ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ชูนวัตกรรมอัจฉริยะจาก AI คลาวด์ และ IoT ยกระดับศักยภาพธุรกิจเอสเอ็มอีไทยให้ทัดเทียมองค์กรขนาดใหญ่บนเวทีโลก ในงาน Microsoft Innovation Conference ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ เพื่อให้คำแนะนำทั้งในเชิงเทคนิคและกลยุทธ์กับผู้บริหารและพนักงานฝ่ายไอทีของธุรกิจเอสเอ็มอีทั่วไทย และนำเสนอโซลูชันเด่นที่พร้อมเร่งประสิทธิภาพให้กับทุกองค์กร
ภายในงาน ทีมผู้บริหารไมโครซอฟท์ นำโดยนายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เสนอแนะแนวทางการนำเทคโนโลยีระดับโลกมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับธุรกิจในทุกประเภทและอุตสาหกรรม ทั้งยังเจาะลึกแนวคิด “Three Clouds” กับการผสมผสาน 3 โซลูชันและแพลตฟอร์มคลาวด์ของไมโครซอฟท์อย่าง อาซัวร์ Office 365 และ Dynamics 365 เข้าด้วยกันเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้รุดหน้าอย่างรวดเร็วและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
“คำพูดที่ว่า ‘AI มีอยู่ทุกหนแห่ง’ นั้น กำลังใกล้ความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทย เพราะไม่ว่าจะเป็นแชทบอทของร้านค้าที่ตอบคำถามของลูกค้าอย่างอัตโนมัติ หรือระบบ Electronic Know-Your-Customer สำหรับการยืนยันตัวตนลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัลของธนาคาร ก็ล้วนทำงานโดยมี AI เป็นเทคโนโลยีพื้นฐานอยู่เบื้องหลัง” นายธนวัฒน์กล่าว “AI และคลาวด์ ไม่ได้เป็นเทคโนโลยีที่อยู่ไกลเกินเอื้อมของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย เพราะเงินทุนไม่ใช่อุปสรรคในการนำนวัตกรรมเหล่านี้มาใช้งานให้เต็มประสิทธิภาพอีกต่อไป แต่กลับเป็นเรื่องของกลยุทธ์และแนวคิดในการพัฒนาธุรกิจที่ยังขาดหายไปอยู่ โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่มีธุรกิจเพียง 26% เท่านั้นที่นำ AI มาเป็นหัวใจหลักในกลยุทธ์ทางธุรกิจ เราเชื่อว่าธุรกิจในยุค AI จะต้องมี Tech Intensity หรือความเข้มข้นในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ผ่านทางการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมและรูปแบบการทำงานให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมใหม่ที่เปี่ยมด้วยศักยภาพจากเทคโนโลยี”
ยกระดับประสบการณ์ให้กับลูกค้า พร้อมเสริมความคล่องตัวให้พนักงานและองค์กร ด้วยโซลูชันคุณภาพจากพันธมิตรของไมโครซอฟท์
ในโอกาสนี้ ไมโครซอฟท์ได้จับมือกับพันธมิตรผู้พัฒนาและติดตั้งโซลูชันชั้นนำในประเทศไทยเพื่อร่วมกันจัดแสดงผลิตภัณฑ์และบริการล่าสุดสำหรับทั้งกลุ่มเอสเอ็มอีและธุรกิจขนาดใหญ่ โดยครอบคลุมการทำงานในหลายด้าน นับตั้งแต่ประสบการณ์ของลูกค้าไปจนถึงระบบงานภายในองค์กร เช่น Wolf Approve ระบบการขออนุมัติเอกสารออนไลน์ผ่านคลาวด์ โดยบริษัท เทคคอนส์บิส จำกัด จะช่วยลดความซับซ้อนในการเดินเอกสารทั่วไปภายในองค์กร เช่นการขอเบิกค่าใช้จ่าย เบี้ยเลี้ยง หรือการยื่นใบลา เป็นต้น ด้วยการสร้างแบบฟอร์มและกระบวนการอนุมัติที่เป็นดิจิทัลทั้งหมดบนแพลตฟอร์มคลาวด์ ไมโครซอฟท์ อาซัวร์
