กรุงเทพฯ (20 พฤศจิกายน 2567) – นายพูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย (ที่ 2 จากขวา) ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน ESG ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุม COP29 โดยนายพูนสิทธิ์ได้เผยต้นแบบสินเชื่อธุรกิจเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน (Krungsri SME Transition Loan) ณ เวที Thailand Pavilion ภายใต้หัวข้อ “Financing the Transition: Empowering SMEs and Sustainable Development through Green and Blue Financing” เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของความสำเร็จในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับประเทศ เพื่อเดินหน้าในการเปลี่ยนผ่านสู่เป้าหมาย Net Zero
การประชุม COP29 หรือการประชุมสุดยอดรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 จัดขึ้น ณ กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน โดยเป็นการประชุมระดับนานาชาติครั้งใหญ่ที่มีผู้เชี่ยวชาญระดับโลกและผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนจำนวนกว่า 50,000 คน เข้าร่วมหารือถึงแนวทางการจัดการและเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือสภาวะโลกร้อนในอนาคต โดยงานประชุมในปีนี้ได้มุ่งเน้นไปที่การจัดทำเป้าหมายทางการเงินครั้งใหม่เพื่อให้การสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา ภายใต้พันธสัญญาด้านความเป็นธรรมและความเท่าเทียมด้านสภาพภูมิอากาศ
ทำไมบางธุรกิจถึงเติบโตอย่างรวดเร็ว ในขณะที่บางธุรกิจไม่สามารถแข่งขันได้? หนึ่งในคำตอบสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเติบโตได้คือ “นวัตกรรม” ยิ่งในโลกที่ตลาดมีการแข่งขันสูงและเปลี่ยนแปลงรอบด้านอย่างในปัจจุบัน นวัตกรรม ถือเป็นอาวุธสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่จะช่วยสร้างความต่างและความโดดเด่นให้กับสินค้า จนนำไปสู่การสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน
เหมือนดังเช่น 2 SME ชื่อดังในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ที่นำนวัตกรรมมาเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ จนประสบความสำเร็จและมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ บริษัท กิติธัญ จำกัด ผู้ผลิตเสื้อผ้าแบรนด์ GQ แบรนด์ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 58 ปี การันตีได้ถึงคุณภาพ มาวันนี้แตกแบรนด์ใหม่ภายใต้ชื่อ “GQ EASY” (จีคิว อีซี่) กับนวัตกรรมแห้งเย็น ไม่เหม็นเหงื่อ และอีกหนึ่ง SME ที่น่าจับตามองก็คือ บริษัท โกรว เวลธ์ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายทิชชู่เปียกแบรนด์ “ViVa” (วีว่า) ที่นำนวัตกรรมกักเก็บความชื้นไว้ในผ้า ทำให้ผ้ามีความชุ่มชื้นสูง โดยเข้าตลาดได้เพียง 6 เดือน ก็มียอดออเดอร์จำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่นสูงถึง 10,000 ลัง
GQ EASY : พัฒนาสินค้าจากปัญหา ศึกษาข้อมูลตลาด ราคาจับต้องได้ หาซื้อง่าย
หากเอ่ยถึงแบรนด์ GQ ที่ถือกำเนิดมาในปี 2509 เชื่อว่าทุกคนคงจะรู้จักเป็นอย่างดี ในฐานะผู้ผลิตเสื้อผ้าบุรุษสำเร็จรูปพร้อมใส่เจ้าแรกๆของเมืองไทยที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการและสภาพอากาศของเมืองไทยได้เป็นอย่างดี สู่การเป็นแบรนด์สินค้าคุณภาพที่มีนวัตกรรมอย่างเต็มตัวในปี 2562 โดยได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มสุภาพบุรุษ กระทั่งในปี 2563 GQ ได้พัฒนาสินค้าตัวใหม่ที่สร้างชื่อจนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง สามารถใช้ได้ทุกเพศ ทุกวัย นั่นก็คือ หน้ากากผ้าสะท้อนน้ำ และถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเริ่มจำหน่ายสินค้าในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
