นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานประธานในพิธี และเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง การบูรณาการเพื่อการคุ้มครองผู้ใช้พลังงานที่เป็นผู้ป่วย ซึ่งมีความจําเป็นที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล เพื่อวางกรอบความร่วมมือในการบูรณาการทำงานคุ้มครองสิทธิผู้ใช้พลังงานเชิงรุก ให้ผู้ใช้พลังงานที่มีผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแลได้รับการยกเว้นการงดจ่ายไฟฟ้าในทุกกรณี โดยมี นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจความร่วมมือดังกล่าว ณ ห้องประชุม 9 ชั้น 15 กระทรวงพลังงาน อาคาร บี ศูนย์เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์
ผู้ว่าการ MEA กล่าวว่า MEA ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบด้านระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ พร้อมตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาล ในการยกเว้นการงดจ่ายไฟฟ้าได้ในกรณีที่ผู้ใช้ไฟฟ้า หรือผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีบุคคลอยู่ในความดูแล หรือมีผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า ในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล ซึ่งนโยบายดังกล่าว MEA ดำเนินการตามประกาศของ สำนักงาน กกพ. มาอย่างต่อเนื่อง โดยการลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ถือเป็นก้าวที่สำคัญในการดูแลผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าเพื่อเดินเครื่องมือทางการแพทย์ โดยเปลี่ยนเป็นการทำงานเชิงรุกผ่านการบูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ MEA สามารถเข้าถึง และดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนดูแลระบบจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อให้กลุ่มผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์ได้รับพลังงานไฟฟ้าอย่างเพียงพอ และต่อเนื่อง ไม่เป็นอันตรายต่อต่อสุขภาพผู้ป่วย
นอกจากนี้ การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานดังกล่าว ยังครอบคลุมถึงการร่วมกันพัฒนาฐานข้อมูล หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้ใช้พลังงานที่เป็นผู้ป่วย ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานในแต่ละหน่วยงานสามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยสะดวก เป็นปัจจุบัน และสามารถนำไปใช้ตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานได้ ตลอดจนสนับสนุน เผยแพร่ข้อมูล และเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนผู้ใช้พลังงานที่หน่วยงานภาครัฐได้ให้ความคุ้มครอง เกี่ยวกับการได้รับสิทธิการยกเว้นการงดจ่ายไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้า หรือผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีบุคคลอยู่ในความดูแล หรือ มีผู้ป่วยที่ต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล มิให้ได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการงดจ่ายไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม การร่วมมือครั้งนี้ยังแสดงถึงความมุ่งมั่นของ MEA และหน่วยงานพันธมิตรในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน โดยมุ่งหวังให้การคุ้มครองผู้ใช้พลังงานที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้ป่วยที่ต้องพึ่งพาเครื่องมือทางการแพทย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นในระบบบริการด้านพลังงานที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ MEA พร้อมเดินหน้าทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อให้การจัดการด้านพลังงานเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และสร้างความมั่นคงให้แก่ประชาชนในทุกมิติ อันสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนในอนาคต
นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง และดร.ธนวันต์ สินธุนาวา นายกสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง การขับเคลื่อนสถานศึกษาคาร์บอนต่ำ (Low Carbon) โครงการ Energy Mind Award Season 2 ระหว่าง MEA และสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ประเทศไทย) พร้อมมอบรางวัลกิจกรรมการประกวดคลิปสั้นหัวข้อ "การอนุรักษ์พลังงาน และสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน โครงการ Energy Mind Award Season 2 " โดยมี นายสมบัติ จันทร์กระจ่าง รองผู้ว่าการ MEA เป็นผู้มอบรางวัล
นอกจากนี้ MEA เปิดสตูดิโอให้เยาวชนเยี่ยมชมการทำงานเบื้องหลังถ่ายทำผลิตรายการ และเยี่ยมชมศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าชิดลมที่มีเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ทันสมัยในการควบคุมระบบไฟฟ้าที่เรียกว่า ระบบ SCADA/EMS/DMS (Supervisory Control and Data Acquisition/Energy Management System/Distribution Management System) ใช้ในการตรวจสอบสถานะของการจ่ายกระแสไฟฟ้า วิเคราะห์สถานการณ์หรือสภาพการจ่ายกระแสไฟฟ้า การทำงานของระบบควบคุมไฟฟ้า ช่วยให้การบริหารจัดการควบคุมแรงดันและการจ่ายกระแสไฟฟ้ามีประสิทธิภาพ มีคุณภาพและมีความปลอดภัย ณ การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานเพลินจิต
ผู้ว่าการ MEA กล่าวว่า MEA ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ให้ความสำคัญในด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายที่จะต่อยอดจากการดำเนินงานที่ผ่านมา โดยพัฒนาสถานศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้ก้าวไปสู่การเป็นสถานศึกษาต้นแบบด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม สร้างเสริมนักเรียนให้เป็นเยาวชนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และเป็นนักเรียนแกนนำด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ปลูกฝังและสร้างเยาวชนรุ่นใหม่หัวใจสีเขียว (Green Youth) ส่งมอบสู่สังคมไทย เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคมต่อไป
