December 22, 2024

SCB CIO วิเคราะห์หากทรัมป์ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐในเดือน พ.ย.นี้ คาดจะมีนโยบายที่สนับสนุนต่อเศรษฐกิจสหรัฐมากกว่าไบเดน จากการบริโภคที่ได้รับแรงหนุนนโยบายต่ออายุการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และคงอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ส่งผลดีต่อบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ส่วนจีนจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าหนักขึ้น ด้านค่าเงินในภูมิภาคเอเชีย ที่พึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่า เช่น วอนเกาหลีใต้ ดอลลาร์ไต้หวันและเงินบาท อาจส่งผลให้เงินทุนไหลออกได้ พร้อมแนะนำลงทุนตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นจีน A-Share บนพอร์ตลงทุนระยะยาว 1 ปีขึ้นไป แต่ต้องจับตาความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้ง พร้อมลงทุนตลาดหุ้นจีน H-Share บนพอร์ตระยะสั้นรับแรงหนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางการจีน

น.ส.เกษรี อายุตตะกะ CFP® ผู้อำนวยการกลยุทธ์การลงทุน SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า จากการติดตามผลสำรวจคะแนนความนิยมของนายโจ ไบเดน และนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ท้าชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการเลือกตั้งเดือน พ.ย. 2567 นี้ ผ่านเว็บไซต์ผลสำรวจ realclearpolitics พบว่า ล่าสุด คะแนนความนิยมของทรัมป์ อยู่ที่ 47.5 นำเล็กน้อยเมื่อเทียบกับคะแนนนิยมของไบเดน ซึ่งอยู่ที่ 46.4 และในสภาคองเกรส ผลสำรวจระบุว่า พรรค Republican มีคะแนนนำเล็กน้อยในสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาล่าง ส่วนวุฒิสภา หรือสภาบน คะแนนทั้งสองพรรคใกล้เคียงกันมาก

ทั้งนี้ SCB CIO วิเคราะห์ผลกระทบเปรียบเทียบระหว่างทรัมป์หรือไบเดน เป็นประธานาธิบดีสมัยหน้า โดยมองว่า หากทรัมป์เป็นประธานาธิบดีจะมีนโยบายที่สนับสนุนต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากกว่าไบเดน เนื่องจากการบริโภคจะได้รับแรงหนุน จากนโยบายต่ออายุการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่จะหมดอายุลงในปี 2568 ขณะที่ไบเดนมีแผนเก็บภาษีรายได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ที่มีความมั่งคั่งสูง แต่การบริโภคสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ อาจได้รับผลกระทบบ้างจากนโยบายของทรัมป์ ที่จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทั้งหมดจากจีนมากกว่า 60% และสินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้าอื่น 10% ส่วนการส่งออกสุทธิ อาจได้รับผลกระทบจากต้นทุนนำเข้าสินค้าทุนที่แพงขึ้น และจากการตอบโต้กลับของประเทศอื่น ทำให้สหรัฐฯ สูญเสียความได้เปรียบทางการแข่งขัน ต่างจากไบเดนที่เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นโดยพุ่งเป้าเฉพาะสินค้ายุทธศาสตร์ของจีนเป็นหลักทำให้ไม่ส่งผลกระทบมากนัก

ด้านการลงทุน จะคงอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ที่ 21% หรืออาจปรับลดเพิ่มเติม รวมทั้งมีนโยบาย American First เพิ่มการผลิตในประเทศ ทดแทนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ส่วนการคลังจะขาดดุลการคลังมากขึ้น ทำให้ต้องออกพันธบัตรรัฐบาล (Bond) เพิ่มขึ้น และอาจเผชิญข้อจำกัด เนื่องจากยอดหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ช่วงโควิด ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานงบประมาณรัฐสภา (CBO) ในปี 2567 คาดว่า หนี้สาธารณะต่อ GDP จะอยู่ที่ 99% ต่างจากเมื่อปี 2559 ที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี ซึ่งอยู่ที่ 77% และสหรัฐฯ จะมีปัญหาชนเพดานหนี้อีกครั้ง จากที่ได้ขยายเวลาเพดานหนี้ไปถึงช่วงต้นปี 2568

สำหรับอัตราเงินเฟ้อ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากทรัมป์เป็นประธานาธิบดี เพราะการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนและประเทศคู่ค้าอื่น จะทำให้ต้นทุนการนำเข้าของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น และอาจเกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก (Supply Chain Disruption) นอกจากนี้ ยังเผชิญแรงกดดันจากการเพิ่มการขาดดุลการคลัง รวมทั้งการจำกัดการอพยพย้ายถิ่นฐานที่จะไปกดดันอุปทานแรงงาน ต่างจากไบเดนที่อัตราเงินเฟ้ออาจเพิ่มขึ้นน้อยกว่า เนื่องจากมีการกระตุ้นทางการคลัง และการปรับขึ้นภาษีนำเข้าน้อยกว่า

