November 25, 2024

ทรูมันนี่ ผู้นำด้านการให้บริการทางการเงินแบบดิจิทัลชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จับมือ ‘อีโวลท์’ (Evolt) ผู้นำในการให้บริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจรรายแรกในประเทศไทย ยกระดับประสบการณ์การชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เมื่อชำระเงินด้วยแอปทรูมันนี่ ณ จุดให้บริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของอีโวลท์ รับทันที! Welcome Points ถึง 100 คะแนนเมื่อสมัครสมาชิก พร้อมเลือกซื้อดีลสุดพิเศษและสะสมแต้มทุกครั้งที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ากับอีโวลท์   

นายสุทธิพัฒน์ จันทร์สว่าง ผู้อำนวยการฝ่ายโซลูชันทางธุรกิจ บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด กล่าวว่า “ทรูมันนี่มุ่งมั่นในการช่วยยกระดับแพลตฟอร์มการให้บริการแก่ธุรกิจด้วยโซลูชันการตลาดแบบครบวงจรด้วยTrueMoney for Business ที่เน้นช่วยเหลือร้านค้า ผู้ให้บริการ และพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการร่วมเป็นพันธมิตรกับทรูมันนี่ พร้อมช่วยให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าของทรูมันนี่ที่มีมากกว่า 30 ล้านรายทั่วประเทศ โดยก่อนหน้านี้ ร้านค้าบนแพลตฟอร์ม ShopReward+ ของทรูมันนี่ส่วนใหญ่เป็นร้านค้าในหมวดหมู่อาหารและเครื่องดื่ม แต่เริ่มจากในปีที่ผ่านมา ทรูมันนี่ได้ร่วมมือกับธุรกิจแบบบริการตนเอง หรือ Self Service ผ่านคู่ค้าที่เป็นผู้ให้บริการในกลุ่มธุรกิจซักรีดที่กำลังเป็นที่นิยมและได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งอีโวลท์ถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจ Self Service ที่กำลังมาแรงอยู่ในขณะนี้ การจับมือผ่าน ShopReward+ แพลตฟอร์มให้บริการระบบสมาชิกแบบครบวงจร (CRM) สามารถเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญในการทำการตลาด เพราะทำให้ธุรกิจสามารถบริหารจัดการระบบสมาชิกพร้อมกระตุ้นยอดขายด้วยการส่งโปรโมชัน ดีลพิเศษ และส่วนลดต่าง ๆ ให้กับลูกค้าโดยตรงผ่านแอปพลิเคชันทรูมันนี่ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจร้านอาหาร เครื่องดื่ม ไลฟ์สไตล์ สุขภาพและความงาม หรือ Self Service ก็สามารถเข้าร่วม ShopReward+ เพื่อส่งเสริมยอดขายได้เช่นเดียวกัน” 

นายธนกร คติวิชชา ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท อีโวลท์ เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า “ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2567 - 2569 มีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องตามการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์และอุปทานภายในประเทศ โดยคาดว่าจะมียอดจดทะเบียนใหม่ของรถยนต์นั่งไฟฟ้าโดยรวมเฉลี่ยปีละ 190,000 คัน และมีกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าโดยรวมอย่างน้อยประมาณ 400,000– 500,000 คันต่อปี ส่งผลให้ธุรกิจที่สนับสนุนตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอย่างจุดให้บริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจำเป็นที่จะต้องเร่งขยายจุดให้บริการ พร้อมยกระดับประสบการณ์ให้เข้าถึงและตอบโจทย์ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน อีโวลท์ ได้มีการเปิดให้บริการระบบอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าที่ครบวงจรที่สุดในประเทศไทย ครอบคลุมสถานีให้บริการมากกว่า 200 สาขาทั่วประเทศเพื่อรองรับความต้องการของผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างทั่วถึงและมีการวางแผนในการขยายจุดให้บริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความร่วมมือกับ ทรูมันนี่ ในครั้งนี้จะสามารถเพิ่มการเข้าถึงผู้บริโภคให้มากยิ่งขึ้นด้วยฐานผู้ใช้บริการของทรูมันนี่ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ อีกทั้งยังช่วยตอบรับไลฟ์สไตล์การใช้จ่ายไร้เงินสดของผู้บริโภคได้อย่างไร้รอยต่อ” 

