December 22, 2024

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดตัว DAPBot (แดปบอท) แพลตฟอร์มสนับสนุนการจำแนกศัตรูพืชและการเข้าถึงชีวภัณฑ์เกษตร ในรูปแบบ Line Official เพื่อให้เข้าถึงการใช้งานโดยง่ายของเกษตรกร

เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อระหว่าง 3 หัวใจหลัก (เกษตรกร นักวิชาการ และผู้ผลิตชีวภัณฑ์) เป็นผู้ช่วยส่วนตัวเกษตรกรในไลน์ เพียงแค่กดเพิ่มเพื่อน โดย DAPBot จะให้บริการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของพืช ทั้งปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชต่าง ๆ พร้อมรวบรวมกลุ่มผู้ผลิตชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานจากทั่วประเทศ รวมถึงยังให้บริการตรวจวัดสภาพอากาศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานชีวภัณฑ์ นอกจากนี้ยังเป็นระบบที่เผยแพร่ความรู้และแจ้งเตือนการระบาดของศัตรูพืช ช่วยให้เกษตรกรสามารถวินิจฉัยปัญหาในแปลงเกษตรได้อย่างตรงจุด เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดใช้สารเคมี เสริมสร้างความเข้มแข็งการใช้ชีวภัณฑ์ในประเทศอย่างยั่งยืน ยกระดับภาคเกษตรไทยเป็นเกษตรปลอดภัยตามนโยบาย BCG

 

ดร.อลงกรณ์ อำนวยกาญจนสิน หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ไบโอเทค สวทช. ผู้พัฒนาระบบ DAPBot กล่าวว่า จากการถอดบทเรียนการทำงานของทางห้องปฏิบัติการและออกเผยแพร่ในแปลงทดสอบร่วมกับเกษตรกรในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย ทำให้ทีมวิจัยเราพบว่า ปัญหาหลักหนึ่งคือ เกษตรกรเข้าถึงเชื้อชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพได้จำกัดมาก ไม่ว่าจะเป็นแหล่งที่ซื้อ ซื้อที่ไหน ซื้อออนไลน์ได้ไหม หรือพอซื้อแล้วกลับได้ชีวภัณฑ์ปลอมเป็นน้ำผสมสี นำไปใช้แล้วไม่ได้ผล ทำให้มุมมองต่อการใช้ชีวภัณฑ์ติดลบ ไม่ใช้แล้ว กลับไปใช้สารเคมีดังเดิมดีกว่า และอีกหนึ่งปัญหาหลักคือ เกษตรกรมักมีความเข้าใจผิดค่อนข้างมากว่า สิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นเกิดจากแมลง แท้จริงแล้วเกิดจากเชื้อรา จึงใช้ยาไม่ถูกโรคเสียที เพิ่มการใช้สารเคมีมากขึ้นหรือใช้ชีวภัณฑ์ไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการ เหตุผลเหล่านี้คือที่มาหลักในการพัฒนา DAPBot ขึ้นมา

DAPBot เป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมชีวภัณฑ์ในประเทศไทยไว้ โดยเฉพาะชีวพันธุ์ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานจากผู้ประกอบการไทย คือได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก สวทช. และได้รับการขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร โดย DAPBot จะเป็นตัวช่วยส่วนตัวของเกษตรกรในการตอบคำถามความผิดปกติของพืช ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคพืชแมลง เรื่องปุ๋ย เรื่องสภาพอากาศ เรื่องน้ำ แล้วยังมีการรวบรวมแอปพลิเคชัน ที่ช่วยตอบคำถามเรื่องสภาพอากาศ เพราะการจะใช้ชีวภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด หนึ่งจะต้องมีคุณภาพ สองใช้ให้ถูกโรคถูกแมลง และสามต้องตรวจสอบสภาพอากาศก่อนใช้งาน เช่น ถ้าใช้ก่อนฝนตกหนัก ชีวภัณฑ์จะหายไปหมดไม่ได้คุณภาพ หรือถ้าจะใช้วันนี้อากาศร้อนมากแต่พรุ่งนี้ฝนตก ให้รอใช้พรุ่งนี้ดีกว่า เป็นต้น

