November 22, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 810

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 813

     “...การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างและพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ และคุณธรรมของบุคคล หากสังคมและบ้านเมืองใดให้การศึกษาที่ดีแก่เยาวชนได้อย่างครบถ้วนในทุกๆ ด้านแล้ว สังคมและบ้านเมืองนั้นก็จะมีพลเมืองที่มีคุณภาพ สามารถดำรงรักษาความเจริญมั่นคงของประเทศชาติไว้ และพัฒนาก้าวหน้าต่อไปโดยตลอด...”

“...การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างและพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ และคุณธรรมของบุคคล หากสังคมและบ้านเมืองใดให้การศึกษาที่ดีแก่เยาวชนได้อย่างครบถ้วนในทุกๆ ด้านแล้ว สังคมและบ้านเมืองนั้นก็จะมีพลเมืองที่มีคุณภาพ สามารถดำรงรักษาความเจริญมั่นคงของประเทศชาติไว้ และพัฒนาก้าวหน้าต่อไปโดยตลอด...”

 

(พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะครูและนักเรียนที่ได้รับพระราชทานรางวัลฯ ณ ศาลาดุสิดาลัย วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2524)

 

จากพระบรมราโชวาทข้างต้น ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 แสดงให้เห็นถึงสายพระเนตรอันกว้างไกล ที่ทรงตระหนักว่าการพัฒนาด้านการศึกษาให้คนในประเทศชาติโดยเฉพาะเยาวชนนั้น เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น พระองค์จึงทรงริเริ่มทั้งโครงการในพระราชดำริด้านการพัฒนาการศึกษาอันหลากหลาย และยังทรงเป็นแรงผลักดัน แรงบันดาลใจ ให้ผู้คนแสวงหาการศึกษา ไม่หยุดเรียนรู้ตลอดชีวิตอีกด้วย

 

 

 

ทุนการศึกษาพระราชทาน สร้างโอกาสทางการศึกษา

 

พระองค์ทรงตระหนักดีว่า อุปสรรคในการพัฒนาการศึกษาไทย ไม่ได้อยู่ที่สติปัญญาของเด็กไทย หากแต่อยู่ที่พวกเขาด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์ ทำให้เด็กหลายคนต้องพลาดโอกาสในการศึกษาหาความรู้ไปอย่างน่าเสียดาย เป็นที่มาให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราช-ทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อก่อตั้งทุนการศึกษาหลายทุน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ไม่ว่าจะเป็น ทุนเล่าเรียนหลวง ทุนอานันทมหิดล ทุนการศึกษาสงเคราะห์ในมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ทุนมูลนิธิราชประชาสมาสัยในพระบรมราชูปถัมภ์และมูลนิธิโรงเรียนราชประชาสมาสัย

 

ในส่วนของ ทุนเล่าเรียนหลวง หรือ King’s Scholarship เริ่มมีขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2440 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ซึ่งพระราชทานเพื่อเป็นเครื่องจูงใจให้นักเรียน ตั้งใจเล่าเรียนและเพื่อเป็นการให้รางวัล โดยได้พระราชทานทุนนี้ จนถึงปี พ.ศ. 2475 และหยุดไประยะหนึ่ง จนกระทั่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงกลับมาพระราชทานทุนนี้ใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2508 ให้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการและได้คะแนนดีเยี่ยม ให้มีโอกาสไปศึกษาต่อต่างประเทศ ปีละ 9 ทุน คือแผนกศิลปะ 3 ทุน แผนกวิทยาศาสตร์ 3 ทุน และแผนกทั่วไป 3 ทุน โดยทุนเล่าเรียนหลวงนี้ ไม่มีข้อผูกมัดผู้รับทุนว่าต้องกลับมาชดใช้ทุนด้วยการกลับมารับราชการเหมือนทุนการศึกษารัฐบาลอื่นๆ เพราะทุนเล่าเรียนหลวงเป็นทุนพระราชทานแก่นักเรียนที่สอบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายให้ไปศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในต่างประเทศ เพราะมีพระราชประสงค์ให้ผู้รับทุนได้ศึกษาวิชาการ และได้รับการอบรมให้รู้และเข้าใจขนบประเพณีของชาวตะวันตกไปด้วย เพราะอายุยังอยู่ในวัยที่สามารถช่วยตัวเองและปรับตัวให้เข้ากับสังคมตะวันตกได้

