สิงห์ เอสเตท รายงานรายได้รวมจากการขายและการบริการสำหรับปี 2566 จำนวน 14,675 ล้านบาท โดยรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ เติบโตเด่นถึง 42% ด้วยแรงส่งสำคัญจากการเปิดตัว 5 โครงการ มูลค่ารวม 10,000 ล้านบาท มั่นใจปี 2567 โตแรงจากสินค้าพร้อมขายในระดับสูง ขณะที่รายได้จากธุรกิจให้บริการปรับตัวเพิ่มขึ้น 11% จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เติบโต ซึ่งส่งผลให้ระดับรายได้เฉลี่ยต่อห้อง (RevPAR) ของโรงแรมในปี 2566 เพิ่มขึ้นถึง 23% แรงส่งสำคัญคือการปรับอัตราค่าห้องพักเฉลี่ย (ADR) ที่โดดเด่นจากการปรับปรุงโรงแรมตามแผนและความสามารถในการดึงดูดลูกค้าตลาดใหม่
บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) ประกาศรายได้รวมเติบโตขึ้น 17% สู่จำนวน 14,675 ล้านบาท และกำไรสำหรับปี 2566 จำนวน 240 ล้านบาท พร้อมเตรียมจ่ายปันผลสำหรับผลดำเนินงานประจำปี 2566 จำนวน 0.015 บาท ต่อหุ้น ซึ่งจะขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่12 มีนาคม 2567 และกำหนดวันจ่ายเงินปันผลวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ทั้งนี้ สิทธิในการรับเงินปันผล ขึ้นอยู่กับการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566
สำหรับรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทฯ จำนวน 3,638 ล้านบาท เติบโตก้าวกระโดดถึง 42% ซึ่งประกอบด้วย (1) ยอดโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์เพื่อการพักอาศัยจำนวน 3,416 ล้านบาท ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการการรับรู้รายได้เต็มสัดส่วน จำนวน 919 ล้านบาท จากโครงการดิ เอส สุขุมวิท 36 ภายหลังสิงห์ เอสเตท เข้าถือหุ้น 100% เพื่อรองรับโอกาสการฟื้นตัวของดีมานด์กลุ่มคอนโดมิเนียม และการเปิดตัวโครงการบ้านแนวราบใหม่ โดยเฉพาะโครงการพร้อมโอน “ลาซัวว์ เดอ เอส” โครงการ Flagship Cluster Home ระดับอัลตร้าลักชัวรี่ และ “โครงการสริน ราชพฤกษ์ สาย 1” บ้านแนวราบระดับลักชัวรี่ ซึ่งสามารถรับรู้รายได้ทันทีในปีจำนวนรวมประมาณ 900 ล้านบาท และ (2) การรับรู้ค่าเช่าของโครงการสิงห์ คอมเพล็กซ์ ตามสัญญาเช่าพื้นที่ระยะยาวจำนวน 175 ล้านบาท
ในขณะที่รายได้จากการให้บริการของบริษัทฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 11% มีสาเหตุสำคัญมาจากรายได้ของธุรกิจโรงแรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 12% สู่จำนวน 9,701 ล้านบาท หนุนจากทั้งอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมซึ่งคำนวณเฉพาะห้องพักที่เปิดให้บริการของบริษัท อยู่ที่ 68% ปรับเพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อนหน้า ด้วยการปรับแผนการตลาดอย่างมีประสิทธิผล มุ่งเน้นการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพ นอกจากนี้ บริษัทฯ พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของโรงแรมอยู่เสมอ โดยเฉพาะความสำเร็จสำคัญจากการปรับปรุงโรงแรมตามแผน ส่งผลให้อัตราค่าห้องพักเฉลี่ยต่อคืน (ADR) ที่ระดับ 5,675 บาท ปรับเพิ่มขึ้น 9% จากปีก่อน สำหรับรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์จำนวน 1,060 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4% จากการทยอยรับรู้รายได้ตามการส่งมอบพื้นที่เช่าของอาคารเอส โอเอซิส (S-OASIS)
นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ ‘S’ เปิดเผยว่า “จากความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจที่เป็นเลิศ ความสำเร็จของการพัฒนาโครงการอสังหาฯ และการปรับปรุงประสิทธิภาพของ Portfolio อย่างเข้มข้นในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ในปี 2566 บริษัทฯ บันทึกรายได้ในระดับสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ควบคู่กับการคุมต้นทุนต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับช่วงการขยายธุรกิจและเปิดตลาดใหม่ ส่งผลให้เรามีผลกำไรสุทธิในปี จำนวน 240 ล้านบาท ด้วยความพร้อมทางการเงินและประสบการณ์ที่จะขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและให้เป็นไปตามแผนธุรกิจที่วางไว้ รวมถึงการเดินหน้าสร้างผลประกอบการที่แข็งแกร่ง เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างต่อเนื่องให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยในปีนี้ เราประกาศจ่ายปันผลการดำเนินงานดังกล่าวเป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จจากการปรับตัวทางธุรกิจ ทำให้เราสามารถช่วงชิงโอกาสได้ทันกับการฟื้นตัวของธุรกิจที่พักอาศัยและโรงแรม ทั้งนี้ บริษัทฯ เห็นสัญญาณการเติบโตของธุรกิจที่ชัดเจนในช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงต้นปีนี้ เราจึงเชื่อมั่นว่าแรงส่งจากการตอบรับที่ดีของตลาดต่อผลิตภัณฑ์ของสิงห์ เอสเตท ผนวกกับพัฒนาการสำคัญต่างๆ ที่เราได้สร้างไว้ในปี 2566 นี้ จะเป็นแหล่งรายได้สำคัญให้กับผลประกอบการในปี 2567 โดยอธิบายได้ตามหมวดธุรกิจ ดังนี้
ธุรกิจที่พักอาศัย: เราเห็นกิจกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่เร่งตัวขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี ที่จำนวน 1,734 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นกว่า 50% ของยอดโอนทั้งปีมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการรับรู้ Backlog ของโครงการศิรนินทร์ เรสซิเดนเซส และการรับรู้ยอดโอนของโครงการใหม่ สริน ราชพฤกษ์สาย 1 ที่มีมูลค่า 3,700 ล้านบาท ซึ่งพึ่งเปิดตัวในต้นไตรมาส 4 ที่ผ่านมา และได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี พร้อมมียอดโอนกรรมสิทธิ์ทันทีกว่า 12% ของมูลค่าโครงการซึ่งเราเชื่อว่ายอดโอนของทั้งสองโครงการนี้ในปี 2567 จะสามารถปิดได้ตามเป้าหมายของเราที่ 2,000 ล้านบาท หนุนด้วยโครงการใหม่ SHAWN ทั้งสองทำเล ปัญญาอินทรา และวงแหวนจตุโชติ มีมูลค่าโครงการรวมกันราว 4,600 ล้านบาท ที่เปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการไปในช่วงปลายปีที่แล้ว ซึ่งได้ความสนใจจากลูกค้าเป็นอย่างดี เสริมด้วยการเริ่มโอนกรรมสิทธิ์โครงการ The Extro พญาไทรางน้ำ ซึ่งคาดว่าจะพร้อมส่งมอบห้องชุดให้กับลูกค้าได้ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป และ ณ ปัจจุบัน มียอดขายรอรับรู้รายได้ของโครงการแล้วกว่า 1,200 ล้านบาท
ธุรกิจโรงแรม: เราเห็นสัญญานบวกที่แข็งแกร่งในปี 2567 จากจำนวนนักท่องเที่ยว และความเต็มใจในการใช้จ่ายสำหรับการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาทิเช่น (1) โรงแรมในประเทศไทย ได้รับแรงสนับสนุนจากการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการปรับเพิ่มอัตราค่าห้องพักภายหลังการปรับปรุงตามแผน ทำให้ตอบโจทย์กับกระแสนิยมการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี สะท้อนอัตราการเข้าพักในเดือนมกราคมในปี 2567 ของโรงแรมทั้ง 4 แห่งในประเทศไทยสูงถึงกว่า 90% ประกอบกับแผนการปรับปรุงห้องพักทั้งหมดที่เราเตรียมทำเพิ่มในช่วง 2 ปีข้างหน้า