จากผลการตอบรับที่ดีดังกล่าว มาวันนี้ GQ ได้แตกแบรนด์ใหม่ชื่อว่า “GQ EASY” เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้กว้างขึ้น แต่ยังคงรักษาคอนเซ็ปต์แบรนด์สินค้าคุณภาพที่มีนวัตกรรมไว้ได้อย่างครบถ้วน ในราคาที่จับต้องได้ เข้าถึงได้ง่าย เปรี้ยว-อาทิตย์ จันทรางศุ ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบ บริษัท กิติธัญ จำกัด ได้เล่าถึงแนวคิดการพัฒนาสินค้าภายใต้แบรนด์ GQ EASY ว่า จากการตอบรับที่ดีจากหน้ากากผ้าสะท้อนน้ำ ที่วางจำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ทำให้บริษัทมีแนวคิดที่จะผลิตสินค้าเพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปชื่นชอบความสะดวกสบาย และเหมาะสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย จากเดิมที่มุ่งเน้นกลุ่มสุภาพบุรุษ จึงได้มีการคิดค้นและพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง จนได้ออกมาเป็นแบรนด์ GQ EASY ที่เริ่มวางจำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่นในปี 2565 มีสินค้าหลากหลาย อาทิ เสื้อยืด หน้ากากผ้า ชั้นในชาย เป็นต้น ในราคาเพียงหลักร้อยเท่านั้น
จุดเด่นของ GQ EASY ในทุกผลิตภัณฑ์ คือ แห้งเย็น ไม่เหม็นเหงื่อ เหมาะกับการใส่ในชีวิตประจำวัน ราคาย่อมเยา หาซื้อง่าย มีหลากหลายแบบให้เลือกซื้อหา ล่าสุด ได้ออกคอลเลคชั่นพิเศษ GQ Easy x Toy Story กับดีไซน์สุดน่ารักของ Little Green Men หรือ น้องเอเลี่ยนสามตา ที่มาพร้อมนวัตกรรมดับกลิ่นที่ช่วยลดการเกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ แม้ต้องตากในที่ร่ม ทำให้มั่นใจได้ในทุกกิจกรรมและทุกสถานการณ์ ผ้านุ่มใส่สบาย ระบายอากาศได้ดี ผ้าแห้งไว
“หลายคนอาจจะคิดว่า การผลิตเสื้อผ้าต้องอิงตามกระแสแฟชั่นถึงจะได้รับการตอบรับที่ดี แต่สำหรับบริษัทมุ่งเน้นเรื่องของนวัตกรรมควบคู่กับการออกแบบมาตลอด รวมถึงมีการศึกษาข้อมูลตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลิตสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคให้มากที่สุด จึงทำให้บริษัทอยู่ในตลาดมาได้อย่างมั่นคงถึง 58 ปี และใน GQ EASY คอลเลคชั่นล่าสุดก็เช่นเดียวกัน นอกจากนวัตกรรมแห้งเย็น ไม่เหม็นเหงื่อแล้ว บริษัทได้นำแบบสำรวจระดับอาเซียนเกี่ยวกับตัวการ์ตูนใน Toy Story มาศึกษาว่าตัวการ์ตูนใดได้รับความสนใจจากตลาด พบว่า น้องเอเลี่ยนสามตา ได้รับความสนใจมากที่สุด จึงปรึกษากับทางเซเว่นฯ เพื่อนำมาใช้เป็นตัวการ์ตูนบนเสื้อ ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี โดยเริ่มวางจำหน่ายเมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ในราคาตัวละ 259 บาท คาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีเหมือนสินค้าตัวอื่นๆ”
ViVa : ส่งนวัตกรรมทรีตน้ำ-ผ้าลายรังผึ้ง สร้างความต่าง ครึ่งปีออเดอร์ 10,000 ลัง
ถึงแม้ตลาดทิชชู่เปียกจะเป็นตลาด Red Ocean ที่มีการแข่งขันสูง และมีผู้เล่นจำนวนมาก ทั้งจากรายเล็ก รายใหญ่ หรือแม้แต่จากต่างประเทศ ทำให้ SME หลายๆ เจ้าไม่กล้าลงตลาด แต่สำหรับ จูน-กษมา ศิลาชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกรว เวลธ์ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายทิชชู่เปียกแบรนด์ ViVa ไม่หวั่นแต่อย่างใด เพราะเชื่อมั่นในตัวสินค้าว่ามีความโดดเด่นแตกต่างจากสินค้าอื่นในตลาด
จูน เล่าย้อนความถึงแนวคิดและความเป็นมาของ ViVa ให้ฟังว่า ส่วนตัวเป็นคนชอบใช้ทิชชู่เปียกอยู่แล้ว และคิดว่าน่าจะเป็นอีกหนึ่งสินค้าจำเป็นของคนในยุคปัจจุบัน หลังเผชิญวิกฤตโควิด 19 คนใส่ใจเรื่องความสะอาดมากขึ้น จึงได้ทำการศึกษาตลาดอย่างจริงจัง ทำให้พบว่าทิชชู่เปียกถือเป็นหนึ่งในสินค้าที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ที่สามารถใช้ได้ทุกเพศ ทุกวัย รวมถึงมีผู้เล่นในตลาดจำนวนมาก แต่ก็ยังพอมีช่องว่างที่จะเข้าตลาดอยู่ จึงได้เริ่มนำนวัตกรรมมาใช้ในการผลิตเพื่อสร้างจุดเด่นให้กับสินค้า
“บริษัทได้คิดค้นสูตรเฉพาะและวางจำหน่ายตัวแรกคือ Organic Baby Wipes (ออร์แกนิค เบบี้ ไวพส์) ในขนาด 20 แถม 10 แผ่น ราคา 25 บาทโดยใช้นวัตกรรมทรีตน้ำให้มีความสะอาด บริสุทธิ์ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้บริโภคจะได้รับสินค้าที่สะอาดและปลอดภัย อีกทั้งลายของเนื้อผ้าที่เป็นลายรังผึ้ง ยังสามารถช่วยกักเก็บน้ำได้ดีกว่าผ้าลายอื่น ทำให้ทิชชู่เปียกของViVa มีส่วนประกอบของน้ำถึง 99% และลายรังผึ้งนี้ยังช่วยเพิ่มผิวสัมผัสให้มากขึ้น นอกจากนี้ยังเพิ่มความพิเศษด้วยการเติมออร์แกนิคอะโรเวล่าและอาโวคาโดออย เพื่อให้ความชุ่มชื้นกับผิวและยังอ่อนโยนต่อผิว เด็กสามารถใช้ได้ อีกทั้งยังไม่มีแอลกอฮอล์และพาราเบนที่อาจส่งผลกระทบต่อผิวหนัง”
