November 21, 2024

มนุษย์เราอยู่รอดได้ด้วย 3 สิ่ง คือ อาหาร น้ำ และพลังงาน

ที่เหลือมนุษย์ล้วนผลิตขึ้นมาได้  ยิ่งพลังงานด้วยแล้ว ถ้ามีมากและใช้ให้เป็น ก็จะนำมาช่วยผลิตอาหารและน้ำได้จนเพียงพอแก่การบริโภค

 

ประเทศไทยเราโชคดีที่มีอาหารและน้ำเหลือเฟือ แต่พลังงานนั้นเป็นปัญหามาโดยตลอด 

เพราะเราต้องนำเข้าพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าส  และราคาของเหล่านี้ มักขึ้นต่อ Geopolitics หรือการเมืองของโลก  รัสเซียบุกยูเครน ราษฏรของเราก็ต้องซื้อข้าวแพงขึ้น

OPEC ลดการผลิต เราก็ต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และปีหน้าก็ต้องเติมน้ำมันแพงขึ้นอีก

นี่ยังไม่รู้ว่าฮามาสรบกับอิสราเอล จะส่งผลระยะยาวอย่างไรต่อราคาพลังงาน

แต่เชื่อเถอะ ไม่ดีต่อเราแน่ๆ !

คงไม่เฉพาะแต่เรา ประเทศส่วนใหญ่ในโลกที่ผลิตพลังงานเองไม่ได้ หรือได้ไม่พอใช้ ย่อมต้องเจอผลกระทบทางลบทั้งสิ้น

แล้วทำไมเรายังต้องแขวนชะตากรรมของเรากับ Geopolitics แบบนี้ ซึ่งวุ่นวายอยู่ได้ด้วยน้ำมือผู้นำเพียงไม่กี่กลุ่ม และอดีตก็พิสูจน์มาแล้วว่า แหล่งพลังงานมักเป็นเป้าหมายของการรบพุ่งกัน และมันก็คงจะทำให้เกิดความขัดแย้งกันไปไม่สิ้นสุดในอนาคต

แต่ละครั้ง พวกเราก็ต้องพลอยลำบากไปด้วย เหมือนถูกเขาจับเป็นตัวประกัน ทั้งๆ ที่หาได้เกี่ยวข้องได้เสียอันใดไม่

เราต้องปลดแอก! 

เราต้องวางแผนให้การผลิตพลังงานของเราในอนาคต มีลักษณะไม่รวมศูนย์ หรือ Decentralize ตีตัวออกห่างจากการเมืองในลักษณะ Geopolitics ของโลก ซึ่งในอนาคตจะเข้มข้นขึ้นเมื่อจีนเข้ามาเป็นผู้เล่นเต็มตัว

 ทางเดียวที่จะทำได้คือต้องหันไปหาพลังงานนิวเคลียร์ เพราะมันสะอาด สอดคล้องกับการแก้ปัญหาโลกร้อน อีกทั้งยังผลิตได้ทีละมากๆ และเริ่มจะถูกลงและปลอดภัยขึ้นแล้วด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ

 

พลังงานนิวเคลียร์ที่เป็นอุดมคติคือ Nuclear Fusion ซึ่งขณะนี้มนุษย์สามารถพัฒนา Reactor ขึ้นมาได้แล้วในระดับห้องทดลองแต่ในระดับ Commercial นั้นยังต้องรอต่อไป

Nuclear Fusion Technology เป็นเทคโนโลยีของดวงอาทิตย์ เชื่อกันว่าดวงอาทิตย์เปล่งความร้อนด้วยวิธีนี้

 นั่นคือการรวมตัวของนิวเคลียสจากสองให้เหลือเพียงหนึ่ง ภายใต้อุณหภูมิที่สูงมากๆ โดยกระบวนการนี้จะเปล่งพลังงานออกมาจำนวนมากด้วย

มีการทดลองกับธาตุหลายชนิด แต่ที่น่าสนใจคือ Proton-boron (pB-11) เพราะผลลัพธ์ที่ได้ติดมาแค่ฮีเลียม (Helium) เพียง 3 นิวเคลียส ที่เหลือล้วนเป็นพลังงานสะอาด ปราศจากกากกัมมันตภาพรังสี หรือ Radioactive Waste แม้แต่น้อย

สิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่ในระยะห้องทดลอง แต่ก็มีพัฒนาการขึ้นเรื่อยๆ ความก้าวหน้าทางด้านวัสดุศาสตร์และ AI น่าจะช่วยสร้างสนามแม่เหล็กที่สามารถควบคุมปฏิกิริยาพลาสม่าในเตาปฏิกรณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น จนสามารถนำมาใช้งานจริงได้ในเร็ววัน

 

ส่วนพัฒนาการของ Nuclear Fission Reactor นั้น เครื่องปฏิกรณ์รุ่นใหม่ ที่เรียกว่า Third-generation Reactor ก็ได้เพิ่มระบบความปลอดภัยที่สูงมาก และการออกแบบโรงไฟฟ้าสมัยนี้ ก็คำนึงถึงอุบัติเหตุจากภัยธรรมชาติ เช่น ซึนามิและแผ่นดินไหว ซึ่งเคยทำให้เครื่องปฏิกรณ์ที่ฟูกูชิมาแตกมาแล้ว

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใช้เทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์รุ่น 3 อยู่ในจีนและอินเดีย จำนวนเกือบ 10 โรง  ปัจจุบันการออกแบบและผลิตเตาปฏิกรณ์โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ (Fourth-generation Reactor) เช่น sodium-cooled fast reactors (SFRs), gas-cooled fast reactors (GFRs), very high temperature reactors (VHTRs), and molten salt reactors (MSRs) ก็พบว่าทดลองแล้วได้ผลดี  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์แบบกระทัดรัด ที่เรียกว่า SMR (Small Modular Reactor) นั้น จะปลอดภัยยิ่งขึ้นไปอีก และจะลดต้นทุนได้มาก เพราะราคาถูกลงแยะ และผลิตได้ทีละมากๆ ขนย้ายไปติดตั้งได้ง่าย ซึ่งผู้พัฒนา (NuScale) ได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ เรียบร้อยแล้ว


การเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของผู้ขับขี่รุ่นใหม่ ที่หันมาใช้รถยนต์ EV แทนรถยนต์แบบสันดาบภายใน การอุบัติขึ้นของ Generative AI ในนาม ChatGpt ส่งผลให้องค์กรทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐทั่วโลกวางแผนที่จะนำ AI มาประยุกต์ใช้กับงานของตนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน การเพิ่มจำนวนหุ่นยนต์ที่ควบคุมโดย AI ในภาคการผลิตและภาคบริการ กระแสความนิยมขององค์กรภาคธุรกิจและภาครัฐต่อการเคลื่อนย้ายข้อมูลและซอฟท์แวร์ขึ้นไปอยู่บน Cloud Computer (เทรนด์นี้เรียกว่า Digital Transformation) ตลอดจนขนาดของการสร้าง เคลื่อนย้าย และจัดเก็บ ข้อมูลในยุค 5G, 6G, 7G…..

เหล่านี้ย่อมต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล เพราะคอมพิวเตอร์ต้องเพิ่ม หน่วยความจำและหน่วยประมวลผลต้องเพิ่ม ศูนย์ข้อมูลหรือ Data Center และ จุดชาร์ตแบตเตอรี่รถยนต์และพาหนะ EV ทั้งปวง ก็ต้องเพิ่ม และจะเป็นการเพิ่มแบบก้าวกระโดดในอนาคตอันใกล้เสียด้วย เพราะ Adoption Rate ของ EV และ AI เพิ่งอยู่ในขั้นเริ่มต้นและกำลังจะ Take-off

 สิ่งเหล่านี้เป็นคำตอบอยู่ในตัวว่าไทยเรายังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล และทุกข์ของเราจะไม่หมดไป ถ้ายังไม่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง

โดย ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว / Editor in Chief _MBA magazine

