บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ร่วมกับ ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พร้อมพันธมิตรชั้นนำ เดินหน้าจัดงาน “Rethink Pink We Care” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ภายใต้แนวคิด “ห่วงใยผู้หญิงไทย ห่างไกลมะเร็งเต้านม” โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักรู้และเฝ้าระวังเกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม ครอบคลุมตั้งแต่การตรวจคัดกรอง ไปจนถึงการดูแลตนเองเมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็ง หวังลดจำนวนผู้ป่วยและความรุนแรงของโรคในประเทศไทย งานนี้จัดขึ้น ณ SCBX NEXT STAGE @ NEXT TECH ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยมีประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมฟังการบรรยายมากมาย
แอสตร้าเซนเนก้า ในฐานะบริษัทผู้วิจัยและพัฒนายาระดับโลก เดินหน้าสานต่อกิจกรรม “Rethink Pink We Care” ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 หลังได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชนที่เข้าร่วมงานใน 2 ปี
ที่ผ่านมา โดยกิจกรรมนี้เกิดขึ้นจากการตระหนักถึงความรุนแรงของโรคมะเร็งเต้านมที่มักพบในผู้หญิง และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆของหญิงไทย มีเป้าหมายเพื่อมุ่งส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องครอบคลุมตั้งแต่การสังเกตร่างกายเบื้องต้น เห็นความสำคัญของการตรวจคัดกรองโรคตั้งแต่เนิ่นๆ ไปจนถึงแนวทางรักษา
ในปัจจุบันและการดูแลตนเองเพื่อสุขภาวะที่ดี ในการส่งมอบองค์ความรู้เหล่านี้ให้ประชาชน แอสตร้าเซนเนก้าจึงได้ร่วมมือกับศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องในการจัดกิจกรรมนี้ขึ้น
นายโรมัน รามอส ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย และ Frontier Markets เปิดเผยว่า
“จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่ามะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งชนิดที่พบบ่อยที่สุดในหญิงไทยและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการเก็บสถิติในปี 2565 พบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจำนวน 38,559 คนจากทั่วประเทศ ปัจจุบันสาเหตุของโรคเกิดได้ทั้งจากพันธุกรรมและพฤติกรรมเสี่ยง แอสตร้าเซนเนก้าตระหนักถึงความสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย เราจึงมุ่งทำการศึกษาวิจัย พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อช่วยรักษาผู้ป่วยอย่างตรงจุดและช่วยลดความรุนแรงของโรคในอนาคต ในประเทศไทยเราได้ร่วมมือกับศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช ผ่านโครงการ ““Rethink Pink We Care” เพื่อส่งมอบองค์ความรู้ในการป้องกัน แนวทางการวินิจฉัย การกระตุ้นให้เข้ารับการตรวจคัดกรองแต่เนิ่นๆ เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที ภารกิจทั้งหมดนี้มีเป้าหมาย เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของบริษัทฯ”
ศ.นพ. มานพ พิทักษ์ภากร สาขาวิชาเวชพันธุศาสตร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า “การตรวจยีนหรือ Genomics ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในวงการแพทย์ไทยมากขึ้น ตั้งแต่การป้องกันโรค การตรวจคัดกรอง วินิจฉัย รวมไปถึงการรักษา ในกลุ่มโรคที่หลากหลาย ซึ่งโรคมะเร็งถือเป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ การนำเทคโนโลยีนี้มาใช้จึงช่วยในการค้นหาความเสี่ยงภายในครอบครัวได้เป็นอย่างดี สำหรับสาเหตุของโรคมะเร็งเต้านมเกิดจากการกลายพันธุ์ของยีน
บีอาร์ซีเอ 1 (BRCA1) และ บีอาร์ซีเอ 2 (BRCA2) จากสถิติพบว่าผู้ที่มียีนกลายพันธุ์กว่า 80% มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งเต้านมสูง ซึ่งประโยชน์ของการตรวจคัดกรองด้วยยีนนี้คือมีความแม่นยำสูงหากตรวจพบความเสี่ยงเร็วก็จะช่วยวางแผนการรักษาได้เร็วขึ้น เพิ่มโอกาสรอดชีวิตและลดความรุนแรงของโรคช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้นได้ สำหรับรูปแบบการรักษาในปัจจุบันมีอยู่หลากหลาย ทั้งการผ่าตัดซึ่งเป็นวิธีที่ใช้รักษาผู้ป่วยมานาน แต่ด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ที่ทันสมัยในปัจจุบัน หากตรวจพบก้อนเนื้อเร็ว การผ่าตัดก็จะเกิดเพียงแผลขนาดเล็ก ซึ่งเป็นผลดีกับผู้ป่วยในการฟื้นตัว นอกจากนี้ยังมีการใช้เคมีบำบัด การฉายแสง ภูมิคุ้มกันบำบัด และยามุ่งเป้า ซึ่งการเลือกรูปแบบการรักษานี้จะอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาและการตัดสินใจร่วมกับผู้ป่วยด้วย”
ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้รับความร่วมมือจากบริษัทชั้นนำ โครงการ และสถาบัน
เพื่อผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมากมาย ได้แก่ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด สถานวิทยามะเร็งศิริราช (SiCA) โครงการ Art for Cancer ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย (Thailand Breast Cancer Community) แบรนด์เอนิต้า (ประเทศไทย) จำกัด ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) นอกจากกิจกรรมบนเวทีและการออกบูธนิทรรศการแล้ว ยังได้รับความร่วมมือจาก แบรนด์ลา โรช-โพเซย์ ภายใต้บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ที่มีการดำเนินพันธกิจยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งและครอบครัวผ่านโครงการ “ลา โรช-โพเซย์ เคียงข้างผู้ป่วยมะเร็ง” (Cancer Support by La Roche-Posay) โดยร่วมมือกับมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง มีเป้าหมายช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็ง การให้คำปรึกษาแพทย์เฉพาะทางผิวหนังจากผลกระทบจากการรักษา และการบริจาคผลิตภัณฑ์ ลิปิการ์ โบม เอพี+เอ็ม เพื่อดูแลผิวอย่างอ่อนโยนให้กับผู้ป่วยมะเร็ง
บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมลงนามความร่วมมือภายใต้โครงการ “Collaboration towards excellence in lung cancer”
นำร่องที่โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ มุ่งใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) มาเสริมการปิดช่องว่างในการวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งปอด รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้แก่ภาคประชาชนในการประเมินความเสี่ยงและเข้ารับการตรวจคัดกรอง วินิจฉัย และรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อร่วมรณรงค์ไปกับแคมเปญ Close the care gap ขององค์การอนามัยโลก (WHO) วันมะเร็งโลก สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของโรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ ในฐานะโรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วยแบบครบองค์รวมในทุกขั้นตอนการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม และการตรวจหาสารพันธุกรรมของเซลล์มะเร็งในร่างกาย เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว ชูความเป็นศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็งแห่งเอเชียแปซิฟิก (Center of Excellence - Cancer)
นอกจากด้านการตรวจวินิจฉัยและรักษาของโรงพยาบาลที่ครบครัน แอสตร้าเซนเนก้า เป็นหนึ่งในสมาชิกของ The Lung Ambition Alliance (LAA) เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาคีพันธมิตรระดับนานาชาติ 4 องค์กรที่มีการดำเนินกิจกรรมใน 50 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย เพื่อร่วมกันสานต่อเป้าหมายในการเพิ่ม ‘อัตราการรอดชีวิต 5 ปี’ ของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดให้เป็น 2 เท่า ภายใน พ.ศ. 2568 พร้อมศึกษาทำความเข้าใจถึงวิวัฒนาการของโรค พัฒนาเทคนิคระดับก้าวหน้าเพื่อการดูแลรักษาโรคมะเร็งปอด ส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้น
ศ.