ขณะที่ทิศทางนโยบายการเงิน เราคาดว่าทรัมป์จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และยังมีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ย โดยเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Yield Curve) มีแนวโน้มชันมากขึ้น จากเงินเฟ้อคาดการณ์ที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการออกบอนด์ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ Bond Yield ระยะยาวปรับเพิ่มขึ้น (Yield Curve ชันมากขึ้น) อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เผชิญข้อจำกัดในการใช้นโยบายการคลัง โดยเฉพาะกรณีไม่สามารถครองเสียงข้างมากทั้ง 2 สภา ทรัมป์อาจจะกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ Bond Yield ระยะสั้นปรับลดลง และทำให้ Yield Curve มีความชันเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ อาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงบนความต่อเนื่องของนโยบายการเงินได้ โดยมีแนวโน้มที่จะไม่ต่ออายุนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ที่จะครบวาระในวันที่ 15 พ.ค. 2569 และน่าจะแต่งตั้งประธานเฟดคนใหม่ ที่มีนโยบายปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งอาจทำให้มีการผ่อนคลายทางการเงินมากเกินไป ส่งผลให้การคาดการณ์เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น

สำหรับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินคู่ค้า จากความเสี่ยงการปรับขึ้นภาษีนำเข้า และสงครามการค้าโลกที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น รวมทั้งยังมีแรงหนุนจากการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การออกบอนด์เพิ่มขึ้น ที่จะทำให้ Bond Yield เพิ่มขึ้นด้วย ตรงกันข้ามกับไบเดน เป็นประธานาธิบดี ที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มทรงตัวถึงอ่อนค่า ตามทิศทางการลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด

ในส่วนของผลต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ นั้น จากสถิติในอดีต พบว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มักผันผวนเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้งสหรัฐฯ แต่เมื่อการเลือกตั้งผ่านพ้นไปแล้ว ความผันผวนจะปรับลดลง ทั้งนี้ หากทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี จะเป็นผลดีต่อบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ มากกว่าไบเดน จากการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่จะส่งผลให้ผู้บริโภคใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และทำให้ยอดขายสินค้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ขณะที่การปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล จะช่วยหนุนให้กิจการมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นภาษีนำเข้าอาจกระทบปัจจัยพื้นฐานของตลาดหุ้น โดยเฉพาะผู้ที่นำเข้าสินค้ามาเพื่อผลิตต่อ ขณะที่ผู้ส่งออก ยังมีแนวโน้มเผชิญการตอบโต้กลับด้านภาษีการค้าของประเทศอื่นๆ ส่วน Valuation มีแนวโน้มปรับลดลง จากการที่ Bond Yield ระยะยาว มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปัจจุบันที่ Valuation อยู่ในระดับที่ค่อนข้างแพงมากกว่าในอดีต นอกจากนี้ เรามองว่า การที่ ทรัมป์ได้รับชัยชนะจะทำให้ความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายต่างๆ ที่อาจจะเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการสื่อสารนโยบายผ่านช่องทางต่างๆ เข่น Twitter (X) และการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ลงทุนในตลาดหุ้นต้องการผลตอบแทนเพื่อชดเชยความเสี่ยง (Equity Risk Premium) สูงขึ้น กดดัน Valuation ของดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้

ส่วนกรณีที่ ไบเดน เป็นประธานาธิบดี จะเป็นผลดีต่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ น้อยกว่า โดยแนวโน้มกำไรต่อหุ้น (EPS) มีความเสี่ยงจะได้รับแรงกดดันจากการปรับขึ้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และการเก็บภาษีการซื้อหุ้นคืนด้วย ขณะที่ ราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นบ้างจากการที่ Bond Yield มีแนวโน้มเป็นขาลง และความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายต่างๆ ปรับลดลง

น.ส.เกษรี กล่าวว่า สำหรับผลที่มีต่อประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะจีน จากนโยบายของ ทรัมป์ และ ไบเดนนั้น ถือว่าเป็นลบกับจีนทั้งคู่ แต่นโยบายของทรัมป์ จะส่งผลกระทบต่อจีนมากกว่า เพราะนอกจากเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนทั้งหมดแล้ว ยังมีแนวโน้มลดระดับความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน ยกเลิกการนำเข้าสินค้าที่จำเป็นจากจีน ตั้งแต่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก ไปจนถึงยา ภายใน 4 ปี ทั้งยังขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์จีนที่ผลิตในเม็กซิโกในอัตรา 100% กำหนด

ข้อจำกัดการถือครอง (ownership) ของจีน ในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของสหรัฐฯ เช่น พลังงาน เทคโนโลยี การแพทย์ และการสื่อสาร และยังออกกฎใหม่เพื่อหยุดการลงทุนของบริษัทสหรัฐฯ ในจีนอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาจีนมีการเตรียมการรับมือเอาไว้แล้ว ด้วยการปรับห่วงโซ่อุปทานและปรับช่องทางการค้า โดยกระจายความเสี่ยงส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ มากขึ้น ซึ่งจะช่วยจำกัดผลลบต่อเศรษฐกิจจีนได้ ประกอบกับธนาคารกลางจีน (PBoC) อาจยอมปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลงเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ในระดับที่ไม่ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเงินทุนไหลออก ซึ่งก็จะช่วยบรรเทาผลลบจากกำแพงภาษีได้อีกทาง

ในส่วนของผลกระทบต่อประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียนั้น เรามองว่า การปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ รวมทั้งความไม่แน่นอนของตลาดที่มากขึ้น อาจส่งผลให้ค่าเงินในเอเชียผันผวนมากขึ้น โดยเฉพาะสกุลเงินที่พึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ สูง และเกินดุลการค้าสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก เช่น วอนเกาหลีใต้ ดอลลาร์ไต้หวัน และเงินบาท ซึ่งอาจทำให้เงินทุนไหลออกได้ ขณะที่ค่าเงินรูปีอินเดีย รูเปียห์อินโดนีเซีย และเปโซฟิลิปปินส์ อาจได้รับผลกระทบน้อยกว่า เพราะพึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ และจีนค่อนข้างต่ำ

