December 26, 2024

ทุกคนที่แคร์ต่อปัญหาโลกร้อนและมลพิษในอากาศ ทั้งฝุ่น PM 2.0 ทั้งก๊าซเรือนกระจก และระดับคาร์บอนฯ บนชั้นบรรยากาศ ต้องดีใจและจริงจังกับโอกาสที่กำลังเปิดขึ้นในช่วงนี้ และมันจะเป็น Investment Theme สำคัญอีกอันหนึ่งในอนาคตอันใกล้ ซึ่งเราสามารถทำกำไรกับมันได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ขณะช่วยโลกไปด้วย
นั่นคือ การลงทุนใน “พลังงานสะอาดและยั่งยืน”
เราย้ำอยู่เสมอว่า ความต้องการพลังงานนับแต่นี้ จะเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด จนยากที่ความสามารถในการผลิตพลังงานที่มีอยู่ปัจจุบันยากจะรับได้
ผู้ขับขี่รุ่นใหม่เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค หันมาใช้รถยนต์ EV แทนรถยนต์แบบสันดาบภายใน การอุบัติขึ้นของ Generative AI ในนาม ChatGpt ส่งผลให้องค์กรทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐทั่วโลกวางแผนที่จะนำ AI มาประยุกต์ใช้กับงานของตนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน การเพิ่มจำนวนหุ่นยนต์ที่ควบคุมโดย AI ในภาคการผลิตและภาคบริการ กระแสความนิยมขององค์กรภาคธุรกิจและภาครัฐต่อการเคลื่อนย้ายข้อมูลและซอฟท์แวร์ขึ้นไปอยู่บน Cloud Computer (เทรนด์นี้เรียกว่า Digital Transformation) ตลอดจนขนาดของการสร้าง เคลื่อนย้าย และจัดเก็บ ข้อมูลในยุค 5G, 6G, 7G…..
เหล่านี้ย่อมต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล เพราะคอมพิวเตอร์ต้องเพิ่ม หน่วยความจำและหน่วยประมวลผลต้องเพิ่ม ศูนย์ข้อมูลหรือ Data Center และ จุดชาร์ตแบตเตอรี่รถยนต์และพาหนะ EV ทั้งปวง ก็ต้องเพิ่ม และจะเป็นการเพิ่มแบบก้าวกระโดดในอนาคตอันใกล้เสียด้วย เพราะ Adoption Rate ของ EV และ AI เพิ่งอยู่ในขั้นเริ่มต้นและกำลังจะ Take-off
ทั้งหมดทั้งมวลล้วนต้องขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าทั้งสิ้น
ปัญหาคือกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าทั้งหมดในโลกปัจจุบันมีไม่พอ ต้องสร้างใหม่อีกแยะ แต่ถ้าสร้างโรงไฟฟ้าแบบเดิม ที่อาศัยพลังงานฟอสซิลเป็นตัวปั่นไฟ ก็จะไปซ้ำเติมปัญหาโลกร้อนเข้าให้อีก
ในบรรดาพลังงานสะอาดแต่ละชนิด คือพลังน้ำ (เขื่อน) ลม แสงแดด ไฮโดรเจน และนิวเคลียร์ แต่ละแบบล้วนมีข้อดีข้อเสีย


เขื่อนนั้นสร้างยากและกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก ลมต้องอาศัยที่ที่มีลมพัดและกังหันปั่นไฟก็ยังแพง แสงแดดก็เช่นกัน ต้องตั้งไว้ในที่แดดแรงและกินพื้นที่มาก ไฮโดรเจนแพงและยังผลิตจำนวนมากไม่ได้ ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (Fission Technology) แม้จะมั่นคงและยั่งยืนกว่าพวกที่พูดมา ก็ยังแพงมากและภาพลักษณ์แย่ เพราะอันตรายจากกากกัมมันตภาพรังสีเมื่อเกิดอุบัติเหตุใหญ่ที่เชอร์โนบิลและฟูกูชิมา ส่วนพลังงานนิวเคลียร์ที่ปลอดภัยแบบดวงอาทิตย์ (Fusion Technology) นั้น ก็ยังอยู่ในระดับห้องทดลอง แม้จะเริ่มเห็นว่าเป็นไปได้แล้ว แต่ก็ยังต้องรอไปอีกหลายปีกว่าจะนำมาใช้ได้จริง
เดชะบุญที่ตอนนี้ SMR หรือ Small Modular Reactor ที่สร้างขึ้นโดย NuScale ได้รับใบอนุญาตและรับรองมาตรฐานจาก U.S. Nuclear Regulatory Commission (NRC) โดย NuScale นั้นเป็นสตาร์ทอัพที่ Spin-off จากเล็ปของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอเรกอน
จึงเริ่มมีการสร้างโรงไฟฟ้าหลายแห่งในสหรัฐฯ และแคนาดา ที่จะนำ SMR ไปติดตั้งแล้ว และจะเริ่มดำเนินการได้ภายในเวลา 6 ปีนี้ (ญี่ปุ่นโดยฮิตาชิก็เริ่มลงทุนในเทคโนโลยีนี้แล้วเช่นกัน)
ต้องบอกก่อนว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ปัจจุบันนั้นราคาแพงมาก เพราะต้องสร้างเครื่องปั่นไฟและระบบให้ฟิตกับการออกแบบ แล้วขนไปประกอบ ณ โรงไฟฟ้าแต่ละแห่งที่สร้างขึ้น ต้นทุนจึงแพงมาก (หลักหมึ่นล้านบาทต่อโรง)
ผิดกับ SMR ที่สามารถผลิตจำนวนมากๆ ได้จากโรงงานของ NuScale แล้วนำไปติดตั้งได้เลย โดยกำลังผลิตของแต่ละโมดูลจะได้ประมาณ 50 เมกกะวัตต์ (ใช้ได้อย่างต่ำ 6 หมึ่นครัวเรือนในเขตพื้นที่นอกกรุงเทพฯ และปริมณฑล)
ถ้าต้องการขยายกำลังผลิตในพื้นที่ ก็สามารถบรรจุ SMR หลายๆ เครื่องได้ต่อ 1 โรงไฟฟ้า (ลองดูตัวอย่าง SMR และโรงไฟฟ้าแบบใหม่ได้จากเว็บไซต์ของ NuScale)
ข้อดีอีกอย่างของมันคือเล็กและไม่จำเป็นต้องสร้างหอหล่อเย็น (Cooling Tower) เพราะใช้ความร้อนไม่มากเท่าเทคโนโลยีเดิม ทำให้ประหยัดค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้า ตลอดจนปริมาณน้ำและระบบหล่อเย็น
SMR จะช่วยให้เราได้พลังงานสะอาดและเพียงพอต่อความต้องการในอนาคต
อันที่จริงแหล่งพลังงานในอุดมคติเลยคือ Fusion Technology (เชื่อว่าเป็นเทคโนโลยีเดียวกับดวงอาทิตย์) ซึ่งอาจจะปลอดภัยร้อยเปอร์เซนต์เพราะไม่คายกากนิวเคลียร์เลย (หรือคายน้อยมาก)
แต่ตราบเท่าที่มันยังไม่เสร็จให้ใช้ SMR ย่อมเป็นความหวังสำคัญ

โดย ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว / Editor in Chief _MBA magazine

05/10/2566

คงไม่มีช่วงเวลาปะเหมาะเคราะห์ร้ายไปยิ่งกว่านี้อีกแล้วหล่ะ

ธันวาคม 2021 รัฐบาลเยอรมนี ณ ขณะนั้น ได้ประกาศว่าจะปิดโรงงานไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ 3 โรง จากทั้งหมด 6 โรงทั่วประเทศ โดยการนี้จะมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นเกือบหมึ่นล้านยูโร และคาดว่าจะเรียบร้อยในราวสิ้นปี 2022

แปลว่าคนเยอรมันตกลงปลงใจบอกศาลาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แน่นอนแล้ว ถึงกล้าทำขนาดนี้ เพราะก่อนหน้า ได้วางท่อก๊าซเชื่อมกับแหล่งก๊าซราคาถูกของรัสเซียเรียบร้อยแล้ว

เคราะห์ร้ายที่รัสเซียบุกยูเครน และตามมาด้วยมาตรการแซงชั่นจากชาติตะวันตก ส่งผลให้รัสเซียตอบโต้ด้วยการลดปริมาณก๊าซผ่านท่อก๊าซ Nord Stream มันจึงกระทบกับเยอรมนีอย่างจัง เพราะดันไปพึ่งเขาหมดแล้ว

เมื่อปีที่แล้ว ค่าไฟในเยอรมนีเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว แม้ประชาชนจะช่วยกันประหยัดพลังงาน ทว่าทั้งประเทศก็ยังประสบภาวะคลาดแคลนพลังงานอย่างช่วยไม่ได้

รัฐบาลต้องหันไปปัดฝุ่นโรงไฟฟ้าถ่านหินให้กลับมาใช้งาน จำใจต้องปล่อยคาร์บอนไดอ็อกไซด์เพิ่มในอากาศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นหากคนเยอรมันไม่ยกเลิกโรงผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์

บทเรียนครั้งนี้ ถือว่าสำคัญมากสำหรับรัฐบาลทั่วโลก และอันที่จริงพลังงานนิวเคลียร์ก็สะอาดกว่าพลังงานฟอสซิลที่ใช้กันอยู่ในโรงไฟฟ้าส่วนมากของโลกเวลานี้ (ทั้งก๊าซ น้ำมัน ถ่านหิน) เพียงแต่ในหลายปีที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ถูกทำให้แย่อย่างยิ่งในสายตาชาวโลก

ยิ่งรัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่งสั่งให้ปล่อยน้ำที่เคยฉีดเตาปฏิกรณ์สมัยโรงไฟฟ้าฟูกูชิมาระเบิด ลงทะเลด้วยแล้ว ยิ่งสร้างภาพลบต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้ดูแย่ลงไปอีก เพราะถูกบอยคอตจากเพื่อนบ้านและผู้ซื้ออาหารทะเลจากญี่ปุ่นทั่วโลก

แต่โดยความเป็นจริงของโลก ไลฟสไตล์สมัยใหม่ยิ่งจะเพิ่มความต้องการใช้ไฟฟ้าอีกหลายเท่าตัวและอย่างก้าวกระโดด

การหันมาใช้รถยนต์ EV ของผู้ขับขี่ทั่วโลก การเปลี่ยนผ่านกระบวนการทำงานให้เป็นระบบดิจิตัล (Digital Transformation) ของภาคธุรกิจและองค์กรภาครัฐทั่วโลก ตลอดจนการเติบโตของ AI และพลังการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ที่จะต้องรองรับซอฟท์แวร์เหล่านี้ ตลอดจน Data Center ที่จะต้องสร้างขึ้นอีกจำนวนมากเพิ่อเก็บและประมวลผลข้อมูลที่จะเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล ความนิยมใช้ Blockchain และ Cryptocurrency อีกทั้งหุ่นยนต์ที่สามารถทำงานแทนคนในโรงงานและออฟฟิส ซึ่งจะก่อให้เกิดการทำงานแบบ Non-stop เพราะพวกมันไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เครื่องจักรก็สามารถผลิตได้แบบ 24/7/365 ฯลฯ

สหประชาชาติประเมินว่า ความต้องการพลังงานของโลก (Global energy demand) จะเพิ่มขึ้นอีก 185% ในปี 2050

คิดดูว่าปัญหาโลกร้อนจะทวีความรุนแรงขนาดไหนถ้าเรายังไม่หันไปหาแหล่งพลังงานสะอาด

ยกตัวอย่างแบตเตอรี่ของรถ TESLA Model 3 สามารถจุพลังงานได้ราว 50-82 กิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh) ขึ้นอยู่กับสเป็กของแต่ละรุ่น แต่เมื่อชาร์ตไฟ เราต้องใช้ไฟฟ้าแยะกว่านั้น คืออย่างต่ำต้องใช้ไฟบ้านถึง 70 kWh และสำหรับโมเดลท็อปที่สามารถวิ่งได้ไกลสุด ต้องใช้ถึง 94 kWh เลยทีเดียว

ข้อมูลของ กฟภ. ที่หาได้ล่าสุดบอกว่าครัวเรือนในเขต กฟภ. (ไม่รวมกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่อยู่ในเขต กฟน.) ใช้ไฟเฉลี่ยเพียง 3-4 kWh ต่อวันเท่านั้น

นั่นหมายความว่า เราต้องใช้ไฟกว่า 25 เท่าในการชาร์ตแบ็ต TESLA Model 3 ให้เต็ม เพียง 1 ครั้ง

และถ้าเราค้นหาคำตอบจาก AI ผ่าน ChatGPT แทน Google ก็แสดงว่าเรากำลังใช้ไฟฟ้ามากกว่าเดิมราว 3-30 เท่า ขึ้นอยู่กับคำถามที่เราตั้งถามมันนั้น ต้องอาศัยการค้นและประมวลข้อมูลจำนวนมากมายเพียงใด

ลองคิดดูว่า ถ้าองค์กรในโลกนำ AI มาใช้ ซึ่งคงจะเกิดขึ้นในเวลาไม่ช้า ความต้องการพลังงานจะเพิ่มขึ้นสักเพียงไหน

AI ต้องอาศัยคอมพิวเตอร์พลังสูงในการช่วยประมวลผล และต้องอาศัย Data Center ที่เป็นแหล่งเก็บข้อมูล ซึ่งเหล่านี้ต้องใช้ไฟฟ้าเพิ่มอย่างมาก

ยังไม่นับกระบวนการ Digital Transformation ซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในโลกในอัตราเร่ง คือการที่องค์กรธุรกิจและราชการทั่วโลกย้ายข้อมูลและซอฟแวร์ต่างๆ ที่ต้องใช้ในการทำงาน ขึ้นไปอยู่บน Cloud ก็ย่อมต้องการ Data Center ที่มากขึ้น และความสามารถในการประมวลผลที่สูงขึ้นของ Cloud-based Computer ทั้งหลาย

185% ที่สหประชาชาติประเมินไว้ อาจน้อยไปมาก เผลอๆ ดีมานด์ใหม่จะเพิ่มมากกว่านั้น 4-5 เท่า ถ้าการใช้ EV, AI และ Data Center ประดังมาพร้อมๆ กัน

สิ่งเหล่านี้ย่อมทำให้ระบบพลังงานในปัจจุบันเกิดติดขัด ทั้งผลิตไม่พอใช้ และระบบเครือข่าย Grid Line ซึ่งจะรองรับไม่ไหว

ทางออกคือต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มและปรับปรุงระบบเครือข่ายใหม่

คำถามคือจะสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มยังไงไม่ให้ไปซ้ำเติมปัญหาโลกร้อน

นิวเคลียร์คือทางออก

เราจำเป็นต้องเผชิญกับความจริงที่ว่า พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Power) ในปัจจุบันยังไปไม่ถึงไหน เพราะข้อจำกัดของแบตเตอรี่ เพื่อจะส่งไฟให้เมืองขนาดกลางใช้ได้เพียงพอ เราอาจต้องสร้างแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ถึง 1 ตารางกิโลเมตร (1x1 กม.)

ส่วนพลังงานจากลม (Wind Power) ก็มีข้อจำกัดในแง่ของแหล่งลม ราคาที่ดิน และราคาระบบกังหันที่ยังแพงมากอยู่

นิวเคลียร์น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด เพราะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกเลยแม้แต่น้อย และยังมีประสิทธิภาพสูงกว่าพลังงานลมถึง 360 เท่า และพลังงานแสงอาทิตย์ถึง 75 เท่า เมื่อเทียบกันที่การผลิตไฟฟ้า 1 กิกะวัตต์

ปัจจุบันทั้งโลกมี Nuclear Reactor ที่ใช้งานอยู่ทั้งสิ้น 445 ตัว โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 489 ตัว ถ้านับจากแผนแม่บทพลังงานของทุกประเทศรวมกัน

นับเป็นขาขึ้นของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกครั้ง แม้ภาพลักษณ์ของนิวเคลียร์จะยังแย่ในสายตาคนทั่วไป แต่มันก็คืบคลานแบบเงียบๆ ด้วยความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

เมืองไทยเราได้ตกลงใจว่าจะสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์มานานแล้ว แต่ในทางปฏิบัติ สิ่งนี้ยังไม่เกิดขึ้นจริง

โดย ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว / Editor in Chief _MBA magazine

29/09/2566

X

Right Click

No right click