ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่า ไทยมีความเสี่ยงจะถูกเพ่งเล็งจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้นโยบาย Trump 2.0 สูงเป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียน จากการที่สหรัฐฯ เสียเปรียบทางการค้ากับไทยในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเกินดุลการค้าของไทยสูง ข้อได้เปรียบด้านต้นทุนจากการอ่อนค่าของค่าเงินบาท จำนวนคำสั่งมาตรการ AD และ CVD ในหลายประเภทสินค้าสูงกว่าคู่เทียบ โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรของไทยในอัตราที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับคู่ค้ารายอื่น ซึ่งอาจทำให้สหรัฐฯ นำมาเป็นข้อต่อรองในการพิจารณาขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าระลอกใหม่ ส่งผลให้ไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกกดดันให้เปิดตลาดนำเข้าสินค้าเกษตรที่สำคัญเพิ่มเติม อาทิ เนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์ ถั่วเหลือง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ชี้ไทยอาจถูกเพ่งเล็งจากสหรัฐฯ หลังได้เปรียบการค้าสูงเป็นอันดับสองของอาเซียน
นับตั้งแต่สงครามการค้าระลอกแรก (Trump 1.0) ในปี 2561 อาเซียนกลายเป็นภูมิภาคที่น่าจับตามองอย่างมาก หลังได้อานิสงส์จากการที่จีนใช้อาเซียนเป็นฐานในการเปลี่ยนเส้นทางการค้า รวมถึงย้ายฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ มากขึ้น จึงทำให้หลายประเทศเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 1-2 เท่า เมื่อเทียบกับก่อนสงครามการค้าในปี 2560 โดยเฉพาะเวียดนามที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 3 เท่า
สำหรับปี 2568 สงครามการค้าครั้งใหม่ที่กำลังจะมาถึงภายใต้ผู้นำสหรัฐฯ คนเดิมสมัยที่ 2 อย่างโดนัลด์ ทรัมป์ (นโยบาย Trump 2.0) คาดว่าจะสร้างความปั่นป่วนแก่ตลาดการเงินและการค้าโลกอีกระลอก โดยทรัมป์มีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น การแก้ไขกฎหมายให้เอื้อต่อการแข่งขัน การลดภาษีบุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคล การจัดการปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย การกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ และที่สำคัญคือ การประกาศกีดกันทางการค้าผ่านการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 60-100% เมื่อเทียบกับสงครามการค้าระลอกแรกที่อัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเฉลี่ย 21.5% อีกทั้งยังมีแผนจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าที่มาจากประเทศอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก 10-20% จากเดิมที่เก็บในอัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยเพียง 3%
ttb analytics มองว่า การที่ทรัมป์ยังไม่ได้ส่งสัญญาณชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าในพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งสหรัฐฯ อยู่ระหว่างแต่งตั้งคณะผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (The United States Trade Representative : USTR) แต่ก็สะท้อนท่าทีของทรัมป์ต่อมาตรการทางการค้า Trump 2.0 ว่าจะมีความแตกต่างจาก Trump 1.0 โดยสิ้นเชิง กล่าวคือ การที่ทรัมป์หยิบยกนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าครอบคลุมทุกประเทศในช่วงหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อปูทางไปสู่ “การเจรจาต่อรองทางการค้าแบบเจาะจงเป็นรายประเทศและรายกลุ่มสินค้า” (Bilateral Agreement) เมื่อเทียบกับนโยบาย Trump 1.0 ที่พุ่งเป้าลดการขาดดุลการค้ากับจีนเป็นหลัก (เนื่องจากสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีนมากที่สุด สูงถึง 4.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ ขณะนั้น (ปี 2561))
ทั้งนี้ ระดับความเข้มข้นของกรอบการเจรจาการค้าภายใต้นโยบาย Trump 2.0 ที่มีต่อประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ จะมีความแตกต่างกันไปตามความได้เปรียบทางการค้ากับสหรัฐฯ โดย ttb analytics ประเมินจาก 5 ด้านหลัก ได้แก่ 1) ระดับการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ (Bilateral Trade Surplus) 2) ข้อได้เปรียบด้านต้นทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเทียบดอลลาร์สหรัฐ (Exchange Rate Adjusted Cost Advantage) 3) ส่วนต่างอัตราภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าปลายทางในกลุ่มสินค้าเกษตร (MFN Tariff Excess on Agricultural Products) 4) ส่วนต่างอัตราภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าปลายทางในกลุ่มสินค้าอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สินค้าเกษตร (MFN Tariff Excess on Non-agricultural Products) และ 5) ระดับการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศของสหรัฐฯ ผ่านจำนวนคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับมาตรการทุ่มตลาด (Anti-dumping : AD) และมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty : CVD) ที่ได้รับรายงานจากคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (US International Trade Commission : USITC)
