ดีป้า เปิดบ้านหลังใหม่ในซอยลาดพร้าว 10 ต้อนรับคณะฑูต ผู้บริหารระดับสูงจากเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ตอกย้ำศักยภาพการทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนเต็มพิกัด พร้อมแสดงวิสัยทัศน์ด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในหัวข้อ ‘depa of the Future’ ในงาน The 8th Founding Anniversary of depa หวังยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลไทยและคุณภาพชีวิตคนไทยตามแนวคิด perform better, think faster and live better.
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดอาคารสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (สำนักงานใหญ่) แห่งใหม่ในซอยลาดพร้าว 10 ต้อนรับคณะฑูต ผู้บริหารระดับสูงจากเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และสื่อมวลชน แสดงความพร้อมตอกย้ำศักยภาพการทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนอย่างเต็มความสามารถ จากนั้นได้แสดงวิสัยทัศน์ด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในหัวข้อ ‘depa of the Future’ ภายในงาน The 8th Founding Anniversary of depa โดยระบุว่า โลกในยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกัน โครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมกลับเปลี่ยนแปลงเร็วยิ่งกว่า ดังนั้น Self-sustainability จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ซึ่ง ดีป้า พร้อมสร้างโอกาสใหม่ที่จะช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกกับอนาคตของประเทศไทย ประกอบไปด้วย 3 แนวทางสร้างความเปลี่ยนแปลง ได้แก่
Making Change for Digital Skill Improvement
เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เรียนรู้ทักษะด้านดิจิทัลผ่านแนวทางการพัฒนาทักษะดิจิทัลคนไทยทุกกลุ่มและทุกช่วงวัย หรือ Digital Skill Roadmap ผ่านเครือข่ายเทคโนโลยี 5G ควบคู่ไปกับการกระตุ้นให้เกิด Digital Talent ในทุกอำเภอทั่วประเทศ รวมถึงการส่งเสริมการจ้างงานและการพัฒนาทักษะผ่านการมอบสิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับองค์กรธุรกิจที่ส่งพนักงานฝึกอบรมในหลักสูตรดิจิทัลที่ ดีป้า และเครือข่ายพันธมิตรให้การรับรองสามารถนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 250% นอกจากนี้ยังสามารถหักค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 150% ของเงินเดือน 12 เดือนแรกของผู้จบการศึกษาด้านดิจิทัล สำหรับประชาชนทั่วไป ดีป้า จะช่วยแบ่งเบาภาระภาษี โดยประชาชนสามารถนำใบเสร็จค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนเรียนในหลักสูตรที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับดิจิทัล วงเงินรวมไม่เกิน 50,000 บาทมาหักค่าใช้จ่ายเพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2568 ได้ 100%
Making Change for New Opportunities
ปรับเปลี่ยนประเทศไทยสู่การเป็นจุดหมายปลายทางของนักลงทุน ดิจิทัลสตาร์ทอัพ และบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก หรือ A New Paradise of Global Technology and Supply Chain เพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ในประเทศ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น ควบคู่ไปกับการมุ่งยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศผ่านการขับเคลื่อนไทยในรูปแบบใหม่ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนดิจิทัลสตาร์ทอัพสัญชาติไทย พร้อมเติมเต็มศักยภาพคนไทยในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมให้มีความพร้อมรองรับทุกโอกาสในอนาคต
Making Change for Thai Ecosystem Development
เปลี่ยนแปลงข้อจำกัดให้กลายเป็นเส้นทางสู่โอกาสใหม่ของประเทศไทย โดยการผสานสิทธิประโยชน์ทางภาษี และสิ่งที่ไม่ใช่ภาษี อาทิ บัญชีบริการดิจิทัล (Thailand Digital Catalog) กลไกยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลไทยที่มีการรวบรวมสินค้าและบริการดิจิทัลจากผู้ประกอบการและผู้ให้บริการดิจิทัลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและเป็นไปตามข้อกำหนดด้านมาตรฐาน dSURE และราคา ซึ่งถือเป็นช่องทางการเข้าถึงตลาดภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงการสร้างทรัพยากรสำคัญอย่าง ‘คน’ โดยการ Upskill, Reskill, New Skill และการดึงดูดกำลังคนดิจิทัลสาขาขาดแคลนเข้าสู่ประเทศ
ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ดีป้า จะยกระดับรูปแบบการส่งเสริมดิจิทัลสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ระดับ Idea Stage โดยสร้างให้เกิดการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างสตาร์ทอัพที่มีไอเดียธุรกิจกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก ผ่านการส่งเสริมและสนับสนุนไม่น้อยกว่า 200 ทุน นอกจากนี้ ดีป้า จะผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกม พ.ศ. ... เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป
ดีป้า พร้อมทำงานเพื่ออนาคตของคนไทย และเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลไทยให้อยู่ในระดับชั้นนำของโลก ภายใต้วิสัยทัศน์ We work smart every day to build a world-class digital economy and to help people perform better, think faster and live better.
