November 22, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 813

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ชี้แนวโน้มเงินบาทในช่วงต่อไปจะมีความผันผวนมากขึ้น จากความสัมพันธ์ระหว่างค่าเงินบาทและราคาทองคำที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต หลังเห็นพฤติกรรมของคนไทยที่นิยมลงทุนและเก็งกำไรในทองคำมากขึ้น ความผันผวนของตลาดการเงินโลกในช่วงหลังซึ่งส่งผลบวกต่อการถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ตลอดจนความเปราะบางของปัจจัยพื้นฐานด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทำให้ทองคำมีบทบาทต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทมากขึ้น แนะภาคธุรกิจเตรียมพร้อมเครื่องมือทางการเงินรับมือกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า

 เข้าสู่ช่วงกลางไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ค่าเงินบาทกลับมาผันผวนสูงขึ้นจากปกติราว 6-7% เป็น 9-10% ซึ่งผันผวนสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของสกุลเงินภูมิภาค ขณะเดียวกัน เงินบาทก็ปรับแข็งค่าขึ้นเร็วจากช่วงต้นไตรมาส 3 ที่เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 36.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ระดับ 34.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือ แข็งค่าขึ้น 7.9% เมื่อเทียบกับช่วงต้นเดือนกันยายน 2567 (MTD) ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา เงินบาทอ่อนค่าลงเพียง 0.3% (YTD)

ทั้งนี้ แม้การแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ตามการปรับเพิ่มมุมมองการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในปีนี้ แต่อีกปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลต่อค่าเงินบาท คือ การเคลื่อนไหวของราคาทองคำที่ผันผวนและกำลังเป็นขาขึ้นจนพุ่งสูงถึง 21% จากต้นปี ล่าสุดอยู่ที่ 2,492 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ (ณ วันที่ 3 กันยายน 2567) ซึ่งสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทมากกว่าค่าเงินสกุลอื่น ๆ โดยหากเทียบความผันผวนของราคาทองคำในช่วงก่อนโควิด-19 (ปี 2558-2562) พบว่าราคาทองคำมีความผันผวนที่ต่ำกว่าปัจจุบัน เนื่องจากเป็นช่วงที่ราคาทองคำส่วนใหญ่เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1,000 – 1,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ ประกอบกับค่าเงินบาทในช่วงดังกล่าวเป็นช่วงที่เงินบาทแข็งค่า จึงเป็นสาเหตุให้ผลตอบแทนของค่าเงินบาทถูกอธิบายด้วยผลตอบแทนราคาทองคำเพิ่มมากขึ้น โดย ttb analytics มองว่าความสัมพันธ์ระหว่างค่าเงินบาทและราคาทองคำมีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้นจากช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 โดยมีปัจจัยที่เป็นสาเหตุสำคัญ 3 ประการ ได้แก่

1) พฤติกรรมการลงทุนและเก็งกำไรทองคำของคนไทย

ไทยมีปริมาณการค้าทองคำเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก และมีสัดส่วนเฉลี่ย 5 ปี ย้อนหลังอยู่ที่ 2.5% ของปริมาณการค้าโลก ซึ่งหากเทียบปริมาณการส่งออกทองคำกลุ่มดังกล่าวกับมูลค่า GDP ของไทยในช่วง 2 ปีหลัง จะพบว่ามีสัดส่วนเฉลี่ยที่ 1.3% สูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะสัดส่วนการนำเข้าและส่งออกทองคำที่ไม่รวมเงินทุนสำรอง (Non-Monetary Gold) ของไทยที่ค่อนข้างสูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการค้าทองคำเพื่อการลงทุนและเก็งกำไรในรูปแบบต่าง ๆ มากกว่าการนำเข้ามาเพื่อใช้สำหรับแปรรูปในอุตสาหกรรมภายในประเทศ ทั้งนี้ พฤติกรรมของคนไทยที่นิยมลงทุนและเก็งกำไรในสินทรัพย์ทองคำมายาวนาน โดยตลาดในประเทศที่ยังนิยมการซื้อขายทองคำในรูปสกุลเงินบาททั้งจากร้านค้าทองคำ (ขายฝาก) และระบบซื้อขายออนไลน์ ขณะที่บางส่วนเป็นธุรกรรมซื้อขายทองคำออนไลน์ในรูปของสกุลดอลลาร์สหรัฐผ่านตลาดการเงินโดยตรง จึงทำให้ในช่วงที่ราคาทองคำมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสูง และการซื้อขายทองคำโลกส่วนใหญ่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ จึงเกี่ยวข้องกับธุรกรรมด้านอัตราแลกเปลี่ยน กล่าวคือ หากราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นสูง นักลงทุนไทยมีแนวโน้มที่จะขายทองคำเพื่อทำกำไร ส่งผลให้มีธุรกรรมขายเงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อแลกกลับมาเป็นเงินบาท ในทางกลับกัน หากราคาทองคำปรับลดลง นักลงทุนไทยมีแนวโน้มจะซื้อทองคำ และทำให้เกิดธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อขายทองคำโลกในช่วงเวลากลางวันของตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเวลากลางคืนของประเทศไทยซึ่งส่วนใหญ่จะมีปริมาณธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยนน้อย ทำให้การเคลื่อนไหวของราคาทองคำในช่วงเวลากลางคืนของประเทศไทยยิ่งส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างมีนัย

