November 23, 2024

"ถอดปลั๊กแล้วจะเห็นหน้าตาของความสุข"

เมื่อโลกถูกบังคับให้เข้าสู่โหมด Slow Life จากเจ้าไวรัสตัวร้าย เราควรถือโอกาสตอนว่างๆ นี้ หันกลับมาพิจารณาตัวเองอย่างจริงจัง

 ทุกวันนี้ เราทั้งหลายต่างต้องก้มลงเช็กโทรศัพท์มือถือกันทุกๆ บ่อย บางคนทุกๆ 10 นาที บางคนทุกๆ 5 นาที บางคนทุกๆ นาที โดยบางคนต้องหยิบมือถือขึ้นมาเช็กก่อนเป็นลำดับแรก เมื่อลืมตาตื่นขึ้นมาในตอนเช้า และหลับไปตอนกลางคืนพร้อมกับโทรศัพท์มือถืออยู่บนหัวนอน

ต่อวัน ตั้งแต่ตื่นจนถึงเข้านอน โดยเฉลี่ยแล้วอาจต้องมีถึง 40-50 ครั้ง แต่ละครั้งอาจกินเวลาช้านาน มากน้อยต่างกันไปในแต่ละครั้ง แล้วแต่ว่าขณะนั้นเราว่าง หรือทำอย่างอื่นอยู่ด้วย หรือไม่อย่างไร

ทำให้ข้อความที่พวกเราได้รับรู้ต่อวันโดยเฉลี่ยแล้วอาจเกิน 500 หรือบางวันอาจถึง 1,000 ข้อความ...หากสังเกตตัวเองจริงๆ เราจะต้องตกใจว่าวันๆ หนึ่ง เรารับข้อความมากมายถึงเพียงนี้เชียวหรือ

ข้อความที่ผมพูดถึงนี้มันรวมถึง บทความ บทสนทนา พาดหัวข่าว คลิปวิดีโอ รูปภาพ คลิปเสียง แบบสอบถามที่ให้เราช่วย Vote หรือสิ่งที่เป็น Entertainment ทั้งหมดทั้งมวล ไม่ว่าหนัง ละคร เกม และซีรีส์ ฯลฯ

แน่นอน สิ่งเหล่านี้มันดึงดูดให้เราใช้เวลาอยู่หน้าจอ (ทั้งจอมือถือและจอคอมพิวเตอร์) โดยแย่งเวลาเราไปจากกิจกรรมหรือความสนใจอย่างอื่น

เพราะคนเรานั้นมีเวลาจำกัด ถ้าเราใช้ไปกับหน้าจอมากเท่าใด ย่อมปันให้กิจกรรมหรือความสนใจอื่นที่อยู่นอกจอในชีวิตจริง น้อยลงไปเป็นสัดส่วนกัน

อย่าลืมความจริงข้อนึงที่เจ็บปวดทว่าเป็นสัจธรรม คือมนุษย์เรานั้นมีเวลาอยู่ในโลกจำกัด แต่ละคนมีไม่เท่ากัน ไม่มีใครรู้ว่าตัวเรามีเวลาเท่าไหร่กันแน่ แต่ที่รู้แน่ๆ คือ “เมื่อหมดเวลา เราต้องตาย”

 

มนุษย์เรารู้วันเกิดตัวเอง แต่ไม่รู้วันตาย ดังนั้นการใช้ชีวิตโดยประมาทหรือการผลาญเวลาไปโดยใช่เหตุ ย่อมเป็นเรื่องที่ต้องคิดกันให้จงหนัก