ด้าน น.ส.เชษฐ์ธิดา ศรีสุขสาม ผู้ช่วยวิจัยทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ไบโอเทค สวทช. กล่าวเสริมว่า ทีมวิจัยมุ่งมั่นให้ DAPBot เป็นระบบที่ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน เกิดการอัพสกิลด้วยตัวเอง เช่น เมื่อเจออาการแบบนี้ส่งมาถามในแชทได้ความรู้ที่ถูกต้อง เกษตรกรจะเริ่มจำได้ในคราวต่อไป และทางทีมมีแผนจะรวบรวมภาพที่เกษตรกรส่งมานำไปทำ AI Training เพื่อที่ว่าต่อไปเมื่อเกษตรกรสอบถามมาจะได้คำตอบเร็วขึ้น ไม่ต้องรอผู้เชี่ยวชาญตอบ และจากที่ต้องรอสองชั่วโมงจะเหลือแค่หนึ่งวินาที เป็นต้น นอกจากนี้ DAPBot ยังนับเป็นช่องทางให้ผู้ผลิตชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพของประเทศไทยได้มาเจอกันกับลูกค้าที่เป็นกลุ่มผู้ใช้งานโดยตรงคือเกษตรกร ซึ่งผู้ใช้งาน DAPBot จะไม่ได้จำกัดเพียงแค่เกษตรกรในกลุ่มเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัยเท่านั้น แต่เกษตรทั่วไปที่อยากหันมาใช้ชีวภัณฑ์ในช่วงที่แมลงไม่ได้ระบาดมาก สามารถใช้ได้ หรือเกษตรกรตามบ้านที่ปลูกผักปลูกกุหลาบ ไม่อยากซื้อยามาฉีด อยากใช้ชีวภัณฑ์ก็ได้เช่นกัน โดย DAPBot นับเป็นตัวเชื่อมให้กลุ่มผู้ใช้งานและกลุ่มผู้ใหบริการชีวภัณฑ์ได้มาเจอกันนั่นเอง

ทั้งนี้ DAPBot จะมีแอดมินที่เป็นทีมวิจัยซึ่งมีความรู้เรื่องโรคและแมลงคอยดูแลตอบคำถามอยู่ และพร้อมส่งต่อคำถามให้ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัยหรือนักวิชาการเกษตร โดย DAPBot ตั้งใจทำถึง ทำมาก ด้วยความพยายามตอบทุก ๆ คำถามไม่เกิน 24 ชั่วโมง ผู้สนใจใช้งาน เพียงแค่แอดไลน์ @dapbot สามารถเริ่มใช้งานได้ทันที โดยทีมวิจัยคาดหวังว่าระบบนี้จะสามารถเป็นผู้ช่วยของเกษตรกรและเป็นประโยชน์สนับสนุนให้เกิดการใช้ชีวภัณฑ์เป็นวงกว้างและยั่งยืนต่อไป

สำหรับเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องที่สนใจ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทาง กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ ไบโอเทค สวทช. โทร. 02-5646700 ต่อ 3378, 3364 อีเมล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. และช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ Facebook Page: ชีวภัณฑ์ไบโอเทค เพื่อผักผลไม้ปลอดภัย Blockdit: ชีวภัณฑ์ไบโอเทค เพื่อผักผลไม้ปลอดภัย X (Twitter): Green Crop Defender @GCD_Squad และ TikTok: ชีวภัณฑ์ไบโอเทค

นักวิจัยด้านพืชสมุนไพร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำงานวิจัยการพัฒนาการผลิตพืชสมุนไพร 5 ชนิด (บัวบก ขมิ้นชัน กระชายดำ ฟ้าทะลายโจร และกะเพรา) เชื่อมโยงสู่ผู้ประกอบการสมุนไพรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรด้วยงานวิจัยด้านเกษตรสมัยใหม่ ภายใต้งานสัมมนา “การเชื่อมโยงและสร้างพันธมิตรในการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรด้วยงานวิจัยด้านเกษตรสมัยใหม่”

จัดโดยเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เมื่อเร็ว ๆ นี้ (19 ก.ค. 66) โดยมี ดร.วุฒิ ด่านกิตติกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. สายงาน EECi และ นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมเปิดงาน พร้อมด้วย ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สวทช. สายงานอุตสาหกรรมและชุมชน ดร.ประพัฒน์ พันปี ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายความร่วมมืออุตสาหกรรม EECi ตลอดจนผู้ประกอบการ นักวิจัยไบโอเทค และผู้แทนกลไกสนับสนุนภาคเอกชนของ สวทช. เข้าร่วมในงาน

