อยากรู้ว่าทรัมป์จะหันเหโลกานุวัตรไปทางใด โดยจีนจะมีทางเลือกในการปรับตัวแบบไหน และจะกระทบตำแหน่งของไทยอย่างไรในรอบนี้ ต้องอ่าน!
หนังสืองามๆ เล่มใหม่ สดๆ ร้อนๆ Designed by Apple in California ที่ Apple เพิ่งนำออกจำหน่าย เพื่อให้บรรดาสาวกได้ซื้อหามาสะสม นับเป็นผลลัพธ์ของระบบ (ที่เรียกกันแบบคลุมๆ ว่า) Globalization ซึ่งเป็นตัวกำหนดเกมของโลกอยู่ในทุกวันนี้
หาก Donald J. Trump เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในกลางเดือนมกราคมที่กำลังจะถึงนี้ แล้วสามารถนำนโยบายที่เคยหาเสียงไว้มาปฏิบัติเป็นนโยบายรัฐบาลได้ตามนั้น โดยรัฐสภาสหรัฐฯ (Congress) ไม่คัดค้านหรือปรับเปลี่ยนแก้ไขในสาระสำคัญ แล้วละก็
ระบบ Globalization ที่กำลังเป็นอยู่เวลานี้ จะถูกปรับเปลี่ยนเสียใหม่ และ Players ทุกฝ่ายย่อมต้องได้รับผลกระทบ
ประเทศไทยเรา ก็เป็น Player หนึ่ง ที่แขวนผลประโยชน์ไว้กับระบบนี้ (อย่าลืมว่าเศรษฐกิจของเราพึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก)
ถ้าระบบนี้เปลี่ยน ชะตาของเราย่อมเปลี่ยน
ดังนั้น ถ้าเรามองทะลุถึงการเปลี่ยนแปลง ก็อาจจะสามารถ Position ตัวเอง ให้อยู่ในจุดที่ไม่เสียประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าจะให้ดีกว่านั้น ก็ต้องสามารถเอาประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงรอบนี้ ให้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ทว่าก่อนอื่น เราต้องรู้ให้ได้เสียก่อนว่า ระบบมันจะเปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตาไปเป็นแบบไหน และ Players สำคัญที่ค่อนข้างมีอิทธิพลต่อชะตาของเราอย่างจีน จะมีทางเลือกในการปรับเปลี่ยนนโยบายของตัวเอง อย่างไรบ้าง
ผมจะลองฉายภาพการเปลี่ยนแปลงในอนาคตให้ท่านได้คิดตาม และในระหว่างนั้น ท่านก็จะรู้ได้เองว่า ไทยเราควรจะตั้งรับกับรอบนี้ยังไง
Globalization ที่ออกแบบโดยอเมริกัน แต่จีนได้ไปเต็มๆ
“This is a book with very few words.” Jonathan Ive ดีไซเนอร์ใหญ่ของ Apple เกริ่นไว้ในคำนำของหนังสือ Designed by Apple in California ของสะสมชิ้นล่าสุดที่ Apple พิมพ์ออกมาขายให้กับสาวกได้ซื้อเก็บกัน
หนังสืออันหนา 300 หน้าเล่มนี้ มีรูปผลิตภัณฑ์ของ Apple จำนวนมาก นับแต่ปี 1998 จนถึง 2015 แถมยังมีรูปของเครื่องไม้เครื่องมือสวยๆ เท่ๆ ที่ใช้ในการผลิตหรือออกแบบผลิตภัณฑ์เหล่านั้นอีกด้วย
แฟนๆ Apple ที่ได้มีโอกาสจับต้องเชยชมหนังสือเล่มนี้แล้ว คงเห็นตรงกันกับผมว่ามันเป็นงานซึ่งประณีตมาก ตั้งแต่รูปถ่าย ดีไซน์และจัดหน้าเลย์เอาท์ กระดาษที่ใช้พิมพ์ หน้าปกที่ผสมผสานด้วยวัสดุพิเศษ (ผ้าลินิน) ตลอดจนการจัดพิมพ์ และการเข้าเล่ม สมกับราคาที่ตั้งไว้ 199 เหรียญฯ สำหรับเล่มเล็ก และ 299 เหรียญฯ สำหรับเล่มใหญ่
ประเด็นสำคัญที่ผมอยากชี้ให้เห็น คือหนังสือเล่มนี้ สำเร็จมาได้ด้วยเครือข่ายการสร้างงานและสร้างความมั่งคั่ง (Wealth Creation Process) ในระดับโลก คือโครงสร้างของ Global Value Chain และ Global Supply Chainดังต่อไปนี้ :
1. Jonathan Ive นักออกแบบใหญ่ของ Apple และทีมงานฝ่ายออกแบบ ช่วยกันออกแบบรูปแบบของหนังสือแต่ละหน้า ตลอดจนรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทั้งหมด รวมถึงการเลือกใช้กระดาษ วัสดุ และพัฒนากระดาษและหมึกพิมพ์พิเศษสำหรับหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะ ทั้งนี้เพื่อให้รูปภาพในหนังสือสะท้อนความเป็นจริงของตัวผลิตภัณฑ์ได้อย่างใกล้เคียงที่สุด ทั้งในแง่ของสีสันและความเงางามของพื้นผิว
2. Andrew Zuckerman ช่างภาพฝีมือดีที่ร่วมงานกับ Steve Jobs และเป็นผู้ถ่ายรูปผลิตภัณฑ์ Apple มาช้านาน รับผิดชอบด้านรูปถ่ายทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้
3. หนังสือเล่มนี้ พิมพ์ที่โรงพิมพ์ในประเทศจีน โดยกระบวนการพิมพ์ที่พวกเขาเรียกว่า “280 Line Screen Printing” และใช้หมึกพิมพ์ชนิดพิเศษซึ่งพัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะ ที่พวกเขาเรียกว่า “Custom Low Ghost Epple Inks”
4. กระดาษพิเศษที่ใช้พิมพ์หนังสือเล่มนี้ ทีม Apple เป็นผู้พัฒนา Spec แต่ผลิตโดยผู้ผลิตกระดาษในประเทศเยอรมนี โดยพวกเขาเรียกชื่อกระดาษพิเศษล็อตนี้ว่า “Apple-Specific” Heaven 42 Paper
5. บริษัท James Cropper ซึ่งตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักร (UK) เป็นผู้ร่วมวางแผนและพัฒนา (Contributor) สีพิเศษที่ใช้ในการพิมพ์ (“Color Plan, bespoke color.”)