ทีนี้ลองหันกลับมาดูว่า ที่เราเช็กๆ หน้าจอกันนั้น เราดูอะไรกันเหรอ...ดินฟ้าอากาศ ความเป็นไปของตลาดหุ้น น้ำมัน ทองคำ Bitcoin พืชผลโภคภัณฑ์แต่ละชนิด พาดหัวข่าวล่าสุดว่ายังไง ฝ่ายด่ารัฐบาลว่าไง ฝ่ายเชียร์ว่าไง มีใครตอบคอมเมนต์อะไรบ้างที่โดนๆ ดาราที่เราชอบทำอะไรกันบ้าง ชีวิตของเพื่อนเป็นยังไง ลูกเพื่อนเป็นยังไง เขาไปกินอะไรที่ไหน เที่ยวที่ไหนกัน กราฟฟิกที่เพื่อนๆ ส่งมาให้ประจำวันคืออะไร วันจันทร์คืออะไร อังคารคืออะไร ฯลฯ ประธานาธิบดีทรัมป์ด่าจีนว่ายังไง สีจิ้นผิงตอบโต้อย่างไร ลีเซียนลุงพูดกับคนสิงคโปร์ว่ายังไงอีก เทียบกับลุงตู่แล้วผู้คนเห็นว่ายังไง ผู้ว่าคาลิฟอร์เนียพูดกับประชาชนว่าไงหลังจากปิดเมือง ผู้นำอิหร่านติดไวรัสตายหรือยัง ดาราฮอลิวู้ดใครบ้างที่ติดไวรัส หมาแมวเป็นยังไงกันบ้างหลังจากที่เจ้าของกักตัวเองอยู่ในบ้าน เล่นกับหมากับแมวบ้างไหมหรือว่าเป็นที่รำคาญ ระดับฝุ่นที่เชียงใหม่และที่เซี่ยงไฮ้ลดลงบ้างไหม สัตว์ป่าที่ถูกไฟคลอกในออสเตรเลียเมื่อตอนปลายปีเป็นยังไงกันบ้าง น้ำแข็งขั้วโลกละลายอีกไหม ระดับน้ำทะเลไปถึงไหนแล้ว และโลกร้อนขึ้นอีกเท่าไหร่ ซึ่งฝรั่งบางคนก็ย้ำกับเราจังเลยว่ามันสำคัญในระดับคอขาดบาดตาย แล้วที่ซีพีซื้อหุ้นเทสโก้นั้น เขาเอาเงินที่ไหนซื้อหรือไปกู้เงินมาจากไหนเยอะแยะขนาดนั้น ก่อหนี้ขนาดนี้ไม่กลัวบ้างเหรอ หากเศรษฐกิจข้างหน้าไม่ดีหรือมีเทคโนโลยีใหม่มาชวนให้พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของคนเปลี่ยนไปในอนาคต... มีใครอีเมลถึงเราบ้างวันนี้ชั่วโมงนี้ แล้วในไลน์ส่วนตัวและไลน์กลุ่มมีใครว่าอะไรไหม เพื่อนๆ ในอินสตาแกรม ยูทูป เฟซบุ๊ก แมสเซนเจอร์ วอทแอป สแนปแชท เทเลแกรม ว่ายังไงกันบ้าง.... ฯลฯ

แล้วพฤติกรรมการเช็กของเราเป็นยังไงกันบ้าง...

นอนเช็กบนเตียงตั้งแต่ตื่น เช็กต่อในห้องน้ำระหว่างทำธุระ เช็กในลิฟต์เพราะไม่อยากสบตาคนในลิฟต์ เช็กบนรถไฟฟ้าท่ามกลางคนแปลกหน้า หรือระหว่างขับรถเอง ตอนติดไฟแดง บางทีติดพัน ไฟเขียวแล้วยังต้องตอบข้อความ คีย์ไปด้วยมองถนนไปด้วย แม้กลับถึงบ้านแล้วก็รีบไปเปิดคอมพิวเตอร์เพื่อเช็กข้อความต่อ บางคนเช็กตอนเข้าประชุม หรือระหว่างทำงาน แม้แต่ประชุมสำคัญ เมื่อยังไม่ถึงท่อนที่เราต้องเกี่ยวข้อง หรือเบื่อๆ เพราะคนอื่นพูดยาว ก็หยิบเอาโทรศัพท์ขึ้นมาเช็กไปพลางๆ ก่อน บางคนเช็กตอนกินข้าว กินไปด้วย ดูและคีย์ไปด้วย บางคนเช็กตอนดูทีวี หรืออาบน้ำ ทำหลายๆ อย่างไปพร้อมกัน... ฯลฯ

ถามว่า ข้อความเหล่านั้นมันสำคัญต่อเราขนาดไหน? แม้แต่อีเมลหรือข้อความที่ผู้อื่นส่งให้เราและตั้งใจติดต่อเราผ่านแอปต่างๆ นั้น มันเร่งด่วนขนาดไหน? คอขาดบาดตายแค่ไหน? ต้องเปิดดูและต้องตอบกลับทันทีเลยเหรอ? รอก่อนได้หรือเปล่า?