โดย Organic Baby Wipes เริ่มวางจำหน่ายที่เซเว่น อีเลฟเว่น ควบคู่กับการทำการตลาดผ่านสื่อโซเซียลส่วนตัวและทั่วไป อาทิ Facebook, TikTok, Instagram ตั้งแต่เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมีออเดอร์แรกที่วางจำหน่ายในเซเว่น อีเลฟเว่น อยู่ที่ 1,400 ลัง หลังจำหน่ายได้เพียง 2 เดือน ได้รับการแจ้งจากเซเว่น อีเลฟเว่น ว่ามีลูกค้ามาสอบถามถึงสินค้าและการปรับขนาดบรรจุเป็นจำนวนมาก จึงได้มีการสั่งเพิ่มออเดอร์เป็นขนาดบรรจุ 90 แผ่น ราคา 79 บาทอีกหนึ่งขนาด ส่งผลให้ในปัจจุบันมีออเดอร์ทั้ง 2 ขนาดรวมมากกว่า 10,000 ลัง สิ่งที่ทำให้สินค้าได้รับการตอบรับที่ดี นอกจากเรื่องคุณภาพแล้ว ราคายังตอบโจทย์ความต้องการ เพราะบริษัทมุ่งมั่นตั้งใจที่จะผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ในราคาที่จับต้องได้ เพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถใช้สินค้าไทยที่มีคุณภาพได้อย่างสบายใจ
ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่มีประวัติมาอย่างยาวนานถึง 58 ปีอย่าง GQ หรือจะเป็นธุรกิจที่เพิ่งเริ่มผลิตสินค้าและทำตลาดอย่าง ViVa ต่างก็นำ “นวัตกรรม” มาเป็นตัวช่วยสร้างความแตกต่างและความโดดเด่นให้กับตัวสินค้า ทั้งนี้ เพื่อให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้แข็งแกร่งท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างการเติบโตในอนาคตให้กับ 2 ธุรกิจคู่ไปกับเซเว่น อีเลฟเว่น ซึ่งทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายสร้างอาชีพ สร้างเอสเอ็มอีให้เติบโตอย่างยั่งยืนของซีพี ออลล์
เมื่อโลกของการทำงานและการเรียนรู้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การมีพื้นที่สำหรับการเรียน การทำงาน และพบปะสร้างสรรค์กิจกรรมจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ตอนหนึ่งในบทความของ Harvard Business Review ระบุว่า แม้การพบปะกันเพียงช่วงสั้นๆ ก็สามารถช่วยส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมได้ ดังนั้นพื้นที่จึงไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ทางกายภาพ แต่ยังเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการร่วมมือและทำภารกิจยิ่งใหญ่ได้สำเร็จ ที่ผ่านมา True Space ซึ่งเป็นพื้นที่หนึ่งใน Ecosystem ของทรู ไม่ได้เป็นเพียงแค่ Co-working space ทั่วไป แต่ยังเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสการเรียนรู้ พัฒนาทักษะ และการเติบโตของทั้งนักเรียนนักศึกษา และสตาร์ทอัพและ SME ไทยในมิติต่างๆ
บทความนี้จะพาไปทำความรู้จัก True Space ให้มากขึ้นผ่านแนวคิด จุดมุ่งหมาย รวมไปถึงประสบการณ์ของน้องๆ ชมรม SWU Sandbox ที่เริ่มต้นและเติบโตขึ้นจากพื้นที่เล็กๆ ของ True Space สาขาอโศก และต่อยอดสู่ภารกิจปั้นสตาร์ทอัพหน้าใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัย พร้อมชี้ให้เห็นถึงก้าวต่อไปของ True Space ในการเป็น Ecosystem ที่สำคัญสำหรับสตาร์ทอัพและ SME ไทย
จุดเริ่มต้นของการเป็นพื้นที่สำหรับนักเรียนนักศึกษา
“แรกเริ่มนั้น True Space เกิดขึ้นในปี 2562 เพื่อเป็นพื้นที่ทำงานให้นักเรียนนักศึกษา เพื่อให้พวกเขามีพื้นที่มานั่งทำงาน ติวหนังสือ หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน” นวลพรรณ บุญเผื่อน หัวหน้าสายงานทรูสเปซ บริษัท ทรูสเปซ จำกัด เริ่มเล่าที่มา
ไม่น่าแปลกใจที่จะได้เห็น True Space ทั้ง 7 สาขามีโลเคชั่นอยู่ในมหาวิทยาลัย หรือใกล้กับมหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา, มหาวิทยาลัยรังสิต, สยามสแควร์ ซอย 2, สยามสแควร์ ซอย 3, อโศก, ไอคอนสยาม และวายสแควร์ อุบลราชธานี เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายเข้ามาใช้พื้นที่ได้อย่างสะดวกสบาย
“แต่ละสาขาเราจัดพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกไว้ครบ ทั้งที่นั่งทำงานแบบ Hot Desk ห้องประชุม และพื้นที่จัด Event ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบได้ นอกจากนี้เราเองยังมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เป็นเวิร์กชอปพัฒนาทักษะเสริมทั้งด้านความรู้และประสบการณ์ที่น้องๆ นักศึกษาสามารถนำไปใช้ในอนาคต การมีกิจกรรมเหล่านี้ก็เป็นการสร้างคอมมูนิตี้ของเราให้เกิดขึ้นด้วย และเชื่อว่าเมื่อก้าวสู่วัยทำงาน พวกเขาก็จะยังเข้ามาใช้บริการของเราเช่นกัน” นวลพรรณ อธิบาย