 

ดร.วุฒิ ด่านกิตติกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. สายงาน EECi กล่าวว่า สวทช. โดย EECi ร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จัดงานสัมมนาการเชื่อมโยงและสร้างพันธมิตรในการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรด้วยงานวิจัยด้านเกษตร เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างนักวิจัยด้านพืชและผู้ประกอบการ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความร่วมมือที่ยั่งยืนและยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันให้แก่ตลาดสมุนไพรไทย พร้อมกันนี้ ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเสริมว่า ในการสร้างให้เกิดความยั่งยืนของผู้ประกอบการ สวทช. ได้มีกลไกสนับสนุนภาคเอกชนในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นบัญชีนวัตกรรมไทย / AGRITEC (สท.) หรือโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น EECi / อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย / ซอฟต์แวร์พาร์ค / Food Innopolis เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นบริการสนับสนุนผู้ประกอบการในการร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยด้วยงานวิจัยด้านเกษตรสมัยใหม่ผ่านเขตนวัตกรรม EECi ต่อไป

 

ด้าน ดร.ประพัฒน์ พันปี ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายความร่วมมืออุตสาหกรรม EECi สวทช. ระบุว่า ในการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรด้วยงานวิจัยด้านเกษตรสมัยใหม่ สวทช. โดยนักวิจัยไบโอเทคได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสมุนไพร 5 ชนิดพืช ได้แก่ บัวบก ขมิ้นชัน กระชายดำ ฟ้าทะลายโจร และกะเพรา ซึ่งล้วนเป็นพืชสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ให้มีเสถียรภาพทางการผลิต คุณภาพการผลิต นำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food security) รวมถึงส่งเสริมให้เกิดเกษตร

แม่นยำ (Precision Farming) ที่มีการนำเทคโนโลยีผสมผสานการเกษตรยุคดิจิทัล มาใช้กับการเพาะปลูกและเพิ่มผลผลิตได้เท่าทวีคูณ

 

โดยพืชชนิดแรกคือ บัวบก โดย ดร.กนกวรรณ รมยานนท์ นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร มีการศึกษาต้นแบบการผลิตบัวบกในระบบปลูกแนวตั้ง ที่เพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่สูงขึ้น บัวบกสายพันธุ์ดี ได้แก่ ไบโอบก-143 และ ไบโอบก-296 ทั้งสองสายพันธุ์ ที่คัดเลือกมาจากการรวบรวมสายพันธุ์บัวบกกว่า 200 สายพันธุ์ ซึ่งให้ผลผลิตและปริมาณสารสำคัญสูง พืชชนิดที่สอง ขมิ้นชัน โดย ดร.รุจิรา ทิศารัมย์ นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมด้านพันธุศาสตร์และสรีรวิทยาพืช มีการศึกษากระบวนการผลิตต้นพันธุ์ การคัดเลือกสายพันธุ์ และระบบการปลูกในโรงเรือนและแปลงปลูก พืชชนิดที่สาม กระชายดำ โดย ดร.ยี่โถ ทัพภะทัต นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร มีการศึกษาสายพันธุ์ที่มีสารออกฤทธิ์ทางยาสูง กรรมวิธีการผลิต และระบบการปลูกที่ลดการเกิดโรคในแปลงปลูก พืชชนิดที่สี่ ฟ้าทะลายโจร โดย ดร.ประเดิม วณิชชนานันท์ นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร มีการศึกษาสายพันธุ์ที่มีศักยภาพ ระบบการผลิตที่ให้สารสำคัญสูง และต้นแบบระบบการผลิตแบบปิด แบบเปิด และกึ่งปิด และพืชชนิดที่ห้า กะเพรา โดย ดร.พนิตา ชุติมานุกูล นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร มีการศึกษาข้อมูลสายพันธุ์ที่มีมากถึง 90 สายพันธุ์ และกระบวนการปลูกในโรงงานผลิตพืช (Plant Factory) ทั้งในด้านข้อมูลตอบสนองต่อปัจจัยสภาพแวดล้อมและต้นแบบการผลิตที่เหมาะสม ซึ่งงานสัมมนาครั้งนี้นอกจากสร้างการรับรู้ถึงความสำคัญของงานวิจัยพืชสมุนไพรแล้ว ยังได้ฉายภาพและนำเยี่ยมชมโครงสร้างพื้นฐานวิจัยขยายผล ณ โรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะ (Smart Greenhouse) และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ของเมืองนวัตกรรมชีวภาพ หรือ BIOPOLIS ที่ตั้งอยู่ใน EECi เพื่อรองรับอุตสาหกรรมชีวภาพไทยที่จะเติบโตต่อไปในอนาคตอันใกล้ด้วย

