November 22, 2024

นายไพบูลย์ เปี่ยมเมตตา ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันเบี้ยประกันภัยสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากอัตราเงินเฟ้อทางการแพทย์ที่เพิ่มสูงขึ้น และค่ารักษาพยาบาลที่เกินความจำเป็นทางการแพทย์ ทำให้ประชาชนเข้าถึงการประกันภัยสุขภาพได้ยาก เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว สำนักงาน คปภ. จึงได้หารือเร่งด่วนกับภาคธุรกิจเพื่อหาแนวทางควบคุมค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลให้เหมาะสม และต้องไม่กระทบต่อสิทธิของผู้เอาประกันภัย โดยสำนักงาน คปภ. ได้นำเสนอให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยสุขภาพ ที่เป็นทางเลือกให้กับผู้เอาประกันภัย เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เช่น กรณีที่มีอาการป่วยเล็กน้อย ให้สามารถไปซื้อยาได้เองจากร้านขายยา หรือกรณีที่ให้ผู้ป่วยร้องขอให้แพทย์ออกใบสั่งยาเพื่อไปซื้อยาเองจากร้านขายยา เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้ชะลอการเพิ่มขึ้นของเบี้ยประกันภัย พร้อมทั้งได้จัดเตรียมทำแผนยุทธศาสตร์ด้านการประกันภัยสุขภาพ ภาคสมัครใจ เพื่อกำหนดแผนดำเนินการในการแก้ไขปัญหาการประกันภัยสุขภาพแบบยั่งยืนที่ไม่ใช่แก้ไขปัญหาเฉพาะบางประเด็น

นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ขอความร่วมมือจากภาคธุรกิจประกันภัยในการนำเสนอแนวทางปฏิบัติและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่สามารถช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ อีกทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเรียนรู้ เข้าใจ และสามารถวางแผนใช้ประกันภัยสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความยั่งยืนและความเป็นธรรมให้กับระบบประกันภัยสุขภาพของประเทศไทย

ในส่วนของภาคธุรกิจประกันชีวิต ได้เสนอแนวปฏิบัติในการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลให้มีความเหมาะสม เพื่อไม่ให้เบี้ยประกันภัยสูงจนผู้เอาประกันภัยไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์ใน 3 ข้อ ดังนี้ 1. กำหนดหลักเกณฑ์ ให้มีค่าใช้จ่ายร่วม (Copayment) ในเงื่อนไขการต่ออายุสัญญาเพิ่มเติมกรณีครบรอบปีกรมธรรม์ประกันภัย (Renewal) หากผู้เอาประกันภัยมีการเคลมเกินความจำเป็นทางการแพทย์ หรือมีการเคลมด้วยกลุ่มโรคป่วยเล็กน้อยทั่วไป (Simple Diseases) ตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป และมีอัตราการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของผู้เอาประกันภัยแต่ละรายในรอบปีกรมธรรม์ประกันภัยตั้งแต่ร้อยละ 200 ของเบี้ยประกันภัยในปีต่ออายุ ทั้งนี้บริษัทต้องมีการแจ้งรายละเอียดหลักเกณฑ์การพิจารณา Simple Diseases ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มโรคและข้อมูลทางคลินิกสำหรับการป่วยเล็กน้อยทั่วไปให้ผู้เอาประกันภัยได้ทราบตั้งแต่ตอนเสนอขาย 2. กำหนดให้มีการจ่ายค่าธรรมเนียมในการศัลยกรรมและการทำหัตถการของแพทย์ ตามอัตราค่าธรรมเนียมในการศัลยกรรมและการทำหัตถการของแพทย์ไม่เกิน 100% ของค่าธรรมเนียมแพทย์ที่ 90 เปอร์เซ็นต์ไทล์ ตามที่กำหนดไว้ในคู่มือค่าธรรมเนียมแพทย์ของแพทยสภาประเทศไทย เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายในส่วนค่าธรรมเนียมแพทย์  และ 3. พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์เฉพาะกลุ่มการป่วยเล็กน้อยทั่วไป (Simple Diseases) สำหรับเด็กอายุ 3-5 ปี เพื่อให้หลักเกณฑ์ดังกล่าวมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับเด็ก ซึ่งเปราะบางกว่ากลุ่มอายุอื่น

ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ชี้แจงภาคธุรกิจว่า แนวปฏิบัติดังกล่าวได้มีการกำหนดไว้ในคำสั่งนายทะเบียนที่ 14/2564 เรื่อง หลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบแบบและข้อความสัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพ ประเภทสามัญ แบบมาตรฐาน สำหรับบริษัทประกันชีวิต (New Health Standard) โดยภาคธุรกิจสามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในคำสั่งนายทะเบียนได้ อย่างไรก็ตามในส่วนของการปรับปรุงหลักเกณฑ์ Simple Diseases สำหรับเด็กให้มีความเหมาะสมก็สามารถดำเนินการได้หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ทางการแพทย์ โดยปัจจุบัน สมาคมประกันชีวิตไทยอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสม รวมถึงกลยุทธ์หรือเครื่องมือในการควบคุมค่าใช้จ่ายอื่นเพิ่มเติม และจะได้นำเสนอให้สำนักงาน คปภ. ทราบเพิ่มเติมต่อไป

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดงาน “คปภ. เพื่อสังคม” สังคมอุดมศึกษา เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ณ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) โดยสำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัยร่วมกันลงพื้นที่เพื่อถ่ายทอดความรู้เรื่องการประกันภัยที่เกี่ยวข้องต่อสังคมเป้าหมาย และเผยแพร่เรื่องราวผ่านรายการ คปภ. เพื่อสังคม ซึ่งจะเผยแพร่ผ่านช่องทางทีวีดิจิทัล (อัมรินทีวี HD ช่อง 34) โดยมุ่งหวังให้ประชาชนผู้รับชมรายการได้รับความรู้และตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัย รวมทั้งเป็นการดำเนินการเพื่อสร้างประโยชน์ในมิติการส่งเสริมอาชีพตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.ศุภชัย  ศรีสุชาติ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ และรศ.ดร.สุเพชร  จิรขจรกุล คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้การต้อนรับ

โดยสังคมอุดมศึกษาถือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีนักศึกษาในสังกัดสถาบันอุดมศึกษามากกว่า 1,600,000 คน (ข้อมูล ณ 1 ตุลาคม 2567) ซึ่งจะเติบโตเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคม และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต แต่เมื่อพิจารณาจากอัตราการว่างงานภายในประเทศในเดือนสิงหาคม 2567 พบว่าประเทศไทยมีแรงงานในระบบอยู่ที่ 40.39 ล้านคน มีจำนวนผู้ว่างงาน 440,000 คน เมื่อจำแนกตามระดับการศึกษาแล้ว กลุ่มบัณฑิตซึ่งจบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เป็นกลุ่มที่มีจำนวนผู้ว่างงานมากที่สุด ถึงประมาณ 169,000 คน และจากจำนวนดังกล่าวเป็นกลุ่มบัณฑิตผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อนถึง 122,000 คน หรือประมาณร้อยละ 72.19 ของผู้ว่างงานที่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา จากข้อมูลดังกล่าวอาจสะท้อนถึงทักษะของบัณฑิตจบใหม่ที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด และปัญหาเชิงโครงสร้างในตลาดแรงงาน ดังนั้น การให้ความรู้เรื่องเส้นทางอาชีพ ทักษะที่จำเป็น รวมทั้งความต้องการของตลาดแรงงาน จะสามารถเป็นตัวช่วยให้อัตราการว่างงานของนักศึกษาจบใหม่ลดน้อยลงได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าว สำนักงาน คปภ. จึงเลือกคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นตัวแทนของการถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมอุดมศึกษา เนื่องจากเล็งเห็นว่าสถาบันแห่งนี้เป็นแหล่งผลิตบุคลากรเข้าสู่ระบบประกันภัย อาทิ นักคณิตศาสตร์ประกันภัย นักจัดการความเสี่ยง นักวิเคราะห์วางแผนในธุรกิจประกันภัย นายหน้าประกันภัย หรือการเข้ามาเป็นพนักงานของสำนักงาน คปภ. ในอนาคต อันจะเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัยให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้ ได้มีการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ทำงานด้านประกันภัยจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้องจากศิษย์เก่าโดย ดร.ชญานิน  เกิดผลงาม รองเลขาธิการ ด้านกลยุทธ์และเทคโนโลยี สำนักงาน คปภ. ต่อด้วยเวทีเสวนาในหัวข้อ “เส้นทางอาชีพด้านการประกันภัยของนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากร ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.กมล บุษบา สาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.พงษ์ภาณุ ดำรงศิริ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย นายจรุง เชื้อจินดา รองผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันชีวิตไทย นายจิตวุฒิ ศศิบุตร นายกสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย นายกฤษณ์ วณิชเดโชชัย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน นางคณิญาภร จรุงกิจกุล ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านบริหารยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงาน คปภ. และ นางสาวนัฎพร กีชานนท์ หัวหน้ากลุ่มนโยบายและความเชื่อมโยงภาคการเงิน โดยการจัดงานครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจประกันภัยทั้งบริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทนายหน้าประกันภัย และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่มาร่วมออกคูหานิทรรศการ ทำให้งานมีสีสันสนุกสนานและคึกคักมากขึ้น เปรียบเสมือน Job Fair ขนาดย่อม ๆ กันเลยทีเดียว

