

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คณะบริหารธุรกิจ ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในการผนวกเอาเนื้อหาของหลักสูตร Certified Investment and Securities Analyst (CISA) ระดับ Foundation Knowledge หรือ AISA สำหรับการเรียนการสอนของนักศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านการวิเคราะห์การเงินและจัดการลงทุน เพิ่มความน่าสนใจและความทันสมัยของเนื้อหาหลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับกลุ่มนักศึกษาคนรุ่นใหม่ และสนับสนุนการสร้างบุคลากรคุณภาพป้อนสู่ตลาดทุนไทย
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คณะบริหารธุรกิจ ร่วมมือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้ เป็นการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ด้วยการเชื่อมโยงหลักสูตร Certified Investment and Securities Analyst (“CISA”) ระดับ Foundation Knowledge ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี บริหารธุรกิจ หลักสูตร 3 ปี กลุ่มวิชาการเงินการลงทุน และ ระดับปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต หลักสูตร 1 ปี Investment Analyst (aMBA) เพื่อมุ่งเน้นปูพื้นฐานให้กับผู้เข้าศึกษาต่อเข้าใจถึงเครื่องมือพื้นฐาน (Basic Tools) เกี่ยวกับการวิเคราะห์ทางการเงิน การวิเคราะห์หลักทรัพย์ และการจัดการการลงทุน ตลอดจนแนวคิดพื้นฐานการประเมินมูลค่าสินทรัพย์แบบต่าง ๆ รวมถึงหลักการพื้นฐานการบริหารกลุ่มสินทรัพย์ลงทุน ภายใต้กรอบของจรรยาบรรณและมาตรฐานการปฏิบัติงาน โดยหลักสูตร AISA ได้แบ่งโครงสร้างเนื้อหาออกเป็น 3 กลุ่มวิชาหลัก ดังนี กลุ่มวิชาที่ 1 คือ จรรยาบรรณและมาตรฐานการปฏิบัติงาน กลุ่มวิชาที่ 2 คือ เครื่องมือวิเคราะห์เพื่อการลงทุนและ กลุ่มวิชาที่ 3 คือ การวิเคราะห์หลักทรัพย์และการบริหารกลุ่มสินทรัพย์ลงทุนเพื่อมุ่งการพัฒนาตลาดทุน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน
รองศาสตราจารย์ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า “มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีความยินดี ที่ได้รับเกียรติจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ความร่วมมือทางวิชาการ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีจุดแข็งหลักสูตรการเงินของที่นี่เน้นการบริหารการเงินและการลงทุนอย่างลึกซึ้ง รวมถึงการวางแผนทางการเงิน การบริหารความเสี่ยง และเทคโนโลยีทางการเงินสมัยใหม่ การเรียนรู้แบบปฏิบัติจริงของนักศึกษา จะได้ลงมือปฏิบัติจริงในการลงทุนแบบจำลองต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้มีประสบการณ์และความเข้าใจในสถานการณ์จริง หลักสูตร CISA ระดับ Foundation Knowledge ตั้งแต่ระดับชั้นปริญญาตรีและปริญญาโท จะเชื่อมโยงเข้ากับหลักสูตรของคณะบริหารธุรกิจ ส่งเสริมและสนับสนุนให้การวางแผนและบริหารจัดการทางการเงินและการลงทุนของนักศึกษา เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น”
ดร. ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “หนึ่งในภารกิจสำคัญของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ การส่งเสริมความรู้ด้านการเงินการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนิสิตนักศึกษา เพื่อสร้างบุคลากรด้านการเงินรุ่นใหม่ที่มีความรู้และทักษะที่สอดคล้องกับพัฒนาการของตลาดทุนเพิ่มมากขึ้น ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการนำองค์ความรู้หลักสูตร AISA ซึ่งเป็นหลักสูตรความรู้ด้านการวิเคราะห์การเงินและจัดการลงทุนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ผสานเข้ากับหลักสูตรปริญญาตรีและโท เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ไปยังนักศึกษาของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นอกจากจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจและความทันสมัยของเนื้อหาหลักสูตรการเรียนการสอนด้านการเงินแล้ว ยังมีส่วนสนับสนุนการสร้างบุคลากรคุณภาพสู่ตลาดทุนไทย เพื่อให้เข้ามาร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป”
