November 23, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 10972

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 6847

หัวเว่ยประกาศความพร้อมสนับสนุนประเทศไทยในการก้าวสู่เมืองอัจฉริยะอย่างเต็มรูปแบบ

เชื่อมต่อนวัตกรรม ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี สร้างไลฟ์สไตล์คนกรุงที่ปลอดภัยไร้รอยต่อ

หลายคนอาจมีจินตนาการว่าเมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้ (Smart City) น่าจะเหมือนกับในภาพยนตร์แนวไซ-ไฟที่มียานพาหนะลอยฟ้ารับส่งผู้คน หรือมีหุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่หมอประจำบ้าน 

เราพูดถึงกันมานานเกี่ยวกับเมืองที่มีความเป็น ‘อัจฉริยะ’ แต่คำนิยามของความเป็นอัจฉริยะที่ว่านี้ในปัจจุบันเป็นอย่างไร และเรามีการพัฒนาที่ใกล้เคียงกับวิสัยทัศน์ดังกล่าวมากน้อยเพียงใด เราจะมาสำรวจกันว่าพัฒนาการของ ‘สมาร์ทซิตี้’ ในปี 2565 ก้าวล้ำไปถึงไหนแล้ว 

ถึงแม้ว่าวิสัยทัศน์ล่าสุดของสมาร์ทซิตี้ยังคงห่างไกลจากภาพที่ปรากฏในภาพยนตร์ แต่ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI), 5G, เทคโนโลยีคลาวด์, บิ๊กดาต้า และ Internet of Things (IoT) ที่ถูกนำมาใช้ในเมืองอย่างต่อเนื่องทำให้พัฒนาการของสมาร์ทซิตี้ได้ก้าวหน้าไปตามความคาดหวังของผู้ใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ 

ถ้าจะให้ยกตัวอย่างของสมาร์ทซิตี้ในวันนี้ งาน Expo 2020 Dubai* น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดในโลกสำหรับสภาพแวดล้อมเมืองที่มีการเชื่อมต่ออย่างทั่วถึงและได้รับการออกแบบเพื่อรองรับวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน 

(*ถึงแม้จะถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 31 มีนาคม 2565 งานนี้ยังคงใช้ชื่อ “เอ็กซ์โป 2020 ดูไบ”) 

ด้วยอาคารกว่า 130 หลังเชื่อมต่อถึงกันในพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่เป็นสองเท่าของประเทศโมนาโก งาน Expo 2020 Dubai ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อรองรับการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติที่ปลอดภัย ยั่งยืน และบริหารจัดการด้วยระบบดิจิทัลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ 170 ปี ของการจัดนิทรรศการระดับโลกนี้

Expo 2020 Dubai มีความเป็นอัจฉริยะมากแค่ไหน 

หัวข้อหลักของการจัดงาน Expo 2020 คือ “การเชื่อมโยงความคิดและการสร้างสรรค์อนาคต”  งานนิทรรศการนี้อาศัยการขับเคลื่อนด้วย AI และมีแพลตฟอร์มที่แยกต่างหากสำหรับการจัดการพลังงาน  นอกจากนี้ อาคารอัจฉริยะและระบบรักษาความปลอดภัยถูกเชื่อมต่อเข้าด้วยกันและทำงานอย่างสอดประสานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้จัดการอาคารสามารถควบคุมฟังก์ชั่นต่าง ๆ ในแบบเรียลไทม์ผ่านแอปพลิเคชั่น เช่น การทำความเย็น คุณภาพของอากาศ การผ่านเข้า-ออกอาคาร และสัญญาณเตือนอัคคีภัย 

Expo 2020 เก็บรวบรวมข้อมูลพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วทั้งงานกว่า 210,000 จุด รวมไปถึงประตูเข้า-ออก 5,500 จุด และกล้องกว่า 15,000 ตัว เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มความสะดวกสบายและความปลอดภัยให้แก่ผู้เข้าชมงาน โดยทั้งหมดนี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันอย่างราบรื่นและไร้รอยต่อ  นอกจากนั้น ยังมีการประหยัดพลังงาน ปรับสมดุลในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดโดยนำเอาพลังงานหมุนเวียนมาใช้ และใช้พลังงานที่กักเก็บในแบตเตอรี่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดรวมถึงการชาร์จไฟให้กับยานยนต์ไฟฟ้า 