การเข้าใช้บริการ True Space เป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์ที่ทรูจัดไว้ให้ลูกค้าได้ใช้ Ecosystem อย่างเต็มที่ หรือหากต้องการสมัครสมาชิกก็ได้ในราคาที่คุ้มค่า รวมถึงการเป็นพาร์ทเนอร์กับมหาวิทยาลัยต่างๆ จะเห็นได้ว่าแต่ละสาขาจะมีน้องๆ นักเรียนนักศึกษามานั่งทำงาน อ่านหนังสือ หรือติวหนังสือกันเป็นประจำ
True Space สาขาอโศก กับการก่อร่างชมรม SWU Sandbox ให้เกิดขึ้นจริง
True Space สาขาอโศก ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่นักศึกษามารวมตัวกันทำกิจกรรมนอกห้องเรียน และเป็นจุดเริ่มต้นของชมรม SWU Sandbox ซึ่งก่อตั้งโดยนิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ มศว ที่มี
ประสบการณ์ผ่านเข้ารอบ Demo Day ในการแข่งขัน Startup Thailand League 2023 ครั้งนั้นพวกเขาเห็นศักยภาพไอเดียของเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยที่นำไปต่อยอดได้ จึงอยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาความรู้ บ่มเพาะ และสนับสนุนการเกิดสตาร์ทอัพหน้าใหม่จากรั้วมหาลัยของตัวเอง
“จริงๆ ชมรม SWU Sandbox เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อต้นปี 67 ค่ะ ในช่วงการวางแผนก่อตั้งชมรม พวกเรา 8-9 คนยังมือใหม่มากและขาดพื้นที่สำหรับประชุมและวางแผนงาน เพื่อนที่เป็นประธานชมรมจึงลองติดต่อเข้ามาที่ True Space เพื่อขอให้พื้นที่ทำงาน เพราะทราบมาว่าเป็นพันธมิตรกับมหาวิทยาลัย ซึ่งเราก็ได้รับการสนับสนุนอย่างดีตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงตอนนี้” เสาวลักษณ์ ชอบสอน นิสิตปี 4 คณะเศรษฐศาสตร์ มศว เลขาชมรมเล่าถึงที่มา
แม้ก่อตั้งชมรมได้ภายในเวลาไม่ถึงปี แต่ SWU Sandbox สามารถขยายขอบเขตการทำงานเป็นชุมชนนักศึกษาที่มีสมาชิกมากกว่า 100 คน และได้ร่วมงานกับฝ่ายกิจการนักศึกษาของมหาวิทยาลัยผลักดันให้เกิดกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่การให้ความรู้ธุรกิจเบื้องต้น จัดค่ายพัฒนาโปรเจกต์ จนถึงการ Pitching เสนอไอเดียที่เปิดกว้างทั้งมหาวิทยาลัย คัดจนผ่านเข้ารอบ 10 ทีม โดยอีกไม่นานมีการจัด Showcase ที่เปิดให้บริษัทภายนอกเข้ามาชมงานและสนับสนุน
“การที่มีชมรมนี้เกิดขึ้นมาได้จริง พวกเราภูมิใจมาก ที่ได้มีส่วนร่วมพัฒนาศักยภาพนิสิตของเรา ซึ่งต่อไปอาจเกิดเป็นสตาร์ทอัพจริงๆ ก็ได้ และส่งต่อให้รุ่นน้องได้สานต่อกิจกรรมไปด้วย” ณัชชา พรมสุริย์ ฝ่ายดูแลกิจกรรมของชมรมกล่าว
พื้นที่ทางเลือกที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ยุคใหม่
ในยุคห้องสมุดไม่ใช่เพียงแหล่งหาข้อมูลสำคัญแห่งเดียวอีกต่อไป นักเรียนนักศึกษาต่างใช้แท็บเล็ตแทนสมุดและหนังสือ พวกเขามีทางเลือกในการแสวงหาความรู้อย่างเป็นอิสระในทุกที่ สิ่งสำคัญในเวลานี้คือ พื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ตอบโจทย์วิถีการเรียนแบบใหม่ ซึ่งดูเหมือนว่า True Space เป็นหนึ่งในทางเลือกที่ตอบโจทย์เหล่านี้
“ชอบมานั่งทำงานที่นี่ เพราะมีปลั๊กไฟอยู่บนโต๊ะ ใช้งานสะดวกมาก โต๊ะก็ความสูงพอดี เก้าอี้นั่งสบาย พื้นที่เปิดโล่ง สว่าง ไม่อึดอัด เวลาพักสายตาก็มองไปนอกหน้าต่างได้” น้องๆ นักศึกษาที่เข้ามานั่งทำงานใน True Space สาขาอโศกบอกเล่าถึงเหตุผลที่เลือกเข้ามาที่นี่เป็นประจำ
ภิรมย์สุรางค์ สิงหนาท หนึ่งในนักศึกษากลุ่มนี้อธิบายเพิ่มเติมว่า “การมาที่ True Space ไม่เหมือนกับไปนั่งห้องสมุดหรือร้านกาแฟ เพราะที่ห้องสมุดเราต้องเงียบ จะคุยปรึกษาหรือติวหนังสือไม่ได้ ส่วนร้านกาแฟมีเสียงบรรยากาศค่อนข้างดัง ทำให้ไม่มีสมาธิอ่านหนังสือ การมาที่นี่มีทั้งโต๊ะแยกให้เราได้โฟกัสงาน และมีโต๊ะนั่งรวมที่ติวหนังสือหรือประชุมงานกันได้ด้วย”
Startup Ecosystem และ Community ที่เต็มไปด้วยโอกาส
นอกเหนือจากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักเรียนนักศึกษาแล้ว เวลานี้ True Space มีการวางกลยุทธ์ขยายไปสู่ผู้ประกอบการ SME และสตาร์ทอัพ เพื่อเป็นโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ การมีเครือข่ายธุรกิจที่เข้มแข็งจากความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เป็นการดึงดูดให้ผู้ประกอบการเข้ามาเช่าพื้นที่เป็น Private Office หรือใช้งาน Co-working Space ที่ช่วยลดต้นทุนได้ รวมถึงการใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมธุรกิจต่างๆ ซึ่งนับเป็นบทบาทสำคัญของการเป็น Startup Ecosystem ของไทย