ttb analytics ประเมินว่า ไทยมีแนวโน้มถูกเพ่งเล็งจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้ Trump 2.0 สูงเป็นอันดับที่ 2 ของกลุ่มประเทศอาเซียนรองจากเวียดนาม เนื่องจากสหรัฐฯ เสียเปรียบทางการค้ากับไทยในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น การเกินดุลการค้าของไทยสูงและเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย ข้อได้เปรียบด้านต้นทุนจากการอ่อนค่าของค่าเงินบาทระยะหลัง จำนวนคำสั่งมาตรการ AD และ CVD ในหลายประเภทสินค้า (เช่น เหล็กและโลหะ แผงโซลาร์ และเคมีภัณฑ์) สูงกว่าคู่เทียบ รวมถึงการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรของไทยในอัตราที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับคู่ค้ารายอื่น นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ด้วยมูลค่าการส่งออกสูงถึง 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 17% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด คิดเป็นกว่า 9.4% ของจีดีพีไทย ทำให้การยกมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสูงสุดถึง 20% ในระลอกนี้จะสร้างผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทยอย่างมหาศาล ซึ่งจะเป็นการง่ายกับสหรัฐฯ ในการเรียกร้องสิทธิประโยชน์ทางการค้ากับไทย
คาดสหรัฐฯ อาจกดดันให้ไทยเปิดตลาดสินค้าเกษตรเพิ่มเติม หลังไทยพยายามลดการนำเข้ามาโดยตลอด
ที่ผ่านมา ไทยเป็นคู่ค้าในการส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของสหรัฐฯ เป็นอันดับที่ 16 เทียบกับคู่ค้าทั้งหมดกว่า 200 ประเทศ ด้วยมูลค่าส่งออกราว 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2560 แต่ปัจจุบันมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรกลับเหลือเพียง 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลงเฉลี่ยปีละ 6.8% จนทำให้อันดับของไทยในฐานะคู่ค้าสำคัญในหมวดสินค้าเกษตรตกลงมาอยู่ที่อันดับที่ 25 ซึ่งแม้ส่วนหนึ่งจากการที่บริษัทสัญชาติสหรัฐฯ หันมาตั้งโรงงานผลิตสินค้าเกษตรในไทยมากขึ้นแล้ว ยังมาจากการที่ไทยมีกลไกการปกป้องภาคการเกษตรซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมในประเทศ โดยกระทรวงพาณิชย์กำหนดมาตรการควบคุมการนำเข้าสินค้า ซึ่งมีผลบังคับใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน 23 รายการ เช่น นม ครีม และเครื่องดื่มประเภทนมปรุงแต่ง ผักและผลไม้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าว ถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว กาแฟ และ ยาสูบ (ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง)
การถูกเพ่งเล็งจากสหรัฐฯ เรื่องการจัดเก็บอัตราภาษีนำเข้าสูงและจำกัดโควตาสินค้าเกษตรไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับไทย ยกตัวอย่างเช่น ในเดือนพฤศจิกายน 2563 ทรัมป์ได้ลงนามยกเลิกการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) เป็นครั้งที่ 2 กับสินค้าไทย 231 รายการ คิดเป็นมูลค่า 817 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยให้เหตุผลว่าไทยเปิดตลาดสินค้าและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับหมูอย่างไม่เป็นธรรม (โดยสหรัฐฯ เคยตัดสิทธิ GSP ไทยครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน 2563 จากการที่ไทยล้มเหลวเรื่องการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามหลักสากลในอุตสาหกรรมประมง) ด้าน USITC ยังชี้ว่าไทยมีการบริหารจัดการอัตราภาษีในและนอกโควตาที่ไม่โปร่งใส การควบคุมใบอนุญาตนำเข้าโดยพลการ และมาตรฐานอาหารที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล นอกจากนี้ ไทยยังคิดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรเฉลี่ยค่อนข้างสูงอยู่ที่ 42% เมื่อเทียบกับการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าประเภทอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมวดสินค้าอาหารที่ไม่ผ่านการแปรรูป (Unprocessed Food) อาทิ ผลิตภัณฑ์นม เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้สด ซึ่งทำให้
