November 09, 2024

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ 2.6% แม้ตัวเลขในไตรมาส 2/2567 ออกมาสูงกว่าที่คาดไว้อยู่ที่ 2.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) หรือ 0.8% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าปรับฤดูกาล (QoQsa) ตามการเร่งเบิกจ่ายรายจ่ายภาครัฐ ตลอดจนการส่งออกสินค้าและบริการ (ท่องเที่ยว) ส่งผลให้จีดีพีครึ่งแรกของปี 2567 ขยายตัว 1.9% โดย ttb analytics ประเมินเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การบริโภคภาคเอกชนตามแรงส่งของการท่องเที่ยวและภาคบริการ โดยประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีจะเพิ่มขึ้นเป็น 35 ล้านคน หรือขยายตัวจากปีก่อนถึง 24.6% หลังนักท่องเที่ยวในกลุ่มอาเซียนและยุโรปที่เข้ามาเพิ่มขึ้นจนกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิด-19 ในปี 2562 ขณะที่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาใกล้เคียงกับปกติมากขึ้น และ (2) การเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ ในช่วงท้ายของปีงบประมาณ (กรกฎาคม-กันยายน) รวมถึงผลของฐานต่ำจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 แต่คาดว่าอัตราการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม ณ สิ้นปีงบประมาณปี 2567 จะยังต่ำกว่าสิ้นปีงบประมาณปี 2566

อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวจำกัด ตามยอดจดทะเบียนรถบรรทุกเชิงพาณิชย์และยอดขายเครื่องจักรที่ชะลอตัวลงในหลายภาคส่วน สอดคล้องกับการลดลงอย่างมากของอัตราการใช้กำลังการผลิต (Capacity Utilization) ในภาคอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับมูลค่าการส่งออกสินค้าปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 1.7% ลดลงจากประมาณการเดิม 2.0% (ฐานศุลกากรในรูปของดอลลาร์สหรัฐ) แม้การฟื้นตัวของวัฎจักรการผลิตในหลายกลุ่มสินค้าจะมีทิศทางดีขึ้นตามปริมาณสินค้าคงคลัง (Inventory) ที่ทยอยปรับลดลง แต่ด้วย อุปสงค์จากต่างประเทศที่ส่งสัญญาณชะลอตัว รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการผลิตไทยค่อนข้างจำกัด จากปัญหาเชิงโครงสร้างเรื้อรัง สถานการณ์สินค้านำเข้าจากจีนที่รุนแรงขึ้น ตลอดจนประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย

สำหรับเสถียรภาพด้านนโยบายทางการเงินของไทย ttb analytics ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทั้งปีจะอยู่ที่ 0.8% และ 0.5% ตามลำดับ ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและมาตรการพยุงเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่มุมมองต่อเศรษฐกิจที่จะขยายตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี มองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.5% ตลอดทั้งปี 2567 เพื่อรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) แต่มีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ย 0.25% หากมีปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้ออย่างมีนัย ส่วนการคาดการณ์การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประเมินว่า Fed จะลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.75% สู่ระดับ 4.50-4.75% ณ สิ้นปี 2567 สะท้อนช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และ

ไทยจะแคบลงที่ประมาณ 2.25% (ขอบบน) เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 ที่ระดับ 3% ซึ่งมีส่วนให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนสูงในระยะสั้น ก่อนจะทยอยแข็งค่าขึ้นในกรอบ 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2567

 

จากปัจจัยข้างต้น ttb analytics มองว่า แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับตลอดทั้งปี 2567 แต่ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำในปีก่อนตามตัวเลขการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหลังโควิด-19 และความล่าช้าในการเบิกจ่ายภาครัฐในปีงบประมาณ 2567 แต่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังเปราะบางสูง จากโมเมนตัมการขยายตัวทางเศรษฐกิจรายไตรมาสที่เห็นสัญญาณแผ่วลงต่อเนื่อง รวมถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่ยังรั้งท้ายประเทศใกล้เคียงในภูมิภาค ขณะเดียวกันการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าจะเผชิญ “4 ข้อจำกัด” ที่รุนแรงและชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็น

1) การบริโภคมีข้อจำกัดจากหนี้ครัวเรือนสูง โดยตัวเลขการบริโภคในประเทศในระยะต่อไปจะกลับเข้าสู่ระดับปกติมากขึ้นตามทิศทางของภาคการท่องเที่ยว ขณะที่การฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนระดับฐานรากยังค่อนข้างต่ำ และมีอุปสรรคในการก่อหนี้ใหม่จากหนี้ครัวเรือนสูงเรื้อรังและคุณภาพหนี้โดยรวมย่ำแย่ลง ทำให้หนี้ครัวเรือนไทยในปัจจุบันที่สูงเกินระดับเหมาะสมที่เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ จะยิ่งส่งผลกระทบย้อนกลับมากดดันกำลังซื้อของครัวเรือนชัดเจนขึ้น