จะสามารถผลักดันผลการดำเนินงานของโรงแรมในประเทศไทยให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด (2) สัญญานการตอบรับอย่างดีของโรงแรม SO/ Maldives จากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง อาทิ ชาวรัสเซีย สหราชอาณาจักร และตะวันออกกลาง รวมถึงยอดจองห้องพักล่วงหน้าที่แข็งแกร่งตลอดช่วง High Season ของปี 2567 ของโรงแรม SAii Lagoon Maldives, Curio Collection by Hilton และ โรงแรม Hard Rock Hotel Maldives และ (3) ความต้องการท่องเที่ยวในสาธารณรัฐหมู่เกาะฟิจิที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นตลาดหลัก รวมถึงศักยภาพในการเพิ่มอัตราค่าห้องพักภายหลังการปรับปรุงเสร็จสมบูรณ์ไปในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ในเดือนมกราคมปี 2567 นี้ เราสามารถบริหารอัตราการเข้าพักเฉลี่ยสูงกว่า 70% และมีระดับ RevPAR ในเดือนมกราคม เติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 43% เป็นต้น
ธุรกิจอาคารสำนักงาน: บริษัทฯ มีแนวทางในการบริหารอาคารสำนักงานทุกแห่งเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการใช้พื้นที่อาคารสำนักงานที่เปลี่ยนแปลงไป และสามารถรักษาอัตราการปล่อยเช่าพื้นที่ (Occupancy rate) ได้เป็นอย่างดีท่ามกลางภาวะการณ์ต่างๆ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของอัตราการเช่าพื้นที่ของอาคาร S-OASIS ในปี 2567 นี้จะขับเคลื่อนผลประกอบการของธุรกิจอาคารสำนักงานได้อย่างมั่นคง
ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม: บริษัทคาดว่ารายได้จากธุรกิจนี้จะเติบโตโดดเด่นในปี 2567 จากกิจกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน สอดคล้องกับความสำเร็จในการพัฒนาที่ดินและระบบสาธารณูปโภค หนุนด้วยความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ นอกจากนี้ การเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าทั้งสามแห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมกว่า 400 เมกะวัตต์ และจะทำให้บริษัทมีรายได้ประจำจากการขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวม 270 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการต่อยอดรากฐานทางธุรกิจอันมั่นคงที่ได้สร้างไว้ตลอดเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯ จะเดินหน้ามุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพในการสร้างผลกำไรในปี 2567 ผ่านการขยายพอร์ตโฟลิโอ และยกประสิทธิภาพในการทำกำไร ได้แก่ (1) การเปิดตัวโครงการอสังหาฯ เพื่อการพักอาศัยต่อเนื่องที่ระดับ 10,000 ล้านบาท การเข้าซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการใหม่ๆ รวมถึงการช่วงชิงโอกาสจากเรียลดีมานด์ที่เติบโตผ่านการพัฒนาโครงการเอ็กซ์คลูซีฟ เรสซิเดนท์ ซึ่งเป็นโครงการระดับบน จำนวนยูนิตไม่มากอยู่โซนพื้นที่ใกล้เมืองและพื้นที่เมืองชั้นใน และการเปิดโอกาสเข้าร่วมลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อเร่งการเติบโต (2) การมุ่งเน้นการลงทุนในโรงแรมที่เป็นสินทรัพย์คุณภาพ และการยกระดับประสบการณ์ท่องเที่ยวผ่านทางการบริการที่เฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น (personalized experiences) รวมถึงนำเสนอ Brand Concept ใหม่ให้ตอบโจทย์ความต้องการและเทรนด์การท่องเที่ยวในระดับสากล (3) การมองหาโอกาสในการเข้าซื้อและควบรวมกิจการเพื่อสร้างความหลากหลายให้แก่พอร์ตโฟลิโอของบริษัทฯ และ (4) การปรับแผนการตลาดเชิงรุก เน้นกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโต และใช้ช่องทางการขายที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งจะช่วยผลักดันผลประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้า และธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมให้เติบโตต่อเนื่องได้