“เลขาธิการ คปภ. กล่าวทิ้งท้ายว่าโครงการ “คปภ. เพื่อสังคม” สังคมอุดมศึกษา จะเป็นประโยชน์แก่น้อง ๆ นักศึกษา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงผู้ที่รับชมรายการ “คปภ. เพื่อสังคม” ในการวางแผนเส้นทางอาชีพของตนเอง ก่อนการเข้าสู่วัยทำงาน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า น้อง ๆ ทุกคนจะเป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัย อันนำมาซึ่งการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อไป”

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานในพิธีปิดการศึกษาอบรมหลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) รุ่นที่ 12 ประจำปี 2567 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 ตุลาคม 2567 ณ Pullman Phuket Karon Beach Resort จังหวัดภูเก็ต โดยหลักสูตรดังกล่าวมีผู้เข้าอบรมประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และธุรกิจประกันภัย จำนวนทั้งสิ้น 144 คน ซึ่งตลอดหลักสูตรมีการอบรม แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในชั้นเรียนและเข้าศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งร่วมทำกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR) ตลอดจนจัดทำรายงานการศึกษากลุ่ม (Group Project : GP) ในหัวข้อต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อระบบประกันภัยของไทยอีกด้วย

ทั้งนี้ การจัดทำรายงานการศึกษากลุ่ม (Group Project : GP) เป็นกิจกรรมที่หลักสูตรฯ ให้ความสำคัญและกำหนดให้นักศึกษาทุกคนเข้าร่วม เพื่อช่วยกันระดมความคิดและแบ่งปันประสบการณ์ในแง่มุมต่าง ๆ มานำเสนอในรูปแบบรายงานวิชาการ โดยในการปิดหลักสูตร วปส. รุ่นที่ 12 ครั้งนี้ ได้กำหนดให้ผู้เข้ารับการอบรมนำเสนอรายงานการศึกษากลุ่ม GP และตอบข้อซักถามแก่คณะอาจารย์ที่ปรึกษา ประกอบด้วยอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และผู้บริหารระดับสูงของสำนักงาน คปภ.  

