January 22, 2025

เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (อียู) ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดงานฉายภาพยนตร์ สารคดีภายใต้หัวข้อ ‘Our Right to Live on a Healthy Planet’ ระหว่างวันที่ 9 - 12 ธันวาคมนี้ โดยเปิดให้ประชาชนที่สนใจเข้าชมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

 

การจัดงานครั้งนี้ยังได้รับความร่วมมือจาก Documentary Club โรงภาพยนตร์เฮ้าส์ สามย่าน และสื่อออนไลน์ ด้านสิ่งแวดล้อม Environman ในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างประเด็นทางด้าน สิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม โดยถ่ายทอดผ่านทางภาพยนตร์ของผู้กำกับทั้งจากประเทศไทยและทวีปยุโรป ที่สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการปกป้องสิ่งแวดล้อมจากการทำธุรกิจและอุตสาหกรรม นอกจากการสร้างความตระหนักรู้ของสังคมแล้ว การจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรป และประเทศไทยในการส่งเสริมสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อไป

พิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการ ณ โรงภาพยนตร์เฮ้าส์ สามย่านในวันนี้ มีประชาชนและตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมกว่า 100 คน รวมทั้งนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักปกป้องสิ่งแวดล้อม ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ และสถานเอกอัครราชทูต โดยในงานยังได้มีการเน้นย้ำถึงความสำคัญของมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ที่เห็นชอบและประกาศว่า การเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืน เป็นสิทธิมนุษยชนสากล

ฯพณฯ นายเดวิด เดลี เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวระหว่างสุนทรพจน์เปิดงานว่า “พวกเรามีสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เพราะเราเป็นชาวยุโรปหรือชาวเอเชีย พวกเรามีสิทธิเหล่านี้ เพียงเพราะว่าพวกเรา เป็นมนุษย์ นอกจากนี้สิทธิมนุษยชนแบ่งแยกไม่ได้ สิทธิมนุษยชนล้วนมีความสำคัญและมีความจำเป็นอย่างเท่าเทียมกันในการปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หากปราศจากการเคารพสิทธิมนุษยชน สันติภาพและความมั่นคง อย่างยั่งยืน การพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองในระยะยาวก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้”

ผู้ร่วมพิธีเปิดงานยังได้เข้าชมภาพยนตร์เรื่อง สายเลือดแม่น้ำโขง: Special Edition (Blood on the River: Special Edition) อันเป็นผลงานของ ธีรยุทธ์ วีระคำ ผู้กำกับชาวไทยที่พาเราไปสำรวจผลกระทบของระบบนิเวศน์และวิถีชีวิตของชุมชนรอบแม่น้ำโขงที่เกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาทางด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

ในระหว่างวันที่ 10 - 12 ธันวาคม ยังมีการเปิดให้ชมภาพยนตร์สารคดีฟรีอีก 3 เรื่อง ที่โรงภาพยนตร์ 4 เฮ้าส์ สามย่าน อันได้แก่ เรื่อง Losing Alaska (ไอร์แลนด์) ในวันที่ 10 ธันวาคม; เรื่อง สายน้ำติดเชื้อ - By the River (ไทย) วันที่ 11 ธันวาคม; และเรื่อง Thank You for the Rain (นอร์เวย์) วันที่ 12 ธันวาคม ภาพยนตร์ทุกเรื่องจะจัดฉาย เวลา 19.00 น. – 21.00 น. ผู้ที่สนใจสามารถสำรองที่นั่งผ่านทางเว็บไซต์ https://bit.ly/3EKEg4v หรือรับตั๋ว หน้าโรงภาพยนตร์ตามวัน - เวลาที่ฉาย จนกว่าที่นั่งจะหมด

 

นายจิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในพิธีเปิดงานว่า “สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเชื่อว่างานนี้เป็นโอกาสที่ดีสำหรับการดำเนินงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมาย โดยพร้อมเป็นพันธมิตรที่ดี และร่วมมืออย่างเต็มที่เพื่อให้คนไทย ทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่บนโลกที่มีสุขภาวะที่ดี”

สหภาพยุโรปและประเทศไทยได้ต่างผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าทางด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในมิติทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยสหภาพยุโรปได้มีการระบุความคุ้มครองดังกล่าวไว้ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย (พ.ศ. 2563 -2567) แผนดังกล่าวเน้นย้ำถึงพันธะสัญญาในการจัดการความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่มีต่อสิทธิมนุษยชน สำหรับประเทศไทย แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2562 –2566) ได้ประกาศพันธกิจความมุ่งมั่น ของประเทศในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและปกป้องดูแลสุขภาพของประชาชนจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวในระหว่างพิธีเปิดต่อไปว่า “สิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่มีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกันอย่างที่สุด โดยสิทธิมนุษยชนนั้นไม่อาจ เฟื่องฟูได้ หากสิ่งแวดล้อมถูกทิ้งขว้างหรือละเลย”

เนื่องในวันยุติโทษประหารชีวิตสากล (World Day Against the Death Penalty) วันที่ 10 ตุลาคม 2565 คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (อียู) ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จัดงานแลกเปลี่ยนมุมมองกับนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ด้านสิทธิมนุษยชนและทางเลือกอื่น ๆ สำหรับโทษประหารชีวิต

การจัดงานครั้งนี้เน้นย้ำจุดยืนของสหภาพยุโรปในการต่อต้านโทษประหารชีวิตอย่างเต็มกำลัง เพราะการประหารชีวิตถือเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เมื่อตัดสินแล้วไม่สามารถหวนคืนได้ อีกทั้งยังเป็นวิธีป้องปรามอาชญากรรมที่ไม่มีประสิทธิภาพ งานเสวนานี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ของประเทศไทยในการก้าวเข้าสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตตามที่ระบุไว้ในแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2562 – 2566)

งานเสวนาภายใต้หัวข้อ “โทษประหารชีวิต: เส้นทางสู่การยกเลิก” (“Death Penalty: The Road to Abolition”) ได้รับความสนใจจากนักศึกษาจำนวนกว่าร้อยคนจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์เปิดงาน นางสาวซารา เรโซอากลี อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า “สหภาพยุโรปวางการยกเลิกโทษประหารชีวิตไว้ ณ ใจกลางของนโยบายสิทธิมนุษยชนของเรา เพราะเราเชื่อมั่นว่าการยกเลิกโทษร้ายแรงสูงสุดนั้นจำเป็นต่อการค้ำชูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โทษประหารชีวิตถือเป็นการละเมิดสิทธิในชีวิตที่ได้รับการคุ้มครองในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เมื่อตัดสินแล้วไม่สามารถกลับคำตัดสินได้ ทั้งยังล้มเหลวในฐานะเครื่องมือป้องกันอาชญากรรมด้วย สหภาพยุโรปดำเนินการทางการทูตอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนให้พันธมิตรนานาชาติเปิดประเด็นอภิปรายและสร้าง ความตระหนักรู้เกี่ยวกับการยุติโทษประหารชีวิต ดังที่ปรากฏในงานกิจกรรมวันนี้”

นางสาวสุจิตรา แก้วไกร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า “โทษประหารชีวิตไม่ใช่วิธีที่สามารถระงับการกระทำความผิดได้อย่างเด็ดขาด ดังนั้น การสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลกระทบของโทษประหารชีวิตให้กับประชาชนทุกช่วงวัยจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะเยาวชน ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมต่อไป

นางสาวมาร์ตา ซังตูส ไปส์ กรรมาธิการ คณะกรรมการสากลเพื่อการต่อต้านโทษประหาร (International Commission Against the Death Penalty: ICDP) ได้กล่าวคำปราศรัยสำคัญ โดยเน้นย้ำถึงความเชื่อมโยงระหว่างหลักนิติธรรมและการยกเลิกโทษประหารชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์แนวโน้มการยกเลิกใช้โทษประหาร ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เธอย้ำว่า “ประเทศส่วนใหญ่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว ไม่ว่าจะในทางกฎหมาย หรือทางปฏิบัติ และไม่นานมานี้เราก็ได้เห็นความก้าวหน้าอันชัดเจนจากการที่รัฐต่าง ๆ จำนวนมากทยอยออกคำสั่งทางกฎหมายห้ามลงโทษประหารชีวิต และอีกหลายประเทศก็ให้คำมั่นในเป้าหมายเดียวกัน เมื่อมีมาตรฐาน สิทธิมนุษยชนสากลเป็นแนวทางแล้ว การยกเลิกโทษประหารชีวิตทั่วโลกก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

บรรดาผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมเป็นวิทยากรในการสัมมนาประกอบด้วย นางสาวคาเรน โกเมซ ดุมปิต สมาชิกคณะกรรมการบริหาร เครือข่ายต่อต้านโทษประหารชีวิตแห่งเอเชีย (Anti-Death Penalty Asia Network: ADPAN) และอดีตกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งฟิลิปปินส์ ดร. ขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ดร.มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการจังหวัด อัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงราย และ ดร. เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การสัมมนาในครั้งนี้ มีนางสาวสัณหวรรณ ศรีสด ที่ปรึกษากฎหมาย คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งการสัมมนาได้หยิบยกสถานการณ์ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่มีแนวโน้มที่สนับสนุนการยกเลิกโทษประหารมาพูดคุย มากกว่าสองในสามของประเทศทั่วโลก รวมถึงทุกประเทศสมาชิกของอียู ได้ยกเลิกการใช้ โทษประหารทั้งในทางกฎหมายหรือทางปฏิบัติแล้ว การสัมมนานี้ยังอภิปรายสถานการณ์โทษประหารชีวิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย กัมพูชาและฟิลิปปินส์ได้ประกาศยกเลิกการใช้โทษประหารชีวิตอย่างเป็นทางการแล้ว ในขณะที่ลาวและบรูไนได้ยกเลิกการใช้โทษประหารชีวิตแล้วในทางปฏิบัติ โดยไม่มีการลงโทษประหารชีวิตมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ส่วนมาเลเซียได้ประกาศแผนที่จะนำไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์ และเมียนมาร์ยังคงมีการประหารชีวิตเกิดขึ้นอยู่ในปี พ.ศ. 2565

นางสาวคาเรน โกเมซ ดุมปิต กล่าวว่า “กลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านโทษประหารชีวิตควรจับตามองอย่างใกล้ชิดและตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อการกระทำต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดการผกผันของแนวโน้มการยกเลิกโทษประหารทั่วโลก กรณีที่เป็นตัวอย่างได้ดีคือประเทศฟิลิปปินส์ แม้จะให้สัตยาบันต่อพิธีสารเลือกรับของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ฉบับที่ 2 เพื่อการกำจัดการประหารชีวิตแล้ว กลุ่มต่อต้านโทษประหารก็ยังต้องคอยติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เมื่อเร็ว ๆ นี้ เราเห็นการผกผันในภูมิภาคอาเซียน ทั้งการพิจารณาคดีและการสำเร็จโทษประหาร ซึ่งส่งผลกระทบทางลบต่อหลักนิติธรรมและการเคารพสิทธิมนุษยชน เราจำเป็นต้องมีความร่วมมือ ข้ามพรมแดนระดับภูมิภาคเกี่ยวกับการผกผันเหล่านี้เพื่อบรรลุการยกเลิกโทษประหารทั่วโลกทั้งในทางกฎหมาย และในทางปฏิบัติ”

ปัจจุบัน ประเทศไทยบัญญัติให้มีบทลงโทษประหารชีวิตใน 60 ฐานความผิด แต่การประหารชีวิตเกิดขึ้นไม่มากนัก ทั้งยังมีข้อจำกัดหลายประการสำหรับนักโทษที่จะถูกตัดสินประหารชีวิต เช่น ข้อยกเว้นตัดสินโทษประหารชีวิตในกรณีหญิงตั้งครรภ์และเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ยิ่งไปกว่านั้น จำนวนนักโทษที่ต้องโทษประหารชีวิตในไทยก็ลดลง อย่างต่อเนื่องและมีนัยสำคัญติดต่อกันมาเป็นเวลาสามปีแล้ว

งานนี้จัดขึ้นโดยโครงการ European Union Policy and Outreach Partnership โดยการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป

X

Right Click

No right click