“เรามีความมั่นใจที่จะทำตามเป้าหมายในการสร้างรายได้ที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องอีกครั้งนึง ผนวกกับการควบคุมค่าใช้จ่าย พร้อมผลักดันอัตราการทำกำไรให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น และส่งมอบคุณค่าที่ยั่งยืนและรับผิดชอบให้กับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะพันธสัญญาที่จะพัฒนาสินค้าและบริการอันเป็นเลิศ เพื่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของลูกค้า ดั่งที่ สิงห์ เอสเตท ได้ทำมาด้วยดีแล้วตลอด ควบคู่ไปกับการรักษาวินัยทางการเงินที่ดี และการเตรียมความพร้อมในการเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมที่สุดกับสภาวะตลาดในแต่ละช่วง เพื่อเพิ่มความพร้อมในการสนับสนุนการขยายการเติบโตและการทำกำไรให้กับบริษัทอย่างต่อเนื่อง” นางฐิติมา กล่าวเสริม
KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ ไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงในระยะข้างหน้า เนื่องจากเป็นหนึ่งในธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากจากการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและการหดตัวลงของจำนวนประชากรที่จะเริ่มต้นในปี 2030 ตามการการคาดการณ์ของ UN อย่างไรก็ตาม ภาคอสังหาฯ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงจังหวัดหัวเมืองใหญ่จะยังขยายตัวต่อได้ตามแนวโน้มการย้ายถิ่นฐานของประชากรเข้าสู่เมืองใหญ่ที่มีมากขึ้น ทำให้ทิศทางอสังหาฯ ไทยจะแตกต่างกันระหว่างเมืองใหญ่และเมืองรองมากขึ้น โดยการเติบโตของภาคอสังหาฯ ในอนาคตมีแนวโน้มที่จะกระจุกตัวอยู่เฉพาะในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดใหญ่เท่านั้น
ทิศทางอสังหาฯ ชะลอตัว เมื่อจำนวนประชากรใกล้หดตัว
จำนวนประชากรและความหนาแน่นของประชากรในพื้นที่ ถือเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนภาคอสังหาฯ ที่ส่งผลให้ทั้งความต้องการซื้อทั้งตลาดที่อยู่อาศัยและ เชิงพาณิชย์อย่างศูนย์การค้า สำนักงาน และ คลังสินค้าเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเติบโตของจำนวนประชากรไทยที่มีแนวโน้มซื้อที่อยู่อาศัยมากที่สุด คือช่วงอายุระหว่าง 25-54 ปี ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วนับตั้งแต่ปี 2015 และเริ่มมีจำนวนลดลง ในขณะที่จำนวนประชากรไทยในภาพรวมจะเริ่มลดลงในปี 2030 ซึ่งจะทำให้ภาคอสังหาฯ ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่รุนแรงมากขึ้น
อีก 4 ปัจจัย กดดันการเติบโตของอสังหาฯ ไทย
นอกจากปัจจัยด้านประชากร ภาคอสังหาฯ ที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษปี 2010s โดยไม่ได้เกิดจากเฉพาะโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป แต่ยังมาจากอีก 4 ปัจจัยภายในประเทศที่เริ่มเปลี่ยนทิศทางและกดดันการเติบโตของภาคอสังหาฯ คือ (1) การขยายพื้นที่เขตเมืองในต่างจังหวัด หรือ Urbanization ชะลอตัวตามภาคอุตสาหกรรมและบริการที่อาจไม่สามารถเติบโตได้ดีเท่ากับในอดีตตามภาวะ Deglobalization (2) กำลังซื้อคนไทยหดตัว จากรายได้ที่เติบโตช้าลงตามภาวะเศรษฐกิจ ในขณะที่ราคาบ้านยังคงเพิ่มขึ้นเร็ว (3) อัตราดอกเบี้ยที่อาจค้างสูงนาน จะเป็นปัจจัยที่ลดกำลังซื้อและเพิ่มภาระหนี้ให้กลุ่มผู้ซื้อที่อยู่อาศัย และ (4) ระดับหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงมากแล้วในปัจจุบันและมีแนวโน้มที่ไทยกำลังจะเข้าสู่ช่วงขาลงของวัฏจักรสินเชื่อ (Deleveraging) ส่งผลให้การกู้ยืมอาจมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้นและความสามารถในการก่อหนี้เพิ่มเติมของผู้กู้ทำได้น้อยลง