ความชาญฉลาดของงาน Expo 2020 อยู่บนระบบปฏิบัติการ MindSphere ที่ทำงานบนคลาวด์ของซีเมนส์ (Siemens) โดยข้อมูลที่เกิดขึ้นจากการใช้งานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นลิฟต์โดยสาร ไปจนถึงเครื่องปรับอากาศ โคมไฟส่องสว่างและฮาร์ดแวร์อื่น ๆ ถูกเชื่อมโยงในลักษณะที่สัมพันธ์กันและถูกกลั่นกรองออกมาเป็นข้อมูลเชิงลึกเพื่อนำมาใช้ปรับสภาพความเป็นอยู่ภายในเมือง โดยมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ถูกออกแบบและรวมไว้ตั้งแต่ระดับรากฐานของ MindSphere 

งาน Expo 2020 ตอกย้ำถึงศักยภาพของสมาร์ทซิตี้อย่างรอบด้าน กล่าวคือ ระบบอัจฉริยะจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อมิติต่างๆ ของเมือง เช่น การบริหารจัดการ การคมนาคมขนส่ง บริการสาธารณสุข และการดูแลความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั่วโลกรวมมูลค่าราว 20 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯจนถึงปี พ.ศ. 2569 

ด้วยเหตุนี้จึงคาดว่าการลงทุนเพื่อปรับปรุงเมืองให้ฉลาดขึ้นจะเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าจาก 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปี พ.ศ. 2564 เพิ่มเป็น 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2573 โดยจะเป็นการลงทุนทั้งในส่วนของภาคเอกชน เช่น การสร้างอาคารอัจฉริยะ และระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็ก (Microgrid) รวมถึงภาครัฐ และทุกคนจะได้รับประโยชน์ เพราะเทคโนโลยีจะช่วยให้เมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วมีความยืดหยุ่นและปลอดภัยมากขึ้น 

ต่อยอดจาก Expo 2020 Dubai สู่เมืองที่แท้จริง 

หลังจากที่งาน Expo 2020 สิ้นสุดลงในช่วงปลายเดือนมีนาคม พื้นที่ในบริเวณนี้จะถูกพัฒนาต่อยอดให้เป็นเมืองแห่งอนาคตที่มีชื่อว่า District 2020 ภายใต้โครงการของรัฐบาลดูไบ 

ด้วยการปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์การใช้งานและการพัฒนาพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่มีการก่อสร้างแล้วกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ให้กลายเป็นชุมชนเมืองเพื่อรองรับผู้อยู่อาศัย องค์กรธุรกิจ และนักท่องเที่ยว District 2020 จะยังคงเก็บรักษาสินทรัพย์และสิ่งก่อสร้างภายในพื้นที่จัดงาน Expo 2020 ที่เป็นไปตามมาตรฐานอาคารสีเขียวทั้ง LEED และ CEEQUAL โดยจะพัฒนาไปสู่การเป็นชุมชนเมืองอัจฉริยะที่ให้ความสำคัญกับมนุษย์และรองรับการใช้งานที่หลากหลายและยั่งยืน มีทั้งพื้นที่สำนักงาน พื้นที่สำหรับการทำงานร่วมกัน ชุมชนที่อยู่อาศัย พื้นที่สีเขียวที่ร่มรื่นและเงียบสงบ สถานที่ท่องเที่ยวทางสังคมและวัฒนธรรม เช่น ศูนย์วิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน ศูนย์นิทรรศการ Dubai Exhibition Center และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อธุรกิจและการพักผ่อน โดยคาดว่า District 2020 จะสามารถรองรับได้ประชากรสูงสุดถึง 145,000 คน 