6. และสุดท้ายคือ ผ้าลินินที่ใช้สำหรับหุ้มปกหนังสือนั้น ผลิตโดย Bamberger Kaliko แห่งเยอรมนี โดยใช้กระบวนการย้อมพิเศษโดยเฉพาะ หรือ “bespoke dye” (ข้อมูลเชิงการผลิตที่ผมเรียบเรียง
มานี้ ผมอ้างอิงจากภาคผนวกหรือ Appendix ของหนังสือเล่มดังกล่าว)
โดยผมเองได้สั่งซื้อหนังสือเล่มนี้ (ตั้งแต่วันที่เปิดให้จอง) ผ่านเว็บไซต์ของ Apple Store ในเมือง Los Angelesแล้วจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตของ VISA (ซึ่งเป็นกิจการของสหรัฐฯ) โดยสั่งให้เขาส่งไปยังที่อยู่ของเพื่อนผมซึ่งอาศัยอยู่ที่นั่น (เพราะไม่มีบริการส่งนอกอเมริกา) เสร็จแล้วเพื่อนผมค่อยส่งผ่าน UPS (ซึ่งก็เป็นกิจการ Courier Service ของสหรัฐฯ เช่นกัน) มาให้ผมที่เมืองไทยอีกทอดหนึ่ง
สำหรับคนไทยทั่วไปซึ่งไม่มีที่อยู่ในสหรัฐฯ ให้จัดส่ง แต่อยากได้หนังสือเล่มนี้มาครอบครอง โดยไม่ต้องรอฟังว่า Apple Store เมืองไทยจะได้โควต้ามาจำหน่ายสักกี่เล่มนั้น ก็สามารถเข้าไปซื้อบนเว็บไซต์ eBay ได้ทันที (eBay เป็นกิจการของสหรัฐฯ) เพราะว่ามีคนหัวใสไปกว้านซื้อมาขายโก่งราคาอีกทอดหนึ่ง โดยท่านต้องจ่ายเงินผ่าน PayPal (ซึ่งก็เป็นกิจการในเครือของ eBay) และเลือกใช้สายส่งเป็น USPS (ไปรษณีย์สหรัฐฯ) หรือไม่ก็ UPS, FedEx (เป็นกิจการของสหรัฐฯ) หรือ DHL (เป็นกิจการในเครือของไปรษณีย์เยอรมันหรือ Deutsch Post)
เห็นหรือยังว่า เรื่องราวของหนังสือเพียงเล่มเดียวนี้ สะท้อนให้เห็นถึงหน้าตาของระบบ Globalization ที่กำลังเป็นอยู่ในโลกนี้ ได้อย่างไรบ้าง
ว่าเฉพาะแต่สินค้าของ Apple ล้วนผลิตและวิภาคด้วยวิธีเดียวกันนี้ทั้งสิ้น จะมีผิดแผกบ้างก็เพียงรายละเอียดเล็กน้อยบางประการ เช่นผลิตภัณฑ์ยอดนิยมอย่าง iPhone หรือ iPad นั้น Apple ออกแบบเอง (ภายใต้การคิดและบริหารงานของ Ive ซึ่งเป็นคนอังกฤษ) และออกแบบวงจรและซอฟต์แวร์ควบคุมการทำงานโดยวิศวกรอเมริกัน (ซึ่งในทีมประกอบด้วยวิศวกรเก่งๆ จากทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเดียและรัสเซีย) สั่งซื้อ RAM และหน้าจอจากเกาหลีใต้หรือญี่ปุ่น (www.bloomberg.com/news/articles/2016-12-21/apple-s-search-for-better-iphone-screens-leads-to-japan-s-rice-fields) ซื้อ Hard Disc จากบริษัทอเมริกันที่มีโรงงานตั้งอยู่ในภาคอีสานของไทย แล้วส่งไปผลิตในจีน เพื่ออาศัยแรงงานที่พร้อมจะรับค่าจ้างราคาถูก (ซึ่งจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายของ Apple Inc. ต่ำและกำไรสูง) แต่ต้องสั่งซื้อวัสดุในการผลิตทั้งที่ผสมแล้วและเป็น Raw Material พื้นฐาน จากกิจการลูกของ Apple โดยเมื่อผลิตแล้วก็ขนส่งโดยสายส่งที่เป็นกิจการอเมริกัน ซึ่งมีกองคาราวานของสิงคโปร์หรือไต้หวันรับช่วงไปจัดการอีกทอดหนึ่ง เพื่อกระจายสินค้าไปตาม iStores ทั่วโลก ฯลฯ
หากท่านทำการบ้านอีกสักหน่อยและออกกำลังกายทางปัญญาอีกสักนิด ท่านผู้อ่านก็คงสามารถคำนวณได้คร่าวๆ ว่า ผลประโยชน์ของ Players แต่ละรายนั้น อยู่กันตรงไหนบ้าง ใครเป็นผู้กำหนดเกมนี้ และใครได้ใครเสียอย่างไร และใครน่าจะได้มากใครน่าจะได้น้อย หรือใครเหนื่อยน้อยแต่ได้มาก และใครเหนื่อยมากแต่ได้น้อย และใครได้มากได้น้อยเพราะอะไร ระหว่างความรู้ความชำนาญกับหยาดเหงื่อแรงงานนั้น ใครได้มากกว่ากัน และแบ่งกันไปอย่างไร โดยความรู้ความชำนาญนั้นเรียนทันกันได้หรือขโมยกันได้หรือไม่ และถ้าเรียนทันกันได้ ทั้งโดยการที่ผู้กุมความรู้นั้นเมตตาถ่ายทอดหรือยอมบอกความลับให้ (จะเป็นไปได้หรือไม่) หรือโดยการขโมย ครูพักลักจำ กอปรกับค้นคว้าวิจัยลองผิดลองถูกด้วยตัวเองแล้ว มันจะส่งผลอย่างไรต่อ Pattern ของการแข่งขัน และโครงสร้างของระบบโดยรวม... ฯลฯ
และแล้วก็มาถึงคำถามสำคัญว่า “ไทยเราอยู่ตรงไหนในสมการนี้?”