เราจะไม่มีทางรู้แน่ จนกว่าเราจะกดเช็กข้อความเหล่านั้นจนครบ แล้วเราก็พบว่าส่วนใหญ่มันมักไม่ได้คอขาดบาดตายอะไร ไม่ได้สลักสำคัญอะไรมากมาย แต่กว่าเราจะรู้ เราก็พบว่าเราได้เสียเวลาไปกับการตอบกลับไปในทุกๆ ช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการเขียนข้อความกลับไป ส่งเป็นสติ๊กเกอร์ กด Like กด Share เขียนคอมเมนต์ Forward ส่งต่อ กด Delete หรือลากลงถังขยะ หรือแม้กระทั่งถ่ายรูป หรือส่งคลิปเสียงกลับไป บางครั้งถึงกับอัดวิดีโอตัดต่อคลิปแล้วค่อยส่งกลับพร้อมคอมเมนต์ก็มี

วันๆ เราได้รับข้อความเป็นร้อยๆ พันๆ แม้บางอันจะสำคัญ แต่กว่าเราจะรู้ เราก็ต้องเสียเวลาไปกับการเปิดดู เปิดฟัง เสียเวลาเพ่งพินิจพิจารณา ครุ่นคิด แล้วก็ตอบกลับ เสร็จแล้วเรามักพบว่า เราอินไปด้วย โกรธ เกลียด หรือรักไปด้วย กับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดและความเห็นของคนอื่นๆ ความโลภของคนอื่นๆ ความโกรธ ความเกลียด หรือความลวงของคนอื่นๆ และ Agenda ของคนอื่นๆ มากกว่าของเราเอง

มันมักจะจบลงด้วยความผิดฝาผิดตัว ทำให้เราต้องไปต่อสู้ในสงครามของคนอื่น ไปเข้าเป็นฝักเป็นฝ่ายกับความขัดแย้งที่ไม่เกี่ยวกับเราเลย ไปดีใจเสียใจโกรธเศร้าใจกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง ที่เราไม่ได้ก่อขึ้น ฯลฯ

การสื่อสารยุคใหม่ที่ทุกอย่างอยู่บนมือถือ ดึงดูดกิเลสของเรา ให้เราโน้มเอียงว่าต้องสนใจมัน ต้องหยิบมันขึ้นมาเช็ก แล้วตอบโต้ จนเห็นเป็นความเร่งด่วน จนลืมไป (หรือละเลยไป) ว่า “อะไรสำคัญ อะไรไม่สำคัญ”

ความเร่งด่วนต้องมาก่อนสาระสำคัญ!

หลังจากเราเปิดดูข้อความ อ่านพาดหัวข่าวหรืออ่านทั้งบทความ ดูและฟังคลิป ปาดอินสตาแกรม และเปิดยูทูปดูทีละคลิปจนหมดล็อตนี้ แล้วค่อยเขียนคอมเมนต์ กด Like กด Share ตอบอีเมล ตอบไลน์ส่วนตัว ไลน์กลุ่ม ส่งสติ๊กเกอร์ ถ่ายรูป ส่งรูป หรืออัดคลิป ส่งคลิป ร่วมโหวต และร่วมเล่นเกม...เราจะพบว่าเราไม่มีเวลาเหลือให้กับเรื่องที่เป็นสาระสำคัญของชีวิตเรา เราลืมกล่าวคำหวานกับคนรักที่นั่งอยู่ในรถกับเรา หรือนั่งกินข้าวกับเรา ลืมรับฟังความทุกข์หรือปัญหาของเขาและเธอ ลืมรสชาติและความเอร็ดอร่อยของอาหารพื้นเมืองมื้อนั้น ลืมความหอมของกลิ่นตัวและดอกไม้ในตัวเขาหรือเธอ ลืมกล่าวคำสวัสดีพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ลืมวันเกิดของลูกๆ ลืมที่จะพูดจาหยอกล้อและเอาใจใส่รับฟังคนในครอบครัวที่เรารัก แม้กระทั่งเบอร์โทรศัพท์ของพวกเขา เราก็จำไม่ได้เสียแล้ว ถ้าโทรศัพท์หาย เราก็ไม่มีทางติดต่อพวกเขาได้ในเวลาคับขัน ฯลฯ

มิใยต้องกล่าวถึงเวลาที่จะได้ครุ่นคิดหรือลงมือทำในประเด็นที่ต้องอาศัยความลึกซึ้ง ละเมียด หนุนใจให้เข้าสู่ความดี ความงาม ความจริง หรือเวลาในการแสวงหาความรู้เพื่อจะพัฒนาทักษะตัวเอง