 

 

 

ขณะที่ ทุนอานันทมหิดล เกิดขึ้นเพราะพระราชดำริของพระองค์ ที่ทรงตระหนักว่าประเทศไทยต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในวิชาเทคนิคชั้นสูง เพื่อมาช่วยพัฒนาประเทศมากขึ้น จึงควรส่งเสริมนิสิตนักศึกษาที่มีความสามารถอย่างยอดเยี่ยมให้มีโอกาสไปศึกษาต่อในวิชาชั้นสูงบางวิชา ณ ต่างประเทศ เมื่อสำเร็จแล้วจะได้ทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่เรียนมาต่อไป จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “ทุนอานันทมหิดล”

 

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ในขั้นแรกพระราชทานทุนนี้ให้แก่นักศึกษาในสาขาวิชาแพทยศาสตร์ก่อน จนกระทั่งปัจจุบันทุนมูลนิธิ “อานันทมหิดล” ได้ขยายขอบเขตการพระราชทานทุนแก่นักศึกษาเป็นแผนกอื่นๆ คือ แผนกแพทยศาสตร์ แผนกวิทยาศาสตร์ แผนกวิศวกรรมศาสตร์ แผนกเกษตรศาสตร์ แผนกธรรมศาสตร์ แผนกอักษรศาสตร์ แผนกทันตแพทย-ศาสตร์ แผนกสัตวแพทยศาสตร์

 

 

 

ทุนอานันทมหิดลไม่ได้กำหนดระยะเวลาเรียน ผู้ได้รับทุนสามารถเรียนถึงขั้นสูงสุดตามความสามารถ และไม่มีสัญญาผูกมัดว่าผู้ได้รับพระราชทานทุนจะต้องกลับมาปฏิบัติงานอย่างใดอย่างหนึ่งตามเวลาที่กำหนดเช่นทุนอื่นๆ เพราะมีพระราชประสงค์จะให้ผู้รับทุนได้เกิดความสำนึกรับผิดชอบเอง โดยพระองค์เคยตรัสไว้ว่า

 

“ถ้าพวกเขาไปศึกษา จนจบมา แล้วกลับมาเป็นอาจารย์ ข้าราชการจะดีที่สุด แต่ถ้ากลับมา แล้วไปทำงานในหน่วยงานเอกชน ก็ถือว่าได้ช่วยคนไทย สังคมไทย แต่ถ้าไปแล้วไม่กลับมาเลย ก็ถือว่ามีวิชาชีพเลี้ยงตนในฐานะคนไทยคนหนึ่ง”

 

นับเป็นพระราชดำรัสที่แสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ และประสงค์ที่จะหยิบยื่นและนำพาโอกาสอันดีทางการศึกษาและอนาคตให้แก่เยาวชนและสังคมไทยโดยจิตพิสุทธิ์

 

ทรงริเริ่มก่อตั้ง โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ มหาวิทยาลัย สถาบันเพื่อการศึกษา

 

ในหลวงไม่เพียงแค่พระราชทานทุนการศึกษาหลากหลายรูปแบบเท่านั้น หากยังทรงมอบโอกาสทางการศึกษาด้วยการก่อตั้งโรงเรียนในพระราชูปถัมภ์มากมาย กระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยพระองค์มิเพียงดำริการก่อตั้ง แต่ยังพระราชทานพระราชทรัพย์ช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ รวมทั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมและพระราชทานพระบรมราโชวาทเพื่อสนับสนุนและเป็นกำลังใจแก่ครูและนักเรียนของโรงเรียนแต่ละแห่ง ที่เห็นเป็นแบบอย่างชัดเจน คือ การก่อตั้ง มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ เป็นองค์กรการกุศลที่พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2506 หลังเกิดวาตภัยที่แหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมูลนิธินี้มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้ง โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ซึ่งในปัจจุบันมีโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ เป็นจำนวนถึง 58 แห่งในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อจัดการการศึกษาสงเคราะห์แก่นักเรียนกำพร้าที่ครอบครัวประสบภัยและนักเรียนจากครอบครัวที่ยากจน ซึ่งถ้ามีผลการเรียนดี ก็จะได้รับการศึกษาต่อเนื่องถึงขั้นสูงสุดที่อยากจะเรียนด้วย