เมื่อเร็วๆ นี้ มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการทดลองนำร่องการสนับสนุนสถานศึกษา เพื่อกระจายการเพิ่มศักยภาพของคนพิการ ระหว่างกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเจ้าภาพ กับมหาวิทยาลัยเครือข่าย ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดยมีนายอนุกูล ปิดแก้ว ปลัดกระทรวง พม. เป็นประธานในพิธี เพื่อเสริมสร้างความรู้ ทักษะและสนับสนุนการฝึกอบรมฝึกงานเพื่อการพัฒนาศักยภาพในการประกอบอาชีพของคนพิการ และ ส่งเสริมและพัฒนางานวิจัย การสร้างนวัตกรรม การสร้างสิ่งประดิษฐ์ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการส่งเสริมการทำงานแก่คนพิการ รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวัน โดยงานดังกล่าวจัดขึ้น ณ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ
รัฐบาลไทยและไมโครซอฟท์ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้วิสัยทัศน์ในการยกระดับประเทศไทยให้มุ่งสู่ก้าวต่อไปกับนวัตกรรมดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยข้อตกลงฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะนำเทคโนโลยีคลาวด์และ AI ที่เปี่ยมประสิทธิภาพจากไมโครซอฟท์มาเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศไทย สร้างโอกาสใหม่ๆ ในการจ้างงานที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย และปูทางให้ประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค ทั้งในด้านนวัตกรรมดิจิทัลและความยั่งยืน
ในโอกาสนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายสัตยา นาเดลลา ซีอีโอของไมโครซอฟท์ ได้ร่วมพบปะหารือกันที่เมือง ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมพูดคุยถึงจุดประสงค์ของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับดังกล่าว ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
· ขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยนวัตกรรมดิจิทัล
ไมโครซอฟท์จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สอดคล้องกับนโยบายด้านรัฐบาลดิจิทัลและการใช้บริการระบบคลาวด์ภาครัฐ หรือ Cloud First ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนภาคการเกษตร สาธารณสุข การท่องเที่ยว และการศึกษา นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังจะร่วมพิจารณาแผนการลงทุนก่อสร้างศูนย์ข้อมูล (Data Center) ในประเทศไทย เพื่อยกระดับการใช้งานคลาวด์และ AI ต่อไปในอนาคต และพร้อมกันนี้ ไมโครซอฟท์จะให้การสนับสนุนกับรัฐบาลไทยในด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ด้วยการนำเสนอแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุด พร้อมด้วยความเชี่ยวชาญจากบุคลากรชั้นนำของบริษัท
· ปูทางสู่อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วย AI
ไมโครซอฟท์จะทำงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการพัฒนาและผสมผสานเทคโนโลยี AI เข้ากับโครงการด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) และบริการสาธารณะต่างๆ เพื่อประโยชน์แก่คนไทย นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังมีแผนที่จะร่วมกันจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเชิงกลยุทธ์ด้าน AI (AI Center of Excellence) เพื่อยกระดับโครงการที่ใช้เทคโนโลยี AI ของภาครัฐ จัดทำโรดแมปที่จะช่วยให้การนำเทคโนโลยี AI มาใช้งานเกิดขึ้นได้จริง และส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมในภาคส่วนและอุตสาหกรรมต่างๆ ยิ่งไปกว่านั้น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยังจะร่วมหารือกับไมโครซอฟท์เกี่ยวกับการกำหนดทิศทางนโยบายและกรอบการกำกับดูแล เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถนำ AI มาใช้งานได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ
· เสริมทักษะคนไทยเพื่อชีวิตในยุคหน้า
ไมโครซอฟท์จะสานต่อพันธกิจในการยกระดับทักษะแห่งอนาคตสำหรับคนไทยกว่า 10 ล้านคน ผ่านทางความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและหน่วยงานอื่นๆ โดยครอบคลุมทักษะสำคัญในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาษาที่สองเพื่อการสื่อสารหรือความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงการฝึกฝนนักพัฒนานวัตกรรมรุ่นใหม่ในทุกสายอาชีพ (Citizen Developers) ในรูปแบบที่เปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโอกาสในการเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น
· ยกระดับประเทศไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
หน่วยงานภาครัฐของไทยจะทำงานร่วมกับไมโครซอฟท์เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2608 ผ่านทางการสร้างพื้นที่ทดสอบสำหรับการพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Sandbox) เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน นับตั้งแต่ภาครัฐ องค์กรเอกชนขนาดใหญ่ ไปจนถึงผู้ประกอบการรายย่อย นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังมีแผนที่จะนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้งานเต็ม 100% ในโครงการและแผนการลงทุนในอนาคตอีกด้วย
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “พันธกิจของประเทศไทย นับตั้งแต่ด้านการสร้างสรรค์อนาคตที่ยั่งยืนไปจนถึงการใช้พลังงานหมุนเวียน นับว่ามีทิศทางที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของไมโครซอฟท์ โดยความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างทั้งความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและศักยภาพเชิงดิจิทัลของประเทศไทยไปพร้อมกัน”
นายอาเหม็ด มาซารี ประธาน ไมโครซอฟท์ เอเชีย กล่าวเสริมอีกว่า “เทคโนโลยี AI มีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดทิศทางและวิธีการทำงานของทั้งผู้คนและองค์กรทั่วโลก สำหรับประเทศไทยนั้น แผนปฏิบัติการของรัฐบาลได้วางเป้าหมายในการนำ AI มาขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วนเป็นมูลค่ากว่า 48,000 ล้านบาท ภายในปี พ.ศ. 25701 และเราก็มีความยินดีอย่างยิ่งที่จะได้ทำงานอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับรัฐบาลไทยเพื่อมุ่งสู่อนาคตที่มี AI เป็นนวัตกรรมคู่คิดของประเทศไทย”