×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 6847

 

หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานสัมมนา “เติมหัวใจให้ธุรกิจ Heartful Business” โดยเชิญ ศาสตราจารย์ โคจิ ซากาโมโต้ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยโฮเซ โตเกียว ผู้แต่งหนังสือ “บริษัทนี้ที่ควรรัก” ที่มียอดขายกว่า 7 แสนเล่มในญี่ปุ่น ที่สนับสนุนแนวคิดสร้างความสุข มาเสวนาเผยเคล็ดลับ 20 ประการของบริษัทชั้นเลิศในญี่ปุ่น ที่มีผลประกอบการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 10 ปีติดต่อกันท่ามกลางเศรษฐกิจผันผวน ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ สยามสแควร์วัน

ศ.โคจิ เริ่มด้วยการให้คำนิยามของบริษัทที่ควรจะเป็นคือธุรกิจที่สามารถปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม สามารถสร้างคุณค่าใหม่ด้วยตนเอง ตอบสนองความต้องการของลูกค้า มีการพัฒนาพนักงานอย่างต่อเนื่อง เพราะบริษัทคือโรงเรียนแห่งสุดท้ายในชีวิตซึ่งคนทำงานจะต้องเรียนไปจนสูงอายุ และเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างความสุข เป็นธุรกิจที่พยายามดำเนินกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง ทำเพื่อสังคมไม่หวังแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง  และบริษัทเป็นของคนในสังคมทุกคน เป็นองค์กรเพื่อสังคม เพราะบริษัทไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ต้องใช้ทรัพยากรของสังคมรวมทั้งมีปฏิสัมพันธ์กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ

ดังนั้นหน้าที่และเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของบริษัทคือการแสวงหาความสุขให้แก่ผู้คนที่เกี่ยวข้อง และมุ่งมั่นทำให้คนเหล่านั้นมีความสุขอย่างแท้จริง

ศ.โคจิ บอกว่า มีคนอยู่ 5 กลุ่มที่บริษัทควรให้ความสำคัญในการบริหารกิจการ ประกอบด้วย 1.พนักงานและครอบครัว เหตุที่รวมครอบครัวด้วยเพราะพนักงานต้องการแรงสนับสนุนจากครอบครัว  2.พนักงานบริษัทอื่นและครอบครัว(คู่ค้าซัพพลายเออร์) ซึ่งจะช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น 3.ลูกค้าปัจจุบันและในอนาคต ด้วยการบริหารที่มุ่งเน้นความสุขของลูกค้า ทำให้ลูกค้าคิดว่าโชคดีจังที่มีบริษัทนี้อยู่ 4.คนในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เสียเปรียบในสังคมเช่นผู้พิการ ผู้สูงอายุ และ 5. นักลงทุนและองค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยการให้ความสำคัญไม่จำเป็นต้องเท่ากันทั้ง 5 กลุ่ม หากสามารถทำให้คน 4 กลุ่มแรกมีความสุขก็จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีสร้างความพึงพอใจให้กับนักลงทุนได้ โดย ศ.โคจิ บอกต่อว่า พนักงานและครอบครัวคือกลุ่มคนที่สำคัญที่สุดเพราะหากไม่มีความพึงพอใจของพนักงานก็จะไม่เกิดความพึงพอใจของลูกค้าและหากพนักงานไม่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวก็จะไม่สามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ เมื่อพนักงานมีความสุขก็สามารถส่งมอบสินค้าและบริการที่สามารถสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าได้

 

บริษัทชั้นเลิศคืออะไร

  ศ.โคจิให้นิยามของบริษัทชั้นเลิศ ประกอบด้วย

  1. ไม่เคยประกาศหาคน Early Retire มากกว่า 10 ปี ขึ้นไป
  2. จำนวนพนักงานเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น มากกว่า 10 ปีขึ้นไป
  3. อัตราผลกำไรต่อยอดขายอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 ต่อปี ติดต่อกันมากกว่า 10 ปีขึ้นไป
  4. ไม่ทำผิดกฎหมายเป็นระยะเวลา 10 ปีขึ้นไป
  5. อัตราการลาออกของพนักงานเนื่องจากเปลี่ยนงาน ต่ำกว่าร้อยละ 3 มากกว่า 10 ปีขึ้นไป
  6. ไม่บังคับให้ซัพพลายเออร์ขายสินค้าโดยไม่สมเหตุมากกว่า 10 ปีขึ้นไป
  7. จำนวนชั่วโมงทำงานล่วงเวลาโดยเฉลี่ยของพนักงานแต่ละคนต่ำกว่า 10 ชั่วโมง มากกว่า 10 ปีขึ้นไป
  8. อื่นๆ

ท้ายสุด ศ.โคจิ สรุปจุดเด่นการบริหารจัดการของบริษัทชั้นเลิศ จะต้องเปลี่ยนแนวคิดการทำธุรกิจแบบเดิมสู่แนวคิดใหม่ประกอบด้วย

