสตร์จีโนม บำรุงราษฎร์ (Bumrungrad Genomic Medicine Center)” ซึ่งเป็นผู้นำในการนำเทคโนโลยีและความรู้ด้านพันธุกรรมมาใช้ในเชิงป้องกันให้แก่ผู้ป่วยอย่างครบวงจรเป็นที่เดียวในประเทศไทย โดยส่งมอบการดูแลรักษาสุขภาพในระยะยาว ที่มุ่งเน้นมาตรฐานคุณภาพในทุก ๆ ด้าน ตั้งแต่การตรวจวิเคราะห์พันธุกรรมในเชิงป้องกันเพื่อค้นหาความเสี่ยงในการเกิดโรค ภายใต้ห้องปฏิบัติการของตนเองที่ได้การรับรองมาตรฐานในระดับสากล จากวิทยาลัยพยาธิแพทย์อเมริกัน College of American Pathologists (CAP) โดยทีมแพทย์เฉพาะทาง ผู้เชี่ยวชาญในห้องปฏิบัติการ และผู้ชำนาญคุณวุฒิระดับปริญญาเอก ที่ร่วมกันกำหนดแนวทางการดูแลผู้ป่วยที่ดีและเหมาะสมที่สุด ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง จนทำให้โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกที่ได้รับการรับรองเป็น ผู้ให้บริการด้านเวชศาสตร์จีโนม จากกระทรวงสาธารณสุข

นพ. ชนินทร์ ลิ่มวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านเวชพันธุศาสตร์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตระหนักถึงความสำคัญของการบริบาลทางการแพทย์ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งสามารถตรวจวิเคราะห์ถอดรหัสยีนได้อย่างแม่นยำ เพื่อบ่งบอกแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย โดยเฉพาะการรักษาโรคซับซ้อน และเพื่อประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคบางชนิดที่สามารถส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคอื่น ๆ ที่มีสาเหตุจากพันธุกรรมและถ่ายทอดทางพันธุกรรม ในปัจจุบันมีการตรวจรหัสพันธุกรรมเชิงลึก โดยการถอดรหัสพันธุกรรมของยีนทั้งหมดในมนุษย์ (Whole Exome Sequencing) ที่ช่วยค้นหายีนในโรคทางพันธุกรรมที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคหายาก

นอกจากนี้ การตรวจยีนของคู่สมรสที่วางแผนการตั้งครรภ์ จะช่วยคัดกรองและป้องกันความเสี่ยงของการเกิดโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ที่อาจส่งผลกระทบต่อบุตรได้ โดยโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีการตรวจยีนแฝงที่สามารถช่วยเรื่องการวางแผนการมีบุตร ไม่ว่าจะเป็น การตรวจหาความผิดปกติของยีนคู่สมรสที่สามารถส่งต่อโรคไปยังบุตร การตรวจหาความผิดปกติของยีนก่อเกิดโรคในทารก การตรวจหาโรคทางพันธุกรรมในทารกที่ยังอยู่ในครรภ์มารดา รวมถึงการตรวจหาความผิดปกติของยีนในตัวอ่อนก่อนฝังเข้าสู่โพรงมดลูก ในกรณีที่ผสมตัวอ่อนด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว

ศ.ดร.ภก. ชลภัทร สุขเกษม ที่ปรึกษาด้านเภสัชพันธุศาสตร์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีการนำนวัตกรรม “การตรวจยีนเพื่อเลือกใช้ยาเฉพาะบุคคล” หรือที่เรียกว่า “เภสัชพันธุศาสตร์และการแพทย์แม่นยำ (Pharmacogenomics and Precision Medicine)” มาใช้เพื่อการดูแลผู้ป่วยและผู้มารับบริการ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพ้ยา รวมถึงเพื่อให้แพทย์สามารถจ่ายยาได้ในปริมาณที่เหมาะสม และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับผู้ป่วยแต่ละบุคคล โดยโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้นำนวัตกรรมการตรวจยีนเพื่อการปรับขนาดยาเฉพาะบุคคลมาใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยในกลุ่มโรคต่าง ๆ ด้วยการดำเนินงานภายในห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลในระดับสากล ที่มีจุดเด่นในการตรวจวิเคราะห์ยีนที่ครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร ในกลุ่มผู้ป่วยทุกเชื้อชาติ และสามารถแปลผลได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ตามมาตรฐานคุณภาพความปลอดภัยและมอบความมั่นใจอย่างสูงสุดให้กับผู้ป่วย

นอกจากนี้ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ยังเป็นแหล่งฝึกอบรมเภสัชกรเฉพาะทางด้านเภสัชพันธุศาสตร์และการแพทย์แม่นยำ รวมถึงเป็นสถาบันร่วมในการเสริมสร้างและสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเวชพันธุศาสตร์ที่หลากหลาย เช่น แพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ และผู้ให้คำปรึกษาด้านพันธุกรรม (Genetic Counselor) ไม่เพียงเท่านั้น ศูนย์เวชศาสตร์จีโนมของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ยังมีการศึกษาวิจัยทางเภสัชพันธุศาสตร์เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพื่อพัฒนาระบบการให้บริการด้านเภสัชพันธุศาสตร์อย่างต่อเนื่อง และยังสามารถต่อยอดไปใช้ในการแพทย์เชิงป้องกันในผู้มารับบริการที่มีสุขภาพดี เพื่อให้ผู้มารับบริการมีข้อมูลพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองต่อยาติดไว้กับตัว และสามารถเชื่อมโยงกับระบบบริการสุขภาพแบบองค์รวมได้ นอกจากนี้ยังดำเนินการขยายการเข้าถึงการตรวจโดยระบบ Home Healthcare และร้านยาใกล้บ้าน ให้ได้รับการรักษาด้วยยาที่มีความปลอดภัยสูงสุดและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไทย

ผศ.นพ. พลกฤต ทีฆคีรีกุล กล่าวปิดท้ายว่า โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เป็นผู้นำในการนำเทคโนโลยีและความรู้ด้านพันธุกรรมมาใช้ในการวินิจฉัย ร่วมกับการรักษา ป้องกันโรค และดูแลสุขภาพองค์รวม นอกเหนือจากเรื่องเวชศาสตร์จีโนมแล้ว เรายังนำความรู้เรื่องมัลติโอมิกส์ (Multi-omics) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย มาใช้ในการตรวจรักษา โดยช่วยให้ทราบถึงความเสี่ยงของการเกิดโรคจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่ไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ รวมถึงการใช้ประโยชน์จาก AI ในการแปรผลยีนเพื่อให้มีความแม่นยำมากขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อการดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการต่อยอดความรู้ด้านจีโนมิกส์ สู่การพัฒนาด้านเวชศาสตร์เชิงป้องกัน เพื่อส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีอย่างยืนยาวและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คนอย่างยั่งยืน

นับเป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ที่ไม่เคยหยุดยั้งในการพัฒนาองค์ความรู้ และการแสวงหาการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อส่งมอบการบริบาลด้วยความเอื้ออาทรและเพื่อผลลัพธ์การรักษาในเชิงบวก โดยคำนึงถึงคุณภาพการรักษาที่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากลและความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด

สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการรักษาได้ที่ศูนย์เวชศาสตร์จีโนม บำรุงราษฎร์ (Bumrungrad Genomic Medicine Center) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ชั้น 3 อาคาร B (โรงพยาบาล) โทร. 02 011 4890 หรือ 02 011 4891 (เวลาทำการ 8:00-18:00 น.)

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ขอแสดงความยินดีกับ รศ.คลินิก นพ. ทศพล เกิดศิริชัยรัตน์, FASGE แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ในโอกาสที่ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการการประชุม Digestive Disease Week (DDW) ระหว่างปี 2563-2567 โดยเป็นแพทย์ไทยคนแรกที่ได้รับเลือกให้เป็นประธานการประชุมเสวนาทางวิชาการด้านการตรวจระบบทางเดินอาหารโดยการส่องกล้องติดอัลตราซาวด์ หรือ Endoscopic Ultrasound (EUS) ของสมาคม American Society for Gastrointestinal Endoscopy (ASGE)

รศ.คลินิก นพ. ทศพล มีบทบาทสำคัญในการคัดเลือกและทบทวนงานวิจัยจากทั่วโลกสำหรับนำเสนอในการประชุมดังกล่าว โดยได้ดำเนินงานร่วมกับคณะผู้บริหารสมาคม ASGE อย่างใกล้ชิด ในการนำเสนอหัวข้อในเวทีสำคัญ ได้แก่

  1. Pancreatic EUS: Navigating Genomic Frontiers
  2. Pioneering Therapeutic EUS Techniques in Pancreatic and Small Bowel
  3. Effective Biliary Drainage - EUS is the New Kid in Town

ยิ่งไปกว่านั้น รศ.คลินิก นพ. ทศพล ยังได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานประกาศรางวัล Crystal Awards Night ซึ่งเป็นงานสำหรับผู้นำและผู้เชี่ยวชาญด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหารเท่านั้น โดยได้ร่วมแสดงความยินดีกับ ศ. นพ. มาร์ติน แอล. ฟรีแมน ผู้รับรางวัล ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา (mentor) ของ รศ.คลินิก นพ. ทศพล ขณะศึกษาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา และเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ รศ.คลินิก นพ. ทศพล ได้รับการตอบรับเข้าฝึกอบรมการส่องกล้องขั้นสูงที่ Johns Hopkins University

นอกจากนี้ รศ.คลินิก นพ. ทศพล ยังได้ร่วมแสดงความยินดีกับลูกศิษย์ ในฐานะที่ปรึกษาที่สามารถผลักดันลูกศิษย์ให้ได้รับการตอบรับเข้าฝึกอบรมการส่องกล้องขั้นสูงที่ Johns Hopkins University ได้ โดยเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาเพียงคนเดียวที่อาศัยอยู่นอกสหรัฐอเมริกาของสมาคม ASGE และสมาคม American College of Gastroenterology (ACG)

การได้รับเกียรติในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมและความทุ่มเทของ รศ.คลินิก นพ. ทศพล ในการพัฒนาองค์ความรู้และการปฏิบัติทางการแพทย์ในระดับโลก 

Page 1 of 9
X

Right Click

No right click