สำหรับคำแนะนำการลงทุนของ SCB CIO ในปัจจุบัน เราแนะนำให้ลงทุนตลาดหุ้นสหรัฐฯ บน Core Portfolio ซึ่งเป็นพอร์ตลงทุนหลัก สำหรับการลงทุนระยะยาว 1 ปีขึ้นไป โดยเรามองว่า จะเริ่มเห็นการขยายตัวของกำไรบริษัทจดทะเบียนไปยังหุ้นอื่นๆ นอกเหนือจากกลุ่มหุ้นที่มีมูลค่าสูงที่สุดในตลาด 7 ตัว (Magnificent 7) มากขึ้น รวมทั้งเห็นการกระจายตัวของกำไรในอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ กลุ่มธุรกิจบริการสำหรับผู้บริโภค และกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งจะช่วยประคอง Valuation ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ให้อยู่ในระดับสูงได้

ส่วนตลาดหุ้นจีน A-Share เราแนะนำลงทุนบน Core Portfolio เช่นกัน เนื่องจากมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว ตามความคาดหวังของนักลงทุนบนการออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม ในการประชุม 3rd Plenum และการประชุม Politburo ช่วงเดือนก.ค. นี้ แม้เมื่อเข้าใกล้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดัชนีตลาดหุ้นจีน A-Share อาจมีแนวโน้มเผชิญความผันผวนเพิ่มมากขึ้น จากท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นของทางสหรัฐฯ ก็ตาม

ในส่วนของตลาดหุ้นจีน H-Share เราแนะนำให้ลงทุนบน Opportunistic Portfolio ซึ่งเป็นพอร์ตเสริมโอกาสระยะสั้น เฉพาะนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงสูง เนื่องจาก มีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก 1) การออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมของทางการจีน โดยเฉพาะบนมาตรการเยียวยาภาคอสังหาริมทรัพย์ 2) เงินลงทุนไหลเข้า (Inflows) ผ่านช่องทาง Southbound stock connect ที่มีแนวโน้มมากขึ้น ตามการผ่อนคลายที่สนับสนุนตลาดทุน 3) การซื้อหุ้นคืนเพิ่มขึ้น และการเพิ่มเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนจีนที่ไปจดทะเบียนในตลาดหุ้น H-Share (offshore) โดยเฉพาะกลุ่มอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ ซึ่งอาจช่วยหนุนอัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) และ valuation และ 4) การคาดการณ์กำไรต่อหุ้น (EPS) ของตลาด H-Share ที่มีแนวโน้มทรงตัวถึงถูกปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนกับคู่ค้าต่างๆ และประเด็นข้อพิพาทช่องแคบไต้หวัน โดยล่าสุด จีนซ้อมรบใหญ่รอบไต้หวัน อ้างว่าเป็นการลงโทษท่าทีแบ่งแยกดินแดนของประธานาธิบดีไต้หวันคนใหม่ อาจเพิ่มความผันผวนแก่ตลาดได้

เปิดกลยุทธ์การลงทุนเดือนเมษายน จับทางตลาดหุ้นสหรัฐฯ และทองคำ ที่อาจมีย่อตัวลงหลังไตรมาสแรกราคาปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมาก นักลงทุนรุ่นใหม่มองเป็นโอกาสเข้าลงทุนระยะยาว เพราะแนวโน้มยังเป็นขาขึ้น แนะรอจังหวะสะสมเมื่อราคาปรับตัวลง ส่วนบิทคอยน์มีโอกาสดีดตัวขึ้นรับ Bitcoin Halving ที่จะเกิดขึ้นในเดือนนี้ หนุนราคาเหรียญทางเลือก (Altcoin) ปรับตัวขึ้นตาม

นายณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS) สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ ให้มุมมองว่า เดือนเมษายนนี้ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกามีโอกาสจะเข้าสู่รอบปรับฐาน หลังจากไตรมาสแรกที่ผ่านมา ทุกดัชนีมีการปรับตัวขึ้นได้ในระดับเกือบเลขสองหลักและสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้ ทั้งนี้เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวลงของดัชนีจากการที่หุ้นขนาดใหญ่บางตัว เช่น APPLE และ TESLA ถูกเทขาย เพราะมีความกังวลเรื่องผลประกอบการ และตลาดเริ่มกลับมากังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะไม่ลดดอกเบี้ยรวม 3 ครั้งในปีนี้ ตามที่ประกาศไว้ เนื่องจากเศรษฐกิจยังเติบโตต่อเนื่อง และเงินเฟ้อยังไม่ลงมาถึงเป้าหมายระดับ 2% ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อกลับมาอีกครั้ง

สำหรับผู้ที่ลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ และมีกำไรแล้วระดับหนึ่งสามารถที่จะขายทำกำไร และรอให้ราคาปรับฐานลงก่อนเข้าไปลงทุนใหม่อีกครั้งได้ เพราะภาพใหญ่ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังเป็นขาขึ้น รวมถึงผลประกอบการของหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่ยังได้กระแสของเอไอหนุน แต่ราคาหุ้นในปัจจุบันค่อนข้างที่จะพรีเมียมแล้ว การที่ราคาปรับฐานลงในระดับ 10% ถือเป็นจังหวะดีที่จะเข้าลงทุน

