เมกะเทรนสำคัญของโลกที่กำลังเกิดขึ้นและจะดำเนินไปอีกเป็นสิบปีนับจากนี้ คือการสลายตัวของระบบโลกาภิวัฒน์ และนำโรงงานและฐานการผลิตกลับสู่บ้านตัวเองของประเทศตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา อีกทั้งยังจะมีการกีดกันการค้าและปกป้องเทคโนโลยีของตนให้เข้มข้นขึ้น
หลายคนเรียกเทรนสำคัญนี้ว่า “Re-calibrations” ไทยเราจะรับมือกับโลกที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปนี้อย่างไร?
โลกเราในรอบ 40 กว่าปีมานี้ เสียเงินเสียทองและทุ่มเททรัพยากรจำนวนมากมายนับไม่ถ้วนไปกับการสถาปนาระบบ Globalization หรือที่เราแปลไทยว่า “โลกาภิวัฒน์” ขึ้นมาเพื่อจัดระเบียบเศรษฐกิจ การค้า การผลิต และการเงินของทั้งโลก ภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา
นับแต่จีนเปิดประเทศและแบ่งเขตภาคตะวันออกให้เป็นฐานการตั้งโรงงานผลิตของโลกตะวันตก โดยป้อนแรงงานราคาถูกที่มีอยู่เป็นจำนวนมหาศาลให้กับโรงงานเหล่านี้ กิจการธุรกิจของประเทศตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ก็ย้ายฐานไปผลิตในจีน ยุบเลิกโรงงานในประเทศ แล้วนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูกจากจีนแทน โดยในประเทศก็ได้จัดตั้งห้างยักษ์ใหญ่ที่ขายสินค้าราคาถูก และมีเครือข่ายทั่วประเทศ เช่น Walmart และอีกหลายแห่ง ขึ้นบริการผู้บริโภคของตัว
ฝ่ายจีนนั้นเล่า เมื่อรับเงินดอลล่าร์เข้ามาเป็นรายได้จากการส่งออก ก็ได้นำกลับไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน ถือไว้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศภายใต้โลกาภิวัฒน์และเปิดเสรีทางการเงิน จนจีนได้กลายเป็นเจ้าหนี้รายสำคัญของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ เป็นผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากระบบนี้
มิเพียงจีนเท่านั้น ที่เปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ Eastern Seaboard เพื่อรับเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายรวมทั้งไทยเองก็ได้ดำเนินนโยบายแบบนี้เช่นกัน ส่งผลให้ไทยเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ Globalization แบบเต็มตัว และเต็มที่หลังจากเปิดเสรีทางการค้าและการเงินด้วยอีกช่องทางหนึ่ง
Globalization มาถึงจุดสูงสุดหลังจากโซเวียตล่มสลาย ทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นเจ้าโลกแต่ผู้เดียว และเป็นช่วงที่ American Empire ขึ้นสู่จุดสูงสุดอีกด้วย
ระบบแบบนี้พอทำไปนานเข้า ส่งผลให้โรงงานในสหรัฐฯ ยุโรปและญุ่ปุ่น ต้องปิดตัวลง ชนชั้นกลางลำบาก อีกทั้งกิจการที่เข้าสู่ระบบนี้ แม้โรงงานในบ้านจะปิดตัวลง แต่ก็สามารถทำกำไรได้มากเพราะต้นทุนการผลิตต่ำลง ส่งผลให้ราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนก่อให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น และส่งผลต่อการเมืองในประเทศ เป็นรากฐานให้นักการเมืองฝ่ายขวาขึ้นมามีอำนาจ อีกทั้งยังต้องสูญเสียความลับทางการผลิตหรือเทคโนโลยีให้กับจีน จนจีนผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่ง และจีนเองก็เริ่มไหวตัว นำเงินสำรองออกมาใช้ขยายแสนยานุภาพและขยายอิทธิพลไปทั่วโลก อย่างที่เห็นกันอยู่