สำหรับรายงานวิชาการแบ่งเป็น 6 กลุ่ม 6 หัวข้อ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 หัวข้อ “ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมการประกันภัยความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในประเทศไทย” ความสำคัญของการประกันภัยความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Liability Insurance : ELI)  เป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมในภาคอุตสาหกรรมของไทย ช่วยลดผลกระทบทางการเงินและกฎหมายจากเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม กลุ่มที่ 2 หัวข้อ การพัฒนากรอบธรรมาภิบาล AI สำหรับธุรกิจประกันภัย” เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามามีบทบาทสำคัญในภาคธุรกิจประกันภัย การจัดทำกรอบธรรมาภิบาล AI ที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า AI จะถูกนำมาใช้ในลักษณะที่รับผิดชอบและเป็นธรรม โดยมีการเสนอแนะแนวทางในการกำกับดูแลและบริหารจัดการ AI ที่สามารถประยุกต์ใช้ในธุรกิจประกันภัย ที่คำนึงถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ AI รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและผู้ประกอบการ  ซึ่งการนำ AI มาใช้ในธุรกิจประกันภัยช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในด้านต่าง ๆ กลุ่มที่ 3 หัวข้อ “การพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในกรมธรรม์และเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้อย่างครบถ้วน : กรณีประกันภัยสุขภาพ” การเกิดวิกฤตโควิด-19 ทำให้ประชาชนรู้จักและซื้อประกันภัยสุขภาพมากขึ้น แต่หลังจากวิกฤตคลี่คลายลง จำนวนการซื้อประกันภัยสุขภาพกลับลดลง เนื่องจากผู้ถือกรมธรรม์ประสบปัญหาเกี่ยวกับการเข้าใจเนื้อหาและเงื่อนไขของกรมธรรม์ ส่งผลให้ไม่สามารถใช้สิทธิ์ตามที่กำหนดไว้ได้อย่างเต็มที่ ทางกลุ่มได้ศึกษาถึงสภาพปัญหาของผู้ถือประกันภัยสุขภาพในเรื่องความเข้าใจในเนื้อหาของกรมธรรม์ สิทธิประโยชน์ และเงื่อนไขต่าง ๆ ตามข้อกำหนดในกรมธรรม์ และหาเครื่องมือโดยเน้นการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เข้าใจในเนื้อหาของกรมธรรม์และเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือกรมธรรม์ บริษัทประกันภัย และหน่วยงานกำกับดูแลในอนาคต กลุ่มที่ 4 หัวข้อ “โครงงานศึกษาแพลตฟอร์มให้บริการวิเคราะห์ความต้องการและแนะนำผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตให้เหมาะสมเฉพาะบุคคล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อ Insurance Penetration Rate ในไทย ได้แก่ การขาดความรู้ ความเข้าใจ การเข้าถึงข้อมูล และความสามารถทางการเงิน โครงสร้างประชากรไทยที่เข้าสู่สังคมสูงวัยที่ไร้บุตรหลาน อีกทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจครอบครัวและการวางแผนการเงินในระยะยาว ทางกลุ่มจึงเน้นการพัฒนาแพลตฟอร์มที่สามารถวิเคราะห์และแนะนำผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่เหมาะสมเฉพาะบุคคล เพื่อเพิ่มการเข้าถึงและความเข้าใจในประกันชีวิตของประชาชน กลุ่มที่ 5 หัวข้อ “การส่งเสริมสภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจประกันสุขภาพ (ภาคสมัครใจ) เพื่อรองรับการแข่งขันในภูมิภาคเอเชีย” โดยเล็งเห็นว่าประกันภัยสุขภาพภาคสมัครใจ มีประโยชน์ในการบริหารความเสี่ยงด้านสุขภาพ ช่วยให้ประชาชนได้รับการรักษาพยาบาลที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ลดภาระงบประมาณของรัฐ แต่อัตราการทำประกันภัยสุขภาพในไทยยังต่ำ เนื่องจากเบี้ยประกันภัยสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทางกลุ่มจึงมีข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเสริมสร้างธุรกิจประกันชีวิตโดยการลดค่าใช้จ่ายและส่งเสริมการทำประกันภัยภาคสมัครใจ และกลุ่มที่ 6 หัวข้อ “การสร้างความตระหนักในการพัฒนาความร่วมมือในธุรกิจประกันภัยระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อลดช่องว่างความคุ้มครองจากภาวะสูงอายุเพื่อการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน” ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาสังคมสูงอายุที่ส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะการจัดการสุขภาพและค่าใช้จ่ายในการยังชีพของผู้สูงอายุ การศึกษาพบว่ามีช่องว่างความคุ้มครองด้านประกันภัยที่สำคัญ เช่น สวัสดิการจากรัฐไม่เพียงพอ ขาดความรู้และความตระหนักในการวางแผนก่อนเกษียณ และความไม่พอใจในความคุ้มครองของประกันภัยที่มีอยู่ ดังนั้น ทางกลุ่มจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการแก้ไขปัญหาสังคมสูงอายุ และการสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการประกันภัยเพื่อการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน

ภายหลังจากรับฟังการนำเสนอรายงานการศึกษากลุ่ม คณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. และนักศึกษา วปส. รุ่นที่ 12 ร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR) โดยร่วมบริจาคสิ่งของอุปโภคบริโภคของนักศึกษา ได้แก่ ข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม อุปกรณ์การเรียน เครื่องเขียน และเงินจำนวน 348,035.59 บาท ณ โรงเรียนภูเก็ตปัญญานุกูล           

