December 22, 2024

ขณะที่ผมกำลังเขียนต้นฉบับอยู่นี้ มีผู้ต้องสังเวยชีวิตในสงครามอิสราเอล-ฮามาส มากกว่า 2000 คนแล้ว ส่วนใหญ่เป็นราษฎรตาดำๆ ตั้งแต่ฮามาสยิงจรวดถล่ม บุกทลายกำแพงเข้ามาฆ่าหมู่และจับตัวประกัน

ต่อถึงอิสราเอลประกาศเอาคืนอย่างถึงที่สุดการบุกภาคพื้นดินกำลังจะเปิดฉาก และการเมืองในภูมิภาคและโลกก็กำลังตรึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ

 

มันอาจกลายเป็นสงครามที่ยืดเยื้อ และแน่นอนว่าจะกระทบต่อราคาพลังงาน ซึ่งพวกเราอาจต้องลำบากขึ้นไปอีกในอนาคตอันใกล้

 

ผมได้เขียนไปแล้วเมื่อวานว่า เราต้องวางแผน “ปลดแอก” พลังงานของเราในระยะยาว เพื่อไม่ให้ขึ้นอยู่กับ Geopolitics ที่นับวันจะซับซ้อนและเข้มข้นขึ้นเมื่อจีนเข้ามาเป็นผู้เล่นเต็มตัว และสหรัฐฯ อ่อนแอลง

 

เราทำได้ แม้จะมีน้ำมันและก๊าซแต่น้อยก็ตาม อย่างที่ผมได้เสนอความคิดไปแล้ว

 

มนุษย์เราจะอยู่รอดได้ สำคัญที่สุดต้องมีอาหาร น้ำ และพลังงาน

 

ที่เหลือเราผลิตเองได้ ยิ่งถ้ามีพลังงานเพียงพอ เราก็จะผลิตอาหารและน้ำได้อย่างเพียงพอต่อการบริโภค ไม่ว่าจำนวนมนุษย์จะเพิ่มขึ้นเพียงใดก็ตาม

 

ไทยเราโชคดีที่อาหารและน้ำมีอย่างเพียงพอ แต่สถานการณ์พลังงานของเรา เหมือนถูกจับเป็นตัวประกัน โดยความขัดแย้งในโลก จากน้ำมือของผู้นำบางกลุ่ม ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีส่วนได้เสียกับเขาเลย

 

ผมเชื่อว่าดวงใจทุกดวงในขณะนี้ ล้วนเจ็บปวดกับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในอิสราเอลกับกาซ่า และหวังว่าความขัดแย้งนี้จะยุติโดยเร็ว

เราคงต้องจับตาดูผลกระทบของมันต่อชีวิตเราอย่างใกล้ชิดต่อไป

แต่วันนี้ ขอย้อนกลับมาพูดถึงเรื่องที่เมื่อวานเพิ่งพูดไปแบบคร่าวๆ คือรายงานการประชุมของกลุ่ม G-20 ที่นิวเดลี เมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งเกี่ยวข้องกับเงินดิจิตัลแบบใหม่ (CBDC) ที่ทุกรัฐบาลกำลังเตรียมการณ์จะจัดทำขึ้น แทนที่เงินแบบเดิมที่เราใช้กันอยู่

 

เมื่อกลับมาอ่านรายงานอย่างละเอียด ผมพบแนวคิดหนึ่งที่รัฐบาลทั่วโลกนิยมทำมากในระยะหลังมานี้

(ผู้สนใจหาอ่านได้ตามเว็บ ในหัวข้อ “G20 Policy Recommendations for Advancing Financial Inclusion and Productivity Gains Through Digital Public Infrastructure.”) คือสิ่งที่รายงานนิยามว่า “Government-to-person” หรือ G2P

 

หมายความว่าเงินหรือผลประโยชน์ที่รัฐบาลจ่ายให้โดยตรงกับราษฏร ไม่ว่าจะเป็นเงินช่วยเหลือ (เช่นกระเป๋าตัง) ภาษีคืน หรือสวัสดิการสังคมต่างๆ

 

เงินจำนวนนี้มีมากถึง 25.2% ของ GDP ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเหล่านั้น โดย 2.3% เป็นเรื่องของความช่วยเหลือเชิงสังคม (Social Assistance Payment) 9.4% เกี่ยวกับเงินเกษียณ (Pensions) และ 13.5% เกี่ยวกับค่าแรงภาคสาธารณะ (Public Wages)

 

รวมๆ แล้ว คิดเป็นเงินประมาณ 13-15 ล้านล้านเหรียญฯ ต่อปี ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วรวมกัน โดยถ้ารวมตัวเลขของประเทศกำลังพัฒนา ก็จะมากขึ้นถึง 18-20 ล้านล้านเหรียญฯ ต่อปี เลยทีเดียว

 

ยิ่งในช่วงโควิด รัฐบาลเกือบทั่วโลกล้วนทำ G2P โดยการแจกเงินเข้าสู่วอลเล็ตผ่านธนาคาร กันถ้วนหน้า มากบ้างน้อยบ้าง