 

เช่นเดียวกันกับ โรงเรียนพระดาบส ที่เป็นโครงการในพระราชดำริของพระองค์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ขาดแคลนทุนทรัพย์และความรู้วิชาชีพ ให้ได้รับการอบรมให้มีทักษะ ความรู้ คุณธรรมและศีลธรรม เพื่อพร้อมไปประกอบสัมมาอาชีพ ดูแลตนเองและครอบครัว โดยดำเนินการในรูปแบบการศึกษานอกระบบ ไม่เป็นเชิงพาณิชย์ ผู้เข้าอบรมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่มีหน้าที่ปรนนิบัติครูอาจารย์ที่ประสิทธิประสาทความรู้ให้ เสมือนพระดาบสที่อบรมถ่ายทอดความรู้ให้ลูกศิษย์สมดังนามโรงเรียนที่ได้พระราชทานไว้

 

 

 

นอกจากนั้น พระองค์ยังมีพระราช-ดำริให้จัดตั้ง สถาบันการศึกษา รวมทั้งพระราชทานนามของสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ที่ไม่เพียงมีความหมายอันเป็นสิริมงคลเท่านั้น แต่ยังแสดงถึงแนวทาง ปรัชญา ที่ควรยึดถือปฏิบัติเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการผลิตบุคลากรอันนับเป็นทรัพยากรสำคัญเพื่อการพัฒนาประเทศชาติ

 

ดั่งกรณีของ สถาบันบัณฑิตพัฒน-บริหารศาสตร์ หรือ ที่รู้จักกันโดยทั่วไปในนามว่า นิด้า เป็นอีกสถาบันการศึกษาที่ถือกำเนิดขึ้นด้วยพระราชดำริของพระองค์ ที่ทรงสนพระราชหฤทัยในเรื่องการพัฒนาเป็นพิเศษ เมื่อราว พ.ศ. 2503 ทรงมีพระราชปรารภกับ นายเดวิด ร็อกกีเฟลเลอร์ ถึงเรื่องที่ประสงค์ให้มีการปรับปรุงการสถิติของชาติว่า ประเทศไทยขาดข้อมูลอันเป็นสิ่งสำคัญในการวางแผนและการพัฒนา ดังนั้นจึงประสงค์ให้มีการจัดตั้งสถาบันเพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้มีความรู้และความสามารถด้านสถิติ และผู้เชี่ยวชาญในสาขาอื่นๆ ต่อมาเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศต่อไป จนในที่สุดได้มีการจัดทำโครงการเสนอรัฐบาล และก่อตั้ง Graduate Institute of Development Administration (GIDA) ขึ้น และต่อมา รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาจัดตั้งสถาบันสอนวิชาการบริหารเกี่ยว กับการพัฒนาประเทศ โดยได้นำโครงการ GIDA ของดอกเตอร์ สเตซี เมย์ มาศึกษา และได้เสนอมติของที่ประชุมคณะกรรมการต่อคณะรัฐมนตรีว่าควรจะตั้ง สถาบันพัฒนาการบริหาร (Institute of Development Administration) โดยดำเนินการสอนในขั้นปริญญาโทและเอก การศึกษาฝึกอบรม และการวิจัย ซึ่งต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) โดยนามของสถาบันแห่งนี้ก็ได้รับพระราชทานจากพระองค์ เพื่อสื่อถึงปรัชญาของการเรียนการสอนของนิด้า ที่มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตระดับบัณฑิตศึกษาที่มีภาวะผู้นำ พัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย และให้บริการวิชาการ ด้านการบริหารการพัฒนา เพื่อพัฒนาประเทศชาตินั่นเอง

 

 