ใช่หรือไม่ ที่คนของเราเป็น “ผู้เสพ” / “ผู้บริโภค” ผลิตภัณฑ์ของ Apple ที่โดดเด่นไม่แพ้ชาติใด และได้มีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างความมั่งคั่งอันนี้ของ Apple ด้วยบ้าง โดยในกระบวนการนี้ เราได้รับเพียง “เศษเนื้อ” เป็นผลตอบแทน แต่เมื่อหักกับที่ต้องเสียไปเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้แล้ว เห็นได้ชัดว่าเราคงติดลบ...ใช่หรือไม่/อย่างไร?
อย่าลืมว่า (นอกจากความเก่งกาจในเชิงความคิดสร้างสรรค์และการคิดค้นนวัตกรรมของ Apple เองแล้ว) กระบวนการที่ถูกออกแบบมา ดังผมได้ว่าให้ฟังแบบคร่าวๆ แล้วนี้ ได้สร้างให้ Apple กลายเป็นกิจการที่มั่งคั่งที่สุดบนโลกใบนี้ โดยมีมูลค่ากิจการ (Market Capitalization) สูงที่สุดในโลกอยู่ช่วงหนึ่ง ส่งผลให้ผู้ถือหุ้น พนักงาน ตลอดจน Stakeholders ทั้งเครือข่ายมั่งคั่งขึ้นอย่างคณานับในรอบสิบกว่าปีมานี้
เอาเป็นว่า ก่อนจะไปกันต่อ เราลองกลับไปดูว่าระบบแบบนี้มันเกิดขึ้นมายังไงกันแน่ และใครได้ใครเสีย อย่างไรกันบ้าง
ย้อนไปเมื่อตอนปลายทศวรรษ 1980s ต่อต้นทศวรรษ 1990s หลังจากเหตุการณ์เทียนอันเหมินไม่นานนัก ผมได้ข้ามผ่านด่านจากฝั่งฮ่องกงเข้าไปที่เมืองเซินเจิ้น (ถ้าจะพูดให้เคร่งครัดก็ต้องบอกว่าเป็นด่านมาเก๊า) จำได้ว่าช่วงนั้นเป็นช่วงเทศกาลซึ่งต้องรอคิวนานเป็นชั่วโมง และระหว่างต่อแถวอยู่นั้น ก็มีคนจีนมาติดต่อ ขอให้ช่วย “หิ้ว” มอเตอร์ไซค์เข้าไปให้ด้วย โดยไม่ต้องทำอะไร เพียงแต่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ “จ๊อบ” พาสปอร์ต โดยพวกเขาจะกรอกเอกสารเองทั้งหมดแล้วให้เราลงชื่อ โดยเราจะได้รับค่าตอบแทนพอสมควร
ขณะนั้น เป็นเวลากว่าสิบปีแล้วที่จีนเริ่มเปิดประเทศ และเซินเจิ้น Take Off แล้ว มองไปทางไหนมีแต่ไซต์ก่อสร้าง ทั้งเมืองมีฝุ่นคละคลุ้ง ถนนหนทางกำลังใหญ่โตกว้างขวาง เต็มไปด้วยดินโคลน โรงแรมใหญ่ๆ ยังมีไม่มาก และการบริการยังเป็นแบบบ้านๆ อัตราแลกเปลี่ยนยังมี 2 อัตรา ตลาดมืดสูงกว่าปกติกว่า 30% ผู้คนยังดูยากจนกว่าไทย แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าราคาถูก หรือถ้าเป็นผู้คนที่ทำงานในภาคธุรกิจก็มักสวมชุดสูทโหลที่วางขายตามตลาด แบบเหมือนๆ กันไปหมด ภาพวาดที่วางขายให้กับนักท่องเที่ยว ยังคงเป็นสไตล์การวาดแบบทื่อๆ ไก่ นก เสือ โขดหิน ภูเขา ต้นไม้ น้ำตก แม่น้ำ ทะเล เรือลำน้อย และการใช้สี ยังคงเป็นแบบ Traditional Chinese-Cum-Communist Taste
ผมยังจำได้แม่นว่า ราคาอพาร์ตเมนต์ (โฆษณาว่าเป็น Luxury Apartment) ที่กำลังเปิดโครงการ (แต่ยังไม่ได้ลงมือสร้าง) อยู่แถวๆ ตลาด ไม่ไกลจากด่านชายแดนนัก ขนาดห้องไม่เล็กไม่ใหญ่ เทียบราคาแล้ว คิดเป็นเงินไทยในขณะนั้นประมาณ 350,000 บาท
ปัจจุบัน ผมไม่ทราบว่าราคาอพาร์ตเมนต์นั้นขึ้นไปกี่สิบเท่าแล้ว แต่รู้ว่าด่านตรงนั้นหายไปนานแล้ว และเซินเจิ้นก็ได้กลายเป็นมหานครที่ทันสมัย มีประชากรกว่า 15 ล้านคน และมีรายได้ต่อหัวสูงที่สุดในเมืองจีน เป็นฐานการผลิตสำคัญของโลก มีโรงงานที่ทันสมัยจำนวนมากมาย แถมยังเป็นที่ตั้งของตลาดหุ้นหนึ่งในสองของจีน ซึ่งเปรียบได้กับ NASDAQเพราะมีบริษัทเทคโนโลยีสำคัญๆ ของจีนจดทะเบียนอยู่แยะ และเมืองนี้ยังมีมหาเศรษฐีจีนอยู่ไม่น้อย ผู้คนสมัยนี้พูดจาด้วยความมั่นอกมั่นใจ จนบางครั้งออกจะ Arrogant อีกทั้งยังมีรายงานว่าได้บริโภค Luxury Brands ระดับโลก ปีนึงๆ ไม่น้อยเลย
เพียงสามสิบแปดปี ระบบ Globalization ช่วยให้เมืองที่เต็มไปด้วยแต่ทุ่งนา กระต๊อบ และชาวนา เฉอะแฉะ คมนาคมยากลำบาก ผู้คนส่วนใหญ่ยากจน กลายมาเป็นมหานครอันทันสมัย รุ่มรวย อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ได้อย่างไรกัน?
มิใช่แต่เพียงเซินเจิ้นเท่านั้นที่เจริญอย่างก้าวกระโดด ประเทศจีนโดยรวมเองก็เป็นแบบเดียวกัน จากประเทศยากจน กลับกลายเป็นประเทศร่ำรวย ที่มีขนาดเศรษฐกิจเป็นที่สองของโลก และครอบครองทุนสำรองระหว่างประเทศกว่า 3 ล้านล้านเหรียญฯ
“ความมั่งคั่ง” อันนี้ มันมาได้อย่างไรกัน?
คำตอบแบบคร่าวๆ ง่ายๆ ก็คือว่า ความมั่งคั่งอันนี้มันเป็นผลพวงของระบบที่ถูกออกแบบโดยฝรั่งกับผู้นำจีนที่นำโดยเติ้งเสี่ยวผิง
คือหลังจากที่เติ้งเสี่ยวผิงยึดอำนาจจากแก๊งสี่คนได้สำเร็จและขึ้นมาเป็นผู้นำจีนเต็มตัว เขาประกาศนโยบายสี่ทันสมัยทันที โดยจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ สนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติ และเดินสายไปทั่วโลกเพื่อเชิญชวนให้เข้าไปลงทุนในจีน
เติ้งเสี่ยวผิงเป็นคนทันสมัย เขาเคยอาศัยอยู่ในฝรั่งเศสเป็นเวลานาน และเข้าใจ Logic ของระบบทุนนิยม และผู้ผลิตสินค้าในระบบทุนนิยมดี
นั่นคือ “Maximize Profit” ซึ่งการจะทำกำไรให้สูงที่สุดในภาวะตลาดที่เต็มไปด้วยการแข่งขันได้นั้น ผู้ผลิตย่อมต้องหาทางลดต้นทุนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
ในขณะที่ผู้ผลิตในโลกตะวันตก ก็ต้องการลดต้นทุนการผลิตลง หรือไม่ก็จัดหา Low Cost Producers มารับช่วงการผลิตของตนออกไป
และจีนภายใต้เติ้งเสี่ยวผิงก็ปวารณาตัวเองกับการนี้ ด้วยคนงานพันกว่าล้านคน ที่พร้อมจะรับค่าแรงต่อวันไม่ถึงร้อยบาท (แล้วใครจะไปแข่งด้วยได้ล่ะ? ใช่ไม่ใช่)
นับแต่นั้น ผู้ผลิตแห่งโลกตะวันตก (และผู้ที่เคยรับช่วงการผลิตจากโลกตะวันตก เช่น ญี่ปุ่น (ซึ่งนับตัวเองเป็นโลกตะวันตกด้วยคน) ไต้หวัน เกาหลีใต้ ฮ่องกง ฯลฯ) ก็ได้นำเงินเข้าไปลงทุนในจีน ทั้งโดยการตั้งโรงงานเอง และร่วมทุนกับจีน เพื่อผลิตสินค้าที่ผู้บริโภคในโลกตะวันตกต้องการ แล้วรับซื้อสินค้าเหล่านั้นไว้ทั้งหมด
โดยต่อมา เมื่อคนจีนเริ่มรวยขึ้น มีเงินมีทองจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น สินค้าเหล่านั้น (และบริการที่ผู้ให้บริการแห่งโลกตะวันตกเข้าไปร่วมลงทุนเพิ่มเติมในระยะต่อมา) ก็ได้รับการบริโภคในประเทศจีนเองด้วย
ผู้ผลิตในโลกตะวันตกที่ว่านี้ มีสหรัฐอเมริกาเป็นโต้โผ
พวกเราคงรู้แล้วว่า หลังปี 1971 เป็นต้นมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่ได้มีภาระผูกพันว่าจะรับแลกเงินดอลลาร์กับทองคำอีกต่อไป นั่นหมายความว่าธนาคารกลางฯ สามารถพิมพ์เงินดอลลาร์เพิ่มขึ้นใช้ได้เองได้โดยไม่ต้องมีทองคำหรือทุนสำรองหนุนหลัง ทำให้รัฐบาลและเอกชนสหรัฐฯ ใช้จ่ายสะดวกมือขึ้นโดยแทบจะไม่ต้องมีอะไรมาขวางกั้นอีกต่อไป
ตั้งแต่ทศวรรษ 1980s เป็นต้นมานั้น รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ใช้นโยบายกระตุ้นการบริโภคและการใช้จ่ายทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ เพื่อดันให้เศรษฐกิจเติบโต โดยลดอัตราดอกเบี้ยลงเรื่อยๆ
ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ย่อมถูกกระตุ้นด้วยแคมเปญต่างๆ จำนวนมากอยู่ตลอดเวลา
“0% สิบเดือน” บ้าง “0% สิบสองเดือน” บ้าง “0% ยี่สิบเดือน” บ้าง ฯลฯ
เหล่านี้ล้วนชักจูงให้ผู้คนบริโภคในสิ่งที่ จริงๆ แล้ว ตัวเองยังไม่มีความต้องการใช้สักเท่าไหร่เลย
ในขณะเดียวกัน การก่อกำเนิดห้าง Discounted Stores อย่าง Walmart และ Dollar Stores ทั้งหลาย ย่อมทำให้ระบบ Globalization ที่ดีไซน์ขึ้นมานี้ “ครบวงจร”