คุณสิโรฒม์ ทัศนัยพิทักษ์กุล Solution Specialist จากเทคคอนส์บิส เผยว่า “นอกจากจะเป็นการย้ายระบบงานเอกสารจำนวนมากขององค์กรให้กลายเป็นระบบดิจิทัลที่ไม่ต้องพึ่งพากระดาษแล้ว Wolf Approve ยังรองรับการตั้งเงื่อนไขการอนุมัติเอกสารได้โดยอัตโนมัติ ตามรูปแบบการทำงานของแต่ละบริษัท ไม่สับสนในการส่งเอกสารไปหาผู้อนุมัติที่ถูกต้องอีกต่อไป ทั้งยังเปิดให้ใช้งานได้ผ่านแอปพลิเคชันในอุปกรณ์พกพาต่างๆ จึงทำให้พนักงานและผู้อนุมัติเอกสารสามารถทำเรื่องและอนุมัติคำร้องต่างๆ ได้จากทุกที่ ทุกเวลา แม้ในขณะเดินทาง”
ส่วนโซลูชัน Smart Self-Checkout จุดชำระเงินซื้อสินค้าแบบอัจฉริยะ โดย บริษัท ริเวอร์พลัส จำกัด นำบริการ Custom Vision บนแพลตฟอร์มอาซัวร์ มาพัฒนาต่อยอดเป็นระบบ AI ที่สามารถแยกแยะวัตถุตรงหน้าเพื่อให้บริการลูกค้าได้โดยอัตโนมัติ เช่นในกรณีตัวอย่างของร้านเบเกอรี่ ที่สามารถฝึกสอนให้ AI ดังกล่าวจดจำลักษณะของขนมปังแต่ละชนิดจากภาพที่มองเห็นผ่านกล้อง เมื่อลูกค้านำถาดมาวางใต้กล้อง AI จะระบุชื่อสินค้า ระบุราคา ปริมาณแคลอรี่ โปรโมชั่น สิทธิพิเศษสำหรับสมาชิก หรือข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องบนหน้าจอได้ทันที นอกจากนี้ AI และแพลตฟอร์มอาซัวร์ ยังสามารถเก็บข้อมูลอื่นไม่ว่าจะเป็นยอดขาย สินค้าขายดี อายุ เพศ ความพึงพอใจของผู้ซื้อ ซึ่งฟังก์ชั่นดังกล่าวสามารถนำมาดัดแปลงให้เข้ากับการทำงานในแต่ละธุรกิจได้อีกด้วย
“เทคโนโลยีด้าน Machine Vision หรือการมองเห็นของระบบคอมพิวเตอร์ ที่ทางริเวอร์พลัสพัฒนาขึ้นมานั้น ไม่ได้ใช้ได้เพียงแต่ในกรณีนี้เพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในเชิงอุตสาหกรรมได้อีกหลากหลายรูปแบบด้วย เช่นในกรณีของการตรวจสอบรหัสชิ้นส่วนหรือคุณภาพสินค้าในสายการผลิต เป็นต้น” คุณจิราภรณ์ ตีระมาศวณิช ผู้จัดการทั่วไปของริเวอร์พลัสเผย
บริษัท จีเอเบิล จำกัด ได้นำโซลูชันระบบงานฝ่ายทรัพยากรบุคคล Staffio และระบบจัดทำ นำส่ง และจัดเก็บข้อมูลภาษีแบบครบวงจรบนคลาวด์ Taxircle มาจัดแสดงภายในงาน โดย Staffio เป็นระบบที่รองรับงานทั้งในด้านโครงสร้างองค์กร การบริหารจัดการพนักงานเป็นรายบุคคล การบันทึกเวลางาน วันลาหยุด การจัดการเงินเดือน ส่วน Taxircle จะช่วยแปลงข้อมูลจากระบบบัญชีให้กลายเป็นรูปแบบดิจิทัลอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ พร้อมนำส่งไปยังกรมสรรพากรและคู่ค้าได้ทันที และเก็บรักษาข้อมูลได้ปลอดภัย ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ
คุณปณต กาญจนศูนย์ หัวหน้าแผนกการตลาดและดิจิทัลโซลูชันจากจีเอเบิล เสริมอีกว่า “เราต้องการนำโซลูชันดิจิทัลเข้ามาช่วยให้ธุรกิจสามารถบริหารจัดการข้อมูลและระบบงานที่มีในมือได้เต็มประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำงานได้ง่ายขึ้น ทั้ง Staffio และ Taxircle เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มผลิตภัณฑ์และบริการ Corporate Digital Solution ของจีเอเบิล ซึ่งไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะงานด้าน HR และภาษีเท่านั้น แต่ยังมีโซลูชันด้านการตลาดแบบดิจิทัลแบบครบวงจรที่เพียบพร้อมด้วยระบบวิเคราะห์ข้อมูลหลากหลายรูปแบบอีกด้วย”
ทางสตาร์ทอัพไทย ฟีดแบค 180 ได้ใช้ความเชี่ยวชาญของบุคลากรฝ่ายวิจัยและพัฒนาในบริษัทมาสร้างสรรค์โซลูชัน Closed Loop Feedback ซึ่งนำ AI และ machine learning มาช่วยให้ธุรกิจได้รับรู้และเข้าใจในเสียงตอบรับจากลูกค้าในทุกช่องทางอย่างกว้างขวางและลึกซึ้งมากขึ้น โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาระบบช่วยวิเคราะห์และตีความความคิดเห็นจากข้อความภาษาไทยที่ถูกโพสท์ลงบนโลกออนไลน์