“เรามีผู้ประกอบการ SME และสตาร์ทอัพเข้ามาเช่าพื้นที่หรือเป็นสมาชิกอยู่หลายรายตามสาขาต่างๆ ซึ่งพวกเขาก็ได้ใช้สิ่งอำนวยความสะดวกได้ครบครัน ช่วยในการดำเนินงานได้ รวมถึงมีการจัดพื้นที่ทำ Event รองรับคนได้จำนวนหนึ่ง ล่าสุดก็มีจัดพื้นที่สำหรับทำ Business Deal ให้กับสตาร์ทอัพได้สำเร็จไปอีกหนึ่งราย” หัวหน้าสายงานทรูสเปซกล่าว
การปรับตัวในยุคของการเปลี่ยนแปลง
ท่ามกลางความต้องการเช่าพื้นที่สำนักงานแบบดั้งเดิมลดลง เนื่องจากรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป เช่น การทำงานแบบรีโมตและไฮบริด รวมถึงเทรนด์ของ Co-working space ที่มีการแข่งขันเพิ่มขึ้นทั้งจากคาเฟ่และศูนย์การค้า แต่ True Space ยังคงสามารถปรับตัวและเติบโตได้อย่างมั่นคง ด้วยจุดเด่นและกลยุทธ์ดังต่อไปนี้
· Flexible Work Solutions: มีพื้นที่ทำงานที่ออกแบบมาอย่างทันสมัย รองรับการทำงานที่ยืดหยุ่นหลากหลายรูปแบบ
· Community Building: จัดกิจกรรมที่หลากหลายสำหรับนักศึกษาและผู้ประกอบการ พร้อมกับสร้างคอมมูนิตี้ที่เชื่อมโยงพาร์ตเนอร์และผู้ใช้บริการไว้อย่างแข็งแกร่ง
· Exclusive Discounts and Member Benefits: สมาชิกจะได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ เช่น ส่วนลดบริการในเครือ True ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับการเป็นสมาชิก และสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ครบครัน
“เชื่อไหมว่า ชั้นสองของ True Space สาขาอโศกตรงนี้ทั้งหมด เคยเป็นแผนกคอลเซ็นเตอร์ให้กับสายการบินระดับโลกแห่งหนึ่ง” นวลพรรณ เริ่มเล่าถึงจุดเด่นของพื้นที่แห่งนี้
“ช่วงที่สายการบินแห่งนี้มีการปรับปรุงสำนักงานและมาเช่าพื้นที่ของเรา เราก็สามารถจัดเป็นพื้นที่ทำงานได้อย่างตอบโจทย์ ต่อมาจึงกลายมาเป็นลูกค้าประจำ ในขณะเดียวกันพื้นที่เดียวกันนี้ก็เคยปรับให้เป็นงาน Event หรืองานเลี้ยง ซึ่งเราจัดให้ได้ วางแพลนโต๊ะเก้าอี้กันใหม่ พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกและเทคโนโลยีที่เรามีพร้อม นี่คือจุดเด่นของ True Space ที่มีความยืดหยุ่นสูงมาก และตอบโจทย์ความต้องการได้เสมอ” เธอเน้นย้ำทิ้งท้าย
ลอรีอัล กรุ๊ป ในประเทศไทย จับมือพันธมิตรเดินหน้าพัฒนาต่อยอดโครงการจัดจ้างผู้ขาดโอกาสทางสังคม (Inclusive Sourcing Program) เป็นปีที่ 11 มอบโอกาสที่เท่าเทียมทางอาชีพให้แก่ผู้ขาดโอกาสทางสังคม มุ่งเน้นการกระจายโอกาสในการทำงาน การสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้กับกลุ่มผู้พิการและผู้สูงอายุเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับชุมชน พร้อมจัดงาน “Partnership Day” มอบรางวัลยกย่องพันธมิตรทั้งเก่าและใหม่ ที่ร่วมกันดำเนินโครงการอย่างเต็มกำลัง
และมุ่งขยายโครงการฯ ไปยังพันธมิตรทางธุรกิจให้มากขึ้น เพื่อช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ผู้ขาดโอกาสเพิ่มขึ้นในประเทศไทย นอกจากนั้น ภายในงานยังมีการอัปเดตการดำเนินงานด้านความยั่งยืนภายในประเทศ ตามวิสัยทัศน์ L’Oréal For The Future ที่มุ่งเร่งเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานให้คำนึงถึงขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก และร่วมแก้ไขปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเร่งด่วนโดยทีมงานลอรีอัลด้วยเช่นกัน
นายแพทริค จีโร กรรมการผู้จัดการ ลอรีอัล ประเทศไทย เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชากล่าวว่า “ในฐานะบริษัทผู้นำด้านความงามระดับโลกที่มีเป้าหมายในการสร้างความงามที่ขับเคลื่อนโลก ลอรีอัล ให้ความสำคัญในการทำงานที่ช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในทุกชุมชนที่เราดำเนินธุรกิจไปพร้อมๆ กับการเติบโตทางธุรกิจ นอกจากนั้น เรายังตระหนักดีถึงความหนักหนาของปัญหาที่โลกและสังคมกำลังเผชิญ และความจำเป็นที่ทุกๆ ฝ่ายต้องเข้ามามีส่วนร่วม เราจึงมุ่งส่งเสริมให้พันธมิตรทางธุรกิจของเรา ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโอกาสให้กลุ่มคนที่ขาดโอกาสทางสังคมผ่านโครงการจัดจ้างผู้ขาดโอกาสทางสังคม (Inclusive Sourcing Program) ซึ่งถือเป็นหนึ่งโครงการสำคัญ โดยลอรีอัล กรุ๊ป ได้ตั้งเป้าในการช่วยผู้ขาดโอกาสทั่วโลกเพิ่มขึ้นอีก 100,000 คนภายในปี 2030”
