December 22, 2024

มินเทล ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยความต้องการของผู้บริโภคและเหตุผลเบื้องหลัง ได้เผยแพร่แนวโน้ม 5 ประการที่มีผลกระทบต่อตลาดผู้บริโภคของโลกในปี 2566 และอีก 5 ปีนับจากนี้ โดยได้ให้ความสำคัญกับปัจจัย 7 ประการ อันได้แก่ ปัจจัยด้านอัตลักษณ์ สิทธิ สภาพแวดล้อม ประสบการณ์ เทคโนโลยี ความเป็นอยู่ที่ดี และคุณค่า ทั้งนี้แนวโน้มสำคัญนั้นประกอบไปด้วย

  • ใส่ใจตัวเองมากขึ้น: ผู้บริโภคจะกลับมาให้ความสนใจกับตนเองอีกครั้ง แบรนด์ควรช่วยสนับสนุนให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับตัวเอง
  • ส่งต่อพลังให้แก่ผู้คน: แบรนด์ควรให้ความสำคัญกับผู้บริโภค ในฐานะผู้ร่วมลงทุน ร่วมสร้างสรรค์ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกันกับแบรนด์
  • ความเหนื่อยล้าที่มากเกินไป: ผู้บริโภคเริ่มไม่สนใจเสียงรอบข้าง พวกเขาจะสนใจเพียงแต่สิ่งที่สำคัญต่อพวกเขาเท่านั้น
  • ให้ความสนใจกับสินค้าท้องถิ่น: การอุดหนุนผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเป็นวิธีที่ผู้บริโภคสามารถควบคุมการเงิน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อจิตใจ ในขณะที่พวกเขาได้ตอบแทนสังคมไปด้วย
  • การจับจ่ายอย่างรอบคอบ: ปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความยืดหยุ่น ความคงทน และความยั่งยืนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในสายตาของผู้บริโภคในการประเมินคุณค่ามากขึ้น

แมทธิว แครบบ์ (Matthew Crabbe) ผู้อำนวยการ Mintel Trends เอเชีย-แปซิฟิก กล่าวถึงผลกระทบของเทรนด์ต่อตลาด แบรนด์ และผู้บริโภคในปี 2566 และปีต่อ ๆ ไป ดังนี้:

ใส่ใจตัวเองมากขึ้น

“ในช่วงที่ผ่านมานี้ ผู้บริโภคมีแนวคิดเพื่อส่วนรวม โดยได้ลดความต้องการส่วนตัวลงและให้ความสำคัญกับด้านสาธารณสุขและความปลอดภัยของส่วนรวม เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดได้เริ่มคลี่คลายลง ผู้บริโภคจึงได้เริ่มกลับมาสนใจตัวเองอีกครั้ง

“เมื่อผู้บริโภคต้องการสร้างสิ่งใหม่ให้กับตัวตนของพวกเขา แบรนด์สามารถเติมเต็มความต้องการเหล่านั้นด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะและฝึกฝนความเชี่ยวชาญในด้านใหม่ ๆ สิ่งที่น่าสนใจคือ ความต้องการสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีจะเพิ่มมากขึ้น เพราะผู้บริโภคกำลังสำรวจและทำความเข้าใจกับสิ่งที่อาจจะถูกมองข้ามไป หากเรามองการณ์ไกลกว่านั้น ผู้บริโภคจะใช้เมตาเวิร์สในการสร้างตัวตนที่มีเอกลักษณ์และกลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อมดิจิทัลรอบ ๆ ตัว ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการกระจายของตัวตนในโลกออนไลน์ และจะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องในการคุ้มครองผู้บริโภคและข้อมูลส่วนตัว เนื่องจากข้อมูลการใช้งานดิจิทัลของผู้บริโภคมีความสำคัญและซับซ้อนมากกว่าเดิม”