ขณะที่ “ทองคำ” ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนโดดเด่นในเดือนที่ผ่านมาจนราคาสามารถสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้ แม้ว่าค่าเงินดอลลาร์ยังแข็งค่า น่าจะมีเหตุผลมาจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ประกอบกับมีแรงซื้อจากประเทศจีนที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่การที่ราคาปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างเร็วและใกล้จะถึงเป้าหมายแนวต้านแล้วทำให้ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น

“แนวโน้มหลักของทองคำยังคงเป็นขาขึ้น และมีโอกาสจะแตะแนวต้านระยะยาวที่ระดับ 2,800 ดอลลาร์ ได้ แต่ระยะสั้นในระดับราคาที่เริ่มจะชนแนวต้านแรกที่ 2,360 ดอลลาร์ มองเป็นโอกาสขายทำกำไรระยะกลาง สำหรับผู้ที่ถือมาตั้งแต่ต้นทางและรอจังหวะที่จะเข้าไปซื้อใหม่อีกครั้งที่แนวรับ 2,150 ดอลลาร์ และ 2,076 ดอลลาร์”

ทางด้าน “บิทคอยน์” ที่เคยร้อนแรงในช่วงไตรมาสแรกเริ่มที่จะมีการพักฐาน และเคลื่อนไหวแบบออกข้างมาได้ระยะหนึ่ง ในเชิงพื้นฐานยังมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นได้ต่อโดยมีเหตุการณ์ที่มาช่วยหนุนนั่น คือการเกิด Bitcoin Halving ในช่วงวันที่ 20 เมษายนนี้ แม้ว่าราคาบิทคอยน์จะสามารถทำจุดสูงสุดใหม่ได้ก่อนที่จะมี Halving ซึ่งแปลกไปจากรอบขาขึ้นครั้งก่อน ๆ แต่การที่มี Bitcoin Spot ETF จะเป็นตัวเร่งทำให้มีแรงซื้อเข้ามาในบิทคอยน์เพิ่มมากขึ้น

“ต้นทุนเฉลี่ยของนักลงทุนที่ซื้อบิทคอยน์ผ่าน Spot ETF อยู่แถวราคา 50,000 ดอลลาร์ เทียบกับราคาตลาดปัจจุบันยังถือว่าไม่สูงมากนักที่จะมีแรงเทขายหนัก ๆ เข้ามา ประกอบกับแรงขายบิทคอยน์ใน Grayscale Bitcoin ETF เริ่มลดลง และแรงซื้อผ่านกองทุนของ Blackrock เริ่มกลับเข้ามา จึงเป็นโอกาสที่จะทยอยเข้าสะสมบิทคอยน์ในช่วงที่ราคายังนิ่ง โดยหากสามารถผ่านจุดสูงสุดเดิมที่ 74,000 ดอลลาร์ ไปได้ มีโอกาสที่จะขึ้นทดสอบแนวต้าน 82,000 ดอลลาร์ ขึ้นไปได้เป็นอย่างน้อย”

ขณะที่ “อีธีเรียม” ซึ่งเป็นเหรียญใหญ่อันดับสองที่กำลังมีข่าวกำลังถูกพิจารณาจัดตั้งกองทุน Spot Ethereum ETF มีความเป็นไปได้สูงว่าอาจจะยังไม่ได้รับการอนุมัติตามที่คาดหวังไว้ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ แต่ถึงอย่างไรพื้นฐานของอีธีเรียมยังคงเติบโตได้ดี และมีโอกาสจะเป็นผู้นำตลาดเหรียญทางเลือก หรือ Altcoin อื่น ๆ ที่จะปรับตัวขึ้นในช่วงหลังจากนี้ ถ้าหากบิทคอยน์เริ่มประคองตัวอยู่ในโซนราคาที่สูงแล้ว โดยระยะสั้นจับตาแนวรับของบิทคอยน์ที่ 60,000 ดอลลาร์ ถ้าสามารถยืนระดับนี้ได้จะสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้

นายณพวีร์ กล่าวปิดท้ายว่า ปัจจัยที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ (10 เม.ย.) จะมีการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ถ้าหากออกมาสูงกว่าที่คาดไว้ที่ 3.4% อาจเป็นตัวเร่งกดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ รวมถึงสินทรัพย์อื่น ๆ รวมถึงปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศที่เริ่มมีความรุนแรงกลับเข้ามา แต่ภาพรวมไม่ถือว่าจะเกิดปัจจัยลบแรง ๆ ที่ทำให้ตลาดมีความผันผวนมากนัก การย่อตัวลงมาของตลาดหุ้นสหรัฐฯ และทองคำ รวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัล คือโอกาสที่จะเข้าลงทุนได้

SCB CIO ประเมินมุมมองเศรษฐกิจและการลงทุน หลังผลเลือกตั้งอินโดนีเซีย ที่นายปราโบโว ซูเบียนโต ได้รับคะแนนเสียงสูงสุด เตรียมเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ในวันที่ 20 ต.ค. นี้ เดินหน้านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และสวัสดิการสังคม พร้อมสานต่อนโยบายรัฐบาลชุดเดิม สร้างเศรษฐกิจให้เติบโตด้วยกลไกตลาดเสรี ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ และเน้นการพึ่งพาตัวเองมากขึ้น ทั้ง ด้านพลังงาน อาหาร และน้ำ รวมทั้ง ลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ตั้งเป้าเศรษฐกิจอินโดนีเซียเติบโตเฉลี่ย 6-7% ต่อปี SCB CIO ยังคงมุมมอง Neutral แม้หุ้นกลุ่มธนาคารเติบโตดี Valuationของตลาดหุ้น อยู่ในระดับต่ำ และรายได้ (Earning) ของบริษัทจดทะเบียน คาดว่ามีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในปีนี้ที่กว่า 12% และปี 2568 กว่า 9% แต่ยังมีปัจจัยกังวลในเรื่องภาคการส่งออกที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง การปรับลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และความเสี่ยงที่รัฐบาล อาจปรับเพิ่มเพดานขาดดุลการคลังต่อ GDP จาก 3% เป็น 6% ที่อาจจะกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังระยะกลางถึงยาวได้

ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2567 ผลการนับคะแนนแบบไม่เป็นทางการ (Quick Count) ที่มีความแม่นยำค่อนข้างสูง ชี้ว่า นายปราโบโว ซูเบียนโต (Prabowo Subianto)ได้คะแนนเฉลี่ย 58% ของคะแนนเสียงทั้งหมด ทำให้ นายปราโบโว คว้าชัยชนะจากการเลือกตั้งประธานาธิบดี และเตรียมรอเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ต.ค.นี้ โดยไม่น่าจะต้องมีการเลือกตั้งรอบสอง เนื่องจากเป็นไปตามกฎการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียที่ระบุว่า กรณีผู้สมัครชนะการเลือกตั้ง ต้องได้คะแนนมากกว่า 50% และ ได้คะแนนอย่างน้อย 20% ในจังหวัดต่างๆ มากกว่าครึ่งหนึ่งของจังหวัดทั้งประเทศ หากไม่มีผู้สมัครคนใดได้คะแนนเสียงถึงเกณฑ์ที่กำหนด จึงจะจัดเลือกตั้งรอบสอง ให้ผู้สมัครที่มีคะแนนเสียงอันดับ 1 และ 2 ชิงชัยชนะกัน

เมื่อวิเคราะห์นโยบายหาเสียงของนายปราโบโว พบว่า โดยภาพรวมเน้นไปที่การกระตุ้นเศรษฐกิจ และด้านสวัสดิการสังคม นโยบายหลักๆ ได้แก่ ด้านสุขภาพ อสังหาริมทรัพย์ แรงงาน การคลัง และ สวัสดิการสังคม โดยตัวอย่างนโยบายเด่นๆ เช่น จัดตรวจสุขภาพฟรีให้ประชาชนทุกคนปีละ 1 ครั้ง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของหมู่บ้านและตำบลอย่างต่อเนื่อง เพิ่มเงินเดือนข้าราชการ จัดตั้งสำนักงานสรรพากรของรัฐ แยกออกมาจากกระทรวงการคลัง เพื่อเพิ่มอัตราส่วนรายได้ภาครัฐต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และเพิ่มโปรแกรมบัตรสวัสดิการสังคม เพื่อขจัดความยากจนอย่างแท้จริง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังพร้อมสานต่อนโยบายรัฐบาลของนายโจโก วีโดโด (Joko Widodo) ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน เช่น นโยบายโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงการสร้าง "นูซันตารา" เมืองหลวงแห่งใหม่ ทั้งยังต้องการมุ่งเน้นให้เศรษฐกิจเติบโตด้วยกลไกตลาดเสรี ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ และเน้นการพึ่งพาตัวเองมากขึ้นด้านพลังงาน อาหาร และน้ำ รวมทั้ง ลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศด้วย

สำหรับช่วง 5 ปีต่อจากนี้ที่ นายปราโบโว จะเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ได้ตั้งเป้าหมายเศรษฐกิจอินโดนีเซียเติบโตเฉลี่ย 6-7% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าที่ IMF คาดอยู่ที่ 5% ระหว่างปี 2024-2025 นอกจากนี้ ยังต้องการลดจำนวนคนว่างงานลงประมาณ 2 ล้านคน ภายใน 5 ปี ผ่านการสืบสานและต่อยอดนโยบายประธานาธิบดี โจโก ซีโดโด โดยเราคาดว่า จะช่วยสนับสนุนภาคการลงทุน จากการที่ภาคเอกชนมีความมั่นใจมากขึ้น และการเพิ่มการใช้จ่ายงบลงทุน (CAPEX) ส่วนการบริโภค คาดว่าจะได้รับผลบวกจากการใช้จ่ายภาครัฐฯ ในด้านสังคม ที่มีแนวโน้มดำเนินต่อไป ตามที่ได้ผ่านงบประมาณรายจ่ายไว้แล้ว ขณะเดียวกัน นายปราโบโว ประกาศไว้ว่าจะเริ่มต้นเดินหน้านโยบายที่หาเสียงไว้หลายประการทันทีที่เข้ามาบริหารประเทศเต็มตัว จึงเป็นแรงกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะต่อไป

ทั้งนี้ SCB CIO มีมุมมองเชิงบวกเพิ่มขึ้นต่อตลาดหุ้นอินโดนีเซีย โดยมองว่าตลาดหุ้นได้รับแรงหนุนระยะสั้น จากปัจจัยดังนี้ 1) การเลือกตั้งที่มีแนวโน้มสำเร็จในรอบแรก ส่งผลบวกต่อ sentiment บนตลาดหุ้นอินโดนีเซีย 2) ผลประกอบการของกลุ่มธนาคารยังมีแนวโน้มเติบโตดี 3) Valuation ของตลาดหุ้นอินโดนีเซีย อยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดยเทรดอยู่บน ราคาต่อกำไรต่อหุ้นในระยะข้างหน้า (forward PE) ที่ 13.7x หรือยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ประมาณ -1 s.d. และ 4) Earnings ของบริษัทจดทะเบียนยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในปี 2567 ที่ประมาณ +12.2% และในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ +9.4%