  1. การบริหารจัดการที่เน้นผลประกอบการและการเติบโต สู่ การบริหารจัดการที่เน้นความสุข
  2. การบริหารที่ดีฝ่ายเดียว สู่ การบริหารที่ดีกับทั้ง 5 ฝ่าย คือ 1) พนักงาน 2) คู่ค้า 3) ลูกค้า 4) สังคม / ชุมชน 5) ผู้ถือหุ้น
  3. การบริหารจัดการที่คิดถึงบแต่ผลประโยชน์ของตน สู่ การบริหารจัดการที่คิดถึงผลประโยชน์ของผู้อื่น
  4. การบริหารจัดการที่เน้นการเติบโตและขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว สู่ การบริหารแบบวงปีต้นไม้แบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่เน้นการเติบโตและขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว
  5. การบริหารที่พึงสภาพวะเศรษฐกิจ สู่ การบริหารที่ช่วยให้เศรษฐกิจดี มิใช่พึ่งสภาวะเศรษฐกิจ
  6. การบริหารที่ไม่สมดุล สู่ การบริหารที่สมดุล
  7. การแข่งขันด้านราคา สู่ การไม่ใช้ราคาเป็นตัวแข่งขัน
  8. การบริหารจัดการแบบผูกขาดผู้เดียว สู่ การบริหารจัดการร่วมกัน ไม่ผูกขาดคนเดียว
  9. การบริหารแบบ Top-down สู่ การบริหารแบบ Bottom – Up
  10. การบริหารจัดการแบบปิด สู่ การบริหารจัดการแบบเปิดกว้าง
  11. การทำงานคนเดียว สู่ การทำงานเป็นทีม
  12. การบริหารจัดการที่ตัดสินที่ผลงานเป็นหลัก สู่ การจ้างงานตลอดชีพ ไม่ใช่ตัดสินที่ผลงานเป็นหลัก
  13. การบริหารที่ไม่แบ่งแยกระหว่างเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัว สู่ การบริหารที่แบ่งเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวออกจากกัน
  14. การบริหารแบบพีระมิด สู่ การบริหารแบบพีระมิดทรงคว่ำ
  15. การบริหารที่เน้นกระบวนการทำงาน สู่ การบริหารที่เน้นความเป็นบริษัท
  16. การบริหารที่เน้นการเอาชนะในระยะเวลาสั้น สู่ การบริหารที่มองระยะยาว
  17. การบริหารที่ให้พนักงานทำงานนาน สู่ การบริหารที่ลดระยะเวลาทำงานของพนักงาน
  18. การบริหารที่มีผู้บริหารเป็นคนจัดการ สู่ การบริหารแบบครอบครัวใหญ่ และร่วมมือร่วมใจกัน ให้คนในองค์กรรู้สึกอบอุ่น
  19. การบริหารที่เน้นด้านรูปธรรม สู่ การบริหารที่เน้นคนและด้านนามธรรม
  20. การบริหารจัดการที่พึ่งพิงผู้อื่น สู่ การบริหารจัดการที่พึ่งพิงตนเอง อยู่ได้ด้วยตนเอง

 

ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ รองประธานหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สรุปว่า ในยุคก่อนการแข่งขันทางธุรกิจ บริษัทจะเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ที่ในที่สุดก็เท่าทันกัน ต่อมาแข่งขันในด้านการให้บริการที่ดีแก่ลูกค้า เพื่อดึงใจลูกค้าให้ภักดีต่อแบรนด์ และในช่วงระยะหลังนี้ เป็นการแข่งขันด้วยบุคลากรเพื่อสร้างความแตกต่าง ซึ่งวันนี้ทวีความเข้มข้นขึ้น จึงเป็นสิ่งที่ผู้บริหารองค์กรจะต้องเติมใจให้ธุรกิจ ใส่ใจลงในรายละเอียด เป็นการให้ใจสร้างความสุขให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “พนักงาน” เป็นการพลิกแนวคิดจากเป้าหมายที่เน้นผลกำไร แต่เน้นการให้ความสุข

 การเพิ่มบริษัทชั้นเลิศให้มีจำนวนมากขึ้น หลายหน่วยงานต้องช่วยกันสนับสนุน สำหรับมหาวิทยาลัย จะต้องเปลี่ยนการสอนจากการบริหารจัดการที่เน้นผลกำไร เป็นการบริหารจัดการที่เน้นความสุข โดยสร้างหลักสูตร หรือสาขาที่เกี่ยวกับวิธีการบริหารที่ให้ความสำคัญกับคน และเปิดหลักสูตรด้านการบริหารจัดการสำหรับ SME ในขณะที่ภาครัฐ ควรใส่ใจและเห็นความสำคัญของการบริหารจัดการบุคลากรให้มีความสุข พร้อมมอบสิทธิพิเศษสำหรับบริษัทที่ให้ความสำคัญกับคน และสถาบันการเงิน ควรเปลี่ยนมาตรฐานการให้กู้ และเปลี่ยนมาตรฐานการลงทุน เพื่อร่วมสร้างสรรค์บริษัทที่ดี มั่นคง และยั่งยืน

X

Right Click

No right click