November 27, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 6847

คาดการณ์ธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมรอบนี้ ส่งผลบวกต่อทุกสินทรัพย์ในระยะยาว มองเดือนกันยายนเป็นจังหวะทยอยสะสม “หุ้นเทคโนโลยี – หุ้นไทย – บิทคอยน์” โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเอไอที่ผลประกอบการไตรมาสล่าสุดเติบโตแทบทุกราย ส่วนบิทคอยน์มีสัญญาณบวกจากสถิติเดิม ปีที่เกิด Halving ราคาจะสิ้นสุดการพักฐานในเดือนกันยายนก่อนจะสร้างผลตอบแทนเป็นบวกสามเดือนติดต่อกัน ขณะที่หุ้นไทยเริ่มมีปัจจัยบวกหนุน

นายณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS) สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ เปิดเผยว่า ปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนต้องจับตาในเดือนกันยายนนี้ คือการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาที่จะมีขึ้นในวันที่ 18 -19 กันยายนนี้ โดยประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ส่งสัญญาณมาก่อนหน้านี้แล้วที่การประชุมแจ็คสันโฮลว่านโยบายการเงินมีโอกาสที่จะเปลี่ยนทิศทางมาเป็นการลดดอกเบี้ยถ้าหากตัวเลขเศรษฐกิจอ่อนแอลง

ทั้งนี้ การประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Non-Farm Payroll) สัปดาห์ที่ผ่านมาออกมาต่ำกว่าที่คาดค่อนข้างมาก ทำให้ตลาดมีความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยจนต้องลดดอกเบี้ยในอัตรา 0.5% ในการประชุมเดือนนี้ทันที จึงเกิดแรงเทขายในตลาดหุ้นและสินทรัพย์อื่น ๆ

อย่างไรก็ตามคาดว่าตลาดได้ซึมซับกับข่าวและความน่าจะเป็นที่จะใช้ยาแรงด้วยการลดดอกเบี้ย 0.5% ไปแล้ว ถ้าหากการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อ หรือ CPI Index ในสัปดาห์นี้ออกมาต่ำกว่าที่คาดมากก็ไม่น่าจะสร้างความตกใจให้กับตลาดได้มากกว่านี้

“ในระยะกลาง การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มที่จะลดดอกเบี้ยลงจะเป็นผลดีต่อตลาดการลงทุนทั้งหมด แต่ในระยะสั้นอาจยังมีความผันผวน ถึงอย่างไรการที่ตลาดหุ้นและสินทรัพย์การลงทุนอื่นปรับฐานลงมาในช่วงเดือนกันยายน ถือเป็นโอกาสในการทยอยเข้าสะสม เพราะจากสถิติทุกปี เดือนกันยายนตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด แต่หลังจากนั้นในไตรมาสที่สี่จะสามารถสร้างผลตอบแทนได้เป็นอย่างดี”

โดยเฉพาะดัชนี Nasdaq หากมีการปรับฐานลงมา มองเป็นโอกาสในการเข้าลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ทั้ง 7 ตัว รวมถึงหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเอไออื่น ๆ เพราะภาพรวมของการประกาศผลประกอบการของหุ้นที่เกี่ยวข้อง

กับเอไอ ยังคงทำได้ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดทั้งหมด รวมทั้งยังมองการเติบโตต่อในไตรมาสต่อไป แต่ราคาหุ้นปรับตัวลงมาเป็นไปตามภาวะตลาด

อาทิ หุ้น Nvidia ที่มีรายได้เพิ่มขึ้น 122% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของไตรมาสที่ผ่านมา กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า และรายได้จากธุรกิจศูนย์ข้อมูลของ Nvidia ซึ่งรวมถึงโปรเซสเซอร์ AI เพิ่มขึ้น 154% จากปีที่ผ่านมา เป็นแรงหนุนสำคัญให้กับหุ้นเทคโนโลยีอื่น ๆ

ขณะที่หุ้น Tesla นักลงทุนกำลังมองข้ามยอดขายของรถยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตลดลง และให้ความสำคัญกับการเปิดตัวธุรกิจใหม่ คือ Robotaxi หรือ แท็กซี่แบบไร้คนขับ ซึ่งถูกคาดหมายว่าจะเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้และทำกำไรให้กับ Tesla ในยุคต่อไป

