January 22, 2025

รถ EV หรือชื่อเรียกแบบเต็มๆ ว่ายานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) ในประเทศไทยกำลังมาแรงตลอดช่วงมอเตอร์โชว์แบบพุ่งไม่หยุดฉุดไม่อยู่ จากความคุ้มค่าประหยัดตกเฉลี่ยกิโลเมตรละไม่ถึงบาท ท่ามกลางวิกฤตน้ำมันที่แพงขึ้นทุกวัน และแบรนด์รถ EV หลายแบรนด์มาตั้งโรงงานในเมืองไทยทำราคาใหม่ถูกใจลูกค้าที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายและสายรักษ์โลก สอดรับกับนโยบายส่งเสริมการใช้รถ EV ของรัฐบาล

ปัจจุบันการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจากแบตเตอรีหรือที่เรียกว่า BEV (Battery EV) ในประเทศไทย ถือเป็นอันดับหนึ่งของกลุ่มประเทศอาเซียน โดยหากมีรถ BEV วิ่งอยู่ 100 คัน บนถนนทั้ง 10 ประเทศในอาเซียน “จะมีถึง 60 คัน” ที่วิ่งอยู่ในประเทศไทย ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีรถ BEV ใหม่ประมาณ 10,000 คัน แต่คาดว่าปี 2566 นี้จะไม่ต่ำกว่า 40,000 คันเลยทีเดียว

ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวถึงเหตุผลที่ทำให้รถ BEV ได้รับความนิยมในประเทศไทยว่า เพราะการปรับตัวของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นมาก และนโยบายการส่งเสริมของรัฐบาลทำให้คนไทยมีโอกาสเป็นเจ้าของรถไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่เหมาะสมต่อการใช้งานนั้นยังจำกัดอยู่ เนื่องจากสถานีชาร์จยังไม่ครอบคลุมทั้งประเทศ โดยจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้าในช่วงต้นปี 2566 นี้ มีประมาณ 1,000 กว่าแห่งเท่านั้น ซึ่งราว ๆ 40% ตั้งอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล และส่วนมากหัวชาร์จตามสถานีจะมีแค่ 2 หรือ 3 หัวเท่านั้น หลายแห่งก็ไม่ใช่เครื่องชาร์จ DC แบบเร็ว ส่วนใหญ่จะเป็นหัวชาร์จ AC Type 2 ซึ่งชาร์จได้ช้ากว่า DC มาก การชาร์จแต่ละครั้งยังคงใช้เวลานาน ถ้ามีรถมาชาร์จหลายคันต้องต่อคิวรอ

“ถ้าไม่ได้เดินทางไกลหรือใช้งานในเมืองเป็นหลักก็ไม่ค่อยมีปัญหา กลับมาชาร์จที่บ้านด้วย Home Charger ได้ หรือหากจำเป็นจริง ๆ ก็แวะที่สถานีชาร์จระหว่างเดินทางได้ แต่ถ้าออกไปต่างจังหวัดหรือต้องเดินทางไกล ๆ ก็ต้องวางแผนการเดินทางให้ดี แม้รถ BEV ในปัจจุบันจะสามารถเดินทางได้ไกลกว่า 400 ถึง 500 กิโลเมตรต่อการชาร์จเต็ม แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นตัวกำหนดให้ระยะทางสั้นลงได้ การเปิดแอร์ ความเร็วในการขับ และน้ำหนักที่บรรทุก ทำให้ไปได้ไม่ไกลเท่าที่คิด” ดร.ชัยพร กล่าว

ดร.ชัยพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาของผู้ใช้งานรถ EV ที่อาจพบเจอเวลาในเวลานี้ อย่างเช่น ที่ชาร์จเสีย หรืออาจจะมีคนจอดรถชาร์จอยู่ โดยที่แอปพลิเคชันไม่ได้แจ้งเตือน หัวชาร์จที่ไม่ตรงกับหัวชาร์จของรถ หรือบางครั้งเจอรถที่ชาร์จเต็มแล้วแต่เจ้าของรถไม่อยู่ ก็ต้องรอ รวมทั้งแท่นชาร์จหลายแห่งติดตั้งอยู่กลางแจ้ง ไม่มีหลังคา เหล่านี้คือปัญหาที่จะต้องเจอหากต้องชาร์จรถ EV จากสถานีชาร์จสาธารณะ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าอีกไม่นานระบบ แอปพลิเคชัน และสถานีชาร์จ จะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

อีกเรื่องที่คนใช้งานรถ EV กังวลก็คือ แบตเตอรีที่เมื่อเกิดปัญหาอาจมีค่าใช้จ่ายที่แพงมากหลายแสนบาท อย่างที่เราเห็นในข่าว ดังนั้นประกันภัยรถ BEV จึงแพงกว่ารถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในค่อนข้างมาก บางครั้งหากมีปัญหาการขายรถทิ้งไปเลยยังคุ้มกว่าการซ่อมหรือเปลี่ยนแบตเตอรี ดังนั้นเจ้าของรถต้องระวังการขับขี่ที่อาจส่งผลต่อการเสียหายโดยตรงต่อแบตเตอรี ซึ่งส่วนมากติดตั้งอยู่ที่พื้นของห้องโดยสารรถ เช่น การครูดใต้ท้องรถ หรือการเกิดความเสียหายที่ด้านข้างรถอย่างแรง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี แรงขับเคลื่อนจากฝั่งผู้บริโภคตามกระแสความกังวลต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่เด่นชัดขึ้น บวกกับนโยบายส่งเสริมของภาครัฐ ทำให้ตลาดรถ EV ในบ้านเราเติบโตแบบก้าวกระโดด เทรนด์การใช้งานรถ EV ทุกประเภทในประเทศไทยจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือเราจำเป็นต้องมีการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องรองรับการเติบโต ไม่ว่าจะเป็น โรงงานผู้ผลิต ศูนย์ให้บริการซ่อมบำรุงดูแลรักษาทั้งรถและสถานีชาร์จ การดัดแปลงรถเก่าให้เป็น EV รวมทั้งภาคการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยที่ต้องมีการผลิตบัณฑิตในสาขาที่เกี่ยวข้องเช่นกัน

“ตอนนี้บุคลากรทางด้านรถ EV ในประเทศไทยยังมีน้อย ส่วนใหญ่มีความเชี่ยวชาญแต่สาขาทางด้านยานยนต์แบบเดิม โดยเฉพาะระบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน แต่สำหรับรถ EV มีรูปแบบที่ต่างออกไปค่อนข้างมาก อย่างการดัดแปลงรถยนต์เครื่องสันดาปมาเป็นรถ EV ที่นิยมทำกันมากในต่างประเทศ ไม่ใช่แค่การยกเครื่องยนต์ออกแล้วใส่มอเตอร์ไฟฟ้าเท่านั้น รวมทั้งการที่ไทยเป็นที่ตั้งฐานการผลิตรถ EV ตรงนี้ก็ทำให้มีความต้องการบุคลากรจำนวนมาก ภาคการศึกษาต้องเร่งสร้างบุคลากรให้ตอบโจทย์และรองรับเทรนด์นี้ให้ทัน ซึ่งการใช้รถ EV ในเมืองไทย เรียกได้ว่ายังมีโอกาสโตขึ้นอีกมาก” ดร.ชัยพร กล่าว

X

Right Click

No right click