บทบาทหลักของสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรีอย่างเช่น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ที่มีปรัชญาของสถาบันว่า “สร้างปัญญา เพื่อการเปลี่ยนแปลง” (Wisdom for Change) มี 3 ภารกิจหลักที่มุ่งเน้น คือ งานด้านการวิจัย การจัดการศึกษา และการให้บริการวิชาการ
ภารกิจเหล่านี้เมื่อลงมาสู่ คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ภายใต้การดูแลของ รศ.ดร.อนุกัลยณ์ จีระลักษณกุล รองคณบดีฝ่ายวิชาการ จึงเป็นความท้าทายที่จะต้องจัดการให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ผ่านกลไกทั้งระดับคณะและระดับสถาบัน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่รอให้สถาบันการศึกษาปรับตัว ทั้งการปรับหลักสูตร การสนองความต้องการของผู้เรียน และตลาดแรงงาน
รศ.ดร.อนุกัลยณ์ เปิดเผยจุดแข็งที่คณะบริหารธุรกิจยังคงต้องรักษาไว้อย่างต่อเนื่อง นั่นคือหลักสูตรที่มีความเข้มข้นเชิงวิชาการและเน้นการถ่ายทอดความรู้ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง
“วิชาเรียนนักศึกษาต้องเรียนเต็มที่ เนื้อหาวิชาการ หลักคิดต่างๆ อาจารย์ที่มาสอนในวิชาต่างๆ เน้นในเชิงการนำไปใช้ปฏิบัติ ในการทำงาน ในการแก้ปัญหาจริงๆ ของเขาได้ จากประสบการณ์ของอาจารย์ผู้สอนและงานที่อาจารย์มอบหมายให้นักศึกษาทำ นักศึกษานิด้าจะทำงานเยอะมาก ซึ่งก็เป็นกระบวนการเรียนรู้ในแบบของนิด้าเหมือนกัน”
การปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกทางด้านวิชาการของคณะบริหารธุรกิจ นิด้า มีการปรับตัวมาอย่างต่อเนื่อง และในยุคดิจิทัลนี้รองคณบดีให้แนวทางว่า จะจัดการศึกษาในรูปแบบที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
เนื้อหาวิชาการที่ส่งต่อให้กับนักศึกษายังคงเน้นความรู้ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงเช่นเดิม ผ่านการเรียนในลักษณะ Project-based ที่เป็นการนำเอาความรู้ที่ได้ไปปรับใช้กับงานที่ทำได้จริง ตอบโจทย์การเรียนกับการทำงานที่ไม่แยกส่วนจากกัน
กับความต้องการใหม่ๆ เช่นผู้เรียนบางคนไม่ต้องการใช้เวลา 2 ปีเพื่อไปเรียนปริญญาโทอย่างเดียวอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต คณะจะมีการปรับเพิ่มความยืดหยุ่นให้โดยมีการเตรียมกลไกต่างๆ ไว้รองรับ
รศ.ดร.อนุกัลยณ์ อธิบายกลไกที่เตรียมไว้ว่า “เราใช้คำว่า Degree กับ Non-degree คือเป็นปริญญากับเป็นเวิร์กช้อป ซึ่งที่เราทำอยู่ จะทำให้สามารถผสมกัน คุณมาเรียนเป็นรายวิชาไป สะสมหน่วยกิต สะสมวิชาเพื่อสามารถไปรับปริญญาได้ถ้าคุณต้องการ คือตอนนี้ยังไม่ต้องการปริญญาแต่ต้องการเรียนเรื่องการเงิน เรียนเรื่องการทำอะไรบางอย่างเพื่อแก้ปัญหาของเขา ก็มาเรียนเป็นหลักสูตรระยะสั้น พอเรียนไปถึงจุดหนึ่งคิดว่ามากพอและอยากได้ปริญญาก็มาลงเรียนเต็มเวลาเพื่อเรียนส่วนที่เหลือให้ครบ โดยเอาส่วนเดิมมาใช้ได้ และได้ปริญญาไป นี่คือเทรนด์ที่จะเกิดขึ้น คือความยืดหยุ่นในเรื่องระยะเวลา”
อีกทางหนึ่งก็จะเพิ่มการเรียนออนไลน์เพื่อสร้างความยืดหยุ่นในด้านเวลาให้กับนักศึกษาเพิ่มขึ้น สร้างความสะดวกให้กับผู้เรียนให้สามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลาตามที่สะดวก
ในด้านของเนื้อหาวิชาการที่นิด้ามีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ก็จะเติมหรือบูรณการเนื้อหาที่เป็น Tools ใหม่เพิ่มเข้าไปในวิชาต่าง ๆ เช่น การใช้เครื่องมือจาก Neuroscience ในการเข้าใจถึงพฤติกรรมมนุษย์เพื่อนำมาใช้ในด้านการตลาด หรือการสร้างผู้นำ การนำแนวคิดจาก Design Thinking มาใช้ในการบริหารนวัตกรรมขององค์กร หรือ การประยุกต์ใช้ AI หรือ Blockchain ในการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรในเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลหรือพฤติกรรมลูกค้า หรือ การบริหาร Supply Chain ขององค์กร หรือ แม้กระทั่งการยกระดับการบริการลูกค้า เป็นต้น Tools เหล่านี้ก็จะผนวกเข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอนมากขึ้น
อีกจุดเด่นหนึ่งที่นิด้ายังคงรักษาไว้ คือการสอดแทรกประกาศนียบัตรสายวิชาชีพต่างๆ เข้าไปในหลักสูตร เช่น ประกาศนียบัตรทางด้านการเงิน CFA (Chartered Financial Analyst) และ FRM (The Financial Risk Manager) และ ประกาศนียบัตรทางด้าน Business Analytic หรือ Project Management โดยเปิดให้นักศึกษาของคณะสามารถเรียนและสอบรับใบประกาศนียบัตรสะสมเป็นหน่วยกิตในหลักสูตรไปพร้อมกัน
รองคณบดีฝ่ายวิชาการกล่าวเพิ่มเติมว่า ในฐานะที่เป็นคณะบริหารธุรกิจ วิชาพื้นฐานทางด้านธุรกิจยังเป็นสิ่งที่นักศึกษาต้องได้เรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน การตลาด การบริหารจัดการ ภาวะผู้นำ โดยอาจจะมีการปรับย่อวิชาพื้นฐานให้มีความกระชับมากขึ้น เพื่อให้สามารถเพิ่มวิชาใหม่ในหลักสูตรได้มากขึ้น เพิ่มโอกาสให้นักศึกษาเลือกเรียนวิชาที่ตนเองสนใจมากขึ้น
“วิชาก็จะสั้นลง นักศึกษามีโอกาสเรียนวิชาอื่นมากขึ้น มีความยืดหยุ่นในการเลือกวิชาในการเลือกเวลาเรียนของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเรียนตามโปรแกรม ทำให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเขามากขึ้น” รศ.ดร.อนุกัลยณ์สรุป
เครื่องบ่งชี้ความเข้มแข็งทางด้านวิชาการของสถาบันการศึกษาอีกด้านหนึ่งคืองานวิจัย ซึ่งในเรื่องนี้ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะบริหารธุรกิจ ให้ข้อมูลผลงานวิจัยของคณาจารย์ในคณะว่า ในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมาคณะบริหารธุรกิจ มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศ มากที่สุดในสถาบัน และจำนวนการอ้างอิงผลงานวิจัยก็มีจำนวนมากติดอันดับ 1 ใน 3 ของนิด้าเช่นกัน
และเพื่อสนองนนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ต้องการให้นิด้าเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก การยกระดับงานวิจัยให้ดีขึ้นจึงเป็นภารกิจของทั้งสถาบัน โดยคณะบริหารธุรกิจมีกลไกส่งเสริม สนับสนุนให้คณาจารย์สร้างผลงานวิจัยที่ได้คุณภาพมากขึ้น ผ่านรางวัลต่างๆ ที่คณะจะมอบให้กับผู้ทำวิจัย
รศ.ดร.อนุกัลยณ์ อธิบายว่างานวิจัยที่มีคุณภาพ คือ งานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติที่อยู่ในการจัดอันดับตามระบบ Scimago คือ แบ่งเป็น Q1 Q2 Q3 และ Q4 สำหรับแต่ละสาขาวิชา เช่น การเงิน การจัดการ ความหมายของ Q1 คือ วารสารวิชาการที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นวารสารที่มีคุณภาพที่ดีที่สุดและอยู่ในกลุ่ม top 25 เปอร์เซ็นต์ในสาขานั้น การยอมรับในระดับนานาชาติหมายถึงผลงานวิจัยของอาจารย์คนนั้นมีนักวิชาการจากทั่วโลกอ้างอิงและนำไปใช้ต่อ ส่วน Q2 Q3 และ Q4 ก็จะเป็นระดับรองๆ ลงมา คือ Q2 คือกลุ่มวารสารที่อยู่ระหว่าง top 25 กับ top 50 เปอร์เซ็นต์ Q3 คือกลุ่มวารสารที่อยู่ระหว่าง top 50-top 75 และ Q4 คือกลุ่ม 25 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ
โดยงานวิจัยที่สามารถนำไปตีพิมพ์ในวารสาร Q1 และ Q2 นับว่าได้รับการยอมรับจากนักวิชาการทั่วโลกว่าเป็นงานวิจัยที่มีคุณภาพ เพราะก่อนที่งานวิจัยนั้นจะสามารถตีพิมพ์ได้ต้องผ่านการยอมรับจากนักวิจัยและอาจารย์ในระดับโลกก่อน ดังนั้นการที่ผลงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนี้จึงถือว่างานวิจัยได้รับการยอมรับในระดับโลกไปด้วย จึงกลายเป็นเป้าหมายที่คณะบริหารธุรกิจต้องการผลักดันให้ผลงานวิจัยของคณะไปตีพิมพ์ในวารสาร Q 1 และ Q2 เพิ่มขึ้น
นอกจากการมุ่งไปที่งานวิจัยระดับโลกแล้ว คณะบริหารธุรกิจยังตั้งเป้าหมายให้งานวิจัยของคณะสามารถสร้างผลกระทบต่อภายนอกสถาบันในระดับประเทศได้ด้วย คณะเปิดโอกาสให้อาจารย์สามารถทำงานวิจัยที่นำมาใช้ได้จริง ไม่ว่าจะเป็นการไปแก้ปัญหาหรือตอบโจทย์ให้กับองค์กร สังคม หรือประเทศได้ เป็นการเชื่อมโยงงานวิจัยของสถาบันการศึกษากับสังคมภายนอกเข้าด้วยกัน
รศ.ดร.อนุกัลยณ์ ยังเล่าถึงทิศทางงานวิจัยที่นักวิชาการต่างประเทศให้ความสนใจเพิ่มขึ้นคือ งานวิจัยที่สามารถนำเอาบริบทของแต่ละพื้นที่ที่มหาวิทยาลัยเกี่ยวข้องมาใช้ เพราะในบางครั้งงานวิชาการของประเทศหนึ่งก็ไม่สามารถนำไปใช้กับประเทศอื่นได้ซึ่งเป็นผลจากบริบทของแต่ละประเทศที่มีความแตกต่างกัน โดยอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือคิดทฤษฎีใหม่ๆ ขึ้นมา จึงเป็นโอกาสของนักวิชาการในแต่ละพื้นที่สามารถสร้างสรรค์งานวิจัยที่น่าสนใจมากขึ้นได้
รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะบริหารธุรกิจ กล่าวการจะก้าวสู่สถาบันการศึกษาระดับโลก จะต้องเริ่มจากการสร้างความโดดเด่นได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาคก่อน แล้วค่อยขยายไปสู่การเป็นสถาบันอุดมศึกษาระดับโลกต่อไป คล้ายคลึงกับที่สถาบันการศึกษาในแถบเอเชียหลายแห่งทำมาแล้ว
ทั้งนี้การตั้งเป้าหมายสร้างสรรค์งานวิจัยที่สามารถตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Q1 และ Q2 เพิ่มขึ้น จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยยืนยันคุณภาพทางวิชาการและคุณภาพคณาจารย์ของคณะว่าได้รับการยอมรับในระดับสากล ละจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาเพื่อสั่งสมสิ่งเหล่านี้
โดยคณะและสถาบันมีความพร้อมในการสนับสนุนคณาจารย์ให้สามารถสร้างผลงานทางวิชาการที่ดีขึ้นได้โดยมีแผนปรับภาระงานของอาจารย์ในสถาบันใหม่ ให้เกิดความคล่องตัว สอดคล้องกับความถนัดของอาจารย์แต่ละท่านมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยให้อาจารย์ที่มีความชำนาญในการทำงานวิจัย สามารถสร้างงานวิจัยที่มีคุณภาพได้มากขึ้น และเปิดโอกาสให้อาจารย์ที่เก่งในด้านการสอนมีโอกาสถ่ายทอดความรู้ให้กับนักศึกษาในสถาบันอย่างเต็มที่
ภารกิจการสร้างงานวิชาการของคณะบริหารธุรกิจสู่ระดับโลก เป็นความท้าทายสำหรับบุคลากรในคณะบริหารธุรกิจทุกท่าน และในฐานะสถาบันการศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรี งานวิจัยจึงเป็นภารกิจแรกๆ ที่ต้องได้รับการสนับสนุน แต่อย่างไรก็ตาม รองคณบดีฝ่ายวิชาการย้ำว่า งานวิจัยที่ทำขึ้นก็ต้องมีการเชื่อมโยงกับภายนอก สามารถสร้างผลกระทบต่อภายนอกสถาบันได้ โดยคณะจะมุ่งเน้นการสร้างสรรค์งานวิชาการที่มีคุณภาพท่ามกลางความท้าทายต่างๆ ที่มีอยู่ เพื่อเป้าหมายก้าวสู่การเป็นสถาบันการศึกษาระดับโลก
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
ภาพ : ณัฐพงศ์ เปรุนาวิน