สหรัฐฯ เสียอัตราภาษีนำเข้าสูงสุดถึง 216% เทียบกับประเทศอื่นที่ไทยมีข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศซึ่งทำให้อัตราภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ลดลงเหลือ 0% ส่งผลให้อัตราภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรที่มาจากสหรัฐฯ ค่อนข้างสูง
คาดสหรัฐฯ อาจกดดันไทยให้เปิดตลาดนำเข้าสินค้าเกษตรที่สำคัญเพิ่มเติม เพื่อต่อรองกับการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าที่มาจากประเทศไทยในกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ พยายามเจรจาขอให้ไทย รวมถึงประเทศคู่ค้าอื่นนำเข้าสินค้าเกษตรหลายประเภท รวมถึงกดดันผ่านการตัดสิทธิประโยชน์ด้านการค้า การเรียกร้องให้แก้ไขกฎระเบียบการค้าขององค์การการค้าโลก ซึ่งคาดว่าแรงกดดันจาก Trump 2.0 จะส่งผลต่อท่าทีของไทยเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าเกษตรหลายประเภท อาทิ เนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์ ถั่วเหลือง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่สุดแล้ว ttb analytics มองว่า ไทยอาจจำเป็นต้องผ่อนปรนมาตรการทางการค้ากับสหรัฐฯ ในบางข้อ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากมาตรการขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าในครั้งนี้
โดยสรุป ท่ามกลางกติกาการค้าโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ผู้ประกอบการไทยควรกระจายความเสี่ยงผ่านการขยายช่องทางตลาดไปยังภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ซึ่งถือเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและการส่งออกสูง ประกอบกับไทยมีสิทธิประโยชน์ทางการค้า FTA กับอาเซียน ซึ่งจะช่วยสร้างแต้มต่อทางการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรของไทยในตลาดโลก
แกร็บ ผู้นำซูเปอร์แอปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เผยรายงาน Travel Insights 2024 จากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้บริการใน 6 ประเทศที่สะท้อนพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวอาเซียน พบ 81% วางแผนเที่ยวต่างประเทศ แต่กว่าครึ่งต้องการเดินทางในประเทศใกล้ๆ ภายในภูมิภาค โดยไทยยังครองแชมป์อันดับ 1 ประเทศจุดหมายปลายทางยอดนิยม พร้อมเผยอินไซต์นักท่องเที่ยวในยุคดิจิทัลที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม พบ 86% ของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ใช้เทคโนโลยีอย่าง AR VR หรือ AI เป็นตัวช่วยในการหาข้อมูลและวางแผนการเดินทาง 81% เลือกจองตั๋วเครื่องบิน-ที่พักแบบออนไลน์ด้วยตัวเอง ขณะที่ 78% ระบุว่ายอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
นางสาวจันต์สุดา ธนานิตยะอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพาณิชย์และการตลาด แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า “นักท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียนถือเป็นหนึ่งในตลาดหลักที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยแต่ละปีเป็นจำนวนมาก โดยในปี 2024 ที่ผ่านมา ประเทศไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวจากประเทศเหล่านี้สูงถึง 10.6 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนถึง 30% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด1 ทั้งนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมการท่องเที่ยวและเดินทางของผู้ใช้บริการแกร็บใน 6 ประเทศ อันได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนามและไทย โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 11,074 คน พบว่า 81% วางแผนที่จะเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 72%) โดยกว่าครึ่ง (52%) ต้องการเดินทางภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองลงมาคือประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก (44%) อย่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี โดยประเทศไทยยังคงครองอันดับ 1 จุดหมายปลายทางยอดนิยม ตามมาด้วยสิงคโปร์และมาเลเซีย ด้วยความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และมนต์เสน่ห์ทางด้านวัฒนธรรมซึ่งถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่รัฐบาลพยายามส่งเสริมและผลักดัน รวมไปถึงการจัดงานอีเวนท์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เทศกาลอาหาร เทศกาลดนตรีและคอนเสิร์ต และประเพณีสำคัญอย่างเทศกาลสงกรานต์และลอยกระทง”
ssssss
ทั้งนี้ แกร็บยังได้เผย 5 อินไซต์สำคัญของนักท่องเที่ยวอาเซียนในยุคดิจิทัลที่สะท้อนพฤติกรรมและแนวโน้มการเดินทางที่น่าสนใจ ดังนี้
· ใช้เทคโนโลยีเพิ่มความสะดวกสบาย: 86% ของนักท่องเที่ยวระบุว่าใช้เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น Augmented Reality (AR) Virtual Reality (VR) หรือปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางท่องเที่ยว ตั้งแต่การหาข้อมูล การพรีวิวที่พักหรือแหล่งท่องเที่ยว การเปรียบเทียบราคา ไปจนถึงการวางแผนตารางการเดินทางอย่างละเอียด
· ชอบวางแผนการเดินทางด้วยตัวเอง: นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ (81%) เลือกวางแผนการเดินทางด้วยตัวเอง โดยเกือบสองในสามของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะจองตั๋วออนไลน์ทุกอย่างด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น เครื่องบิน ที่พัก รวมถึงแหล่งท่องเที่ยว ขณะที่ 18% ยอมซื้อแพคเกจทัวร์เพื่อประหยัดเวลาในการวางแผน
· มีการบริหารงบประมาณอย่างรอบคอบ: 82% ของนักท่องเที่ยวมีการวางแผนงบประมาณและกำหนดค่าใช้จ่ายต่อทริปล่วงหน้า แม้ว่ากว่าครึ่งของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มักใช้จ่ายเกินกว่างบที่ตั้งไว้ นอกจากนี้ ยังพบว่า 56% เพิ่มงบประมาณในการใช้จ่ายต่อทริปสูงขึ้นกว่าปีก่อนหน้า ขณะที่ 53% มีความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อ
· ให้ความสำคัญกับความปลอดภัย: โดยพบว่า 68% จะเลือกซื้อประกันที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็น ประกันการเดินทางที่ครอบคลุมด้านความเสียหายหรือสูญหายของกระเป๋าเดินทาง ประกันการล่าช้าหรือการยกเลิกของเที่ยวบิน รวมถึงประกันสุขภาพ
· ใส่ใจสิ่งแวดล้อม: นักท่องเที่ยวในปัจจุบันให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดย 45% เลือกสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เช่น การใช้ยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การลดปริมาณการใช้พลาสติก รวมถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการหรือชุมชนในท้องถิ่น ขณะที่ 78% ระบุว่ายินดีจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนธุรกิจที่มีแนวคิดดังกล่าว
นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดงาน InsurTech Summit 2024 ภายใต้หัวข้อ “พลิกโฉมประกันภัยสู่เครือข่ายสากล : Shaping Insurance, Building Community” จัดโดยศูนย์ CIT สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ณ ศูนย์ประชุม C ASEAN อาคารซีดับเบิ้ลยู ชั้น 10 กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีประกันภัย และเป็นเวทีในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยไทยสู่อนาคต ด้วยการผสานองค์ความรู้และนวัตกรรมเทคโนโลยีล้ำสมัย เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและยกระดับศักยภาพบุคลากรทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และกลุ่ม Tech Startup ผ่านกิจกรรมสัมมนาวิชาการเชิงลึก กิจกรรมสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ และการแสดงนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีประกันภัย ผ่าน Demo Showcase จาก บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำกว่า 10 บริษัท ที่ผู้เข้าร่วมจะได้สัมผัสผลิตภัณฑ์และโซลูชันที่นำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวในงานประกันภัย ในขณะเดียวกันก็เปิดพื้นที่เจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างบริษัทประกันภัยและบริษัทเทคโนโลยี เพื่อสร้างโอกาสในการร่วมมือและพัฒนาธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยผลักดันความร่วมมือและโอกาสการเติบโตทางธุรกิจในระดับสากล นอกจากนี้ภายในงานยังมี Exhibition จากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำกว่า 30 บริษัท ที่มาร่วมจัดแสดงนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้เห็นการใช้งานจริงของเทคโนโลยีในบริบทของอุตสาหกรรมประกันภัยอย่างใกล้ชิด
ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ Regulation for the Insurance Ecosystem โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจประกันภัย ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจประกันภัยไม่ได้มีเพียงบริษัทประกันภัยและคนกลางประกันภัยอีกต่อไป แต่มีผู้เล่นและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในธุรกิจประกันภัยเพิ่มขึ้นมากมาย เช่น บริษัทเทคโนโลยี Insurtech Startups ที่กลายเป็นผู้เล่นรายใหม่ในธุรกิจประกันภัย นอกจากนี้ ยังได้เห็นความร่วมมือ หรือ Collaboration ของบริษัทประกันภัยและคนกลางประกันภัยกับธุรกิจใหม่ ๆ เช่น โรงพยาบาล การขนส่ง เพื่อพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้มีความหลากหลาย ตอบโจทย์และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น จึงคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตธุรกิจประกันภัยจะขยายวงกว้างมากขึ้น และเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันและการดำรงชีวิตของผู้คนและผู้ประกอบการต่าง ๆ มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อีกประเด็นที่ต้องกล่าวถึง คือ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีถึงแม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องใหม่และมีการพูดถึง เรื่องเทคโนโลยีมาหลายปีแล้ว แต่มุมมอง ผลกระทบ และทิศทางของเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปทุกปี เทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัทประกันภัยได้เกือบทุกกระบวนการของ Supply Chain เริ่มตั้งแต่การเข้าถึงลูกค้าที่มีช่องทางการเสนอขายหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ที่เข้าถึงลูกค้าได้โดยตรงและตรงกับกลุ่มเป้าหมาย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ปัจจุบันมีเครื่องมือในการประมวลผลให้สามารถประเมินความเสี่ยงความต้องการของลูกค้าได้อย่างแม่นยำมากขึ้น และกำหนดอัตราเบี้ยที่เหมาะสมได้ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เฉพาะเจาะจงหรือรายบุคคลได้มากขึ้น รวมถึงในอนาคตอาจได้เห็น Dynamic Pricing การปรับเบี้ยประกันภัยตามสภาพความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ด้วยหรือในส่วนของการดูแลลูกค้าและการให้บริการหลังการขายที่สามารถนำเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ มาช่วยให้บริการได้อย่างรวดเร็วและสะดวกยิ่งขึ้น เช่น ระบบ OCR (Optical Character Recognition) หรือ RPA (Robotic Process Automation) มาช่วยดำเนินการด้านเอกสารให้รวดเร็วขึ้น การพัฒนา Chatbot เพื่อเป็นอีกช่องทาง ในการติดต่อและให้บริการลูกค้า ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีการฝังGen AI เพื่อให้ Chatbot ประมวลผลได้ซับซ้อนและดียิ่งขึ้น
อีกส่วนที่เห็นได้ชัด คือ การจัดการค่าสินไหมทดแทนที่เทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยทั้ง Front Office และ Back Office เช่น การสำรวจข้อมูลความเสียหายด้วยโดรนและการวิเคราะห์ความเสียหายและการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนด้วยการใช้ VDO หรือ รูปภาพ ซึ่งจะถูกนำไปประมวลผลต่อเพื่อให้สามารถประเมินความเสี่ยงในอนาคตได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ดังนั้น จะเห็นได้ว่ามีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในธุรกิจประกันภัยที่กว้างขวางและหลากหลาย โดยบริษัทประกันภัยเกือบทุกแห่งได้ให้บริการลูกค้าผ่านทางเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ แล้วทั้งสิ้น หรือการซื้อประกันภัยออนไลน์กลายเป็นช่องทางสำคัญของธุรกิจไปแล้ว ซึ่งที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. ได้ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาเรื่องการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในธุรกิจประกันภัยไทย พบว่า ในภาพรวมอุตสาหกรรมประกันภัยไทยมีความพร้อมทางดิจิทัลสูงถึงร้อยละ 78.5 และในอนาคตอันใกล้บริษัทประกันภัยไทยมากกว่าร้อยละ 90 จะมีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างแพร่หลายและเห็นเป็นรูปธรรม “การจัดงานเสวนาในครั้งนี้จึงคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะทำให้ทุกหน่วยงานที่เข้าร่วมงานได้รับประโยชน์ ข้อคิด และมุมมองที่น่าสนใจ สามารถนำไปประยุกต์หรือต่อยอดการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งถือเป็นอีกก้าวสำคัญของสำนักงาน คปภ. ในการสร้าง Insurance Community ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านประกันภัย รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านประกันภัยของภูมิภาคอาเซียน” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