2) ท่องเที่ยวมีข้อจำกัดจากด้านอุปสงค์และอุปทาน เนื่องจากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติปัจจุบันกำลังเข้าใกล้เพดานสูงสุดที่ไทยเคยรับได้เกือบ 40 ล้านคน สามารถสร้างรายได้สูงถึง 2 ล้านล้านบาท ทำให้ภาคท่องเที่ยวจะมีข้อจำกัดในการเติบโตมากขึ้นในระยะต่อไป จากการเพิ่มขึ้นของ “จำนวน” นักท่องเที่ยว

ต่างชาติ ซึ่งส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศของแต่ละสายการบิน ในทางกลับกัน การเพิ่มขึ้นในมิติของ “คุณภาพ” ซึ่งสะท้อนผ่านรายจ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเสริมศักยภาพของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยไทยยังขาดการสร้างแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งมีสัดส่วนเพียง 25% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ทำให้ระดับการฟื้นตัวของรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยในปี 2566 ยังต่ำกว่าหลายประเทศในเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่นและสิงคโปร์

3) ส่งออกมีข้อจำกัดจากปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิต จากส่วนแบ่งมูลค่าส่งออกไทยในตลาดโลกที่แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลยตลอด 30 ปีที่ผ่านมา จากประมาณ 1% ในปี 2536 เป็น 1.3% ในปี 2566 สวนทางกับเวียดนามที่เพิ่มขึ้นเกือบ 15 เท่า จาก 0.1% เป็น 1.5% และทำให้มูลค่าการส่งออกของเวียดนามแซงหน้าไทยไปแล้วตั้งแต่ปี 2562 ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ผลิตไทยส่วนใหญ่ทำหน้าที่เป็นเพียง “ผู้รับจ้างผลิตและประกอบ” กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำและมีโอกาสถูกทดแทนได้ง่าย ส่งผลให้มูลค่าส่งออกของไทยมีทิศทางลดลงทั้งในมิติของราคาต่อหน่วยและปริมาณการส่งออก ขณะเดียวกัน ปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคอุตสาหกรรมของไทยที่ทวีความรุนแรงขึ้นในระยะหลัง ก็ยิ่งทำให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันยากขึ้น

4) เสถียรภาพเศรษฐกิจมีข้อจำกัดในหลายมิติ จากข้อมูล 6 เดือนแรกของปี 2567 ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสะสมเพียง 5.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับที่ผ่านมาที่เคยเกินดุลประมาณ 3-4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่ง ttb analytics มองว่าไทยอาจไม่สามารถกลับมาเกินดุลบัญชีเดินสะพัดได้เหมือนในอดีต จากแนวโน้มเกินดุลการค้าลดลงตามการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีนมากขึ้น อีกทั้งไทยยังเป็นประเทศที่นำเข้าพลังงานสูงถึงเกือบ 18% ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด นอกจากนี้ เสถียรภาพด้านการคลังในระยะหลังเปราะบางขึ้น จากการขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นและข้อจำกัดจากเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ประกอบกับความกังวลต่อเสถียรภาพด้านการเมืองที่อาจยึดโยงไปสู่การบริหารจัดการและการดำเนินนโยบายการคลังให้สอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ค่าเงินบาทในระยะข้างหน้าอาจไม่สามารถกลับมาแข็งค่าได้รวดเร็วเหมือนในอดีต

SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นในปี 2567 ตามการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งจะสนับสนุนให้อุปสงค์ในประเทศปรับดีขึ้นผ่านการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน ในระยะปานกลางเศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มได้อานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตของธุรกิจข้ามชาติออกไปลงทุนในประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ “China +1” เพื่อลดความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในระยะต่อไป ในปีนี้ SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัวต่อเนื่อง 6.0% (จาก 5.6% ในปี 2566) สปป.ลาว 4.7% (จาก 4.5%) เมียนมา 3.0% (จาก 2.5%) และเวียดนาม 6.3% (จาก 5.1%)

 

อัตราการขยายตัวของแต่ละประเทศใน CLMV ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยช่วงก่อน COVID-19 จากปัจจัยกดดันต่าง ๆ อาทิ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเศรษฐกิจภูมิภาค CLMV มีความสัมพันธ์สูงทั้งด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงการท่องเที่ยวและภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะเดียวกัน บางประเทศ เช่น กัมพูชาและเวียดนามมีอัตราส่วนหนี้เสีย (Non-performing loans ratio) สูงขึ้นหลังมาตรการช่วยเหลือในช่วง COVID-19 สิ้นสุดลง ประกอบกับภาวะการเงินในประเทศที่ตึงตัวขึ้น อาจกระทบการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินและการเข้าถึงสภาพคล่องของธุรกิจได้ นอกจากนี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นปัจจัยที่ต้องจับตาต่อเนื่อง ในระยะสั้นการค้าโลกอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาการขนส่งบริเวณทะเลแดงและคลองปานามาที่แห้งแล้งและอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งสินค้าส่งออกของภูมิภาค CLMV ได้ ในระยะยาวเศรษฐกิจ CLMV จะต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับโลกที่มีแนวโน้มจะกีดกันการค้าและตั้งกำแพงภาษีมากขึ้น

ความเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV แตกต่างกัน ขึ้นกับปัจจัยเฉพาะประเทศ โดยเฉพาะในสปป.ลาวที่เผชิญความเสี่ยงจากระดับหนี้สาธารณะซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปสกุลเงินต่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงเทียบกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ ท่ามกลางภาวะการเงินโลกตึงตัว ทำให้เงินกีบอ่อนค่ารวดเร็ว ซ้ำเติมภาระการชำระหนี้ต่างประเทศ และทำให้เงินเฟ้อในประเทศพุ่งสูงขึ้นมากและปรับตัวลดลงได้ช้าในปีนี้ ปัจจัยเหล่านี้กดดันศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะปานกลาง โดยสปป.ลาวกำลังดำเนินการรัดเข็มขัดทางการคลัง ควบคู่กับการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้และการหาแหล่งระดมทุนใหม่เพื่อรักษาเสถียรภาพการคลังไว้ ขณะที่เมียนมาเป็นอีกประเทศที่กำลังเผชิญปัจจัยกดดันเชิงโครงสร้าง ซึ่งได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมืองตั้งแต่ปี 2564 และทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงปลายปี 2566 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศซบเซา ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกมีส่วนทำให้อุปสงค์ต่างประเทศอ่อนแอลงมาก ประกอบกับปัญหาอื่น ๆ เช่น การขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เงินจัตอ่อนค่าและเงินเฟ้อเร่งตัว ตลอดจนปัญหาระบบขนส่งและโครงข่ายไฟฟ้าหยุดชะงัก การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ยังดูเป็นไปได้ยากในระยะสั้น เนื่องจากจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยทางการเมืองที่มีเสถียรภาพ

 

ค่าเงินของกลุ่มประเทศ CLMV จะเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าลดลง ตามธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลักที่มีแนวโน้มเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่กลางปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลกลับเข้าประเทศกำลังพัฒนา รวมถึง CLMV มากขึ้น และจะกระตุ้นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศตามต้นทุนการระดมทุนที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเฉพาะประเทศยังคงเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อแนวโน้มค่าเงิน ส่งผลให้ค่าเงินบางประเทศอาจยังอ่อนค่าต่อ

การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับ CLMV มีแนวโน้มดีขึ้นในปีนี้ หลังจากค่อนข้างซบเซาในปี 2566 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการค้าโลกที่ปรับดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคการผลิต และเศรษฐกิจประเทศในภูมิภาคที่ฟื้นตัว นอกจากนี้ ภาวะการเงินโลกและไทยที่คาดว่าจะผ่อนคลายลงบ้างในปีนี้จะเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนให้บริษัทไทยลงทุนใน CLMV ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามเสถียรภาพเศรษฐกิจของ CLMV บางประเทศที่ยังไม่เอื้อต่อการลงทุนมากนัก ทั้งนี้ในระยะยาว SCB EIC ยังมีมุมมองบวกต่อเศรษฐกิจ CLMV และคาดว่าจะเป็นหนึ่งในภูมิภาคของโลกที่เติบโตสูง และยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนไทยและต่างชาติ จากปัจจัยประชากรที่มีอายุเฉลี่ยน้อย การมีข้อตกลงสนธิสัญญาการค้าเสรีต่าง ๆ และแหล่งที่ตั้งที่มีความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ ติดตลาดใหญ่ เช่น จีนและอินเดีย

SCB EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 เป็น 2.6% จากข้อมูลไตรมาส 3 ต่ำกว่าคาดมาก การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวแรงขึ้น และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มลดลงจากประมาณการเดิม ส่วนหนึ่งจากนักท่องเที่ยวจีนที่ฟื้นตัวช้า ในปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.0% การส่งออกจะกลับมาขยายตัวได้จากแนวโน้มการค้าโลกที่ขยายตัวสูงขึ้น และการลงทุนภาคเอกชนจะฟื้นตัวดีตามการฟื้นตัวของการส่งออก แนวโน้มมูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุน รวมถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะฟื้นตัวได้ช้าและขยายตัวต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ จากแรงส่งเศรษฐกิจที่ชะลอลงทั้งการบริโภคภาคเอกชนที่เติบโตสูงในปี 2566 และรายได้ครัวเรือนที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อย นักท่องเที่ยวจีนฟื้นตัวช้ากว่าคาดการณ์ และการลงทุนภาครัฐที่ยังขยายตัวต่ำจากความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปี 2567