กระทรวงดีอี - ดีป้า ชูผลการการดำเนินโครงการสีคิ้วสมาร์ทลีฟวิ่ง (SIKHIO SMART LIVING) พลิกโฉมเมืองสีคิ้วสู่เมืองอัจฉริยะเต็มรูปแบบ ยกระดับด้านความปลอดภัย ด้านบริการภาครัฐ และด้านการบริหารจัดการข้อมูลเมือง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ การบริหารจัดการเมืองในภาคประชาชน สังคมและท้องถิ่น
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เผยว่า การดำเนินโครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ การบริหารจัดการเมือง ภาคประชาชน สังคม และท้องถิ่น ในพื้นที่อำเภอสีคิ้ว (SIKHIO SMART LIVING) ที่ดำเนินการโดย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) โดย ดีป้า มุ่งเน้นการมีส่วนเกี่ยวข้องกับเมืองเป็นหลัก โดย ดีป้า ทำหน้าที่เหมือนเป็นพี่เลี้ยง เชื่อมโยงให้เมืองเข้าถึงโซลูชันเพื่อการพัฒนาเมือง ได้เลือกลองเลือกใช้จนเกิดเป็นความเข้าใจ และนำมาบูรณาการเข้ากับการบริหารจัดการเมืองให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเมืองได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาเมืองครอบคลุม 3 มิติหลัก ได้แก่ ด้านความปลอดภัย ด้านบริการภาครัฐ และด้านการบริหารจัดการข้อมูลเมือง (City Data Platform: CDP) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ให้ดีขึ้น
ด้านความปลอดภัย ได้ดำเนินการยกระดับซอฟต์แวร์ของกล้อง CCTV ทั้งหมดในอำเภอสีคิ้ว จำนวน 52 ตัว เพื่อยกระดับเมืองให้มีความปลอดภัยมากขึ้น โดยนำ AI (Artificial Intelligence) มาใช้ในการตรวจจับรถและบุคคล เช่น สี ยี่ห้อรถ ประเภทของรถ เพศ ช่วงอายุ สีของเสื้อผ้าที่สวมใส่ เป็นต้น กรณีเกิดเหตุ จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ตรวจจับคนร้ายได้อย่างทันท่วงที และการพัฒนาภายใต้โครงการนี้ยังได้มีการนำ LINE OA มาติดตั้งและประสานรับแจ้งเรื่องร้องทุกข์ร้องเรียน โดยตลอดการดำเนินโครงการกว่า 180 วัน หน่วยงานที่รับผิดชอบสามารถรับแจ้งเหตุมากกว่า 700 เคส โดยเหตุที่ได้รับแจ้งมากที่สุดคือ ไฟฟ้าสาธารณะดับ ซึ่งระบบดังกล่าวนอกจากประชาชนได้รับการแก้ปัญหาที่เร็วขึ้นแล้ว ผู้มีส่วนในการบริหารเมืองสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อวางแผน และแก้ปัญหาในระยะยาวต่อไป
ด้านบริการภาครัฐ ทำการออกแบบระบบงาน (Software Design Document) ให้สามารถเชื่อมโยงการรับและส่งข้อมูลของเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ ลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ เช่น จำนวนกล้อง CCTV ถังดับเพลิง และเสาไฟส่องสว่าง ทำให้ติดตามสถานะของปัญหาและจัดการปัญหาให้กับประชาชนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ด้านการบริหารจัดการข้อมูลเมือง โดยการสร้างแดชบอร์ด (Dashboard) เพื่อรวบรวมและบริการจัดการปัญหาของเมือง เช่น ปัญหาไฟฟ้า ทางเท้าชำรุด ขยะสาธารณะ ฯลฯ ซึ่งช่วยให้ทำให้สามารถจัดลำดับความสำคัญในการแก้ไขปัญหาตามความเร่งด่วนและความถี่ที่เกิดขึ้นได้ นอกกจากนี้ยังมีแดชบอร์ดเกี่ยวกับข้อมูลทางด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน ข้อมูลความสูงพุ่มไม้ ข้อมูลด้านสัตว์เลี้ยง ทำให้ง่ายต่อจัดซื้อวัคซีนสัตว์เลี้ยงเพื่อให้บริการกับประชาชน รวมไปถึงข้อมูลด้านสวัสดิการของประชาชน ในกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งเจ้าหน้าที่จะสามารถทราบถึงตำแหน่งที่ตั้ง และจัดส่งทีมช่วยเหลือหรือให้บริการทางการแพทย์ได้อย่างเหมาะสมและทันเวลา