บริติช เคานซิล ขอเชิญบุคลากรทางการศึกษา ร่วมพัฒนาศักยภาพการสอนภาษาอังกฤษ ในงานประชุมวิชาการออนไลน์ ASEAN Teaching English Online Conference 2024 ระหว่างวันที่ 10 - 30 ตุลาคม 2567 โอกาสพิเศษสำหรับครูผู้สอนภาษาอังกฤษและบุคลากรทางการศึกษาในภูมิภาคอาเซียน ในการพัฒนาทักษะการสอนและเรียนรู้ที่จะเข้าใจในตัวนักเรียนให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สอนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา พร้อมรับความรู้เชิงลึกและแนวทางปฏิบัติใหม่ ๆ ที่ทันสมัยในการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ (ELT)
งานนี้เปิดโอกาสให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาในประเทศไทยร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับวิทยากรชั้นนำจากทั่วภูมิภาคอาเซียนและผู้เชี่ยวชาญด้าน ELT ระดับนานาชาติ พร้อมเลือกเข้าร่วมกิจกรรมออนไลน์แบบอินเทอร์แอคทีฟได้มากกว่า 16 ชั่วโมง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย รับเคล็ดลับที่นำไปใช้ได้จริง อีกทั้งยังได้อัปเดตเทรนด์ล่าสุดของ ELT และรับฟังมุมมองอันทรงคุณค่าจากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับวิธีการทำความเข้าใจและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เรียนได้ดียิ่งขึ้น
มร.แดนนี่ ไวท์เฮด ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า “ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษไม่เพียงแต่ช่วยพัฒนาตนเองและส่งเสริมความก้าวหน้าในอาชีพ แต่ยังเปิดโอกาสในการเข้าถึงแนวคิด วัฒนธรรม และความรู้จากทั่วโลกอีกด้วย งานประชุม ASEAN TeachingEnglish Online Conference นี้ ถือเป็นเวทีสำคัญในการเชื่อมโยงคุณครูสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยให้ได้พบกับผู้เชี่ยวชาญชั้นนำจากอาเซียนและสหราชอาณาจักร เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับวิธีการประยุกต์ใช้นวัตกรรมเข้าไปในวิธีการสอน รวมถึงสื่อการสอน แหล่งข้อมูลต่างๆ และเครือข่าย TeachingEnglish ของบริติช เคานซิล ที่รวบรวมคุณครูภาษาอังกฤษจากทั่วโลก ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมให้เยาวชนในประเทศไทยได้รับการศึกษาภาษาอังกฤษที่ดีที่สุด”
การประชุมปีนี้จัดขึ้นธีม Understanding Our Learners โดยวิทยากรจะเจาะลึกถึงประเด็นสำคัญ อาทิ แรงจูงใจ พฤติกรรม และทักษะการปรับตัวของผู้เรียน พร้อมแบ่งปันกลยุทธ์ในการสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้เชิงบวก รวมถึงเปิดมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษา และอนาคตของเทคโนโลยีการศึกษา ผ่านหัวข้อเกี่ยวกับ AI และ EdTech เสริมความรู้ความเข้าใจในด้านสำคัญๆ ของการสอนภาษาอังกฤษอย่างรอบด้าน โดยคณะผู้เชี่ยวชาญจะมาแบ่งปันเทคนิคที่มีประสิทธิภาพในการสนับสนุนผู้เรียน ยกระดับการมีส่วนร่วม และผลสำเร็จในการเรียนรู้ ผ่านแนวทางปฏิบัติแบบครอบคลุมพร้อมเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับนวัตกรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และค้นพบแนวทางในการทำความเข้าใจผู้เรียนจากผู้เชี่ยวชาญด้าน ELT ที่ได้รับรางวัล
สำหรับไฮไลต์ของการประชุมในปีนี้ คือเสวนาพิเศษในหัวข้อ “All Ears for Change: Transformative Practices in Exploratory Action Research (EAR)” ในวันที่ 10 ตุลาคม 2567 ซึ่งผู้เข้าร่วมจะได้รู้จักกับแนวคิดหลักโครงการพัฒนาทักษะการทำวิจัยในชั้นเรียน หรือ Exploratory Action Research (EAR) และการนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาทางการศึกษา รับฟังเรื่องราวความสำเร็จจากชีวิตจริง และเรียนรู้วิธีการในการริเริ่มวางแผนทำโครงการ EAR ให้เหมาะสมกับรูปแบบและสไตล์การสอนของตนเอง ตลอดจนกลยุทธ์ที่นำไปใช้ได้จริง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการนำแนวปฏิบัติใหม่ ๆ นี้ไปใช้ในชั้นเรียนได้จริง โดยมีผู้ร่วมเสวนาผู้ทรงคุณวุฒิในประเทศไทยซึ่งเคยเข้าร่วมโครงการ EAR มาก่อน ได้แก่ จิตติมา ดวงมณี คุณครูสอนภาษาอังกฤษ โรงเรียนสุรธรรมพิทักษ์ จังหวัดนครราชสีมา, พัชรินทร์ กรรณา คุณครูสอนภาษาอังกฤษ โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดเชียงราย, ธัญญาศิริ สิทธิรักษ์ คุณครูสอนภาษาอังกฤษ โรงเรียนหนองวัวซอพิทยาคม จังหวัดอุดรธานี และดำเกิง มุ่งธัญญา คุณครูสอนภาษาอังกฤษชั้นมัธยมจากกรุงเทพฯ