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำด้านการค้าและการบริการ ชูวิสัยทัศน์การเป็น AiUTCC โดยการผนึกกำลังกับพาร์ทเนอร์ ผู้นำทางเทคโนโลยีระดับโลก วางรากฐาน Digital-AI เพื่อความเป็นเลิศด้าน AI Integrated University ล่าสุด ดร.ชัชชัย หวังวิวัฒนา ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ และ UTCC AI Master ได้รับเชิญจากมหกรรมเทคโนโลยีระดับโลก Huawei Connect 2024 ณ มหานครเซี่ยงไฮ้ เพื่อนำเสนอพันธกิจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในหัวข้อ Building a Smart Campus to Accelerate the Digital and Intelligent Transformation of UTCC ซึ่งผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยผู้บริหารจากองค์กรพันธมิตรทางธุรกิจ กว่า 300 คน
ดร.ชัชชัย หวังวิวัฒนา ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ และ UTCC AI Master กล่าวว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ส่งเสริมการเรียนการสอนด้วยระบบ Digital Hybrid Learning มากว่า 20 ปี โดยแจก โน้ตบุ๊ก และแท็บเล็ต ให้นักศึกษาใช้เป็นอุปกรณ์การเรียน เพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์ สร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ ส่งผลให้นักศึกษาสามารถเข้าใจเนื้อหาได้ดีขึ้น และเรียนรู้เพิ่มเติมได้ด้วยตัวเองทุกที่ทุกวัน ดังนั้น เพื่อยกระดับระบบการจัดการการเรียนรู้ ในปีการศึกษา 2567 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยวางรากฐานสู่การเป็น AiUTCC โดยเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกใน Asia Pacific ที่ติดตั้ง WiFi 7 ซึ่งมีความเร็วระดับ Near Zero Latency เพื่อยกระดับประสบการณ์การเรียนการสอน และการดำเนินงาน
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะด้าน AI ของนักศึกษาและบุคลากรอย่างจริงจัง โดยมีการอบรมอาจารย์ และเจ้าหน้าที่ 90 คน เป็น Ai Champion ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ขับเคลื่อนทั้งองค์กรไปพร้อมกัน
ในด้านการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมมือกับ Huawei พัฒนาทักษะด้าน AI, Digital และ Cloud เพื่อสร้างนักศึกษาให้เป็นมืออาชีพ พร้อมสู่ตลาดงานด้านเทคโนโลยีนอกจากนี้ ทุกคณะวิชาได้นำ AI มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน เช่น คณะมนุษยศาสตร์ นำ AI Chatbot มาช่วยพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศ และทักษะดิจิทัลไปพร้อม ๆ กัน และนักศึกษาทุกคนได้รับ Canva Pro AI Magic และ Copilot ฟรีเพื่อใช้ในการเรียน
สำหรับด้านการให้บริการนักศึกษา มหาวิทยาลัยนำ AI มาใช้ประโยชน์ในบริการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย เช่น ระบบหางาน Career sync ที่นำระบบ AI มาช่วยในการแมชต์ทักษะของนักศึกษาให้ตรงกับตำแหน่งงานที่ผู้ประกอบการเปิดรับสมัคร รวมถึง Skill transcripts ที่ระบุว่านักศึกษาที่ผ่านการเรียนและกิจกรรมต่างๆ มีทักษะอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานในอนาคต เช่น การทำงานเป็นทีม การคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล และความคิดสรรค์ เป็นต้น
ด้านการให้บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดตั้งสถาบันฝึกอบรมและให้คำปรึกษาด้าน AI ที่ทันสมัยแก่ผู้ประกอบการ ที่ต้องการขับเคลื่อนธุรกิจด้วย AI ทั่วประเทศ เพื่อการเป็นมหาวิทยาลัยสอคล้องกับพันธกิจการเป็น AiUTCC ที่นำ AI มาบูรณาการเพื่อการเรียนการสอน การให้บริการนักศึกษา และการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด