January 15, 2025

แจ๊ก หม่า หายไปไหน?

ราวพฤศจิกายน ปี 2563 คำถามนี้ต่างผุดขึ้นในใจของทุกคนที่สนใจเมืองจีนและนักลงทุนทั่วโลก

เพราะจู่ๆ อภิมหาเศรษฐีนักธุรกิจจีนที่ชอบออกมาให้ความเห็นและปรากฎตัวต่อสาธารณะตลอดเวลาอย่างคุณหม่า ก็หายไปจากซีนเฉยๆ

แน่นอน คุณหม่าคือผู้ก่อตั้ง Alibaba กิจการยักษ์ใหญ่ของโลกที่ได้ชื่อว่า “Amazon of China” เมื่อ 26 ปีมาแล้ว

การประสบความสำเร็จของ Alibaba ในขณะที่เขาอายุยังน้อย ส่งผลให้เขาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก กลายเป็นไอดอลของผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ และอาจเป็นคนจีนร่วมสมัยที่คนทั่วโลกรู้จักมากที่สุด รองลงมาจากประธานาธิบดี สี จิ้นผิง

แต่เมื่อกิจการของเขาเติบใหญ่ขึ้นครอบคลุมกว้างขวางไปสู่บริการทางการเงินและฟินเทคภายใต้ Ant Group เขาก็เริ่มอึดอัดขัดข้องกับสภาพที่เป็นอยู่ในระบบการเงินของจีน

เขาตัดสินใจระบายความในใจ ให้สาธารณชนได้ร่วมรับรู้ ที่งานสัมนาหนึ่งในเซี่ยงไฮ้เมื่อเดือนตุลาคมปีก่อนหน้านั้น

เขาวิจารณ์ว่าระบบการเงินของจีนนั้นขาดการสร้างระบบนิเวศน์ที่แข้มแข็ง สถาบันการเงินทำตัวราวกับโรงรับจำนำ ที่เน้นแต่หลักทรัพย์ค้ำประกัน การเติบโตขึ้นอยู่กับจำนวนและคุณภาพของหลักทรัพย์ค้ำประกันและความสำพันธ์ส่วนบุคคลเป็นสำคัญ ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมในวงการนี้มีน้อยและไม่ถูกเน้นย้ำ ทำให้ระบบการเงินจีนนั้นเปราะบาง หากต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจขาลงจะลำบาก

แน่นอน เสียงวิจารณ์ของเขาย่อมไปเข้าหูบรรดาผู้คุมกฏในพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาล

หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน เขาก็ถูกสอบสวน แล้วก็เริ่มหายตัวไปอย่างเงียบๆ

ราคาที่เขาและผู้ถือหุ้น Alibaba ตลอดจนนักลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีของจีนต้องจ่ายคือ การล่มสลายของมูลค่าหุ้น Alibaba อีกทั้งรัฐบาลยังได้สั่งเบรกกะทันหัน ไม่ให้เขานำหุ้น Ant Group เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยกเลิกการขายหุ้น IPO ซึ่งเทียบมูลค่า ณ ขณะนั้น นักวิเคราะห์ต่างลงความเห็นว่าจะเป็น IPO ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ถึง 3.4 หมึ่นล้านเหรียญฯ

นับแต่นั้นมาจนบัดนี้ มูลค่ากิจการของ Alibaba ในตลาดหุ้นนิวยอร์ก (BABA) ลดลงกว่า 70%

เช้าวันที่ผมเขียนต้นฉบับอยู่ ณ ขณะนี้ หุ้น BABA เพิ่งปิดการซื้อขายไปที่ 84.11 เหรียญฯ ไหลตกลงมาเรื่อยๆ จากประมาณ 310 เหรียญฯ เมื่อคราวเกิดเรื่อง

และแล้ว สองปีผ่านไป ก็เริ่มมีข่าวว่าคุณหม่าไปปรากฏตัวที่นั่นที่นี่ในย่านเอเซียตะวันออกเฉียงใต้นี้ และเมื่อมกราคม 2566 เขาก็ได้มาปรากฎตัวเป็นๆ ที่สนามมวยราชดำเนินและไปกินผัดไทยเจ๊ไฝกับลูกชายคนโตของเจ้าสัวธนินท์และภรรยา

ปัจจุบัน เขาเป็นศาสตราจารย์พิเศษให้กับมหาวิทยาลัยโตเกียว ที่ญี่ปุ่น และยังไม่มีใครรู้แน่ชัด ถึงชะตากรรมของอาณาจักรธุรกิจของเขา ว่าจะถูกยึดครองจากรัฐบาลให้กลายเป็นรัฐวิสาหกิจ หรือบังคับให้แตกเป็นหลายๆ ธุรกิจ เพื่อไม่ให้ใหญ่เกินไปหรือไม่ และอย่างไร

เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์สำหรับนักธุรกิจและนักลงทุนทั่วไปที่คิดจะไปลงทุนหรือค้าขายในเมืองจีน หรือคิดจะลงทุนในเงินหยวน ยิ่งนักลงทุนไทยเราส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีน ย่อมห้ามไม่ได้ที่จะมีจิตใจเอนเอียงไปทางจีน อีกทั้งกระแสแอนตี้ฝรั่งในช่วงหลังมานี้ก็แรงขึ้นเรื่อยๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงทุนในเทรนด์สำคัญที่ MBA เอง ก็แนะนำอย่างแข็งแรงยิ่งยวด นั่นคือ AI

เด๋วนี้มีกองทุน ETF จำนวนมากทั่วโลก ที่เน้นลงทุนในกิจการ AI และที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการเติบโตของ AI

ขณะเดียวกันก็มีกองทุนจำนวนมากที่ระดมทุนเพื่อไปลงทุนในจีน ซึ่งก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องหา AI Exposure อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กิจการ AI ของจีนนั้น หลักๆ คงหนีไม่พ้น “สี่ใหญ่” อย่าง Alibaba, Baidu, Tencent, และ Huawai

แต่ประเด็นหลักและความเสี่ยงอยู่ที่กฎระเบียบของรัฐบาล

มีข่าวออกมาจากจีนว่ารัฐบาลจีนกำลังสร้างกฎระเบียบฉบับสมบูรณ์ที่จะควบคุม AI โดยยึดหลักการคอมมิวนิสต์เป็นหัวใจสำคัญ เช่นเดียวกับกฎเกณฑ์อื่นๆ ในสังคมจีน

AI ก็คงจะเหมือนกับเทคโนโลยีทุกชนิดหรือซอฟท์แวร์ทุกตัวในจีนที่ต้องอยู่ภายใต้รัฐอย่างเข้มงวด

หน่วยงาน CAC หรือ Cyberspace Administration of China ถือว่า AI เป็น “ยุทธปัจจัย” หรือ Strategic Technology สำคัญของอนาคต (วงเล็บ “ที่จะต้องมีไว้เพื่อฟาดฟันกับศัตรูให้จีนได้เปรียบในสงครามเย็นที่กำลังเกิดขึ้น และสงครามร้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต”)

นั่นหมายความว่า กิจการด้าน AI ทั้งปวง จะต้องไม่สร้าง หรือสนับสนุน เนื้อหาหรือคอนเทนต์ ที่ขัดต่อนโยบายของรัฐและความเห็นของผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์

อันหนึ่งที่เพิ่งออกมาเมื่อ ก.ค. ปีนี้ คือกิจการ AI ต้องขออนุญาตเพื่อให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตจาก CAC จึงจะดำเนินธุรกิจด้านนี้ในประเทศจีนได้

กิจการหรือผู้ประกอบการที่ยื่นขออนุญาต จะต้องส่งรายละเอียดการทำงานทั้งหมดของอัลกอริทึ่มที่อยู่เบื้องหลังการทำงานและให้บริการของ AI และถ้า CAC เห็นว่าต้องแก้ไข ก็ต้องแก้ไปตามนั้นแล้วยื่นเข้ามาใหม่

โดย CAC ใช้หลักพิจารณาว่า ทุกอย่างต้องสอดคล้องกับคุณค่าหลักยึดของระบอบสังคมนิยม” (Core values of socialism)

ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI มองว่า การแทรกแซงในลักษณะนี้ อาจส่งผลให้ระบบ AI เกิดความผิดพลาดได้ง่าย

พวกเขาเรียกข้อผิดพลาดทำนองนี้ว่า AI Hallucinations ซึ่งแม้แต่ ChatGPT หรือ Bard (ของกูเกิ้ล) ก็เกิดแบบนี้บ่อย จนกว่าจะแก้ไขกันไปได้ทีละเล็กทีละน้อย คือต้อง “ทำไปแก้ไป” และ AI ก็จะเก่งขึ้นเรื่อยๆ

บนแชตบอร์ด “ถงยี่” ของ Alibaba เองก็เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เมื่อมีคนถามว่าจะปรุงอาหารที่เรียกว่า “คอนกรีตผัด” อย่างไรดี และบ็อตก็ตอบและให้ข้อมูลเป็นวรรคเป็นเวร

ดังนั้น หากในอนาคต กิจการ AI ของจีนที่ได้รับอนุญาตให้เปิดบริการได้แล้ว เกิดมีข้อความแฝงหรือคอนเทนต์ที่เจ้าหน้าที่รัฐตีความว่าไม่เหมาะสม ก็อาจต้องมารื้อสร้างกันใหม่ และต้องมายื่นขออนุญาตกันใหม่หรือไม่

นั่นเป็นความไม่แน่นอน ที่ยังไม่มีคำตอบในตอนนี้ (ในเชิงการลงทุนถือเป็น “ความเสี่ยง” อย่างหนึ่งที่สำคัญ)

อีกอย่าง แม้ตอนนี้กระแสแอนตี้ฝรั่งจะแรงขึ้นเรื่อยๆ ในเอเซีย แต่ขณะเดียวกันกระแสแอนตี้จีน ก็เริ่มเกิดขึ้นในโลกเช่นกัน

ถ้าวิเคราะห์กันจริงจังแล้ว กิจการเทคโนโลยี “สี่ใหญ่” ของจีนนั้น สร้างรายได้นอกประเทศน้อยมาก

แพล็ทฟอร์มและแอ็พต่างๆ ของพวกเขา ไม่ค่อยเป็นที่นิยมนอกจีน

และฮาร์ดแวร์ต่างๆ ก็เริ่มขายได้น้อยลง เพราะความไว้วางใจต่อการเก็บข้อมูลส่วนตัวไปไว้ในมือรัฐบาลจีนนั้นลดลง

ถ้ายืมคำของคุณหม่า ก็ต้องพูดว่า กิจการยักษ์ใหญ่เหล่านี้ แม้จะสร้างรายได้มหาศาลในจีน แต่ก็พึ่งพิงตลาดจีนมาก เพราะการขยายธุรกิจในต่างประเทศยังไม่เป็นผล ดังนั้น พวกเขายังมีความเปราะบาง

หากเศรษฐกิจจีนเริ่มเป็นขาลง หรือทรุด พวกเขาจะลำบากกว่ากิจการที่มีฐานรายได้กระจายไปทั่วโลก

 

 

บทความ :  ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว / Editor in Chief _MBA magazine

29/09/2566

 

บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ “SHR” บริษัทในเครือ “สิงห์ เอสเตท” เคาะอัตราผลตอบแทนหุ้นกู้อายุ 3 ปี ที่ 5.00% ต่อปี มั่นใจกระแสตอบรับดี หลังปัจจัยหนุนธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการ “วีซ่า-ฟรี” ที่จะช่วยดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยในช่วงไฮซีซั่น ขณะที่หุ้นกู้ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ “ลงทุน” ช่วยตอกย้ำความมั่นใจให้กับผู้ลงทุน

บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ ‘SHR’ ผู้ประกอบธุรกิจบริหารจัดการโรงแรมและลงทุนในธุรกิจโรงแรมระดับนานาชาติที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ในเครือบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และการลงทุนระดับสากล กำหนดอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ อายุ 3 ปี ที่ระดับ 5.00% ต่อปี โดยจะเสนอขายต่อประชาชนเป็นการทั่วไปเป็นครั้งแรก ในระหว่างวันที่ 16-18 ตุลาคม 2566 ผ่านสถาบันการเงินชั้นนำ 3 แห่งที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)

หุ้นกู้ชุดดังกล่าวได้รับการอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ “BBB” ซึ่งเป็นระดับ “ลงทุน” (Investment grade) ในขณะที่อันดับความน่าเชื่อถือองค์กรอยู่ที่ระดับ “BBB+” แนวโน้ม “คงที่” (Stable) ซึ่งได้รับการจัดอันดับโดยบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2566 โดยอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าวสะท้อนถึงคุณภาพที่ดีของกลุ่มสินทรัพย์โรงแรมของบริษัทฯ ที่มีความหลากหลายในเชิงภูมิศาสตร์ และการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่า หนี้สินทางการเงินของบริษัทฯ จะลดลง เนื่องจากผลการดำเนินงานในธุรกิจโรงแรมของบริษัทฯ จะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า จากอุปสงค์ด้านการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่ง

 

นายเดิร์ก อังเดร ลีน่า เดอ คุยเปอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท กล่าวว่า การกลับมาของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในปีนี้ฟื้นตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่กลยุทธ์ในการผลักดันธุรกิจของ SHR ทำให้โรงแรมในกลุ่มสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวที่หลากหลายมากขึ้นจากทั่วทุกมุมโลก นอกจากนี้ ธุรกิจท่องเที่ยวยังได้รับการสนับสนุนของรัฐบาล ทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงมาตรการ “วีซ่า-ฟรี” ให้กับนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน เป็นระยะเวลา 5 เดือน และอาจจะขยายไปยังนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ ทำให้ธุรกิจโรงแรมสามารถกลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งเชื่อว่าปัจจัยเหล่านี้จะสนับสนุนให้ผู้ลงทุนมั่นใจให้การตอบรับหุ้นกู้ SHR เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับที่เคยให้การตอบรับหุ้นกู้ของ “สิงห์ เอสเตท”

ทั้งนี้ บมจ. เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท เป็นบริษัทในเครือของ สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจโรงแรมที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและมีผลการดำเนินงานโดดเด่นในปีที่ผ่านมา โดยมีพอร์ตโฟลิโอของโรงแรมและรีสอร์ทที่มีมาตรฐานระดับโลกทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ด้วยความเชี่ยวชาญในการบริหารและลงทุนในโรงแรมและรีสอร์ทคุณภาพสูงในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมทั่วโลก โดย SHR ได้พัฒนาไลฟ์สไตล์แบรนด์ SAii (ทราย) ของตนเองขึ้นมาในประเทศไทยและมัลดีฟส์ ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากแขกผู้เข้าพักในด้านการส่งมอบประสบการณ์และการบริการอันยอดเยี่ยม ด้วยบุคลิก แบรนด์ที่สนุกสนาน ภายใต้แนวคิดการผสานจุดแข็งที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย อาทิ ความมีน้ำใจ ความอ่อนน้อมถ่อมตน และความเป็นมิตร ควบคู่ไปกับความคิดสร้างสรรค์ และกลิ่นอายของจุดหมายปลายทาง โดยนอกจากแบรนด์ SAii แล้ว SHR ยังเป็นพันธมิตรกับแบรนด์โรงแรมชั้นนำระดับโลกที่มีช่องทางการจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่งในตลาดของตน โดยในปี 2566 บริษัทฯ มีโรงแรมทั้งสิ้นจำนวน 38 แห่ง จำนวน 4,552 ห้อง ตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากทั่วโลก

ในปีนี้เรามีเป้าหมายขับเคลื่อนรายได้ให้สูงกว่า 10,000 ล้านบาท และวางเป้าหมายอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอย่างต่ำที่ 70% ควบคู่กับการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการบริหารงานภายใต้หลักธรรมาภิบาลเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกัน เรายังคงลงทุนในสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพสูงผ่านการพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการส่งมอบบริการที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้าของเรา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SHR กล่าว

 

ด้าน นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. สิงห์ เอสเตท หรือ ‘S’ เปิดเผยว่า SHR เป็นบริษัทในเครือ ที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวและมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้มั่นใจว่าหุ้นกู้ SHR ที่จะเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกจะได้รับการตอบรับอย่างดี

ขณะที่ สถาบันการเงินผู้จัดการการจัดจำหน่าย กล่าวเพิ่มเติมว่า หุ้นกู้ SHR เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจ ด้วยอัตราดอกเบี้ยระดับ 5.00% ต่อปี อายุหุ้นกู้ที่เหมาะสม ภายใต้อันดับความน่าเชื่อถือระดับ “ลงทุน” รวมถึงการเป็นบริษัทในเครือ บมจ.สิงห์ เอสเตท ที่มีความแข็งแกร่งและมั่นคง ขณะเดียวกัน SHR ยังอยู่ในธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวอีกด้วย

สำหรับผู้ลงทุนที่สนใจจองซื้อหุ้นกู้ “SHR” สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sec.or.th หรือติดต่อผ่านผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ ดังต่อไปนี้

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 02-111-1111 หรือจองซื้อผ่านแอปพลิเคชั่น Krungthai NEXT สำหรับผู้ลงทุนทั่วไปที่เป็นบุคคลธรรมดา

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)* โทร. 02-888-8888 กด 819 หรือจองซื้อผ่านเว็บไซต์ K-My Invest (www.kasikornbank.com/kmyinvest) สำหรับผู้ลงทุนทั่วไปที่เป็นบุคคลธรรมดา

บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)** โทร. 02-165-5555 หรือจองซื้อผ่านแอปพลิเคชั่น Dime! สำหรับผู้ลงทุนทั่วไปที่เป็นบุคคลธรรมดา

* ซึ่งรวมถึง บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะหน่วยงานขายของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

** ซึ่งรวมถึงธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ในฐานะหน่วยงานขายของบริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)

SCB CIO มองเฟดส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยไว้ในระดับสูง อาจปรับลดลงไตรมาส 3/2567 ส่งผลกดดันกลุ่มประเทศหรือธุรกิจที่มีหนี้สูง อาจมีปัญหาสภาพคล่องหรือถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ คาดเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2567 โต 1.5% ชะลอลงจากปีนี้ ที่คาดว่าจะเติบโต 2.1%แนะหลีกเลี่ยงลงทุนในหุ้นกู้หรือหุ้นกลุ่มนื้ เน้นลงทุนผลิตภัณฑ์ที่อ้างอิงผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ ซึ่งออกโดยสถาบันการเงินในไทย รวมถึงลงทุนหุ้นกู้ Investment grade เนื่องจากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯและไทย ยังกว้าง หลีกเลี่ยงหุ้นกู้ High yield กลุ่มธุรกิจที่ก่อหนี้สูง เช่น กลุ่มอสังหาฯ จีน พร้อมปรับมุมมองหุ้นจีน A-share และ EM REITs เป็น Neutral (ถือ) และแนะรอจังหวะสะสมหุ้นสหรัฐฯ

ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ครั้งล่าสุด ได้ส่งสัญญาณการคงดอกเบี้ยไว้ในระดับสูง และปรับลดลงช้า โดยอาจจะต้องรอจนถึงไตรมาส 3 ปี 2567 ขณะที่ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2567 ยังมีแนวโน้มชะลอตัว แต่น่าจะเป็นแบบจัดการได้ (Soft Landing) โดยล่าสุด Fedคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2567 จะเติบโต 1.5% ชะลอลงจากปี 2566 ที่คาดว่าจะเติบโต 2.1% ส่วนเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น จีน อินเดีย รวมถึงเศรษฐกิจในอาเซียน และไทย ที่พึ่งพาอุปสงค์ต่างประเทศ ในด้านการส่งออกและการท่องเที่ยว ค่อนข้างมาก ขณะที่ เศรษฐกิจยุโรปแม้มีแนวโน้มฟื้นตัว แต่ก็มาจากฐานต่ำ จึงทำให้เศรษฐกิจโลกในปี 2567 ไม่ได้ฟื้นตัวอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ จากแนวโน้มดอกเบี้ยในประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่คงอยู่ในระดับสูงและลดลงช้า ขณะที่ดอกเบี้ยในประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) มีแนวโน้มลดลงได้เร็วมากกว่า ทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย (Rate differentials) มีแนวโน้มดำเนินต่อไป และเป็นแรงกดดันทำให้ค่าเงิน Emerging markets อาจอ่อนค่า โดยเฉพาะประเทศที่ดุลบัญชีเดินสะพัดฟื้นตัวช้า และยังมีแนวโน้มขาดดุลการคลังเพิ่มสูงขึ้น เช่น ไทย โดย SCB CIO เชื่อว่า ค่าเงินบาทจะยังมีแรงกดดันอ่อนค่าในช่วงที่ยังมีความกังวลเรื่องการขาดดุลการคลังในระยะข้างหน้า แต่ค่าเงินบาทน่าจะกลับมาแข็งค่าขึ้นได้เล็กน้อยช่วงปลายปี ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว (high season) โดยเราปรับมุมมองค่าเงินบาทเป็น 34.5-35.5 บาท/ดอลลาร์ สรอ. ณ สิ้นปี 2566

ขณะที่เรายังคงแนะนำให้ระมัดระวังการลงทุนในกลุ่มประเทศ/ธุรกิจที่มีหนี้สูง ซึ่งอาจเกิดปัญหาสภาพคล่องในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยสูง และเศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงอาจถูกบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ลดอันดับลง(downgrade) ได้ โดยประเทศส่วนใหญ่ยังมีหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระดับสูงและลดลงช้า เป็นผลจากการออกมาตรการประคับประคองเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในช่วง COVID-19 ขณะที่เมื่อพิจารณาหนี้ครัวเรือนต่อ GDP พบว่า จีน อยู่ที่ 64% และไทย 91% ซึ่งเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว โดยเฉพาะไทย ที่มีหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในตลาดเกิดใหม่ด้วยกัน สำหรับหนี้ภาคธุรกิจต่อ GDP พบว่า จีน อยู่ที่ 132% และ เวียดนาม 128% โดยหนี้ภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นเร็วและอยู่ในระดับสูงเช่นกัน ขณะที่หนี้ภาคธุรกิจของไทย อยู่ที่ 80% เริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากที่เคยเพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤต COVID-19

นอกจากนี้ จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ และไทย ที่ยังมีแนวโน้มสูงในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า เรายังคงแนะนำการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่อ้างอิงผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ หรืออัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์ สรอ.- บาท ซึ่งออกโดยสถาบันการเงินในไทย เนื่องจากในช่วงที่ตลาดยังมีความผันผวนจากการลดดอกเบี้ยช้าของ Fed เราเชื่อว่าสินทรัพย์เสี่ยงยังคงมีความผันผวนสูง ในขณะที่ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และไทย ยังมีแนวโน้มอยู่ในลักษณะกว้างต่อไป

ในส่วนของการลงทุนในพันธบัตร/หุ้นกู้ เรายังคงเน้นการลงทุนในหุ้นกู้คุณภาพสูง (Investment grade) และเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอลงบวกกับท่าทีของ Fed ในการหยุดขึ้นดอกเบี้ย จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั้งระยะสั้นและยาว ทยอยลดลงในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยที่ค้างในระดับสูงในช่วงที่เหลือของปี มีแนวโน้มทำให้ความเสี่ยงด้านเครดิตของหุ้นกู้กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนสูงแต่มีความเสี่ยงสูง (High yield) ยังมีโอกาสขยับสูงขึ้นอีก จึงแนะนำหลีกเลี่ยงหุ้นกู้ High yield ในกลุ่มธุรกิจที่มีการก่อหนี้สูง เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในจีน

อย่างไรก็ตาม เราได้ปรับมุมมองการลงทุนบนหุ้นจีน A-share เป็น Neutral โดยเรามองว่า ถึงแม้ดัชนีหุ้น A-share จะมีมูลค่า (Valuation) ค่อนข้างถูก (forward P/E อยู่ที่ 10.9x, -1 s.d. เมื่อเทียบค่าเฉลี่ย 5 ปี) และมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการที่ทางการจีนมีแนวโน้มออกมาตรการฝั่งการเงิน การคลัง ภาคอสังหาฯ และค่าเงินหยวน แต่ดัชนีมีแนวโน้มเคลื่อนไหวกรอบจำกัด ในระยะ 3-6 เดือนค่อนข้างจำกัด จาก sentiment ของนักลงทุนจีนที่ยังซบเซา และแรงขายสุทธิหุ้นจีนของต่างชาติ ประกอบกับความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ที่มีอยู่ ทั้งกับสหรัฐฯ และยุโรป โดยเราประเมินว่าหุ้นจีน A-share มีแนวโน้มผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่ฟื้นตัวได้ในกรอบจำกัด จนกว่าจะเห็นมาตรการกระตุ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

นอกจากนี้ ยังปรับมุมมอง ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) ในตลาดเกิดใหม่ หรือ EM REITs เป็น Neutral เช่นกัน โดยแนะนำให้เลือกลงทุนรายตัว (selective buy) เป็นหลัก เนื่องจากกลุ่ม REITs เอเชีย หรือ Asian REITs เผชิญแรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยและอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond yield) ที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับ REITs ไทยยังเผชิญแรงขายจากกองทุนที่ลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Fund of property funds) อย่างไรก็ดี Valuation ยังอยู่ในระดับน่าสนใจทั้งในแง่ของ ราคาต่อมูลค่าหุ้นตามบัญชี (PBV), อัตราการจ่ายเงินปันผล (Dividend yield) และส่วนต่างของผลตอบแทนเมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาล (Yield Spread) ด้าน REITs ของ สิงคโปร์ พบว่า Yield Spread อยู่ในระดับที่ไม่น่าสนใจ

SCB CIO แนะนำให้รอจังหวะสะสมหุ้นสหรัฐฯ โดย หุ้น Big-Tech ขนาดใหญ่ ที่มีมูลค่าตามราคาตลาด (market cap) มากที่สุด 7 ตัวแรกในดัชนี S&P 500 และเป็นตัวชี้นำผลตอบแทนการลงทุนในปี 2566 เพิ่มขึ้นมากกว่า 50% นับตั้งแต่ต้นปี ขณะที่หุ้นที่เหลือของดัชนีเพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 5% เท่านั้น เราจึงมองว่า Valuation ของหุ้น Big-Tech 7 ตัว ได้สะท้อนกำไรที่ดีกว่าคาดไปพอสมควรแล้ว และมีโอกาสที่จะปรับฐานเข้าสู่ค่าเฉลี่ยของตลาด โดยล่าสุด Trailing P/E และ Forward P/E ของ Big Tech 7 ตัว อยู่ที่ 60.1x และ 36.1x ขณะที Trailing P/E และ Forward P/E ของ S&P500 อยู่ที่ 24.7x และ 19.5x ตามลำดับ โดยเราประเมินว่าแม้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะปรับตัวลงในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังอยู่ในระดับที่ Valuation ค่อนข้างตึงตัว จึงแนะนำให้รอ Valuation ถูกลงมากกว่านี้ค่อยเข้าทยอยสะสม

ลงทุนหุ้นสหรัฐฯ พร้อมรับดอกเบี้ยจากเงิน USD สูงสุด 2.5% ต่อปี

X

Right Click

No right click