เวลาที่เหลือให้กับเรื่องสำคัญเหล่านี้ น้อยลงไปทุกที

ยิ่งยุคนี้เป็นยุคของ FakeNews เป็นยุคของ DeepFake ดังนั้นข้อความที่เรารับเป็นร้อยๆ พันๆ ต่อวันเหล่านั้น เราย่อมต้องเสียเวลา เสียความคิด ในการมาพิจารณากลั่นกรองว่าอะไรบ้างที่เป็นเรื่องจริง อะไรบ้างที่ควรรับไว้ไตร่ตรองและดาวน์โหลดเก็บไว้ในความทรงจำ อะไรบ้างที่เป็นความคิดโง่ๆ ชุ่ยๆ โกหกหลอกลวง หรือจริงปนเท็จ ฯลฯ ทำให้เวลาที่ต้องเสียไปอยู่แล้ว ยิ่งต้องเสียมากขึ้น ต้องอยู่กับมันนานขึ้นไปอีก

ทว่าสุดท้าย มันก็จะกลับไปสู่ข้อสรุปเดิมอยู่ดี ว่ามันล้วนเป็น Agenda ของคนอื่น ของบรรณาธิการ ของสื่อค่ายนั้นค่ายนี้ ของกลุ่มการเมืองนั้นนี้ อาชีพนั้นนี้ เชื้อชาตินั้นนี้ ของคนนั้นคนนี้...มากกว่าที่จะเป็นของเรา และส่วนมากมักจะเป็นประเด็นที่ไม่สลักสำคัญอะไรกับชีวิตเราและคนที่เรารักเลยแม้แต่น้อย

ดังนั้น นอกจากมันจะกินเวลาเราแล้ว มันยังเปลืองและรกสมองของเราด้วย

อย่าลืมว่าสมองคนเรามันมีที่จำกัด แม้สมองจะเป็นอวัยวะที่เหนือล้ำของมนุษย์ สามารถปรับตัวยืดหยุ่นและทำอะไรได้สารพัด แต่มันก็มีพื้นที่จำกัด มันเป็น Finite ไม่ใช่ Infinite

ดังนั้น ถ้าเราดาวน์โหลดขยะเข้าไปมาก แน่นอนว่ามันจะต้องไปเบียดให้ความทรงจำที่เป็นสาระสำคัญ เช่นเบอร์โทรศัพท์ของคนในครอบครัวหายไป หรือหนักกว่านั้นคือคุณธรรมบางอย่างที่จำเป็นสำหรับชีวิตจริงในสังคมมนุษย์ เช่นความกล้า ความขยัน ความกตัญญู ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความเมตตากรุณา ความโอบอ้อมอารี ความรอบคอบ ความยับยั้งชั่งใจ ฯลฯ เพราะยิ่งเรารับข้อมูลหลากหลายเข้าไปมากๆ ต่อวัน มันย่อมเข้าไปอยู่ในความทรงจำสักแห่งหนึ่งในสมองเราแทนที่คุณธรรมเหล่านี้ แม้เราไม่อยากจะเก็บมันไว้ก็ตาม

ไลฟ์สไตล์แบบนี้ นอกจากมันจะกินเวลาและกินพื้นที่ในสมองเราแล้ว มันยังเป็นพิษต่ออารมณ์ของเราด้วย

เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่า สุดท้ายเมื่อเราเข้าไปเช็กข้อมูลแต่ละครั้ง มันมักลงท้ายด้วยการถูกชักจูงให้ รัก ชอบ โกรธ เกลียด หลง และโลภ ไปกับความรู้สึกนึกคิดและปัญหาของคนอื่นแทบทั้งสิ้น

บางทีมันก็ผลักให้เรากลายเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวหรือข้อถกเถียงเหล่านั้น กลายเป็นตัวละคร บนโลกไซเบอร์ ที่เราต้องร่วมตอบคอมเมนต์ ออกความเห็น ร่วมโหวต และร่วมกลุ่มแชทอย่างเอาเป็นเอาตาย

โลกเสมือน มันเทคโอเวอร์ชีวิตที่เคยใช้ในโลกแห่งความเป็นจริงไปเสียแล้ว

มันเทคโอเวอร์เวลาเรา เทคโอเวอร์สมองเรา แล้วยังเทคโอเวอร์อารมณ์เราไปด้วย

ไลฟ์สไตล์แบบนี้ ทำให้เราใช้ “เวลา สมอง และอารมณ์” เปลืองไปกับโลกเสมือน ซึ่งเป็น Fake World มากกว่าโลกจริง ซึ่งเป็น Real World