คุณยงยุทธ ทรงศิริเดช ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการของฟีดแบค 180 เผยว่า “เป้าหมายของเราคือการสร้างเทคโนโลยีที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างแม่นยำในด้านการทำความเข้าใจในตัวลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการแยกแยะและจดจำลักษณะของลูกค้าที่แวะมาที่หน้าร้านค้าหรือสาขา หรือการเปลี่ยนกระแสเสียงตอบรับของฐานลูกค้าให้กลายเป็นข้อเสนอพิเศษที่ตรงเป้า โดยที่ลูกค้าองค์กรสามารถเลือกเติมความสามารถให้กับโซลูชัน Closed Loop Feedback ให้เหมาะสมกับการใช้งานจริงได้ตามต้องการ เช่นโมดูล Social Voice ที่รองรับการวิเคราะห์ข้อความเกี่ยวกับแบรนด์หรือสินค้าที่กำหนดไว้ในโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ ความเชี่ยวชาญของเราในด้านการวิเคราะห์และทำความเข้าใจภาษาด้วย AI ยังช่วยให้เราสามารถสร้างระบบคลังความรู้ภายในองค์กรแบบ Knowledge Graph ที่ค้นหาข้อมูลได้ด้วยประโยคคำถามที่เรียบเรียงแบบธรรมชาติและไม่ตายตัว”
ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโซลูชัน AI ของไมโครซอฟท์ได้ที่
https://news.microsoft.com/apac/features/artificial-intelligence/
ลักษณะของ SME 4.0 คือ การรวม Transformation กับ Innovation เข้าไว้ด้วยกันและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Trend) ติดปีกให้กับธุรกิจ คุณสุมาวสี ศาลาสุข ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายธุรกิจดิจิทัล ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย กล่าวอธิบายถึงการก้าวไปสู่โลกใหม่ของธุรกิจในยุค Digital 4.0 นี้ว่า “สิ่งแรกคือการเริ่มต้นด้วยการทำ Digital Transformation โดยการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ประยุกต์หรือปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน (Digitization) ช่วยลดต้นทุน ทำให้สะดวกรวดเร็วและตรวจสอบได้ ต่อมาคือการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในเรื่องของขั้นตอนการผลิตและการออกแบบ Packaging ไม่ว่าจะเป็น 3D Printing, Visual Marketing หรือ VR และส่วนสุดท้ายคือ การนำเอาการซื้อขายขึ้นไปอยู่ใบแพลตฟอร์มออนไลน์ (Digital Trend) เพิ่มช่องทางการขายที่ควบคู่ไปกับการมีหน้าร้าน สถิติจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมพบว่ามี SME ในประเทศไทยใช้เทคโนโลยีในการบริหารกิจการ 27 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ไม่รวมช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ อย่างกรณีของ Line ที่มีคนไทยใช้งานมากถึง 42 ล้านคนจากจำนวน 46 ล้านคนทั่วประเทศที่มีโทรศัพท์มือถือ รวมไปถึงการใช้ Facebook เป็นช่องทางการตลาดสูงถึง 2 ล้านแอคเคาน์สูงที่สุดในอาเชียน เพราะฉะนั้น หากเราสามารถใช้ Line หรือ Facebook เป็นช่องทางในการสื่อสารระหว่างธุรกิจกับกลุ่มลูกค้าก็จะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมหาศาลได้ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที”
อีกสิ่งสำคัญในการปรับตัวในภาคธุรกิจให้เข้ากับโลกดิจิทัลในตอนนี้ คือ Digital Innovation ซึ่งเป็นการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา เริ่มจากกระบวนการวางแผน Business Model Innovation เพื่อสร้างคุณค่าธุรกิจใหม่ร่วมกับลูกค้า Service Innovation การสร้างนวัตกรรมบริการที่เปลี่ยนสินค้าให้เป็นบริการ และ Technology Innovation สร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีให้กับธุรกิจ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างรูปแบบทางการทำธุรกิจแนวใหม่ขึ้นมาได้หมด ธุรกิจในลักษณะไหนก็สามารถคิดและเริ่มต้นทำได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็น Start up เสมอไป
ปัจจุบัน Digital Trend ที่มีผลต่อภาคธุรกิจแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มที่ทำให้เกิดการเชื่อมต่อทั้งจากธุรกิจสู่ลูกค้าหรือระหว่างคู่ค้า (Connectivity) เช่น แอพลิเคชั่น โซเชียลมีเดีย และ IoT ต่อมาคือกลุ่มที่ช่วยในการตัดสินใจ (Insight & Intelligent) อย่างพวก Big Data, AI และ Cloud Computing ทำให้ผู้บริหารสามารถวิเคราะห์แนวโน้มและทิศทางในการวางกลยุทธ์เพื่อนำพาธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสุดท้ายคือกลุ่มที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ระบบ (Trust Protocol) ตัวอย่างเช่น Distributed Ledger, High Performance Computer และ Blockchain สำหรับ Blockchain ในภาคธุรกิจจะถูกนำมาใช้บริหารจัดการข้อมูลการทำธุรกรรมต่างๆ ระหว่างเครือข่าย ทำให้การติดต่อกับคู่ค้าจำนวนมากทำได้อย่างรวดเร็ว เพราะข้อมูลทุกอย่างจะถูกอัพโหลดเข้าไปอยู่ในระบบ มีการจัดการตามเงื่อนไขเฉพาะที่สร้างขึ้นมาสำหรับ Supplier แต่ละเจ้า ย่นระยะเวลาในการดำเนินงานและเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสัญญาทุกคนในเครือข่ายจะมีโอกาสได้เห็นพร้อมกัน สามารถตรวจสอบได้และปลอดภัยจากการเจาะระบบโดยไม่ได้รับอนุญาต
นอกจากนี้ คุณสุมาวลียังได้สรุปประโยชน์ของ Blockchain ต่อธุรกิจขนาดกลางและย่อยไว้อย่างน่าสนใจว่า
“อย่างแรกเลย Blockchain เปิดโอกาสให้ธุรกิจรายย่อยมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้นจากเดิม ด้วยระบบการระดมทุนออนไลน์ (Crowdfunding) และในอนาคตสถาบันการเงินก็อาจมีการพัฒนาระบบสินเชื่อให้เข้าถึงคนได้มากที่สุดผ่าน Nano Finance Application ยิ่งไปกว่านั้น Blockchain ยังช่วยประหยัดเวลาในการดำเนินงานตัดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นออกไป ลดต้นทุนแรงงาน ลดอัตราการแลกเปลี่ยนในธุรกิจที่มีการติดต่อกับ Supplier หลายเจ้า ที่สำคัญคือความปลอดภัยในการควบคุมข้อมูลต่างๆ ภายในองค์กรโดยมีการกำหนดบทบาทของผู้เข้าถึงเอาไว้ชัดเจน”
จริงๆ แล้ว Blockchain ก็คือ Protocol หนึ่งที่สามารถประยุกต์ใช้ได้หลากหลายและในตอนนี้ภาครัฐก็มีความพยายามในการออกกฏหมายทั้งในส่วน Digital Asset และเร็วๆ นี้อาจจะมีกฏหมายเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลออกมาซึ่งจะไปสอดคล้องกับการใช้งาน Blockchain มากขึ้น เทคโนโลยีดิจิทัลไม่ใช่สิ่งที่เราต้องกลัวหรือเป็นกังวล แต่สิ่งที่เราควรทำคือเรียนรู้และใช้งานสิ่งเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดเพื่อยกระดับธุรกิจของท่านไปสู่โลกยุค Digital 4.0 ด้วยกัน
สามารถรับชมคลิปวิดีโอ หัวข้อ Blockchain and SME 4.0
โดย สุมาวสี ศาลาสุข ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายธุรกิจดิจิทัล | ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
จากงาน Blockchain Talk ได้ที่นี่
เรื่องโดย : กองบรรณาธิการ
Kinesis Money ระบบเงินตราดิจิทัลที่อิงสินทรัพย์จริง ประกาศสร้างความร่วมมือกับ TicketSocket แพลตฟอร์มการจองตั๋ว ลงทะเบียน และจัดอีเวนต์ที่มีประสิทธิภาพและสามารถปรับแต่งตามความต้องการของลูกค้า
ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ สกุลเงินของ Kinesis จะถูกรวมเป็นตัวเลือกการชำระเงินบนแพลตฟอร์ม TicketSocket ซึ่งเป็นผู้ให้บริการซอฟต์แวร์แก่ทีมกีฬาอาชีพ บริษัททัวร์ และสถานที่จัดงานขนาดใหญ่ทั่วโลก ดังนั้น ลูกค้าจึงสามารถซื้อตั๋วเข้าร่วมกิจกรรมระดับโลกได้โดยใช้สกุลเงินดิจิทัลของ Kinesis
สกุลเงินดิจิทัลของ Kinesis ผสานเสถียรภาพของทองคำและโลหะเงิน เข้ากับประสิทธิภาพของบล็อกเชนในฐานะสื่อกลางการแลกเปลี่ยน สกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้อิงกับทองคำแท่งจริงในอัตราส่วน 1:1 และได้รับการเก็บรักษาในตู้นิรภัยทั่วโลกโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย สกุลเงินดังกล่าวสามารถถือครองหรือถ่ายโอนระหว่างกระเป๋าเงินดิจิทัลของ Kinesis ผ่านเครือข่ายบล็อกเชนที่ปลอดภัย ทั้งยังสามารถใช้จ่ายอย่างง่ายดายโดยใช้บัตรเดบิตได้ทุกที่ที่รับบัตร Visa/Mastercard
ความร่วมมือระหว่าง Kinesis และ TicketSocket ในครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำศักยภาพในการใช้งานสกุลเงินของ Kinesis ในโลกแห่งความจริง
คุณ Ryan Case ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ของ Kinesis Money กล่าวว่า "ผู้ถือครองสกุลเงินดิจิทัลอิงทองคำหรือโลหะเงิน ซึ่งมีเสถียรภาพและไม่เผชิญความเสี่ยงเหมือนกับสกุลเงินดิจิทัลที่อิงเงินกระดาษ สามารถใช้สกุลเงินเหล่านี้ในโลกแห่งความจริงได้มากขึ้น เช่น ใช้ซื้อตั๋วเพื่อชมการแสดงหรือการแข่งขันกีฬา เป็นต้น"
"ผู้ถือครองสกุลเงินของ Kinesis ไม่เพียงได้รับประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้สกุลเงินดังกล่าวในการทำธุรกรรมในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย"
คุณ Kai M. Blache ประธานของ TicketSocket กล่าวว่า "เรารู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้ร่วมมือกับ Kinesis เพื่อนำเสนอตัวเลือกการชำระเงินรูปแบบใหม่ให้แก่ลูกค้าของเรา และเราจะนำ Kinesis มาสนับสนุนประสบการณ์ในการจองตั๋วและการจัดอีเวนต์ตามความต้องการของลูกค้า"
คุณ Ryan สรุปว่า "ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นตัวอย่างสำคัญของการใช้สกุลเงินดิจิทัลของ Kinesis ในโลกแห่งความจริง การที่ TicketSocket สนับสนุน Kinesis เป็นทางเลือกในการชำระเงิน ทำให้เราเข้าใกล้เป้าหมายสูงสุดในการปฏิวัติระบบเงินตราที่เราใช้กันในปัจจุบัน