ซีเมนส์จะมีบทบาทสำคัญในการแปลงโฉมพื้นที่จัดงาน Expo 2020 ให้กลายเป็น District 2020 และจะกลายเป็นผู้เช่าพื้นที่รายใหญ่ โดยบริษัทฯ มีแผนที่จะย้ายสำนักงานใหญ่ระดับโลกในส่วนของธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ ทางบก และทางเรือ จากเมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี มาที่ District 2020 และคาดว่าพนักงานของซีเมนส์ประมาณ 1,000 คนจะทำงานอยู่ในอาคารสองหลังที่ใช้เทคโนโลยีการจัดการอาคารที่ถูกติดตั้งไว้เดิมสำหรับงาน Expo 2020 เช่น เซ็นเซอร์อัจฉริยะ และแพลตฟอร์ม IoT ที่รองรับ ‘ระบบตรวจจับ’ ทั่วทุกจุดภายในอาคาร เพื่อจัดหาข้อมูลแบบเรียลไทม์และข้อมูลวิเคราะห์เกี่ยวกับสถานะใช้งานของอาคาร รวมไปถึงการให้บริการค้นหาตำแหน่งที่ตั้งสำหรับบุคคลและอุปกรณ์ต่าง ๆ 

ถอดบทเรียน Expo 2020 Dubai กับการพัฒนา Smart City ของประเทศไทย 

สถานการณ์การแพร่ระบาดก่อให้เกิดปัญหาท้าทายมากมายสำหรับเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งยังทำให้รูปแบบการใช้ชีวิต การทำงาน และการพบปะสังสรรค์ของผู้คนเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน  นอกจากนั้น ภาวะโลกร้อนได้กลายเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนสำหรับเมืองต่าง ๆ เนื่องจากมีข้อมูลว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 60% มาจากพื้นที่เมือง  ความท้าทายที่สำคัญสองประการนี้เป็นแรงกระตุ้นให้ผู้บริหารเมืองในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกคิดทบทวนเกี่ยวกับอนาคตของเมืองที่ตนเองดูแล ประเทศไทยก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ต่างจากกัน

เนื่องจากธุรกิจท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างชาติเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ดังนั้นโครงสร้างพื้นฐานของเมืองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประชาชน เช่น ระบบขนส่งสาธารณะ ไฟฟ้า ประปา และเครือข่ายการสื่อสาร จึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุน 

แนวทางการสร้างสมาร์ทซิตี้จากงาน Expo 2020 ซึ่งประเทศไทยสามารถเรียนรู้และนำมาปรับใช้:

  • เมืองจะเป็นเมืองก็ต่อเมื่อมีคนอาศัยอยู่ ดังนั้นการออกแบบสมาร์ทซิตี้ที่ประสบความสำเร็จจะต้องมุ่งเน้นที่คนเป็นหลัก (Human-Centered)
  • เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญอย่างมาก แต่ในระดับที่แตกต่างกันสำหรับเทคโนโลยีแต่ละอย่างและเมืองแต่ละแห่ง ดังนั้นจึงไม่มีโซลูชันแบบครอบจักรวาลที่ใช้ได้กับทุกเมือง การผสมผสานเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม การติดตั้งใช้งานที่ยืดหยุ่น สามารถปรับแต่งให้เหมาะกับการใช้งานในแต่ละพื้นที่ จะช่วยให้เมืองมีความเป็นอัจฉริยะและรองรับการใช้งานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • เมืองจะต้องมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงตามไลฟ์สไตล์ของผู้คน รวมถึงความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ดังนั้นจึงต้องมีการใช้ข้อมูลที่เก็บรวบรวมจากส่วนต่างๆ ของเมืองซึ่งทำหน้าที่เป็นเสมือนห้องแล็บมีชีวิต เพื่อพัฒนาปรับปรุงเมืองให้มีความฉลาดอยู่เสมอ โดยสิ่งสำคัญคือจะต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักอย่างต่อเนื่อง โดยโครงสร้างฯ ต้องมีความยืดหยุ่นและสามารถปรับขนาดเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างเหมาะสม
  • การพัฒนาที่ยั่งยืนถือเป็นภารกิจสำคัญสำหรับเมืองต่าง ๆ เพราะในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน เราจำเป็นที่จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากพื้นที่เมือง การปรับใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น AI, IoT, Blockchain, Big Data ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 

ขณะที่เมืองต่าง ๆ เปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง หลังจากที่การเดินทางระหว่างประเทศและกิจกรรมต่าง ๆ เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการ เพราะโครงสร้างพื้นฐานของเมืองเริ่มกลายเป็นหนึ่งในเกณฑ์ที่สำคัญที่สุดสำหรับการพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการท่องเที่ยวพักผ่อน การเดินทางเพื่อทำธุรกิจ หรือจุดหมายปลายทางสำหรับการลงทุน เราสามารถเร่งการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ได้ด้วยการเรียนรู้จากแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม และสร้างโซลูชั่นที่เหมาะกับวัฒนธรรมและชีวิตความเป็นอยู่ของเรา โดยจุดมุ่งหมายคือการสร้างเมืองแห่งอนาคตที่สะดวกสบาย ปลอดภัย ปรับเปลี่ยนได้อย่างยืดหยุ่น และมีความยั่งยืนสำหรับทั้งคนไทยและผู้มาเยือน

บทความ โดย นางสุวรรณี สิงห์ฤาเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซีเมนส์ ประเทศไทย

          เมืองอัจฉริยะ(Smart City) เป็นหนึ่งในหัวข้อที่สังคมยุคใหม่พูดถึงกันมาอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านสังคมสู่สังคมดิจิทัลที่กำลังเกิดขึ้นในแวดวงต่างๆ แต่เมืองอัจฉริยะที่เกิดขึ้นแล้วบนโลกและกำลังจะเกิดขึ้นแต่ละแห่งก็มีความแตกต่างกันไป

          ในงานสัมมนา Delta Future Industry Summit ที่จัดโดยบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)  ได้เชิญวิทยากรที่น่าสนใจมาพูดเกี่ยวกับเรื่องเมืองอัจฉริยะของไทย

พันศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

            เริ่มจากฝั่งผู้กำหนดนโยบาย พันศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มาให้มุมมองเรื่องเมืองอัจฉริยะว่า เป็นการต่อยอดแนวคิดจากแผนงานดิจิทัลไทยแลนด์ ที่ต้องการให้ประเทศไทยเติบโตโดยใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด โดยรัฐบาลได้เตรียมพร้อมทางด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จะรองรับเช่น การวางสายเคเบิลใยแก้วให้ไปถึงทุกหมู่บ้านของประเทศภายในปีหน้า เพื่อให้คนทุกพื้นที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต สามารถใช้ประโยชน์สร้างรายได้จากอีคอมเมิร์ช เรียนรู้ความรู้จากโลกออนไลน์ รวมถึงสามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคมเมืองและชนบท

          ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลเริ่มสนับสนุนโครงการพัฒนาเมืองสู่เมืองอัจฉริยะไปแล้ว 7 จังหวัด ประกอบด้วย ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น กรุงเทพมหานคร และอีก 3 จังหวัดในอีอีซี คือชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทราเป็นการทดลองพัฒนาเมืองในด้านต่างตามที่ภาคประชาสังคมในพื้นที่มีความต้องการ โดยมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาช่วยส่งเสริมการขับเคลื่อนนำโดยรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง เป็นประธาน

            ผู้ช่วยรัฐมนตรีดีอี บอกว่าปัจจุบันอัตราประชากรที่เข้ามาอยู่ในเมืองทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์และจะเพิ่มขึ้นเป็น 60-70 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2030 จึงเป็นเหตุให้การพัฒนาเมืองอัจฉริยะเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสนใจ เพื่อจะช่วยให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน สามารถจัดการมลภาวะต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น

            ทั้งนี้นิยามของเมืองอัจฉริยะในประเทศไทยโดยพันศักดิ์คือ เมืองที่น่าอยู่ มีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเป็นการเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ลดค่าใช้จ่าย

            โดยปัจจัยสำคัญที่จะช่วยหนุนให้เกิดเมืองอัจฉริยะขึ้นมาได้อย่างแท้จริงนั้น ผู้ช่วยรัฐมนตรีดีอีบอกว่า คือการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนในพื้นที่ ที่จะมาช่วยกันระดมความคิดเห็นว่าจะเลือกทำเมืองอัจฉริยะในแง่มุมใดก่อนตามความต้องการของแต่ละพื้นที่ที่มีแตกต่างกัน

            อีกปัจจัยหนึ่งคือการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ซึ่งสามารถใช้เทคโนโลยีผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ มาเป็นเครื่องมือเพื่อหากลไกเชื่อมโยง แบ่งปันข้อมูลต่างๆ เพื่อนำไปใช้งานได้จริงโดยจะต้องมีผู้ดูแลอาจจะเป็นรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคมเพื่อให้โครงการต่างๆ มีความยั่งยืน

            โดยภาครัฐจะทำหน้าที่ส่งเสริมด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อช่วยให้การพัฒนาเมืองอัจฉริยะเป็นไปได้ โดยรัฐบาลอยากเห็นภาคเอกชนบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงสตาร์ทอัพเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกันเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะในประเทศไทย

ผศ.ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

            อีกมุมมองจากฝั่งของนักวิชาการ ผศ.ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาให้ความเห็นเกี่ยวกับเมืองอัจฉริยะว่ามีองค์ประกอบสำคัญการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาครัฐและประชาชนผ่านฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ที่มาช่วยแก้ปัญหา

            โดยปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดเมืองอัจฉริยะประกอบด้วยการที่ประชากรย้ายเข้าสู่เมืองเพิ่มขึ้น การมองหาความโปร่งใสในกิจกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้น การที่มีเทคโนโลยีที่สามารถเชื่อมโยงและจัดการข้อมูลจำนวนมาก ทิศทางของสังคมและปัญหาเรื่องสภาวะแวดล้อม

            ทั้งนี้เมืองอัจฉริยะจะมาช่วยแก้ปัญหาต่างๆ เช่นลดการใช้พลังงาน ลดปัญหาการจราจร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาความปลอดภัยให้กับชุมชนในเมือง ผ่านกริดในด้านต่างๆ ที่เชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการควบคุมพลังงาน การจราจร การจัดการคุณภาพอากาศและน้ำ จัดการที่จอดรถ สถานีชาร์จรถไฟฟ้า ซึ่งเหล่านี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐจัดการเป็นส่วนใหญ่ โดยอาจจะมีภาคเอกชนเข้าไปร่วมด้วยในบางกิจกรรม

            ผศ.ดร.นพพรมองว่า สิ่งสำคัญคือการเชื่อมโยงกันระหว่างของข้อมูลระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ กับประชาชน โดยการจะเปลี่ยนเมืองสู่เมืองอัจฉริยะในด้านใดขึ้นกับการจัดลำดับความสำคัญของแต่ละชุมชนที่จะเลือกประเด็นที่ต้องการพัฒนาเมืองในด้านต่างๆ จากนั้นจึงมองหาพาร์ตเนอร์ที่เข้ากับเป้าหมายที่วางเอาไว้ โดยต้องคำนึงถึง ความคุ้มค่าและยั่งยืนที่จะเกิดขึ้น ด้วยการบริหารจัดการข้อมูลที่เชื่อมโยงสังคม สภาพแวดล้อมและเศรษฐกิจที่ต้องคำนึงถึงในการกำหนดแผน

            โดยสรุปแล้วไม่ว่าจะเลือกพัฒนาเมืองสู่เมืองอัจฉริยะในด้านใดทั้งผู้ช่วยรัฐมนตรีและนักวิชาการมองไปในทิศทางเดียวกันว่า หัวใจสำคัญของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะคือ การมีส่วนร่วมของทั้งภาครัฐและประชาชนซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยหนุนให้โครงการต่างๆ เดินหน้าไปได้อย่างยั่งยืน โดยอาศัยเทคโนโลยีต่างๆ เป็นตัวช่วย

เซีย เชน เยน ประธานบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย)

            บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จัดงานสัมมนา Delta Future Industry Summit ประจำปี 2561 ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยโดยเซีย เชน เยน ประธานบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) บอกว่าต้องการจะให้เป็นงานที่แลกเปลี่ยนความรู้แนวคิดใหม่ๆ ให้กับสังคมไทยโดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาร่วมพูดคุย และเป็นการสร้างเครือข่ายให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการต่างๆ โดยจะจัดกิจกรรมเช่นนี้ต่อเนื่องในทุกปี

อนันดา เออร์เบินเทค (Ananda UrbanTech) เป็นวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นของบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ที่จะพัฒนารูปแบบการใช้ชีวิตของคนเมืองผ่านการปรับใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี  และ Seedstars องค์กรระดับโลกที่มุ่งมั่นสร้างการเปลี่ยนแปลงและพัฒนารูปแบบการใช้ชีวิตของคนเมืองผ่านเทคโนโลยีและการคิดค้นของผู้ประกอบการธุรกิจหน้าใหม่ ร่วมมือกันเป็นปีที่สองในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน Ananda x Seedstars Urban Living 2018 โดยนำวิทยากรชั้นนำมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมล่าสุดเพื่อยกระดับการใช้ชีวิตของคนกรุงเทพฯรวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียงอื่นๆ

วิทยากรที่มาร่วมให้ความคิดเห็นประกอบด้วย คริสเตียน โคลเกิ้ล (Kristian Kloeckl) นักออกแบบและรองศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทอร์น สาขาศิลปะและสถาปัตยกรรมศาสตร์ คริสเตียน ให้ความสำคัญในการตรวจสอบการออกแบบปฏิสัมพันธ์ (Interaction Design) เพื่อการนำไปสู่ไฮบริดซิตี้  และการศึกษาบทบาทของแนวคิดไร้แบบแผนสำหรับการออกแบบ ซึ่งผลงานของเขาเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวได้รับการเปิดเผยอย่างแพร่หลายจากงานจัดแสดงในสถานที่ต่างๆ อาทิ เวนิส เบียนนาเล่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ในนิวยอร์ก และพิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์  

มานูเอล เดอร์ ฮาโกเพน (Manuel Der Hagopian) ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท G8A Architecture  ในเมืองเจนีวา  ปัจจุบันเขาให้ความสนใจเกี่ยวกับผลกระทบของการเติบโตอย่างรวดเร็วของประชากรที่อยู่อาศัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ปี ค.ศ 2015 มานูเอลดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีและการออกแบบมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์  

และสุดีป ไมธี (Sudeept Maiti) ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายซิตี้โปรแกรม บริษัท WRI India สุดีป เป็นผู้ดูแลฝ่ายการควบคุมบริหารจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่ต่างๆของบริษัท WRI India เพื่อการพัฒนาระบบการขนส่งในเมือง เขามีประสบการณ์การทำงานด้านการควบคุมบริหารอุปกรณ์ (Mobility Solutions) มามากกว่า 200 ระบบ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านการขนส่งที่ยั่งยืน การวางผังเมือง และการออกแบบชุมชนเมือง นอกจากนี้เขายังมีส่วมร่วมในการจัดตั้งกลุ่ม Multi-City และ Multi-Stakeholder เพื่อช่วยเปิดโอกาสสำหรับการเข้าร่วมพัฒนาของภาคเอกชน รวมทั้งการวางแผนกลยุทธ์, การดำเนินการภาคพื้นดินสำหรับระบบความปลอดภัย, การออกแบบพื้นที่สาธารณะ และแนวคิดการพัฒนามุ่งเน้นการขนส่ง (TOD) สำหรับเมืองต่างๆ

ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเมืองเหล่านี้มารวมตัวกันเพื่อแบ่งปันแนวคิดในการพัฒนาเมืองสมัยใหม่ เพราะ การพัฒนาชุมชนเมืองคือประเด็นสำคัญ ในยุคการย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่ (Urbanization) ประชากรโลกกว่าครึ่งอาศัยอยู่ในเมือง โดยองค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ประชากรที่จะเข้ามาอาศัยในเมืองจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี ค.ศ. 2050 ความท้าทายที่นักวางแผนเมืองต้องเผชิญคือการพิจารณาภูมิทัศน์เมืองตลอดจนสุขภาพ การเคลื่อนย้าย การศึกษาของผู้อยู่อาศัย มลพิษ ความปลอดภัย และโครงสร้างพื้นฐาน ตามรายงานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals Report)  

 งานในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อให้นักวางผังเมือง นักลงทุน ผู้ประกอบการ รวมถึงกลุ่มวิทยากรชั้นนำที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในเมืองมาปรึกษาหารือโดยใช้ข้อมูลเมืองและนวัตกรรมเทคโนโลยีล่าสุดเพื่อยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจและสังคมรวมทั้งการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนเมือง

โดยสามประเด็นหลักในการพูดคุยประกอบด้วย:

การออกแบบซิตี้ไฮบริด: Inter/face, Inter/act, Improv/act” โดย คริสเตียน โคลเกิ้ล เขาบอกว่าไฮบริดซิตี้ถือเป็นสภาพแวดล้อมเหนือกว่าความเป็นสมาร์ทซิตี้ที่สามารถวัดการตอบสนองแบบเรียลไทม์ต่อสถานการณ์หรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด ซึ่งแนวคิดไร้แบบแผนช่วยให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงต่างๆได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อเราเรียนรู้กับการสร้างสรรค์อย่างไร้แบบแผน เราจะพร้อมรับมือกับทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 การออกแบบเมืองสมัยใหม่ทำได้โดยการออกแบบให้เข้ากับรูปแบบการใช้ชีวิตจริงของคนในสังคม โดยการคิดแบบองค์รวมผ่านผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ โดยความท้าทายที่อาจจะเกิดขึ้นได้คือ เรื่องนี้เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่ต้องมาทดลองคิดและวางแผนร่วมกัน โดยเขาให้คำแนะนำว่า ควรจะคิดนอกกรอบ และให้คนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม

และคำแนะนำในการเลือกเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ว่า สามารถมองได้หลายมุมมอง แต่สิ่งสำคัญคือต้องทำให้คนในสังคมทุกคนอยากเลือกใช้ เหมาะกับชีวิตของคนในเมืองนั้นจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการดูแลสุขภาพ การขนส่ง การศึกษา และอื่นๆ ซึ่งการจะเปลี่ยนแปลงนั้นต้องการความยืดหยุ่นเพื่อให้สามารถปรับตัวได้ในอนาคต เขาให้ข้อสังเกตว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เข้ามาอาจเป็นส่วนๆ ก็ได้เช่นการใช้พื้นที่แบบ Co-Working Space ที่เกิดขึ้นก็เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ทั่วโลกในปัจจุบัน

 การออกแบบตามธรรมชาติสำหรับสภาพแวดล้อมที่มีความหนาแน่นสูง" โดย มานูเอล เดอร์ ฮาโกเพน ที่เขาบอกโดยสรุปว่า ทุกเมืองมีความแตกต่างอย่างมากโดยเฉพาะด้านวัฒนธรรม สภาพภูมิอากาศ การเมืองการปกครอง ซึ่งในบางครั้งการสร้างอาคารอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นเสมอไป แต่กว่าจะรู้นั้นก็ต่อเมื่อเราจำเป็นต้องหยุดสร้างไปเสียแล้ว  เราสร้างอาคารสูงเนื่องจากพื้นที่มีจำกัดซึ่งลักษณะการสร้างอาคารดังกล่าวอาจปิดโอกาสการติดต่อสื่อสารของคนในสังคมมากกว่าการขยายโครงสร้างอาคารทางแนวนอนหรือให้กว้างยิ่งขึ้น

เขาเสริมว่าการออกแบบต้องตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานของการใช้พื้นที่ที่มีความหนาแน่นสูง โดยออกแบบสถาปัตยกรรมให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้มและการใช้ชีวิตที่อยากให้เป็น สามารถตอบสนองสิ่งที่คนในชุมชนจะใช้ชีวิตได้ตามความเป็นจริง

