เมื่อเร็วๆ นี้มีหลายเรื่องที่มากระทบใจ
“ด้ายแดง” ละครที่กำลังออนแอร์กำลังงวดเข้ามาทุกที แม่ผัวผู้เลือดเย็นที่ชอบใช้ Fake News ปั่นหัวลูกชายลูกสะใภ้ กำลังใช้กลยุทธ์เดิมในการสร้างความร้าวฉานเข้าใจผิดระหว่างลูกและหลานตัวเอง แต่คราวนี้ดูท่าว่าความพินาศฉิบหายกำลังจะย้อนมาถึงตัว
What goes around comes around!
และก็มีเรื่องน่าขายหน้า ที่รัฐมนตรีไทยถูกหนังสือพิมพ์ออสเตรเลียประจานว่าเคยติดคุกที่นั่นในคดียาเสพติด โดยยืนยันว่ามีหลักฐานชัดเจน พร้อมเปิดเผย
แทนที่ฝ่ายถูกกล่าวหาจะแถลงไขให้หายข้องใจ นำหลักฐานมายันกลับ รัฐมนตรีกลับพูดจาคลุมเครือในประเด็นนี้ แต่กลับไปตอบโต้ด้วยท่วงทำนองว่ามีศัตรูทางการเมืองไปสร้างพล็อตให้สื่อต่างชาติมาโจมตีตัวเอง พูดลอยๆ แบบคลุมๆ เครือๆ ไร้หลักฐาน...และผู้ใหญ่ในรัฐบาลก็ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
มันเป็นการแก้ไขวิกฤติข่าวสารที่อ่อนด้อยมาก
ถ้ามันเป็น Fake News เราต้องแก้ลำและตอบโต้ด้วย “ความจริง” และชี้ให้สังคมเห็นว่า “ข่าว” นั้นๆ มัน “ปลอม” ตรงไหนบ้าง...แยกแยะ เปลื้องเปลือย ให้มันล่อนจ้อนต่อหน้าคนดูไปเลย ถึงจะสะใจ
เชื่อว่าป่านนี้ ผู้คนร้อยทั้งร้อยที่ได้รับข่าวสารเรื่องนี้ต่าง “เชื่อ” กันแล้วว่ารัฐมนตรีคนนั้นต้องเคยมัวหมองเพราะเรื่องนี้มาก่อนเป็นแน่
ไม่เชื่อลองทำโพลดูก็ได้!
Fake News เป็นเทรนระยะยาวอันหนึ่งที่น่าวิตกในโลกยุคใหม่
เพราะ Social Media ได้ทำลายสำนักข่าวและสื่อมวลชนที่น่าเชื่อถือลงเกือบหมด และอนุญาตให้ใครก็ได้ เสนอข่าวของตัวเผยแพร่ไปทั่วโลก โดยไม่มีการตรวจสอบก่อนนำเสนอ
เดี๋ยวนี้เรามี “กูรู” ปลอมๆ แทบทุกสาขา เกิดขึ้นเต็มไปหมดบนโลกโซเชี่ยล ทั้งๆ ที่ตัวตนจริงและระดับความรู้อาจเป็นได้แค่พวก “อยู่ในรู” แต่มันก็สามารถใช้ลีลาและความลวงจริงครึ่งเท็จครึ่ง หลอก Follower ให้เชื่อได้จนสนิทใจ
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีก็เป็นปัจจัยช่วยให้การสร้าง Fake News ง่าย ถูก และแนบเนียน ขึ้นมาก
เดี๋ยวนี้ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องขี้หมาเท่านั้นที่น่าเป็นห่วง เพราะแม้แต่การล่อลวงระดับชาติก็สามารถเกิดจาก Fake News ได้เหมือนกัน
รัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาโจมตีรัสเซียว่าเป็นตัวปล่อยข่าวลวงเรื่อง “5 G ทำให้เกิดโรคสมองเสื่อม” เพราะต้องการถ่วงเวลาไม่ให้สหรัฐฯ พัฒนาเครือข่าย 5G สำเร็จเร็วเกินไป ซึ่งจะทำให้เกิด Competitive Advantage ทางเศรษฐกิจและการทหารอย่างมาก
คือหวังผลปั่นหัวคนอเมริกันว่า คลื่นและอุปกรณ์ที่ใช้ในระบบ 5G มันทำลายเซลล์สมอง ฯลฯ (เช่นเดียวกับที่กิจการขายไก่เคยใช้กลยุทธ์นี้สำเร็จมาแล้วกับคนรุ่นก่อน ในประเด็นความเชื่อเรื่อง “กินเนื้อวัว” อันตราย...หรือบาป...มากกว่าเนื้อไก่และเนื้อหมู)
หรือแม้แต่เรื่องรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา และจีนแอบขโมยข้อมูลความลับทางธุรกิจ และใช้เทคโนโลยีสอดส่องเป้าหมายระดับสูงของรัฐบาลและกองทัพ ซึ่งนำมาสู่การแบนหัวเหว่ย เป็นต้น
นั่นมันระดับ State-sponsored Fake News ที่หวังผลทั้งในเรื่องจารกรรมข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต (Cyber Espionage) และการจู่โจมคู่ต่อสู้ทางอินเทอร์เน็ต (Cyber Attack) กันเลยทีเดียว
ดังนั้น ประเด็นเรื่อง “Cyber Securities” หรือเทคโนโลยีที่มีไว้ต่อต้านการโจมตีทางไซเบอร์จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
เราติดตามเรื่องนี้อยู่ด้วย และคงจะได้เล่าให้ไดอารี่ที่รักฟังในโอกาสหน้า เราว่ามีโอกาสในการลงทุนดีๆ อยู่แยะกับกิจการประเภทนี้
กลับมาเรื่อง Fake News ซึ่งประเด็นหนึ่งที่เราค่อนข้างกังวล คือการเติบโตของสิ่งที่เรียกว่าวีดีโอหรือคลิปประเภท “DEEPFAKE”
เราว่าตัวนี้น่ากลัว!