บริษัทบล็อกเชนไฮบริด XinFin แพลตฟอร์มบล็อกเชนไฮบริดแบบเปิด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มผู้สนับสนุนระยะยาว เครือข่ายสาธารณูปโภค และนักพัฒนาเทคโนโลยี เรียกร้องให้ธนาคารกลาง ธนาคารเพื่อการพัฒนา กองทุนบำเหน็จบำนาญ และบริษัทประกัน ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือเพื่ออุดช่องว่างด้านโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกที่มีมูลค่าสูงถึง 15 ล้านล้านดอลลาร์
โดย Joseph Appalsamy ประธานฝ่ายการพัฒนาธุรกิจของ XinFin กล่าวถึงประโยชน์ของบล็อกเชนที่มีต่อกลุ่มความร่วมมือว่า มีนักลงทุนกลุ่ม Global Public Investors (GPI) เพียง 25% ที่ลงทุนในโครงการขั้นต้น เนื่องจากเหตุผลด้านความเสี่ยง แล้วบล็อกเชนสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการระดมทุน ลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรม ช่วยให้กระบวนการต่างๆเป็นไปอย่างอัตโนมัติและราบรื่น ช่วยเตรียมข้อมูลประสิทธิภาพของสินทรัพย์แบบเรียลไทม์ รวมถึงจะช่วยในการแลกเปลี่ยนได้หรือไม่ คำตอบคือได้อย่างแน่นอน
XinFin ยืนยันว่า การแปลงสินทรัพย์โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพด้วยเทคโนโลยี tokenization จะเปิดทางให้สถาบันต่างๆ สามารถนำสินเชื่อบางส่วนที่ปลอดความเสี่ยงออกมาขายให้กับบริษัทประกันที่ต้องการอัตราผลตอบแทนระดับสาธารณูปโภค
XinFin เสนอกับบรรดานักลงทุนกลุ่ม GPI ว่า แม้ว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนกำลังอยู่ระหว่างการทดสอบ แต่ก็ควรมีการนำมาใช้ในกลุ่มความร่วมมือ เพื่อสร้างมาตรฐานของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในฐานะสินทรัพย์เพื่อการลงทุน (IAC) โดยใช้เทคโนโลยี tokenization ในสภาพแวดล้อมแบบ sandbox จึงเรียกโครงการนี้ว่า “Project Sandbox” ทั้งนี้ GPI ที่สนใจเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มความร่วมมือ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.tradefinex.org/publicv/partnership และมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระดับโลกนี้
Atul Khekade ประธานฝ่ายการพัฒนาระบบนิเวศ กล่าวว่า การนำโทเคน ERC-721 และ DLT มาใช้กับ XDC Protocol เปิดทางให้นักลงทุนสถาบันสามารถระดมทุนเพื่อเป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่บางส่วน อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มสภาพคล่อง นักลงทุนรายใหญ่สามารถกระจายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหลายๆโครงการ ขณะที่นักลงทุนรายย่อยเองก็สามารถลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานซึ่งอาจเคยเป็นโครงการที่ใหญ่เกินกว่ากำลังของตนเอง
กลุ่มความร่วมมือ TradeFinex IAC มีเป้าหมายที่จะพัฒนาแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด พร้อมสร้างมาตรฐานให้กับเครื่องมือทางการเงินต่างๆ รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อผลักดันให้เป็นนโยบายและกรอบการทำงานที่เหมาะสม
ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ XinFin ได้หารือกับธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ว่าด้วยเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นประเด็นที่ XinFin ให้ความสนใจ เพื่อพิสูจน์แนวคิดบล็อกเชนแบบ Proof of stake ที่แสดงให้เห็นว่า การทำเหมืองขุดเงินดิจิทัลแบบใช้พลังงานสูงไม่จำเป็นสำหรับบล็อกเชนไฮบริดระดับองค์กรอีกต่อไป ส่งผลให้กลายเป็น "กรีนบล็อกเชน"