 ขณะที่อีกหนึ่งตัวอย่าง ของสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับพระราชทานนามอันเป็นมงคลจากพระองค์ นั่นคือ มหา-วิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ซึ่งมีประวัติความเป็นมาจาก การเป็น วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา โดยในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จ-พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อใหม่ให้แก่ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาว่า สถาบันเทคโนโลยีราช-มงคล ซึ่งหมายความว่า สถาบันเทคโนโลยีอันเป็นมิ่งมงคลแห่งพระราชา ศ.สวาสดิ์ ไชยคุณา อธิการบดีท่านแรก ผู้บุกเบิกสถาบันอันทรงเกียรติแห่งนี้ ได้กล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จ-พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ไว้ตอนหนึ่งว่า

 

“ล้นเกล้าฯ พระปิยมหาราชปลดปล่อยทาสให้เป็นไทยฉันใด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงปลดปล่อยนักเรียนอาชีวฯ ชั้นสองให้เป็นไทฉันนั้น... เนื่องด้วยในปี 2524 บัณฑิตอาชีวศึกษาซึ่งพัฒนามาจากนักเรียนชั้นสองของสังคม มีโอกาสรับพระราชทานปริญญาบัตรกับพระหัตถ์พระองค์เอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จฯ มาพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกของบัณฑิตวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร และทรงพระกรุณาพระราชทานชื่อสถาบันให้ใหม่ว่า สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และนับแต่ในปีพุทธศักราช 2534 เป็นต้นมาก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา- สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรแด่บัณฑิตตั้งแต่ครั้งนั้นจนถึงปัจจุบันเป็นประจำทุกปี”

 

 

 

 

การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม จุดประกายความรู้สู่ทุกแห่งหน

 

เพื่อเป็นทางออกหนึ่งของปัญหาการขาดแคลนครูในท้องที่ชนบทห่างไกล และสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาแก่เยาวชนและประชาชนทั่วประเทศ พระองค์จึงทรงพระราชทานพระราชดำริในการจัดตั้งโครงการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมขึ้น โดยกรมสามัญศึกษา โดยเริ่มดำเนินการให้โรงเรียนวังไกลกังวลเป็นแม่ข่ายถ่ายทอดการจัดการศึกษาสายสามัญตั้งแต่ชั้นมัธยม-ศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ไปสู่โรงเรียนทั่วประเทศ ด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียม ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 จนถึงปัจจุบัน

 

ทรงมีพระราชดำริให้รูปแบบการเรียนการสอนของโครงการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมจะต้อง “สอนง่าย ฟังง่าย เขียนง่าย เข้าใจง่าย” เน้นการเลือกใช้เทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน ประหยัด ได้ผลดี และครูทุกคนต้องมีจิตวิญญาณความเป็นครู มีความรักและเมตตา ประสงค์ให้ลูกศิษย์ทุกคนได้รับความรู้ ในฐานะที่เป็น “ครูตู้” ครูพระราชทาน นั่นเอง

 

ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา โครงการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม มีบทบาทอย่างยิ่งในการลดช่องว่าง และสร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษาของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศ ที่ประสบปัญหาครูไม่พอ ครูไม่ครบชั้น และครูสอนไม่ตรงกับวิชาเอก ซึ่งมีอยู่กว่า 15,000 โรงเรียน ทั่วประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

 

 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน สรรพวิชาการเพื่อเยาวชนจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

 

“เราต้องให้ความรู้แก่เด็กและคนรุ่นต่อไปอย่างที่เราจะสามารถทำได้จึงพูดถึง สารานุกรม นี้จะทำให้เราแก้ปัญหาของเราได้ส่วนหนึ่ง ที่จริงมีวิธีแก้ปัญหาอย่างอื่นด้วย แต่ว่า เราต้องเลือกทำ ขอเลือกทำสารานุกรม สารานุกรมไม่ใช่ครู แต่ว่าจะช่วยให้คนอื่นที่ไม่ได้เป็นครู เป็นครูได้ เช่น พ่อ แม่ ถ้าลูกถามปัญหาต่างๆ ก็อาศัยสารานุกรมนี้มาตอบได้คนที่อ่านรู้เรื่องมากกว่าจะสอนน้องได้ แล้วการที่ดูสารานุกรมด้วยกันในครอบครัวจะช่วยให้เกิดความใกล้ชิดในครอบครัว จะช่วยให้ลูกไว้ใจพ่อแม่ ซึ่งจะเป็นผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ระหว่างเด็กด้วยกันหรือคนที่อ่านสารานุกรมด้วยกัน ก็จะคุยกันในวิชาการได้ จะเกิดความรู้และจะเกิดความสามารถที่จะแลกเปลี่ยนความคิดกันการแลกเปลี่ยนความคิดและแลกเปลี่ยนทัศนะกันนี้เป็นทางที่จะทำให้มีความรู้ความกว้างขวางและจะทำให้อยากที่จะรู้มากขึ้น ซึ่งเป็นจุดประสงค์ของการศึกษา...”

 

ด้วยพระราชดำรินี้ พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนขึ้น ตั้งแต่ พ.ศ. 2511 โดยได้มีการจัดแบ่งวิทยาการของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนออกเป็น 4 สาขา คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ พร้อมกับกำหนดหัวข้อเรื่อง และวิทยากรผู้เขียนเรื่องต่างๆ ของแต่ละสาขาวิชา และปัจจุบันจัดพิมพ์สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนแล้ว รวม 26 เล่ม นับเป็นมรดกการพัฒนาวิชาการที่สำคัญยิ่งในวงการศึกษาไทย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมอบไว้ให้แก่ปวงชนชาวไทย

 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวของพระราชกรณียกิจของพระองค์ ที่ทรงสร้างและวางระบบการพัฒนาการศึกษาของไทย เพื่อให้เยาวชนและประชาชนทุกคนได้เข้าถึงระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นและความโชคดีของปวงชนชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้

 

 

 

“พัฒนมหาราชา” มหาราชาผู้พัฒนา ที่มาของพระราชสมัญญานามนี้ มาจากพระราชกรณียกิจมากมายที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงริเริ่ม ล้วนมีเป้าประสงค์หลักเพื่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกรชาวไทยให้ดีขึ้น

 

 

 

 

ก่อกำเนิดเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริน้อยใหญ่ มากกว่า 4,350 โครงการ ที่พระองค์ทรงเริ่มต้นดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 จวบจนปัจจุบัน ครอบคลุมอยู่ทุกพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ที่พระบาทสมเด็จ-พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินไป โดยทุกโครงการล้วนนำมาซึ่งความมั่นคง ความเข้มแข็งของชุมชน สภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนอย่างยั่งยืน

 

 

โครงการในพระราชดำริหลากหลาย พัฒนาคุณภาพชีวิตชาวไทย

 

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2495 ปีที่ 6 แห่งรัชกาลที่ 9 หลังจากที่พระองค์เสด็จนิวัติประเทศไทยแล้ว หลากหลายโครงการในพระราชดำริได้เริ่มก่อกำเนิดเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงแรก ตั้งแต่ปีพ.ศ.2493-2505 พระบาทสมเด็จพระปรมินทร-มหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านงานพัฒนาสังคม ในรูปแบบของงานด้านสังคมสงเคราะห์หรือประชาสงเคราะห์ อาทิ กิจกรรมการรณรงค์หาทุนเพื่อก่อสร้างอาคารพยาบาลตามสถานพยาบาลหลายแห่ง การหาทุนดำเนินการในลักษณะของโครงการ จัดทำภาพยนตร์ส่วนพระองค์ เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์เพื่อต่อสู้โรคเรื้อนของสถาบันราชประชาสมาสัย กิจกรรมเกี่ยวกับ การป้องกันรักษาโรคโปลิโอ อหิวาตกโรค ไปจนถึงโครงการจัดตั้งโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน

 

 

 

 

ต่อมา พระองค์ทรงริเริ่มโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะมีอยู่หลายประเภท โดยมีหลักในการดำเนินงานแตกต่างกัน ดังนี้

 

หากเป็น โครงการตามพระราชประสงค์ คือ โครงการซึ่งทรงศึกษาและทดลองปฏิบัติ ทรงพัฒนาและส่งเสริม แก้ไขดัดแปลงวิธีการเป็นระยะเวลาหนึ่งเพื่อดูแลผลผลิตทั้งในเขตพระราชฐานและเขตนอกพระราชฐาน โดยทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ในการดำเนินงานทดลองจนกว่าจะเกิดผลดี เมื่อไว้วางพระราชหฤทัยว่าโครงการนั้นๆ จะได้ผลดี เป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริงแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้รัฐบาลเข้ามาร่วมสนับสนุนงานในภายหลัง

 

ขณะที่ โครงการหลวง เป็นโครงการที่ทรงเจาะจงดำเนินการและพัฒนาบำรุงรักษาต้นน้ำลำธารในบริเวณป่าเขาทางภาคเหนือ เพื่อบรรเทาอุทกภัยในที่ลุ่ม ทั้งภาคเหนือตอนใต้และภาคกลางเพื่อถนอมน้ำไว้เลี้ยงแม่น้ำลำธารของที่ลุ่มในฤดูแล้ง และด้วยพื้นที่เหล่านี้เป็นที่อยู่ของชาวเขาเผ่าต่างๆ พระองค์จึงทรงพัฒนาให้ชาวเขาชาวดอยอยู่ดีกินดี ให้เลิกการปลูกฝิ่น เลิกการตัดไม้ทำลายป่า ทำไร่เลื่อนลอย และเลิกการค้าของเถื่อนผิดกฎหมาย ทรงพัฒนาช่วยเหลือให้ปลูกพืชหมุนเวียนที่มีคุณค่าสูง ปลูกข้าวไร่และเลี้ยงสัตว์ เพื่อบริโภค รวมคุณค่าแล้วให้ได้คุ้มค่าแทนการปลูกฝิ่น เพราะฉะนั้น โครงการหลวงก็คือ โครงการตามพระ-ราชดำริที่ร่วมปฏิบัติผสมผสาน กับหน่วยงานของรัฐบาลในบริเวณดอยต่างๆ ในภาคเหนือเพื่อพัฒนาอาชีพและความเป็นอยู่ของชาวเขา ชาวดอย นั่นเอง

 

 

 

 

ส่วน โครงการตามพระราชดำริ เป็นโครงการที่ทรงวางแผนการพัฒนา ทรงเสนอแนะให้รัฐบาลร่วมดำเนินการตามพระราชดำริ หน่วยงานร่วมของรัฐบาลนั้นมีทั้งฝ่ายพลเรือนเฉพาะ ทั้งฝ่ายทหารเฉพาะ กระทั่งฝ่ายทหารและพลเรือนร่วมกันก็มี โครงการ ประเภทนี้ ในปัจจุบันมีอยู่ทั่วทุกภาคในประเทศ แต่ถ้าเป็นโครงการในพระบรมราชานุเคราะห์ พระองค์จะพระราชทานข้อแนะนำและแนวพระราชดำริให้เอกชนรับไปดำเนินการด้วยกำลังเงิน กำลังปัญญา และกำลังแรงงาน พร้อมทั้งติดตามผลงานต่อเนื่องโดยภาคเอกชนเอง

 

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีจำนวนมากถึง 2,700 โครงการ ซึ่งประกอบด้วยโครงการหลายประเภทด้วยกัน อาทิ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการเกษตร สิ่งแวดล้อม พัฒนาแหล่งน้ำ การคมนาคม สื่อสาร การส่งเสริมอาชีพ สวัสดิการ และการสาธารณสุข โดยเฉพาะโครงการอันเนื่องมาจากพระ-ราชดำริ ในด้านการสาธารณสุข จากการเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทรงพบว่า ราษฎรจำนวนไม่น้อย ไม่สามารถเข้าถึงการแพทย์ และขาดความรู้ในการดูแลสุขอนามัยอย่างถูกวิธี เป็นที่มาของโครงการแพทย์พระราชทาน

 

ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2510 ซึ่งนับแต่นั้น เมื่อมีการเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับแรมเพื่อทรงเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นต่างๆ ก็จะมีคณะแพทย์พระราชทานเดินทางติดตามพระองค์ไปด้วย เพื่อให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชน

 

นอกจากนั้นพระองค์ยังสนพระราช-หฤทัยในการจัดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วไทยมากที่สุด ดังพระราชดำรัสที่ว่า “...ต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำสำหรับทำการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น...เมื่อมีน้ำเสียอย่าง ราษฎรก็จะไม่ละทิ้งถิ่นที่อยู่...”