จากเป้าหมายของลอรีอัล กรุ๊ปในการช่วยผู้ขาดโอกาสทั่วโลกเพิ่มขึ้นอีก 100,000 คนภายในปี 2030 นั้น ในปี 2023 ได้ดำเนินโครงการไปแล้วทั้งสิ้น 429 โครงการครอบคลุมพื้นที่ 1,069 แห่งใน 67 ประเทศ และช่วยให้คนกว่า 93,165 คนให้สามารถเข้าถึงงานได้ โดยการทำงานครอบคลุมทั้งในด้าน การจ้างงานผู้ขาดโอกาส และการจัดซื้อวัตถุดิบจากชุมชน ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการ Inclusive Sourcing และการให้โอกาสทางอาชีพผ่านการอบรบทักษะอาชีพเสริมสวยภายใต้โครงการ Beauty for a Better Life
“ในส่วนของลอรีอัล กรุ๊ป ในประเทศไทยนั้น เริ่มดำเนินโครงการ Inclusive Sourcing จัดจ้างผู้ขาดโอกาสทางสังคมมาตั้งแต่ปี 2014 จากจุดเริ่มต้นที่มีผู้ขาดโอกาสทางสังคมที่ได้รับประโยชน์ผ่านโครงการนี้ 6 คนในปีแรก มาเป็น 234 คนในปี 2024 และยังมีการขยายโครงการในการสร้างรายได้ให้บริษัทรายเล็กกลุ่ม SMEs และบริษัทสตรีเป็นเจ้าของ เรายังคงมุ่งหน้าผลักดันความร่วมมือกับพันธมิตรของเรา พร้อมกับการมองหาพันธมิตรใหม่ที่จะเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการเส้นทางการสร้างความงามที่ขับเคลื่อนโลก ตามพันธกิจเพื่อความยั่งยืนของเรา พันธมิตรทางธุรกิจคือกุญแจความสำเร็จในการดำเนินโครงการนี้ของเรา Partnership Day ถือเป็นวันสำคัญที่ลอรีอัล กรุ๊ป ในประเทศไทย จัดขึ้นตั้งแต่ปี 2016 เพื่อเชิดชูเกียรติพันธมิตรทางธุรกิจ ที่มีวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นร่วมกัน ในการขับเคลื่อนสังคมอย่างยั่งยืน” นางสาวอรอนงค์ ประทักษ์พิริยะ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการองค์กรและสื่อสารสัมพันธ์ ลอรีอัล ประเทศไทย เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา กล่าวเสริม
ในปีนี้ ลอรีอัล กรุ๊ป ได้มอบรางวัลยกย่องพันธมิตรทั้งเก่าและใหม่ ที่ร่วมกันดำเนินโครงการอย่างเต็มกำลัง พันธมิตรประเภท Silver ได้แก่ บริษัท ฟรองค์ อินเตอร์เทรด จำกัด, พันธมิตรประเภท Gold ได้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส.ที.รีแพ็ค และพันธมิตรประเภท Platinum ได้แก่ บริษัท พีเอ็มจี อินทิเกรทเต็ด คอมมิวนิเคชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด และยังได้ต้อนรับบริษัท SMEs และบริษัทที่มีสตรีเป็นเจ้าของที่ได้รับโอกาสการจ้างงานจากบริษัทฯ และในเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้
นอกจากการมอบรางวัลยกย่องพันธมิตรแล้ว ลอรีอัล กรุ๊ปยังอัปเดตการดำเนินการตามวิสัยทัศน์เพื่อความยั่งยืน L’Oréal For The Future ซึ่งมีการดำเนินงานจริงจังในหลากหลายมิติ เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนของกรุ๊ป ครอบคลุมในเรื่องของการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Fighting Climate Change), การจัดการน้ำอย่างยั่งยืน (Manage Water Sustainably), เคารพความหลากหลายทางชีวภาพ (Respecting Biodiversity) และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (Preserving Natural Resources) โดยในส่วนของลอรีอัล ประเทศไทยนั้น มีการดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การเริ่มนำรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า (EV Truck) มาใช้สำหรับการขนส่งสินค้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และการใช้มาตรการเข้มงวดในการลดการขนส่งสินค้าทางอากาศ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ อันเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการทำงานในด้านการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ
ภายในงาน ลอรีอัล ยังได้เสริมความเข้าใจร่วมกันในเป้าหมายด้านความยั่งยืนภายใต้ L’Oréal For The Future โดยเน้นในการทำงานในส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทางพันธมิตร เพื่อให้การทำงานร่วมกันเป็นไปตามเป้าหมายด้านความยั่งยืน อาทิ การออกแบบและสร้างจุดวางสินค้าและร้านค้าบนหลักการความยั่งยืนที่คำนึงถึงการเลือกใช้วัสดุรีไซเคิลหรือสามารถนำไปรีไซเคิลได้เมื่อสิ้นอายุการใช้งาน การจัดงานอีเว้นท์ที่คำนึงถึงการใช้วัสดุและการลดขยะสิ้นเปลือง การทำการสื่อสารการตลาดบนกล่องบรรจุภัณฑ์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