SCB EIC ประเมินอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะคงอยู่ในระดับปัจจุบันที่ 2.5% ไปตลอดปี 2567 เนื่องจากเป็นระดับที่เหมาะสมต่อการเติบโตของเศรษฐกิจที่ระดับศักยภาพในระยะยาว (Neutral rate) และช่วยเอื้อให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายได้ และช่วยสร้างความสมดุลในระบบการเงินจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงกลับเป็นบวกได้ โดยเป็นการลดแรงจูงใจในการก่อหนี้ใหม่ของครัวเรือนและลดการประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไป (Underpricing of risks) จากภาวะดอกเบี้ยต่ำนาน ทั้งนี้มองว่าเงินเฟ้อจะเร่งขึ้นบ้างในปี 2567 จากแรงกดดันด้านอุปทาน ทำให้เกิดการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการไปยังราคาสินค้าเพิ่มขึ้น และโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลที่อาจกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวสูงกว่าระดับศักยภาพและอาจสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ได้อีกทาง แต่จะเป็นเพียงผลชั่วคราว โดยเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวในระดับศักยภาพได้ดังเดิม โครงการนี้จึงส่งผลต่อเงินเฟ้อต่ำ ทำให้แนวโน้มเงินเฟ้อจะยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% ได้ สำหรับเงินบาทจะทรงตัวในกรอบ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงที่เหลือของปีนี้ และจะแข็งค่าต่อเนื่องอยู่ที่ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2567 จากปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง มาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมของภาครัฐ และแนวโน้มธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ลดดอกเบี้ย

สำหรับเศรษฐกิจโลกในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงเป็น 2.5% จาก 2.7% ในปี 2566 จากผลของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงเงินออมส่วนเกินที่ใกล้หมด โดยเฉพาะสหรัฐฯ นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มชะลอลงทั้งในระยะสั้นและระยะปานกลางจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่กดดัน ในระยะปานกลางเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น แต่จะขยายตัวต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดจากปัจจัยกดดันรอบด้าน โดยเฉพาะปัญหาภูมิรัฐศาสตร์

วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ และยุโรปจะเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินเร็วขึ้นเป็นไตรมาส 2 ปี 2567 จากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงเร็วกว่าคาด ธนาคารกลางจีนมีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินผ่านการยกเลิกมาตรการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวในช่วงครึ่งแรกของปี และยกเลิกนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในช่วงครึ่งหลังของปี

ในระยะยาว SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยยังน่าห่วง เศรษฐกิจไทยจะโตต่ำบนศักยภาพการเติบโตที่ลดลง อันเป็นผลจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน ทั้งการลงทุนต่ำ ผลิตภาพการผลิตลดลง และแผลเป็นจากวิกฤตโควิด ซึ่งชัดเจนว่าไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ฟื้นตัวหลังวิกฤตโควิดได้ช้าติดอันดับรั้งท้ายในโลก นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังเปราะบางและอ่อนแอจากภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยและธุรกิจขนาดเล็กที่ยังมีหนี้สูง แต่รายได้เติบโตช้า อีกทั้ง เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น ทั้งจากปัจจัยภายนอกประเทศ เช่น

ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และปัจจัยภายในประเทศที่ยังต้องจับตานโยบายรัฐบาลที่มีความไม่แน่นอนสูง ส่งผลให้ทรัพยากรภาครัฐมีจำกัดในการใช้จ่ายเพิ่มเติมเพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการลงทุนเพิ่มศักยภาพประเทศในระยะยาว