ทั้งนี้ โครงการสีคิ้วสมาร์ทลีฟวิ่ง (SIKHIO SMART LIVING) ถือเป็นอีกหนึ่งต้นแบบของการดำเนินงานด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทยที่มุ่งเน้นความสำเร็จที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของเมืองเอง ไม่ว่าจะเป็นผู้นำเมืองที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาเมือง การกำหนดนโยบายขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการ รวมถึงบริบทของเมืองเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างตรงจุดและยั่งยืน
อีริคสันประเทศไทยเปิดตัว 5G Innovation & Experience Studio ในโครงการ Thailand Digital Valley ยกระดับนวัตกรรม 5G และขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย
อีริคสันประเทศไทย เปิดตัว 5G Innovation & Experience Studio ภายในโครงการ Thailand Digital Valley อย่างเป็นทางการ โดยสตูดิโอนี้ถูกออกแบบเพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี 5G ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างกรณีศึกษายูสเคสใหม่ ๆ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย ด้วยเครือข่าย 5G ที่ทันสมัยและยั่งยืน
ความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) นี้จะเป็นหมุดหมายสำคัญในการพัฒนาโซลูชันที่ล้ำสมัย อาทิ หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ (AMR) และเทคโนโลยีกล้อง CCTV 360 องศา เพื่อแสดงศักยภาพของ 5G ที่จะเปลี่ยนแปลงภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจในอนาคต
มร.แอนเดอร์ส เรียน ประธานอีริคสันประเทศไทย กล่าวถึงความสำคัญของ 5G ในการสร้างสรรค์บริการใหม่ ๆ สำหรับทั้งผู้บริโภคและองค์กร โดยมุ่งมั่นทำงานร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์สูงสุดจากโครงข่าย 5G
ทั้งนี้ อีริคสันยังคาดการณ์ว่าในปี 2572 ผู้ใช้ 5G จะเติบโตถึง 60% ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั่วโลก พร้อมกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ประกาศผล 10 สุดยอดผลงานนวัตกรรมดิจิทัล จาก 100 ทีมที่เข้าร่วมสมรภูมิประชันไอเดีย Coding War เวทีแข่งขันทักษะโค้ดดิ้งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ภายใต้โครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย พร้อมมอบรางวัลอุปกรณ์ดิจิทัลและทุนการศึกษา มูลค่ารวมกว่า 1.7 ล้านบาท โดยมี ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า เป็นประธานมอบรางวัล ณ MCC HALL เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ กรุงเทพฯ
กิจกรรมการแข่งขัน Coding War เวทีการแข่งขันทักษะโค้ดดิ้งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยดำเนินการใน 8 ภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อเฟ้นหาสุดยอดทีมตัวแทนภูมิภาค จำนวน 100 ทีมเข้าร่วมแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงรางวัลรวมมูลค่ากว่า 1.7 ล้านบาท ซึ่งทีมผู้ชนะเลิศระดับมัธยมศึกษาจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขัน Seoul International Invention Fair 2024 (SIIF 2024) ณ สาธารณรัฐเกาหลี
รางวัลการแข่งขัน Coding War แบ่งเป็น 2 ระดับ ประกอบด้วย ระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา โดยผลการแข่งขัน มีรายละเอียด ดังนี้
ระดับประถมศึกษา
รางวัลชนะเลิศ รับธง CHAMPIONS อุปกรณ์ส่งเสริมการเรียนรู้ดิจิทัล พร้อมเงินรางวัลรวมมูลค่า 83,860 บาท และเงินสนับสนุนจาก แบรนด์ซุปไก่สกัด มูลค่ารวม 130,000 บาท พร้อมรางวัลสนับสนุนจาก บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น มูลค่ารวม 7,960 บาท ผู้ชนะได้แก่ ทีม KP Robot โรงเรียนขจรเกียรติพัฒนา จ.ภูเก็ต