 

 

 

 

 “ศูนย์ศึกษาการพัฒนา” บูรณาการการพัฒนาสู่ทุกท้องถิ่นแดนไทย

 

สำหรับแนวพระราชดำริในการสร้าง “ศูนย์ศึกษาการพัฒนา” เริ่มต้นขึ้นเป็นแห่งแรก ณ ศูนย์ศึกษาพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2522 เมื่อครั้งที่ พระองค์เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในงานเปิดศาลบวรราชานุสาวรีย์ ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา และราษฎรได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินหมู่ที่ 2 ตำบลเขาหินซ้อน เนื้อที่ 264 ไร่ จึงมีพระราชดำริที่จะใช้ผืนดินนี้เพื่อก่อประโยชน์ต่อการพัฒนาการเกษตรต่อไป โดยให้ส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน กรมพัฒนา ที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกันพัฒนาพื้นที่นี้โดยจัดทำเป็นศูนย์การศึกษาด้านเกษตรกรรมและงานศิลปาชีพ

 

ในเวลาต่อมา ได้เกิดศูนย์ศึกษาการพัฒนาขึ้นอีกหลายแห่ง โดยแต่ละแห่งล้วนมีจุดประสงค์ในการก่อตั้งเพื่อพัฒนาท้องถิ่นแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ โดยพระองค์พระราชทานแนวทางในการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนา แต่ละแห่ง ว่า

 

“...เป็นการสาธิตการพัฒนาเบ็ดเสร็จ หมายถึง ทุกสิ่ง ทุกอย่าง ทุกด้านของชีวิตประชาชนที่จะหาเลี้ยงชีพในท้องที่จะทำ อย่างไร และได้เห็นวิทยาการแผนใหม่ จะสามารถที่จะหาดูวิธีการจะทำมาหากินให้มีประสิทธิภาพ...”

 

“...ด้านหนึ่งก็เป็นจุดประสงค์ของศูนย์ศึกษาฯ ก็เป็นสถานที่สำหรับค้นคว้าวิจัยในท้องที่ เพราะว่าแต่ละท้องที่สภาพฝนฟ้า อากาศ และประชาชนในท้องที่ต่างๆ กันก็มีลักษณะแตกต่างกันมากเหมือนกัน…”

 

ยกตัวอย่าง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระ-ราชดำริ ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากพระองค์เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในงานพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้า-ตากสินมหาราช ที่จังหวัดจันทบุรี ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2524 และทรงเล็งเห็นว่า อ่าวคุ้งกระเบนเป็นแหล่งการประมงแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของ จังหวัดจันทบุรี บริเวณชายฝั่งก็เป็นเขตสงวนของ ป่าไม้ชายเลนที่สำคัญ แต่ทรัพยากรเหล่านี้ได้เสื่อมโทรมลงทุกด้าน ปริมาณสัตว์น้ำในธรรมชาติลดลงและป่าชายเลนถูกบุกรุกทำลาย พระองค์มีพระราชดำริแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีในขณะนั้น ให้พิจารณาหาพื้นที่ที่เหมาะสมจัดทำโครงการพัฒนาด้านอาชีพการประมงและการเกษตรในเขตพื้นที่ ชายฝั่งตะวันออกของจังหวัดจันทบุรี เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนา เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการศึกษาสาธิต และการพัฒนาในเขตที่ดินชายทะเล ซึ่ง ณ ตอนนี้ ศูนย์ศึกษาพัฒนาแห่งนี้ เป็นแม่แบบให้กับศูนย์ศึกษาพัฒนาชายฝั่งทะเลอีกหลายแห่งทั่วประเทศ

 

 

 

 

 

 

โครงการพัฒนากรุงเทพฯ ตามแนวพระราชดำริ

 

ไม่ใช่แค่พระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบทเท่านั้น หากแต่ทุกข์คนเมืองจากการจราจรอันติดขัดและน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ พระองค์ก็ทรงเล็งเห็นถึงความทุกข์ยากของประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร จึงทรงคิดหาวิถีทางในการบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดและป้องกันน้ำท่วม เป็นที่มาของหลากหลายโครงการในพระราชดำริ

 