SCB EIC เสนอแนวทางแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยด้วยชุดนโยบาย “4 สร้าง” ได้แก่ (1) สร้างภูมิคุ้มกันให้ครัวเรือน ผ่านการสร้างกลไก Social assistance และ Social insurance ที่ครอบคลุมและเพียงพอ (2) สร้างความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทย ผ่านการส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า ปฏิรูปกฎระเบียบภายในประเทศ และผลักดันไทยให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งจะช่วยเร่งให้ไทยเข้าถึงองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีของ OECD ได้ (3) สร้างกลยุทธ์การลงทุนของประเทศให้เหมาะสมกับพลวัตโลกที่เปลี่ยนไป และ (4) สร้างความยั่งยืนของภาคการผลิตไทย ผ่านการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญเอื้อให้ภาคธุรกิจปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics มองว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังไม่กลับสู่ระดับศักยภาพจากการฟื้นตัวที่ล่าช้าและไม่ทั่วถึงในหลายภาคส่วน โดยได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 ลงจาก 2.8% เหลือ 2.4% สำหรับปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.1% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว ประกอบกับผลบวกชั่วคราวจากมาตรการกระตุ้นการบริโภค อย่างไรก็ดี มองว่าเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังเผชิญความไม่แน่นอนสูงทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ยังไม่แน่นอนสูง ตลาดการเงินผันผวนทั่วโลก ความเสี่ยงจากความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ รวมถึงความเปราะบางของเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่อาจกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน

 มองเศรษฐกิจไทยฟื้นช้า ชี้ปี 2567 ยังมีความเสี่ยงรออยู่ข้างหน้า

ttb analytics ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยตลอดทั้งปี 2566 ว่าจะเติบโต 2.4% จากเดิมที่ 2.8% แม้เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันกลับเข้าสู่ระดับก่อนวิกฤตได้แล้ว แต่ยังไม่กลับสู่ระดับศักยภาพ (Potential Output) จากการฟื้นตัวที่ล่าช้าและไม่ทั่วถึงในหลายภาคส่วน (Slow and Uneven) เห็นได้จากเศรษฐกิจไทยช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ขยายตัวได้เพียง 1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งต่ำกว่าที่ประเมินไว้ค่อนข้างมาก จากการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการท่องเที่ยวที่ล่าช้ากว่าคาด การบริโภคในประเทศถูกกดดันจากปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงเรื้อรัง ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวต่อเนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณต่ำกว่าที่ประเมินไว้

ทั้งนี้ ttb analytics ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวได้ 3.1% (จากประมาณการเดิมที่ 3.2%) ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะจากมาตรการลดภาระค่าครองชีพครัวเรือนและกระตุ้นการบริโภคในภาพรวม อาทิ มาตรการลดหย่อนภาษี (Easy E-receipt) นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มาตรการแก้หนี้นอกระบบ ตลอดจนแรงส่งจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

อย่างไรก็ดี การลงทุนภาครัฐในปี 2567 มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง หลังการลงทุน Mega Project โครงการใหม่ ๆ คาดว่าจะล่าช้าออกไปจากกรอบปีงบประมาณปกติราว 6 เดือน จากความล่าช้าในกระบวนการจัดทำ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ซึ่งจะทำให้สามารถเบิกจ่ายเงินงบประมาณได้ราวปลายไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 และจะเร่งตัวขึ้นในไตรมาส 3 ก่อนสิ้นสุดปีงบประมาณ

ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าคาดว่าจะพลิกกลับมาขยายตัว ส่วนหนึ่งจากอานิสงส์ของฐานต่ำในปีนี้ รวมถึงปริมาณการค้าโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น และวัฎจักรการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่เริ่มกลับมาขยายตัวได้ดี

เช่นเดียวกับมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวเช่นกันจากการฟื้นตัวของภาคการผลิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าจะมีแนวโน้มต่ำกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้า จากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยน้อยกว่าคาด รวมถึงจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ยังไม่กลับเข้าสู่ระดับปกติ ซึ่งแม้ว่าจะมีนโยบายการยกเว้นการขอวีซาเข้าประเทศไทยแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ (Visa Free) แต่อาจยังไม่เพียงพอที่จะทดแทนนักท่องเที่ยวจีนได้ ทำให้อัตราการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีหน้าจะยังไม่กลับเข้าสู่ระดับปกติเหมือนเช่นปี 2562

ด้านเสถียรภาพทางการเงิน แม้ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะต่ำกว่ากรอบล่างเป้าหมาย แต่ยังมีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะกลับมาเร่งขึ้นบ้างในระยะต่อไป ตามราคาน้ำมันดิบที่อาจผันผวนสูงขึ้นจากความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์และการเข้าควบคุมกลไกด้านราคาในตลาดโลก ขณะที่การชดเชยราคาพลังงานจากมาตรการลดค่าครองชีพจะทยอยหมดลงในปีหน้า อีกทั้งยังมีแรงกดดันด้านราคาอาหารที่อาจกลับมาเร่งตัวอีกครั้งจากผลพวงของปรากฎการณ์เอลนีโญ ตลอดจนแรงกดดันด้านอุปสงค์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชั่วคราว ทำให้ ttb analytics ยังคงประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะทรงตัวที่ 2.5% ตลอดทั้งปี 2567 เพื่อรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) รองรับกับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 ttb analytics ชี้ 4 ปรากฎการณ์ที่อาจเห็นในปี 2567