ผู้ที่สนใจสมัครสมาชิกหรือรับดีลสุดพิเศษจากอีโวลท์ใน ShopReward+ สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน 
ทรูมันนี่ และเข้าไปที่เมนูสมาชิกร้านค้าหรือ ShopReward+ และเลือกรับสิทธิ์จากอีโวลท์ได้ทันที โดยทุก การชาร์จ 10 บาทจะได้รับ 100 คะเเนน เเละรับ Welcome Point 100 คะแนนทันทีเมื่อสมัครสมาชิก อีโวลท์ ใน ShopReward+ พิเศษ! ซื้อคูปองเงินสดมูลค่า 200 บาทสำหรับใช้จ่ายในการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ากับ อีโวลท์ ผ่าน ShopReward+ ได้ในราคาเพียง 179 บาท ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 สิงหาคม 2567 

ผู้ที่สนใจบริการ ShopReward+ และโซลูชัน TrueMoney for Business สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.truemoney.com/business-partner/shoprewardplus-crm/  

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินธุรกิจบริการดิจิทัลในปี 2566 มีมูลค่าถึง 5.6 แสนล้านบาทเติบโตกว่า 20% จากพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปเป็นออนไลน์มากขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 เร่งให้เกิดการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเร็วมากขึ้นและมีการแข่งขันที่สูงขึ้น แนะธุรกิจปรับตัวนำเทคโนโลยีใหม่ เช่น AI มาประยุกต์ใช้ และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจการบริการให้ครบวงจร

ปัจจุบันธุรกิจบริการดิจิทัล (Digital Services) เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนและเป็นขั้นตอนกระบวนการสำคัญของภาคธุรกิจมากขึ้นอย่างชัดเจน ไม่เพียงเป็นประโยชน์ในด้านการสื่อสาร แต่ยังกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้เชื่อมโยงกันได้ทั่วโลก โดยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ธุรกิจบริการดิจิทัลในประเทศมีรายได้เติบโตต่อเนื่อง ผลจากการปรับตัวของผู้ประกอบการเพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ปัจจุบันธุรกิจบริการดิจิทัลของไทยในรูปแบบแพลตฟอร์มดิจิทัล รองรับธุรกรรมออนไลน์ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ตั้งแต่การทำธุรกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันผ่านระบบออนไลน์ โดยในปี 2564 มีธุรกิจที่สำคัญ ได้แก่ 1) บริการสื่อบันเทิงออนไลน์ (Online Media) มูลค่าตลาด 1.3 แสนล้านบาท หรือสัดส่วน 38% 2) บริการขนส่ง E-Logistics มูลค่าตลาด 9 หมื่นล้านบาท สัดส่วน 26% 3) บริการซื้อขายสินค้าออนไลน์ (E-Retail หรือที่รู้จักคือ E-Commerce) มีมูลค่าตลาด 5.9 หมื่นล้านบาท สัดส่วนรายได้อยู่ที่ 17% และ 4) บริการอื่น ๆ มีมูลค่า 6.5 หมื่นล้านบาท สัดส่วน 19% เช่น บริการด้านการศึกษาออนไลน์ และบริการด้านสาธารณสุข/สุขภาพออนไลน์ (E-Health)

โดยสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงปี 2563-2564 ถือเป็นช่วงที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ช่วยผลักดันบริการดิจิทัลในภาพรวมเติบโตกว่า 36% จากการที่ผู้ประกอบการนำกลยุทธ์ Digital Transformation มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจเต็มตัวเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องพึ่งพาการทำธุรกรรมต่าง ๆ ทางออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมีการปรับตัวและมีความคุ้นเคยกับการใช้บริการธุรกิจบริการดิจิทัลจนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2565 คนไทยมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 3.4% ทำให้ปัจจุบันระดับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 78% ของประชากรทั้งหมด อีกทั้งยังมีอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยต่อวันถึงกว่า 9 ชั่วโมง สูงเป็นอันดับ 7 ของโลกที่มีค่าเฉลี่ยราว 7 ชั่วโมงต่อวัน