“ต้องขอชื่นชมนักศึกษา วปส. รุ่นที่ 12 ที่ได้ทุ่มเทความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ในการค้นคว้าและนำเสนอรายงานวิชาการ โดยทั้ง 6 เรื่อง ล้วนเป็นประเด็นร่วมสมัย และผลการศึกษาจะเป็นประโยชน์แก่อุตสาหกรรมประกันภัยและประชาชนผู้เอาประกันภัยเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งผมและอาจารย์ที่ปรึกษาได้ซักถามและให้ข้อแนะนำต่าง ๆ เพื่อให้นำไปปรับปรุงรายงานวิชาการให้ดียิ่งขึ้น และจะได้มีการประชุมเพื่อคัดเลือกสุดยอดรายงานวิชาการดีเด่นเพื่อนำเสนอในงานสัมมนาวิชาการของสำนักงาน คปภ. ต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้จัดงานมอบรางวัลประกันภัยดีเด่นครบวงจร ประจำปี 2567 (Prime Minister’s Insurance Awards 2024) ภายใต้แนวคิด NEXT GEN SUSTAINABLE INSURANCE : นวัตกรรมประกันภัยที่ยั่งยืนสู่โลกแห่งอนาคต ณ ห้องเวิลด์บอลรูม ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ โดยได้รับเกียรติจาก นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานมอบรางวัลประกันภัยดีเด่นครบวงจร ประจำปี 2567 (Prime Minister’s Insurance Awards 2024) ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติยศที่นายกรัฐมนตรีอนุญาตให้ใช้ลายมือชื่อสลักลงบนโล่เกียรติยศ เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณและแบบอย่างที่ดีในการประกอบธุรกิจประกันภัย รวมทั้งเป็นการเชิดชูเกียรติ บุคคล หน่วยงาน สถาบัน บุคคลหรือกลุ่มบุคคลตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่นในการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพด้านการประกันภัย

โดยปีนี้ได้มีการพิจารณาคัดเลือกอย่างเป็นธรรมและเข้มข้นภายใต้กรอบกติกาที่กำหนดไว้ แบ่งรางวัลออกเป็น 12 ประเภทรางวัล จำนวนรวม 53 รางวัล ประกอบด้วย 1. รางวัลบริษัทประกันภัยเกียรติยศสูงสุด (Hall of Fame) ได้แก่ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) 2. รางวัลบริษัทประกันภัยที่มีการบริหารงานดีเด่น มี 7 รางวัล แบ่งเป็น รางวัลบริษัทประกันชีวิตที่มีการบริหารงานดีเด่น จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ อันดับที่ 1 บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) อันดับที่ 2 บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) อันดับที่ 3 บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และรางวัลบริษัทประกันวินาศภัยที่มีการบริหารงานดีเด่น จำนวน 4 รางวัล ได้แก่ อันดับที่ 1 บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) อันดับที่ 2 บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) อันดับที่ 3 บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ จำกัด สาขาประเทศไทย 3. รางวัลบริษัทประกันภัยที่มีการพัฒนาดีเด่น จำนวน 2 รางวัล แบ่งเป็น รางวัลบริษัทประกันชีวิตที่มีการพัฒนาดีเด่น ได้แก่ บริษัท พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และรางวัลบริษัทประกันวินาศภัยที่มีการพัฒนาดีเด่น ได้แก่ บริษัท เอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย (ประเทศไทย) (มหาชน) 4. รางวัลบริษัทประกันภัยที่มีการส่งเสริมกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อประชาชนดีเด่น จำนวน 2 รางวัล แบ่งเป็น รางวัลบริษัทประกันชีวิตที่มีการส่งเสริมกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อประชาชนดีเด่น ได้แก่ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และรางวัลบริษัทประกันวินาศภัยที่มีการส่งเสริมกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อประชาชนดีเด่น ได้แก่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน)