“เศรษฐกิจและการค้าโลกมีความไม่แน่นอนสูง” แม้เศรษฐกิจโลกจะผ่านพ้นจุดต่ำสุด (Bottom Out) ไปแล้ว แต่ในระยะต่อไปเศรษฐกิจทั่วโลกยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่น่าจะเผชิญโมเมนตัมเศรษฐกิจแผ่วลง (Soft Landing) เช่นเดียวกับเศรษฐกิจจีนที่กำลังซื้อในประเทศยังอ่อนแอ และยังมีความเปราะบางเชิงโครงสร้างในภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังครุกรุ่นในหลายภูมิภาคทั่วโลก เหล่านี้ถือเป็นความเสี่ยงด้านต่ำที่อาจลดทอนกำลังซื้อในตลาดโลกและการส่งออกของไทย

“ตลาดการเงินทั่วโลกผันผวนมากขึ้น” โดยตลอดทั้งปี 2567 จะมีการเลือกตั้งครั้งใหญ่หลายแห่งทั่วโลก อาทิ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป อินเดีย รัสเซีย อินโดนีเซีย และไต้หวัน ซึ่งอาจทำให้ตลาดกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการดำเนินโยบายด้านเศรษฐกิจ การเงิน และการค้าระหว่างประเทศในระยะต่อไป นอกจากนี้ นักลงทุนในตลาดบางส่วนคาดหวังว่าจะเห็นการทยอยผ่อนคลายการดำเนินนโยบายทางการเงิน (Dovish) ของประเทศหลักในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2567 ซึ่งอาจกดดันตลาดการเงินทั่วโลก รวมไปถึงค่าเงินบาทอาจจะมีกรอบการเคลื่อนไหวที่ผันผวนมากขึ้นได้เช่นกัน

“การบริโภคในประเทศอ่อนแอกว่าที่เห็น” โดยระดับรายได้ของครัวเรือนไทยฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้า สวนทางกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด ด้านอัตราดอกเบี้ยก็ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนอ่อนแอลง ส่งผลให้การปล่อยกู้สินเชื่อภาคธนาคารมีความเข้มงวดขึ้น เห็นได้จากการ

ขยายตัวของสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อยานยนต์ที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2566 ขณะที่คุณภาพหนี้ภาคครัวเรือนก็ย่ำแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะตัวเลขหนี้เสีย (NPL) และความเสี่ยงที่จะเป็นหนี้เสีย (Stage 2) ของสินเชื่อเช่าซื้อรถในไตรมาสล่าสุดที่เร่งขึ้นอย่างมีนัย

“เสถียรภาพเศรษฐกิจเปราะบางขึ้น” คาดว่าโครงการเงินดิจิทัล (Digital Wallet) จะออกมาช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศได้ในช่วงปลายไตรมาส 2 และ 3 ของปี ซึ่งประเมินเบื้องต้นว่าจะก่อให้เกิดการหมุนเวียนต่อระบบเศรษฐกิจได้ราว 0.4-0.7% ของจีดีพี และหนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.6% ในปีหน้า ทั้งนี้ แม้จะยังไม่เห็นความชัดเจนเกี่ยวกับแหล่งที่มาของงบประมาณที่จะนำมาใช้ อย่างไรก็ตาม ภาครัฐก็จำเป็นต้องกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ท่ามกลางพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) ที่มีข้อจำกัดมากขึ้นทุกขณะ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในสายตาของนักลงทุนต่างชาติจากเสถียรภาพเศรษฐกิจต่างประเทศที่เปราะบางขึ้น

โดยสรุป เศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่จะเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำจากความไม่แน่นอนรอบด้าน หากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกแผ่วลงกว่าคาด ตลาดการเงินทั่วโลกผันผวนมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ภาคส่งออกและภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้อย่างจำกัด ท่ามกลางอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนซึ่งต้องรอความชัดเจนจากกลไกสนับสนุนของภาครัฐ

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจเกียรตินาคินภัทร ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจปรับประมาณการ์เศรษฐกิจปี 2023 เหลือ 2.4% และประมาณการณ์ปีหน้าเป็น 3.7% หาก Digital Wallet ผ่านและ 2.9% กรณีไม่รวม Digital Wallet

ทั้งนี้  GDP ไตรมาส 3 ที่ได้รับการเผยแพร่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยโตในระดับค่อนข้างต่ำที่ 1.5% ในขณะที่ GDP ในฝั่งการอุปสงค์โตได้ถึง 5.6% ความแตกต่างกันค่อนข้างมากของ GDP ฝั่งอุปสงค์และอุปทานนำมาสู่ข้อสงสัยของหลายฝ่ายว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไรกันแน่ KKP Research ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังคงอ่อนแอกว่าที่ตัวเลขแสดง

