กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เข้าร่วมโครงการ Joining forces to exploit the mycobiota of Asia, Africa and Europe for beneficial metabolites and potential biocontrol agents, using -OMICS techniques หรือ MYCOBIOMICS ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือกับสถาบันวิจัยชั้นนำต่าง ๆ จากยุโรปและแอฟริกา 8 แห่งจาก 7 ประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก The European Commission ภายใต้กรอบความร่วมมือ Horizon 2020-MSCA-RISE เป็นจำนวน 1,375,400 ยูโร หรือกว่า 51 ล้านบาท
ดร. เจนนิเฟอร์ เหลืองสะอาด หัวหน้าทีมวิจัยปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ทางการเกษตร ไบโอเทค สวทช. ให้ข้อมูลว่า โครงการ MYCOBIOMICS เป็นโครงการที่นำโดย Prof. Marc Stadler จากสถาบัน Helmholtz Center for Infection Research (HZI) ประเทศเยอรมนี โดยมีเป้าหมายหลักในการนำองค์ความรู้ด้านเห็ดราวิทยา (mycology) ทั้งในเชิงพื้นฐาน (basic research) และเชิงประยุกต์ (applied research) มาค้นหาสารเมแทบอไลต์ทุติยภูมิ (secondary metabolite) ที่มีประโยชน์เพื่อพัฒนาเป็นยาปฏิชีวนะใช้ในทางการแพทย์ และสารชีวภัณฑ์ในการควบคุมโรคพืชโดยชีววิธีการเกษตร ผ่านกิจกรรมการร่วมวิจัย การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และการแลกเปลี่ยนบุคลากร โดยโครงการนี้เป็นโครงการต่อยอดจากโครงการ “Golden mycological triangle-joining forces to exploit mycological biodiversity for novel anti-infectives and other beneficial metabolites (GoMyTri) ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยภายใต้กรอบความร่วมมือเดียวกันเมื่อปี 2557
ที่ผ่านมาโครงการ GoMyTri ได้แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยชั้นแนวหน้าจากประเทศเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และประเทศไทย ผ่านผลงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติจำนวนหลายฉบับ อีกทั้งโครงการนี้ยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ที่สำคัญระหว่างนักวิจัยรุ่นใหม่ จากความสำเร็จดังกล่าว แต่สำหรับในโครงการ MYCOBIOMICS นี้จะมีการขยายความร่วมมือไปยังสถาบันวิจัยอื่นๆ อีกรวม 8 สถาบัน จาก 7 ประเทศ ได้แก่ ไบโอเทค สวทช. จากไทย Helmholtz Center for Infection Research (HZI) จากเยอรมนี Institute of Microbiology, Czech Academy of Sciences (CAS) จากสาธารณรัฐเช็ก Westerdijk Fungal Biodiversity Institute จากเนเธอร์แลนด์ Egerton University จากเคนยา Forestry and Agricultural Biotechnology Institute (FABI) จากแอฟริกาใต้ AIT Austrian Institute of Technology และ University of Natural Resources and Life Sciences (BOKU) จากออสเตรีย
ดร. เจนนิเฟอร์ กล่าวต่อไปว่า โครงการ MYCOBIOMICS นี้มีระยะเวลาการดำเนินการวิจัยรวมทั้งสิ้นเป็นเวลา 4 ปี โดยมุ่งเน้นการนำวิทยาการด้านโอมิกส์มาใช้ในการศึกษานิเวศวิทยา และความหลากหลายของเชื้อรา รวมถึงการนำเชื้อราไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นผู้ผลิตสารต้านจุลินทรีย์ก่อโรคชนิดใหม่ ๆ นอกจากนี้โครงการยังมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเชื้อราในสกุล Fusarium และ Trichoderma ซึ่งมีความสำคัญในด้านการเกษตรอีกด้วย ในท้ายที่สุดองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ถูกส่งต่อและแลกเปลี่ยนระหว่างสถาบันวิจัยตลอดทั้งโครงการจะเป็นช่องทางให้นักวิจัยได้ค้นคว้าและศึกษาหาหนทางเพื่อต่อสู้กับจุลินทรีย์ก่อโรค ที่ส่งผลกระทบทั้งในด้านสุขภาพและการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป