จัดห้องสมุดส่วนตัวรอบนี้ ได้พบ Stock Trader’s Almanac สมัยปี 1968 จำได้ว่าประมูลมาจาก eBay นานมาแล้ว
นักลงทุนหรือนักเรียนการเงินรุ่นพวกผมย่อมรู้จัก Newsletter ยี่ห้อนี้ดี เพราะเขามีชื่อเสียงพอๆ กับ Value Line และอุดมไปด้วยสถิติข้อมูล เทรนด์ และแพทเทิร์นซื้อขายจำนวนมาก นับว่ามีประโยชน์ในยุคที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต
เจ้าของคือ Yale Hirsch เป็นเจ้าของไอเดียที่เรียกว่า “Presidential Cycle” ซึ่งครั้งหนึ่งเคยฮือฮาพอควร และก็น่าจะยังช่วยเสริมวิธีคิดของเราได้ หากจะนำมาจับสังเกตุแพทเทิร์นของตลาดหุ้นในยุคนี้
ลองตามผมมา และเทียบตลาดอเมริกากับของเราในใจเอาเองนะครับ
ไอเดียนี้มีอยู่ว่า ผลตอบแทนของตลาดหุ้นในสหรัฐฯ นั้นมักจะฟอร์มแพทเทิร์นขึ้นตามแต่ละช่วงของ เทอม 4 ปี ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ตามลำดับก่อนหลังดังนี้
ปีที่ 1 โดยทั่วไปแล้ว ปีแรกหลังจากได้รับเลือกตั้งแล้ว ประธานาธิบดีคนใหม่ มักจะมาพร้อมกับ “ภาระรับมอบ” จากประชาชน (ขอใช้คำของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ท่านแปลคำว่า “Mandate”)
ให้มาเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างๆ เปลี่ยนแนวไปจากเดิม ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่แน่นอน ของแสลงของนักลงทุน เพราะ “ความไม่แน่นอน” คือความเสี่ยง ดังนั้นหุ้นช่วนปีนี้จึงไม่ค่อยดี
ปีที่ 2 เป็นปีที่สิ่งต่างๆ เริ่มจะเห็นเป็นตัวเป็นตนชัดขึ้น นโยบายที่ทำไปเมื่อเข้ามา เริ่มออกดอกผล รัฐบาลกระชับอำนาจได้มากขึ้น “ความไม่แน่นอน” เริ่มกลายเป็นความแน่นอน
และนโยบานเศรษฐกิจสำคัญๆ ย่อมได้รับการคิดค้นและนำมาใช้ในช่วงนี้เพราะหวังว่าจะได้ผลงานก่อนการเลือกตั้งครั้งต่อไป ดังนั้นผลตอบแทนของตลาดหุ้นในช่วงปีนี้จะเริ่มดีขึ้นจากปีก่อนหน้า
ปีที่ 3 มักจะเป็นปีที่ผลตอบแทนของตลาดหุ้นดีที่สุด เพราะในทางการเมือง มันเป็นปีที่เริ่มเตรียมตัวเลือกตั้งใหม่ รัฐบาลจึงมักมุ่งเน้นไปที่การยกระดับเศรษฐกิจให้ดี เพื่อสร้างแต้มต่อทางการเมือง
ปีที่ 4 ก็จะเป็นปีที่ดีอีกเช่นกัน แต่บางทีก็อาจมีแย่ผสมผสานบ้าง เพราะมันเป็นปีที่ต้องจัดเลือกตั้งใหม่ “ความไม่แน่นอน” จึงกลับมาครอบคลุมเหนือตลาดและอารมณ์ความรู้สึกของนักลงทุน แต่รัฐบาลจะพยายามทุ่มเททุกทางให้เศรษฐกิจดี เพื่อเตรียมรับเลือกตั้ง
ถ้าเราลองใช้ไอเดียนี้มาจับสังเหตุตลาดหุ้นสหรัฐฯ เปรียบกับตลาดหุ้นไทย อาจพูดได้ว่า ตลาดสหรัฐฯ ปีนี้ เป็น “ปีกระทิง” แต่ของไทยเรา เป็น “ปีหมี”
สำหรับท่านที่เอียนการเมือง ผมเข้าใจได้ และสำหรับประเทศที่ไม่มีการเลือกตั้งหรือเลือกตั้งแต่พรรคเดียวผูกขาด อย่างจีนกับเวียดนาม ไอเดียนี้ก็จนปัญญา แต่ไอเดียนี้ก็พอมีประโยชน์อยู่บ้าง เมื่อประกอบกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานอย่างรอบคอบ
โดยเฉาพะในภาวะดอกเบี้ยแพงกระทันหันแบบปัจจุบัน มีกิจการจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่เริ่มผิดนัดชำระหนี้ และต้องขอเจรจากับเจ้าหนี้
เพื่อเป็นการสกรีนเบื้องต้น ผมขอแนะนำให้ท่านทั้งหลายพิจารณา Ratio ง่ายๆ ตัวหนึ่งที่เรียกว่า “Current Ratio”
คำนวณได้โดยเอา “สินทรัพย์หมุนเวียน” เป็นตัวตั้ง แล้วหารด้วย “หนี้สินหมุนเวียน” (ดูได้จากงบดุลของทุกกิจการ)
ผลลัทธ์ที่ต่ำว่า 1 หมายความว่า กิจการนั้นมีความเสี่ยง (ยิ่งตัวเลขออกมาน้อย ความเสี่ยงยิ่งสูง) เพราะมันหมายความว่ากิจการนั้นจะมีสินทรัพย์ไม่พอใช้หนี้ในปีหน้า
ราคาหุ้นของกิจการแบบนี้ย่อมมีปัญหา
ถ้าตัวเลขมากกว่า 1 ยิ่งมากยิ่งดี
ในเวลาแบบนี้ ควรหากิจการที่มีสุขภาวะทางการเงินที่ดีไว้ก่อน