ด้านสินทรัพย์อื่น ๆ ที่จะได้ประโยชน์จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มลดดอกเบี้ยในช่วงเดือนกันยายนสามารถที่จะทยอยเข้าลงทุนได้ เช่น ทองคำ และบิทคอยน์ จากสถิติที่ผ่านมา ปีที่เกิดการ Halving และมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ราคาบิทคอยน์จะจบการปรับฐานในเดือนกันยายนและจะให้ผลตอบแทนเป็นบวกตลอดสามดือนสุดท้ายของปี และยังมีโอกาสที่จะเป็นขาขึ้นต่อเนื่องในปี 2025 จึงสามารถทยอยเข้าสะสมได้ โดยมีแนวรับไม่ต่ำกว่า 49,000 ดอลลาร์

ทางด้านตลาดหุ้นไทย เริ่มมีปัจจัยบวกเข้ามาไม่ว่าจะเป็นการได้รัฐบาลใหม่ การตั้งกองทุนวายุภักษ์ จนทำให้ดัชนี SET Index ปรับตัวขึ้นค่อนข้างแรงในสัปดาห์ที่ผ่านมา ในแง่ทางเทคนิคมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นแตะ 1,500 จุด ในปีนี้ เพราะมีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นขนาดใหญ่เป็นหลัก มองว่าเป็นโอกาสในการเข้าลงทุนในรูปแบบของการเก็งกำไรไปจนถึงสิ้นปีนี้ได้ แต่หลังจากนั้นต้องจับตาการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ว่าจะทำให้จีดีพีสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง หรือไม่

“คาดว่าช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ตลาดการลงทุนมีโมเมนตัมที่ดีจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีโอกาสสูงที่จะเริ่มต้นลดดอกเบี้ย หลังจากนั้นต้องมาติดตามผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่าจะมีผลต่อสินทรัพย์ใดต่อไป”

ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2.25% เป็น 2.50% ต่อปี โดยมีผลเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 นั้น เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและแนวโน้มเศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัวสูงขึ้น ตลอดจนอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นเช่นกันในปี 2567 ธนาคารไทยพาณิชย์จึงประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในอัตราสูงสุด 0.30% ต่อปี เพื่อช่วยส่งเสริมการออมเงินและช่วยให้ผู้ฝากเงินมีรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น พร้อมกับปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR MLR และ MOR 0.25% ต่อปี เพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งผ่านการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงเป็นการปรับให้อัตราดอกเบี้ยของธนาคารอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์โดยรวม ทั้งนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อแม้คาดว่าจะยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ก็น่าจะปรับตัวสูงขึ้นในปีหน้าจากปัจจัยทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน และเพื่อให้สอดคล้องกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. รวมถึงเป้าหมายของธนาคารที่จะเป็น Digital Bank with Human Touch ทางธนาคารจึงได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ดิจิทัลและเงินฝากประเภทไม่มีสมุด รวมถึงเงินฝากประจำ โดยปรับเพิ่มขึ้น 0.10% - 0.30% ต่อปี และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อสะท้อนต้นทุนทางการเงินในระบบที่สูงขึ้น โดยปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 7.05% เป็น 7.30% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (Minimum Loan Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.80% เป็น 7.05% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 7.325% เป็น 7.575% ต่อปี โดยอัตราดอกเบี้ยใหม่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

ธนาคารพร้อมให้การสนับสนุนลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยยังคงมาตรการพิเศษในการช่วยเหลือด้านต่างๆ สำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีความเปราะบาง พร้อมคำนึงถึงศักยภาพและโอกาสในการปรับตัวของลูกค้าในอนาคต สำหรับลูกค้าที่ประสงค์จะขอรับความช่วยเหลือหรือคำปรึกษาสามารถติดต่อธนาคารได้ที่ศูนย์บริการลูกค้าธนาคารไทยพาณิชย์ SCB Call Center 02-777-7777

TMB Analytics คาดว่าจากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้เกินระดับศักยภาพทำให้เงินเฟ้อเริ่มปรับสูงขึ้น พฤติกรรมการลงทุนที่เปลี่ยนไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น อีกทั้งการรักษา policy space เพื่อรับมือกับความเสี่ยงในอนาคต จะสนับสนุนให้ กนง. ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ในช่วงไตรมาสสี่ของปีนี้