อีกทั้งค่าแรงในจีนที่สูงขึ้นมากๆ เมื่อเทียบกับอดีต และปัญหาละเมิดสิทธิบัตรและขโมยความลับทางการผลิตต่างๆ ตลอดจนคุณภาพการผลิตของโรงงานจีน ที่หลายครั้งต้องนำมาแก้ไขก่อนส่งมอบให้ลูกค้า ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตออกจากจีน
สถานการณ์โควิดทำให้เรื่องเลวร้ายขึ้นเมื่อจีนปิดประเทศและล็อกดาวน์เข้มงวดทำให้ Supply Chain ของโลกปั่นป่วน เพราะขาดวัตถุดิบพื้นฐานแทบทุกด้าน เคมี ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หรือแม้กระทั่งยาสำคัญหลายชนิด เช่น Antibiotic ก็ยังขาดแคลน เป็นต้น อีกทั้งปัจจุบันค่าแรงในจีนก็สูงขึ้นมากๆ เมื่อเทียบกับอดีต และรัฐบาลจีนเองก็ประกาศชัดเจนว่าจะเข้าควบคุมไต้หวันให้เป็นส่วนหนึ่งให้ได้ โดยที่ไต้หวันเป็นฐานการผลิตใหญ่ของ Micro-processor Chips ชั้นสูง ที่เป็นสมองของระบบเศรษฐกิจแบบดิจิตัล
เหล่านี้ทำให้กิจการของตะวันตกต้องหันมาลดความเสี่ยงของตนลง โดยเริ่มย้ายฐานการผลิตที่มีความสำคัญกลับบ้านหรือย้ายไปที่อื่นแทน เพื่อกระจายความเสี่ยง Systematic Risk นั่นเอง
ที่เห็นชัดเจนคือวงการชิปและกิจการขนาดใหญ่ ซึ่งได้ทยอยกลับไปสหรัฐฯ กันมาก ยักษ์ใหญ่อย่าง Intel, Samsung, Micron, และ TSMC ต่างประกาศโครงการลงทุนมหาศาลของตัวไปแล้ว อีกทั้งรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกแพ็กเกจใหญ่ภายใต้กฎหมาย CHIPS เพื่อจูงใจให้กิจการย้ายฐานกลับบ้าน เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง 3-D Printing ที่ก้าวหน้าขึ้นมาก ก็มีส่วนสำคัญ ให้โรงงานรุ่นใหม่ผลิตด้วยต้นทุนต่ำ และตัดสินใจย้ายฐานการผลิตมาอยู่ใกล้ตลาดในบ้านได้ง่ายขึ้น หรือเทคโนโลยีทางด้านหุ่นยนต์และ AI ก็ช่วยลดปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานไปได้ เพราะแม้สังคมตะวันตกจะเข้าสู่สังคมสูงอายุกันมาก ก็จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการผลิต
เทรนแห่งการลดความเสี่ยง โดยกระจายฐานการผลิตออกจากจีนเพิ่งเริ่มต้น และกำลังจะโหมกระหน่ำแรงขึ้นๆ เมื่อความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เปิดเผยรุนแรงขึ้น
การโดดเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ของซาอุดิอาราเบีย อิหร่าน UAE อาร์เจนตินา อียิปต์ และเอธิโอเปีย ยิ่งจะทำให้กลุ่ม BRICS ซึ่งมีจีนและรัสเซียเป็นโต้โผ เข้มแข็งขึ้น และอีกไม่นาน กลุ่มนี้อาจหันไปใช้เงินสกุลอื่นมาซื้อขายน้ำมันและพลังงานแทนดอลล่าร์ ส่งผลให้ Petrodollar ลดความสำคัญลง
หากไทยเราสามารถดำเนินการเชิงรุกในช่วงนี้ นำเสนอบริการแพ็กเกจจูงใจที่น่าสนใจ เพื่อช่วงชิงกิจการสมัยใหม่ที่สำคัญต่อเศรษฐกิจแบบใหม่ของโลก และคาดว่าจะเติบโตในอนาคต ให้เข้ามาลงทุน และแบ่งปันความรู้ทางการผลิตให้เรา ย่อมเป็นเรื่องเร่งด่วน
โดย ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว / Editor in Chief _MBA magazine
29/09/2566
เซเว่น อีเลฟเว่น ประกาศกลยุทธ์เสริมทัพพันธกิจส่งเสริมและสนับสนุนเอสเอ็มอี ปี 2566 ภายใต้ชื่อ “SME Beyond”
บริษัท ซีพีแรม จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอาหารพร้อมรับประทานมาตรฐานโลก ยังคงเดินหน้าในการเป็นผู้นำด้าน Food provider ของประเทศไทย