เศรษฐกิจในประเทศอ่อนแอกว่าที่เห็น

การบริโภคของ GDP ไตรมาส 3 โตสูงถึง 8% ในภาวะที่หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงและภาคธนาคารชะลอการปล่อยกู้สินเชื่อภาคครัวเรือน อย่างไรก็ตาม KKP Research ประเมินว่าเมื่อพิจารณาประกอบกับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจอื่น ๆ แล้ว การใช้จ่ายในประเทศน่าจะโตได้น้อยกว่าตัวเลขดังกล่าวมาก ภายใต้ข้อสังเกตดังต่อไปนี้

1) ยอดขายบ้านและรถยนต์ปรับตัวลดลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยเกิดจากทั้งรายได้ในประเทศที่ยังฟื้นตัวได้ช้า การปล่อยกู้ของสินเชื่อภาคธนาคารที่ตึงตัวขึ้นมาก และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นเร็วทำให้ภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้น

2) ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนออกมาอ่อนแอต่อเนื่องสวนทางกับเลข GDP ในฝั่งการใช้จ่าย โดยในช่วงที่ผ่านมา ทิศทางกำไรของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไทยค่อนข้างแย่ และมีจำนวนหุ้นที่ถูกปรับการคาดการณ์รายได้ ( Earning) ลง มากกว่าจำนวนหุ้นที่ถูกปรับการคาดการณ์รายได้ ขึ้น ขณะที่กำไรต่อหุ้นหรือ EPS ของตลาดหุ้นไทยในปีนี้ลดลงมากว่า 10% จากต้นปี 2023 ซึ่งลดลงมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ซึ่งสะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะอยู่ในช่วงที่ชะลอตัวมากกว่าฟื้นตัวได้ดี

3) อัตราการเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิม (Same store sale growth) ของบริษัทจดทะเบียนมีทิศทางที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยชะลอตัวลงทั้งในกลุ่มของสินค้าจำเป็นและสินค้าฟุ่มเฟือย และมีแนวโน้มปรับเป็นติดลบในไตรมาสที่ 3 ปี 2023 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

4) สินเชื่อในภาคธนาคารหดตัว สะท้อนว่าธนาคารพาณิชย์มีมุมมองที่ไม่ดีนักต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและคุณภาพสินเชื่อในระยะข้างหน้า จึงชะลอการปล่อยกู้ลง

5) ผลการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในปีภาษีที่ผ่านมา ภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งควรสะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หดตัวประมาณ 3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าแม้ปรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ลดลงแล้ว ซึ่งผลการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ลดลงสะท้อนถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง

จากทั้ง 5 ชุดข้อมูลสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจในประเทศไม่น่าจะขยายตัวได้ดีมากนัก โดยทั้งการบริโภคสินค้าคงทน สินค้าไม่คงทน และการลงทุนมีแนวโน้มชะลอตัวลงทั้งหมด

ปรับ GDP ปี 2024 เป็น 3.7% หลังรวมผลของนโยบาย Digital Wallet แม้ KKP Research จะประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังคงอ่อนแอและไม่สามารถฟื้นตัวได้ดีมากนัก อย่างไรก็ตาม ได้ปรับ GDP เพิ่มขึ้นเป็น 3.7% จาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ (Digital Wallet) ที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ 0.8% ของ GDP โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีหน้า 2) การท่องเที่ยวที่ยังคงฟื้นตัวได้โดยคาดจำนวนนักท่องเที่ยวที่ 35 ล้านคนในปี 2024 และ 3) การส่งออกที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวตามวัฏจักรการผลิตและการส่งออกโลก

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่ายังมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่รัฐบาลอาจไม่สามารถผลักดันมาตรการ Digital Wallet เพราะข้อจำกัดด้านการคลังและกฎหมาย ในกรณีที่ไม่รวมผลจากมาตรการนี้ คาดว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะชะลอลงเหลือ 2.9% ในปี 2024 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดดันการเติบโตในระยะยาวมาอย่างต่อเนื่อง