5. รางวัลนายหน้าประกันภัยนิติบุคคลที่มีการส่งเสริมกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อประชาชนดีเด่น จำนวน 2 รางวัล แบ่งเป็น รางวัลบริษัทนายหน้าประกันชีวิตนิติบุคคลที่มีการส่งเสริมกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อประชาชนดีเด่น ได้แก่ บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด และรางวัลบริษัทนายหน้าประกันวินาศภัยนิติบุคคลที่มีการส่งเสริมกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อประชาชนดีเด่น ได้แก่ บริษัท ทีคิวเอ็ม อินชัวร์รันส์ โบรคเกอร์ จำกัด 6. รางวัลนายหน้าประกันภัยนิติบุคคลคุณภาพดีเด่น จำนวน 6 รางวัล แบ่งเป็น รางวัลนายหน้าประกันชีวิตนิติบุคคลคุณภาพดีเด่น (จำนวน 2 รางวัล) ได้แก่ บริษัท ไทยพาณิชย์โพรเทค จำกัด บริษัท ศรีกรุงประกันชีวิต โบรคเกอร์ จำกัด และรางวัลนายหน้าประกันวินาศภัยนิติบุคคลคุณภาพดีเด่น (จำนวน 4 รางวัล) ได้แก่ บริษัท ที คิว อาร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีที อินชัวรันซ์ โบรกเกอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท ยูพีดี โบรคเกอร์ จำกัด บริษัท ฮาวเด้นแมกซี่ อินชัวรันส์ โบรกเกอร์ จำกัด 7. รางวัลบริษัทประกันภัยที่มีการพัฒนาด้านความยั่งยืนในธุรกิจประกันภัยดีเด่น จำนวน 2 รางวัล แบ่งเป็น รางวัลบริษัทประกันชีวิตที่มีความยั่งยืนดีเด่น ได้แก่ บริษัท เอไอเอ จำกัด และรางวัลบริษัทประกันวินาศภัยที่มีความยั่งยืนดีเด่น ได้แก่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) 

8. รางวัลบริษัทประกันภัยที่สร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยีประกันภัยดีเด่น จำนวน 2 รางวัล แบ่งเป็น รางวัลบริษัทประกันชีวิตที่สร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยีประกันภัยดีเด่น ได้แก่ บริษัท เอไอเอ จำกัด และรางวัลบริษัทประกันวินาศภัยที่สร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยีประกันภัยดีเด่น ได้แก่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) 9. รางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสำนักงาน คปภ. และระบบประกันภัย ได้แก่ ดร.นภัสนันท์ พรรณนิภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีคิวเอ็ม อัลฟา จำกัด (มหาชน) 10. รางวัลตัวแทนประกันชีวิตคุณภาพดีเด่น จำนวน 16 ราย ได้แก่ นางสาวกรวรรณ คงด้วง นางสาวเกศิณี  เพ็ชรแสนงาม นางชวนพิศ  พูลทวี นางสาวณัฐชานันท์  นันทพงศ์โภคิน นายทศพร  อินคล้า นางสาวธัญณลัคน์  วรินทร์พงศ์ นางสาวธิดาจิตร  มุขมณี นางสาวประภาภรณ์  โพลดพลัด นางสาวผานิต  หมื่นสันธิ นายพงศ์ภวัน  เศรษฐ์ธนันท์ ดร.เพ็ญพิชา  สร้างการนอก นายภัทจ์  สิทธิร่ำรวย นางภัทนี  ศิริวารินทร์ นายรัฐวิชญ์  อัศวหิรัญพณิช นางสาวศันส์สิริ  สิริทวีวัจน์ นางอรวรรณ  ผันเผาะ และรางวัลตัวแทนประกันวินาศภัยคุณภาพดีเด่น จำนวน 2 ราย ได้แก่ นายกอบเดช  รอดรัต และ นางสาวขวัญฤทัย  มโนรส 11. รางวัลอาสาสมัครประกันภัยดีเด่น จำนวน 3 รางวัล แบ่งเป็น รางวัลชนะเลิศ นายรัฐยาทิภัฏ  วงศ์สัมฤทธิ์ รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 นายวันชัย  ศรีเหนี่ย และรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 นายนนท์ปวิธ  แก้วนุ่ม และ 12. รางวัลอัจฉริยะยุวชนประกันภัย การประกวดโรงเรียนต้นแบบด้านการประกันภัยดีเด่น ประจำปี 2567 รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โรงเรียนเทพศิรินทร์พุแค จังหวัดสระบุรี รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (มัธยมวัดหัตถสารเกษตร) ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชริราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร จังหวัดปทุมธานี และรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ โรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย จังหวัดสมุทรสาคร 

ในโอกาสนี้ นายพิชัย  ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลและกล่าวโดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลทุกท่าน รางวัลนี้เป็นเครื่องยืนยันถึงความพยายาม ความทุ่มเท และความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้กับวงการประกันภัย และเชื่อว่าความสำเร็จของทุกท่านจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการในวงการและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดร่วมกันผลักดันการเติบโตของธุรกิจประกันภัยไทยในอนาคต และขอชื่นชมคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ตลอดจนผู้มีส่วนร่วมในการจัดงานในครั้งนี้ รวมทั้งขอบคุณภาคธุรกิจประกันภัยที่ได้มีบทบาทสำคัญร่วมกับภาครัฐและสำนักงาน คปภ. ในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนผ่านระบบประกันภัย ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนและพัฒนาระบบเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย”

