×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 802

ในการสนทนากันเรื่องความก้าวหน้าของประเทศไทยทางออกของประเทศ ประเด็นหนึ่งที่มักจะถูกหยิบขึ้นมาพูดคุยในวงกาแฟ

คือเราไม่สามารถนำงานวิจัยของสถาบันศึกษาในประเทศที่มีอยู่มาใช้ทำประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้อย่างจริงจังหลายคนเรียกเรื่องนี้ว่า การนำงานวิจัยที่อยู่บนหิ้งในสถาบันอุดมศึกษาไปสู่ห้าง คือทำออกเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการสู่สาธารณะ เรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่แม้แต่ในวงการผู้กำหนดนโยบายก็ต้องมีแผนงานรองรับ ทั้งการสนับสนุนเชิงนโยบาย การสนับสนุนทางการเงินในรูปแบบต่างๆ แต่เราก็ยังเห็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากมันสมองของนักวิจัยไทยผสานกับความสามารถของนักธุรกิจในตลาดไม่มากเท่าที่อยากจะได้เห็น

ที่บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงมีการออกแบบหลักสูตรเพื่อผลิตนวัตกรที่สามารถนำนวัตกรรมผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัยแปรสภาพกลายเป็นสินค้าและบริการในวงกว้างในชื่อ หลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม

ศ.ดร.นงนุช เหมืองสิน ผู้อำนวยการหลักสูตร และทีมผู้บริหารหลักสูตรประกอบด้วย ศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ ผศ.ดร.ไปรมา อิศรเสนา ณ อยุธยา และ ดร.กวิน อัศวานันท์ มาร่วมกันให้สัมภาษณ์กับ MBA เกี่ยวกับหลักสูตรนี้ว่า

หลักสูตรนี้กำลังจะก้าวขึ้นปีที่ 12 และมีผู้จบจากหลักสูตรไปแล้วเกือบ 500 คน มีการเรียนการสอน 2 ระดับคือปริญญาโทและปริญญาเอก รับสมัครระดับละ 30 คน โดยสิ่งที่น่าสนใจคือจำนวนนิสิตปริญญาเอกของหลักสูตรนี้มีมากที่สุดในจุฬาฯ แสดงให้เห็นความสนใจของผู้เรียนที่เลือกเรียนในหลักสูตรนี้ โดยมีทั้งผู้บริหาร เจ้าของกิจการ อาจารย์และนักวิจัยที่หน่วยงานต่างๆ ส่งมาเรียนเพื่อกลับไปขับเคลื่อนนวัตกรรมของแต่ละองค์กร

คณะผู้บริหารหลักสูตรให้ข้อมูลว่า จุฬาฯ มีงานวิจัยและองค์ความรู้ที่สะสมไว้อยู่มากมาย รวมถึงทีมงานวิจัยและนักวิชาการที่จุฬาฯ มีจำนวนมาก ตัวหลักสูตรวางตำแหน่งให้นิสิตเป็นแกนกลางเชื่อมโยงงานวิจัยและองค์ความรู้ต่างๆ กับภายนอก ซึ่งหมายถึงภาคอุตสาหกรรมและแหล่งทุน เพื่อพัฒนานวัตกรรมสร้างประโยชน์ในวงกว้าง ผู้เรียนผ่านหลักสูตรนี้จึงสามารถประสานงานได้ทั้งผู้ประกอบการ นักวิจัย และมีความสามารถค้นหางานวิจัยที่มีศักยภาพไปทำเป็นธุรกิจได้ 

รูปแบบการเปิดรับที่มีอยู่ 3 แนวทาง คือ 1. ให้อาจารย์สามารถประกาศรับนิสิตได้ เพื่อมาช่วยทำโครงการพัฒนางานวิจัยออกสู่ตลาด 2. เป็นโจทย์จากฝั่งผู้ประกอบการ และทางจุฬาฯ ตั้งทีมอาจารย์ที่ปรึกษาและนิสิตขึ้นมาช่วยทำโครงการนั้น และ 3. นิสิตมีโครงการของตัวเองก็สามารถเข้ามาเรียนและใช้ประโยชน์จากผู้เชี่ยวชาญในจุฬาเพื่อทำโครงการต่างๆ ได้