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รับธง 1st RUNNER UP อุปกรณ์ส่งเสริมการเรียนรู้ดิจิทัล รวมมูลค่า 47,280 บาท รางวัลสนับสนุนจาก แบรนด์ ซุปไก่สกัด มูลค่ารางวัลรวม 30,000 บาท และรางวัลสนับสนุนจาก บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น มูลค่ารางวัลรวม 7,960 บาท ผู้ชนะได้แก่ ทีม โรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองคู โรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองคู จ.ขอนแก่น
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 รับธง 2nd RUNNER UP อุปกรณ์ส่งเสริมการเรียนรู้ดิจิทัล รวมมูลค่า 21,980 บาท รางวัลสนับสนุนจาก แบรนด์ ซุปไก่สกัด มูลค่ารางวัลรวม 20,000 บาท และรางวัลสนับสนุนจาก บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น มูลค่ารางวัลรวม 7,960 บาท ผู้ชนะได้แก่ ทีม KT KRUB โรงเรียนขจรเกียรติถลาง จ.ภูเก็ต
รางวัลชมเชย รับธง HONORABLE MENTION อุปกรณ์ส่งเสริมการเรียนรู้ดิจิทัล รวมมูลค่า 8,000 บาท รางวัลสนับสนุนจาก แบรนด์ ซุปไก่สกัด มูลค่ารางวัลรวม 5,000 บาท และรางวัลสนับสนุนจาก บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น มูลค่ารางวัลรวม 3,996 บาท ผู้ชนะได้แก่ ทีม Watmai Robotic โรงเรียนวัดใหม่เนินพยอม จ.ชลบุรี และ ทีม KT GEN IT โรงเรียนกวางตง จ.สุโขทัย
ระดับมัธยมศึกษา
รางวัลชนะเลิศ รับธง CHAMPIONS และเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันในงาน Seoul International Invention Fair 2024 ณ สาธารณรัฐเกาหลี พร้อมรับอุปกรณ์ส่งเสริมการเรียนรู้ดิจิทัล และเงินรางวัลรวมมูลค่า 108,860 บาท รางวัลสนับสนุนจาก แบรนด์ ซุปไก่สกัด มูลค่ารางวัลรวม 190,000 บาท และรางวัลสนับสนุนจาก บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น มูลค่ารางวัลรวม 7,960 บาท ผู้ชนะได้แก่ ทีม โรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระบรมราชูปถัมภ์ โรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรุงเทพมหานคร
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รับธง 1st RUNNER UP อุปกรณ์ส่งเสริมการเรียนรู้ดิจิทัล รวมมูลค่า 59,900 บาท รางวัลสนับสนุนจาก แบรนด์ซุปไก่สกัด มูลค่ารางวัลรวม 50,000 บาท และรางวัลสนับสนุนจาก บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น มูลค่ารางวัลรวม 7,960 บาท ผู้ชนะได้แก่ ทีม SenseVision โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ และทีม COOK3R โรงเรียนปิยะมหาราชาลัย จ.นครพนม
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 รับธง 2nd RUNNER UP อุปกรณ์ส่งเสริมการเรียนรู้ดิจิทัล รวมมูลค่า 19,480 บาท รางวัลสนับสนุนจาก แบรนด์ ซุปไก่สกัด มูลค่ารางวัลรวม 20,000 บาท และรางวัลสนับสนุนจาก บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น มูลค่ารางวัลรวม 7,960 บาท ผู้ชนะได้แก่ ทีม หลานม่าบ๊อกซ์ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ทีม หม่ำ เท่ง โหน่ง โรงเรียนศรียานุสรณ์ จ.จันทบุรี ทีม E-Care โรงเรียนมารีย์วิทยา จ.นครราชสีมา และ ทีม Catch Me by the ACR โรงเรียนอัสสัมชัญระยอง จ.ระยอง
รางวัลชมเชย รับธง HONORABLE MENTION อุปกรณ์ส่งเสริมการเรียนรู้ดิจิทัล รวมมูลค่า 8,000 บาท รางวัลสนับสนุนจาก แบรนด์ ซุปไก่สกัด มูลค่ารางวัลรวม 10,000 บาท และรางวัลสนับสนุนจาก บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น มูลค่ารางวัลรวม 3,996 บาท ผู้ชนะได้แก่ ทีม TNNJ โรงเรียนสตรีภูเก็ต จ.ภูเก็ต และ ทีม ปลากระดี่แม่น้ำฮวงโห โรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.depa.or.th, CodingforBetterLife.com และเฟซบุ๊กเพจ depa Thailand และCodingThailand by depa