ความสุขแบบเดิมที่เคยเห็นความงาม หอมกลิ่นธรรมชาติ ได้ยินเสียงเพลงและเสียงธรรมชาติที่ไพเราะ สัมผัสหนาวอุ่นร้อนในกายคนรัก ถูกแทนที่ด้วยความสุขหรือความพอใจแบบใหม่ที่ค่อนข้างฉาบฉวย ไม่ตราตรึง

สมองของคนเราอาจเหมือนกับกระเพาะ ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนของอาหารที่ใส่เข้าไป ทว่าขึ้นอยู่กับคุณภาพของอาหารต่างหาก ที่กระเพาะและสมองจะย่อยเอาไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่ากัน

ถ้าเราใส่ Fast Food เข้าไปหรือใส่อาหารที่ไม่เป็นประโยชน์เข้าไปมากเกิน มันก็จะได้ขยะ คือน้ำตาล ไขมัน เกลือ สูงเกินไปไหลเวียนอยู่ในเส้นเลือดซึ่งเป็นอันตรายต่ออวัยวะภายในและชีวิต เช่นเดียวกับสมองที่ถ้าเราใส่ข้อมูลสัพเพเหระอะไรก็ได้ โกยใส่ๆ เข้าไป มันก็จะได้ความรู้สึกนึกคิดที่ฉาบฉวย กระจัดกระจาย ไม่ลึกซึ้งเป็นปึกแผ่นแก่นสาร

“Serious Thought” ยังเป็นไปได้อยู่ไหมในยุคนี้?

ถ้าเจ้าชายสิทธารถะ กลับมาประสูติในยุคนี้ และต้องหมดเวลาไปกับการบริโภคข้อมูลข่าวสารที่ไหลท่วมท้นบนอินเทอร์เน็ตและ Public Media มากมายและบ่อยขนาดนี้ ท่านยังจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้อีกหรือไม่?

เช่นเดียวกันกับ Plato, Aristotle, Descartes, Kant, Adam Smith, Marx, Nietzsche, Keynes, Einstein…ปราชญ์เหล่านี้ยังจะคิดอะไรที่ลุ่มลึกเป็นปึกแผ่นแน่นหนาในเรื่องใหญ่ๆ ของมนุษย์และธรรมชาติแบบ Breakthrough ได้อีกหรือไม่ น่าสงสัยยิ่งนัก

ดังนั้นเราต้องรู้จัก “ถอดปลั๊ก” หรือ “ปิดสวิตช์” เสียบ้าง เช็กข้อมูลเท่าที่จำเป็นก็พอ

อย่าลืมว่าชีวิตคนเรานั้นตั้งอยู่บนความเสี่ยงร้อยแปด ในช่วงชีวิตเราอาจต้องพานพบกับวิกฤติจำนวนมาก บางครั้งก็ต้องพรากจากสิ่งที่ตัวเองรัก พรากจากทรัพย์สินเงินทองในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ และไม่มีใครรู้ว่าในอนาคต จะต้องเจอวิกฤติใหญ่อีกกี่ครั้ง

หากชีวิตเรายังต้องดำเนินต่อไป เมื่อวิกฤติมาถึง เราต้องอาศัยสติปัญญา อาศัยความคิดที่ลึกซึ้งแยบคาย อาศัยอารมณ์ที่สงบเสงี่ยม ไม่แตกตื่นว้าวุ่น เราถึงจะผ่านมันไปได้

วิกฤติไวรัสครานี้ แสดงให้เราเห็นแล้วว่ามนุษย์นั้นมันกระจ้อยร่อยเพียงใดเมื่อเทียบกับธรรมชาติ อำนาจทำลายล้างของธรรมชาตินั้นรุนแรงก้าวร้าวกว่าฝีมือมนุษย์มากนัก

มนุษย์เรายิ่งต้องการความสามารถที่จะคิดให้ลึกซึ้งและแยบคายมากขึ้นไปอีก เมื่อต้องพิจารณาถึงประเด็นเหล่านี้ร่วมกัน เพื่อหาทางฟื้นฟูชีวิตให้กลับมาเหมือนเดิม ทั้งยังต้องระงับหรือผ่อนหนักให้เป็นเบาในอนาคต

ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าเวลาของพวกเรายังถูกใช้ไปแบบทิ้งๆ ขว้างๆ บนอินเทอร์เน็ต

มันทำให้ผมย้อนนึกไปถึงยุคทศวรรษที่ 70-80 ซึ่งเป็นช่วงที่ผมเติบโตขึ้นมา โดยไม่ได้มีสิ่งเหล่านี้มารบกวนเลย

'คิดแล้วทำให้ผมมีความสุข'


เรื่อง: ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว

X

Right Click

No right click