เมืองใหญ่ยังรอดจากการย้ายถิ่นฐานเข้าเมือง
ถึงแม้ภาคอสังหาฯ ไทยโดยรวมจะชะลอตัวลง แต่อสังหาฯในกรุงเทพฯ และจังหวัดใหญ่ยังไปต่อได้ โดยมีแรงสนับสนุนที่แตกต่างจากภาพรวมของประเทศไทย คือ (1) การย้ายเข้าเมืองใหญ่ สะท้อนจากจำนวนครัวเรือนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
ขยายตัวที่ 5.6% ต่อปี หรือมากกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศถึง 5 เท่า (2) การขยายตัวของเส้นทางรถไฟฟ้าในเมืองใหญ่ และ (3) กำลังซื้อจากต่างชาติ ที่มีบทบาทมากขึ้นต่อการเติบโตของยอดขายอสังหา ฯ ในไทย และคาดว่าในอนาคตจะมีโอกาสเพิ่มเติมจากภาครัฐที่มีแนวโน้มผ่อนคลายและเปิดเสรีให้ต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศได้มากขึ้น เพื่อชดเชยจำนวนประชากรในประเทศที่ลดลง
อย่างไรก็ตาม KKP Research ยังประเมินว่า การพึ่งพากำลังซื้อจากต่างชาติ โดยเฉพาะจากจีนที่มีสัดส่วนมากกว่าครึ่ง อาจมีความเสี่ยงในระยะยาวจาก (1) ความมั่งคั่งของคนจีนมีแนวโน้มลดลงตามเศรษฐกิจจีนที่ไม่อาจเติบโตได้เร็วเท่ากับในอดีต (2) ไทยอาจไม่ใช่ตัวเลือกแรกในเอเชีย หากเน้นแข่งขันด้วยราคาเป็นหลัก และ (3) Capital Control จากรัฐบาลจีนเพื่อสกัดการไหลออกของเงินทุนจีน
อสังหาฯ เมืองรองสวนทาง เสี่ยงซบเซาจากจำนวนครัวเรือนหดตัว
ภาคอสังหา ฯ ในเมืองรองและเขตชนบทอาจซบเซา มีความเสี่ยงราคาบ้านปรับตัวลดลง ความต้องการที่อยู่อาศัยในจังหวัดเล็กหดตัวลงตามจำนวนครัวเรือนที่ย้ายไปยังเมืองใหญ่มากขึ้น สะท้อนจากจำนวนครัวเรือนในภาคอีสานและภาคเหนือที่เริ่มหดตัวที่ 1.2% ต่อปี โดยในปัจจุบันเริ่มเห็นตัวเลขปริมาณอุปทานของบ้านมากกว่าจำนวนครัวเรือน ซึ่งสวนทางกับกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่จำนวนบ้านในตลาดยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการในตลาด
KKP Research ประเมินว่า ปัญหา “บ้านล้นตลาด” ในต่างจังหวัดจะยิ่งถูกกดดันมากขึ้นจากความต้องการที่หดตัวลงต่อเนื่องตามจำนวนครัวเรือนที่ลดลง ประกอบกับสินเชื่ออสังหาฯ ในต่างจังหวัดที่มีแนวโน้มลดลงในภาพรวม ส่งผลให้มีแนวโน้มที่ในอนาคตจะมีจำนวนบ้านเหลือมากขึ้นและเป็นแรงกดดันให้ราคาบ้านต้องปรับลดลงได้เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นและจีนที่ประสบปัญหาราคาบ้านแถบชนบทหดตัว
อสังหาฯ ชะลอส่งผ่านเศรษฐกิจชะลอตัวตาม
ถึงแม้บทบาทของภาคอสังหาฯ ต่อเศรษฐกิจไทยจะมีจำกัด แต่การปล่อยให้ภาคอสังหาฯ ชะลอต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบไปยังภาคส่วนอื่นในเศรษฐกิจได้ ทั้งในภาคเศรษฐกิจจริงผ่านกลุ่มธุรกิจเกี่ยวเนื่องในภาคอสังหาฯ และภาคการเงินผ่านกลุ่มธนาคารและตลาดตราสารหนี้ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อคุณภาพสินทรัพย์ เพราะ สินเชื่อที่อยู่อาศัยมีสัดส่วนมากกว่า 30% ของสินเชื่อรายย่อยทั้งหมดและ ภาคอสังหาฯ มีการระดมทุนผ่านตลาดสารหนี้ที่มากที่สุดกลุ่มหนึ่ง หากเกิดการชะลอตัวรุนแรงอาจส่งผลต่อเนื่องสู่ตลาดการเงินได้
พฤกษาประกาศจุดหมายใหม่ขององค์กร นำทัพโดยซีอีโอมืออาชีพ “อุเทน โลหชิตพิทักษ์” พร้อมทีมบริหาร