อย่างไรก็ตาม เรายังคงมุมมอง Neutral (ถือ) บนตลาดหุ้นอินโดนีเซียอยู่ เนื่องจากประเด็นความกังวลที่มีอยู่ ได้แก่ 1) ภาคการส่งออกที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง 2) การปรับลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งจะส่งผลต่อการส่งออก ดุลบัญชีเดินสะพัด และรายได้ภาครัฐฯ ของอินโดนีเซีย 3) ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับลดลง อาจส่งผลกดดันต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลให้ปรับลดลง และ 4) ความเสี่ยงที่รัฐบาลภายใต้การนำของ นายปราโบโว อาจปรับเพิ่มเพดานขาดดุลการคลังต่อ GDP จากปัจจุบันที่ 3% เป็น 6% ซึ่งหากเกิดขึ้น จะกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังระยะกลางถึงยาว และส่งผลลบต่อค่าเงินรูเปี๊ยะให้อ่อนค่าลง และ Bond Yield อินโดนีเซีย อาจกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นได้

SCB CIO คาดเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลงแบบSoft landing จากเงินเฟ้อที่ชะลอลงต่อเนื่อง แม้อีก 1-2 ปีถึงจะเข้าสู่เป้าหมายที่ 2%มองในปี 2567–2568 เฟดจะลดดอกเบี้ย 100 และ 120 bps. มาอยู่ที่ 3.4% พร้อมแนะนำหลีกเลี่ยงหุ้นกู้High Yield โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์จีนจากภาวะหนี้สินสูงและการฟื้นตัวช้า ปรับมุมมองหุ้นญี่ปุ่นและเวียดนามเป็น Neutral และยังคงแนะนำทยอยสะสมหุ้นจีน A-share แนวโน้มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเฉพาะเจาะจงในช่วงครึ่งหลังของปี และหุ้นไทยหลังความชัดเจนทางการเมืองมีมากขึ้น

ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า SCB CIO ได้ปรับมุมมองที่มีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยคาดว่า จะชะลอตัวลงแบบจัดการได้ (Soft landing) จากเดิมที่มองว่าอาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบไม่รุนแรง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง แม้จะยังต้องใช้เวลาอีก 1-2 ปีกว่าที่จะเข้าสู่อัตราเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) โดยคาดว่าเงินเฟ้อจะเข้าสู่เป้าหมายในช่วงปี 2568 แต่ด้วยตลาดแรงงานโดยเฉพาะในภาคบริการที่ยังแข็งแกร่ง ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงปี 2566-2567 มีการชะลอตัวแบบจัดการได้ โดยจากประมาณการล่าสุดของ Fed (มิ.ย. 2566) คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2566-2568 จะเติบโต 1.0% , 1.1% และ 1.8% ตามลำดับ เทียบกับอัตราการเติบโตในระยะยาวเฉลี่ยที่ 1.8%

ทั้งนี้ SCB CIO มองว่า จากแนวโน้มเศรษฐกิจแบบ Soft landing บวกกับอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับลดลงช้า ทำให้การลดดอกเบี้ยของ Fed ในรอบนี้จะมีลักษณะค่อยๆ ลดลง (small and slow rate cuts) และน้อยกว่าการลดดอกเบี้ยในครั้งก่อนๆ โดย Fed คาดว่าจะมีการลดดอกเบี้ย 100 และ 120 bps. ในปี 2567-2568 ตามลำดับ ซึ่งจะทำให้ปลายปี 2568 อัตราดอกเบี้ยนโยบาย Fed ยังอยู่ในระดับสูงถึง 3.4% ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับนี้ในช่วงการลดดอกเบี้ยของFedครั้งสุดท้ายเกิดขี้นในปี2551 ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) โดยเฉพาะประเทศที่เศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อชะลอมากกว่าคาด น่าจะเริ่มเห็นการลดดอกเบี้ย เช่น จีนและเวียดนามหรือการหยุดขึ้นดอกเบี้ย เช่น ไทย ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่กว้างระหว่างสหรัฐฯ และประเทศ Emerging ยังคงอยู่ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า

จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ยังค้างอยู่ในระดับสูง ในขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ประเทศที่มีบริษัทและครัวเรือนที่มีการก่อหนี้สูงจำนวนมาก มีความเสี่ยงภาวะ Balance sheet recession คือภาวะภาคธุรกิจและครัวเรือนกังวลกับหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง ราคาสินทรัพย์ที่ฟื้นตัวช้าหรือปรับลดลงบวกกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้รายได้ส่วนใหญ่ไม่ถูกนำมาใช้จ่ายบริโภคและลงทุนรวมถึงไม่กู้ยืมเพิ่มเติม แต่เน้นการจ่ายคืนหนี้เพื่อลดภาระทางการเงิน ซึ่งเคยเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงปี 2533 และล่าสุดจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่ตลาดเริ่มมีความกังวลในประเด็นนี้ อย่างไรก็ตาม

เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นในช่วงปี 2533 ภาคการธนาคารของจีนในปัจจุบันยังมีฐานะทางการเงินที่แข็งแรงกว่า รวมถึง ราคาสินทรัพย์ของจีนโดยเฉพาะราคาบ้านแม้ฟื้นตัวช้าแต่ไม่ได้ประสบปัญหาราคาร่วงลงรุนแรงเท่ากับที่เคยเกิดขึ้นในญี่ปุ่น

ดร.กำพล กล่าวว่า จากมุมมองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเป็นภาวะ Soft landing ทำให้เราปรับมุมมองหุ้นกู้ Investment Grade กลับขึ้นมาเป็น Slightly Positive หรือทยอยสะสมได้ แต่ยังคงแนะนำหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูง (High Yield หรือ HY) โดยเฉพาะในตลาดหุ้นกู้จีน เนื่องจาก เราเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอลงบวกกับท่าทีของ Fed ในการหยุดขึ้นดอกเบี้ยและแนวโน้มลดดอกเบี้ยในช่วงกลางปี 2567 จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั้งระยะสั้นและยาว ทยอยลดลงในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยที่ค้างในระดับสูงในช่วงที่เหลือของปี มีแนวโน้มทำให้ความเสี่ยงด้านเครดิตของหุ้นกู้กลุ่ม HY ยังมีโอกาสขยับสูงขึ้นอีก โดยเฉพาะหุ้นกู้ในกลุ่มธุรกิจที่มีการก่อหนี้สูง เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในจีน

สำหรับมุมมองการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก จากการประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/2566 ส่วนใหญ่ดีกว่าที่คาด โดยยอดขายสินค้าและบริการของบริษัทในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ชะลอตัวลง แต่มีผลประกอบการและกำไรที่ดีกว่าคาดหรือลดลงน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ เป็นหุ้นของกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ ในNasdaq 100 ตามมาด้วย S&P500 โดยรวมจะดีกว่าหุ้นกลุ่มบริษัทขนาดกลางและเล็ก ใน Russell 2000 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นยอดขายสินค้าและบริการชะลอลงเล็กน้อย แต่ผลกำไรยังเติบโตตามอานิสงส์จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ การท่องเที่ยวและค่าเงินเยนอ่อนค่า นอกจากจะเติบโตได้มากแล้ว ยังทำได้ดีกว่าคาดอีกด้วย ในขณะที่ตลาดหุ้นยุโรป EuroStoxx600 มียอดขายและกำไรหดตัว ตลาดหุ้นเวียดนาม กำไรจากยอดขายสินค้าและบริการของบริษัทยังคงฟื้นตัวช้า แต่แย่น้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ และตลาดหุ้นไทย ยอดขายและผลประกอบการหดตัวและต่ำกว่าคาด แรงฉุดหลักมาจากกลุ่มพลังงาน สินค้าบริโภค และอสังหาริมทรัพย์

SCB CIO มองว่า ความตึงตัวของ Valuation ของตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว เริ่มปรับลดลงโดยเฉพาะหุ้นสหรัฐฯกลุ่มTech ซึ่งเราแนะนำสับเปลี่ยนเข้าลงทุนในกลุ่มหุ้นทนทานความผันผวน (Defensive) ไปก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกันเราได้ปรับมุมมองหุ้นญี่ปุ่นเป็น Neutral (หยุดขายหรือถือไว้) หลังตลาดรับรู้การเปลี่ยนกรอบนโยบายการควบคุมการเคลื่อนไหวของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี (Yield Curve Control) ไปพอสมควรแล้ว ขณะที่ในระยะถัดไปยังได้แรงหนุนจากความคืบหน้าการปฏิรูปตลาดหุ้นญี่ปุ่นเน้นเรื่องธรรมาภิบาลมากขึ้นและแนวโน้มการฟื้นตัวของผลประกอบการบริษัท

นอกจากนี้ เรายังคงแนะนำทยอยสะสมหุ้นจีน A-share แนวโน้มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเฉพาะเจาะจงในช่วงครึ่งหลังของปี และหุ้นไทย ความไม่แน่นอนทางการเมืองและนโยบายเริ่มลดลง ปรับมุมมองหุ้นเวียดนามเป็น Neutral (หลัง Valuation ปรับความตึงตัวลงและงบออกมาแย่น้อยกว่าคาด) สำหรับหุ้นจีน H-share เรายังคงมุมมองเป็น Neutral แม้ Valuation จะถูกลงค่อนข้างมาก แต่ความกังวลประเด็นหุ้นกลุ่มธนาคาร ( 18% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด) ที่ผลประกอบการอาจถูกกระทบจากการลดอัตราดอกเบี้ยและการเข้าช่วยซื้อพันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่น รวมถึงหุ้นกลุ่ม Tech (37% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด) จากความเสี่ยงด้าน Tech war ที่ยังคงมีอยู่ค่อนข้างสูง

ระยะสั้นตลาดหุ้นสหรัฐฯ เสน่ห์แรง หลังนักลงทุนโยกเงินกลับไปลงทุน โดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยี ทั้งกลุ่มหุ้นบิ๊กแคป และกลุ่มหุ้นเติบโต ขานรับแรงหนุนตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ลดลงต่อเนื่องติดต่อกันสามเดือน

นายณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS) สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ เปิดเผยว่า ในระยะสั้นตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกากลับมาได้รับความสนใจ และมีเม็ดเงินลงทุน (ฟันด์โฟลว์) ไหลกลับไปลงทุนอีกครั้ง โดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยีในตลาด NASDAQ ทั้งกลุ่มหุ้นบิ๊กแคป FAANGMAN และกลุ่มหุ้นเติบโต TESLA โดยปัจจุบันสามารถสร้างผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีได้แล้วกว่า 13.80% ขณะที่ดัชนี S&P500 สร้างผลตอบแทนได้แล้วกว่า 7.25% สาเหตุมาจากตลาดมองทิศทางนโยบายการเงินที่เคร่งครัดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ มาตลอดทั้งปี 2565 เริ่มผ่อนคลายลงในปีนี้ และอาจเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่มีการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีก่อน เพราะแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากตัวเลขปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่องกว่าสามเดือนติดต่อกันแล้ว

ถึงแม้ว่าประธาน FED จะยังคงยืนยันในที่ประชุม FOMC ครั้งล่าสุด และการไปพูดที่สมาคมเศรษฐกิจวอชิงตันเมื่อไม่กี่วันมานี้ ว่าปีนี้จะยังไม่มีการลดดอกเบี้ยจนกว่าจะเห็นเงินเฟ้อลงมาในระดับ 2% ตามเป้าหมายเสียก่อน แต่การที่เงินเฟ้อสหรัฐฯ ลดลงมาต่อเนื่องสามเดือนติดต่อกัน ทำให้ตลาดมองล่วงหน้าว่าสุดท้ายแล้วในปีนี้ FED ต้องปรับนโยบายดอกเบี้ยมาเป็นขาลงเร็วกว่าที่คาดไว้”

นอกจากนี้ นักลงทุนยังมีมุมมองบวกต่อกระแสการปรับลดพนักงานของบริษัทเทคโนโลยี เพราะเป็นผลดีต่อผลประกอบการในอนาคตมากกว่าผลเสีย เนื่องจากจะช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานลง ทำให้นักลงทุนบางกลุ่มตัดสินใจเข้าไปเก็งกำไรในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น  สำหรับดัชนี S&P500 นอกจากได้ประโยชน์จากหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่แล้ว ยังได้ประโยชน์จากหุ้นแวลูขนาดใหญ่ที่ประกอบธุรกิจดั้งเดิม เช่น กลุ่มธนาคารที่ประกาศผลประกอบการไตรมาสแรกออกมาดีกว่าคาดเกือบทั้งหมด ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังออกมาดูดี ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร หรือ Non-Farm Payroll ที่ออกมาดีกว่าคาดค่อนข้างมาก ทำให้มีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่เทคโนโลยีด้วย

นายณพวีร์ กล่าวว่า ในภาพรวมทางเทคนิคทั้งดัชนี NASDAQ และ S&P500 ต่างขึ้นมายืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ย 200 วันได้สำเร็จ และมีการทะลุผ่านเส้นเทรนด์ไลน์ในภาพใหญ่ออกมาแล้วทั้งคู่ ถือได้ว่าสามารถกลับตัวจากขาลงเป็นขาขึ้นได้สำเร็จ ทำให้ทั้งสองดัชนีมีความน่าสนใจทั้งในเชิงพื้นฐานและกราฟเทคนิค อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาดูตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ประจำเดือนมกราคมที่จะประกาศในกลางเดือนนี้ (14 ก.พ. 66) ถ้าหากยังปรับตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สี่จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับตลาดว่าในที่สุด FED ต้องลดดอกเบี้ยในปีนี้อย่างแน่นอน แต่หากตัวเลขที่ออกมาคงที่ หรือ เพิ่มขึ้น อาจสร้างความผิดหวังให้กับตลาดจนนำไปสู่ความเชื่อเดิมว่า FED จะลดดอกเบี้ยในปีหน้า และมีผลทำให้เทขายในสินทรัพย์ต่าง ๆ ได้

นอกจากนั้นยังต้องติดตามการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องว่ามีแนวโน้มจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ตามที่ดัชนีชี้วัด Yield Curve บ่งบอกล่วงหน้าหรือไม่

ด้านมุมมองภาพรวมตลาดหุ้นอื่น ๆ อาทิ ตลาดหุ้นจีน ในช่วงสั้นอยู่ในระหว่างการพักฐานจากการที่ดัชนีบวกขึ้นแรงมาต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2565 แต่ในเชิงพื้นฐานยังถือว่ามีแนวโน้มบวกต่อเนื่องจากนโยบายเปิดเมือง เช่นเดียวกับ ตลาดหุ้นเวียดนาม ที่มีการพักฐานเช่นกัน แต่มุมมองในระยะยาวทั้งสองตลาดยังถือว่าสามารถเติบโตได้ตลอดทั้งปีนี้

สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้นเติบโต สามารถมองหาหุ้นเทคโนโลยีกลุ่ม Disruptive ในการถือลงทุนระยะยาวได้ เพราะจากกราฟเทคนิคตอนนี้เกือบทั้งหมดไม่มีการสร้างจุดต่ำสุดใหม่แล้วจึงมีโอกาสฟื้นตัวได้ โดยเฉพาะถ้าหากนโยบายการเงินของสหรัฐฯ กลับตัวเป็นขาลงจะยิ่งทำให้ฟันด์โฟลว์เข้ามาลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ ส่วนหุ้นแวลู หรือ หุ้นบิ๊กแคป ในตลาดสหรัฐฯ ก็ยังสามารถเติบโตได้เช่นกัน”

Page 1 of 2
X

Right Click

No right click