การรักษา policy space เป็นเรื่องสำคัญในการดำเนินนโยบายการเงิน ในสภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดีและเงินเฟ้อเริ่มขยับขึ้นจากอุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่เศรษฐกิจต้องเผชิญความเสี่ยงที่จะสูงขึ้นในอนาคต ทั้งจากเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะเริ่มชะลอลงในปีหน้า สงครามการค้าระหว่างสองประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐฯ อีกทั้งยังมีความกดดันจากสภาพคล่องในตลาดการเงินโลกที่ลดลงจากการนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นของธนาคารกลางหลัก

ในอนาคต การชะลอของเศรษฐกิจโลกอาจฉุดให้เศรษฐกิจไทยชะลอตามไปด้วย ถึงตอนนั้นอาจต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม หากลดดอกเบี้ยในขณะที่สภาพคล่องในตลาดเงินโลกลดลง และความเชื่อมั่นของนักลงทุนสั่นคลอนจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อาจทำให้ไทยต้องเผชิญกับเงินทุนไหลออกรุนแรงและฉับพลัน

โดยหากไทยไม่มีการสะสม policy space หรือขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในตอนนี้ เมื่อเกิดวิกฤติขึ้นในอนาคต ธปท. อาจต้องลดดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% หมายความว่าดอกเบี้ยจะลดลงไปอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 1.25% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ที่ไทยเคยมีอัตราดอกเบี้ยนโยบายมา อาจยิ่งทำให้เงินทุนไหลออกรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงและเงินสำรองระหว่างประเทศที่คาดว่าจะลดลงจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวของไทยที่ขยายตัวช้าลงตามการชะลอของเศรษฐกิจโลก อีกทั้งการสนับสนุนให้มีการลงทุนภายในประเทศเพิ่มขึ้นทำให้ต้องนำเข้าเครื่องจักรและสินค้าทุนจำนวนมาก

หากลองเทียบเคียงกับช่วงไตรมาสสองของปีนี้ ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯหรือเฟดปรับแผนการขึ้นดอกเบี้ยจาก 3 เป็น 4 ครั้งในปีนี้ และสหรัฐฯออกมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติมกับจีน แม้ไทยไม่ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายและยังมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลและเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง แต่นักลงทุนก็ยังไม่มั่นใจและถอนทุนออกจากตลาดหุ้นและบอนด์ไทยสุทธิกว่า แสนล้านบาท ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงกว่า 6% จากสิ้นไตรมาสที่ 1

นอกจากนี้ หากมองในแง่ของคนที่ออมเงินหรือคนที่อยากลงทุน อัตราผลตอบแทนที่ลดต่ำลงและคงอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานอาจลดแรงจูงใจในการออม หรืออาจไปกระตุ้นให้นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงขึ้นเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยที่นักลงทุนไม่ได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงดังกล่าวอย่างถี่ถ้วน และอาจทำให้นักลงทุนไทยบางส่วนนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศที่อัตราดอกเบี้ยสูงกว่า เป็นการนำการออมของประเทศไปสนับสนุนการลงทุนของประเทศอื่นแทน

ยกตัวอย่าง กองทุนรวม FIF (Foreign Investment Fund) ที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด หากนับตั้งแต่อัตราดอกเบี้ยเริ่มเป็นขาลงในปี 2012 จนถึงสิ้นปัจจุบันมูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้นกว่า 3 แสนล้านบาท หรือ คิดเป็นสัดส่วนถึง 6% ของเศรษฐกิจไทย และยังมีความเสี่ยงจาก “การกระจุกตัวของการลงทุน (Concentration Risk)” ที่นักลงทุนอาจไม่ตระหนักถึง

ดังนั้น TMB Analytics มองว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อเพิ่ม policy space ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีและอัตราเงินเฟ้อกลับเข้ากรอบเป้าหมายแล้ว เพื่อเตรียมรับมือความเสี่ยงที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคตจากเศรษฐกิจโลกที่จะชะลอลง แต่จะเป็นการขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอยู่ที่ระดับ 1.75% และ 2.25% ณ สิ้นปี 2018 และ 2019 ตามลำดับ

 

X

Right Click

No right click