 

หนึ่งในนักวิจัยพืช ‘กระชายดำ’ ดร.ยี่โถ ทัพภะทัต นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร ไบโอเทค เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันทีมวิจัยกำลังจะได้พันธุ์กระชายดำดีเด่นที่มีสารออกฤทธิ์สูง และสามารถนำไปปรับใช้เฉพาะทางได้ เช่น เครื่องสำอาง อาหารเสริม และยา นอกจากนี้ได้พัฒนาระบบการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การสร้างต้นพันธุ์ปลอดโรคที่จะนำไปให้เกษตรกร เพื่อลดต้นทุน แรงงาน และระยะเวลาการปลูก รวมถึงยังได้ความรู้ไปใช้กับการผลิตต้นพันธุ์ได้ทั้งปี ซึ่งแตกต่างจากเหง้าที่ผลิตไม่ได้ทั้งปี ซึ่งในการศึกษาที่ EECi จะมีห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อขนาดใหญ่ มีระบบ Bioreactor (เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในอาหารเหลว) ที่จะขยายต้นพันธุ์ในระดับเชิงพาณิชย์ และใช้กับพืชอื่น ๆ ได้ เช่น ไม้ดอกไม้ประดับ พืชหายากที่ต้องการอนุรักษ์ เป็นต้น ซึ่งทีมวิจัยพร้อมจะทำงานเชื่อมโยงร่วมกับผู้ประกอบการทั้งในส่วนกลางน้ำและปลายน้ำ

 

และอีกหนึ่งพืชสมุนไพรที่มีความท้าทายในการแก้ปัญหา Pain Point มาอย่างยาวนานคือ กะเพรา ดร.พนิตา ชุติมานุกูล นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร ไบโอเทค

เล่าให้ฟังว่า รัฐบาลกำหนดให้ ‘กะเพรา’ เป็นพืชสมุนไพรชนิดใหม่ในวงการของสมุนไพร แต่จุดอ่อนทางธุรกิจคือ การส่งออก ที่ถูกห้ามส่งออกมาตั้งแต่ปี 2554 เพราะกะเพรามีการใช้ยาฆ่าแมลงเป็นจำนวนมากและยังพบแมลงติดมากับพืชที่ส่งออกสูง สร้างความสูญเสียมูลค่ามหาศาล ฉะนั้น เพื่อการแก้ไขจึงได้พัฒนาการปลูกให้เป็นเกรดพรีเมียม ทดลองปลูกและศึกษาใน Plant factory เพราะไม่มีการใช้ยาปราบศัตรูพืชใด ๆ โดยทีมวิจัยได้ศึกษาตั้งแต่การรวบรวมสายพันธุ์ซึ่งมีมากถึง 90 สายพันธุ์ และยังไม่มีการศึกษาถึงสรรพคุณในแต่ละสายพันธุ์มาก่อน เช่น สายพันธุ์ที่ต้านอักเสบ ต้านจุลชีพ ป้องกันการเกิดอัลไซเมอร์ หรือสรรพคุณในด้านกลิ่น ที่ช่วยขับลม ลดคอเลสเตอรอล เป็นต้น รวมถึงศึกษาสภาวะ (condition) การปลูกที่เหมาะสมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างสารสำคัญของกะเพราได้มากที่สุด ซึ่งในการเชื่อมโยงกับ EECi ทางทีมวิจัยมีแผนในอนาคตอันใกล้ว่า จะนำส่วนที่คัดสายพันธุ์ที่ดีและสำเร็จมาแล้วใน condition ต่าง ๆ ทั้งการปลูกใน Plant Factory ใน Greenhouse และแปลงทดลองของเกษตรกร เช่น พันธุ์ A ที่หอมมากและหอมทั้ง 3 ที่ที่ปลูกซึ่งให้ผลคงที่ ทีมจะนำพันธุ์เหล่านั้นมาปลูกทดสอบและขยายการผลิตในโรงเรือนที่ EECi เพื่อตอบโจทย์กับภาคเอกชนต่อไป ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสมุนไพรและที่เกี่ยวข้องที่สนใจการพัฒนาสมุนไพรด้วยงานวิจัยด้านเกษตรสมัยใหม่ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ โทร. 0 2564 6700 ต่อ 3305 (จิราวรรณ)