การเรียนการสอนของหลักสูตรนี้มีความแตกต่างจากหลักสูตรทั่วไป เนื่องจากเป็นหลักสูตรของบัณฑิตวิทยาลัย จึงสามารถเปิดกว้างให้เลือกอาจารย์จากคณะใดก็ได้มาช่วยเป็นทีมที่ปรึกษาให้กับนิสิต โดยนิสิตจะได้เรียนรู้กระบวนการสร้างและพัฒนานวัตกรรม จัดเป็นระบบที่เปิดกว้างไม่ว่าผู้เรียนจะเรียนมาจากสาขาใดก็สามารถเข้ามาเรียนได้ 

 

สิ่งสำคัญที่นิสิตที่มาเรียนกับหลักสูตรนี้ต้องทำคือการพัฒนานวัตกรรมอย่างน้อย 1 โครงการ ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์ บริการ Business Model กระบวนการทำธุรกิจใหม่ๆ และสามารถคิดแผนธุรกิจของโครงการเหล่านั้นให้เกิดขึ้นจริงได้ในระดับปริญญาโท ส่วนระดับปริญญาเอกจะต้องพัฒนาองค์ความรู้ใหม่และวางตลาดนวัตกรรมหนึ่งอย่าง

ผู้บริหารหลักสูตรระบุว่า ทุกคนต้องสร้างนวัตกรรมขึ้นมา และต้องทำให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ต่อสังคม คือต้องการให้นิสิตทุกคนต้องมี 3 P Prototype จด IP (Intellectual Property) และมี Business Plan 

ทีมบริหารหลักสูตรให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่ากำลังอยู่ระหว่างการเตรียมปรับปรุงหลักสูตรให้มีความกระชับมากยิ่งขึ้น โดยอาจจะทำเป็นหลักสูตร Double Degree ร่วมกับสาขาวิชาอื่น โดยอาจจะเริ่มกันภายในจุฬาฯ ก่อนและมีการพูดคุยกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เพื่อผลิตนักวิชาชีพที่เป็นนวัตกรให้เกิดขึ้น

นอกจากนี้ในโอกาสครบรอบ 12 ปี ทางหลักสูตรยังได้เตรียมจัดงานประชุมเชิงวิชาการนานาชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมองด้านนวัตกรรมในช่วงต้นปี 2562 ที่กำลังจะมาถึง และยังมีการจัดหลักสูตรระยะสั้นรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ผู้สนใจสามารถเข้ามาเรียนรู้กับทางหลักสูตรได้เป็นระยะ

หลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม เป็นหนึ่งในการตอบโจทย์การนำงานวิจัยของสถาบันการศึกษาที่มีอยู่ออกมาใช้ประโยชน์สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวงการวิชาการและแวดวงธุรกิจไปพร้อมกัน โดยมีนิสิตของหลักสูตรเป็นสะพานเชื่อมโยงความรู้เทคโนโลยีจากสถาบันการศึกษากับภาคธุรกิจและสาธารณะ เป็นการใช้ประโยชน์จากความพร้อมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีองค์ความรู้และงานวิจัยสะสมอยู่จำนวนมากเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติต่อไป

ทีมบริหารนักพัฒนานวัตกรรม

ทีมบริหารหลักสูตรนี้ จัดได้ว่ามีชื่อชั้นในวงการสร้างนวัตกรรมของประเทศ อย่างเช่น ศ.ดร.นงนุช เหมืองสิน ผู้อำนวยการหลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาของทีมนิสิตปริญญาโทและเอกสาขาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ก็ได้รับรางวัล Grand Prize จากผลงาน “เฟรชทูจอย” (Fresh2Joy) เทคโนโลยียืดอายุผลไม้ผิวบาง ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ Seoul International Invention Fair 2017 ที่ประเทศเกาหลี และยังได้รับรางวัลอื่นๆ อีกหลายรางวัล

ศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ รองผู้อำนวยการหลักสูตรฯ กำกับดูแลด้านวิจัยและนวัตกรรม และอาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลนวัตกรรมมากมาย มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารต่างๆ กว่า 100 เรื่อง เป็นผู้พัฒนานวัตกรรมซิลเวอร์ นาโน และคิดค้นจุฬาสมาร์ตเลนส์ ชุดอุปกรณ์กล้องจุลทรรศน์สมาร์ตโฟนที่พัฒนาขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาในการวิจัยที่ต้องถ่ายภาพที่มีการขยายสูงพอสมควร แต่ไม่สูงมากจนถึงกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนไมโครสโคป 