พิเศษ นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพวัฒโนสถ กล่าวว่า “งานแถลงข่าวในครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนการรณรงค์วันมะเร็งโลกหรือ World Cancer Day ซึ่งในปีนี้องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ให้ความสำคัญกับการ “Close the care gap” หรือการปิดช่องว่างในการดูแลรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งทางโรงพยาบาลเน้นในเรื่องของมะเร็งปอด เนื่องจากปัจจุบันเราพบผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดสูงขึ้นเป็นอย่างมากในคนที่ไม่สูบบุหรี่ และมีภัยคุกคามต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปอดในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ เช่น ฝุ่น PM2.5 ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะในผู้ที่มียีนกลายพันธุ์ EGFR หรือ KRAS และในปัจจุบันยังไม่มีแนวทางการตรวจคัดกรองในมะเร็งปอดในกลุ่มที่ไม่เคยสูบบุหรี่ ดังนั้น การที่จะปิดช่องว่างหรือ Close the care gap ในเรื่องนี้ จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ทันสมัยเข้ามาช่วยเสริม เช่น การนำปัญญาประดิษฐ์หรือ A.I. มาช่วยในการวินิจฉัยภาพเอกซเรย์รังสีทรวงอกในผู้ที่เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี และโรงพยาบาลนำชุดตรวจหาสารพันธุกรรมของเซลล์มะเร็งในร่างกายจากเลือด (Circulating Tumor DNA : ctDNA) โดยใช้เทคโนโลยี Next-Generation Sequencing ที่สามารถตรวจหามะเร็งหลายชนิดพร้อมกัน เพื่อค้นหาโรคมะเร็งตั้งแต่ก่อนเป็นจนถึงระยะเริ่มต้น ซึ่งช่วยเสริมการตรวจคัดกรองประเมินความเสี่ยงโรคมะเร็งเฉพาะบุคคล พร้อมทั้งช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย”
นายโรมัน รามอส ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “โรคมะเร็ง หากรู้เร็ว สามารถรักษาได้ โรคมะเร็งถือเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคที่แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทยให้ความสำคัญมาตลอดระยะเวลา 40 ปี เราพร้อมเดินหน้าประสานความร่วมมือกับหน่วยงานด้านสาธารณสุข องค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมคนไทยหันมาตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้นมากขึ้น ทั้งนี้ ในฐานะบริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก เรามุ่งมั่นในการนำวิทยาศาสตร์มาต่อยอดและพัฒนาการดูแลสุขภาพของประชาชนมาโดยตลอด ล่าสุดกับการนำเสนอการใช้เทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ร่วมกับเครื่องเอกซเรย์ปอด เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถตรวจพบเงาของก้อนเนื้อในปอดซึ่งอาจเป็นตัวบ่งชี้มะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นที่อาจมีขนาดเล็กหรือมองเห็นได้ยากภายในระยะเวลา 3 นาที ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและสามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ลดอัตราการเสียชีวิต เพิ่มอัตราการรอดชีวิต 5 ปีของผู้ป่วยมะเร็งปอดได้มากยิ่งขึ้น”
พญ.เมธินี ไหมแพง ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่ม 1 และผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “กว่า 10 ปีของโรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ ภายใต้การบริหารงานของบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่มีเครือข่ายกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เรามุ่งมั่นให้การบริการทางด้านสุขภาพและศูนย์แห่งความเป็นเลิศในโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคมะเร็ง รองรับผู้ป่วยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งการร่วมมือกับแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทยในครั้งนี้ ถือเป็นการช่วยส่งเสริมศักยภาพของโรงพยาบาล ผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิชาการทางคลินิกวิทยาศาสตร์ ร่วมกับสถาบันมะเร็งระดับนานาชาติที่มีชื่อเสียงระดับโลก รวมถึงการถ่ายทอดนวัตกรรม และความเชี่ยวชาญขั้นสูงให้แก่ทีมแพทย์ผู้ชำนาญการและทีมสหสาขาวิชาชีพ (Multi-disciplinary team – MDT) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกับแนวทางการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด ส่งเสริมให้โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ เป็นศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็งแห่งเอเชียแปซิฟิกในอนาคต”
ความร่วมมือของทั้งสององค์กรในครั้งนี้ จะช่วยปิดช่องว่างการตรวจวินิจฉัย และดูแลเติมเต็มทุกการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง Close the Care Gap ให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชนคนไทยและทุกเชื้อชาติ ห่างไกลจากโรคมะเร็ง และข้ามผ่านการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น