สำหรับงานประชุมเมื่อปีที่แล้วมีครูผู้สอนและบุคลากรทางการศึกษาเข้าร่วมกว่า 15,000 คน จาก ทั่วภูมิภาคอาเซียน รวมถึงครูไทยกว่า 700 คน โดยผู้ร่วมงานทุกคนได้รับฟังมุมมองต่างๆ เกี่ยวกับ นวัตกรรมการสอนภาษา การพัฒนาหลักสูตร การส่งเสริมบทบาทของครู การสร้างสภาพแวดล้อม การเรียนรู้ที่หลากหลาย รวมถึงประเด็นสำคัญอย่างความแตกต่าง ความเท่าเทียม และความมีส่วนร่วม (EDI) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และธนาคาร เอชเอสบีซี ประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อผลักดันประเทศไทยสู่ศูนย์กลางการลงทุนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของทั้งสององค์กร ผ่านการให้คำปรึกษาด้านการลงทุนในไทยอย่างครบวงจร โดยอาศัยความแข็งแกร่งของเครือข่ายธุรกิจของธนาคารเอชเอสบีซีใน 62 ประเทศและเขตการปกครอง ความเชี่ยวชาญในการสนับสนุนองค์กรข้ามชาติในการขยายธุรกิจระหว่างประเทศ พร้อมทั้งแพลตฟอร์มด้านการเงินดิจิทัลของธนาคารเอชเอสบีซี เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนต่างชาติเข้าถึงโอกาสในการลงทุนและขยายธุรกิจในประเทศไทย
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า “ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นมากที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคอาเซียน ด้วยศักยภาพและความพร้อมหลายด้านที่เอื้อต่อการลงทุน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ดี บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและทักษะขั้นสูง รวมทั้งมีมาตรการสนับสนุนเชิงรุกจากภาครัฐ ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยที่ผ่านมารัฐบาลและบีโอไอได้เดินหน้าออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านต่างๆ รวมถึงกิจกรรมชักจูงการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการลงทุนในโครงการสำคัญของบริษัทรายใหญ่จากต่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีตัวเลขการลงทุนทำสถิติสูงสุดในรอบ 9 ปี ด้วยมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนกว่า 8.48 แสนล้านบาท เติบโตร้อยละ 43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) กว่า 6.63 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 72 ทั้งนี้ บีโอไอเชื่อว่ากระแสการลงทุนจากต่างประเทศจะยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาสแรก ปี 2567 มียอดขอรับส่งเสริมการลงทุน จำนวน 724 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 94 มูลค่าเงินลงทุนรวม 228,207 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย ซึ่งบีโอไอมั่นใจว่าการลงนามเป็นพันธมิตรกับธนาคารเอชเอสบีซีในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึง เข้าใจ และความสามารถในการประสานงานกับนักลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อเร่งการดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศไทยให้มากยิ่งขึ้นในอนาคต
”ความร่วมมือครั้งนี้ธนาคารเอชเอสบีซีจะใช้เครือข่ายลูกค้าธุรกิจระดับโลก และข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการลงทุนในประเทศไทย เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันและสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจ ผ่านการสนับสนุนบริษัทต่าง ๆ ที่ต้องการขยายธุรกิจมาสู่ประเทศไทย ทั้งในรูปแบบของโซลูชันทางการเงินและการให้คำปรึกษา นอกจากนี้ ธนาคารเอชเอสบีซีจะจัดกิจกรรมโรดโชว์ในตลาดสำคัญ เช่น จีน ฮ่องกง อินเดีย ซาอุดิอาระเบีย อาเซียน ยุโรป และสหราชอาณาจักร เป็นต้น เพื่อส่งเสริมประเทศให้เป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค
ความร่วมมือระหว่างบีโอไอและธนาคารเอชเอสบีซีจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่บริษัทรายใหญ่ระดับโลกมีความต้องการที่จะขยายธุรกิจและมองหาโอกาสใหม่ ๆ ซึ่งวันนี้อาเซียนถือเป็นภูมิภาคที่มีความโดดเด่น และไทยเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่มีความเหมาะสมจะเป็นฐานลงทุนแห่งใหม่ของตลาดโลก บีโอไอมั่นใจว่าเครือข่ายระดับโลกของธนาคารเอชเอสบีซี จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งและเร่งการลงทุนใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมตามยุทธศาสตร์ของบีโอไอ ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า เซมิคอนดักเตอร์ ดิจิทัล อุตสาหกรรมชีวภาพและพลังงานสะอาด และสนับสนุนการตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทย เพื่อขยายการเข้าถึงกลุ่มนักลงทุนกว้างขึ้น โดยบีโอไอและธนาคารเอชเอสบีซีจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อผลักดันการลงทุนผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ร่วมกัน” นายนฤตม์ กล่าว
นายจอร์โจ กัมบา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย
นายจอร์โจ กัมบา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า “ประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญที่ธุรกิจระหว่างประเทศต้องการลงทุน โดยบทวิจัย HSBC Global Connections ระบุว่า ร้อยละ 37 ของบริษัทที่เป็นกลุ่มตัวอย่างมีการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยแล้วในปัจจุบัน ซึ่งแรงงานที่มีทักษะเป็นปัจจัยที่ทำให้ไทยเป็นตลาดที่น่าสนใจ ตามมาด้วยเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเติบโตและจำนวนประชากรที่มีรายได้ปานกลาง นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของภูมิภาคมาอย่างยาวนาน และยังคงเป็นส่วนสำคัญของซัพพลายเชนของโลก ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยถือเป็นผู้ผลิตยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียน โดยมียอดการผลิตคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 50 ของประเทศทั้งหมดในภูมิภาค ส่งผลให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่มีศักยภาพสำหรับการลงทุนขนาดใหญ่จากประเทศเศรษฐกิจสำคัญทั้งในภูมิภาคและทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี)”
“ธนาคารเอชเอสบีซีเป็นหนึ่งในธนาคารระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งดำเนินธุรกิจอยู่ใน 62 ประเทศและเขตการปกครอง และเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของไทยซึ่งมีประสบการณ์ในการธุรกิจในประเทศไทยมากว่า 135 ปี เราจึงเชื่อมั่นในศักยภาพขององค์กรในการเชื่อมโยงประเทศไทยกับนักลงทุนทั่วโลก ผ่านการนำเสนอ โซลูชันด้านการเงินที่ครบวงจรและแพลตฟอร์มนวัตกรรมด้านการเงินดิจิทัล โดยธนาคารฯ พร้อมให้การสนับสนุนบีโอไอในกิจกรรมโรดโชว์ต่าง ๆ และพัฒนาความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และเศรษฐกิจดิจิทัล”
“รายงานของธนาคารเอชเอสบีซียังชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจระหว่างประเทศร้อยละ 18 ที่ยังไม่ได้ดำเนินธุรกิจในไทยมีแผนจะขยายธุรกิจเข้ามาในประเทศไทยภายใน 2 ปีข้างหน้า สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยยังคงเป็นตลาดนักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจและมองว่ามีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค เราเชื่อว่าความร่วมมือครั้งนี้และโซลูชันด้านการเงินระหว่างประเทศชั้นนำของเอชเอสบีซีจะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายในการร่วมปลดล็อคโอกาสการลงทุน เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของการลงทุนจากต่างประเทศได้อย่างมั่นคง” นายกัมบา กล่าวปิดท้าย
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) (ที่ 2 จากขวา),
นายจอร์โจ กัมบา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย (ที่ 3 จากขวา), นางสาวฐนิตา ศิริทรัพย์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ บีโอไอ (ที่ 1 จากขวา) และนายกฤษฎา แพทย์เจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มลูกค้าธุรกิจ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย (ที่ 4 จากขวา)
ภายหลังพิธีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ ยังมีการเสวนาในหัวข้อ “ปลดล็อคโอกาสการลงทุนในไทย” โดยมีตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม ได้แก่ นางสาวฐนิตา ศิริทรัพย์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ บีโอไอ, นายกฤษฎา แพทย์เจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มลูกค้าธุรกิจ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย, นายแฟรงค์ คอนสแตนต์ ผู้ร่วมก่อตั้ง คอนสแตนท์ เอนเจอร์จี ผู้ให้บริการโซลูชันพลังงานหมุนเวียน และนายยี่ เสี่ยวผิง รองประธาน ไฮเซ่นส์ อาเซียน โดยผู้ร่วมเสวนาได้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโอกาสของประเทศไทยในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อเจาะตลาดไทยควบคู่ไปกับการตั้งฐานการผลิตในไทยเพื่อส่งออกไปยังตลาดอื่น ๆ ในอาเซียน โดยการสนับสนุน อาทิ ฟรีวีซ่าและความตกลงการค้าเสรี ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะยกระดับความสามารถในการแข่งขันของไทย นอกเหนือไปจากสิทธิประโยชน์ทางภาษี
ภายในงานยังมีบุคคลสำคัญและผู้แทนจากสถานทูตและหอการค้าระหว่างประเทศเข้าร่วมงาน เช่น สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูตเวียดนาม องค์กรส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง หอการค้าอเมริกันในประเทศไทย หอการค้าเกาหลี – ไทย และหอการค้าอังกฤษ-ไทย