ผศ.ดร.ไปรมา อิศรเสนา ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการหลักสูตรฯ กำกับดูแลด้านวิชาการ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นผู้สอนรายวิชาหลัก Product Planning and Development (PPD) เกี่ยวกับกระบวนการวางแผนและพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการ มุ่งเน้นการประยุกต์ใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human-Centered Innovation) และมีผลงานออกแบบเก้าอี้ย้ายตัวสำหรับผู้ป่วย

ดร.กวิน อัศวานันท์ ผู้ช่วยเลขานุการหลักสูตรฯ และกำกับดูแลด้านกิจกรรมนิสิตและอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ศิษย์เก่าปริญญาเอกหลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่อง Startups และการระดมเงินทุนโดยสามารถระดมทุนจำนวน 13,000,000 บาท (400,000 USD) จากนักลงทุน บริษัท Startups ได้รับการคัดเลือกจากองค์กร e27 ให้เป็น 1 ใน 10 บริษัท Startups ที่น่าสนใจที่สุดในเอเชีย ปี 2013

นวัตกรรมจาก CUTIP

ตัวอย่างของนวัตกรรมที่เกิดจากหลักสูตรนี้และกลายเป็นบริการที่เราสามารถสัมผัสได้ที่น่าสนใจ เช่น “นวัตกรรมต้นแบบของกระบวนการพัฒนานวัตกรรมกระบวนการสำหรับบริการสินไหมทดแทนธุรกิจประกันภัยรถยนต์ในประเทศไทย” ที่เป็นผลงานของนิสิตปริญญาเอก ดร.ชูพรรณ โกวานิชย์ ที่ใช้การศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการ จนค้นพบกระบวนการย่อยที่สำคัญมากที่สุดที่ลูกค้ามีประสบการณ์ในการรับบริการ คือ เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วแจ้ง Call Center และเป็นที่มาของนวัตกรรมบริการในชื่อ CLAIM DI ที่ลดเวลาให้บริการ 73 เปอร์เซ็นต์ ประหยัดค่าใช้จ่าย 90 เปอร์เซ็นต์ และป้องกันการแจ้งความเสียหายไม่ตรงความเป็นจริงได้ เป็นตัวอย่างของการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากงานวิจัยเชิงลึกออกสู่ตลาด สามารถสร้างนวัตกรรมการบริการ และกระบวนการการให้บริการใหม่ให้เกิดขึ้นในวงการประกันภัยรถยนต์ ช่วยเสริมองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับการต่อยอดงานวิจัยในประเทศไทยที่ต้องการคือ การบริหารจัดการที่ดีนำงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างรวดเร็วและมั่นคงยิ่งขึ้น

นวัตกรรมที่เกิดจากหลักสูตรนี้ยังมีอีกหลากหลายเช่น ผลงาน Goldjic Wise เป็นนวัตกรรมที่นำส่งสาร โคจิก แอซิด ผ่านผิวหนังด้วยอนุภาคนาโนทองคำที่ออกแบบเฉพาะ คิดค้นโดยกลุ่มวิจัย ศ.ดร.นงนุช เหมืองสิน และคณะ นวัตกรรมนี้จะทำให้สาระสำคัญต่างๆ ซึมเข้าสู่ผิวได้ง่ายขึ้น และกำลังมีการผลิตออกวางจำหน่ายในไม่นานนี้

นวัตกรรมการเกษตรเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตข้าว : เครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ เป็นงานวิจัยที่ศึกษา ออกแบบและประดิษฐ์เครื่องหยอดเมล็ดข้าวงอกลงแปลงนาอย่างเป็นระเบียบ ควบคุมปริมาณเมล็ดข้าวและระยะห่างในการหยอดโดยกลไกที่ไม่ซับซ้อนและราคาไม่สูง ช่วยลดต้นทุนกว่าการปักดำประมาณ 1,000 บาทต่อไร่ ลดปริมาณเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ในการหว่านเหลือไร่ละ 10-15 กิโลกรัมจากค่าเฉลี่ย 30 กิโลกรัม

 

 

X

Right Click

No right click