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดอาคารโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ (NBF) ให้คณะผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัยไทย-สหราชอาณาจักร ในโครงการความร่วมมือวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีววัตถุและวัคซีนด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ และคณะสื่อมวลชน เข้าเยี่ยมชมห้องแล็บเพื่อการวิจัยต่อยอดขั้นสูงจาก Lab-scale สู่ Pilot-scale สำหรับงานเชิงพาณิชย์ พร้อมมีส่วนช่วยพัฒนาศักยภาพบุคลากร องค์ความรู้ และเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง รองรับอุตสาหกรรมชีวเวชภัณฑ์ของประเทศ โดยมีผู้บริหาร มจธ. นำโดย ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม รศ.ดร.โสฬส สุวรรณยืน รองอธิการบดี มจธ.บางขุนเทียน ร่วมด้วย รศ.ดร.ชวิน จันทรเสนาวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความเป็นสากล พร้อมด้วยทีมนักวิจัยไบโอเทค และ มจธ. ร่วมต้อนรับ และกล่าวแนะนำภาพรวมโรงงานและความร่วมมือ

ดร.วรินธร สงคสิริ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวิศวกรรมชีวเคมีและชีววิทยาระบบ ไบโอเทค สวทช. กล่าวถึงความสำคัญและความจำเป็นในการสร้างความร่วมมือสนับสนุนการจัดตั้งโรงงานต้นแบบเพื่อผลิตชีววัตถุและสารมูลค่าสูงของประเทศ ด้วยเล็งเห็นถึงคอขวดของการเชื่อมต่องานวิจัยด้านยาชีววัตถุ (Biopharmaceuticals) ซึ่งเป็นยาที่ผลิตโดยใช้กระบวนการเทคโนโลยีชีวภาพสู่การทดลองในมนุษย์และเชิงพาณิชย์ ดังนั้นศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. จึงร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดตั้ง “โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ (National Biopharmaceutical Facility, NBF)” ขึ้นในปี 2551 โดยตั้งอยู่ ณ มจธ.บางขุนเทียน

“ไบโอเทคมีการวิจัยและพัฒนาในโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ หรือ NBF มาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนากระบวนการผลิตชีววัตถุและวัคซีนในระดับห้องปฏิบัติการ ได้หลายแพลตฟอร์มแล้ว เช่น แพลตฟอร์มของ monoclonal antibody ที่เป็นกลุ่มชีววัตถุที่ใช้เป็นยาต้านมะเร็ง, แพลตฟอร์ม plasmid DNA และแพลตฟอร์มกลุ่มโปรตีนเพื่อการรักษาโรค เช่น PCV2d ซึ่งเป็นวัคซีนความร่วมมือของไทยโดยไบโอเทค มจธ. และพันธมิตรสหราชอาณาจักรภายใต้ความร่วมมือโครงการ GCRF รวมถึงการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ BPCL ที่มีการให้บริการวิเคราะห์โปรตีนและสารพันธุกรรม นอกจากนี้ ไบโอเทคและพันธมิตรเอกชนยังได้มีความร่วมมือกับ NBF ในการผลิตวัคซีนสำหรับหมูในโรคอื่นที่เป็นการระบาดในประเทศไทย ได้แก่ PEDV และ PRRS โดยปัจจุบันมีการผลิตธนาคารเซลล์ที่ใช้เพาะเลี้ยงไวรัส ณ โรงงานต้นแบบนี้เรียบร้อยแล้ว” ดร.วรินธร สงคสิริ กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.ลลิลทิพย์ หอเจริญ นักวิจัย โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ มจธ. กล่าวว่า โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ หรือ National Biopharmaceutical Facility (NBF) สร้างขึ้นเพื่อเป็นหน่วยเชื่อมต่องานของนักวิจัยกับการทดสอบยาชีววัตถุและวัคซีนในขั้น pre-clinic และ clinical phase I, II โดย NBF มีหน่วยงานที่ครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนากระบวนการผลิตระดับเล็ก (มากกว่าหรือเท่ากับ 5 ลิตร) ระดับ pilot (5 - 30 ลิตร) สำหรับทั้งกระบวนการต้นน้ำ (การหมัก/เลี้ยงเซลล์) และปลายน้ำ (การทำให้สารบริสุทธิ์) ไปจนถึงการผลิตในโรงงานต้นแบบที่มีกำลังการผลิตสูงสุดคือ 2,000 ลิตร รวมถึง NBF ยังมีเครื่องมือและห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ชีววัตถุและวัคซีน ที่พร้อมรองรับการวิเคราะห์ตั้งแต่คุณลักษณะเบื้องต้น ไปจนถึงระดับที่ต้องใช้เทคนิคขั้นสูงและเครื่องมือที่ทันสมัย เช่น การวิเคราะห์ลำดับขั้นของสารพันธุกรรม และโปรตีน เป็นต้น