นายฉี ชิง-ฟู่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHFG และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH Bank กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ขยายตัวต่อเนื่องเพียงเล็กน้อยจากการบริโภคภายในประเทศและการท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง อย่างไรก็ดี การลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนชะลอลงตามการอนุมัติงบประมาณของภาครัฐที่มีความล่าช้าและการส่งออกที่ฟื้นตัวช้า สำหรับเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งหลังของปีคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรกจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น การลงทุนภายในประเทศและการลงทุนจากต่างประเทศที่ขยายตัวดีขึ้น
กลุ่มธุรกิจทางการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ยังคงให้ความสำคัญกับ Sustainable Banking เพื่อมุ่งสู่ การเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืน มุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) จากการดำเนินงานของธุรกิจธนาคาร รวมถึงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมและการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการปรับตัว สำหรับธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของธนาคารแห่งประเทศไทย และปี 2567 บริษัทได้รับการคัดเลือกให้เป็นบริษัทที่มีการดำเนินงาน โดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมมาภิบาล (ESG100) เป็นปีที่ 9 รวมทั้งได้รับการคัดเลือกให้อยู่ใน Universe ของกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 โดยสถาบันไทยพัฒน์
ผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2567 กลุ่มธุรกิจทางการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีกำไรสุทธิ 891 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 25.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และกำไรจากการดำเนินงานก่อนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้จำนวน 1,990 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 19.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหลักๆ เป็นผลจากเงินปันผลที่ลดลงเนื่องจากกลุ่มธุรกิจทางการเงินยังคงลดพอร์ตการลงทุน รายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ครึ่งแรกของปี 2567 เติบโตได้ดีผ่านการขยายฐานสินเชื่อลูกค้าทั้งลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจ ทั้งช่องทางดิจิทัลและพันธมิตรทางธุรกิจ ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 846 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นผลจากเงินปันผลที่ลดลง สินเชื่อเติบโตร้อยละ 8.7 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 หลักๆ เป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อธุรกิจและกลุ่มลูกค้าไต้หวัน และสินเชื่อกลุ่มลูกค้าไต้หวันเพิ่มขึ้นร้อยละ 31 ผ่านเครือข่ายของ CTBC Bank ธนาคารเอกชนอันดับ 1 ของไต้หวัน ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของกลุ่มธุรกิจ และ Trade Finance เติบโตร้อยละ 19 ทั้งนี้ ธนาคารคุม NPL ให้อยู่ที่ร้อยละ 3 รวมทั้งได้ตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญอย่างระมัดระวังโดย NPL Coverage อยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 188 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม
ด้านเงินฝาก ธนาคารได้ขยายฐานลูกค้าเงินฝากรายย่อยเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผ่านช่องทาง Digital Banking และออกผลิตภัณฑ์เงินฝากต่างๆ เช่น เงินฝากบัญชีออมทรัพย์ดิจิทัล B-You Wealth ดอกเบี้ยสูงสุด 5.55% แคมเปญผลิตภัณฑ์เงินฝากออมทรัพย์ดิจิทัล รับฟรี บัตรแรบบิท LH Bank Success Infinite Prestige Collection แคมเปญผลิตภัณฑ์เงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) และผลิตภัณฑ์ LH Bank Health Care Saving รวมถึงบัญชีออมทรัพย์เพื่อธุรกิจอัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได
ทิศทางธุรกิจครึ่งหลังของปี 2567 ธนาคารยังคงเน้นขยายตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยและขับเคลื่อน การเติบโตกลุ่มลูกค้า SMEs ธนาคารได้พัฒนาระบบ Corporate E-Banking และ Mobile Banking เพื่อให้บริการมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการปรับกระบวนการพิจารณาสินเชื่อให้รวดเร็ว และเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน (Sustainable Banking) ที่ดำเนินธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล การบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม และล่าสุดธนาคารได้จับมือเป็นพันธมิตรกับสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ “EEI” และอุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ “MASCI” รวมถึงบริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด “ABEAM” บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจชั้นนำระดับโลก เพื่อดำเนินโครงการเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับผู้ประกอบการ (Green Transition Advisory Loan) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม SMEs ไทยให้สามารถปรับตัวอย่างยั่งยืน
นายมนรัฐ ผดุงสิทธิ์ กรรมการผู้อำนวยการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด หรือ LH Fund กล่าวว่า ช่วงครึ่งแรกของปี 2567 บริษัทได้ปรับลักษณะการดำเนินการในการบริหารกองทุน โดยเน้นการวิเคราะห์ข้อมูลและปรับเปลี่ยนกองทุนหลัก ( Master Fund ) เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดและ เพิ่มโอกาสในการสร้างผลการดำเนินงานที่ดีกว่าเดิม ส่วนกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ยังคงมีผลการดำเนินงานที่ดีต่อเนื่องโดยเฉพาะ REIT ประเภทโรงแรมและพื้นที่ค้าปลีก ได้แก่ LHHOTEL, LHSC และ QHHRREIT ที่ได้รับอานิสงค์จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
กลยุทธ์ครึ่งหลังของปี 2567 บริษัทยังคงขยายฐานลูกค้ากองทุนส่วนบุคคล รวมทั้งขยายฐานลูกค้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ภายใต้การจัดการ รวมถึงให้ความสำคัญในด้าน ESG เพื่อสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืนให้กับกองทุนรวมและนักลงทุน สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทได้รับ ความไว้วางใจจากลูกค้าอย่างต่อเนื่องส่งผลธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ บริษัทได้ พัฒนาระบบ Life Path เพื่อรองรับการขยายฐานลูกค้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนได้แบบอัตโนมัติ
นายกานต์ อรรถธรรมสุนทร กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (LH Securities) กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) 6 เดือนแรกของปี 2567 ปรับตัวลดลง 8.1% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 มาอยู่ที่ 1,300.96 จุด โดยนักลงทุนต่างชาติยังขายต่อเนื่อง มียอดขายสุทธิ 115,983 ล้านบาท โดยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 45,238 ล้านบาท ลดลง 22.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยลบที่กดดันดัชนี เช่น ปัจจัยด้านการเมืองในประเทศและต่างประเทศ และท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาที่จะคงอัตราดอกเบี้ยอยู่ระดับสูงเป็นเวลานานขึ้น
ผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2567 บริษัทมีรายได้รวมจำนวน 158.8 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 หลักๆ มาจากรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลดลงอย่างมากตามปริมาณ การซื้อขายของตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลงถึง 22.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในไตรมาสที่ 3 บริษัทจะเปิดให้บริการธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial Advisor : FA) เพื่อต่อยอดการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างครบวงจร รวมทั้งได้พัฒนาบริการด้านระบบเทคโนโลยีผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อสร้าง Engagement ของลูกค้า รวมทั้ง การบริหารต้นทุนอย่างเหมาะสมท่ามกลางภาวะตลาดหุ้นที่มีความผันผวนและมีปริมาณการซื้อขายที่ลดลง