กล่าวคือ รัฐบาลสหรัฐฯ ออกนโยบายกระตุ้นการใช้จ่าย และธนาคารกลางขยายเครดิตสู่ระบบการเงินพร้อมกับลดดอกเบี้ยลง (พิมพ์เงินเพิ่มนั่นเอง) ห้างสรรพสินค้าแบบใหม่ที่เน้นขายของราคาถูก ประเภท “Everyday Low Price” เกิดขึ้นทั่วสหรัฐฯ โดยห้างเหล่านี้นำเข้าสินค้าที่ผลิตจากเมืองจีน (โดยการลงทุนย้ายฐานการผลิตของกิจการในสหรัฐฯ นั่นเอง) (และกรณีแบบเดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นในยุโรปด้วยเช่นเดียวกัน ลองดู Tesco, Carrefour เป็นต้น) เสร็จแล้วก็ทำให้ผู้ผลิตในเมืองจีนได้รับเงินดอลลาร์จากการส่งออก แล้วก็เอาเงินดอลลาร์นั้นไปแลกเป็นเงินหยวนกับธนาคารกลางของจีน (ซึ่งตอนหลังนำเงินจำนวนนั้น ในรูปของทุนสำรองระหว่างประเทศ กลับไปลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อีกทอดหนึ่ง) เพื่อนำไปจับจ่ายใช้สอย ซื้อวัตถุดิบ จ่ายค่าแรงและค่าจ้างให้กับพนักงาน และที่สำคัญคือนำไปลงทุนอย่างมโหฬาร ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนสร้างโรงงานขนาดยักษ์ สร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดยักษ์ และสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนานใหญ่ทั่วประเทศ ฯลฯ...วนเวียนอยู่อย่างนี้เป็นเวลาหลายสิบปี นับแต่เติ้งเสี่ยวผิง ประกาศนโยบายเปิดประเทศ ซึ่งเงินดอลลาร์ที่ได้จากการส่งออกเหล่านี้แหละ ที่ช่วยทำให้เกิดเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจในเมืองจีนอย่างมโหฬาร (รวมทั้งภาวะฟองสบู่ด้วย)
เห็นรึยังว่าระบบนี้ ได้ช่วยสร้างฐานการผลิตและเครื่องจักรส่งออกที่ใหญ่ที่สุดในโลกขึ้นมา คือจีน
จีนกลายเป็นผู้ผลิตสินค้าให้กับโลกตะวันตก (และเมื่อจีนรวยขึ้น ก็ได้กลายเป็นผู้ซื้อวัตถุดิบและสินค้าบริการรายใหญ่ของโลกไปด้วยในตัว) ซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยีหรือความรู้ในการผลิตและควบคุมตลาดเอาไว้ในมือ
ระบบนี้สร้างกำไรให้กับผู้ผลิตของโลกตะวันตก เพราะจีนช่วยให้ต้นทุนต่ำลง ส่งผลให้ราคาหุ้นของกิจการเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อพวกเขาไม่ต้องเสียเวลากับการเอาคนไปเข้าโรงงาน พวกเขาก็หันมาเน้นในเรื่องพัฒนาความรู้และนวัตกรรมต่างๆ แล้วกุมความลับอันนั้นไว้ เพื่อต่อรอง ให้จีนคอยวิ่งไล่ตามเอาเอง
แต่ผู้ที่เสียประโยชน์คือแรงงานในโลกตะวันตก และในประเทศอื่นที่เคยเป็น Low Cost Producer ให้กับโลกตะวันตก (ซึ่งมีไทยรวมอยู่ด้วย) เพราะต้องสูญเสียงานและรายได้ไป เนื่องจากการย้ายฐานการผลิตของกิจการในประเทศตน (ไปสู่จีน) อีกทั้งค่าแรงในประเทศของตนก็ไม่สามารถขึ้นสูงได้ เพราะค่าแรงในจีนเป็นตัวเปรียบเทียบอยู่ ทำให้รายได้ของคนงานในประเทศเหล่านี้ เพิ่มขึ้นน้อยมากหรือแทบจะไม่เพิ่มขึ้นเลยในรอบหลายสิบปีมานี้
นั่นเป็นสาเหตุที่ Donald J. Trump ชนะใจคนเหล่านี้และลูกหลานของคนเหล่านี้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่อยู่ในเขต Rust Belt)
ส่วนไทยก็ต้องสูญเสียเช่นเดียวกัน เพราะสมัยที่จีนยังไม่เข้ามาในสมการนี้ โลกตะวันตกได้ใช้ให้ญี่ปุ่น (รวมถึงเยอรมนีและต่อมาก็ประเทศในละตินอเมริกา) เป็น Low Cost Producer ให้กับตลาดของตัวเอง (ทำให้ญี่ปุ่นและเยอรมนีฟื้นตัวเร็วมากหลังสงครามโลกครั้งที่สอง) และญี่ปุ่นก็มาใช้เราเป็นฐานอีกทอดหนึ่ง ทำให้เราได้ประโยชน์ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังปี 1985 ที่ค่าเงินเยนแข็งค่า เพราะญี่ปุ่นถูกบังคับให้ขึ้นค่าเงินตามข้อตกลง Plaza Accord
ด้วยระบบเดียวกัน (คือทำตัวเป็นฐานการผลิตให้กับญี่ปุ่น เพื่อส่งออกสู่ตลาดโลก แล้วได้เงินดอลลาร์อัดฉีดเข้ามาในประเทศ ก่อนแลกเป็นเงินบาทไปใช้จ่ายกันอย่างคึกคัก ฯลฯ) ถึงกับทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ยุคฟองสบู่ในช่วงนั้น
แต่เมื่อจีนเข้ามาแย่งบทบาทตรงนี้ไป ทำให้การส่งออกของเราลดลง และต้องปรับรูปแบบเศรษฐกิจ หันมาเน้นเศรษฐกิจภายในเพิ่มขึ้น และชดเชยโดยการส่งออกพืชผลและบริการ (เช่นท่องเที่ยว) ไปยังจีน (ที่รวยกว่าไทยแล้ว) ในขณะเดียวกันก็ต้องดิ้นรนหารูปแบบอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ๆ ที่ไม่ไปทับซ้อนกับจีน (เพราะแข่งขันเรื่องต้นทุนไม่ไหว) ซึ่งต้องอาศัยการยกระดับโดยความรู้ในเชิงการผลิต การตลาด และนวัตกรรม เป็นต้น
งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา
30 กว่าปีมานี้ จีนยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ด้วยระบบนี้เอง การพิมพ์เงินเพิ่มอย่างมโหฬารของธนาคารกลางสหรัฐฯ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย และการออกแบบระบบการผลิต การค้า และการชำระเงิน แบบ Globalization นั้น นอกจากจะช่วย “หิ้ว” ระบบเศรษฐกิจอเมริกันแล้ว ยังช่วย “หิ้ว” จีน อีกด้วย
แต่งานเลี้ยง ย่อมมีวันเลิกรา!
เมื่อจำเนียรกาลผ่านไป จนมาถึงวันนี้ วันที่หนี้สินภาคเอกชนและภาครัฐของสหรัฐฯ ถึงเขตอันตราย วันที่ราคาสินทรัพย์ทางการเงินทั้งหลายสูงขึ้นอย่างน่ากลัวเพราะปริมาณเงินที่ทะลักเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างมากและต่อเนื่องมานาน วันที่ชนชั้นกลางและล่างในประเทศตะวันตกที่เสียประโยชน์จากระบบนี้ (แต่ไม่ได้ประโยชน์จากการที่ราคาสินทรัพย์เพิ่มขึ้น เพราะไม่ได้ถือหุ้นหรือเครื่องมือทางการเงินเหล่านั้นไว้ในจำนวนที่มากพอ) ทนไม่ไหวอีกต่อไป แสดงความไม่พอใจของตนออกมาโดยการ “โหวต” ทั้งในอังกฤษ สหรัฐฯ และอิตาลี
วันที่ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ บอกว่าจะปรับระบบนี้เสียใหม่ คืออาจตั้งกำแพงภาษีทำให้สินค้าส่งออกไปจากจีนเข้าสหรัฐฯ ยากขึ้น กดดันให้จีนเพิ่มค่าเงินหยวน และแสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่าจะทำทุกวิถีทางให้ผู้ผลิตสหรัฐฯ ย้ายฐานจากจีนกลับเข้ามายังบ้านเกิดอีกครั้งหนึ่ง
ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นจริง ย่อมจะส่งผลให้วิถีการผลิต การค้า และการชำระเงิน ของโลกที่เคยออกแบบไว้นั้น เปลี่ยนแปลงไป
พวกคอมมิวนิสต์ที่มีความลึกซึ้งนั้น ย่อมตระหนักดีว่าการเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตและการค้า ย่อมนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมมนุษย์ในขั้นรากฐาน ทฤษฎีของพวกเขาชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ตลอดช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่ผ่านมานั้น การที่รูปแบบหรือธรรมชาติของสังคมมนุษย์ เปลี่ยนผ่านจากสังคมทาส มาสู่สังคมศักดินา มาสู่สังคมการค้า และมาสู่สังคมทุนนิยม แบบเป็นขั้นเป็นตอนได้นั้น ล้วนเกิดจากมูลเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงในเชิงวิถีการผลิตและการค้าทั้งสิ้น
คำกล่าวและ Analysis ของนายพล Qiao Liang นักคิดคนสำคัญและเสนาธิการของกองทัพประชาชน แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากจะสะท้อนให้เราได้เห็นว่าผู้นำคอมมิวนิสต์จีนในรุ่นปัจจุบัน ไม่ใช่ธรรมดาแล้ว มันยังเน้นย้ำให้เห็นอีกครั้ง ถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในเชิงการผลิตและการค้า ว่ามันจะทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไปอีกขั้นหนึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ อีกด้วย
ท่านนายพลกล่าวไว้เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยป้องกันประเทศ กรุงปักกิ่ง ตอนหนึ่งว่า “...เพราะมันเกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงการผลิตและในเชิงการค้า โลกจึงมุ่งหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงในขั้นโครงสร้างรากฐานกันเลยทีเดียว ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์ให้เห็นมาแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงดังว่านั้น ย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงลักษณะธรรมชาติของสังคมมนุษย์ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติของสังคมมนุษย์ในระดับนี้ จะเกิดขึ้นได้ก็เพียงจากมูลเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งสองประการดังว่านี้เท่านั้น (คือการเปลี่ยนวิถีการผลิตและวิถีการค้า) หาได้เกิดจากมูลเหตุอื่นใดไม่ ในเมืองจีนนับแต่ยุคปลายราชวงศ์ชิงเป็นต้นมา ราษฏรก็เริ่มเป็นขบถต่อต้านรัฐบาล...