มนุษย์เราอยู่รอดได้ด้วย 3 สิ่ง คือ อาหาร น้ำ และพลังงาน

ที่เหลือมนุษย์ล้วนผลิตขึ้นมาได้  ยิ่งพลังงานด้วยแล้ว ถ้ามีมากและใช้ให้เป็น ก็จะนำมาช่วยผลิตอาหารและน้ำได้จนเพียงพอแก่การบริโภค

 

ประเทศไทยเราโชคดีที่มีอาหารและน้ำเหลือเฟือ แต่พลังงานนั้นเป็นปัญหามาโดยตลอด 

เพราะเราต้องนำเข้าพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าส  และราคาของเหล่านี้ มักขึ้นต่อ Geopolitics หรือการเมืองของโลก  รัสเซียบุกยูเครน ราษฏรของเราก็ต้องซื้อข้าวแพงขึ้น

OPEC ลดการผลิต เราก็ต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และปีหน้าก็ต้องเติมน้ำมันแพงขึ้นอีก

นี่ยังไม่รู้ว่าฮามาสรบกับอิสราเอล จะส่งผลระยะยาวอย่างไรต่อราคาพลังงาน

แต่เชื่อเถอะ ไม่ดีต่อเราแน่ๆ !

คงไม่เฉพาะแต่เรา ประเทศส่วนใหญ่ในโลกที่ผลิตพลังงานเองไม่ได้ หรือได้ไม่พอใช้ ย่อมต้องเจอผลกระทบทางลบทั้งสิ้น

แล้วทำไมเรายังต้องแขวนชะตากรรมของเรากับ Geopolitics แบบนี้ ซึ่งวุ่นวายอยู่ได้ด้วยน้ำมือผู้นำเพียงไม่กี่กลุ่ม และอดีตก็พิสูจน์มาแล้วว่า แหล่งพลังงานมักเป็นเป้าหมายของการรบพุ่งกัน และมันก็คงจะทำให้เกิดความขัดแย้งกันไปไม่สิ้นสุดในอนาคต

แต่ละครั้ง พวกเราก็ต้องพลอยลำบากไปด้วย เหมือนถูกเขาจับเป็นตัวประกัน ทั้งๆ ที่หาได้เกี่ยวข้องได้เสียอันใดไม่

เราต้องปลดแอก! 

เราต้องวางแผนให้การผลิตพลังงานของเราในอนาคต มีลักษณะไม่รวมศูนย์ หรือ Decentralize ตีตัวออกห่างจากการเมืองในลักษณะ Geopolitics ของโลก ซึ่งในอนาคตจะเข้มข้นขึ้นเมื่อจีนเข้ามาเป็นผู้เล่นเต็มตัว

 ทางเดียวที่จะทำได้คือต้องหันไปหาพลังงานนิวเคลียร์ เพราะมันสะอาด สอดคล้องกับการแก้ปัญหาโลกร้อน อีกทั้งยังผลิตได้ทีละมากๆ และเริ่มจะถูกลงและปลอดภัยขึ้นแล้วด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ

 

พลังงานนิวเคลียร์ที่เป็นอุดมคติคือ Nuclear Fusion ซึ่งขณะนี้มนุษย์สามารถพัฒนา Reactor ขึ้นมาได้แล้วในระดับห้องทดลองแต่ในระดับ Commercial นั้นยังต้องรอต่อไป

Nuclear Fusion Technology เป็นเทคโนโลยีของดวงอาทิตย์ เชื่อกันว่าดวงอาทิตย์เปล่งความร้อนด้วยวิธีนี้

 นั่นคือการรวมตัวของนิวเคลียสจากสองให้เหลือเพียงหนึ่ง ภายใต้อุณหภูมิที่สูงมากๆ โดยกระบวนการนี้จะเปล่งพลังงานออกมาจำนวนมากด้วย