ปัจจุบันธุรกิจบริการดิจิทัลที่มีรายได้ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้าเป็นหลัก มีอัตราการเติบโตของรายได้มากกว่ากลุ่มที่ทำธุรกิจบนแพลตฟอร์มบริการดิจิทัลอื่น ๆ กว่า 2 เท่า โดยพบว่าธุรกิจบริการดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายมีการเติบโตต่อเนื่อง เช่น ธุรกิจ E-Logistics และ E-Retail ที่เติบโตได้ 58% และ 44% ในปี 2564 ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงานมีการซื้อสินค้าและการใช้บริการออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ส่วนธุรกิจบริการดิจิทัลที่มีรายได้มาจากแพลตฟอร์มบริการดิจิทัลอื่น ๆ พบว่ามีอัตราการเติบโตที่แผ่วลง เช่น ธุรกิจ Online Media มีการเติบโตในปี 2564 ราว 28% มีรายได้หลักมาจากสื่อโฆษณาออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น เช่น Facebook และ YouTube โดยในปี 2565 สามารถเข้าถึงผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตของไทยได้สูงถึง 92% และ 79% ตามลำดับ ถือเป็นอัตราการเข้าถึงที่สูง

อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นทิศทางการเติบโตอย่างรวดเร็วในบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ (E-Health) ถึงแม้ปัจจุบัน E-Health จะยังมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่น้อย แต่มีการเติบโตของรายได้ในปี 2564 ก้าวกระโดดกว่า 50% จากการที่ผู้ให้บริการเริ่มหันมาสนใจให้บริการด้านสุขภาพกันมากขึ้น อาทิ ระบบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) กอปรกับ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-Aged Society) คือการมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปในสัดส่วนมากกว่า 20% ในอีก 8 ปีข้างหน้า

จากมูลค่าตลาดธุรกิจดิจิทัลในภาพรวมราว 4.5 แสนล้านบาทในปี 2565 ttb analytics คาดว่าในปี 2566 นี้ ธุรกิจบริการดิจิทัลยังมีแนวโน้มเติบโต 24% มูลค่าอยู่ที่ 5.6 แสนล้านบาท จากการที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มพัฒนาเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีด้านดิจิทัลส่งผลกระทบด้านบวกต่อภาคธุรกิจและพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้มีการพัฒนาต่อยอดบริการดิจิทัลใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองอุปสงค์ที่เป็นลักษณะเฉพาะส่วนบุคคลมากขึ้น สอดคล้องกับทิศทางธุรกิจบริการดิจิทัลทั่วโลกที่มีการเติบโตเฉลี่ยกว่า 34% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจ E-Logistics และ E-Retail แม้ว่าจะมีสัดส่วนรายได้มากกว่า 43% แต่ธุรกิจมีการแข่งขันค่อนข้างสูง และยังมีการทุ่มงบประมาณด้านการตลาดเพื่อรักษาฐานลูกค้า ในขณะที่กลุ่มแพลตฟอร์มบริการดิจิทัลอื่นๆเป็นกลุ่มที่ยังคงมีการเติบโตในระดับสูง

ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจบริการดิจิทัลควรมีการปรับตัว เพื่อเตรียมรองรับการขยายตัวของธุรกิจบริการดิจิทัลและการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ภายใต้แรงกดดันด้านกำไรที่ลดน้อยลงตามกระแสธุรกิจโลก โดยนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ เช่น นำระบบ AI มาช่วยในการบริหารจัดการข้อมูล ประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลจากคำถามและพฤติกรรมการใช้งาน ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสามารถตอบสนองต่อผู้ใช้บริการได้รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น อีกทั้งเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดีต่อผู้ใช้บริการ และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ เชื่อมการบริการของธุรกิจเกี่ยวเนื่องให้ครบวงจร เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายและสร้างความพึงพอใจให้ผู้บริโภค

X

Right Click

No right click