เริ่มจากความเดือดร้อนเมื่อปี พ.ศ. 2523 และปี พ.ศ. 2525 ที่ได้เกิดภาวะน้ำท่วม บริเวณพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานครอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และครั้งนั้น พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกระแสพระราชดำริแก้ไขสถานการณ์อันมีผลให้เกิดการเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล โดยผ่านแนวคลองต่างๆ ฝั่งตะวันออก ต่อมาในช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2526 เกิดน้ำท่วมขังยาวนานถึง 5 เดือน พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงตรวจพื้นที่ด้วยพระองค์เองหลายครั้ง เพื่อพระราชทานคำแนะนำในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับพระตำหนัก ยังทรงเรียกประชุมเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ต่อจนดึกดื่น เพื่อกำหนดมาตรการดำเนินงานแก้ไขความทุกข์ยากของราษฎรให้พ้นไปอย่างรวดเร็ว และเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย พระองค์พระราชทานพระราชดำริเพื่อป้องกันน้ำท่วม อย่าง มาตรการป้องกันการขยายตัวของเมืองอย่างไร้ทิศทาง สร้างระบบป้องกันน้ำในเขตชุมชน ปรับปรุงบึงขนาดใหญ่เป็นที่กักน้ำ และขยายทางน้ำในจุดที่ผ่านทางหลวงหรือทางรถไฟ เป็นต้น

 

 

 

 

ส่วนโครงการในพระราชดำริเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรของกรุงเทพ-มหานคร ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ได้เคยบอกเล่าไว้ว่า

 

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระวิสัยทัศน์กว้างไกลมาก ทรงเคยเล่าให้ผมฟังว่า เมื่อประมาณ 40 ปีที่ผ่านมา กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติจะมาถวายของขวัญเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระองค์ทรงขอให้ถวายถนนวงแหวน (Ring Road) ซึ่งก็ได้มาเพียงเส้นทางเดียว คือ ถนนวงแหวนรัชดาภิเษก เพราะพระองค์ทรงคาดเดาได้ว่าจะมีปัญหาจราจรเกิดขึ้นแน่นอน หากมีถนนวงแหวนจะช่วยระบายรถได้มาก ทั้งๆ ที่ในช่วงเวลานั้นยังมีรถไม่มาก ยังไม่จำเป็นต้องมีถนนวงแหวน”

 

นอกจากนั้น พระองค์ยังมีพระ-ราชดำริในการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดด้วยการพระราชทานแนวทางให้มีการปรับปรุงถนน ตรอก ซอย ก่อสร้างสะพานข้ามทางแยก ทั้งนี้ หลายโครงการได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อดำเนินโครงการจำนวนมาก เช่น โครงการก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟ สายธนบุรี โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมถนนเพชรบุรีกับถนนพระรามที่ 9 และโครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนปิ่นเกล้า-บรมราชชนนี เป็นต้น

 

 

 

 ทั้งนี้แนวทางที่ได้พระราชทานเพื่อแก้ไขปัญหาในแต่ละจุดนั้นทรงมุ่งเน้นวิถีทางที่ใช้เงินน้อย แต่สามารถแก้ไขได้ในวงกว้าง กระจายไปแต่ละส่วนของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีปัญหาการจราจร จากจุดเล็กๆ หลายจุดที่รัฐบาล กรุงเทพมหานคร กรมตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน้อมนำพระราชดำริไปแก้ไขนั้น ก็สามารถครอบคลุมพื้นที่ของกรุงเทพ-มหานครและปริมณฑลทั้งหมดได้ในที่สุด

 

จากพระราชกรณียกิจที่กล่าวถึงมาทั้งหมดนี้ ย่อมเป็นที่ประจักษ์ในใจของปวงชนชาวไทยทุกคนเป็นแน่แท้แล้วว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มิได้วางพระองค์อยู่ในฐานะพระมหากษัตริย์ และทรงปฏิบัติพระราช-กรณียกิจในฐานะประมุขเท่านั้น ทว่า พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทุกอย่าง เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยให้ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง ดังพระปฐมบรมราชโองการในวันพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 มีพระราชดำรัสว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

X

Right Click

No right click