มีการทดลองกับธาตุหลายชนิด แต่ที่น่าสนใจคือ Proton-boron (pB-11) เพราะผลลัพธ์ที่ได้ติดมาแค่ฮีเลียม (Helium) เพียง 3 นิวเคลียส ที่เหลือล้วนเป็นพลังงานสะอาด ปราศจากกากกัมมันตภาพรังสี หรือ Radioactive Waste แม้แต่น้อย

สิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่ในระยะห้องทดลอง แต่ก็มีพัฒนาการขึ้นเรื่อยๆ ความก้าวหน้าทางด้านวัสดุศาสตร์และ AI น่าจะช่วยสร้างสนามแม่เหล็กที่สามารถควบคุมปฏิกิริยาพลาสม่าในเตาปฏิกรณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น จนสามารถนำมาใช้งานจริงได้ในเร็ววัน

 

ส่วนพัฒนาการของ Nuclear Fission Reactor นั้น เครื่องปฏิกรณ์รุ่นใหม่ ที่เรียกว่า Third-generation Reactor ก็ได้เพิ่มระบบความปลอดภัยที่สูงมาก และการออกแบบโรงไฟฟ้าสมัยนี้ ก็คำนึงถึงอุบัติเหตุจากภัยธรรมชาติ เช่น ซึนามิและแผ่นดินไหว ซึ่งเคยทำให้เครื่องปฏิกรณ์ที่ฟูกูชิมาแตกมาแล้ว

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใช้เทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์รุ่น 3 อยู่ในจีนและอินเดีย จำนวนเกือบ 10 โรง  ปัจจุบันการออกแบบและผลิตเตาปฏิกรณ์โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ (Fourth-generation Reactor) เช่น sodium-cooled fast reactors (SFRs), gas-cooled fast reactors (GFRs), very high temperature reactors (VHTRs), and molten salt reactors (MSRs) ก็พบว่าทดลองแล้วได้ผลดี  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์แบบกระทัดรัด ที่เรียกว่า SMR (Small Modular Reactor) นั้น จะปลอดภัยยิ่งขึ้นไปอีก และจะลดต้นทุนได้มาก เพราะราคาถูกลงแยะ และผลิตได้ทีละมากๆ ขนย้ายไปติดตั้งได้ง่าย ซึ่งผู้พัฒนา (NuScale) ได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ เรียบร้อยแล้ว


การเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของผู้ขับขี่รุ่นใหม่ ที่หันมาใช้รถยนต์ EV แทนรถยนต์แบบสันดาบภายใน การอุบัติขึ้นของ Generative AI ในนาม ChatGpt ส่งผลให้องค์กรทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐทั่วโลกวางแผนที่จะนำ AI มาประยุกต์ใช้กับงานของตนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน การเพิ่มจำนวนหุ่นยนต์ที่ควบคุมโดย AI ในภาคการผลิตและภาคบริการ กระแสความนิยมขององค์กรภาคธุรกิจและภาครัฐต่อการเคลื่อนย้ายข้อมูลและซอฟท์แวร์ขึ้นไปอยู่บน Cloud Computer (เทรนด์นี้เรียกว่า Digital Transformation) ตลอดจนขนาดของการสร้าง เคลื่อนย้าย และจัดเก็บ ข้อมูลในยุค 5G, 6G, 7G…..

เหล่านี้ย่อมต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล เพราะคอมพิวเตอร์ต้องเพิ่ม หน่วยความจำและหน่วยประมวลผลต้องเพิ่ม ศูนย์ข้อมูลหรือ Data Center และ จุดชาร์ตแบตเตอรี่รถยนต์และพาหนะ EV ทั้งปวง ก็ต้องเพิ่ม และจะเป็นการเพิ่มแบบก้าวกระโดดในอนาคตอันใกล้เสียด้วย เพราะ Adoption Rate ของ EV และ AI เพิ่งอยู่ในขั้นเริ่มต้นและกำลังจะ Take-off

 สิ่งเหล่านี้เป็นคำตอบอยู่ในตัวว่าไทยเรายังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล และทุกข์ของเราจะไม่หมดไป ถ้ายังไม่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง

โดย ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว / Editor in Chief _MBA magazine