ส่งต่อพลังให้แก่ผู้คน

“แบรนด์ควรให้ความสำคัญกับผู้บริโภคมากกว่าเดิม ผู้บริโภคในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลงแบรนด์ด้วยเงินและเสียงของพวกเขา ซึ่งจะไม่จบเพียงแค่คำว่า ‘ลูกค้าเป็นฝ่ายถูกเสมอ’ อีกต่อไป เพราะผู้บริโภคกำลังร่วมลงทุน ร่วมสร้างสรรค์ และร่วมลงความเห็นในการตัดสินใจเพื่อการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกันกับแบรนด์ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าวแบรนด์จึงต้องรับฟังและตอบสนอง ในขณะที่ยังคงให้ความสำคัญกับนวัตกรรมของตลาดในเวลาเดียวกัน

“ชุมชน NFT และ Web3 กำลังสร้างช่องทางใหม่ เพื่อรองรับการลงทุนจากผู้บริโภค เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ร่วมเป็นเจ้าของแบรนด์ และเชื่อมตัวเองเข้ากับความสำเร็จและการเติบโตของแบรนด์ ในอนาคต แบรนด์จะมุ่งดูแลตัวตนเฉพาะของผู้บริโภคที่จงรักภักดีต่อแบรนด์และตัดสินใจลงทุนในแบรนด์ ซึ่งจะทำให้เอกลักษณ์โดยรวมของแบรนด์เปลี่ยนไปเป็นหน่วยธุรกิจขนาดเล็กลงที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ตรงจุดมากขึ้น”

ความเหนื่อยล้าที่มากเกินไป

“การใช้ชีวิตที่ผ่านวิกฤติหนึ่งเพื่อมาพบกับอีกหนึ่งวิกฤติส่งผลต่อความเหนื่อยล้าของผู้บริโภคในหลายมิติ ในขณะเดียวกันการรับฟังข่าวสารและเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านสื่อและคอนเทนต์ดิจิทัลที่มากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น วิกฤตพลังงาน ความไม่สงบทางการเมือง และวิกฤตสภาพภูมิอากาศต่างส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วงต่อผู้บริโภค”

คุณแมทธิว กล่าวต่อไปว่า “ผู้บริโภคจะพบกับความหมายและความสบายใจจากการเชื่อมต่อกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ เชื่อมต่อกับชุมชน และเชื่อมต่อกับตัวเองอีกครั้ง การริเริ่มโครงการเพื่อการกุศลและชุมชนโดยเกิดจากการทำงานร่วมกันกับแบรนด์ที่สร้างแรงบันดาลใจ จะมีบทบาทที่แท้จริงในการรับมือกับระดับความเหนื่อยล้าของผู้บริโภค โดยสนับสนุนให้พวกเขาสามารถควบคุมชีวิตของตัวเอง และสร้างมุมมองเชิงบวกท่ามกลางวิกฤตทางการเงินที่กำลังเผชิญอยู่ ทั้งนี้ในช่วงห้าปีข้างหน้า คาดการณ์ว่าแบรนด์ต่าง ๆ จะสร้างขอบเขตและระเบียบในการเผยแพร่ข้อมูล และสร้างโครงการใหม่ ๆ ที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับทรัพยากรในด้านต่าง ๆ ได้ อาทิ เทคโนโลยี สุขภาพ และพื้นที่ในการพักผ่อน”

ให้ความสนใจกับสินค้าท้องถิ่น

“ท่ามกลางความไม่แน่นอนจำนวนมากในทั่วทุกมุมโลก เราจะเห็นความพยายามในการปกป้องทรัพยากรและสนับสนุนธุรกิจในท้องถิ่น นี่เป็นผลกระทบที่หลงเหลืออยู่จากสถานการณ์การแพร่ระบาด และยังเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของผู้บริโภคเกี่ยวกับสิ่งที่สำคัญต่อพวกเขา การเชื่อมต่อกับท้องถิ่นยังช่วยให้ผู้บริโภคสามารถควบคุมการเงิน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อจิตใจ ในขณะที่พวกเขาได้ตอบแทนสังคมไปด้วย