ไอ้ตัวนี้ มันเป็นคลิปวีดีโอที่สร้างขึ้นโดยอาศัยเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) มันดูเหมือนจริงทุกอย่าง ทั้งคำพูดคำจา หน้าตา ท่าทาง น้ำเสียง และบรรยากาศ...แต่มันเป็นของปลอม
พวกเราลองคลิกดูคลิปนี้น๊ะ...
สังเกตหน้าตาของ Bill Hader ตอนพูดถึง Tom Cruise และ Seth Rogan ช่วงนั้นหน้าตาท่าทางและคำพูดเขา กลายเป็น Cruise และ Rogan ไปเลย...เป็นไง เหมือนเป๊ะเลยใช่ปะ
ลองคิดดูว่า ถ้าเกิดมีคนไม่หวังดี สร้าง Deepfake เป็นบทสัมภาษณ์หรือคำแถลงของประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือจีน หรือเกาหลีเหนือ หรืออิหร่าน โดยให้พูดจาในเรื่องละเอียดอ่อน แล้วอัปขึ้น Social Media แล้วแชร์กันกระจายไปเป็นไวรัลอย่างรวดเร็ว...โลกมันจะไม่ยุ่งกันใหญ่เหรอ
แต่ถ้าเกิดซูซี่ลูกสะใภ้ สร้างคลิป Deepfake ว่ายายคุณนายด้ายแดง แอบพูดกับอาจูว่าให้ขโมยลูกสาวไปทิ้ง แล้วเปิดให้เจ้าสัวหลงเว่ยดูตั้งแต่แรกโน่น โศกนาฏกรรมต่างๆ ของครอบครัวมหามงคล อาจไม่เกิดขึ้น หรือไม่รุนแรงสลับซับซ้อนถึงขนาดที่เป็นอยู่เวลานี้ ก็ได้เหมือนกัน
ดังนั้น ประเด็นเรื่องการแยกแยะ Deepfake จึงสำคัญมาก เราคิดว่ามันจะเป็นเรื่องที่ฝรั่งต้องคิดหาวิธีกันหนัก เพราะกำลังจะมีเลือกตั้งใหญ่ในสหรัฐฯ ปีหน้านี้
มันเป็นเรื่องระดับโลก และต้องอาศัยพละกำลังระดับโลก
สิ่งที่ผัวคุณเภาแห่ง “สามีสีทอง” กำลังเร่งปราบปรามอยู่ที่กระทรวงดิจิทัลนั้น มันแค่การไล่จับโจรกระจอก ระดับลักเล็กขโมยน้อยเท่านั้น เพราะเรื่องแบบนี้มันเกินความสามารถของรัฐบาลไทย
ได้ยินว่า บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกหลายรายกำลังพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการตรวจสอบเนื้อหาคลิปและข้อความทวีตกันอยู่
ฟอร์แมทใหม่นี้จะใช้เครื่องหมายดิจิทัล คล้ายๆ “พรายน้ำ” (Watermark) แปะไปบนเนื้อหาที่เป็นของจริง เพื่อให้แพล็ทฟอร์ม Social Media ทั้งหลายแยกแยะได้ว่าอันไหนของจริง ก็อนุญาตให้เผยแพร่ได้ แต่อันไหนที่เป็นของปลอม ก็ตัดทิ้งไป
พวกเขาเชื่อว่า เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้ผู้คนกลับมาไว้วางใจคอนเทนท์บนโซเชี่ยลมีเดียได้ยิ่งกว่าเดิม
ใช้ “เกลือจิ้มเกลือ”
เมื่อคนเลวจงใจใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการทำชั่ว คนดีก็ใช้เทคโนโลยีเข้าแก้ไขป้องกันได้เช่นกัน
ใครจะว่ายังไงก็ตาม สำหรับเราแล้ว เรายังมองโลกในแง่ดีเสมอ
ไดอารี่เอ๋ย เรายังเชื่อว่าโลกจะต้องดีขึ้น และคนรุ่นใหม่จะต้องทำได้ดีกว่าคนรุ่นเรา
ไว้พบกับใหม่น๊ะ
ไดอารี่ที่รัก,
โอเล่ 11/09/62
Cr: Dear Diary / www.gosowealth.com