09/10/2566

ฟาร์มพลังงานไฮบริดขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกกำลังจะสร้างขึ้นในประเทศโปแลนด์

ซึ่งประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่มีกำลังการผลิตรวม 205 เมกะวัตต์ โดยกำลังการผลิตต่อปีสามารถจ่ายไฟฟ้าให้แก่บ้านเรือนได้มากกว่า 100,000 ครัวเรือน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เกือบ 160 ตัน ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีของโรงไฟฟ้าดังกล่าว หัวเว่ย (Huawei) เตรียมจัดหาเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าแบบสตริง (สตริงอินเวอร์เตอร์) จำนวน 710 เครื่อง และสถานีหม้อแปลงไฟฟ้าอัจฉริยะ 23 สถานีให้แก่ฟาร์มพลังงานไฮบริดแห่งนี้ ซึ่งสร้างขึ้นบนพื้นที่เหมืองเก่าในเมืองเคลตเชฟ (Kleczew) จังหวัดวีแยลกอปอลสกา (Wielkopolska)

เคลตเชฟ โซลาร์ แอนด์ วินด์ (Kleczew Solar & Wind) ตั้งอยู่ในพื้นที่เหมืองเก่า และจะกลายเป็นอุทยานพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก อีกทั้งยังเป็นโครงการใหญ่โครงการแรกของโปแลนด์ที่มีการผสมผสานเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเข้าด้วยกัน สำหรับการก่อสร้างในเฟสแรกประกอบด้วยการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 193 เมกะวัตต์พีค (MWp) และโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาด 12 เมกะวัตต์ (MW) โดยหัวเว่ยจะสนับสนุนด้วยสถานีหม้อแปลงไฟฟ้าอัจฉริยะ 23 สถานี และสตริงอินเวอร์เตอร์จำนวน 710 เครื่อง ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งนี้ กำลังการผลิตต่อปีจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 222 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) และของโรงไฟฟ้าพลังงานลมจะอยู่ที่ราว 47 กิกะวัตต์ชั่วโมง ฟาร์มพลังงานไฮบริดแห่งนี้จะสามารถตอบสนองความต้องการด้านพลังงานของบ้านเรือนมากกว่า 100,000 ครัวเรือน

รีสซาร์ด ฮอร์ดีนสกี (Ryszard Hordynski) ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์และการสื่อสารของหัวเว่ย โปแลนด์ กล่าวว่า หัวเว่ยมีส่วนร่วมในการพัฒนาภาคส่วนพลังงานสมัยใหม่อย่างต่อเนื่อง ด้วยการสนับสนุนโซลูชันพลังงานแสงอาทิตย์อัจฉริยะมาเป็นระยะเวลาหลายปี ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เทคโนโลยีของเราสามารถสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งแวดล้อมเชิงรุกของโปแลนด์ในโครงการสำคัญ ๆ เช่น โรงไฟฟ้าไฮบริดในเมืองเคลตเชฟ นี่เป็นการลงทุนที่สำคัญมากบนเส้นทางสู่การลดคาร์บอนอย่างเต็มรูปแบบของเศรษฐกิจโปแลนด์ รวมถึงการจัดหาพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สะอาด และคุ้มค่าให้แก่สังคม

ผู้ลงทุนในโครงการเคลตเชฟ โซลาร์ แอนด์ วินด์ คือบริษัทเลวันด์โพล กรุ๊ป (Lewandpol Group), ผู้จัดการทรัพย์สินคือบริษัทเออร์จี (Ergy), ผู้รับผิดชอบด้านการทำสัญญาทั่วไปคือบริษัทอิเล็กทรัม กรุ๊ป (Electrum Group) และผู้ดำเนินงานควบคุมกำลังไฟฟ้าจริง (Active Power) และกำลังไฟฟ้ารีแอคทีฟ (Reactive Power) คือบริษัทเรนีเดียม (Renedium)