2) มุมมองต่อการถือทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย

ในช่วงที่ตลาดการเงินโลกผันผวนมากขึ้นในช่วงหลังช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 จนถึงปัจจุบัน พบว่าสินทรัพย์ทองคำมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทมากขึ้น โดยราคาทองคำในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นพร้อมกับความผันผวน จากการกระจายความเสี่ยงของนักลงทุน และจากคุณสมบัติการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ท่ามกลางตลาดการเงินโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ตามทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่ รวมไปถึงความต้องการทองคำเพื่อรักษามูลค่าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ และลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐในระยะยาวของธนาคารกลางประเทศต่างๆ

3) ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยเปราะบางมากขึ้น

นับตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เสถียรภาพด้านเศรษฐกิจของไทยก็กลับมาแข็งแกร่งมาโดยตลอด สะท้อนจากตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลในระดับสูงติดต่อกันมายาวนานเฉลี่ย 4-10% ต่อ GDP อีกทั้งเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยยังสูงเกิน 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยหลังพ้นสถานการณ์โควิด-19 กลับยังคงไม่สามารถกลับมาแข็งแกร่งเช่นในอดีต เมื่อประกอบกับภาพแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในระยะเวลาข้างหน้าที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้น ยิ่งเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาทองคำเคลื่อนไหวในลักษณะผันผวนสูงต่อไป จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ราคาทองคำจะยังคงส่งผลเพิ่มเติมต่อความผันผวนของค่าเงินบาทในระยะข้างหน้ามากขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค

กล่าวโดยสรุป จากพฤติกรรมการลงทุนทองคำของไทย ความไม่แน่นอนของตลาดการเงินโลกที่สูงขึ้น โดยเฉพาะนโยบายการเงินของสหรัฐฯ กอปรกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่ยังเปราะบาง ยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้แนวโน้มราคาทองคำยังมีบทบาทสำคัญต่อทิศทางค่าเงินบาท และทำให้ค่าเงินบาทเผชิญความผันผวนอยู่ในช่วงต่อไป ทั้งนี้ ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับค่าเงินไม่ว่าจะเป็นผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้ลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ หรือผู้ที่มีหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศ ควรติดตามข้อมูลข่าวสารด้านเศรษฐกิจการเงินอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังควรศึกษาและใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเหมาะสม เพื่อลดความผันผวนและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาต่อไป

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินทิศทางสกุลเงินดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าระยะยาว ในช่วง 1 – 2 ปีข้างหน้า

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินบาทแข็งทั้งปี 7% คาดรายได้ธุรกิจส่งออกหด 1 แสนล้านบาท ผลกระทบส่วนใหญ่ตกอยู่ที่บริษัทไทย ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลงจากปกติสูงสุด 6% แต่เอื้อผู้นำเข้าและขายในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติ

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินบาทแข็งทั้งปี 7% คาดรายได้ธุรกิจส่งออกหด 1 แสนล้านบาท ผลกระทบส่วนใหญ่ตกอยู่ที่บริษัทไทย ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลงจากปกติสูงสุด 6% แต่เอื้อผู้นำเข้าและขายในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติ

แม้ว่าการส่งออกไทยในปีนี้จะกลับมาเติบโตอย่างสดใส จากภาวะการค้าโลกที่ปรับตัวดีขึ้น โดยในช่วง 8 เดือนแรกเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 9% มีรายได้จากการส่งออกเฉลี่ย 1.9 หมื่นล้านเหรียญต่อเดือน แต่ธุรกิจส่งออกกลับต้องรับมือกับการแข็งค่าของเงินบาทที่ปรับตัวอย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นปีจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ 35.8 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 33.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา และเนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่เติบโตดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้จากการท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นในไตรมาสสุดท้าย ส่งผลให้ ณ สิ้นปี 2560 นี้ อัตราแลกเปลี่ยนที่ศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดการณ์ไว้จะอยู่ที่ 33.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรือแข็งค่า 7% จากต้นปี 2560

อย่างที่ทราบกันดี การแข็งค่าของเงินบาทส่งผลต่อรายได้ธุรกิจจะมากหรือน้อยขึ้นกับสัดส่วนการพึ่งพารายได้จากการส่งออกและสัดส่วนต้นทุนรายจ่ายที่เกิดจากการซื้อในประเทศหรือนำเข้า ทางศูนย์วิเคราะห์ฯ ได้ประเมินผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าตั้งแต่ต้นปี ผ่านการวิเคราะห์โครงสร้างธุรกิจและงบกำไรขาดทุนของธุรกิจ พบว่ารายได้จากการส่งออกสุทธิ (ส่งออก-นำเข้า) ทั้งปี 2560 จะลดลง 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งแบ่งระดับผลกระทบออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

          1.กลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางลบ คือ ธุรกิจที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกและใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก คาดว่าเงินบาทที่แข็งจะทำให้รายได้ผู้ประกอบการหายไปกว่า 9.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งกระทบต่ออัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ให้ลดลงจากระดับปกติ 1-6% โดยอยู่ในกลุ่มธุรกิจประเภท ผลิตภัณฑ์ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าว อาหาร อัญมณีและเครื่องประดับ โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการไทย 80%

          2.กลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์ คือ ธุรกิจขายในประเทศและนำเข้าวัตถุดิบเป็นหลัก โดยเงินบาทที่แข็งค่าจะทำให้รายจ่ายจากการนำเข้าของผู้ประกอบการน้อยลง 7.4 หมื่นล้านบาท และส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) เพิ่มขึ้นจากระดับปกติ 1-2% ซึ่งอยู่ในกลุ่มธุรกิจ ผู้ค้าเครื่องจักรและชิ้นส่วน สินค้าอุปโภคบริโภค ผู้ค้าเหล็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า ยาและเวชภัณฑ์ โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการต่างชาติ 60%

          3.กลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกแต่ใช้วัตถุดิบนำเข้าเป็นหลักซึ่งสามารถป้องความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนด้วยลักษณะของตัวธุรกิจเอง (Natural Hedging) โดยอยู่ในกลุ่มธุรกิจผู้ผลิตรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์/คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน และเคมีภัณฑ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการต่างชาติ

จะเห็นได้ว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่า ส่งผลลบต่อความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการไทย แต่กลับเป็นผลบวกกับกลุ่มธุรกิจที่ผู้นำเข้าและขายในประเทศ ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการต่างชาติ

 ในปี 2561 นี้ ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองธุรกิจส่งออกยังคงเผชิญความเสี่ยงจากการแข็งค่าของเงินบาทต่อไป คาดว่าสิ้นปี 2561 อัตราแลกเปลี่ยนจะอยู่ในระดับ 32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคาดว่าจะแข็งค่าขึ้น 2.5% จากสิ้นปี 2560 จากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจากรายได้การส่งออกและการท่องเที่ยวและยังได้รับแรงหนุนจากเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)

อีกทั้งเงินทุนต่างชาติที่เคลื่อนย้ายไหลเข้าตลาดหุ้นไทย ดังนั้นผู้ประกอบการควรมองหาเครื่องมือที่จะช่วยป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากทิศทางค่าเงินบาทที่จะแข็งค่า รักษาความสามารถในการทำกำไรและพยุงความสามารถแข่งขันในตลาดได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ซึ่งมักไม่ได้ทำการป้องกันความเสี่ยงไว้

X

Right Click

No right click