“ผู้บริโภคมักจะสนับสนุนผู้ผลิตที่มีถิ่นกำเนิดจากท้องถิ่น รวมถึงแบรนด์ที่ประทับความเป็นของแท้ดั้งเดิมในสิ่งที่ตนผลิตและจำหน่าย แนวคิด ‘ท้องถิ่นนิยม’ จะหมายถึงการสนับสนุนชุมชนที่ผลิตสินค้านั้น ๆ มากกว่าที่ ๆ ผู้บริโภคอยู่ และในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ผู้บริโภคจะมีความต้องการในการตรวจสอบย้อนกลับไปถึงวัตถุดิบและความโปร่งใสของแบรนด์เกี่ยวกับวิธีที่แบรนด์อนุรักษ์ทรัพยากรในท้องถิ่นมากขึ้น”

การจับจ่ายอย่างรอบคอบ

“ผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจกับสิ่งที่มีความหมายต่อตนเองและจับจ่ายใช้สอยอย่างระมัดระวังมากขึ้น และในสภาพเศรษฐกิจที่ยากลำบาก ผู้บริโภคต้องการที่จะมีการตัดสินใจการใช้เงินอย่างชาญฉลาด โดยไม่ต้องแลกกับคุณภาพชีวิตของตนเอง

“ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับความคงทน ความยืดหยุ่น และการใช้งานได้ตราบนานเท่านาน เพราะพวกเขาพยายามลดการจับจ่ายใช้สอย และเลือกจับจองสินค้าที่อยู่ได้ยาวนานและตอบสนองวัตถุประสงค์หลากหลาย อย่างไรก็ตาม เมื่อตลาดมีการใช้คำกล่าวอ้างเกี่ยวกับคุณค่าเพิ่มเติมต่าง ๆ มากขึ้นจนถึงจุดอิ่มตัว ผู้บริโภคก็จะเกิดความสงสัยและมีความเฉลียวฉลาดเพิ่มขึ้น ในอีกห้าปี เราคาดว่าจะเห็นการเพิ่มจำนวนของแบรนด์ที่มุ่งเน้นเจตจำนงเพื่อสังคมและส่งมอบนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาระยะยาวที่อุตสาหกรรม ประเทศ และชุมชนที่แบรนด์นั้น ๆ เป็นส่วนหนึ่ง กำลังประสบอยู่” คุณแมทธิวกล่าวสรุป

การมีส่วนร่วมของผู้บริโภคในด้านความยั่งยืนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา    เนื่องจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น    งานวิจัยฉบับใหม่ของ Mintel Consulting Sustainability Barometer ประจำปี 2565 เปิดเผยว่า 43% ของผู้บริโภคชาวไทยกล่าวถึงเรื่อง คุณภาพอากาศ ว่าเป็นปัญหาหลักด้านสิ่งแวดล้อมใน 3 อันดับแรก รองลงมาคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (42%) และการตัดไม้ทำลายป่า (28%)

งานวิจัยฉบับใหม่ของบริษัทวิจัยด้านการตลาดระดับโลก Mintel (มินเทล) ชี้ ผู้บริโภคชาวไทยประมาณ 8 ใน 10 ราย ต่างประสบปัญหาสุขภาพจิตในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา สามอันดับแรก คือ      ความเครียด (46%) นอนไม่หลับ (32%) และวิตกกังวล (28%)* สภาพจิตใจของคนไทยถดถอยลงจากผลกระทบที่ยืดเยื้อของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ซึ่งส่งผลให้พวกเขาเกิดความหงุดหงิดและความรู้สึกท้อแท้ นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังพบว่า ผู้บริโภคแต่ละเพศ     และ     แต่ละช่วงวัยต่างเผชิญกับความท้าทายด้านสุขภาพจิตที่แตกต่างกัน

X

Right Click

No right click