09/10/2566

 สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) จตุจักร กรุงเทพฯ: ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ เรื่องความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาวิทยาการระบบและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ เกษตร และพลังงานของประเทศ โดยมี ดร.รอยล จิตรดอน ที่ปรึกษา สสน. ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ รองผู้อำนวยการ สสน. พร้อมด้วย ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช. และ ดร.ปิยวุฒิ ศรีชัยกุล รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. เข้าร่วมงาน

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. พร้อมสนับสนุนความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาวิทยาการระบบและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ เกษตร และพลังงานของประเทศ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่มีการพัฒนาขึ้นมากในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา โดย สวทช. ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนางานวิจัยดังกล่าว ทำให้ประเทศสามารถสร้างเทคโนโลยีด้านการบริหารจัดการน้ำ เกษตรและพลังงานโดยสามารถขยายเครือข่ายงานวิจัยได้อย่างกว้างขวางและยั่งยืน

ทั้งนี้ความร่วมมือล่าสุดของสองหน่วยงาน จะร่วมมือภายใต้โครงการแพลตฟอร์ม Thailand Agricultural Data Collaboration Platform (THAGRI) เพื่อสนับสนุนการวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ภาคการเกษตร ซึ่ง สสน.ได้อนุเคราะห์ข้อมูลคาดการณ์น้ำระยะกลาง (1 - 3 เดือน) มาแบ่งปันให้กับนักพัฒนาบนระบบ THAGRI เพื่อให้นักพัฒนาหรือผู้สนใจนำข้อมูลการคาดการณ์น้ำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ ขณะที่ สวทช. มีผู้เชี่ยวชาญและเครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์ LANTA อันดับหนึ่งในอาเซียน ด้วยประสิทธิภาพในการคำนวณที่สูงถึง 8.1 พันล้านล้านคำสั่งต่อวินาที ที่สามารถรองรับการใช้งานได้กับหัวข้อวิจัยที่สำคัญและหลากหลาย เพื่อสนับสนุนนักวิจัยในการสร้างนวัตกรรมให้กับภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม อาทิ การจำลองสภาพภูมิอากาศตามเวลาจริงโดยใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม และความหลากหลายทางระบบนิเวศวิทยาของไทย เป็นต้น

“ที่ผ่านมา สสน.และ สวทช. มีความร่วมมือในโครงการวิจัยและพัฒนาระบบการคัดเลือกพันธุ์ให้เหมาะสมกับพื้นที่และฤดูกาลปลูกด้วยข้อมูลทางพันธุกรรมและสภาพแวดล้อม (RiceFit) โดย สวทช. ได้ใช้ข้อมูลด้านปริมาณน้ำจาก สสน. มาประกอบในการคัดเลือกพันธุ์ปลูกที่เหมาะสมต่อสถานที่และฤดูกาล เพื่อลดความเสี่ยงในการผลิต นอกจากนี้ในโครงการบูรณาการข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการ

ใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการเกษตร (What2Grow) ซึ่งได้จัดทำแผนที่เกษตรเชิงรุก หรือ ระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกออนไลน์ (AgriMap) ยังได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลจากระบบโทรมาตรของ สสน. มาแสดงผลในชั้นแผนที่ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบให้เกษตรกรสามารถเลือกพืชที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่ที่ต้องการปลูกได้สะดวกขึ้น” ผู้อำนวยการ สวทช. ระบุ

ด้าน ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการ สสน. กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ สสน. มีแนวทางดำเนินงานให้เกิดความร่วมมือ ด้วยการเพิ่มศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย งานพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม ด้านการบริหารจัดการน้ำ เกษตร และพลังงานในทุกภาคส่วน พร้อมส่งเสริม สนับสนุน แลกเปลี่ยน และถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยจะขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ เกษตร และพลังงาน ร่วมกับ สวทช. ตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดกลไกการดำเนินงานที่เชื่อมโยง สอดรับแนวนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติ ให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ นำไปสู่การสร้างประโยชน์ด้านการบริหารจัดการน้ำ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อย่างมั่นคงและยั่งยืน

“ลุมพินี วิสดอม” ระบุ พลังงาน-สิ่งแวดล้อม-สุขภาพเป็นสินค้าที่มาแรงในปี 2566 

X

Right Click

No right click