 

ตามรายงานระบุว่า ในปี 2021 ประชากรวัยผู้ใหญ่ (adults) จำนวน 28% ทั่วโลก รับเงินช่วยเหลือโดยตรงจากรัฐบาล ถือเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 400 ล้านคน จากช่วงก่อนหน้าโควิด

ผมว่า G2P นี่แหล่ะ ที่โครงการเงินดิจิตัลแบบใหม่นี้น่าจะนำมาทดลองใช้กันก่อนได้เลย

 

เพราะมันเป็นการจ่ายจากรัฐบาลตรงทุกวันทุกเดือนทุกปีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเงินบำเน็จบำนาญ เงินช่วยคนจน ช่วยผู้สูงอายุ ช่วยคนพิการ ภาษีคืน

เงินเดือนข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ และเงินที่รัฐบาลต้องจ่ายให้กับผู้รับเหมา หรือโครงการจัดซื้อจัดจ้าง ที่เอกชนต้องรับเงินจากรัฐบาลอยู่แล้ว

 

ถ้าทดลองใช้กับโครงการ G2P เหล่านี้ก่อน (ซึ่งทำได้ทันทีเลย) มันก็จะไม่กระทบต่อหนี้สาธารณะ อัตราเงินเฟ้อ และค่าเงินในอนาคต

 

ต่างกับโครงการแจกเงินของรัฐบาลที่จะต้องกู้เงินมาแจก ไม่ต่ำกว่าห้าแสนล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีทั้งผู้เห็นด้วยและเห็นต่าง


ก่อนที่จะลุยแบบเต็มสูบ คือนำเงินดิจิตัลแบบใหม่ (ขอเรียกว่า Bath Token ไปก่อน) มาใช้แทนเงินบาทแบบเดิมที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
ถึงวันนั้น ทุกอย่างต้องพร้อม

 

อย่างที่เมื่อวานได้พูดไปแล้วคือ DPI หรือ Digital Public Infrastructure ต้องพร้อม

 

ทั้งระบบระบุตัวตนดิจิตัลของราษฎร (Digital IDs), แพล็ตฟอร์มที่พร้อมสำหรับให้ราษฎรแชร์ข้อมูลส่วนบุคคลกันโดยปลอดภัยและทรงประสิทธิภาพ และข้อสุดท้ายคือ

ความเร็วของระบบใช้จ่าย(Instant Payment System) ซึ่งยังเป็นที่น่ากังขาหากจะนำเอาบล็อกเชนมาใช้ในขณะนี้

 

ที่สำคัญคือกฎหมายที่สามารถเหนี่ยวรั้งการใช้อำนาจเหนือราษฏรผ่านการควบคุมการใช้จ่ายเงินดิจิตัลใหม่นี้

 

อีกทั้งต้องคิดก่อนว่าสถาบันการเงินแบบเดิมจะไปอยู่ตรงไหน ถึงจะไม่ถูกระทบมาก

อย่าลืมว่า เงินดิจิตัลใหม่นี้ มันเป็นเงินที่สมมติขึ้นให้อยู่ใน Cyberspace ไม่มีตัวตนจริง แต่ใช้ซอฟท์แวร์ชื่อ “บล็อกเชน” เป็นตัวบันทึกบัญชี หรือข้อมูลการแลกเปลี่ยน ของทุก Transaction โดยสามารถเรียกดูย้อนหลังได้

 

ดังนั้น เราสามารถใช้จ่ายแลกเปลี่ยนกันได้ โดยไม่ต้องมีบัญชีธนาคาร

 

และเงินแบบใหม่นี้รัฐบาลสามารถโปรแกรมให้ทำหรืองดเว้นการกระทำได้ตามคำสั่ง (เรียกว่า Smart Contract คือโค๊ตคำสั่งที่เพิ่มขึ้นบนบล็อกเชนที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ)

 

ดังนั้น รัฐบาลจึงสามารถจ่ายดอกเบี้ยให้โดยตรงได้ เหมือนกับธนาคาร และสามารถปล่อยกู้โดยตรงได้ แม้กระทั่งให้ซื้อประกันผ่านดิจิตัลวอลเล็ตนี้ได้ด้วย ฯลฯ

นั่นจะกระทบต่อธุรกิจปัจจุบันของสถาบันการเงินทั้งระบบ

 

นอกนั้นรัฐบาลยังมีอำนาจเหนือการควบคุมตรงนี้ในทุกอณู เช่น สามารถสั่งอายัติวอลเล็ตของผู้เห็นต่าง หรือศัตรูทางการเมืองได้ หรืออาจจะห้ามไม่ให้ราษฏรที่ป่วยเบาหวานซื้อเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลผ่านวอลเล็ต นี้ก็ยังได้ ฯลฯ

 

เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันอย่างรอบคอบ และต้องแจ้งให้ราษฏรเกิดความเข้าใจอย่างถ่อนแท้ ก่อนจะสร้างเงินดิจิตัลแบบใหม่นี้ขึ้นมาใช้

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
10 ตุลาคม 2566

X

Right Click

No right click