ในรอบ 2,000 ปีของประวัติศาสตร์จีน การปฏิวัติและลุกฮือลุกขึ้นสู้เกิดขึ้นหลายครั้งหลายครา ถามว่า การกบฏ สงคราม และการปฏิวัติ ทั้งหมดทั้งมวลนั้นมันได้แก้ปัญหาหรือไม่? คำตอบคือทั้งหมดทั้งมวลนั้น ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย มันเพียงแต่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองจากชุดเก่าเป็นชุดใหม่เท่านั้นเอง วิถีชีวิตทุกอย่างยังคงเดิม กระบวนการเปลี่ยนผ่านเหล่านี้ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรากฐานของสังคมเกษตรกรรมได้ และมันก็หาได้เปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตและวิถีการค้าไม่ มันเพียงแต่เปลี่ยนแปลงในระดับรัฐเท่านั้นเอง ในโลกตะวันตกเองก็เหมือนกัน ครั้งหนึ่งจักรพรรดินโปเลียนได้นำกองทัพฝรั่งเศสอันเกรียงไกรยึดครองไปทั่วยุโรป จนราชวงศ์ต่างๆ ที่ปกครองอยู่ในขณะนั้น ร่วงผล็อยไปทีละวงศ์ๆ แต่เมื่อนโปเลียนพ่ายแพ้ที่ทุ่งวอเตอร์ลู จนจำต้องสละราชสมบัติ กษัตริย์ราชวงศ์ต่างๆ ของยุโรปต่างได้รับการฟื้นฟูและหวนคืนกลับไปปกครองกันแบบศักดินาดังเดิมทันที
การปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิดขึ้นเมื่อเครื่องจักรไอน้ำของอังกฤษ อนุญาตให้มนุษยชาติสามารถที่จะขยายการผลิตของสังคมตนได้อย่างขนานใหญ่ จนเกิดผลผลิตส่วนเกินจำนวนมหาศาล และส่วนเกินเหล่านี้ย่อมนำมาซึ่งมูลค่าส่วนเกิน ซึ่งเป็นที่มาของทุนและนายทุนนั่นเอง เมื่อนั้นเอง ที่สังคมทุนนิยมได้ก่อกำเนิดขึ้นบนโลก
ฉะนั้น ในเมื่อทุกวันนี้ ทุนอาจถูกทำให้หายไปจากการเลิกใช้เงิน และการผลิตก็กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปอันเนื่องมาแต่การอุบัติขึ้นของ 3D Printer สังคมแห่งมนุษยชาติก็กำลังจะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ขั้นตอนใหม่...” (อ้างจาก: “Heartland Eurasian Review of Geopolitics” อ่านฉบับเต็มได้ที่ www.temi.repubblica.it/limes-heartland/one-belt-one-road/2070?refresh_ce)
(สำหรับผู้ที่ต้องการอ่านต้นฉบับของช่วงที่ผมแปลมา คือข้อความต่อไปนี้ : “...Because production is changing and trade is changing, the world is bound to change radically. But history has proven that real change can lead to changes in the social nature, which will be led by these two [changes in production and trade modes] and no other factors. In China from the period of the late Qin Emperor, people began to rebel: Chen Sheng Wu Guang rose a revolution and uprisings occurred many times during 2,000 years of history. Rebellions, wars, revolutions—do they solve the problem? They do not solve the problem; they just bring a change of rulers, a low-level water circulation. These movements could not change the nature of the farming community, nor did they change the modes of production or the ways of trade. They could only bring a regime change. In the West too, Napoleon brought the glory of the French Revolution and led a new army baptized in the revolution across Europe, throwing down one crown after the other, but when he failed at Waterloo, Napoleon stepped down. All European kings were restored and immediately they returned to feudal society. The Industrial Revolution came when the British steam engine allowed humanity to greatly enhance its production and a large number of surplus products appeared. With the remaining products there was surplus value, and thus capital and capitalists. Capitalist society had arrived.