นโยบายแจกเงินส่งผลต่อเศรษฐกิจค่อนข้างจำกัด และกระตุ้นการบริโภคได้เพียงชั่วคราว

KKP Research ประเมินว่าหากนโยบาย Digital Wallet สามารถออกใช้ได้ตามที่รัฐบาลแถลง จะมีต้นทุนสูงถึง 5 แสนล้านบาท ในขณะที่ช่วยกระตุ้นการบริโภคในระยะสั้น แต่ผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมน่าจะมีค่อนข้างจำกัดเมื่อเทียบกับต้นทุน โดยประเมินตัวคูณทางการคลัง (fiscal multiplier) ที่ 0.3 เท่า ซึ่งจะส่งผลบวกต่อ GDP ประมาณ 0.8% ในปี 2024 โดยผลดังกล่าวจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีหน้าหากมีการออกใช้จริง และเศรษฐกิจอาจจะชะลอตัวลงอย่างมากหลังจากนั้น (ดู KKP Research นโยบายรัฐได้ไม่คุ้มเสีย) เนื่องจากสถานการณ์การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้ไทยแข่งขันในเวทีโลกได้ยากขึ้น มากกว่าประเด็นการลดลงของรายได้ชั่วคราว นอกจากนี้ ผลกระทบด้านลบยังรวมไปถึงต้นทุนทางอ้อมต่อเศรษฐกิจที่จะเพิ่มขึ้น จากการที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดจะปรับตัวสูงขึ้นจากการที่รัฐบาลจำเป็นต้องกู้เพิ่มอีกด้วย

เศรษฐกิจโลกยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย ท่องเที่ยวฟื้นช้ากว่าคาด

KKP Research คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโอกาสชะลอตัวแต่น่าจะยังคงเติบโตได้ต่อเนื่องในปีหน้า แม้มีความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโอกาสขยายตัวได้ จากแรงสนับสนุนทั้งวัฏจักรการผลิต การย้ายฐานการผลิตกลับสหรัฐฯ (Reshoring) จากภาวะการย้อนกลับของโลกาภิวัฒน์ (Deglobalization) และมาตรการกระตุ้นการลงทุนซึ่งส่งผลให้ผลิตภาพของแรงงานปรับตัวดีขึ้น และน่าจะทำให้การส่งออกของไทยในปี 2024 มีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวขึ้นได้เล็กน้อยสอดคล้องกับการส่งออกของประเทศในภูมิภาค โดยคาดว่าการส่งออกของไทยจะเติบโตได้เล็กน้อยที่ 2.0%

อย่างไรก็ตาม KKP Research ปรับลดตัวเลขนักท่องเที่ยวในปี 2024 จาก 38 ล้านคน เหลือ 35 ล้านคนในปีหน้า จากนักท่องเที่ยวจีนที่ฟื้นตัวกลับมาได้ช้ากว่าที่คาด ซึ่งเกิดจากทั้งปัญหาภายในของเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง ความเชื่อมั่นในการท่องเที่ยวไทยที่แย่ลงหลังเหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมา และความกังวลด้านความปลอดภัยที่ทำให้คนจีนลดความสนใจในการมาท่องเที่ยวประเทศไทย

เงินเฟ้อต่ำ ดอกเบี้ยสูง

KKP Research ประเมินว่าจากทิศทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างอ่อนแอจะทำให้อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำที่ 1.7% เท่านั้น โดยในช่วงที่ผ่านมาเงินเฟ้อไทยลดลงอย่างรวดเร็วและเริ่มเติบโตติดลบในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเริ่มคงที่ ซึ่งเงินเฟ้อในไทยถือว่าปรับตัวลดลงเร็วที่สุดประเทศหนึ่งในโลกต่างจากหลายประเทศที่เงินเฟ้อค้างอยู่ในระดับสูงยาวนาน ในขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจส่งสัญญานทิศทางไม่ชัดเจน ทำให้การประเมินเศรษฐกิจเพื่อดำเนินนโยบายทำได้ยากขึ้น โดยคาดว่าธนาคารแห่งประเทศจะยังคงดอกเบี้ยที่ 2.5% ไปตลอดทั้งปี 2024 ทำให้สถานการณ์ปัจจุบันมีความเสี่ยงที่นโยบายการเงินไทยจะอยู่ในภาวะที่เริ่มตึงตัวมากเกินไป ซึ่งปัจจุบันดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยสูงขึ้นที่ประมาณ 2.5% ซึ่งมากกว่าสหรัฐ ฯ ที่ประมาณ 2% ในกรณีที่นโยบาย digital wallet ไม่เกิดขึ้นได้จริง โอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะมีสูงขึ้น

ประเด็นสุดท้าย การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะอุปสงค์ในประเทศไม่ได้เกิดจากเฉพาะปัจจัยชั่วคราวแต่มีส่วนสำคัญจากปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาวที่ทำให้ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยตกต่ำลงต่อเนื่อง โดยศักยภาพการเติบโตของไทยในปัจจุบันอาจลดลงเหลือประมาณ 2.4% ตามแนวโน้มการเติบโตใหม่ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นแต่จำเป็นที่จะต้องมีนโยบายปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาวเพื่อยกระดับศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยให้สามารถเติบโตต่อเนื่องได้อย่างยั่งยืน

Page 1 of 4
X

Right Click

No right click