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดโครงการจัดอบรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 กฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าว และร่างพระราชบัญญัติประกันภัยทางทะเล พ.ศ. .... จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-4 ตุลาคม 2567 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงาน คปภ. ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเกี่ยวกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 กฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าว และร่างพระราชบัญญัติประกันภัยทางทะเล พ.ศ. .... ซึ่งกำหนดสิทธิหน้าที่และความรับผิดของคู่สัญญาตามกฎหมาย โดยมีรากฐานแนวคิดมาจากกฎหมายประกันภัยทางทะเลของอังกฤษอันเป็นหลักการสากลที่นานาประเทศใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนากฎหมายประกันภัยและกฎหมายประกันภัยทางทะเล และสำนักงาน คปภ. ได้นำมาเป็นต้นแบบในการพัฒนากฎหมายการประกันภัยทางทะเลของประเทศไทย เช่นเดียวกัน โดยร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และปัจจุบันอยู่ระหว่างการเสนอร่างกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณา
ให้ความเห็นชอบก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติต่อไป

ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า สำนักงาน คปภ. มีเป้าหมายในการเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยมุ่งพัฒนาศักยภาพของของบุคลากร รูปแบบและกระบวนการทำงานให้มีความพร้อม คล่องตัว และปรับตัวได้เท่าทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ภายใต้ความมุ่งหมายดังกล่าวจึงได้ส่งเสริมให้พนักงานเจ้าหน้าที่ในด้านต่าง ๆ เข้าร่วมอบรมหลักสูตรอบรมความรู้ที่สายงานกำหนดหรือหน่วยงานภายนอกได้จัดขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะ และศักยภาพของพนักงานเจ้าหน้าที่ให้สามารถปฏิบัติภารกิจให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

สำหรับการอบรมครั้งนี้แบ่งเป็น 2 เรื่องหลัก ๆ คือ เรื่องแรก เป็นการอบรมเกี่ยวกับหลักการของกฎหมายว่าด้วย การปรับเป็นพินัย ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อแก้ปัญหาภาวะกฎหมายอาญามีมากเกินจำเป็นหรือกฎหมายเฟ้อ (Over Criminalization) อันเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรงเท่านั้น โดยกฎหมายดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ความผิดทางอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวตามพระราชบัญญัติต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงกฎหมายที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน คปภ. อาทิ พ.ร.บ. คปภ. พ.ร.บ. ประกันชีวิต/ประกันวินาศภัย และ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ กลายเป็นโทษที่ต้องดำเนินการปรับเป็นพินัย ซึ่งไม่ใช่โทษทางอาญาที่มีประวัติอาชญากรรมติดตัวอีกต่อไป

โดยปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริง การรวบรวมพยานหลักฐาน การชี้แจงหรือแก้ข้อกล่าวหา การชำระค่าปรับเป็นพินัยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงระเบียบปฏิบัติในการปรับเป็นพินัย ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญในการพิจารณาและกำหนดมาตรการลงโทษ สำหรับความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียว

ทั้งนี้ การอบรมกฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัยในครั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจากวิทยากรของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดทำกฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัยโดยตรง มาบรรยายให้ความรู้เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. มีความรู้ความเข้าใจและสามารถใช้กฎหมายดังกล่าวได้อย่างมั่นใจและเกิดประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเรื่องที่สอง เป็นการอบรมเกี่ยวกับหลักการสำคัญของร่างพระราชบัญญัติประกันภัยทางทะเล สำนักงาน คปภ. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการกำหนดมาตรฐานของธุรกิจประกันภัยทางทะเลให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยทางทะเลของไทยให้เติบโตขึ้นและสามารถแข่งขันในเวทีการค้าระหว่างประเทศได้

“การจัดอบรมครั้งนี้ จึงนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายทั้ง 2 เรื่องข้างต้น เพื่อเพิ่มศักยภาพให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. ที่ต้องปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบแนวทางในการบังคับใช้และการดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไปในแนวทางเดียวกัน มีมาตรฐาน และเป็นธรรม อันจะส่งผลให้การกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยให้มีประสิทธิภาพและอยู่ภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดีเป็นสำคัญ” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

Page 1 of 28
X

Right Click

No right click