มาร์ซิน คูเปรล (Marcin Kuprel) ซีอีโอของบริษัทเออร์จี กล่าวว่า โครงการนี้มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ต่อการลดคาร์บอนของเศรษฐกิจโปแลนด์ ซัพพลายเออร์และผู้รับเหมาที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานได้ผ่านการคัดเลือกมาอย่างรอบคอบ เพื่อให้มั่นใจถึงประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือในระหว่างและหลังจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เรามั่นใจว่าเรากำลังจะร่วมมือกับซัพพลายเออร์ที่ดีที่สุด และหนึ่งในนั้นคือหัวเว่ย ซึ่งเป็นที่รู้จักในตลาดโปแลนด์อยู่แล้วในฐานะซัพพลายเออร์อินเวอร์เตอร์ระดับไฮเอนด์ที่เชื่อถือได้

หัวเว่ยอาศัยจุดแข็งด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์กำลัง (Power Electronics) และสร้างสรรค์นวัตกรรมในการผสานรวมเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับเซลล์แสงอาทิตย์ ระบบกักเก็บพลังงาน คลาวด์ และเทคโนโลยี AI โดยนำเสนอโซลูชันเซลล์แสงอาทิตย์+ระบบกักเก็บพลังงานอัจฉริยะ สำหรับสามสถานการณ์หลักในการผลิตไฟฟ้า การส่งกําลังไฟฟ้า การจ่ายไฟฟ้า และการใช้ไฟฟ้า ได้แก่ โซลูชันเซลล์แสงอาทิตย์อัจฉริยะระดับสาธารณูปโภค โซลูชันเซลล์แสงอาทิตย์อัจฉริยะเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม และโซลูชันเซลล์แสงอาทิตย์อัจฉริยะสำหรับที่อยู่อาศัย ซึ่งโซลูชันเหล่านี้ช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยปรับเฉลี่ย (LCOE) ของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ตลอดอายุการใช้งาน และช่วยยกระดับประสิทธิภาพโครงข่ายไฟฟ้า (กริด) ตลอดจนทำให้พลังงานแสงอาทิตย์กลายเป็นแหล่งพลังงานหลัก

พาเวล สตราซซอลคาวสกี (Pawel Strzalkowski) ตัวแทนฝ่ายบัญชีอาวุโส ธุรกิจพลังงานดิจิทัลของหัวเว่ย โปแลนด์ กล่าวว่า การที่พันธมิตรทางธุรกิจเลือกอินเวอร์เตอร์และสถานีหม้อแปลงอัจฉริยะของเรา เป็นเครื่องยืนยันคุณภาพและความน่าเชื่อถือของเทคโนโลยีของเราได้ดีที่สุด การลงทุนในโครงการเคลตเชฟ โซลาร์ แอนด์ วินด์ เป็นทั้งจุดสูงสุดของความร่วมมือทางธุรกิจแบบองค์รวมที่ดำเนินมานานหลายปี รวมถึงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการพัฒนาโรงไฟฟ้าไฮบริดให้ก้าวหน้าต่อไป ความเชื่อมั่นของพันธมิตรทางธุรกิจทั้งเออร์จี อิเล็กทรัม และผู้ลงทุนอย่างเลวันด์โพล ที่มีต่อผลิตภัณฑ์ของเรา ทำให้เรามีความภาคภูมิใจและมีแรงทำงานต่อไปเพื่อพัฒนาแหล่งพลังงานที่ปราศจากมลพิษ และเป็นที่น่าจดจำว่าอินเวอร์เตอร์ของหัวเว่ยเป็นเจ้าแรกในโปแลนด์ที่ได้รับใบรับรองภาคบังคับแบบไม่มีกำหนด

 

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของโครงการเคลตเชฟ โซลาร์ แอนด์ วินด์ กำลังก่อสร้างด้วยความร่วมมือของบริษัทอิเล็กทรัม, จินโกะ โซลาร์ (Jinko Solar), บุดมัต (Budmat) และเตเล-โฟนิกา คาเบล (Tele-Fonika Kable)

X

Right Click

No right click