November 24, 2024

นายรังสรรค์ เพ็งพันธ์ (ที่ 3 จากซ้าย) รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานธรณีศาสตร์และการสำรวจ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. และ ผศ.ดร.ธัชวีร์ ลีละวัฒน์ (ที่ 4 จากซ้าย) รองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศและวิทยาเขตกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ภายใต้โครงการ PTTEP Subsurface University Energy Connect เพื่อพัฒนางานวิจัยทางวิชาการด้านธรณีศาสตร์ วิศวกรรมปิโตรเลียม สร้างบุคลากรด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมถึงการหาแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน หรือ CCS (Carbon Capture and Storage) เพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศไทย สู่เป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำ พิธีลงนามจัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี

ภายใต้โครงการ PTTEP Subsurface University Energy Connect ปตท.สผ. ได้ลงนามความร่วมมือกับหลายสถาบันการศึกษา เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีเป้าหมายจะขยายความร่วมมือดังกล่าวไปยังมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ต่อไป

 กรมประมง ร่วมกับ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOA) เพื่อร่วมกันศึกษาวิจัยการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล เพื่อการประมงจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมนอกชายฝั่งอ่าวไทย ณ ห้องประชุมอานนท์ กรมประมง กรุงเทพฯ

การศึกษาวิจัยการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลเพื่อการประมงจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม นอกชายฝั่งทะเลอ่าวไทยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อการประมง ฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์ รวมถึง ส่งเสริมหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาองค์ความรู้ของประเทศต่อการบริหารทรัพยากร สัตว์น้ำให้สอดคล้องกับแนวทางการรักษาสมดุลระบบนิเวศทางทะเลอย่างยั่งยืนอีกด้วย

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงด้วยมาตรการหลากหลายรูปแบบ การจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลหรือปะการังเทียมเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของ สัตว์น้ำนับเป็นหนึ่งในมาตรการที่สำคัญในการสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศ เพื่อฟื้นฟูความสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์ทะเลตามธรรมชาติ ที่ผ่านมากรมประมงได้มีการศึกษาและพัฒนาวัสดุและรูปแบบการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลมาโดยตลอด ซึ่งปัจจุบันกรมประมงใช้แท่งคอนกรีตเป็นมาตรฐานในการจัดสร้าง เนื่องจากเป็นวัสดุที่แข็งแรง ทนทาน และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับความร่วมมือในการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลด้วยวัสดุขาแท่นปิโตรเลียม เป็นการนำร่องในการศึกษา ด้านแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลรูปแบบใหม่ในประเทศไทยที่ยังมีการศึกษาที่ไม่ครอบคลุมด้านการประมงจึงต้องอาศัยความร่วมมือกัน ในการพัฒนาองค์ความรู้ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อวางแนวทางการใช้ประโยชน์จากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมอย่างเหมาะสมในอนาคต นับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับด้านวิชาการและด้านการประมงที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบนิเวศใหม่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ เพิ่มความมั่นคงทางด้านอาหาร ตลอดจนส่งเสริมการทำประมงนอกชายฝั่งและการทำประมงชายฝั่งให้เกิดความยั่งยืนต่อการประกอบอาชีพของพี่น้องชาวประมง อีกทางหนึ่งด้วย

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ. กล่าวว่า ปตท.สผ. ดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ในอ่าวไทยมากว่า 37 ปี ซึ่งปัจจุบันกิจกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมบางพื้นที่ในอ่าวไทยได้สิ้นสุดลง สิ่งติดตั้งและอุปกรณ์ การผลิตซึ่งจะต้องทำการรื้อถอนหลังจากที่สิ้นสุดการทำหน้าที่ ในการผลิตปิโตรเลียมเพื่อเป็นพลังงานให้กับประเทศแล้วนั้น ยังสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อในการทำหน้าที่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลได้ ซึ่งการนำขาแท่นผลิตปิโตรเลียมไปจัดสร้างเป็นปะการังเทียมในระดับน้ำลึกราว 50-60 เมตร เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลและช่วยเพิ่มผลผลิตที่เป็นประโยชน์ ต่อการประมง ซึ่งนับเป็นแนวทางที่ทั้ง 5 หน่วยงาน จะมาร่วมกันศึกษาเพื่อเป็นทางเลือกในการนำทรัพยากรดังกล่าวมาใช้ให้เกิดคุณค่าและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อท้องทะเลไทย

การลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกหน่วยงานมาร่วมกันศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้ในการนำ ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมไปจัดสร้างเป็นแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลเพื่อการประมง รวมถึง การนำไปต่อยอดให้เกิดการปฏิบัติได้จริง ในอนาคต

X

Right Click

No right click