“สำหรับวัคซีนในโครงการไทย-สหราชอาณาจักร โครงการมีการพัฒนา candidate vaccine (วัคซีนที่อยู่ระหว่างการคัดเลือก) สำหรับหมู เป็นวัคซีน Porcine Circovirus type 2d (PCV2d) ซึ่งขณะนี้ได้ทดสอบวัคซีนต้นแบบในสัตว์เล็กคือ หนูและกระต่ายไปแล้ว พบว่า วัคซีนต้นแบบสามารถกระตุ้นให้สัตว์สร้างภูมิคุ้มกันที่จำเพาะกับไวรัส PCV2 ได้ และมีแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์ที่ลดการติดเชื้อของไวรัสในระบบเซลล์ได้ อย่างไรก็ตาม ท้ายสุดต้องไปทำการทดลองในสัตว์ที่จะใช้จริง คือ สุกร ซึ่งอาจจะทำในประเทศไทยไม่ได้ เนื่องจากข้อจำกัดของพื้นที่ที่เหมาะสม และการหาหมูที่ไม่ได้ฉีด PCV2 มาก่อน ขณะเดียวกัน ทาง NBF และมหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอน (UCL) ได้มีการทำงานร่วมกันด้านการพัฒนากระบวนการผลิตและขยายขนาดไปที่ 30 ลิตร ซึ่งกระบวนการผลิตดังกล่าว ประสบความสำเร็จด้วยดี สามารถผลิต candidate vaccine PCV2d ได้มากถึง 200,000 โดส ต่อขนาดการผลิต 30 ลิตร ดังนั้น ภาพรวมของโครงการนี้คือ อยู่ระหว่างทดลองในหมู และนำผลการศึกษาไปปรึกษากับทาง อย. เพื่อหาแนวทางร่วมกัน สำหรับโอกาสการขึ้นทะเบียนวัคซีนสำหรับสัตว์ที่ผลิตภายในประเทศต่อไป” ผศ.ดร.ลลิลทิพย์ หอเจริญ กล่าว

ทั้งนี้ ในการเยี่ยมชมโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ ทำให้เห็นภาพความสำคัญของการวิจัยต่อยอดเพื่อรองรับอุตสาหกรรมชีวเวชภัณฑ์ของหน่วยงานภาครัฐในประเทศไทย โดยคณะครั้งนี้ได้เข้าเยี่ยมชมหน่วยงาน 3 แห่ง ได้แก่ แห่งแรก ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมกระบวนการชีวภาพ (Bioprocess Research and Innovation Centre, BRIC) เพื่อเห็นภาพของการ Scale-up จาก Lab scale สู่ Pilot scale แห่งที่สองคือ ห้องปฏิบัติการ Biopharmaceutical Characterization Laboratory (BPCL) เพื่อเห็นภาพการวิเคราะห์คุณสมบัติลักษณะเฉพาะยาชีววัตถุ เช่น กลุ่มวัคซีน ยา anti-cancer เป็นต้น และแห่งที่สามคือ ส่วนการผลิตโดยใช้ระบบ single-use system ณ อาคารโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ เพื่อเห็นภาพของการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำโดยมีกำลังการผลิตที่สูงสุด 2,000 ลิตร ที่ตั้งอยู่ในโรงงานด้วย

ลอรีอัล กรุ๊ป (L’Oréal Group) และมิโครฟีต์ (Microphyt) บริษัทด้านไบโอเทคจากฝรั่งเศส ประกาศการเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ร่วมกัน

Page 1 of 2
X

Right Click

No right click