 "นวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลง" โดย สุดีป ไมธี ที่บอกว่า ทางเดียวที่จะแก้ไขปัญหาการจราจรแออัดคือให้ประชากรหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะ ซึ่งบริการเหล่านี้ต้องอำนวยความสะดวกสบายควบคู่กับการบริการด้านต่างๆเพื่อให้วิธีการแก้ไขนั้นมีประสิทธิภาพสูงสุด

เขาบอกว่า การบูรณาการการเดินทางทำให้ระบบสาธารณูปโภคดีขึ้นกว่าที่เป็นมาจะช่วยพัฒนาให้เกิดสมาร์ทซิตี้ได้ โดยการเลือกใช้เทคโนโลยีใดขึ้นกับความต้องการของแต่ละพื้นที่ ไม่มีคำตอบเดียวสำหรับทุกเรื่อง

 ดร.จอห์น มิลลาร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง การร่วมมือกับ Seedstars ถือเป็นบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนเมืองในประเทศไทยและในภูมิภาคผ่านกลยุทธ์การช่วยสนับสนุนและส่งเสริมบริษัทหน้าใหม่ที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาการใช้ชีวิตของคนเมืองที่ดียิ่งขึ้น ท่ามกลางการถกเถียงมากมายว่าสมาร์ทซิตี้จะไม่ยั่งยืนอย่างแท้จริง เว้นแต่ประชาชนจะมีส่วนร่วมขับเคลื่อนความเป็นสมาร์ทซิตี้ จากแนวคิดสำคัญของวิทยากรนำเสนอ 4 โซลูชั่นส์ที่น่าจะเป็นไปได้เพื่อช่วยพัฒนากรุงเทพฯให้กลายเป็นสมาร์ทซิตี้ ซึ่ง 4 โซลูชั่นส์ดังกล่าว
ประกอบด้วย:

  • สภาพแวดล้อมเสมือนจริง (Augmented Environments) ช่วยให้ผู้คนสามารถโต้ตอบกับสภาพแวดล้อมโดยรอบได้ในอย่างที่ไม่เคยมาก่อน
  • ผสมผสานพื้นที่สีเขียวเพื่อให้อาคารมีความยั่งยืนได้ด้วยตัวของมันเอง
  • การขนส่งแบบบูรณาการ (เชื่อต่อการขนส่งหลายชนิดเข้าด้วยกัน เพื่อการทำงานที่เป็นหนึ่ง)
  • การวางแผนที่ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพกับข้อมูล (Bangkok Interactions with Data)

เขาบอกว่า กรุงเทพฯเป็นเมืองแบบใด ความต้องการมีอย่างไรผู้ที่รู้ดีที่สุดคือคนที่ใช้ชีวิตในกรุงเทพ และตามแผนพัฒนาระบบขนส่งในกรุงเทพฯจะทำให้เมืองแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่น่าสนใจเมื่อเมืองเปลี่ยนรูปแบบไป กรุงเทพฯจะเป็นเวทีที่ทำให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสเทคโนโลยีที่หลากหลายมากกว่าอีกหลายเมืองบนโลกใบนี้

 คาตาริน่า ซูเลนไยโอวา (Katarina Szulenyiova) หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท Seedstars   บริษัทจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ที่มุ่งมั่นสร้างการเปลี่ยนแปลงและพัฒนารูปแบบการใช้ชีวิตของคนเมืองผ่านเทคโนโลยีและการคิดค้นของผู้ประกอบการธุรกิจหน้าใหม่  กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า จากวิสัยทัศน์ของSeedstarsคือมุ่งมั่นสร้างการเปลี่ยนแปลงและพัฒนารูปแบบการใช้ชีวิตของคนเมืองผ่านเทคโนโลยีและการเปิดโอกาสสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจหน้าใหม่ การใช้ชีวิตในเมืองและสมาร์ทซิตี้เป็นสองประเด็นสำคัญสำหรับองค์กรที่ต้องการสร้างความแตกต่าง  การนำผู้เชี่ยวชาญและผู้คิดค้นพัฒนามาปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวถือเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งเรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนเครื่องมือเพื่อให้การคิดค้นของพวกเขาบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

Page 1 of 2
X

Right Click

No right click