So today when capital may disappear with the disappearance of money and when production will also change with the emergence of 3D printer, mankind is about to enter a new social stage....”)
ณ ขณะนี้ เรายังไม่สามารถฟันธงลงไปได้ว่า นโยบายใหม่ของอเมริกา จะส่งผลถึงขั้นทำลาย “เครื่องจักรส่งออกอันมหึมา” ที่ตัวเองมีส่วนสร้างมันขึ้นกับมือหรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับการเมืองในอเมริกาเอง ว่าจะอำนวยให้ประธานาธิบดีคนใหม่นำนโยบายที่หาเสียงไว้ มาทำได้เต็มที่แค่ไหน
แต่เราก็พอคาดเดาได้ว่า เครื่องจักรส่งออกตัวนั้น ต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
กลยุทธ์ของจีน ที่จะต้องงัดขึ้นมาใช้รับมือกับผลกระทบรอบนี้ ย่อมส่งผลต่อโลกและต่อไทยด้วย อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
เป็นธรรมดาอยู่เอง ที่ความร่ำรวยย่อมมาพร้อมกับอำนาจการใช้จ่าย โดยถ้าไม่ระวัง ก็จะเกิดความล้นเกิน ที่เป็นสาเหตุของฟองสบู่
ทุกวันนี้ “ที่สุดในโลก” หลายอย่างอยู่ในเมืองจีน รถไฟความเร็วสูงที่ยาวที่สุด สะพานที่ยาวที่สุด เคเบิ้ลคาร์ที่ยาวที่สุด สะพานแก้วที่ยาวที่สุด ทุนสำรองระหว่างประเทศที่มากที่สุด เกินดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกามากที่สุด ครอบครองส่วนแบ่งของมูลค่าการค้าโลก (world trade) มากที่สุด โรงงานปูนซีเมนต์ที่ใหญ่ที่สุด และกำลังการผลิตปูนซีเมนต์ที่มากที่สุดในโลก ผู้นำเข้าทองแดง เหล็ก ถ่านหิน รายใหญ่ที่สุดในโลก เมืองที่ใหญ่และมีประชากรมากที่สุดในโลก อุตสาห-กรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุด จำนวน
นักลงทุนรายย่อยที่มากที่สุดในโลก ฯลฯ
หลายปีมาแล้วที่จีนพยายามแก้ไขปัญหาความล้นเกินของตน ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ประกาศนโยบายปฏิรูปแทบทุกด้าน ลดการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ลดการสร้างโรงงานประเภทที่ทำให้เกิดมลพิษ ลดกำลังการผลิตในหลายอุตสาหกรรม ที่สำคัญคือ พยายามปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจจากที่เคยพึ่งพิงการส่งออก ให้มาพึ่งพิงการบริโภคภายในประเทศ
สิ่งเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจจีนในรอบหลายปีมานี้ชะลอตัว
จีนหันมาเน้นไปที่การสร้างเครื่องจักรเศรษฐกิจภายในของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจบริการ ไม่ว่าจะเป็น ค้าปลีก ท่องเที่ยว การศึกษา การรักษาพยาบาล เอ็นเตอร์เทนเมนต์ Data Processing ร้านอาหาร ตลอดจนภัตตาคาร การบิน การขนส่ง Logistic Supply Chains ฯลฯ
รัฐบาลจีนเวลานี้ประกาศ สนับสนุนการสร้างกองทัพผู้ประกอบการรายเล็กและกลาง และ Start-ups เพื่อขึ้นมารองรับกลยุทธ์ใหม่นี้ให้ทันการณ์
ในขณะเดียวกัน จีนก็สนับสนุนให้ผู้ผลิตของเขาย้ายฐานการผลิตไปนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในเขตอาเซียน หรือในเขตอื่น ทั้งเพื่อลดต้นทุนการผลิตที่ตอนหลังสูงขึ้นมากในจีน และเพื่อรับมือกับการกีดกันทางการค้าที่สหรัฐฯ จะรุกหนักขึ้น
ถ้าโชคดี จีนอาจสามารถ Shift เศรษฐกิจขนาดมหึมาของตัวเอง ได้โดยราบรื่น ปราศจากวิกฤตการณ์
แต่โอกาสที่เป็นเช่นนั้น มีไม่มากนัก
ไทยเอง คงจะไม่ได้อะไรจากการขยับปรับเปลี่ยนของระบบโลกครั้งนี้มากนัก นอกเสียจากว่าจะหาโอกาสเข้าไปลงทุนและค้าขายกับธุรกิจบริการในจีน หรือต้องหันไปกระชับสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนกับอเมริกาให้แน่นแฟ้นขึ้น โดยเฉพาะการขอให้มีการถ่ายทอดความรู้ในการผลิต (ที่เรียกว่าเทคโนโลยี) และนวัตกรรมในระดับลึก ในระดับ 0-1-2-3-4-5 (อ่านว่า ศูนย์หนึ่งสองสามสี่ห้า) ที่อเมริกากุมไว้แยะที่สุด มิใช่ความรู้ในระดับ 6-7-8-9-10 หรือ “หางความรู้” ซึ่งมีประโยชน์น้อย และยังทำให้เราต้องอยู่ในสถานะ “รับจ้างทำของ” หรือต้องพึ่งพิงการนำเข้าเทคโนโลยีและเครื่องจักรราคาแพง ตลอดจนสารตั้งต้น หรือวัสดุที่ผสมแล้ว อยู่ตลอดมาและ (อาจจะ) ตลอดไป
ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
23 ธันวาคม 2559